เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ในที่สุด โจ ไบเดน (Joe Biden) ผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตก็ตัดสินใจเลือก คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) วุฒิสมาชิกหญิงจากรัฐแคลิฟอร์เนียมาเป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี หากเธอสามารถคว้าตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้จริง คามาลาจะเป็นผู้หญิงผิวดำและมีเชื้อสายเอเชียคนแรกในตำแหน่งนี้ โดยก่อนหน้านี้มีผู้หญิงเพียง 3 คนที่ได้สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี และทุกคนแพ้เลือกตั้งทั้งหมด
คามาลาคือผู้หญิงคนที่ 4 ในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา บทความนี้จะบอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวนักสู้ ผู้มีความเฉียบขาดและอุดมการณ์มุ่งมั่นกับความเปลี่ยนแปลง ที่เธอยืนยันว่าถ้าจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เธอจะลงมือทำทันที ไม่รอใครและเธอแสดงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มได้จากในระบบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคนนอกอย่างที่ใครอื่นคิดกัน
1.
คามาลา แฮร์ริส เกิดที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แม่เป็นคนอินเดีย ส่วนพ่อเป็นคนดำจากจาไมกา พ่อและแม่ของเธอพบรักกันตอนเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเรียกร้องสิทธิพลเมืองสมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนตกลงแต่งงานกันและมีคามาลากับน้องสาว สองพี่น้องคู่นี้สนิทสนมกันมาก น้องสาวของคามาลาเคยจัดงานแต่งงานให้กับพี่สาว รวมถึงยังมาร่วมเป็นทีมงานหาเสียงตอนรณรงค์เป็นตัวแทนชิงประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตเมื่อปีก่อนด้วย
วัยเด็กของคามาลาถูกพ่อกับแม่พาไปร่วมประท้วงหลายครั้ง ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยถามลูกคนนี้ระหว่างเดินขบวนว่าต้องการอะไรมากที่สุด คามาลาตอบไปอย่างมั่นใจว่า “เสรีภาพ”
แม่ของคามาลา เป็นลูกของข้ารัฐการระดับสูงในอินเดีย ตาของคามาลามีบทบาทในการเรียกร้องเอกราชจากอินเดีย ส่วนยายเองก็เป็นคนที่ทำงานเพื่อสังคม มักจะเดินทางไปชนบทยากไร้และสอนเรื่องการคุมกำเนิดแก่ชาวบ้านอยู่เป็นประจำ
เมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ พ่อกับแม่ก็หย่าร้างกัน สองพี่น้องอาศัยและถูกเลี้ยงดูจากแม่ สุดสัปดาห์ถึงจะได้ไปอยู่กับพ่อ แม้แม่คามาลาจะเป็นคนอินเดีย แต่เธอก็เลี้ยงดูลูกสาวทั้ง 2 คนให้ภาคภูมิใจกับความเป็นคนดำในประเทศแห่งนี้
ช่วงวัยเด็ก คามาลาต้องนั่งรถเมล์ร่วมกับเด็กยากจนเพื่อไปเรียนหนังสือเป็นประจำ นี่คือความทรงจำที่เธองัดออกมาตอบโต้ โจ ไบเดน สมัยลงแข่งเป็นตัวแทนชิงประธานาธิบดีของพรรค โดยเธอบอกว่า มีเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นชนชั้นล่างของสังคมที่มีโอกาสได้ไปเรียนในโรงเรียนรัฐซึ่งไม่มีการแบ่งแยกสีผิว และเธอนั่งรถเมล์ไปโรงเรียนทุกวัน เด็กคนนี้ก็คือฉัน
การตอบโต้ครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างการดีเบต คามาลาจงใจโจมตีไบเดน ซึ่งเคยต่อต้านนโยบายที่ให้เด็กต่างสีผิวนั่งรถเมล์และไปเรียนหนังสือร่วมกันกับเด็กผิวขาว ในช่วงดีเบตนี้ คามาลาโจมตีไบเดนหลายเรื่องในนโยบายที่ดูเหมือนไม่สนับสนุนสิทธิพลเมืองมากเท่าที่ควร แต่เธอยืนยันว่าเรื่องราวในการดีเบทจบลงไปแล้ว ตอนนี้เธอสนับสนุนโจ ไบเดนอย่างเต็มที่
ประสบการณ์ในวัยเด็กหล่อหลอมให้คามาลา แฮร์ริส
เป็นคนฝีปากกล้า มีความมั่นใจและเปี่ยมอุดมการณ์
ครั้งหนึ่งด้วยวัยเพียง 13 ปี คามาลาและน้องสาวเคยก่อม็อบรวบรวมคนคัดค้านนโยบายของที่พักซึ่งไม่อนุญาตให้เด็กใช้พื้นที่สนามหญ้าได้ การคัดค้านครั้งนั้นนำไปสู่การยกเลิกข้อห้ามดังกล่าว
กิจกรรมทางการเมืองอยู่ในชีวิตของคามาลาเสมอมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน
2.
หญิงสาวเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยอัยการในเมืองโอกแลนด์ มุ่งเน้นคดีอาชญากรรมทางเพศ เดิมทีเดียวคนในครอบครัวไม่ชอบอาชีพของคามาลามาก เพราะในฐานะคนซึ่งไม่ใช่ผิวขาว มุมมองต่อผู้บังคับใช้กฎหมายค่อนข้างเป็นไปในแง่ลบ แต่คามาลายืนยันว่าเธอเลือกเส้นทางนี้ เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานเหล่านี้จากภายในและจะทำได้ก็ต้องเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในระบบเท่านั้น
ช่วงที่ทำงานกฎหมายนี่เอง เธอได้คบหากับนักการเมืองรายหนึ่งซึ่งมีอายุมากกว่าเธอในตอนนั้นถึง 30 ปี แม้ต่อมารักจะไม่ยืนยง แต่คามาลาก็ได้รับการผลักดันจากอดีตคนรักให้เข้าไปอยู่ในทีมงานของอัยการเมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งคามาลาได้เข้าไปดูแลคดีการค้าประเวณีเด็ก โดยเธอมุ่งเปลี่ยนมุมมองสังคมต่อเด็กหญิงที่ค้าประเวณีให้กลายเป็นเหยื่อมากกว่าจะถูกมองว่าเป็นโสเภณี
ในระหว่างทำงาน ตัวเธอเป็นที่นิยมชมชอบจากผองเพื่อนในวงการกฎหมาย รวมถึงชนชั้นนำในเมือง ซึ่งคนเหล่านี้ต่างสนับสนุนให้เธอลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.2003 และได้รับเลือกให้เป็นอัยการของเมืองซาน ฟรานซิสโก โดยเอาชนะเจ้านายเก่าของเธอเอง ด้วยคะแนนถึง 56.5 % กลายเป็นหญิงผิวดำคนแรกที่ก้าวสู่ตำแหน่งนี้
เส้นทางการเมืองของคามาลา แฮร์ริสเริ่มต้นขึ้นในที่สุด
3.
3 ปีแรกในการทำหน้าที่อัยการของซาน ฟรานซิสโก อัตราการจับกุมคดีอาชญากรรมของเมืองกระโดดจาก 52% เป็น 67% เรื่องนี้ทำให้เธอถูกวิจารณ์ว่าสมัยเป็นอัยการว่าเธอใช้กำปั้นเหล็กในการจัดการกับอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความเฉียบขาด โดยอาชญากรเหล่านี้ล้วนเป็นคนยากจน คนดำและคนสีผิวที่ไม่ใช่ผิวขาว
ครั้งหนึ่งเธอสนับสนุนกฎหมายสุดอื้อฉาวที่ให้มีการจับกุมพ่อแม่ที่ไม่ยอมส่งลูกไปเรียนหนังสือ ซึ่งก็โดนวิจารณ์ว่า มันเป็นการลงโทษที่รุนแรงมาก อย่างไรก็ดีเธอเคยคัดค้านโทษประหารชีวิตต่อคนร้ายที่ก่อเหตุสังหารตำรวจตาย ซึ่งในงานศพของตำรวจนายนี้ คามาลาไปร่วมงานและโดนวุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวโจมตีการตัดสินใจนี้ คำปราศรัยของวุฒิสมาชิกเรียกเสียงปรบมือของคนที่มาร่วมงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียส่วนมาก แต่เพราะคามาลา แฮร์ริสไม่เชื่อในโทษประหารชีวิต เธอจึงมุ่งมั่นในอุดมการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ แม้มันจะทำให้เธอเป็นที่เกลียดชังต่อคนเห็นต่างก็ตาม
ในสมัยที่สองของการดำรงตำแหน่งอัยการเมืองซาน ฟรานซิสโก คามาลาก็ลงสนามเลือกตั้งที่ใหญ่กว่า นั่นก็คืออัยการประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยคู่ต่อสู้ของเธอเป็นเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดจากพรรครีพับลิกันซึ่งได้รับความนิยมมาก ตอนนั้นสื่อมวลชนและเกจิการเมืองต่างคาดหมายว่าคามาลาน่าจะแพ้เลือกตั้ง ถึงขนาดคู่แข่งเธอประกาศชัยชนะในหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว แต่เมื่อนับคะแนนกันจริง ๆ ใน 3 อาทิตย์ต่อมา คามาลากลับชนะเลือกตั้งไปด้วยคะแนนฉิวเฉียดเหนือกว่าคู่แข่งเพียง 0.8% เท่านั้น
ชัยชนะดังกล่าวทำให้เธอกลายเป็น
อัยการของรัฐแคลิฟอร์เนียคนแรกที่เป็นผู้หญิงและคนดำ
ในช่วงนั้นคามาลามีนโยบายเปิดฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมแบบออนไลน์ ที่เปิดบันทึกอาชญากรรมให้กับสาธารณชนสามารถเข้ามาดูได้ และยังเผยข้อมูลผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจากการถูกควบคุมตัวโดยตำรวจ นั่นทำให้ตำรวจต้องมีความรับผิดชอบมากยิ่งขึ้นในการทำงาน
นอกจากนี้สมัยที่บารัก โอบามาเป็นประธานาธิบดี เขาเกือบเสนอชื่อคามาลาให้เป็นประธานศาลสูงสุดแล้ว แต่ตัวเธอบอกปัดไปเพราะไม่สนใจในตำแหน่งนี้
ในปี ค.ศ.2016 คามาลาลงชิงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของรัฐแคลิฟอร์เนียและคว่ำคู่แข่งที่มีประสบการณ์การเมืองมา 20 ปีได้สำเร็จ เท่ากับว่าสถิติการลงสนามเลือกตั้งของเธอ 3 ครั้งนั้น ประสบชัยชนะแบบ 100% ความเป็นอัยการเก่า ทำให้ตอนเป็นวุฒิสมาชิก คามาลามีลีลาการไต่สวนสอบถามบุคคลทางการเมืองอย่างเฉียบขาดเหมือนเค้นพยาน เธอมักจะยิงคำถามที่แรง จนทำเอาหลายคนนั่งกันไม่ติดและหวั่นไหวกับความเด็ดขาดของเธอเอง
หลังดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกได้ 4 ปี คามาลาก็ทำแคมเปญขอเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต แม้ตัวเธอจะมีความดุดัน มั่นใจและดูเหมือนเป็นเสรีนิยมกลางๆ ไม่ได้เอียงซ้ายมากนัก แต่กลับได้รับความนิยมน้อยกว่าผู้สมัครคนอื่น โดยมีปัญหาภายในคือ การปฏิบัติต่อทีมงานหาเสียงอย่างย่ำแย่ การปล่อยให้น้องสาวเธอซึ่งเคยเป็นทีมงานหาเสียงของฮิลลารี คลินตันในปีที่แพ้โดนัลด์ ทรัมป์ มาวุ่นวายกับทีมงานมากไป
นอกจากนี้คามาลาเองก็ถูกโจมตีจากกลุ่มคนดำและกลุ่มหัวก้าวหน้าในพรรคที่บอกว่า สมัยเป็นอัยการนั้น เธอเองเป็นส่วนหนึ่งในฟันเฟืองการกวาดจับคนดำติดคุก และไม่เคยคิดจะแก้ปัญหาการเหยียดผิวซ่อนเร้นในหมู่ตำรวจอย่างจริงจัง ยังไม่นับว่ามุมมองทางการเมืองของเธอค่อนข้างไม่เด่นชัดจะแจ้ง นโยบายหลายเรื่องค่อนข้างคลุมเครือ
ในที่สุดเธอก็ต้องยกธงขาวยอมแพ้ถอนตัวไปในเดือนธันวาคมปี ค.ศ.2019 และใช้เวลาถึงเดือนมีนาคมปี ค.ศ.2020 เมื่อไม่มีผู้สมัครหญิงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตเหลืออยู่แล้ว จึงค่อยประกาศตัวว่าสนับสนุน โจ ไบเดนให้เป็นตัวแทนของพรรคในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
โดยคามาลาบอกว่าไบเดนนี่แหละ “จะรวมใจคนทั้งประเทศได้”
4.
ที่ผ่านมาคามาลาโจมตีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์หลายเรื่อง ทั้งการสร้างกำแพงหรือการวิจารณ์ที่ทรัมป์สั่งกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิจากส่วนกลางจัดการสลายชุมนุมการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนดำในช่วงที่ผ่านมา จนทรัมป์บอกว่าตัวคามาลานั้นเป็นของปลอมแถมยังทำตัวน่าขยะแขยงยิ่งนัก
สำหรับการจับคู่กับโจ ไบเดนในการเลือกตั้งครั้งนี้ สื่อมวลชนมองว่าค่อนข้างลงตัว คามาลาเองอายุเพียง 55 ปีเท่านั้นถือว่าอายุไม่มากหากเทียบกับตัวไบเดนเองที่อายุ 77 ปีแล้ว หากไบเดนชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้วปฏิบัติหน้าที่ไม่ไหว คามาลาก็ยังมีอายุเหมาะสมกับการขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของฝ่ายบริหารได้
นอกจากนี้ ความที่มีประสบการณ์ในการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิก ยิ่งทำให้มีประสบการณ์ทางการเมืองพอสมควร แถมด้วยความเป็นอัยการมาก่อน ยิ่งทำให้คามาลาถูกมองว่าไม่ใช่พวกซ้ายสุดโต่งเกินไป ซึ่งน่าจะซื้อใจคนอเมริกันได้พอสมควร
แม้นโยบายหลายอย่างของเธอจะไม่ชัดเจน
แต่ถ้าเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมและการให้สังคมอยู่ใน
ระเบียบภายใต้กฎหมาย อัยการเก่าอย่างเธอค่อนข้างถนัดมากในนโยบายเหล่านี้
นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าแม้จะมีข้อเสีย แต่เธอเองก็มีผลงานข้อดีมากมาย แถมดูจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกับโจ ไบเดนให้สามารถเตะโด่งโดนัลด์ ทรัมป์ออกจากทำเนียบขาวได้อย่างมีลุ้น
5.
คามาลา แฮร์ริส มีสถิติสวยหรูกับการชนะเลือกตั้งมาโดยตลอด มาครั้งนี้เธอจะต้องเอาชนะสถิติอาถรรพ์เกี่ยวกับผู้หญิงซึ่งลงแข่งสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา 3 ครั้งไม่เคยมีใครหยิบชัยชนะได้เลย คามาลาซึ่งเป็นคนขีดชีวิตสร้างประวัติศาสตร์ด้วยตัวเองมาตลอดเส้นทางการเมือง ต้องจับตาดูว่าเธอเองจะสามารถทำลายอาถรรพ์นี้ลงได้หรือจะเป็นเพียงผู้หญิงคนที่ 4 ซึ่งพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งแห่งนี้
หลังจากนี้เส้นทางการหาเสียงจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ คามาลา แฮร์ริสกับการผลักดันโจ ไบเดนเป็นประธานาธิบดียังเป็นเส้นทางที่หนักหน่วง นี่จะเป็นการจับคู่ที่น่าสนใจและลงตัวในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกาหรือไม่
ประชาชนชาวอเมริกันจะเป็นผู้ให้คำตอบในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้เอง