เกือบๆ ครึ่งปีที่แล้ว ผมเคยเขียนถึงเรื่อง Kakistocracy หรือระบอบการปกครองที่มีคนโง่เป็นผู้นำประเทศไป (อ่านได้จากthematter.co ครับ) แต่ด้วยความที่เรื่องราวทางการเมืองไทยตอนนี้จะผสมผสานการทำงานระหว่างทหาร กลุ่มอีลีตหรือชนชั้นนำ (elites) และกลุ่มทุนขนาดใหญ่อย่างถึงพริกถึงขิงเสียเหลือเกิน เลยอยากแนะนำระบอบการเมืองการปกครองอีกแบบหนึ่งซึ่ง ‘ต่อยอด’ มาจาก Kakistocracy ที่เคยเขียนถึงไปครับ ชื่อก็คล้ายๆ กันนั่นแหละ เพิ่มตัว h เข้ามา 1 ตัว กลายเป็น Khakistocracy ครับ
อย่างที่ว่าไป คำว่า Khakistocracy มันต่อยอดมาจาก Kakistocracy ฉะนั้นในเชิงความหมายพื้นฐานแล้ว มันก็หมายรวมลักษณะหลักของการปกครองโดยคนโง่มาด้วยนั่นแหละครับ คือ พื้นฐานของ Khakistocracy ที่มีตัว h นี้ ก็เป็นการมองผู้ปกครองว่าโง่และเลวอยู่เป็นฐานไว้ก่อน แต่มาเพิ่มลักษณะจำเพาะขึ้นไปจากคนโง่ธิปไตยแบบเดิมไปเลยว่า
ไม่ใช่ปกครองโดยคนโง่ธรรมดาๆ นะครับ แต่ Khakistocracy หมายถึงระบอบทหารโง่ที่ปกครองประเทศกันเลยทีเดียว
โดยหลักๆ จุดเริ่มต้นของ Khakistocracy มาจาก Khaki (สีกากีนั่นแหละครับ) + Kakistocracy (การปกครองโดยคนโง่) โดยสีกากี โดยเฉพาะในโลกตะวันตกนั้นมันคือการสะท้อนภาพของสีซึ่งเป็นตัวแทนชุดยูนิฟอร์มของทหาร แต่ไม่ใช่พวกชุดลายพรางออกรบนะครับ จะเป็นชุดยูนิฟอร์มกึ่งลำลองมากกว่าหน่อย และในไทยสีกากีนี้ก็ใช้ในชุดยูนิฟอร์มทางการโดยทั่วไปด้วย ในภาษาอังกฤษบางครั้งจึงเรียกทหารกึ่งแสลงว่า The Khakis หรือพวกเสื้อกากีนั่นเอง
ภาพยูนิฟอร์มนักเรียนทหารของ Phillips Merchant Marine Academy[1]
ฉะนั้นก็ไม่ผิดที่จะบอกว่า Khakistocracy เป็นการ ‘เล่นคำ’ ในเชิงภาษาศาสตร์ที่เรียกว่า Portmanteau Word แบบหนึ่ง คือ เป็นคำกึ่งแซะ กึ่งประชดประชันในตัว ที่เกิดจากการนำเสียงของคำต่างๆ มาผสมกัน แต่แม้มันจะมีความแซะความแซวในที มันก็เป็นที่นิยมไม่น้อยนะครับ และคำๆ นี้ก็มักจะถูกใช้ในการอธิบายความเป็นไปของหลายประเทศในโลก อย่าง ไนจีเรีย, ปากีสถาน, อียิปต์, โปรตุเกส, อิรัก, เกาหลีเหนือ และแน่นอนรวมถึงประเทศไทยด้วย (จะเหลือเรอะ)
คำคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกในเมื่อราวๆ 13 ปีที่ผ่านมานี้เองครับ โดย Helon Habila นักเขียนนิยายชาวไนจีเรีย ที่เขียนผลงานชิ้นแรกของเขาที่ชื่อ Waiting for an Angel ในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งแน่นอนว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารที่เข้ามายึดอำนาจหรือกดขี่ประชาชนนั่นเอง
Khakisticracy ที่ Habila ใช้ในนิยายเล่มแรกของเขานั้น เป็นการใช้เพื่ออธิบายตัวของผู้นำเผด็จการทหารของไนจีเรียอย่าง Sani Abacha ซึ่งครองอำนาจตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 1993 จนถึงกลางปี ค.ศ. 1999 ครับ การขึ้นครองอำนาจของ Abacha นั้นมาจากการยึดอำนาจของรัฐบาลไนจีเรียช่วงเปลี่ยนผ่าน และในปี ค.ศ. 1994 เขาก็ได้ออกกฤษฎีกาขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองมีอำนาจสูงสุดเหนือกว่าอำนาจทางกฎหมายใดๆ จะตัดสินหรือลงโทษได้ หรือก็คือ การกระทำทุกอย่างของเขาได้รับการรับรองโดยกฎหมายให้ถูกต้องเสมอนั่นเอง นอกจากนี้ Abacha ยังได้ออกกฤษฎีกาอีกชิ้น ที่ให้อำนาจเค้าในการคุมขังใครก็ได้ เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตัดสินใดๆ[2] (ฟังดูคุ้นๆ เนอะ)
นิยายของ Habila ที่ตีพิมพ์ออกมาราวๆ 6 ปีหลังจากการอำนาจของ Abacha สิ้นสุดลง จึงเป็นเสมือนผลงานที่มองย้อนกลับไปดูร่องรอยของความเลวร้ายต่างๆ ที่รัฐบาลทหารได้ทำไว้กับประเทศของเขา
ภายใต้อำนาจทางกฎหมายที่ Abacha มอบให้ตัวเค้าเองอย่างเหลือล้นนี่เอง คือ ทำอะไรก็ถูก และในทางปฏิบัติจะทำอะไรกับพี่แกก็ไม่ได้ ก็นำมาซึ่งความร่วมมือของทหารซึ่งเป็นผู้ปกครอง กับกลุ่มชนชั้นนำของประเทศ และนายทุนขนาดใหญ่มากมาย รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายด้วย มีการจับกุม กระทั่งแขวนคอนักกิจกรรมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ออกมาต่อต้านอำนาจการปกครองของเขา ที่มักจะโดนข้อหากบฏ (อย่างกรณีของ Moshood Abiola และ Olusegun Obasanjo ซึ่งโดนตัดสินจำคุก) หรือใช้อำนาจของเขาเพื่อปกป้องนายทุนและชนชั้นนำที่เขาให้การสนับสนุน อย่างกรณีของ Ken Saro-Wiwa ซึ่งโดนแขวนคอ จากการประท้วงการได้สัมปทานและเข้ามาขูดรีดทรัพยากรปิโตรเลียมในไนจีเรียของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต่างๆ (รวมถึงบริษัท Royal Dutch Shell ด้วย) เป็นต้น (นี่ก็ฟังดูคุ้นๆ เนอะ)
และส่วนที่เลวร้ายที่สุดของเรื่องทั้งหมดนี้คือ การสิ้นสุดอำนาจของ Abacha ผมยังไม่ทันได้บอกใช่มั้ยครับว่า ทำอย่างไร Abacha ถึงลงจากอำนาจได้ ไม่ได้มาจากอะไรชวนฝันอย่างการลุกฮือของประชาชน หรือความสำเร็จในการเจรจาต่อรองอะไรหรอกครับ อำนาจของเขาสิ้นสุดลงเพราะ Abacha ‘ตาย’ ครับ เขาตายเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1998 แต่ในเรื่องการตายของเขานั้นก็มีอะไรที่น่าพูดถึงอีกอยู่นะครับ
ก่อนที่ Abacha จะเสียชีวิตนั้น เขาได้ประกาศว่าจะให้ประเทศมีการเลือกตั้งครับ และจะคืนอำนาจให้กับรัฐบาลประชาชนในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1998 แต่แม้จะประกาศออกไปแบบนั้น ตัว Abacha เองก็ไม่ได้คิดจะให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมอะไรเลย ในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น เขาบังคับให้พรรคการเมืองถึง 5 พรรคที่จะลงเลือกตั้ง เสนอให้ตัวเขาเป็นประธานธิบดีแต่เพียงหนึ่งเดียวของประเทศครับ[3] (โหยยยยย ฟังดูคุ้นๆ อีกแล้วเนอะ)
ต่อมาในเดือนมิถุนายน Abacha ก็เสียชีวิตลงในบ้านพักประธานาธิบดีที่เมือง Abuja และถูกฝังศพในวันเดียวกันโดยไม่ถูกชันสูตรศพตามประเพณีแบบมุสลิม อย่างไรก็ดี แม้จะไม่มีการพิสูจน์ศพอะไรทางการก็สามารถประกาศออกมาได้ว่าเค้าการหัวใจวาย แต่ก็มีคนจำนวนมากไม่เชื่อตามที่ทางการนั่งเทียนมาน่ะนะครับ แต่มองว่าน่าจะโดนวางยาพิษตาย โดยโสเภณีที่พรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามแอบส่งไป ‘บำรุงบำเรอ’ Abacha เสียมากกว่า[4] และนั่นเองก็เป็นจุดสิ้นสุดของอำนาจทหารแบบ Khakistocracy ของ Abacha ในไนจีเรีย
ด้วยเหตุนี้เอง คำว่า Khakistocracy ในความหมายที่ Habila ใช้ ซึ่งเป็นการมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่สรุปรวบยอดจบแล้วของ Abacha มันจึงไม่ได้หมายถึงทหารปกครองโดดๆ หรือการปกครองโดยคนโง่/ทหารโง่เท่านั้น
แต่มันมีนัยยะที่แฝงอยู่ของการร่วมมือกันกดขี่ประชาชน และดูดกินทรัพยากรของรัฐภายใต้ความร่วมมือกับชนชั้นนำและนายทุนใหญ่ด้วย อย่างที่ Abacha พร้อมจะรังแกประชาชนทุกคน และพร้อมๆ กันไปก็ทำทุกอย่างที่จะปกป้องนายทุนใหญ่ที่ให้การสนับสนุนตน
ต่อให้ผมไม่ต้องแซวว่า ‘ฟังดูคุ้นๆ เนอะ’ เป็นระยะๆ แทบทุกท่านก็คงจะนึกได้อยู่แล้วว่ามันช่างเหมือนรัฐบาล คสช. เสียนี่กระไร ปานไปลอกแบบเขมา ตั้งแต่การตั้งกฎหมายให้อำนาจตัวเอง ที่ไม่ต่างจาก มาตรา 44 ที่มีอยู่ตอนนี้ การมีอำนาจคุมขังใครหรือเฝ้าตรวจสอบใครก็ได้ ที่ไม่ได้ต่างอะไรมากนักกับการเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ ที่หนักหน่วงมากในช่วงต้นของการรัฐประหาร และก็ยังคงมีเรื่อยมาประปราย ที่บางคนต้องถูกกักขังในค่ายทหารเป็นเวลาไม่น้อย
การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะกับนักกิจกรรมที่เห็นต่างนั้น มีมาให้เห็นได้เรื่อยๆ จนเริ่มไล่ไม่ถูกตั้งแต่กลุ่มชูสามนิ้ว กินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 ไปยันที่กลุ่ม MBK39 โดนไป หรือที่ขู่ๆ พรรคอนาคตใหม่มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีข่าวจะตั้งพรรคยันตั้งพรรคแล้วนี่เลย
ส่วนในเรื่องความร่วมมือกับชนชั้นนำและนายทุนนั้น บ้านเราก็ดูแทบจะไม่น้อยหน้า อย่างกรณีดังๆ อย่างเจ้าสัวเปรมชัย ล่าสัตว์ป่าในเขตหวงห้ามนั้น แม้โดยส่วนตัวผมจะมองว่าข้อหาทารุณกรรมสัตว์ค่อนข้างจะไม่เมกเซนส์แต่แรก (เพราะไม่งั้นการกระทำแบบเดียวกันในโรงฆ่าสัตว์ทุกที่ก็คงนับเป็นการทรมานสัตว์ได้) แต่นั่นมันคนละเรื่องกับท่าทีของทางการที่ฟ้องกลับและไล่เอาผิดทุกคนที่ตั้งข้อหาเปรมชัย หรือการออกมาบอกทุกระยะว่า “แทบจะไม่เจอหลักฐานอะไรที่จะเอาผิดเปรมชัยได้เลย” ในขณะที่กับคนอื่นๆ ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามเปรมชัย ดูจะหลักฐานมาเต็มตลอดเวลา
แถมพลเอกประวิตรยังถึงกับออกมาบอกด้วยตัวเองอีกว่าคนนอกอย่ามาเสือก อย่ามาจุ้นกับเคสคุณเปรมชัย (โฮ้โหว อะไรจะรักกันปานนั้น)[5]
ไหนจะเรื่องของคุณชัยภูมิ ป่าแส ที่ตอนนี้ก็ออกมาบอกว่าข้อมูลภาพจากกล้องวงจรปิด ‘หายไปเสียแล้ว’
ไหนจะข่าวการเซ็นสัญญาขยายระยะเวลาก่อสร้างรัฐสภาใหม่ที่งบสูงกว่า 12,000 ล้านบาท ที่ขยายยืดระยะเวลามานับรอบจะไม่ถ้วนแล้ว ที่หากนับเป็นค่าปรับจริงๆ มูลค่าสูงกว่างบสร้างรัฐสภาเสียอีก คือราวๆ 18,000 ล้านบาทโน่น แต่ก็ดูจะเซ็นขยายระยะเวลาทุกรอบให้ ให้เค้าไม่โดนค่าปรับไป[6]
ไม่ต้องไปไกลถึงนโยบายใหญ่ๆ อย่างประชารัฐ และไทยนิยมอีกด้วยเลยครับ ที่เป็นการร่วมมืออย่างชัดเจนของภาครัฐ และเอกชนระดับชั้นนำของประเทศ ที่มักจะอ้างว่าเป็นการร่วมมือของภาคประชาชนด้วย แต่ประชาชนก็ไม่ได้เลือกคุณมา และตัวแทนการตัดสินใจหลักๆ ก็เป็นทีมของรัฐบาล และบริษัทนายทุนชั้นนำล้วนๆ
สภาพดังกล่าวนี้ ดูแทบจะไม่ต่างๆ จากระบอบการปกครองโดยทหารโง่ ในบริบทของ Abacha ที่ไนจีเรียเลย เพียงแค่เปลี่ยนตัวละคร พล็อตเดิม โครงเรื่องเดิมกันเลยทีเดียว อย่างที่ไนจีเรีย เขาว่า ทหารโง่ มายึดอำนาจ กดขี่ประชาชน ร่วมมือกับนายทุนและชนชั้นนำ อย่างที่ไทยนี้ก็มีทหาร ไม่รู้ว่าโง่มั้ย รู้แต่พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่องนัก มักหลงลืมสิ่งที่ตัวเองพูด กลับกลอกไปมา รวมไปถึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างสุดชิคตลอดเวลา โง่หรือเปล่าอันนี้ก็สุดจะทราบได้จริงๆ
แต่ส่วนอื่นๆ ที่ตามมา ดูจะเหมือนกันหมด ทั้งยึดอำนาจ กดขี่ ร่วมมือกับนายทุนและชนชั้นนำ ฯลฯ จึงไม่แปลกที่ประเทศไทยจะถูกจัดหมวดหมู่ไว้ว่าเป็น Khakistocracy แบบรัฐบาล Abacha ของไนจีเรียด้วย
เหมือนกันขนาดนี้ ก็อย่าถึงกับมี ‘จุดจบแบบเดียวกัน’ เลยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ภาพจาก en.wikipedia.org/wiki/Khaki
[2] โปรดดู www.nytimes.com
[3] โปรดดู www.nytimes.com/1998/06/10/world
[4] โปรดดู www.nytimes.com/1998/07/11/world , และ www.africa-confidential.com
[5] โปรดดู www.dailynews.co.th
[6] โปรดดู www.thairath.co.th