เราเคยเล่าเรื่องราวของการใช้ของเหลวในร่างกายมนุษย์อย่าง ‘เลือด’ มาทำงานศิลปะกันไปแล้ว ในตอนนี้เราเลยขอพูดถึงการใช้ของเหลวในร่างกายคนอีกประเภท มาทำงานศิลปะกันดีกว่า แถมผลงานศิลปะที่จะพูดถึงนั้นก็ไม่ใช่ผลงานของศิลปินไก่กาที่ไหน หากแต่เป็นศิลปินผู้เคยได้ชื่อว่าเป็นราชาแห่งป๊อปอาร์ตอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol)
ผลงานที่ว่านี้เป็นภาพวาดนามธรรมของ แอนดี้ วอร์ฮอล แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตผู้สุดแสนจะหวือหวาอย่างวอร์ฮอลแล้ว จะให้วาดภาพนามธรรมแบบธรรมดาก็คงไม่ใช่ เพราะเขาเล่นใช้ของเหลวที่ใครๆ ก็มีอยู่ในร่างกายอย่างปัสสาวะ หรือ ‘ฉี่’ มาเป็นวัตถุดิบในการวาดภาพเหล่านี้ออกมา
ผลงานชุดนี้ของวอร์ฮอลมีชื่อว่า Oxidation (ที่หมายถึงปฎิกิริยาเคมีที่วัตถุสูญเสียอิเล็กตรอนเมื่อรวมตัวกับออกซิเจน ยกตัวอย่างเช่น การเกิดสนิมบนเหล็ก เป็นต้น)
แอนดี้ วอร์ฮอล สร้างสรรค์ผลงานเหล่านี้ขึ้นในช่วงปลายปี 1976 ถึงต้นปี 1978 โดยทำควบคู่กับผลงานชุด Sex Parts, Torsos ซึ่งเป็นภาพถ่ายโพลารอยด์ที่แสดงถึงเรื่องเพศอย่างโจ่งแจ้งแดงแจ๋จนแทบอนาจาร ผลงานทั้งสองชุดนี้ของวอร์ฮอล ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับร่างกายมนุษย์ โดยผลงานภาพถ่าย Sex Parts, Torsos นำเสนอร่างกายมนุษย์ในแง่มุมทางเพศ ในขณะที่ผลงาน Oxidation นั้นเป็นกระบวนการสร้างภาพนามธรรมจากของเหลวในร่างกายมนุษย์
ผลงานชุดนี้ถูกทำขึ้นในช่วงเวลาค่อนข้างซบเซาของวอร์ฮอล เมื่อเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าทำงานฉาบฉวยและตื้นเขินเกินไป อีกทั้งนิทรรศการของเขาในช่วงปลายยุค 1970s และต้นยุค 1980s ก็ได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ลบอย่างหนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดเหล่าบรรดาเซเลบและป๊อปไอคอนอันโด่งดังของเขาในปี 1979 ที่แสดงที่พิพิธภัณฑ์วิทนีย์ และภาพวาดสัญลักษณ์ดอลลาร์ ($) ของเขาในปี 1982 ก็ถูกนักวิจารณ์สับแหลกอย่างไม่ไว้หน้า บางคนก็ค่อนขอดว่า ผลงานของวอร์ฮอลน่าผิดหวังขึ้นเรื่อยๆ จากปกติ ผลงานของเขานั้นเป็นอะไรที่กลวงเปล่าอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มันดูเหมือนงานของคนโง่เง่าไร้สมองเลยก็ว่าได้
ในช่วงบั้นปลายของอาชีพและชีวิต วอร์ฮอลได้ตัดสินใจหันมาทดลองทำงานศิลปะในแนวทางที่เขาหลบเลี่ยงไม่ทำมาตลอด นั่นคือ ศิลปะแบบนามธรรม (Abstract art) นั่นเอง อาจดูเป็นอะไรที่ยอกย้อนเล็กๆ เพราะในขณะที่เขาสร้างชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานศิลปะแนวป๊อป ที่ทำให้เขาได้สวมมงราชันย์ป๊อปอาร์ต ซึ่งป๊อปอาร์ตในอเมริกาเก็ถือกำเนิดมาจากความเบื่อหน่ายศิลปะแบบนามธรรม ที่เน้นการทดลองของสีสันและการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกภายในของศิลปิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะนามธรรม ในกระแสเคลื่อนไหว แอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Abstract Expressionism) ศิลปินชาวนิวยอร์กรุ่นใหม่ จึงหยิบเอาวัตถุและเรื่องราวที่อยู่รอบตัวทั่วไป วัฒนธรรมและสื่อสมัยนิยมอย่างหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โฆษณา ภาพยนตร์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นรสนิยมดาษดื่นสามานย์มาทำงาน จนกลายเป็นแนวทางของป๊อปอาร์ตแบบอเมริกันในที่สุด แต่ไม่ว่าจะเป็นศิลปินป๊อปอาร์ตของอเมริกันหรือศิลปินแอบสแตรกเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ก็คงไม่คาดคิดว่าวอร์ฮอลจะทำศิลปะนามธรรมอันหลุดโลกพิลึกพิลั่นเช่นนี้ขึ้นมาได้
ผลงานชุด Oxidation ของวอร์ฮอล จึงเป็นการทดลองที่ลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะป๊อปอาร์ตและศิลปะนามธรรม ด้วยการสร้างสุนทรียะแบบนามธรรมที่เกิดจากการใช้ของเหลวในร่างกายมนุษย์ และก็ไม่ใช่แค่ของเหลวธรรมดา หากแต่เป็นของเหลวที่คนทั่วไปรังเกียจเดียดฉันท์และถือว่าเป็นสิ่งปฏิกูลอย่าง ‘ฉี่’ นั่นเอง
แอนดี้ วอร์ฮอล ทำผลงานชุด Oxidation ขึ้นในปี 1977 และ 1978 ขึ้นในสตูดิโอ Factory หรือ “โรงงานศิลป์” อันเลื่องชื่อของเขา ไม่มีเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมวอร์ฮอลถึงหันมาทำการทดลองทางศิลปะอันแหวกขนบชุดนี้ที่แตกต่างจากงานในสไตล์ป๊อปอาร์ตที่เขาคุ้นเคย แต่สันนิษฐานกันว่า เพราะช่วงเวลานั้นวอร์ฮอลกำลังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจ หลังจากการถูกวาเลอรี โซลานาส (Valerie Solanas) อดีตลูกจ้างหญิงของเขา บุกเข้ากระหน่ำยิงด้วยปืนจนเกือบตาย ในปี 1968 และการต้องเผชิญหน้ากับความกดดันในการทวงคืนชื่อเสียงในวงการศิลปะ ที่มัวหมองและถูกครหา จากการเข้าไปพัวพันธุรกิจการค้าและงานเชิงพาณิชย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำนิตยสารซุบซิบบันเทิง, ทำหนัง, ทำวงดนตรี การคลุกคลีกับเซเลบซุปตาร์ในวงการแฟชั่น รวมถึงการรับงานจ้างวาดภาพจากเหล่าบรรดาเศรษฐีมีทรัพย์, คนใหญ่คนโต, และผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง
ภาพวาด Oxidation ชุดนี้ วอร์ฮอลไม่ได้ทำเพียงคนเดียวลำพัง (ขืนทำแบบนั้นน้ำก็แห้งหมดตัวกันพอดี!) แต่ร่วมด้วยช่วยกันทำโดยเหล่าบรรดาเพื่อนๆ มิตรรักแฟนคลับ และแขกผู้มาเยี่ยมเยือนสตูดิโอของเขาอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นการปูผืนผ้าใบเคลือบสีทองแดงลงบนพื้นสตูดิโอ และเชิญชวนให้ผู้ช่วยของเขา และผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนฉี่รดมัน ซึ่งกรดยูริกในฉี่จะทำปฏิกิริยากับโลหะที่อยู่ในสีทองแดงที่เคลือบไว้จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นสุนทรียะ, สีสัน, และร่องรอยแบบนามธรรมอันแปลกตาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสีเขียวและน้ำเงิน บนสีแดงและสีน้ำตาลของทองแดงที่เคลือบผืนผ้าใบ จังหวะและทิศทางของร่องรอยบนภาพ ก็เกิดจากการขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวของผู้วาด หรือผู้ที่ฉี่รดลงบนผืนผ้าใบนั่นเอง สีสันบางสีเกิดขึ้นทันทีหลังจากถูกฉี่รด บางสีก็ค่อยๆ เกิดขึ้นหลังจากนั้น
ผลลัพธ์ของปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ความบังเอิญ หากแต่เป็นการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการใช้สีโลหะหลากหลายเคลือบผ้าใบ รวมถึงการปรับปริมาณและสภาวะของการใช้ของเหลวที่ส่งผลมาจากอาหารที่ผู้ช่วยของเขากินก่อนที่จะฉี่ลงรดแคนวาส ซึ่งวอร์ฮอลโปรดปรานผู้ช่วยคนหนึ่งมาก เพราะเขากินวิตามินบีเยอะ เลยทำให้เวลาที่เขาฉี่รดลงไป พื้นผิวของผ้าใบก็จะเปลี่ยนสีสันสวยงาม อันที่จริง ในปี 1962 วอร์ฮอลเคยทำภาพวาดจากฉี่ของเขามาก่อนแล้ว แต่เขาไม่ได้เก็บงานนั้นเอาไว้
ผลงานภาพวาดจากฉี่ชุดนี้ของเขามีความเชื่อมโยงกับอดีตที่ตามหลอกหลอนเขาในช่วงเริ่มต้นของวิชาชีพ ครั้งที่เขาย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์กในปี 1949 ในปีนั้น นิตยสาร Life ประกาศว่า ศิลปินแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อย่าง แจ็คสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) เป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ของอเมริกา และในช่วงเวลานั้น ศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ เองก็โด่งดังและทรงอิทธิพลอย่างมากจนเกินหน้าเกินตาและเบียดบังกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบอื่นอย่างสิ้นเชิงในอเมริกา (ร่ำลือกันว่าเป็นเพราะการสนับสนุนอย่างลับๆ จากซีไอเอ ที่ใช้ศิลปะกระแสนี้เป็นอาวุธทางการเมือง) ผนวกกับการที่วอร์ฮอลยังได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพอลล็อก ที่ฉี่รดลงบนภาพวาดที่เขาวาดให้ลูกค้าที่ตัวเองไม่ชอบ หรือการฉี่ลงบนเตาผิงในบ้านของผู้อุปถัมภ์ของเขาที่มีเรื่องผิดใจกัน ซึ่งวอร์ฮอลคิดว่าการกระทำแบบนี้ของพอลล็อกเป็นอะไรที่โคตรแสดงความเป็นชายอย่างไร้สาระสิ้นดี เขาเลยทำการเสียดสีความก้าวร้าวแบบแมนๆ ของพอลล็อก ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของความเป็นชายหรือพูดให้ชัดก็คืออวัยวะเพศชายอย่าง องคชาติ มาใช้เป็นเครื่องมือในการวาดภาพแทนพู่กัน
กระบวนการทำงานแบบนี้ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงาน Anthropométrie sans titre Anthropometry (การวัดร่างกายมนุษย์ตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่ปราศจากชื่อ) (1961) ของศิลปินชาวฝรั่งเศสอย่าง อีฟว์ คไลน์ (Yves Klein) ที่ทำศิลปะแสดงสดด้วยการละเลงสีน้ำเงินลงบนร่างเปลือยเปล่าของหญิงสาว และสั่งให้พวกเธอไถลเถลือกเกลือกกลิ้งร่างกายของตัวเองลงบนผืนผ้าใบระบายสีต่างพู่กันให้ออกมาเป็นภาพวาดนามธรรมขึ้นมา ซึ่งผลงานของทั้งคไลน์และวอร์ฮอลต่างก็เป็นการทำงานที่ใช้ร่างกายของมนุษย์เป็นเครื่องมือในการสร้างงานศิลปะเหมือนกันทั้งคู่
และอันที่จริง การใช้ของเหลวและสิ่งปฏิกูลจากร่างกายมาวาดภาพหรือทำงานศิลปะ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่เสียทีเดียวนักในโลกศิลปะ เพราะก่อนหน้านี้ ศิลปินนามธรรมชาวสวิส-เยอรมัน ผู้เลื่องชื่ออย่าง พอล คลี (Paul Klee) เอง ก็เคยเขียนในไดอารี่ของเขาว่า ครั้งหนึ่งเขากับเพื่อนหาน้ำมาใช้ผสมสีวาดรูปไม่ได้ พวกเขาเลยต้องใช้ฉี่ของตัวเองแทน
หรือศิลปินชาวอิตาเลียน ปิแอโร แมนโซนี (Piero Manzoni) ก็เอาขี้ของตัวเองมาบรรจุกระป๋องเป็นงานศิลปะ และตั้งชื่อว่า Merda d’artista (1961) หรือแปลตรงตัวได้ว่า ‘ขี้ของศิลปิน’ และขายในราคาเท่ากับน้ำหนักของทองคำ ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นการล้อเลียนเสียดสีธุรกิจการค้าศิลปะอย่างเจ็บแสบ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศิลปะในสังคมบริโภคนิยมที่หมกมุ่นต่องานศิลปะในฐานะทรัพย์สินและสินค้า มากกว่าจะให้ความสำคัญกับคุณค่าที่แท้จริงของมัน
ในขณะที่ภาพวาดจากฉี่ของวอร์ฮอลนั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีกระแสศิลปะแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์อันสูงส่งเย่อหยิ่งจองหองคับโลกศิลปะในยุคนั้น ด้วยการใช้สิ่งปฏิกูลที่คนรังเกียจวาดภาพนามธรรมอันสวยงามเปี่ยมด้วยสุนทรียะออกมา
นอกจากการเสียดสีแอ็บสแตรกต์เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ผลงานภาพวาดนามธรรมจากฉี่ของวอร์ฮอลเองก็มีนัยยะแฝงเร้นเกี่ยวกับประเด็นทางเพศอีกด้วย โดยเขาได้แรงบันดาลใจจากคลับเกย์ในนิวยอร์ก ที่มีกิจกรรมทางเพศด้วยการให้ผู้ชายเปลือยนอนในอ่างอาบน้ำแล้วให้บรรดาผู้ชายคนอื่นๆ ฉี่รดตัว และนอกจากนี้ ผลงานบางชิ้นในชุดนี้ก็ยังแฝงความหมายทางเพศอย่างจะแจ้ง
ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดบนผืนผ้าใบเคลือบทองแดงที่พิมพ์ซิลก์สกรีนรูปใบหน้าของศิลปินดาวรุ่งในยุคนั้นผู้เป็นเพื่อนซี้ของวอร์ฮอลอย่าง ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) บนผืนผ้าใบที่ถูกราดรดด้วยฉี่จนทำปฏิกิริยาเป็นรอยด่างดวง
หรือภาพวาด Cum (1977–78) ที่วาดด้วยการ (ให้ผู้ช่วยของเขา) หลั่งน้ำอสุจิลงบนผืนผ้าใบ แล้วปล่อยให้เป็นคราบไคลแห้งกรังดูคล้ายกับภาพวาดนามธรรม เขาเปรียบเทียบผลงานเหล่านี้เป็นเหมือนกับ ‘ร่องรอยคราบกิจกรรมทางเพศบนผ้าปูที่นอน’ นั่นเอง
มีการถกเถียงกันว่าผลงานชุดนี้ของเขาควรได้รับการยกย่องให้เป็นการเปิดเส้นทางสู่พรมแดนใหม่ๆ ในกระบวนการสร้างงานศิลปะ หรือเป็นผลงานที่เลวร้ายที่สุดในช่วงบั้นปลายอาชีพและชีวิตของเขากันแน่?
อย่างไรก็ดี ข้อถกเถียงและเสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อมูลค่าของมัน เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานของศิลปินซุปตาร์อย่าง วอร์ฮอล แล้ว ถึงจะเป็นฉี่ ก็มีค่าแพงกว่าทองคำแหละนะ โดยในปี 2008 ภาพวาดจากฉี่ของเขาชุดนี้ถูกประมูลโดยสถาบันคริสตี้ส์ (Christie’s) ไปในราคาสูงถึง 1,889,000 เหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
นักวิจารณ์บางคนยกย่องว่า ผลงานชุดนี้ของวอร์ฮอล นอกจากจะเป็นการทดลองทางสุนทรียะอันแปลกใหม่ และเป็นการหยอกเย้าเสียดเย้ยศิลปะนามธรรมอย่างแสบสันแล้ว ยังกระตุ้นให้ผู้ชมตั้งคำถามกับคุณค่าของความงาม และแสดงออกถึงนิยามเกี่ยวกับเรื่องเพศในแง่มุมใหม่ๆ อีกด้วย
ในปัจจุบัน ศิลปินหลายคนก็ใช้ของเหลวจากร่างกายมนุษย์ชนิดนี้เป็นวัตถุดิบและแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวอังกฤษ แกวิน เทิร์ค (Gavin Turk) ผู้ทำงานศิลปะที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวตนและผลงานของศิลปินชื่อดังแห่งยุคโมเดิร์น ด้วยการผลิตผลงานของศิลปินเหล่านั้นขึ้นมาใหม่ โดยเขาทำการจำลองจิตรกรรมทำจากฉี่ของ แอนดี้ วอร์ฮอล ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยกระบวนการแบบเดียวกันเป๊ะๆ
หรือศิลปินคอนเซ็ปชวลชาวอังกฤษ เฮเลน แชดวิก (Helen Chadwick) ผู้ทำงานศิลปะด้วยการฉี่ลงบนหิมะ แล้วใช้หลุมที่เกิดจากรอยฉี่นั้นทำเป็นแม่พิมพ์หล่องานประติมากรรมรูปดอกไม้ออกมา และศิลปินช่างภาพอเมริกัน แอนเดรส เซอร์ราโน ที่ทำงานภาพถ่ายของ เลือดผสมกับฉี่ ดังที่เรากล่าวถึงไปในตอน ศิลปะแห่งการใช้เลือด นั่นแหละนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก