นอกจากคุณระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข หรือ ‘เจ๊เบียบ’ ของใครต่อใครในบ้านนี้ เมืองนี้ จะยื่นโนติซเปิดผนึกถามไปถึงน้องลำไย ‘ผู้สาวขาเลาะ’ ไหทองคำ ว่า ทำไมยูว์ถึงไม่ใช้ชื่อแอนด์นามสกุลในวงการว่า ลำไย ใจดี หรือลำไย ใจงาม? แบบงงกันไปทั้งบางแล้ว เจ๊เบียบของพวกเรายังสำทับไปในทำนองที่ว่า ไอ้คำว่า ไหทองคำ เนี่ยมันส่อไปทางเพศ
คงจะไม่มีใครตอบได้ว่าทำไมเจ๊เบียบเธอมีปัญหาอะไรกับไห? เพราะถึงแม้ว่าชื่อ ‘ไหทองคำ’ จะชวนให้มโนไปถึงอวัยวะอักษร ‘ห’ ขนาดไหน แต่มันก็มีที่มาจากสังกัดของน้องลำไยที่ชื่อว่า ไหทองคำ เรคคอร์ด ไม่ต่างจากน้องใบเตย กระแต หรือกระต่าย อาร์สยาม อะไรเลยนะครับ
ดังนั้นการที่เจ๊เบียบจะหงุดหงิดกับไหทองคำ จึงน่าจะเกี่ยวกับคอสตูม และจังหวะแดนซ์ ‘แหกๆ’ ของน้องลำไย ไม่ต่างกับที่ท่านผู้นำของประเทศได้ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างตะหงุดตะหงิดใจ แต่ไม่ตะมุตะมิเอาไว้ว่า น้องลำไยเธอเต้นจนเกือบจะโชว์ของสงวนนั่นแหละ
และเมื่อ ‘ไห’ มาอยู่คู่กับ ‘แหก’ มันก็คงจะชวนให้บรรดาครูฝ่ายปกครองของสังคมไทยทั้งหลาย มโนไปถึงอาการแหวกชิมิ ดังนั้นมันจึงไม่แปลกอะไรหรอกนะครับ ที่สื่ออหลายๆ สำนักจะตีข่าวประเด็นนี้กันโดยใช้คำว่า ‘เซ็กซ์’ อย่างโจ่งครึ่ม
คุณไมเคิล ไรท์ อดีตคอลัมนิสต์ชื่อดังจากค่ายมติชน ระดับฝรั่งคลั่งสยามผู้ล่วงลับ เคยเขียนอธิบายความหมายเกี่ยวกับคำว่า ‘sex’ ในภาษาอังกฤษไว้เมื่อเนิ่นนานมาแล้วว่า
‘sex’ เป็นภาษาละติน แปลว่า ‘หก’ หมายถึงบัญญัติข้อที่หกในบัญญัติสิบประการของพระเจ้าที่โมเสสรับเอามาจากเขาไซนาย แล้วเก็บไว้ในหีบพันธสัญญาที่เป็นสัญลักษณ์แทนตัวของพระเป็นเจ้า บัญญัติทั้งสิบประการนี้จึงศักดิ์สิทธิ์เป็นที่สุด
ส่วนเจ้าบัญญัติข้อที่หกนี้ว่าด้วยการ ‘ห้ามละเมิดลูกเขาเมียใคร’ คำว่า ‘sex’ ในภาษาอังกฤษจึงมีความหมายเกี่ยวข้องกับเพศ และวัตรปฏิบัติทางเพศ
และก็คงไม่น่าแปลกใจอะไรนักที่บัญญัติข้อที่ว่าจะคล้ายกันอยู่กับศีลข้อที่สามของชาวพุทธที่ว่าด้วย ‘กาเมสุมิจฉาจาร’ เพราะในแต่ละสังคมย่อมมีกติการ่วมกันว่าด้วยเรื่องเพศอยู่ด้วยเป็นปกติ
ที่น่าสนใจก็คือ ‘กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี’ ในศีลข้อที่สามของชาวพุทธมีความหมายแปลตรงตัวว่า “การละเว้นประพฤติผิดในกาม” ต่อมาอรรถกถาจารย์ฝ่ายเถรวาทค่อยตีความเพิ่มเติมว่า “ห้ามละเมิดลูกเมียเขา” อย่างที่เรามักจะเข้าใจกันในปัจจุบัน
แปลความได้ว่า อรรถกถาจารย์ฝ่ายพุทธเถรวาทตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า การประพฤติผิดทางเพศในที่นี้หมายถึงการไม่เบียดเบียนทางเพศต่อเพื่อนบ้าน และครอบครัวของผู้อื่น การตีความอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงนัยยะทางสังคมอย่างเวรี่จะชัดเจน และแทบจะไม่แสดงความคิดเห็นเชิงอภิปรัชญาเลยนะครับ
จะเห็นได้ว่า การห้ามละเมิดลูกเขาเมียใครของอรรถกถาจารย์ ไม่ได้กล่าวหาว่าการมีเมีย หรือผัว หลายคนเป็นบาปกรรม ตราบใดที่คุณไม่ได้เบียดเบียนผู้อื่น และพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ไปเบียดเบียนเพื่อนบ้านให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งในสังคมก็ดูจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดด้วยเช่นกัน
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากส่วนที่ไม่ใช่ฆราวาสธรรม อย่างพระวินัย ตามหลักพระปาติโมกข์ ภิกษุผู้ใดมีเพศสัมพันธ์กับสตรีเป็น ‘ปาราชิก’ ขาดจากภิกษุภาวะทันที แต่หากภิกษุผู้ใดประกอบอัตกามกิจ นับเป็น ‘สังฆาทิเสส’ ซึ่งเป็นการผิดพลาดใหญ่ แต่ปลงได้ด้วยการเข้าปริวาส และสวดมานัต ไม่ถึงกับขาดภิกษุภาวะ
แน่นอนว่าการที่ภิกษุประกอบ ‘อัตกามกิจ’ หรือ ‘ช่วยตัวเอง’ อาจจะไม่ผิดบาปเท่ากับการมีสัมพันธ์สวาทกับหญิงสาว (อย่างน้อยก็ไม่ผิดทางกายกรรมเท่า แม้ว่าทางมโนกรรมอาจจะไปเสียจนไกล๊ไกลสุดกู่แล้วก็เหอะ) แต่ผมอยากจะเดาเพิ่มเติมว่า การประกอบกามกิจกับหญิงสาวหรือชายหนุ่มเป็นการ ‘เบียดเบียน’ คือ ‘สั่นคลอน’ โครงสร้างทางสังคม ในขณะที่การประกอบกามกิจด้วยตัวเองไม่เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นในสังคม ที่เป็นอย่างนี้เพราะ กาเมสุมิจฉาจาร ของพุทธศาสนาเถรวาทเน้นที่การกระทำเชิงสังคมมากกว่าหลักอภิปรัชญา
ลักษณะที่ว่าเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ครอบครัว’ ในวัฒนธรรมของทั้งชมพูทวีป และอุษาคเนย์ ที่ ‘ผู้หญิง’ และ ‘ลูกหลาน’ หมายถึงเครือข่ายของอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นทางการค้า หรือการเมือง ข้อความในหนังสือวินาศิขะตันตระที่แต่งขึ้นในชมพูวีป และมีชื่ออ้างถึงอยู่ในจารึกสด๊กก็อกธมของขอมที่ว่าด้วยการสถาปนา ‘เทวราชา’ กล่าวถึงการสถาปนาชายาทั้งสี่ก่อนที่พระอิศวรจะขึ้นเป็นราชาเหนือทวยเทพทั้งหลาย พิธีบรมราชาภิเษกของกัมพูชายังมีหลักฐานว่าต้องอภิเษกชายาสี่คนเป็นความหมายของเครือข่ายสี่ทิศในอุดมคติ แม้กระทั่งในตำแหน่งพระไอยการนาพลเรือน กฎหมายตราสามดวง ยังกล่าวถึงตำแหน่งพระสนมเอก 4 ท้าว ได้แก่ อินสุเรนทร ศรีสุดาจัน อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษ ชื่อตำแหน่งเหล่านี้สัมพันธ์อยู่กับเมืองสำคัญที่เป็นเครือข่ายอำนาจของอยุธยาอย่าง นครศรีธรรมราช ลพบุรี สุพรรณบุรี และสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินในสมัยอยุธยา เรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ ก่อนในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงเป็นหน่อพุทธางกูรได้ทั้งที่ต่างก็มีชายากันไม่น้อยกว่าสิบ
‘กาเมสุมิจฉาจาร’ หรือข้อพึงประพฤติเกี่ยวกับ ‘กาม’ สำหรับฆราวาสในพุทธศาสนาเถรวาทจึงไม่ได้มุ่งควบคุมไปที่การครองชีวิตคู่ ความคิดเรื่องพรหมจรรย์ (ในความหมายแบบที่เข้าใจกันในปัจจุบัน) หรือแม้กระทั่งเพศรส ฯลฯ อย่างที่เข้าใจกันในชั้นหลัง แต่กลับเอื้อต่อวัฒนธรรมทั้ง ผี พุทธ พราหมณ์ ของสังคมวัฒนธรรมในชมพูทวีป และอุษาคเนย์ต่างหาก
แล้วความเข้าใจผิดอย่างที่ว่ามาจากไหน?
คุณไมเคิล ไรท์ คิดว่าเรื่องนี้คงต้องย้อนกลับไปที่นักคิดทางด้านเทวศาสตร์ศีลธรรม (Moral Theology) ในคริสต์ศาสนายุคเริ่มแรกที่ได้แปลความ และพัฒนาความคิดเกี่ยวกับ ‘sex’ บัญญัติข้อที่หก ในบัญญัติสิบประการไปอีกไกลว่า ‘กาม’ มีไว้เพื่อสืบพันธุ์ และเป็นการ ‘สร้าง’ (Creation) ที่สะท้อนงานสร้างจักรวาล (Creation) ของพระผู้เป็นเจ้า
ดังนั้น ‘กาม’ จึงเป็นเรื่อง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ที่ต้องควบคุม และใช้เฉพาะเพื่อการสืบพันธุ์ การเสพกามโดยใช้เครื่อง หรือยาคุมกำเนิด การสังวาสระหว่างเพศเดียวกัน (ในความหมายเชิงกายภาพ) หรือการประกอบอัตกามบริหาร (ชักว่าว, ตกเบ็ด) ล้วนเป็นบาปหนัก เพราะถือเป็นการขัดขืนแผนผังของจักรวาลที่พระเป็นเจ้าได้กำหนดเอาไว้ นี่เป็นเหตุให้การประกอบเพศรสในหลายๆ รูปแบบกลายเป็นเรื่องน่าละอาย
การแปลความบัญญัติข้อที่หกอย่างนี้ต่างไปจากการตีความของอรรถกาจารย์เถรวาท เพราะพวกคริสต์เน้นไปที่ลักษณะเชิงอภิปรัชญา แล้วนำมาใช้เป็นข้อกำหนดในสังคมอีกทอดหนึ่ง เห็นได้จากเมื่อศาสนาคริสต์จัดตั้งเป็นองค์กร โดยเฉพาะในช่วงยุคกลาง ที่บัญญัติข้อที่หกถูกใช้เป็นเครื่องมือข่มขู่บังคับ และควบคุมสังคม
ขบวนการนี้มาถึงจุดสุดยอด (เอ่อ ผมหมายถึง climax นะครับ ไม่ใช่ orgasm) ในอังกฤษยุคพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่ยกย่องเจ้านายเป็น ‘ผู้ดี’ และเหยียดหยามสามัญชนให้เป็น ‘คนเลว, คนบาป’ ในยุคนี้แม้แต่คำที่มีความหมายชวนให้ถึงเพศรสอย่าง ‘หน้าอก’ (breast) และ ‘สะโพก’ (hip) ยังหายไปจากภาษาอังกฤษ จนต้องเรียกอกไก่ว่า ‘white meat’ และสะโพกไก่ว่า ‘dark meat’ แต่ในสมัยนี้กลับมีแฟชั่นที่นิยมเสริมหน้าอกและสะโพกผู้หญิงให้ใหญ่โต จนพิลึกผิดธรรมชาติ
วัฒนธรรมแบบวิคตอเรียนแพร่กระจายไปทั่วโลกในยุคที่อังกฤษเป็นประเทศที่พระอาทิตย์ไม่เคยลับขอบฟ้า การล่าอาณานิคมของพระนางทำให้ sex ในความหมายแบบคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะแบบวิคตอเรียน ที่หลบซ่อนอย่างละอายในเบื้องหน้า แต่เน่าเฟะอยู่ลับหลัง กระจายไปพร้อมๆ กับภารกิจของคนขาว ที่ต้องนำ ‘อารยะ’ ไปเผยแพร่สู่ชนชาติป่าเถื่อนในสายตาฝรั่ง
กระแสวัฒนธรรมที่ว่าทำให้ความหมายของ ‘กาเมสุมิจฉาจาร’ ในแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไปพร้อมอารยธรรม และการตีความแบบตะวันตก ค่านิยมที่เกี่ยวกับ sex ในวัฒนธรรมไทยจึงเปลี่ยนไปจากเดิม sex ไม่ได้เป็นแค่เรื่องที่ละอาย แต่กลายเป็นเรื่องที่ผิดบาปไปด้วย
ที่แย่ยิ่งกว่าคือ เมื่อ sex ในความหมายแบบวิคตอเรียนหมดความนิยมไปในโลกตะวันตก ไทยในฐานะที่ยังสลัดไม่หลุดจากการเป็นอาณานิคมอำพรางกลับยังจำกัดความความหมายเรื่อง ‘กามกิจ’ ตามแบบวิคตอเรียนอยู่ โดยเข้าใจไปเองว่าเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ ในพุทธศาสนาเถรวาท
‘ไหทองคำ’ ของน้องลำไย ในสายตาของเจ๊เบียบ จึงไม่ต่างอะไรไปจาก ‘white meat’ หรือ ‘dark meat’ ของผู้คนในสมัยของพระนางเจ้าวิคตอเรียหรอกนะครับ
และก็คงไม่แปลกใจกันแล้วใช่ไหมที่ทำไมเจ๊เบียบต้องถามน้องลำไยว่า ทำไมยูว์ถึงไม่ใช้นามสกุลว่า ใจงาม?