< เอาล่ะ โคลอี้ ทำใจดีๆ นะ แกกำลังอยู่บนรถไฟ – เชี่ย !- กับ เรเชล -อุแม่เจ้า !- แอมเบอร์ ทำใจร่มๆ เข้าไว้! >
< แต่แบบนี้เรียกว่าประหม่าหรือเปล่านะ ไอ้ความรู้สึกนี้เนี่ย อยากให้แม็กซ์อยู่ที่นี่จังเลย จะได้ถามได้ แล้วฉันควรจะชวนเธอคุยเรื่องสัพเพเหระใช่ป่ะ คนอื่นเค้าทำกันแบบนี้ใช่มั๊ย >
โคลอี้ : เอ้อ วันนี้เรามีเรเชลดีนะ
เรเชล (หัวเราะ) : อะไรของเธอจ๊ะ
โคลอี้ : ฉันหมายถึงอากาศน่ะ! วันนี้อากาศดี
เรเชล : ช่าย ดีมากเลย
เรเชล : อื้ม …แปลกดีเนอะที่เรามาชิลด้วยกัน
โคลอี้ : เธอหมายความว่า ฉันไม่ชิลกับใครเลยและก็ไม่มีเพื่อนเลย
เรเชล : ไม่ดิ เธอมีเพื่อน
โคลอี้ : อือ แค่เคยมีน่ะ ‘เพื่อน’ หนึ่งคน เอกพจน์ ชื่อแม็กซ์ แต่ย้ายไปหาชีวิตที่ดีกว่าทางเหนือนานแล้ว
เรเชล : แย่จัง
ในบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือ social movement ระดับโลกทั้งหลายแหล่ในปัจจุบัน การเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับคนที่มีเพศวิถีแตกต่างจากเพศสภาพ (ย่อว่ากลุ่ม LGBTQ) โดยเฉพาะสิทธิการแต่งงาน กำลังขยายใหญ่และได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก
ถึงแม้ว่าวันนี้การแต่งงานสำหรับคนรักเพศเดียวกันจะถูกกฎหมายในประเทศส่วนน้อย คือ 26 ประเทศเท่านั้น (ร้อยละ 13 ของ 195 ประเทศทั่วโลก) การออกกฎหมายรับรองสิทธิก็เป็นทิศทางที่ชัดเจน โดยในระยะเวลาไม่ถึงสองทศวรรษหลังจากที่เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่บัญญัติให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย อีก 25 ประเทศก็ทยอยออกกฎหมายในลักษณะเดียวกัน อาทิ แคนาดา สหรัฐอเมริกา สเปน ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ทุกประเทศแถบสแกนดิเนเวีย บราซิล โคลอมเบีย อาร์เจนตินา นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย
หันมามองทวีปเอเชีย ถึงแม้ว่า ณ วันที่เขียนอยู่นี้จะยังไม่มีประเทศใดรองรับสิทธิดังกล่าว ผู้เขียนก็เชื่อว่าเราจะได้เห็นกฎหมายลักษณะเดียวกันในอนาคตอันใกล้ เริ่มจากไต้หวัน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินในเดือนพฤษภาคม 2017 ว่า กฎหมายปัจจุบันซึ่งบัญญัติให้คู่สมรสต้องเป็นผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ เพราะละเมิด ‘เสรีภาพในการแต่งงาน’ และละเมิด ‘สิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม’ ของประชาชน
ในแง่หนึ่ง เรามาไกลมากแล้วเมื่อคำนึงว่า เพียงเมื่อไม่กี่สิบปีก่อน รักร่วมเพศยังถูกตีตราว่าเป็น ‘โรคจิต’ หรือ ‘ความผิดปกติ’ แต่มาวันนี้กลับได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เป็น ‘ความรัก’ สามัญธรรมดาทว่าแสนมหัศจรรย์ระหว่างคนสองคน ไม่ต่างจากความรักต่างเพศแต่อย่างใด
ในหลายสังคม ความคิดของคนเปลี่ยนแปลงไปมาก ยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นว่าเป็น ‘เรื่องธรรมดา’ โดยเฉพาะเมื่อได้ทำความรู้จักกับคนที่มีเพศวิถีแตกต่างจากตนเองในโลกจริง แต่โชคร้ายที่ ‘สื่อ’ จำนวนมาก โดยเฉพาะสื่อกระแสหลักอย่างสำนักข่าว ภาพยนตร์ และเกมคอมพิวเตอร์ ยังไม่สะท้อนความหลากหลายทางเพศในโลกจริงมากพอ มิหนำซ้ำหลายค่ายหลายเกมยัง ‘ผลิตซ้ำ’ ความเข้าใจผิดหรือแบบฉบับ (stereotype) อันตั้งอยู่บนอคติ ‘กลัวและเหยียด’ เกี่ยวกับคนรักร่วมเพศหรือคนข้ามเพศ เช่น ให้ตัวละครหลักวิ่งหนีเกย์ทุกครั้งที่เจอหน้า (“อย่ามาปล้ำกูนะ!) ออกแบบตัวละครเกย์ให้มีรูปร่างหน้าตาและพฤติกรรมเพี้ยนหลุดโลก (ตอกย้ำความเข้าใจผิดที่ว่า เกย์ต้อง ‘ผิดปกติ’ ทางจิตอะไรสักอย่าง) ให้ตัวประกอบที่เป็นเกย์ตายเป็นเบือหรือตายก่อนคนอื่นโดยที่ไม่มีเหตุมีผล ฯลฯ และ ฯลฯ
การสะท้อนความหลากหลายทางเพศในสื่อต่างๆ รวมถึงเกมด้วยเป็นวาระที่สำคัญ เนื่องจากสื่อมีอิทธิพลสูงมาก โดยเฉพาะต่อเยาวชนที่กำลังเติบโต และอยู่ในวัยสำรวจตรวจตราอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง การได้เห็นแต่พฤติกรรมที่สอดคล้องกับเพศสภาพ ‘ความเป็นหญิง’ และ ‘ความเป็นชาย’ กระแสหลักของสังคมย่อมสร้างแรงกดดันต่อคนที่เพศวิถีไม่ตรงกับเพศสภาพตามความคาดหวังกระแสหลัก หนักข้อเข้าแรงกดดันเหล่านี้อาจแปรเป็นภาวะซึมเศร้า เกิดอารมณ์อยากฆ่าตัวตาย หรือแสดงอาการต่อต้านหรือขบถต่อสังคมในทางที่ทำร้ายตัวเองและผู้อื่น
และเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น เหตุการณ์ส่วนน้อยเหล่านี้ก็ถูกใช้เพื่อตอกย้ำและผลิตซ้ำวาทกรรมอันตรายซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงเหล่านี้ต่อไปอีก
‘เกม’ ในฐานะสื่อทรงอิทธิพลที่สามารถขับดันและปลูกฝังนิสัย ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ถ่ายทอดโลกจากมุมมองของคนอื่น จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศ ช่วยสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ และการยอมรับจากสังคมส่วนรวม
แต่เกมที่รับมือและสื่อสารประเด็นรักร่วมเพศตรงๆ ยังคงมีน้อยมาก สาเหตุหนึ่งเพราะสุ่มเสี่ยงที่จะโดนด่าจากทั้งผู้ที่มีอคติทางเพศ (เช่น “อี๋ เกมเกย์”) และผู้มีความหลากหลายทางเพศ (เช่น “เห่ย เกมยังกล้าๆ กลัวๆ ไปไม่สุด”) ด้วยเหตุนี้จึงน่าดีใจและน่าชื่นชมที่ Deck Nine สตูดิโอผู้พัฒนาเกมผจญภัย Life is Strange: Before the Storm ไม่เพียงแต่รับมือกับประเด็นนี้ตรงๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างเกมเจ๋งที่สนุกโคตร แถมยังซึ้งกินใจด้วยวิธีถ่ายทอดรักแรกของวัยรุ่นสองคน เป็นโรแมนซ์ที่บ้าบิ่น เต็มไปด้วยอุดมคติ และสวยงาม
ธรรมดา แต่ทว่าแสนอัศจรรย์
ไม่ต่างจากความรักของวัยรุ่นในโลกจริง และไม่สำคัญอย่างใดว่าเธอทั้งสองเป็นเพศเดียวกัน
เกมนี้ให้เราเล่นเป็น โคลอี้ (Chloe) สาวพังก์วัย 16 ที่เพิ่งประสบโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญในชีวิต นั่นคือ พ่อสุดที่รักถูกรถชนตาย ไม่นานก่อนเกมเปิดฉาก เธออาศัยอยู่กับแม่โดยลำพัง แม่ทำงานเป็นสาวเสิร์ฟในร้านอาหารจานด่วน ชนชั้นกลางระดับล่างที่ไม่ค่อยมีเงินแต่ยังไม่ถึงขั้นอดมื้อกินมื้อ โคลอี้เกลียดเดวิด อดีตตำรวจผู้เป็นแฟนใหม่ของแม่เข้าไส้ ทนไม่ได้ทุกครั้งที่เห็นเขามาเกาะแกะแถวบ้าน ดูเหมือนจะมีอยู่สี่อย่างเท่านั้นที่ช่วยให้โคลอี้ทนกับชีวิตบัดซบหลังพ่อตาย นั่นคือ การฟังเพลงร็อกเจ๋งๆ การเสพเหล้ายา เขียนบันทึกประจำวันถึงแม็กซ์ เพื่อนเก่าที่ขาดการติดต่อไปนานแล้ว (เป็นวิธีสรุปเรื่องราวในเกมให้เราอ่าน) และปากกาเมจิกประจำตัวที่โคลอี้ใช้ขีดเขียนกำแพง หนังสือพิมพ์ หรือพื้นราบอื่นๆ เพื่อความสะใจ เสียดสี หรือแสดงความเห็น (และการวาด graffiti เหล่านี้ก็เป็นแอคชั่นเสริมอย่างหนึ่งในเกม)
Before the Storm แง่หนึ่งเป็น ‘ภาคต่อ’ ของ Life is Strange เกมแรก แต่เรื่องราวในเกมนี้เกิดราวสามปีก่อนเกมแรก (จึงเรียกว่า prequel ไม่ใช่ sequel) ในเกมแรกเราเล่นเป็น แม็กซ์ เพื่อนซี้วัยเด็กของโคลอี้ที่แยกย้ายกันไปตอนเด็ก และกลับมาพบกันอีกครั้งหลายปีต่อมา เมื่อแม็กซ์ย้ายกลับมาเรียนในเมืองเกิด
ทุกคนที่เคยเล่น Life is Strange ภาคแรกจะรู้แล้วว่าโคลอี้เคยมีคู่รัก ชื่อ ‘เรเชล’ (Rachel) ก่อนที่เธอจะประสบเหตุร้าย ดังนั้นจะคาดหวังว่าจะได้เห็นความรักระหว่างโคลอี้กับเรเชลเบ่งบานใน Before the Storm แต่ทีมผู้พัฒนาเกมก็ประสบความสำเร็จในการออกแบบภาคนี้ให้เป็นเอกเทศ ใครไม่เคยเล่นเกมแรกมาก่อนก็สนุกได้เท่ากัน
เส้นเรื่องหลักของ Before the Storm คือพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างโคลอี้กับเรเชล จากแรกพบถึงแรกรัก แบ่งออกเป็นสามตอนด้วยกัน ตั้งแต่ตอนแรกเราก็เห็นชัดแล้วว่าคนหลากเพศมีตัวตนอยู่จริงใน Arcadia Bay เมืองสมมติในเกม และพวกเขาก็ไม่มีเหตุอะไรให้ปกปิดเพศวิถีของตัวเอง ในฉากแรกๆ โคลอี้เจอ สเตฟ (Steph) เพื่อนร่วมชั้น (และเนิร์ดอาร์พีจีตัวยง) ผู้ประกาศอย่างเปิดอกว่า เธอชอบผู้หญิงด้วยกัน และเป้าหมายความปรารถนาของเธอก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจาก เรเชล แอมเบอร์ (Rachel Amber) สาวสวยมากความสามารถ ‘ดาวประจำรุ่น’ ผู้ที่ใครต่อใครหมายปอง
เรเชลแตกต่างจากโคลอี้แทบขาวกับดำ เธอเป็นคนสวยตาคม บ้านรวย พ่อเป็นอัยการใหญ่ เรียนเก่งหาตัวจับยาก แถมยังทำกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะงานแสดงกับชมรมละคร เรเชลเป็นที่รักของทุกคน อนาคตของเธอดูสว่างสดใส ตรงกันข้ามกับโคลอี้ซึ่งทำตัวเป็น ‘วัยรุ่นมีปัญหา’ ในสายตาของผู้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่พ่อตายอย่างกะทันหัน การประสบความสูญเสียครั้งใหญ่ตั้งแต่อายุยังน้อยทำให้โคลอี้รู้สึกเคว้งคว้าง ไร้ที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพราะไม่มีใครเข้าใจเธอดีเท่ากับพ่อที่จากไปภพอื่น และแม็กซ์ที่ย้ายออกไปเมืองอื่น ทักไปก็ไม่ตอบแชทมานานแล้ว
โคลอี้ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้มาเป็นเพื่อนกับเรเชล อย่าว่าแต่เป็นคู่รัก ทั้งสองพบกันโดยบังเอิญในคอนเสิร์ตของวงร็อกที่ทั้งคู่ชื่นชอบ ในฉากเปิดของเกม และทันใดก็พบว่าหลงเสน่ห์ซึ่งกันและกัน ไม่นานเราคนเล่นก็มีโอกาสตัดสินใจว่า แรงดึงดูดแรกพบที่รู้สึกกับเรเชลนั้นเป็นแรงดึงดูดทางเพศ หรือว่ารู้สึกชอบเธอแบบเพื่อนเฉยๆ
ไม่นานนักโคลอี้ก็พบว่า เธอกับเรเชลมีอะไรคล้ายกันมากกว่าแรกคิด โดยเฉพาะความรู้สึกที่ว่า โลกนี้เต็มไปด้วยคนตอแหล และผู้ใหญ่ไม่มีใครเข้าใจเธอจริงๆ หลังจากที่เรเชลพบความลับที่น่าตกใจเกี่ยวกับพ่อของตัวเองในช่วงท้ายของตอนที่หนึ่ง เธอกับโคลอี้ก็สนิทกันอย่างรวดเร็ว
นอกจาก Before the Storm จะถ่ายทอดพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนอย่างน่าติดตามและไม่มักง่าย ไฮไลท์อีกอย่างของเกมนี้ยังอยู่ที่การใช้บทละครอมตะเรื่อง The Tempest ของวิลเลียม เชคสเปียร์ มหากวีชาวอังกฤษ เป็นสัญลักษณ์และวิธีสื่อสารความรู้สึกของเรเชลที่มีต่อโคลอี้
ทีมพัฒนาเกมเริ่มจากการดึงประโยคหลักในละครมาตั้งเป็นชื่อตอนทั้งสามตอนในเกม – Awake, Brave New World และ Hell is Empty ให้เรเชลรับบทบาทเป็น พรอสเปอโร (Prospero) ตัวเอกของละครเรื่องนี้ เล่นละครต่อหน้าผู้ปกครองและเพื่อนๆ (ผลงานของชมรมละครในเกม ซึ่งเรเชลเป็นสมาชิกคนสำคัญ)
ไฟไหม้ซึ่งลุกลามเป็นไฟป่าขนานใหญ่ (ต้นเหตุมาจากเรเชลอาละวาด) ส่งผลให้นักเรียนที่เล่นเป็น เอเรียล (Ariel) ภูตรับใช้ของพรอสเปอโร ไม่สามารถมาแสดงได้ทันม่านเปิด เรเชลวิงวอนขอร้องอาจารย์ที่ปรึกษาให้โคลอี้รับบทเอเรียลแทนชั่วคราว โคลอี้ไม่อยาก แต่สุดท้ายก็ถอนหายใจและยอม หลังจากที่เรเชลขอให้ทำเพื่อเธอ
การแสดงบนเวทีดำเนินไปด้วยดี (และเราในฐานะโคลอี้ในหน้ากากเอเรียลก็เลือกได้ว่าจะท่องบทได้ หรือแสดงความเปิ่นที่จำบทไม่ได้) แต่พอถึงฉากท้ายๆ ก็กลายเป็นละครเหนือละครเมื่อเรเชลเฉไฉออกไปนอกบทอย่างตั้งใจ แทนที่จะยืนยันตามบทละครว่า บัดนี้เอเรียลมีเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจ เพราะถูกพรอสเปอโรปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เรเชลภายใต้หน้ากากพรอสเปอโรกลับคุกเข่าลงต่อหน้าเอเรียล ประกาศว่าปล่อยเธอไปไม่ได้เพราะรักเธอมากเกินไป สัญญาว่าจะพาเอเรียลหนีไปด้วยกันทันทีที่ทำได้ “บินหนีไปจากเกาะแห่งนี้ สุดมุมโลกทั้งใบจักเป็นเพียงบทโหมโรงของเราสองคนเท่านั้น”
การออกนอกบทเปรียบเป็นกระจกสะท้อนบทสนทนาในโลกจริงระหว่างโคลอี้กับเรเชล ไม่นานก่อนหน้าละครจะเริ่มต้น และฉากนี้ก็ทรงพลังกว่าเดิมเมื่อคำนึงว่า มีแต่พรอสเปอโรเท่านั้นที่มองเห็นภูตเอเรียล
มีแต่เรเชลเท่านั้นที่มองเห็น ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของโคลอี้
พฤติกรรมของตัวละครต่างๆ ใน Before the Storm สมจริงอย่างน่าทึ่ง โดยมากผ่านบทสนทนาที่บรรจงเขียนโดยทีมนักเขียนที่เพิ่งผ่านช่วงวัยรุ่นมาหมาดๆ เมื่อเราหรือโคลอี้ถูกสเตฟถามตรงๆ ว่า เรากับโคลอี้เป็นแฟนกันหรือเปล่า เราก็มีชอยส์ที่จะตอบปฏิเสธหรือยอมรับก็ได้ แต่ชอยส์ยอมรับไม่ได้แปลว่าโคลอี้จะตอบตรงๆ หรือโอ้อวด แต่ทำได้เพียงพึมพำว่า ไม่รู้สินะ มันสับสน
ซึ่งก็เป็นคำตอบที่จริงเสียยิ่งกว่าจริงสำหรับวัยรุ่น
Before the Storm ถ่ายทอดจังหวะเคอะเขินงุ่มง่ามระหว่างโคลอี้และเรเชลมากมาย โดยเฉพาะโคลอี้ซึ่งตรงไปตรงมามากกว่า โผงผางกว่า และไม่ได้มี ‘ทักษะการแสดง’ เท่ากับเรเชล (ซึ่งใฝ่ฝันอยากจะเป็นดาราตอนโต) แถมความเงียบแบบเก้ออายหลายจังหวะก็บ่งบอกอารมณ์ของเธอทั้งสองได้ดีกว่าคำพูด จังหวะหนึ่งเมื่อทั้งสองโน้มตัวเข้าใกล้กัน โคลอี้นึกสังเกตว่าเรเชลกลิ่นเหมือนดอกไลแลค สงสัยต่อไปว่าเรเชลกำลังได้กลิ่นเธอด้วยหรือเปล่า พอนึกถึงตรงนี้ก็สะดุ้งและนึกเสียดายว่า เมื่อเช้าน่าจะอาบน้ำก่อนออกจากบ้าน ส่วนผสมระหว่างความตื่นเต้น ฮอร์โมน และความรู้สึกรังเกียจตัวเองในฉากนี้สมบูรณ์แบบอย่างยิ่งในความสมจริง
นี่แหละคือสิ่งที่พวกเราทุกคนรู้สึก หรือเคยรู้สึกเมื่อครั้งยังเด็ก
วัยที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจว่าคนอื่นมองเราอย่างไร และไม่เข้าใจว่าความรู้สึกแปลกใหม่นั้นมันคืออะไรกันแน่
เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา และเป็นความจริงของการเติบโต