วรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน หวนกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งเมื่อแว่วข่าวคราวว่ากำลังจะมีการสร้างละครเรื่อง วันทอง ซึ่งนำแสดงโดย ป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ที่สวมบทบาทขุนแผน ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ที่รับบทนางวันทอง และที่ฮือฮามากๆ ก็คือ ชาคริต แย้มนาม ที่แปลงโฉมเป็นขุนช้าง
หาได้แปลกอะไรเลย ถ้าคนจะตื่นเต้นตื่นตัวกับขุนช้างขุนแผน เพราะเป็นวรรณคดีที่ใครๆ ก็มิแคล้วคุ้นชิน เคยอ่านผ่านตา เคยท่องจำ รวมถึงเคยสัมผัสรูปแบบกลอนเสภาจากหนังสือแบบเรียนระดับชั้นการศึกษาต่างๆ ทางด้านรูปแบบภาพยนตร์และละครก็ผลิตออกมาให้เห็นเนืองๆ ทีเดียว
แม้ดูเหมือนคนไทยจะรู้จักขุนช้างขุนแผนกันดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อมูลและประเด็นน่าสนใจอีกมากมายที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้แพร่หลายเท่าใดนัก ผมจึงยินดีอาสาบอกเล่าถึงขุนช้างขุนแผน อีกอรรถรสให้คุณผู้อ่านได้เพลิดเพลินอารมณ์
ผมชอบฉุกคิดบ่อยๆ ว่า การนำเสนอขุนช้างขุนแผน ที่นอกเหนือไปจากการอ่านตัวบทวรรณคดีและการรับชมจำพวกละครรำ ละครนอก ละครเสภานั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือจะกล่าวง่ายๆ คือ วรรณคดีไทยเรื่องนี้ปรากฏในสื่อบันเทิงสมัยใหม่เยี่ยงภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่
เท่าที่ค้นเจอหลักฐานขุนช้างขุนแผนถูกนำมาสร้างภาพยนตร์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2477 เป็นหนังขาวดำฟิล์ม 35 มม. มีเสียงพากย์ จัดสร้างโดยบริษัท น.น. ภาพยนตร์ บำรุง แนวพานิช เป็นผู้อำนวยการสร้าง ออกฉายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ณ โรงภาพยนตร์วัฒนากรและโรงภาพยนยตร์แก๊ปปิตอล ผู้รับบทบาทขุนแผนคือ ศิริ ผิวสังข์
อาจกล่าวได้ว่า ศิริ ผิวสังข์ คือขุนแผนคนแรกบนจอภาพยนตร์ และถ้าติดตามดีๆ จะพบว่าเขายังแสดงเป็นขุนแผนช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล (ก่อน พ.ศ. 2500)
ต่อมาปี พ.ศ. 2478 บริษัท น.น. ภาพยนตร์ยังสร้างหนังขาวดำฟิล์ม 35 มม. เรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา ออกฉายเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ณ โรงภาพยนตร์วัฒนากร ศิริ ผิวสังข์ยังเป็นขุนแผน ลิลี่ แสดงเป็นนางวันทอง และ จร แสดงเป็นขุนช้าง กระทั่งปี พ.ศ. 2480 ก็มีการสร้าง ขุนช้างขุนแผน ภาค ๓ ออกฉายเมื่อวันที่ 16 เมษายน ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี
พอล่วงเข้าปี พ.ศ. 2481 คราวนี้ศิริ ผิวสังข์ ไม่เพียงเป็นนักแสดงอย่างเดียว หากเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งบริษัทศิริภาพยนตร์ด้วย โดยจัดสร้างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ภาค ๔ ตอน ขุนช้างกินเลี้ยง-สร้อยฟ้าทำเสน่ห์ ออกฉายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี ขณะที่บำรุง แนวพานิช ผู้อำนวยการสร้างคนเดิมผันตัวมาเป็นผู้ถ่ายภาพแทน ผล อนันฑปิน เป็นผู้กำกับการแสดง ‘แม่ราตรี’ แต่งบทพากย์ ‘ทิดเขียว’ หรือ สิน สีบุญเรือง พากย์เสียง (เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบรมครูนักพากย์ของเมืองไทย) วิจิตร์ แนวพานิช ลำดับภาพ เปลี่ยน สุวรรณแพทย์ ออกแบบฉาก กิมหลี ศิริผล ช่วยเหลือในกองถ่าย
ศิริ ผิวสังข์ แสดงเป็นสองตัวละครทั้งขุนแผนและจมื่นไวย ร่วมด้วยนักแสดงอื่นๆ คับคั่ง เช่น จอน ใยเจริญ เป็นขุนช้าง เพลินพิศ ปิ่นไสว เป็นนางวันทอง ชม วสุรัตน์ เป็นนางแก้วกิริยา นพ สุวรรณแพทย์ เป็นนางลาวทอง โสภณ ศิริจิตต์ เป็นพลายชุมพล จันทรา รัตนดิลก เป็นนางสร้อยฟ้า ยุพิณ กฤณวรรณ เป็นนางศรีมาลา สอิ้ง ดำรงสกุล เป็นนางทองประศรี และ ชิต คุ้มสวน เป็นเถรขวาด
ในปี พ.ศ. 2482 บริษัท น.น. ภาพยนตร์กลับมาสร้างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ภาคพิเศษ ตอน เปรตวันทองห้ามทัพ ออกฉายเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี ไม่ระบุข้อมูลว่าศิริ ผิวสังข์แสดงเป็นขุนแผนอีกหรือเปล่า (แต่ผมคิดว่าน่าจะยังเป็นเขา) ในหนังให้ความสำคัญกับภาพการใช้ไสยศาสตร์และความน่ากลัวของผีเปรตนางวันทอง ดังที่นิตยสาร ประมวลภาพยนตร์ พาดพิงถึงว่า
“ท่านที่สนใจในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ หาความรู้ประดับประดาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ดูวิธีไสยศาสตร์ การใช้เวทย์มนต์อาถรรย์ของสมัยยุคนั้นอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจ ดูการรบของสามพ่อลูกที่ต่างคนต่างมีฤทธิมีเดช ใช้ของวิเศษเข้าประหัศประหารกัน ดูความรักของแม่ที่มีต่อลูก ความรักของแม่นั้นย่อมมีอยู่แก่ลูกเพียงไรแม้จนกระทั่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ดูความรักของหนุ่มจ้าวมหาเสน่ห์ชั้นบรมครู ซึ่งพอถูกเสน่ห์ของหญิงเข้าบ้าง เล่นเอาลุ่มหลงงงงวยจนไม่รู้สึกผิดชอบ ถึงกับเกิดเรื่องร้ายใหญ่โตขึ้น เชิญมานั่งหัวเราะกันให้ท้องคัดท้องแข็ง ในตอนขบขันของคนที่ไม่ชอบเล่นกับผี แต่ว่าผีชอบมาเล่นกับคน เชิญนั่งเบียดกันจนตัวลีบ ดูเปรตวันทองแผลงเดชอย่างน่ากลัว เชิญท่านที่ไม่เคยเห็นเปรต ขอให้ท่านมาทำความรู้จักกับเปรตไว้เสีย เชิญมานั่งขำ ๆ ดูพระไวยเกี้ยวแม่ อย่างจวน ๆหวิด ๆ จะเข้าด้ายเข้าเข็มนั้นทีเดียว”
น่าจะเพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทย ภาวะสมรภูมิส่งผลให้แวดวงภาพยนตร์ซบเซาไปนานหลายปี การนำเสนอขุนช้างขุนแผน บนจอหนังก็มีอันเงียบหายเช่นกัน กว่าวรรณคดีเรื่องนี้จะกลับมาโลดแล่นในปี พ.ศ. 2492 เปลี่ยนจากหนังขาวดำ 35 มม.มาเป็นหนังขาวดำ 16 มม. ชื่อ ขุนช้างขุนแผน ตอนจับเสน่ห์เถรขวาด ออกฉายในเดือนมีนาคม จัดสร้างโดยบริษัทแสงหิรัญภาพยนตร์ อิน แสงหิรัญ เป็นผู้กำกับ
แน่นอนครับ ขุนแผนยังเป็นคนเดิม เขาคือ ศิริ ผิวสังข์
ในปี พ.ศ. 2495 บริษัทศรีบูรพาภาพยนตร์ได้สร้าง ขุนช้างขุนแผน ตอน ปีศาจนางวันทองอาละวาด เป็นภาพยนตร์สี (ธรรมชาติ) 16 มม. ออกฉายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ณ โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมบุรี
อาจนับเป็นครั้งแรกที่ขุนช้างขุนแผน เปลี่ยนจากภาพยนตร์ขาวดำมาเป็นภาพยนตร์สี
พอปีถัดมา พ.ศ. 2496 ก็ปรากฏภาพยนตร์สีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอน วันทองหึงษ์ลาวทอง ออกฉายเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ณ โรงภาพยนตร์พัฒนากร
ปลายทศวรรษ 2490 มีการนำเอา ขุนช้างขุนแผน มาสร้างภาพยนตร์สี (วิจิตร) 16 มม. ชื่อหนังว่า พิมพิลาไลย ราวกับจงใจขับเน้นบทบาทของตัวละครฝ่ายหญิงให้สลักสำคัญมากขึ้น ออกฉายเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2498 ณ โรงภาพยนตร์เอ็มไพร์ จัดสร้างโดยบริษัทวิจิตรเกษมภาพยนตร์ บัณฑูร องค์วิศิษฐ์ เป็นผู้อำนวยการสร้าง และ ‘พันคำ’ หรือ พร้อมสิน สีบุญเรือง (บุตรชายของ ‘ทิดเขียว’) เป็นผู้กำกับ นำแสดงโดย วิไลวรรณ วัฒนพานิช รับบทเป็นนางพิมพิลาไลย สมควร กระจ่างศาสตร์ รับบทเป็นขุนแผน และ เล็ก อ่ำเที่ยงตรง รับบทเป็น ขุนช้าง
เป็นอันว่า ผู้สวมบทบาทขุนแผนคนใหม่เยี่ยง สมควร กระจ่างศาสตร์ ได้เข้ามาแทนที่ศิริ ผิวสังข์ ซึ่งเสมือนผูกขาดการรับบทขุนแผนเนิ่นนานหลายปีแล้ว
ผมเองปรารถนาจะค้นคว้าเกี่ยวกับศิริ ผิวสังข์เพิ่มเติม น่าเสียดายที่ยังตามแกะรอยหาประวัติและผลงานของเขาได้ไม่ค่อยชัดเจน รู้เพียงว่านอกจากเขาจะเป็นขุนแผนบนจอภาพยนตร์อยู่หลายตอนแล้ว เขายังร่วมแสดงบทบาทอื่นๆในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น จันทร์เจ้าขา (พ.ศ. 2478), รับบทสมศักดิ์ พระเอกในเรื่อง ปิดทางรัก (พ.ศ. 2480) ของบริษัท น.น. ภาพยนตร์ และด้วยวัยที่อาวุโสขึ้น ปี พ.ศ. 2493 จึงรับบทตัวละครรุ่นพ่อชื่อวุ้งในเรื่อง วังหลวง-วังหลัง ของบริษัทบูรพาภาพยนตร์
ว่ากันถึงขุนช้างขุนแผน อีกประเด็นที่ผมมักหยิบยกมาใคร่ครวญ นั่นคือกรณีตัวละครหญิงเยี่ยงนางบัวคลี่และนางแก้วกิริยา เมียอีกสองคนของขุนแผน ซึ่งเดิมทีในกลอนเสภา ขุนช้างขุนแผน สำนวนเก่าๆ ไม่ปรากฏเรื่องราวของนางบัวคลี่และนางแก้วกิริยา เพิ่งจะถูกแทรกเข้ามาทีหลังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง ยิ่งเรื่องราวของนางบัวคลี่ดูจะมีนัยยะน่าถอดรหัสตีความไม่เบา เพราะเธอเป็นเมียที่ถูกผัวฆ่า จัดเป็นการอาชญากรรมรุนแรงในครอบครัว มิหนำซ้ำ สำนวนร้อยกรองก็เผยภาพพจน์ชวนสยดสยอง
ขุนแผนสังหารนางบัวคลี่เมียรักตายท้องกลมและผ่าท้องเอาลูกมาทำกุมารทอง ด้วยระแคะระคายว่านางบัวคลี่จะวางยาพิษขุนแผนตามคำสั่งหมื่นหาญผู้เป็นพ่อ ฉากฆาตกรรมมีความว่า
“เอามีดคร่ำตำอกเข้าต้ำอัก เลือดทะลักหลวมทะลุตลอดสัน
นางกระเดือกเสือกดิ้นสิ้นชีวัน เลือดก็ดั้นดาดแดงดังแทงควาย
แล้วผ่าแผ่แล่แล่งตลอดอก แหวะหวะฉะรกให้ขาดสาย
พินิจแน่แลเห็นว่าเป็นชาย ก็สมหมายดีใจไม่รั้งรอ
อุ้มเอาทารกยกจากท้อง กุมารทองมาเถิดไปกับพ่อ
หยิบเอาย่ามใหญ่ใส่สวมคอ เอาผ้าห่อลูกชายสะพายไป”
ฉากขุนแผนผ่าท้องนางบัวคลี่เป็นตอนที่นำมาสอดแทรกเมื่อคราวสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพรวบรวมและชำระเรื่องขุนช้างขุนแผน ให้เป็นกลอนเสภาของหอพระสมุดแห่งชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 นำเอาสำนวนร้อยกรองมาจาก ครูแจ้ง นักเสภาลือนามแห่งยุค โดยคัดเลือกบทที่ไม่หยาบโลนมารวมไว้ เนื่องจากกรมพระยาดำรงฯ มองว่าครูแจ้งเป็นคนแต่งกลอนเสภาดี แต่มีโอกาสมักจะหยาบโลน
ผมค่อนข้างเชื่อว่าฉากฆาตกรรมนางบัวคลี่ไม่น่าจะเป็นลักษณะที่เคยมีมาในสังคมไทยดั้งเดิม แต่กลับอวลกลิ่นอายการนำเสนอแบบใหม่ที่รับอิทธิพลมาจากข่าวสารคดีฆาตกรรมของโลกตะวันตกที่ค่อยๆ เริ่มแพร่เข้ามาสู่สยามห้วงยามนั้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เย้ายวนให้ขะมักเขม้นเสาะหาหลักฐานมายืนยัน
ขุนช้างขุนแผนจึงน่าหยิบยกมาอภิปรายเชื่อมโยงกับปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในครอบครัวอันน่าวิตกตราบจนปัจจุบันได้
คงต้องติดตามรับชมว่าละครเรื่อง วันทอง ที่กำลังสร้าง จะถ่ายทอดน้ำเสียงการเล่าถึง ขุนช้างขุนแผน ในทำนองเช่นไร แต่อย่างน้อยที่สุด แค่ยินข่าวคราวและเห็นภาพนักแสดงก็กระตุ้นให้เราตระหนักว่าวรรณคดีไทยเรื่องนี้ยังมีแง่มุมพึงขบคิดไม่รู้จบจริงๆ เชียว
เอกสารอ้างอิง
คริส เบเคอร์, ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ). ขุนช้างขุนแผน ฉบับวัดเกาะ. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์ม,
2556
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ขุนช้างขุนแผนแสนสนุก เผยฉบับลับเฉพาะ ตีดาบ ซื้อม้า หากุมารทอง สำนวนครู
แจ้ง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545
เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา, 2505
หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน). ภาพยนตรานุกรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๗๐ – ๒๔๙๙.
กรุงเทพฯ :อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2557