“ดูแต่ตา มืออย่าต้อง ของจะเสีย”
เรามักจะท่องสำนวนนี้จนขึ้นใจเวลาเข้าไปดูนิทรรศการศิลปะในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ (ยกเว้นนิทรรศการที่เขาอนุญาตให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสจับต้องหรือมีส่วนร่วมกับผลงานอะนะ) ไม่อย่างงั้นก็อาจจะเป็นเรื่องเป็นราวได้ เพราะเสียหายกันมาเท่าไหร่แล้ว กับการที่คนเข้าไปจับต้องสัมผัสผลงานจนชำรุด ตกหล่นเสียหาย ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาสดๆ ร้อนๆ โดยนักสะสมคนหนึ่งดันบังเอิญทำผลงานประติมากรรมของศิลปินระดับโลกผู้หนึ่งหล่นลงพื้นจนแตกกระจายเป็นเสี่ยง เพียงเพราะเธออยากลองเคาะดูเล่นๆ ก็ไม่รู้นี่ว่ามันจะหล่นแตกซะอย่างงั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในพื้นที่วีไอพีในงานเปิดของงานแสดงศิลปะ Art Wynwood ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเมืองไมอามี รัฐฟลอริดา แถมตอนเกิดเหตุบางคนยังคิดว่าศิลปินกำลังทำงานศิลปะแสดงสดอยู่ด้วยซ้ำไป ก่อนที่จะตระหนักได้ว่าเกิดความฉิบหายขึ้นจริงๆ แล้ว
ผลงานชิ้นที่ว่านั้นมีชื่อว่า Balloon Dog ประติมากรรมลูกโป่งรูปสุนัขผิวมันเงาแวววาว อันเป็นผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) นั่นเอง
เจฟฟ์ คูนส์ เป็นศิลปินชาวอเมริกันที่เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบป๊อบอาร์ตใหม่ (Neo-Pop) เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของเขาคือการนำเอาวัตถุธรรมดาสามัญที่อยู่รอบตัวทั่วไป มายกระดับให้เป็นงานศิลปะ อย่าง เครื่องดูดฝุ่น ลูกบาสเก็ตบอล ไปจนถึงการหยิบฉวยข้าวของ วัตถุ หรืองานดีไซน์สีสันฉูดฉาดเตะตาอย่างล้นเกิน จนดูเหมือนของโหลเกลื่อนกลาดดาษดื่นไร้รสนิยม ที่พบเห็นในวัฒนธรรมป๊อปปูลาร์อเมริกัน แบบที่วิชาการศิลปะเขาเรียกกันว่า Kitsch (อ่านว่า คิทช์) (แต่คูนส์เองก็ปฎิเสธเสียงแข็งในภายหลัง ว่างานของเขาไม่ใช่ Kitsch แต่อย่างใด) มาผลิตซ้ำในรูปแบบและวัสดุที่เพิ่มความล้นเกินเข้าไปอีกหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่งที่บิดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เรามักเห็นตัวตลกทำแจกเด็กๆ ตามงานปาร์ตี้ หรือตุ๊กตาเป่าลมราคาถูกธรรมดาๆ ที่ถูกนำมาแปรสภาพให้กลายเป็นประติมากรรมเลียนแบบลูกโป่งและตุ๊กตาเป่าลมที่สร้างด้วยวัสดุใหม่อย่างสแตนเลสขัดเงาผิวมันเงาวาววับ ในขนาดใหญ่มหึมา หรือของชำร่วยโหลๆ อย่างตุ๊กตากระเบื้องเคลือบที่ขายถูกๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ที่ถูกเอามาอัพไซส์ให้มีขนาดใหญ่โตกว่าเดิมหลายเท่า
ผลงานของเขาเป็นการท้าทายเส้นแบ่งระหว่างข้าวของโหลไร้รสนิยม กับศิลปะชั้นสูงอันเปี่ยมรสนิยมได้อย่างเจ็บแสบแหลมคม ด้วยการใช้วัสดุหลากหลายแทบทุกชนิดที่เขาสามารถเสาะหามาได้ หรือแม้กระทั่งใช้ตัวเองและคนใกล้ตัว มาเป็นสื่อในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันเซ็กซี่ เย้ายวน ยั่วเย้าเสียดสี สร้างความสับสน ไปจนถึงความหงุดหงิดขุ่นเคือง เป็นงานศิลปะอันมันวาวมลังเมลืองที่คนดูรักและเกลียดเข้าไส้ไปพร้อมๆ กัน
เจฟฟ์ คูนส์ มีสตูดิโอผลิตผลงานศิลปะของเขาในเมืองเชลซี ที่ใช้คำว่า ‘ผลิต’ ก็เพราะ ในสตูดิโอแห่งนี้เต็มไปด้วยผู้ช่วยทำงานศิลปะที่เชี่ยวชาญในการวาดภาพ ทำงานประติมากรรม ช่างอุตสาหกรรม และคนทำงานสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ หลายสิบชีวิต ที่ง่วนผลิตงานศิลปะจำนวนนับร้อยชิ้นให้เขาในคราวเดียว โดยที่คูนส์ไม่จำเป็นต้องลงมือทำงานด้วยตัวเองเลยแม้แต่ปลายนิ้วก้อย หากแต่เขาทำหน้าที่เป็นมันสมองคอยสั่งการ และสายตาที่คอยดูแลตรวจสอบภาพรวมของการผลิตทั้งหมด แบบนี้ถ้าไม่เรียกว่า โรงงานผลิตศิลปะ ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรแล้วล่ะนะ!
ด้วยความที่คูนส์มักจะปฏิเสธที่จะเปิดเผยความหมายอันลึกซึ้งในผลงานของเขา ทำให้ตัวเขาเป็นศิลปินที่ค่อนข้างจะลึกลับเอาการ ในขณะที่หลายคนชื่นชมยกย่องเขา แต่อีกหลายคนก็กล่าวหาว่าเขาเป็นศิลปินที่ขายตัวรับใช้ทุนนิยม (เขาออกแบบคอลเล็กชั่นให้กับแบรนด์สินค้าแฟชั่นชั้นนำหลากหลายแบรนด์) และทำให้ศิลปะกลายเป็นอะไรที่ไม่ต่างกับสินค้าในระบบอุตสาหกรรม แต่ไม่ว่าจะชอบหรือชัง เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยนี้
กลับมาที่ผลงานต้นเรื่องที่ตกแตกกันอีกที Balloon Dogs หรือประติมากรรมลูกโป่งสุนัขชิ้นนี้ เป็นผลงานในซีรีส์ Celebration ของ เจฟฟ์ คูนส์ ที่ประกอบด้วยวัตถุแห่งการเฉลิมฉลองพื้นผิวมันเงาแวววาว ผลงานชุดนี้ประกอบด้วยประติมากรรมขนาดน้อยใหญ่และภาพวาดสีน้ำมันจำนวนมาก ด้วยความที่เขาสนใจในประเด็นเกี่ยวกับการโหยหาอดีต คูนส์เลือกใช้ลูกโป่งเป่าลมที่บิดเป็นรูปสัตว์ ดอกไม้ และดินปั้นเพลย์โดว์ หรือแม้แต่ไข่อีสเตอร์ ผลงานประติมากรรมของเขาหยิบฉวยเอาวันเวลาอันเรียบง่ายแห่งวัยเยาว์ และเฉลิมฉลองความสุขสันต์หรรษาผ่านผลงานศิลปะขนาดมหึมาเหล่านี้ เจฟฟ์ คูนส์ จัดแสดผลงานชุดนี้เป็นครั้งแรกในปี 1994 ประติมากรรมลูกโป่งขนาดมหึมาของเขาชุดนี้เปลี่ยนวงการศิลปะไปตลอดกาล ถึงแม้บางคนจะมองว่าเขาเป็นตัวแทนของความไร้รสนิยม และเป็นศิลปินหัวการค้าก็ตาม
เจฟฟ์ คูนส์อ้างว่าตัวเขาเองคือ ‘เจ้าแห่งความคิด’ ที่จินตนาการถึงผลงานของตนเองก่อนที่มันจะถูกทำขึ้นมา (โดยผู้ช่วยของเขา) ประติมากรรมของเขาแต่ละชิ้นทำขึ้นอย่างประณีตพิถีพิถัน ด้วยวัสดุสแตนเลสสตีลขัดเงาเคลือบผิวด้วยสีสันสดใส แดง น้ำเงิน เหลือง ส้ม และสีม่วงแดง
การสร้างผลงานศิลปะผิวมันเงาแวววาวราวกับกระจกเงา เป็นแก่นความคิดและแรงบันดาลใจในการทำงานของเจฟฟ์ คูนส์ เขากล่าวว่า เขามักจะหลงใหลในแสงที่สะท้อนบนพื้นผิวต่างๆ และเขาเองก็มักจะทำงานกับวัตถุที่มีพื้นผิวพองลมและแวววาวสะท้อนแสงราวกับกระจกเงาอีกด้วย
เจฟฟ์ คูนส์ยังได้แรงบันดาลใจจากศิลปินรุ่นเดอะอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี และ แอนดี้ วอร์ฮอล ผลงานของเขามีความใกล้เคียงกับ ป๊อปอาร์ต กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะที่หยิบฉวยเอาข้าวของรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาทำให้เป็นงานศิลปะอันน่าตื่นตาตื่นใจ รวมถึงมีส่วนผสมของความแปลกตาน่าพิศวงจากงานศิลปะของดาลีอีกด้วย
ถึงแม้เจฟฟ์ คูนส์มักจะยืนยันบ่อยครั้งว่าผลงานของเขาไม่ได้ซ่อนความหมายอะไรเบื้องหลัง แต่นักวิจารณ์หลายคนก็พยายามจะตีความว่าผลงานประติมากรรมลูกโป่งสุนัขของเขามีความหมายอันลึกซึ้งกว่าที่เห็น ด้วยความที่มันมีน้ำหนักถึงพันกิโลกรัม เจฟฟ์ คูนส์เล่นกับแนวคิดของสิ่งที่มีน้ำหนักมหาศาลแต่มีรูปลักษณ์ที่เบาหวิวเช่นลูกโป่ง เขาทำให้วัตถุที่เปราะบางไม่คงทน กลายเป็นสิ่งที่คงทนถาวร และทำให้ของเล่นใช้แล้วทิ้งกลายเป็นผลงานศิลปะอันอลังการตระการตา
เจฟฟ์ คูนส์ยังอธิบายว่าผลงานประติมากรรมลูกโป่งของเขาเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมป๊อป วัตถุเหล่านี้ดูคุ้นตา แต่ก็ดูใหญ่โตแปลกตาเมื่อถูกนำไปวางเอาไว้ในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ คูนส์ยังกล่าวว่าประติมากรรมลูกโป่งสุนัขนั้นเป็นสัญลักษณ์ของประสบการณ์มนุษย์ เช่นเดียวกับลูกโป่ง เราต่างก็สูดอากาศเข้าไป ดังนั้น อากาศจึงเป็นสิ่งสำคัญกับเราเหมือนๆ กัน ผลงานของเขายังเต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นเด็กอยู่เสมอ
แต่ถึงแม้จะมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นเด็กอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขาไม่ใช่ของสำหรับเด็ก เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ามันมีราคาแพงมหาศาล ในปี 2013 ประติมากรรมลูกโป่งสุนัขสแตนเลสของคูนส์อย่าง Balloon dog สีส้ม ถูกประมูลไปในราคาสูงลิบลิ่วถึง 58.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,850 ล้านบาท หรือในปี 2019 ผลงานอีกชิ้นของคูนส์อย่าง Rabbit (1986) ประติมากรรมสแตนเลสรูปตุ๊กตากระต่ายเป่าลมสีเงินผิวมันเงาแวววาว ความสูง 104 ซม. ก็ถูกประมูลไปโดยสถาบัน Christie’s ในนิวยอร์ก ไปในราคา 91.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,876 ล้านบาท ทำให้ผลงานของเขา (เคย) ติดอันดับผลงานศิลปะที่ถูกขายในราคาสูงที่สุดของศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ (ก่อนที่จะถูกทำลายสถิติไปในภายหลัง)
โชคดีที่ผลงานที่ตกแตกชิ้นนี้ไม่ได้มีขนาดมหึมาและราคาแพงหูฉี่ขนาดนั้น เพราะมันเป็นประติมากรรมที่ทำจากเซรามิกเคลือบเงาที่มีความสูงเพียง 40 ซม. และมีราคา 42,000 เหรียญสหรัฐ หรือถ้าแปลงเป็นเงินไทยตอนนี้ก็ราว 1,455,636 บาท (ซึ่งก็แพงอยู่ดีนั่นแหละนะ) และโชคดีกว่า ที่ผลงานชิ้นนี้ถูกทำประกันเอาไว้ก่อนแล้ว โดยหอศิลป์ Bel-Air Fine Art ผู้จัดงานนิทรรศการครั้งนี้ นักสะสมมือซนผู้ไม่เปิดเผยนามกล่าวว่า เธอรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์นี้เป็นอย่างมาก และอยากหายตัวไปจากตรงนั้นทันที
ผลงาน Balloon dog ที่ตกแตกชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในผลงานลิมิเต็ดเอดิชั่นที่มีอยู่เพียง 799 ตัว (ตอนนี้เหลืออยู่ 798 ตัวละ) ที่น่าสนใจก็คือ มีศิลปินและนักสะสมงานศิลปะผู้อยู่ในเหตุการณ์รายหนึ่ง สนใจที่จะซื้อเศษชิ้นส่วนผลงานแตกๆ ที่เจ้าหน้าที่หอศิลป์กวาดลงที่โกยขยะไปแล้วด้วย โดยกล่าวว่า มันเป็นเรื่องที่เจ๋งมากๆ แถมยังเป็นข่าวดังไปทั่วโลกด้วย
ส่วนศิลปินเจ้าของผลงานอย่าง เจฟฟ์ คูนส์ ยังไม่มีคอมเมนต์อะไรต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้
มองในแง่ดีว่าถึงแม้จะเกิดความเสียหายขึ้นแบบนี้ แต่หอศิลป์ผู้จัดงานก็ได้โอกาสในการประชาสัมพันธ์นิทรรศการไปในตัวอยู่ดี แถมยังมีคนสนใจจะซื้องานที่แตกไปแล้วอีกด้วย แบบนี้เรียกว่าอะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะไปได้ จริงๆ อะไรจริงนะเนี่ย!
อ้างอิงจาก
หนังสือ ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ สำนักพิมพ์แซลมอน