หลายๆคนโดยเฉพาะเด็ก 80’ 90’ คงรู้จัก ‘ขายหัวเราะ-มหาสนุก’ ของสำนักพิมพ์บรรลือสาส์นเป็นอย่างดี และแน่นอน ย่อมคุ้นเคยกับมุกเมียน้อยนุ่งโป๊ เมียหลวงถือสาก พญายมมีเขา โจรมุมตึก คนติดเกาะ อาบอบนวด กระสือ ผีตานี พระอภัยมณี หมอผี หม้อแม่นาคพระโขนง เทพารักษ์ในต้นไม้ไปจนถึงปังปอนด์, สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ และหนูหิ่นอินเตอร์
ดักแก่กว่านี้หน่อย ก็จะรู้ว่า ‘บรรลือสาส์น’ สร้างเสียงหัวเราะมาก่อนหน้าขายหัวเราะ-มหาสนุก ไม่ใช่รูปแบบการ์ตูนลายเส้น แต่เป็นนิยาย เพราะตั้งแต่คุณบันลือ อุตสาหจิตก่อตั้งในปี 2498 บนถนนนครสวรรค์แถวสะพานผ่านฟ้าลีลาศย่านธุรกิจสำหรับนักเขียนนักพิมพ์นักอ่าน สำนักพิมพ์ก็ตีพิมพ์และจัดจำหน่ายนวนิยาย นิยายภาพ หนังสือเพลง นิตยสาร การ์ตูนจำนวนมาก รวมไปถึงหัสนิยาย (ภาษาไทย-แขกวันละคำวันนี้ขอเสนอคำว่า ‘หัสนิยาย’ หมายความว่าเรื่องชวนหัว, เรื่องราวอันเต็มไปด้วยความตลกขบขัน เป็นคำสมาสระหว่าง หัสที่แปลว่ารื่นเริง กับนิยายที่หมายถึงเรื่องแต่งขึ้น.) ‘พล นิกร กิมหงวน’ หรือ ‘สามเกลอ’ ประพันธ์โดย ป. อินทรปาลิต นามปากกาของ ปรีชา อินทรปาลิต
และถ้าจะขุดหลุมดักแก่กว่านี้ไปอีก ก็จะรู้ว่า ‘ขายหัวเราะ’ เดิมเป็นชื่อรายการทีวีตลกสมัยยังเป็นขาว-ดำ นำโดยล้อต๊อกและชูศรี แต่ก็ลาจอไป กระทั่งในปี 2516 ในยุคที่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวทรงพลังขับเคลื่อนได้ทั้งมวลชนและประชาธิปไตย ‘ขายหัวเราะ’ ก็กลับชาติมาเกิดอีกครั้ง เป็นหนังสือการ์ตูนรายสัปดาห์ เมื่อแรกจำหน่ายมีขนาด 8 หน้ายกพิเศษ หนา 64 หน้าไม่รวมปก ราคา 5 บาท โดย ‘บก.วิติ๊ด’ อย่างที่ในการ์ตูนล้อเลียนบ่อยๆ นิตยสารการ์ตูนขายหัวเราะพาดมุมปกว่า “สำหรับผู้ใหญ่” เพราะมีมุกทะลึ่งสัปดนบ้าง มีนักวาดการ์ตูนมากมายเช่น จุ๋มจิ๋ม, วัฒนา, ตาโต (ร่างอวตารของวัฒนา), พ.บางพลี, ทวี วิษณุกร[1]
ต่อมา 2518 ในยุคที่เสรีประชาธิปไตยเฟื่องฟู ประชาชนเฉลิมฉลองการปลดแอกจากระบอบเผด็จการอันยาวนานอย่างสนุกสนาน บรรลือสาส์นได้คลอด ‘การ์ตูนมหาสนุก’ เมื่อแรกจำหน่ายมีขนาด 8 หน้ายกพิเศษ หน้า 64 หน้าไม่รวมปก ราคาเพียง 5 บาท ที่ไม่เพียงสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มด้วยการ์ตูนตลกเช่นเดิม แต่ยังเพิ่มเรื่องสั้นในรูปแบบการ์ตูน สารคดีปกิณกะความรู้ นิทานแฝงคติสอนใจ นิทานจีน เทพปกรณัม [2]
ทั้งขายหัวเราะและมหาสนุกสามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก เพราะไม่เพียงราคาไม่แพง แต่ยังเข้าใจง่าย เพียงแก๊ก 3 ช่องก็ชวนหัวได้ ซึ่งเข้าใจง่ายแม้แต่เรื่องยากๆ อย่างวรรณกรรมคลาสสิคของเอเชียก็ถูกทำเป็นการ์ตูนเรื่องยาวมาแล้ว เช่นรามายณะ (ใช้ชื่อว่า ‘รามาวตาร’ ระหว่าง 2544 – 2548) มหาภารตะ (ใช้ชื่อว่า ‘ศึกมหาภารตะ’ ปี 2547 – 2551)
และเนื่องจากมีการ์ตูนนิสต์จำนวนมาก อารมณ์ขันที่หลากหลาย แต่ทั้งขายหัวเราะ-มหาสนุก sex จึงเป็นส่วนหนึ่งในแก๊กบนหน้าหนังสือ กามารมณ์และเพศสัมพันธ์ที่ถูกแทรกเนื้อหาในฐานะชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ผู้หญิงแต่งตัวยั่วยวน แสดงท่าทียั่วยิ้ม การคบชู้มีกิ๊ก หนุ่มสาวหนีตามกันไป เพศวิถีรักเพศเดียวกัน ที่ไม่ว่าเพศวิถีเพศสภาพแบบใดก็สามารถตลกด้วยกันได้ ไปจนถึงการใช้บทสนทนาสองแง่สองง่าม เช่น “อย. ที่แปลว่า แอบอยู่ใต้เตียงนั่นเอง” แม้จะไม่ได้มีจุดประสงค์เน้นเรื่องเพศแต่เนื้อหาเชิงภาพก็ถูกจัดวางอย่างสะดุดตา เช่นหน้าปกกับภาพตลกโดย ‘วัฒนา’ หรือภาพขนาดเต็มภายในเล่ม เช่นคุณมิลค์กับนมของนาง ใน ‘หนูหิ่น…อินเตอร์’
หนังสือการ์ตูนจึงบันทึกรสนิยมและอารมณ์ขันของผู้คนในแต่ละยุคสมัย สังคม
มุกในขายหัวเราะ-มหาสนุกจึงเป็นพยานให้กับความขำขันของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ที่มักจะมีแก๊กผู้ชายแสดงออกความต้องการทางเพศอย่างเปิดเผยมากกว่า มุกหื่นทะลึ่งตึงตังผู้ชายเป็นตัวการ์ตูนหลักหรือมีบทสนทนามากกว่า เมียน้อยมีความยั่วยิ้มดึงดูดทางเพศมากกว่าเมียหลวงที่มีภาพอ้วนขี้แหร่เกรี้ยวกราด จนตัวการ์ตูนเมียหลวงถูกวาดให้ไม่ต่างไปจากนางผีเสื้อสมุทรในแก๊กพระอภัยมณี ขณะเดียวกันการ์ตูนก็ทำหน้าที่ผลิตซ้ำสำนึกและอุดมการณ์ปิตาธิปไตยไปพร้อมๆกัน อันเป็นลักษณะนิตยสารการ์ตูนหลายๆ หัวที่ปังมากๆ ในทศวรรษ 2520 เช่น ‘การ์ตูนจี้เส้น’ สำนักพิมพ์บางกอกสาส์น ที่จุก เบี้ยวสกุลวาดการ์ตูนหน้าปก, ‘ยอดตลก’ โดยสำนักพิมพ์สยามสาส์น, ‘โจ้กเขย่าเส้น’ สำนักพิมพ์เทพพิทยา, ‘รวมหัวเราะ’ สำนักพิมพ์นครสาส์น, ‘ภาพดารา เขย่าเส้น’ พิมพ์ที่โรงพิมพ์วิบูลย์กิจ แน่นอนนิตยสารการ์ตูนเหล่านี้ก็มักมีผู้หญิง sexy นุ่งน้อยห่มน้อยสะดุดตาทั้งในเล่มและปก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โจ้กเขย่าเส้น’ ที่ตัวการ์ตูนผู้หญิงโชว์หัวนมและหัวหน่าวชัดเจน จนต้องมีคำโปรยใต้ชื่อนิตยสารเตือนเชิงขบขันว่า “ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 80 ขวบอ่าน”
เช่นเดียวกับ การ์ตูนที่อยู่ยั้งยืนยงร่วมสมัยหลายทศวรรษกับขายหัวเราะ-มหาสนุกอย่าง ‘หนังสือการ์ตูนผีเล่มละบาท’ ที่เรียกเหมารวมกันแบบนั้นต่อให้ขึ้นราคาแล้วในปัจจุบันก็ยังคงเรียกว่าเล่มละบาทอยู่ และไม่ได้มีแต่เรื่องผีๆ สางๆ หากแต่ยังเล่าเรื่องบู๊ ตลก จักร์ๆ วงศ์ๆ รักๆ ใคร่ๆ ทว่าภาพจำมักมีแต่เรื่องผี ความรุนแรง การฆ่าล้างแค้น เล่าโครงเรื่องเดิมๆ ว่าด้วยผู้หญิงเชื่องๆ ถูกทำร้ายย่ำยีข่มขืนจนตาย หรืออกหักรักคุดถูกผู้หลอกแล้วฆ่าตัวตาย แต่เมื่อพอเธอตายแล้ว ฉับพลันทันใดก็มีอำนาจและความแข็งแกร่งก้าวร้าวขึ้นมาทันที กลายเป็นผีมาพยาบาทตามทวงคืนพวกผู้ชาย ‘การ์ตูนผีราคาถูก’ จึงเป็นอีกวัฒนธรรมย่อย วัฒนธรรมการอ่านท้องถิ่นที่สะท้อนถึง ‘ความเป็นไทย’ บางประการ ที่เป็นการอ่านเพื่อการปลดปล่อยอารมณ์ความรุนแรงที่ในชีวิตจริงทำไม่ได้ เพื่อให้อารมณ์ที่อัดอั้นได้ระบายจนอ่อนลง แม้ว่าจะมีภาพสยองขวัญแต่ก็ปรากฎพร้อมกับความ sexy ทั้งฉากเรื่องเพศ และโดยเฉพาะผีผู้หญิงที่ต่อให้หน้าเหวอะ แต่นมไม่หวะ[3]
ด้วยเหตุนี้จึงมีความกังวลใจต่อการ์ตูนขายหัวเราะ-มหาสนุกว่าจะไม่เหมาะสมกับผู้อ่านวัยเด็ก เช่น งานวิจัยของกิติมา สุรสนธิ “ความเหมาะสมของเนื้อหาในนิตยสารการ์ตูนไทยยอดนิยมที่มีต่อเด็ก : ศึกษาเฉพาะกรณีนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ขายหัวเราะ” (2540) ที่เชื่ออย่างสนิทใจว่า การ์ตูนแซมภาพหวาบหวิว คำพูดสองแง่สองง่าม พูดถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน และเพศสัมพันธ์ที่ผิดศีลธรรมเช่นนี้ เป็นตัวอย่างไม่ดีแก่เยาวชน ยิ่งการ์ตูนเป็นสื่อมวลชนที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย แต่เด็กยังขาดวิจารณญาณในการพิจารณาเนื้อหา ย่อมนำไปสู่พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ และอาชญกรรมโดยเยาวชนอย่างที่เห็นเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ พร้อมทั้งเสนอว่า ขายหัวเราะที่เน้นเชิงธุรกิจควรจะนำเสนอเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์เช่นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คุณธรรมจริยธรรม วัฒนธรรมประเพณี และลดเชิงกามารมณ์จะทำให้มีประโยชน์ในเรื่องความบันเทิงและสาระมากกว่านี้[4]
555555555555555555555+…อ่านงานวิจัยชิ้นนี้แล้ว ขำหนักกว่าอ่านการ์ตูนตลกเสียอีก…
อย่างไรก็ตาม ขายหัวเราะ-มหาสนุก ถือได้ว่าเป็นการก้าวข้ามศีลธรรมระดับกระแดะด้วยการประดิษฐานเรื่องเพศมิติต่างๆ ไว้บนที่สาธารณะอย่างตรงไปตรงมา ไม่ดีดดิ้นซุกไว้ใต้พรม แล้วเคารพวิจารณญาณผู้อ่านในระดับปัจเจกให้พิจารณากันเอาเอง อันที่จริงหากเชื่อว่าเด็กเข้าถึงการ์ตูนประเภทนี้ได้ง่าย การ์ตูนนี่แหละก็เป็นวิชาเพศศึกษาและสังคมศาสตร์ที่ชวนให้ผู้อ่านในวัยเด็กทำความเข้าใจโลกและชีวิตทางเพศอย่างไม่ดัดจริตกระมิดกระเมี้ยน เข้าใจว่ามนุษย์ต้องกินขี้ปี้นอน และผลของการกระทำนั้นจะเป็นเช่นไรตามมา เช่นการเอาบันไดพาดห้องหญิงสาวเพื่อจะพาหนีจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง การมีกิ๊กนอกใจแฟนจะต้องพบกับสิ่งใดตามมา เป็นการขัดเกลาผ่านเรื่องตลก ขณะเดียวกันก็ให้เรียนรู้ถึงชีวิตครอบครัวในสภาพเป็นจริง อย่างน้อยที่สุดก็คือการทะเลาะบอกแว้งระหว่างผัวเมียคู่รักมันย่อมเกิดขึ้นได้ ภายในสถาบันครอบครัวไม่ได้มีแค่ความรักอย่างเดียวตลอดเวลา ผ่านมุกผัวเมียทะเลาะบอกแว้งกัน (แต่มันก็คนละเรื่องกับการใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย)
มากไปกว่านั้นในปี 2560 ขายหัวเราะก็ได้ปล่อยฉบับ ‘ฉันดีใจที่มีเธอ’ เช่นเดียวกับที่มหาสนุกได้ปล่อย ‘Super Girl เธอสุดยอด!’ รวมมือกับ UN Women เพื่อนำเสนอตัวตนของผู้หญิงผ่านมุกตลก เป็นอีกกระบวนการที่เคลื่อนไหวทางสังคมให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] จุลศักดิ์ อมรเวช. ตำนานการ์ตูน. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2544, น. 583 -587.
[2] เรื่องเดียวกัน,หน้าเดียวกัน.
[3] Chanokporn Chutikamoltham. Pleasure of Abjection: Cheap Thai Comics as Cultural Catharsis. Explorations Vol 12 (Fall 2014), pp. 46-58.
[4] กิติมา สุรสนธิ. ความเหมาะสมของเนื้อหาในนิตยสารการ์ตูนไทยยอดนิยมที่มีต่อเด็ก : ศึกษาเฉพาะกรณีนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ขายหัวเราะ. กรุงเทพฯ : คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2541.