คนธรรมดาสามัญดูเหมือนถูกสาปให้ตกสู่ห้วงความหลงลืมไปจากโฉมหน้าประวัติศาสตร์เสมอ ทั้งที่จริงแล้ว บางทีพวกเขาและเธอกลับมีบทบาทสลักสำคัญไม่แพ้คนใหญ่คนโต แต่ก็ชวนฉงนอยู่ร่ำไป ที่เมื่อเรื่องราวเล็กๆ ของคนเหล่านี้สบโอกาสได้เปิดเผยพรั่งพรูคราวใด ไม่แคล้วเรียกเสียงฮือฮาของใครต่อใครมากมายทีเดียว
มิทันชั่วเคี้ยวหมากฝรั่งแหลก ผมใคร่ผายมือแนะนำชายคนหนึ่งซึ่งเคยเลื่องชื่อลือนามบนริมฝีปากชาวกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ 2450-2460 เอาล่ะ ขอเชิญทุกท่านพบกับ ‘เขียวกะเทย’
ทำไมต้องเขียนถึงบุคคลนี้? เหตุผลง่ายๆ คือช่างสนุกสนานเหลือเกินกับการสืบค้นรายละเอียดชีวิตของคนในอดีตที่ไม่ค่อยถูกเอ่ยอ้างเท่าไหร่นักในปัจจุบันมาบรรณาการคุณผู้อ่าน อ้อ! และยังเชื่อมั่นด้วยว่าทุกท่านน่าจะรู้สึกร่วมตื่นเต้นไปพร้อมๆ ผมกระมัง
ผู้ชายรูปร่างสันทัดอายุประมาณ 30 ผิวเนื้อสีดำแดง ใบหน้าหนวดเคราเขียวครึ้ม ไว้ผมจอนทัดหู ยามเดินเยื้องย่างสะดีดสะดิ้งแบบผู้หญิง บ้างแว่วยินคนพากันเรียกขาน ‘อีเขียว’ ใช่เพียงแค่ชื่อหรอกนะ เครื่องนุ่งห่มคลุมเรือนร่างก็เน้นพื้นสีเขียวเช่นกัน ยิ่งผ้าอ่างหินเขาก็ยิ่งชอบสวมใส่ (ผ้าอ่างหินเป็นผ้าทอมือจากบ้านอ่างหิน เมืองชลบุรี ได้รับความนิยมมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 5) เขียวมักกรีดกรายไปมาหน้าโรงหวยแถวประตูสามยอด บริเวณนั้นครื้นเครงคึกคักและดาษดื่นด้วยโรงยาฝิ่น เขาจึงยึดอาชีพหารายได้จากคนสูบฝิ่นโดยคอยนวดเฟ้นจับเส้นให้เสียเลย
ทุกบรรทัดจากย่อหน้าด้านบนเป็นภาพจำของ ‘เขียวกะเทย’ ในสายตาชาวพระนครราวๆ 100 ปีก่อน แน่ล่ะ เขาคงมิพ้นคนดังประจำยุคคนหนึ่งจริงๆ จนกระทั่งถูกพาดพิงผ่านคำกลอนตอนหนึ่งใน ‘หนังสือพิมพ์ตลาดยอด เรื่อง สุริย์ฉานลาโลก’ ว่า “…ศาลตัดสินยกฟ้องของนายเฮง เพราะความเพ่งรู้ทำนองทั้งสองเขย มาเกิดเหตุเพราะยายเหนียวเขียวกะเทย ทั้งสองเขยรบราจะฆ่ากัน….”
เดี๋ยวเล่าไปเล่ามาทำเอาหลายคนเริ่มชักจะงุนงง งั้นผมขอรบกวนเวลาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ข้างต้นสักหน่อย
หนังสือพิมพ์ตลาดยอดนำเสนอข่าวสารแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ร่วมสมัยฉบับอื่นๆ ตรงที่ได้อาศัยวิธีรายงานข่าวด้วยการแต่งกลอน โปรยถ้อยคำบนปกในฐานะ ‘นิทาน’ (แปลกดีแฮะ อาจเจตนาจะทำคล้ายๆ นิทานคำกลอนแบบหนังสือวัดเกาะรึเปล่านะ?) อย่างกรณี ‘หนังสือพิมพ์ตลาดยอด เรื่อง สุริย์ฉานลาโลก’ ถือเป็นนิทานเรื่องที่ 12 คาดคะเนว่าออกเผยแพร่ภายหลังวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พระองค์เสด็จสวรรคตวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) เพราะลงพิมพ์เรื่อง ‘สุริย์ฉานลาโลก’ อันเป็นข่าวโศกสลดแห่งพสกนิกรดังกล่าว ขณะเดียวกันในเล่มยังลงพิมพ์เรื่อง ‘โกมลแกมฝัก’ แสดงเนื้อหาคดีชู้สาวของผู้หญิงชื่อแม่หยา และเรื่องหลังนี้เองที่พบคำกลอนเอ่ยนาม ‘เขียวกะเทย’
สายตาที่เคยเลาะอ่านหนังสือพิมพ์ตลาดยอดแน่ๆ ได้แก่สายตาของวาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ. 2527 โดยเขาได้มาจากตู้หนังสือเก่าตู้หนึ่งในห้องสมุดสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย หนังสือทุกเล่มประจำตู้ล้วนรับส่งทอดมาจากเจ้าของเดิมผู้เป็นสมาชิกยุคก่อตั้งสมาคม นั่นคือขุนเศรษฐบุตรสิริสาร (แช เศรษฐบุตร) หากใครก็ตามเพียรสะสมนิตยสารเก่าๆ และคุ้นเคย ศัพท์ไทยที่จัดพิมพ์ออกเผยแพร่ช่วงทศวรรษ 2460 ก็ท่านขุนนี่แหละครับรั้งตำแหน่งบรรณาธิการ
‘โกมลแกมฝัก’ อาจฟังดูไม่ชินหูสำหรับพวกเรา ความหมายของมันคือดอกบัวกำลังออกจากดอกกลายเป็นฝัก สื่อนัยถึงผู้หญิงสองผัวที่ยังตกลงกันไม่ลงตัว ตัดสินใจมิได้เด็ดขาดว่าจะเลือกผัวคนไหนดี ตามเนื้อเรื่อง แม่หยายุพินหรืออำแดงหยาต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เนื่องด้วยนายเฮงฟ้องร้องนายเคโทษฐานเป็นชู้กับเมียของตน ระหว่างพิจารณาคดี ศาลสืบได้ว่าเดิมทีอำแดงหยาเคยเป็นเมียนายเค แต่ยายเหนียวแม่ของเจ้าหล่อน (แม่ยายของนายเค) ผีพนันเข้าสิงสู่ เที่ยวเล่นโปจนหมดเงิน ครั้นลูกเขยไม่ยอมให้เงินไปบ่อนอีก จึงพรากลูกสาวไปแต่งงานกับนายเฮง ทางด้านแม่หยารูปไม่ค่อยมีความสุขกับผัวใหม่เลยหนีกลับไปหาผัวเดิม กลายเป็นคดีความอื้อฉาวขึ้น
แม่หยานั้นหาใช่หญิงชาวสยามแท้ๆ หากคือคนพื้นเมืองมลายูหรือสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นตกอยู่ภายใต้การปกครองพวกเจ้าอาณานิคมอังกฤษ กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ลูกผสมจีนกับแขก บ้างก็มีเชื้อฝรั่งปน (ในเรื่อง ‘โกมลแกมฝัก’ ใช้คำ ‘ลูกสังกะสี’ คนโบราณเอาไว้นิยามปลากัดลูกผสม) พอพวกเขาพวกเธอพลัดถิ่นฐานมากรุงสยาม ถ้าเป็นชายจะถูกเรียก ‘บ๊าบ๋า’ ส่วนถ้าเป็นหญิงจะถูกเรียก ‘ย่าหยา’ ปฏิเสธมิได้หรอกว่าความสวยแบบสาวสยามทรงผมดอกกระพุ่ม เคี้ยวหมากปากแดงฟันดำ มีรึจะไปสู้แม่สาวย่าหยา เพราะพวกเธอผิวค่อนข้างขาว ฟันขาว ไว้ผมมวย นุ่งกี่เพ้า จนยุคสมัยนั้น ขุนนางและพ่อค้าคหบดีบังเกิดรสนิยมพิเศษ ถึงกับพยายามแข่งขันกันเสาะหา ‘ย่าหยา’ มาทำเมีย
อำแดงหยาซึ่งเหมือนเธอจะเกิดในสิงคโปร์แล้วอพยพมาอยู่แถวบางรักในกรุงเทพฯ ต้องเผชิญความวุ่นวายมาเยือน ส่วนหนึ่งก็เพราะรสนิยมเศรษฐีดังผมได้สาธยาย แต่ตัวการจริงๆ ในเรื่องตกอยู่ที่แม่ยายจอมป่วนเยี่ยงยายเหนียว หนังสือพิมพ์ตลาดยอดรายงานข่าวทำนอง “…เกิดเหตุเพราะยายเหนียวเขียวกะเทย…” วาณิช จรุงกิจอนันต์เลาะสายตาอ่านยังไม่พอ เขาเก็บประเด็นไปเขียนบทความลงใน ‘วารสาร ภาษาและหนังสือ’ ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 ด้วย โดยวิเคราะห์คาดเดา ‘เขียวกะเทย’ คงเป็นคำด่า ถัดจากนั้น อาจารย์ทวี ทวีวรรธนะ ส่งคำอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงมาลงพิมพ์ในวารสารเดียวกันปีที่ 16 ฉบับที่ 2 เปิดเผยว่าแม้ ‘เขียวกะเทย’ ถูกใช้เป็นคำด่า อย่างไรก็ดี ชายกระตุ้งกระติ้งชื่อเขียวคนนี้มีตัวตนอยู่จริงๆ ส่วนความเชื่อมโยงระหว่างยายเหนียวกับเขียวกะเทยนั้นไม่กระจ่างชัด ก็ในเมื่อด่ายายเหนียวจะไปลากเขียวกะเทยมาด้วยทำไม หรือบางทีอาจแค่กลอนพาไปกระนั้นหรือ?
อาจารย์ทวีนับเป็นคนเติบโตทันรับรู้เรื่องราวของ ‘เขียว’ พอย้อนไปพิจารณาภูมิหลังก็เห็นประสบการณ์โชกโชน เขาเคยสวมบทบาทบรรณาธิการหนังสือ ‘มหาวิทยาลัย’ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 ที่ถูกรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถอดออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องเพราะเลอพงษ์ ศราภัยวาณิช นิสิตคณะแพทยศาสตร์ ลูกชายพระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวาณิช) ได้เดินทางระหว่างปิดภาคเรียนไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณบิดาผู้หลบหนีพ้นเกาะตะรุเตาแล้วลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่มาเลเซีย-สิงคโปร์ ครั้นกลับมาถึงเมืองไทยเลยเขียนบทความเรื่อง ‘เยี่ยมพ่อ’ จนถูกคัดชื่อออกจากความเป็นนิสิต อาจารย์ทวียังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยแต่งตั้งโดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเมื่อปี พ.ศ. 2485 ยุคนั้น ไทยตกอยู่ท่ามกลางภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะกรรมการชุดนี้จึงผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวอักษรและการเขียนภาษาไทยที่ต่อมาภายหลังถูกเรียก ‘ภาษาวิบัติ’
‘กะเทย’ อันปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมสมัยเดียวกับ ‘หนังสือพิมพ์ตลาดยอด’ เป็นอีกข้อพึงฉุกคิด เท่าที่ผมสำรวจหลักฐานชั้นต้นพอสมควร สังเกตเห็นการนำเสนอเรื่องราวของคนกลุ่มนี้และจงใจใช้คำนี้ผ่านหนังสือเก่าๆ อย่างน่าตามแกะรอยยิ่งนัก เช่นในหนังสือ ‘ถลกวิทยา’ ที่ออกเผยแพร่ช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ก็พบหลายชิ้นข้อเขียนเอ่ยพาดพิง ‘กะเทย’ ไว้ และค่อนข้างให้น้ำเสียงขบขัน (ต้องขอโทษคุณผู้อ่านด้วย ทั้งๆ ที่ผมมีหนังสือดังว่าอยู่กับตัว แต่พอจะหยิบยกมาเขียนเล่า กลับรื้อหาไม่เจอสักที) ตรงนี้เองเย้ายวนชวนให้ศึกษาเรื่องเพศสภาพในอดีตของสังคมไทย ทั้งในแง่ที่ว่า ไฉนเล่าพวกเขาจึงถูกมองเป็นตัวตลก? และไฉนเล่าพอจะด่าอะไรใครจึงต้องยกเอาสถานะพวกเขามาเปรียบเปรย?
ด้วยความกว้างไพศาลแห่งโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ชีวิตคนธรรมดาสามัญอย่าง ‘เขียวกะเทย’ อาจเป็นเพียงจุดกระจ้อยร่อยจนแทบมองไม่เห็น แต่ต้องไม่ลืมว่าการเปล่งเสียงออกมาจากหลายต่อหลายจุดเหล่านั้นจะกลายเป็นสิ่งทรงพลังขึ้นมาได้เช่นกัน
ผมดีใจสุดซึ้งที่ได้ทำความรู้จักชายกระตุ้งกระติ้งรุ่นทวดผู้นี้โดยบังเอิญจากหนังสือเก่ากลิ่นแสบจมูก รวมถึงแช่มชื่นอารมณ์ที่ได้เขียนเล่าส่งต่อไปยังคุณผู้อ่าน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- “ข่าวราชการ เรื่อง ตั้งกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย,” ราชกิจจานุเบกษา 34,ล.59 (26 พฤษภาคม 2485). หน้า1434-1436
- ขุนเศรษฐอนุสรณ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ขุนเศรษฐบุตรสิริสาร (แช เศรษฐบุตร) จ.ซ., จ.ม. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 21 ธันวาคม 2502. พระนคร : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2502
- แถมสิน รัตนพันธุ์. ตำนาน “ลึก (ไม่) ลับ” ฉบับ ทระนง ฅนหนังสือพิมพ์.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บริษัท ยู มีเดีย จำกัด, 2553
- ทวี ทวีวรรธนะ. “ข่าวเรื่องหยายุพิน” ใน ภาษาและหนังสือ 16, ฉ. 2 (ตุลาคม 2526- มีนาคม 2527). หน้า 78
- เลอพงษ์ ศราภัยวานิช. “เยี่ยมพ่อ” ใน มหาวิทยาลัย ตุลาคม 2484. พระนคร : โรงพิมพ์ไทยเขษม, 2484
- วาณิช จรุงกิจอนันต์. “ข่าวเรื่องหยายุพิน” ใน ภาษาและหนังสือ 16, ฉ. 1 (เมษายน- กันยายน 2526). หน้า 53-60
- วาณิช จรุงกิจอนันต์. “นิทานเรื่องเล่นตัวผัวรัก” ใน ภาษาและหนังสือ 16, ฉ. 2 (ตุลาคม 2526- มีนาคม 2527). หน้า 79-86