สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงโตเกียวก็ได้มีการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียวอีกครั้ง ซึ่งขอสปอยล์ตรงนี้เลยว่า ตำแหน่งก็ตกเป็นของเจ้าของตำแหน่งเดิมคือ ยูริโกะ โคอิเคะ (Yuriko Koike) หญิงแกร่งแห่งวงการการเมืองญี่ปุ่น ซึ่งผมเองก็เคยเขียนถึงไปแล้ว แต่ในครั้งนี้นอกจากเรื่องการได้อยู่ต่ออีก 4 ปี ของคุณยูริโกะแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงโตเกียวครั้งนี้ยังมีเรื่องน่าสนใจที่อยากจะเก็บตกมาเล่าสู่กันฟังด้วย
เริ่มตั้งแต่ วิธีการโปรโมทของผู้สมัคร แน่นอนว่าผู้สมัครแต่ละคนก็มีแนวทางต่างกันไป บางคนก็ใช้วิธีแบบดั้งเดิม ไปยืนโปรโมทตามสถานีรถไฟใหญ่ๆ หรือให้ทีมผู้สนับสนุนของตัวเองมาช่วยแจกใบปลิวเป็นจำนวนมาก ผู้สมัครหลายคนก็ปรับตัวเข้ากับยุคก็ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คกันอย่างคล่องแคล่ว แต่ที่ทางรัฐจัดให้อย่างเท่าเทียมกันก็คือ หนังสือแนะนำตัวผู้สมัคร ที่มีขนาดเท่าๆ กับหนังสือพิมพ์หัวสีบ้านเรา และส่งไปยังทุกครัวเรือนของญี่ปุ่น
ผู้สมัครทุกคนจะได้พื้นที่เท่าเทียมกัน
ในการโปรโมทตัวเอง
ต่างคนก็ต่างใช้ที่ตรงนี้ในแบบของตัวเองครับ และอีกสื่อหนึ่งคือ โทรทัศน์ ซึ่ง NHK ก็ได้จัดช่วงเวลาให้ผู้สมัครทุกคนได้มาเสนอนโยบายของตัวเองทางทีวีอย่างเท่าเทียมกัน และมีการรีรันด้วย ก็น่าสนใจดีนะครับ ไม่ว่าจะพรรคใหญ่พรรคเล็ก หรือผู้สมัครอิสระ
ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ สไตล์การนำเสนอตัวเองในพื้นที่นี้ล่ะครับ บางคนก็เขียนเรียบๆ ง่ายๆ สั้นๆ บางคนก็มากราฟิกเต็มๆ บางคนก็ยัดคำใส่เข้าไปเยอะๆ ฟอนต์สลับไปมา จนดูออกเลยว่าปกติเป็นยูทูปเบอร์สินะ ถึงได้ทำงานกราฟิกสไตล์นี้ออกมา อีกจุดที่ผมสนใจคือ บางคนก็ยังใส่ URL แบบเดิมๆ มา พิมพ์เองยาวๆ แต่ก็มีหลายคนที่ใช้ QR Code ลิงก์ไปโซเชียลของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่เว็บไลน์ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือยูทูป ก็ถือว่าคล่องแคล่วดี
แน่นอนว่าธีมหลักของการเลือกตั้งครั้งนี้เรื่องหนึ่งคงหนีไม่พ้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่หลายคนก็เสนอแนวทางของการแก้ปัญหานี้ทั้งในแง่การจัดการวางระบบรากฐานให้คนทำงานจากบ้านได้เพิ่มขึ้น หรือบางคนเสนอเรื่องแนวทางการเยียวยาผู้ที่ตกงานเพราะไวรัสครั้งนี้ว่าควรทำอย่างไร
ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มผู้สมัครที่มาจากกลุ่มเดียวกันคือ กลุ่มของ นายทาคาฟุมิ โฮริเอะ (Takafumi Horie) หรือ โฮริเอมอน นักธุรกิจชื่อดังที่เป็นที่รู้จักในสังคมญี่ปุ่นมานาน เพราะนอกจากปั้นธุรกิจเก่งแล้ว ยังปากกล้า ท้าลุยเสมอ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีผู้สมัครจากกลุ่มนี้ถึงสามคนเลย (ไม่คิดว่าจะแย่งคะแนนกันเอง?) และทั้งสามคนก็ชูเรื่องการแอนตี้การเรียกร้องให้งดออกไปข้างนอก ก็น่าคิดว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีที่หลุดไปไกลว่า นี่มันก็แค่หวัดธรรมดานี่ล่ะ สื่อกับรัฐบาลพยายามทำให้คนกลัว เรียกได้ว่ามาสายทฤษฎีสมคบคิดเต็มๆ แต่ที่หลุดไปไกลสุดคือ มีผู้สมัครที่ประกาศว่า ผลิตยารักษาและวัคซีนได้แล้ว ผมอ่านแล้วก็ได้แต่ อืมยาวๆ
ตัวหนังสือแนะนำผู้สมัครนี่ล่ะครับที่ดึงความสนใจผมจนนั่งอ่านดูได้อย่างเพลิดเพลินถึงจะไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งกับเขา แต่เพราะมีคนพิลึกๆ หลุดมานี่ล่ะครับ ตัวอย่างที่เจอนอกจากคนที่บอกว่าผลิตวัคซีนได้แล้ว ก็มีคนแปลกๆ เช่น เรียกตัวเองว่า ซูเปอร์เครซี่คุง (แต่นโยบายหาเสียงยังไม่หลุดนะครับ) แต่ไม่มีใครพีคเท่ากับ เทรุกิ โกโต้ (Teruki Goto) ขวัญใจผมจากการเลือกตั้งรอบนี้แล้วครับ
แค่เปิดหนังสือแนะนำผู้สมัคร กรอบของเทรุกิ โกโต้ ก็ประทับใจแบบเรียกได้ว่าเหมือนโดนถีบหน้าเลยครับ เพราะนอกจากพี่แกจะวางตัวหนังสือเต็มไปหมด ฟอนต์ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามความสำคัญของเรื่องแล้ว รูปประกอบคือ พี่แกแต่ชุดแบบเดียวกับลูลูช จากอนิเมะเรื่อง Code Geass ชัดๆ แถมบอกว่าตัวเองอยู่พรรค Transhumanist ซึ่งทำให้ผมสนใจเป็นอย่างมากว่าเขาเป็นใคร พอไปเสิร์ชก็พบว่า ไม่ใช่แค่แต่งตัวเหมือนลูลูช แต่โปสเตอร์หาเสียงยังใช้มุขจากเรื่อง Code Geass ว่า
“เทรุกิ โกโต้ ขอสั่งเจ้า ให้ไปลงคะแนนเสียงให้ข้า”
เหมือนกับตอนลูลูชใช้พลัง Geass สั่งผู้คน
ผมเลยต้องไปหาประวัติดู พบว่าทำนั่นนี่หลากหลาย เป็นยูทูปเบอร์ด้วย และเคยลงเลือกตั้งมาแล้ว โดยรอบก่อนโปสเตอร์คือรูปพี่แกแก้ผ้าหมดแล้วถือดาบโพสต์ท่าอย่างเท่ แล้วใช้ชื่อตัวเองมาปิดช้างน้อยไว้ แถมนโยบายก็งงมากเพราะบอกว่าเป็นคนรักชาติอย่างมาก แต่ก็เป็นซ้ายจัด อ่านแล้วก็งงๆ ดีครับ แถมเข้าไปดูยูทูปพี่แกก็มีคนตามอยู่หลายหมื่นคนเหมือนกัน มีคลิปพูดเรื่องการเมืองอยู่เยอะ และในขณะเดียวกันก็มีคลิปรายงานการไปทำเลเซอร์ขนของพี่แก ด้วยการเปิด…โชว์แบบซูมประชิด แล้วบรรยายว่าไปทำมาเป็นไงบ้าง
ส่วนเรื่องจุดขายนโยบายหลักคือ พัฒนาโตเกียวให้เป็นเมือง IT รัฐบาลดิจิทัล Basic Income สังคม Cashless and Paperless อันนี้ฟังดูดี แต่พอไปๆ มาๆ ก็เริ่มหลุดล่ะครับ ตั้งแต่ สร้างปราสาทเอโดะอีกครั้ง ยึดไต้หวันกลับคืนมา สร้างเครื่องบินแบบยืนเพื่อลดค่าโดยสารในประเทศ ให้คนทักทายกันด้วยคำว่า รักกัน มีวิชาพลังจิตวิญญาณเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน ทำให้ยากูซ่าถูกกฎหมาย จดทะเบียนสมรสได้ไม่จำกัดคน ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย ใช้ประกันสังคมกับการจัดฟันเพื่อความงามได้ ลดโทษการดาวน์โหลดผิดกฎหมาย ยกเลิกการเซนเซอร์หนัง AV ก็นั่นแหละครับ บ้าบอพิลึกดี เสียดายที่ผมไม่ทันได้ดูการแถลงนโยบายทางโทรทัศน์ของเขา เห็นว่ารอบก่อนนี่โดนเซนเซอร์เพราะคำหยาบไปจนเนื้อหาหายไป 10% เลยทีเดียว
นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของสีสัน (รึเปล่า?) ของการเลือกตั้งครั้งนี้ จริงๆ บางคนก็มาแปลกครับ นั่งดูแถลงนโยบายก็พูดว่าเคยทำความผิดมาเลยสำนึกด้วยการเก็บขยะที่สถานีชิบุยะตลอด 1 ปีโดยไม่มีพัก ทำให้คิดว่าอยากจะทำเพื่อชาวเมืองโตเกียว ซึ่งมันก็ฟังขึ้นนะครับ เพียงแต่ว่าในการสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่านี่ อย่างน้อยๆ ก็ต้องมีเงินไปค้ำประกันการสมัคร 3 ล้านเยน และถ้าคะแนนเสียงไม่ถึง 10% ของผู้มาใช้สิทธิ์ เงินค้ำประกันตรงนี้ก็ถูกยึดเข้ารัฐไปนะครับ แน่นอนว่าหลายๆ คนที่มาด้วยมุขแปลกๆ นี่แทบจะการันตีว่าได้เสียเงินเข้ารัฐแน่ๆ ยังไม่นับบางคนที่มีการโปรโมทเยอะมาก อย่างเช่น ฮิโรโกะ นานามิ (Hiroko Nanami) ที่ผมเห็นโปสเตอร์ติดเยอะมากๆ จนคิดว่าทำไมลงทุนเยอะจัง แต่พอเห็นพรรคที่สังกัดก็ถึงบางอ้อ เพราะนั่นคือพรรคการเมืองของกลุ่มศาสนาใหม่ Happy Science นั่นเอง (ซึ่งพอจบเลือกตั้งปุ๊บ ตำแหน่งที่ติดโปสเตอร์เธอก็กลายเป็นโปสเตอร์ของคนอื่นในพรรคโดยทันทีเหมือนกัน)
จริงๆ แล้วในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากยูริโกะ โคอิเคะ ก็มีตัวเลือกที่น่าจับตามองแบบที่พอจะมีโอกาสลุ้นได้อยู่ไม่กี่คนครับ นั่นคือ ทาโร่ ยามาโมโต้ (Taro Yamamoto) หัวหน้าพรรค Reiwa Shinsengumi ที่ผมเคยเขียนถึงเมื่อพูดเรื่องผู้พิการเข้าสภา ซึ่งรอบนี้หันมามุ่งเป้าที่การเมืองท้องถิ่น โดยเป้าหมายก็คือพลิกฟ้าการเมืองญี่ปุ่นเช่นเคย คนที่สองคือ เคนจิ อุซึโนมิยะ (Kenji Utsunomiya) ทนายความมากประสบการณ์ที่ได้รับการเสียงเชียร์จากกลุ่มผู้สูงอายุ เป้าหมายสำคัญคือสร้างเมืองที่อ่อนโยนต่อผู้อาศัย เพิ่มการตรวจ PCR ลดค่าพยาบาล และระงับแผนสร้างกาสิโน คนสุดท้ายคือ ไดสุเกะ โอโนะ (Daitsuke Ono) นักการเมืองหนุ่มที่เคยเป็นรองผู้ว่าจังหวัดคุมาโมโต้มาแล้ว และหนึ่งในนโยบายสำคัญคือการส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงเรื่องสิทธิ์ของคู่ชีวิตด้วย
แต่ก็นั่นล่ะครับ
พอเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นตามวาระ
ผู้ที่ครองตำแหน่งอยู่ก็มักมีโอกาสชนะสูงกว่า
เพราะนอกจากผลงานที่ผ่านมา ถ้าไม่ได้เลวร้ายเหลือบ่ากว่าแรง คนก็เลือกอยู่แบบเดิมดีกว่าไปเสี่ยง ทำให้ยูริโกะ โคอิเคะ เอาชนะไปได้อย่างสวยงาม ได้คะแนนไปถึง 3.6 ล้านเสียง เทียบกับเคนจิ อุซึโนมิยะ, ทาโร่ ยามาโมโต้ และ ไดสุเกะ โอโนะ ทีได้คะแนนตามลำดับที่ 8.4 แสน, 6.5 แสน และ 6.4 แสน แล้ว เรียกได้ว่าห่างไม่เห็นฝุ่นเลย ส่วนพี่เทรุกิ โกโต้ของเรานั้น ได้คะแนนไปเกือบ 22,000 คะแนน เข้ามาที่ 7 ตามหลัง ฮิโรโกะ นานามิ ที่ลงทุนไปเยอะ แค่พันคะแนนนิดๆ ส่วนซูเปอร์เครซี่คุง มาที่ 9 ได้ไปหมื่นหนึ่งพันคะแนนกว่าๆ ครับ ผลการเลือกตั้งก็ดูจะไม่ทำให้ใครตกใจอะไรเท่าไหร่นัก ถ้าจะตกใจก็คงเป็นแค่ว่าคะแนนห่างกันแบบกระจุยกระจายเท่านั้น
แต่ถึงแม้จะได้รับเลือกมาด้วยคะแนนล้นหลาม แต่ก็ใช่ว่าสมัยที่สองของยูริโกะจะดูหอมหวาน เพราะไม่เพียงแต่ปัญหาเรื่อง COVID-19 ที่ยังคงคาราคาซัง และดูเหมือนเธอจะปล่อยฟรีไม่ทำอะไรช่วงก่อนเลือกตั้ง เพราะเสี่ยงผลกระทบต่อคะแนนเสียง (ใช้วิธีการ กำลังศึกษา และติดตามสถานการณ์อย่างเข้มงวด ในการตอบสื่อและสังคม) ก็ยังมีผลกระทบต่างๆ อีกมากเช่นปัญหาผู้ตกงาน การจัดโอลิมปิกที่งบประมาณจะกลายเป็นเสียเปล่าหรือไม่ รวมไปถึงในสมัยแรกของเธอที่ชูนโยบายต่างๆ ไว้ ก็ดูจะไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้สักเท่าไหร่ ก็น่าคิดว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จะกรุยทางให้เธอไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นไปอย่างนายกรัฐมนตรี ที่มีคนจับตามองเธอตั้งแต่แยกตัวออกมาจากพรรคเดิม หรือจะกลายเป็นสมัยที่สองที่ส่งเธอให้ได้ไปพักจากวงการการเมืองหลังพ้นตำแหน่ง ก็ต้องคอยจับตาดูกัน เพราะทางรอบนี้ขรุขระแน่นอนครับ