ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่า มนุษยชาติกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมของการบริโภคอย่างสมบูรณ์แบบ ในโลกวัตถุนิยมที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ อันนี้ก็อยากซื้อ อันนั้นก็อยากได้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่หลายๆครั้งเรามักมีของที่ ‘ไม่ได้จำเป็นแต่ก็ไม่อยากขาย ตัดใจให้ใครไม่ได้ และไม่อยากทิ้ง’ อารมณ์ ‘อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน’ ใหม่ก็จะเอาเก่าก็ไม่ทิ้ง อัดกันอยู่เต็มบ้าน
แม้ว่าจะมีกระแสวัฒนธรรมมินิมอลจัดบ้านสไตล์มูจิ เสื่อผืนหมอนใบ วิถีเซนเรียบง่ายน้อยชิ้น แต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ถือเป็นส่วนน้อยเหลือเกินของประชากรโลก ปัญหาเรื่องพื้นที่เก็บของจึงเป็นเรื่องชวนปวดหัวของมนุษย์ยุคนี้ ไหนจะต้องแพ็ค ต้องย้าย ต้องแยกกล่อง จัดเรียง เช่าพื้นที่ห้องโกดัง ฯลฯ และถ้าคิดว่าตอนขนไปยุ่งยากแล้ว ลองจินตนาการว่าต้องไปค้นหาเสื้อสักตัวหนึ่งในกล่องหลายสิบใบในโกดังอับๆ เหม็นๆ ถ้าเปรียบเป็นงมเข็มในมหาสมุทรก็อาจจะฟังดูเกินจริงไปสักหน่อย แม้ว่าความรู้สึกอาจจะไม่ต่างกันมากก็ตาม
หรือวันหนึ่ง ถ้าเกิดเรื่องฉุกเฉินต้องการพื้นที่เก็บของชั่วคราว คุณหรือครอบครัวมีเหตุต้องย้ายที่อยู่อย่างเร่งด่วน ต้องยกเลิกสัญญาเช่าอพาร์ตเมนต์ที่เช่าอยู่ แต่ยังไม่อยากขายเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างที่มี หลังจากเสร็จธุระทุกอย่างแล้วคุณยังต้องกลับมาอยู่ที่เดิม จะเอาไปฝากไว้บ้านใครก็ไม่ได้ จะขนไปเก็บในโกดังก็ทำเองไม่ทัน ไม่สะดวก ของก็หนักยกเองไม่ไหว ต้องไปขอร้องอ้อนวอนเพื่อนมาช่วยกันอีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ชวนกุมขมับซะเหลือเกิน
Clutter บริษัท On-demand storage สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันจากเมือง Los Angeles เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่กำลังพยายามดึงเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ Ari Mir (หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทคู่กับ Brian Thomas) ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Forbes ว่า “สำหรับการขนของไปเก็บเอง ถ้าคุณต้องการเก็บโซฟา คุณต้องโทรหาเพื่อนและล่อลวงด้วยพิซซ่าในวันหยุดสุดสัปดาห์ หลังจากนั้นคุณก็ต้องขับรถเช่าไปที่โกดัง เอารถไปคืน นั่ง Uber กลับบ้าน หนึ่งวันของคุณก็หมดแล้ว แต่กับเรา (Clutter) คุณแค่กดปุ่มเท่านั้น”
เมื่อเรียกแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ลูกค้าก็แค่ถ่ายรูปของแต่ละชิ้นว่าอยู่ในกล่องใบไหนบ้าง โดยแต่ละกล่องก็จะมีสัญลักษณ์เป็นของตัวเอง เช่น วงกลม สามเหลี่ยม จัตุรัส ห้าเหลี่ยม ดาว หัวใจ ฯลฯ และของแต่ละอย่างที่อยู่ในกล่องนั้นก็ติดสัญลักษณ์นั้นเข้าไปด้วยเพื่อง่ายแก่การค้นหาและส่งคืน
เมื่อทำทุกอย่างเสร็จหมดเรียบร้อยผ่านแอพฯ ก็นัดวันให้ Clutter ส่งคนมาขนของจากที่บ้าน ลูกค้าจะให้ขนกี่กล่องก็ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายที่ประมาณ 350 บาท ($10)/เดือน และถ้าวันหนึ่งมีความจำเป็นต้องการของบางชิ้น ก็สามารถเรียกให้ทางบริษัทส่งคนนำมาคืนที่หน้าบ้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งอยู่ที่ประมาณ 500 บาท ($15)
Mir กับ Thomas (อายุ 35 ปีทั้งคู่) ผู้ก่อตั้งบริษัท Clutter รู้จักกันตั้งแต่เป็นวัยรุ่นแต่มาสนิทกันตอนเรียนจบมหาวิทยาลัย พวกเขาเริ่มให้ความสนใจเกี่ยวกับพื้นที่เช่าในปี 2013 เมื่อแม่ของ Thomas บ่นว่าบริษัทพื้นที่เช่าที่ใช้อยู่ขึ้นราคามาสองครั้งแล้วในปีนี้ ตอนนั้นทั้งคู่เริ่มเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ โดยคิดว่าซอฟต์แวร์และสมาร์ทโฟนน่าจะเป็นกุญแจที่ช่วยตอบโจทย์ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี พวกเขาใช้เวลาเกือบสองปีในการเขียนแผนร่างธุรกิจ จนในปี 2015 ที่เปิดตัว Clutter ตอนนั้น Thomas รับงานร้อยงานแรกด้วยตัวเองและเห็นได้ทันทีว่าลูกค้ายอมจ่ายเงินให้พวกเขาแน่นอนถ้าได้รับประสบการณ์ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น
Clutter รู้ดีว่าลูกค้านั้นมีความต้องการมากกว่าแค่ของจุกๆ จิกๆ ที่ใส่ในกล่องได้ พวกเขามีการจ้างทีมขนของมืออาชีพเพื่อมาขนของชิ้นใหญ่ๆอย่างชุดโซฟา โต๊ะ ตู้ ทีวี เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ฯลฯ โดยทีมงานขนของบริษัทจะเข้ามาห่อกันกระแทกให้เรียบร้อย ติดบาร์โค้ดสำหรับของแต่ละชิ้น และสุดท้ายมีแพ็คเกจให้ลูกค้าเลือกว่าต้องการพื้นที่เช่าในแต่ละเดือนเท่าไหร่ เริ่มต้นจาก 200 กว่าบาทต่อเดือน (เก็บได้สองสามกล่อง) ไปจนกระทั่งเดือนละเหยียบหมื่น (ขนาดสตูดิโอหนึ่งห้องนอน) ค่าใช้จ่ายทุกอย่างรวมประกันทั้งขโมย ของหาย ความเสียหายทางน้ำ (ความชื้น) และภัยธรรมชาติไปแล้วเรียบร้อย
สิ่งที่ทำให้ Clutter นั้นแตกต่างคือขั้นตอนการทำงานเบื้องหลังของธุรกิจ แทนที่จะใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อเช่าหรือเซ้งโกดังทั้งหลัง บริษัทเลือกเซ็นสัญญากับกับโกดังที่มีอยู่ก่อนแล้วและเช่าแค่เพียงบางส่วนในนั้น พื้นที่เช่าจึงค่อยๆ เติบโตไปพร้อมๆ กับความต้องการของลูกค้า โดยพวกเขาจะดูแลเรื่องของความชื้น ติดตั้งเครื่องป้องกันขโมย มีการจ้างยามเพิ่มโดยเพื่อความปลอดภัย และติดกล้องวงจรปิด
Brian Thomas ให้สัมภาษณ์ว่าเรื่องหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจนี้คือความปลอดภัยนี่แหละ “เราตรวจสอบพนักงานทุกคนอย่างเข้มงวด ทั้งประวัติการทำงานและครอบครัว ทั้งทำการทดสอบเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นเราติดสติ๊กเกอร์กันขโมยบนกล่องเพื่อให้ลูกค้าแน่ใจว่าตั้งแต่วันแรกที่ปิดกล่องจนถึงวันที่รับของคืน กล่องนั้นไม่ได้ถูกแกะออกอย่างแน่นอน”
หลังจากเปิดตัวเมื่อปี 2013 Clutter ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทลงทุนใหญ่ๆ หลายบริษัท เช่น Atomico, Google Ventures (GV), และ Fifth Wall และล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมายังได้เพิ่มอีก 2,100 ล้านบาท ($64 ล้านเหรียญ)
ยังไงก็ตามพวกเขาไม่ใช่บริษัทเดียวที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน บริษัทคู่แข่งอย่าง MakeSpace, Omni, และ Trove ต่างก็ได้รับเงินสนับสนุนจากนักลงทุนเช่นกัน เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกใจว่าการเติบโตในตลาดของธุรกิจ On-demand storage นี้ แน่นอนว่ายังไปต่อได้อีกมาก
เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน Clutter เริ่มขยายบริการเพิ่มขึ้นอีก เริ่มต้นเพียงบริษัทเก็บของออนดีมานด์ ตอนนี้พวกเขาขยับตัวเองเข้าสู่การขนย้ายของไปตามเมืองต่างๆ ด้วยเช่นกัน มันคงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักเพราะเมื่อบริษัทมีพนักงานขนของมืออาชีพอยู่แล้ว การเพิ่มส่วนนี้ของธุรกิจเพื่อสร้างรายได้อีกช่องทางก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลชัดเจน โดยเริ่มต้นที่ลูกค้าเลือกแพ็คเกจว่าต้องการขนของมากขนาดไหน (ขนาดห้อง) หลังจากนั้นก็นัดวันให้พนักงานขนของขับรถมาจอดหน้าบ้าน ห่อกันกระแทก ยกขึ้นรถ ขับไปส่งปลายทาง ยกลงรถ ขึ้นบันได จัดเรียง แกะห่อ เสร็จเรียบร้อย สิ่งที่ลูกค้าต้องทำเพียงอย่างเดียวคือบอกพวกเขาว่าต้องวางตรงไหนเท่านั้น ค่าใช้จ่ายคือ 2,100/คน/ชั่วโมง
Ari Mir กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ตอนที่ขยายมาธุรกิจขนส่งของว่า “กุญแจของการบริการแบบ 5 ดาวคือพูดว่า ‘ได้’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เมื่อก่อนตอนที่ลูกค้าบอกให้ช่วยพวกเขาย้ายของหน่อย มันเจ็บปวดมากที่ต้องปฏิเสธและตอบว่า ‘ไม่ได้’” แต่ตอนนี้พวกเขาก็ไม่ต้องทำอย่างนั้นอีกต่อไป และการเติบโตของบริษัทก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ พวกเขากำลังวางแผนที่จะขยายบริการไปทั่วอเมริกาและต่างประเทศในอีกไม่ช้า
กลับมาย้อนดูบ้านเรากันบ้าง ธุรกิจพื้นที่เช่ายังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย คอนเซ็ปต์การเช่าห้องเก็บของไม่ใช่สิ่งที่เห็นทั่วไป มีอะไรก็เก็บไว้แถวนี้ก่อน หรืออย่างมากตามปกตินิสัยแล้วเราคุ้นเคยกับการเอาของไปฝากไว้บ้านเพื่อน บ้านญาติคนนั้นคนนี้ (จนเขาโทรมาจิกให้ไปเอาคืน) ซะมากกว่า แต่มันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ซะทีเดียว เพราะจากที่เห็นตอนนี้ก็มีโกดังให้เช่าเก็บของส่วนตัวเกิดขึ้นบ้างแล้วในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพราะพื้นที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างจำกัดและการเติบโตของเมืองที่รวดเร็ว ผู้คนมีของใช้ที่มากเกินไปและไม่สามารถฝากไว้กับคนอื่นได้ อีกไม่นานเราอาจจะเริ่มเห็นบริษัทคล้ายๆ Clutter เกิดขึ้นในบ้านเราบ้างก็ได้
มีประโยคหนึ่งในหนังสือ อะไรไม่จำเป็นก็ทิ้งไป โดย Marie Kondo “เราควรจะเลือกสิ่งที่เราต้องการเก็บไว้เท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่ต้องการแล้ว”
ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้จะรู้ดีว่ามันทำได้ยากแค่ไหน เพราะ ‘ความต้องการ’ สำหรับสิ่งของแต่ละอย่างก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เดือนนี้ปีนี้อาจจะไม่ได้ใช้ ไม่ได้จำเป็นอะไร แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดต้องการขึ้นมาละ?
ตอนนี้อะไรที่ไม่จำเป็น (บางที) ก็ยังไม่ต้องทิ้งก็ได้นะ ถ้าใช้ Clutter