“ฉันฝันจะทำบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่
บางสิ่งที่งดงามและมีคุณค่าเสียจนแม้ตัวฉันตายจากไปแล้ว สิ่งนั้นจะยังคงอยู่ไม่ถูกลืมเลือนไป..
ฉันคิดว่าสิ่งนั้นคือการเขียนหนังสือ”
—ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott, 1832–1888)
ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง Little Women
วงการวรรณกรรมอเมริกันนั้นถือว่านิยายเรื่อง Little Women เป็นนิยายสำคัญเรื่องแรกๆ ที่ทลายเส้นแบ่งระหว่างวรรณกรรมเยาวชนและนิยายประโลมโลกสำเร็จ กล่าวคือในยุคสมัยที่ลุยซาเขียนนิยายเล่มนี้นั้น (ปี คศ.1868 เทียบกับบ้านเราจะเท่ากับ พ.ศ.2411 ตรงกับยุคสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนสวรรคตกลางปี ผลัดแผ่นดินสู่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) สงครามกลางเมืองในอเมริกาเพิ่งจะจบไปเพียง 3 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ของรัฐทางฝ่ายใต้ที่เป็นผู้แพ้สงครามประสบปัญหายากจนข้นแค้นอย่างหนัก
ครอบครัวลุยซาเองก็เช่นกัน เธอเกิดในครอบครัวที่พ่อเป็นกวีและครูชื่อดังแห่งยุค ขณะที่แม่เป็นนางพยาบาล เป็นบุตรีคนที่ 2 ใน 4 คนของครอบครัว ลุยซาได้เลือดนักเขียนจากพ่อและเลือดนักสู้จากแม่ ช่วงสงครามเธอไปเป็นพยาบาลอาสา พอจบสงครามเธอเริ่มทำงานเขียนจริงจังเพื่อเลี้ยงชีพ และ Little Women ก็คืองานชิ้นแรกๆ ที่ทำเงินให้เธอโด่งดัง
ความพิเศษของ Little Women อยู่ที่นี่เป็นงาน ‘ตามสั่ง’ ที่ลุยซาต้องเขียนเอาใจ(และเอาตัง) โทมัส ไนลส์ (Thomas Niles) บรรณาธิการที่ต้องการให้เธอเขียนนิยายหญิงๆ มากกว่าจะพิมพ์หนังสือรวมเรื่องสั้นตามที่เธอต้องการ ลุยซาชอบนิยายของพี่น้องบรอนเต้มาก (ชาลอตต์, เอมิลี่ และ แอนน์) โดยเฉพาะ ชาลอตต์ บรอนเต้ (Charlotte Brontë) ผู้เขียนเรื่อง Jane Eyre ที่โด่งดังมาก ลุยซาพบว่าประวัติชีวิตของชาลอตต์ละม้ายคล้ายกับเธอ (ในประเด็นความขัดแย้งในหมู่พี่น้องและชะตากรรมของคนในครอบครัว)
เรื่องที่ลุยซาเลือกมาเขียนตามสั่งจึงเป็นเรื่องที่เธอเข้าใจมันดีที่สุด นั่นคือเรื่องของเธอเอง ชีวิตของเธอกับพี่น้องอีกสามคนในครอบครัวอัลคอตต์ กลายเป็นตัวละครสี่พี่น้องตระกูลมาร์ชใน Little Women อันได้แก่ มาการ์เร็ต (เม็ก), โจเซฟีน (โจ), อลิซาเบธ (เบธ) และเอมี่ น้องนุชสุดท้อง ในครอบครัวที่พ่อไปรบในสงครามกลางเมือง ทั้งสี่พี่น้องต้องอยู่กับแม่ผู้เป็นพยาบาลอาสาอย่างยากแค้น มีชีวิตสมบุกสมบัน เผชิญทั้งความรัก ความผิดหวัง และเติบโตเบ่งบานเป็นสาวสะพรั่งในท้ายสุด
สำหรับลุยซา เธอก็คือ ‘โจ’ ตัวละครที่เดินเรื่องหลักในนิยาย ประเด็นใหญ่ที่โจตั้งต้นไว้แต่แรกคือผู้หญิงจะ “เติบโตและมีอาชีพอยู่เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่พึ่งผู้ชาย” ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นอีกหมุดหมายสำคัญของการพูดถึงสิทธิสตรีและการตั้งคำถามถึงคุณค่าของผู้หญิงในสังคมอเมริกายุคเก่า โดยแต่เดิมเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค ก่อนจะรวมพิมพ์ในชื่อ Little Women ในภายหลัง
มันเป็นนิยายที่เด็กสาวทุกคนในอเมริกาต้องเคยอ่าน เป็นนิยายเรื่องแรกๆ ที่พูดช่วงเปลี่ยนผ่านวัยของเด็กผู้หญิง ถ้าเป็นภาษาไทยๆ ก็คงเทียบได้กับคำว่า “วัยแรกแย้ม” นั่นคือวัยที่แก่เกินจะเป็นเด็ก แต่ก็เด็กเกินที่จะเป็นผู้ใหญ่ เป็นนิยายที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นธารของนิยาย ‘Young Adult’ ซึ่งจับกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กหญิง-หญิงสาวหลังศตวรรษที่ 20 อย่าง Twilight เสียด้วยซ้ำ
หนึ่งในเด็กสาวที่เคยอ่านและเติบโตมากับ Little Women
ก็คือ เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig)
ชีวิตของเกรต้าคล้ายลุยซาอยู่เล็กน้อย ตรงที่เมื่อทำหนังเรื่องแรก Lady Bird (2017) ก็เป็นงานที่มีลักษณะกึ่งอัตชีวประวัติ เพราะเกรต้าเอาชีวิตตัวเองช่วงวัยรุ่นมาเล่า เช่นเดียวกับลุยซาที่เอาชีวิตเธอช่วงวัยรุ่นมาเล่า เกรต้าจึงเป็นคนที่เหมาะสมสุดในการดัดแปลงบทประพันธ์คลาสสิกนี้เป็นหนังรับทศวรรษ 2020
นิยายซึ่งมีอายุ 151 ปี นับจากแรกพิมพ์ในปี ค.ศ.1868 จนถึงวันที่หนังฉายในปี ค.ศ.2019
ไม่น่าเชื่อว่านี่จะเป็นการดัดแปลงที่ทั้งเคารพและท้าทายบทประพันธ์เรื่องนี้ที่สุดครั้งหนึ่ง เท่าที่ผู้เขียนได้ดูมา
ประการแรกคือ Little Women (2019) นี้ไม่ได้เล่าตามลำดับเวลาเดิม คือจากชีวิตวัยเด็กของโจและพี่น้องสาวอีกสามคนในบ้านตระกูลมาร์ช จนกระทั่งช่วงที่โจแตกเนื้อสาว มาปักหลักดิ้นรนเป็นนักเขียนในนิวยอร์ก
เกรต้าอาศัยคุณลักษณะพิเศษสุดของภาพยนตร์ นั่นคือการบิดเบือนเวลา เพื่อเลือกเล่าโดยไม่ลำดับเวลา ให้คนดูได้รู้จัก “โจ” ในวัยสาวที่กำลังตกระกำลำบากกับการต้องกล้ำกลืนยอมรับข้อเสนอเขียนนิยาย ‘ประโลมโลก’ ตามคำขอของบรรณาธิการ แล้วค่อยย้อนเล่าสู่ช่วงวัยเด็กในบ้านตระกูลมาร์ช จับเอาเหตุการณ์ที่เหตุ (อดีต) และผล (ปัจจุบัน) มาชนกัน เพื่อให้คนดูเข้าใจได้มากขึ้นว่าทำไมโจในปัจจุบัน จึงตัดสินใจและทำอะไรๆ หลายต่อหลายอย่างที่คนดูเองยังไม่เข้าใจดีนัก
ขณะเดียวกันเกรต้าก็เอานิสัยเสียของคนอ่านหนังสือมาเล่นสนุก คือการเปิดข้ามไปหน้าสุดท้าย (เพื่อดูผลลัพท์ของเรื่อง) ไวๆ หลายครั้งเราจึงเห็นหนังเลือกเอาฉากที่เหมือนเป็นบทสรุปมาแพลมๆ ก่อนจะถึงเวลาจริงๆ ทำให้ท่วงท่าการเล่าแปลกใหม่ สร้างความหมายใหม่ๆ ให้เนื้อหาเดิมและทำให้คนดูที่ไม่เคยอ่านนิยายมา สนุกไปกับเรื่องอย่างทันสมัยขึ้น
เราค่อยๆ รู้จักโจไปพร้อมๆ กับเวลาที่หนังดำเนินไป ขณะเดียวกันตัวละครอื่นๆ ก็ค่อยๆ เปิดเผยตัวทีละน้อยๆ เห็นชีวิตอันหลากหลายที่ไม่ใช่แค่โจแล้ว แต่เรายังตามชีวิตอีกสามพี่น้องสาวของโจไปด้วย เราเกลียดบางคน เราสงสารบางคน ก็เพราะโจเองรู้สึกเช่นเดียวกัน
ประการที่สอง บรรยากาศของ ‘เมือง’ ในหนังถูกออกแบบให้ยิ่งใหญ่ หวือหวา น่าหลงใหล ตัดกับบ้านเกิดที่อยู่ชนบทซึ่งเงียบเหงาและเศร้านิดๆ ราวกับจับความรู้สึกของวัยรุ่นผลัดถิ่นได้ คนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ตัดสินใจผละจากบ้านเกิดไปเพื่อทำงานในเมืองหลวง และเมื่อมีเหตุให้หวนกลับสู่บ้านเกิด ความทรงจำเดิมๆ ได้เขย่าตัวตนใหม่ที่เปลี่ยนไปของพวกเธอ(และเขา) โดยไม่รู้ตัว นี่เป็นประเด็นที่หนังเวอร์ชั่นก่อนๆ ไม่ได้เน้นย้ำมากนัก
เพราะเกรต้าเนรมิตให้เรื่องราวในทศวรรษ 1868 เหมือนเกิดขึ้นในปัจจุบัน เด็กสาวทุกยุคสมัยยังคงวิ่งตามฝัน ยังคงต้องพิสูจน์ตัวว่ายืนอยู่บนลำแข้งตัวเองได้ ยังต้องเผชิญข้อครหาว่าหวังพึ่งแต่เกาะผู้ชายกิน
ประการที่สาม เกรต้าไม่ได้เพียงเทิดทูนความงดงามของตัวนิยายเดิม แต่ยังเทิดทูนความงดงามของภาพยนตร์ในยุคเก่าด้วย ที่ทุกสิ่งดูจริง ดูจับต้องได้ ดูเป็นโลกใบเก่าที่พ้นสมัยไม่มีอยู่แล้ว หลายช็อตในหนังสวยงามดั่งภาพวาด การจัดองค์ประกอบของสีแสง และวัตถุผู้คน ฉากในปารีสนั้นหลายฉากราวจะแกะจากภาพวาดในศตวรรษที่ 17-18 เป็นท่าทีในแบบหนังยุคเก่าที่คนทำหนังไม่ใช่แค่ทำหนัง แต่เป็นคนทำงานศิลปะ พวกเขาอ่านวรรณกรรม, รู้จักบทกวี, ดูงานศิลปะ เข้าใจประวัติศาสตร์ หนังในแนวทางนี้อาทิ Barry Lyndon (1975), Days of Heaven (1978) และ Heaven’s Gate (1980)
นิยาย ไม่ใช่ หนัง การดัดแปลงที่ดีจึงไม่ใช่การทำทุกอย่างตรงไปตรงมา แต่คือการเล่าใหม่ อ่านจนเข้าใจ แล้วเลือกเหลี่ยมเล่ามันใหม่ การทำหนังจากวรรณกรรม (พ้นจากนิยายก็มีทั้งบทกวีและอื่นๆ) ก็คือการ ‘เล่าใหม่’ ไม่ใช่การ ‘เล่าซ้ำ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน เพราะหนังเป็นสื่อคนละแบบกับนิยาย ใช้เครื่องมือคนละชนิด อาจหยิบยืมเทคนิคบางอย่างได้
จะเลือก ละ ลด ทอน เพิ่ม เติม หรือเสริมบางอย่างได้เช่นกัน เพื่อทำให้เรื่องเล่าเดิมๆ นั้นยังสดใหม่ เข้าถึงคนอ่าน(หรือคนดู) รุ่นใหม่
ดูจบแล้วทำให้เราอยากอ่านหนังสือขึ้นมา
และพอกลับไปอ่านหนังสือ ก็รักหนังมากขึ้นไปอีก
หลายปีก่อนผู้เขียนเคยตื่นเต้นกับการหนังดัดแปลงสองเรื่องสำคัญของไทยคือ ‘พี่มากพระโขนง’ และ ‘คู่กรรม’ ออกฉายในปี ค.ศ.2556 ทั้งคู่และแทบจะไล่หลังกันเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ถ้าจำไม่ผิด
ทั้งคู่ตั้งต้นด้วยจุดยืนใกล้เคียงกันคือ เลือกจะเล่าใหม่ ไม่ใช่ทำซ้ำของเดิม ที่สำคัญคือตั้งใจทำให้เรื่องคลาสสิกทั้งคู่ กลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ โดยพยายามรักษา-คงไว้ซึ่งหัวใจเดิมของบทประพันธ์ต้นฉบับ
แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พี่มากฯ กลายเป็นหนังทำรายได้ทั่วประเทศระดับพันล้าน ขณะที่คู่กรรม รายได้น่าผิดหวังไม่ถึงหลักร้อยล้านอย่างที่คาดการณ์ และเสียงวิจารณ์ถล่มยับเยินถึงความ ‘ไม่ถูกต้อง’ ของการดัดแปลงฉบับนี้
แล้วการดัดแปลงที่ ‘ถูกต้อง’ นั้นควรเป็นอย่างไร? การดัดแปลงที่ ‘ถูกต้อง’ นั้นเราจะต้องหวนกลับไปวัดที่ตัวบทประพันธ์ดั้งเดิมใช่หรือไม่ และไม่ใช่การวัดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงครั้งก่อนๆ หน้านี้ (ที่บางครั้งก็กลายเป็นการเซ็ตมาตรฐานบางอย่างขึ้นมา) จำเป็นหรือไม่ที่เราต้องเข้าใจบริบททางประวัติศาสตร์ทั้งในตัวเรื่องที่ระบุไว้ และบริบทแวดล้อมเมื่อตอนที่บทประพันธ์ถูกตีพิมพ์และถูก ‘อ่านครั้งแรก’ ด้วยสายตาของผู้อ่านแบบไหนในยุคสมัยดังกล่าว
ในกรณีของ พี่มากฯ นั้นน่าสนใจว่าคนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเนื้อหาจากการดูหนัง/ละครเกี่ยวกับ ‘แม่นากพระโขนง’ ฉบับก่อนๆ ตลอดจนเรื่องเล่าที่มีการทำซ้ำอย่างแพร่หลาย จนทำให้ทุกคนพอจะจับใจความสำคัญและเนื้อหาคร่าวๆ ของเรื่องได้ เพราะมีลักษณะกึ่งๆ จะเป็นมุขปาฐะ (เรื่องเล่าจากปากสู่ปาก) ในปัจจุบัน แทบไม่มีการเผยแพร่บทละครหรือบทประพันธ์ อาทิ “นากพระโขนงที่สอง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ได้อ่านกันแพร่หลายนัก
ขณะที่กรณีของคู่กรรมนั้นมีทั้งเหมือนและต่าง คู่กรรมเป็นเรื่องที่คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเนื้อหาจากการทำซ้ำในรูปแบบต่างๆ (ละคร/ภาพยนตร์) แต่ก็มีคนที่จดจำจากบทประพันธ์ดั้งเดิมไม่น้อย ซึ่งเป็นกรณีคลาสสิกที่การดัดแปลงนิยายยอดนิยมเรื่องใดๆ มักจะถูกยกมาเปรียบกับตัวบทประพันธ์เสมอ เพราะมีตัวบทประพันธ์มีลายลักษณ์อักษร มีหลักฐานที่จับมัดได้
สิ่งที่ทั้งสองเรื่องเผชิญเช่นกันคือมีตัวเปรียบเป็นการดัดแปลงครั้งก่อนๆ ทำให้เกิดการประเมินคุณค่าซ้ำซ้อนเข้าไปอีก ว่านอกจากทำตรงหรือไม่ตรงบทประพันธ์(เรื่องเดิม) ดี/ไม่ดีเท่าการดัดแปลงครั้งอื่นที่มีมาและประทับใจคนดูมากกว่า
เท่ากับว่าเราคนไทย จดจำจากการดูและฟัง มากกว่าการอ่านใช่หรือไม่
ถ้าเทียบกันแล้ว พี่มากฯ แกะโจทย์ที่ยากเย็นตรงนี้ออกด้วยการบอกคนดูว่า ความรักคือการยอมรับข้อด้อยของคนรัก ทุกคนล้วนไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความรักทำให้คนสองคนสมบูรณ์แบบขึ้นมา ความรักของนากและมากในเรื่อง พี่มากฯ จึงเป็นหนังรักที่ว่าด้วยคนสองคนที่ไม่สมบูรณ์แบบ ผิดแปลกจากสังคม ไขว่คว้าหาที่ยืนของตน เป็นประเด็นร่วมสมัยที่วัยรุ่น-คนหนุ่มสาวซึ่งกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของหนังไทยในปัจจุบันเข้าใจ
ทั้งที่ในอดีตหนังดัดแปลงจากบทประพันธ์นั้น แทบจะเป็นเสาหลักของวงการหนังไทย เพราะในอดีต การดูหนังเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบันเทิงที่เริ่มต้นจากการอ่าน (นิยาย) ฟัง (ละครวิทยุ) แล้วจึงมาดู (หนัง/ละครเวที) เป็นอันครบวงจรของการเสพเรื่องเล่าชุดหนึ่งๆ นิยายคลาสสิกอย่าง ข้างหลังภาพ,คู่กรรม,แผลเก่า,จำเลยรัก,บ้านทรายทอง จึงถูกเล่าใหม่,ทำซ้ำ จนสามารถสร้างแม่แบบ (template) การเล่าเรื่องหรือแม้แต่ตระกูลย่อย (sub-genre) ขึ้นมาได้อย่างหนังตบจูบที่ได้อิทธิพลจากบทประพันธ์เรื่อง ‘จำเลยรัก’ นี่เอง
ปัจจุบันการขาดหายของหนังไทยกลุ่มนี้ อาจมีหลายสาเหตุ
ในแง่มุมของคนทำหนังแล้ว การนำบทประพันธ์ที่มีอายุเกินกว่ากลุ่มผู้ชมหนุ่มสาวในปัจจุบันมาทำ ถือเป็นความเสี่ยง ที่พวกเขาอาจจะไม่สนใจ ไม่เคยอ่าน ไม่เคยรับรู้ หรือตรงกันข้ามคือ เคยดูซ้ำๆ มาจนเบื่อในรูปแบบละครจนไม่เหลือความท้าทายใหม่ๆ อีกแล้ว
หรืออีกแง่หนึ่ง คนดูมีความสนใจที่แคบลง สังคมบังคับให้เราจมจ่อมอยู่กับตัวเอง ตัดขาดจากสังคมโลกและประวัติศาสตร์จนถึงสื่อศิลปะอื่นๆ มากเกินไปหรือเปล่า?
ก็ต้องกลับไปตั้งต้นว่า รัฐ ได้สนับสนุนการอ่านในวัยแรกเริ่มเพียงพอแล้วหรือยัง คำพูดประเภทว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดยังวนเวียนให้เห็นอย่างน่ารำคาญใจ หรือการที่ผู้บริหารประเทศทำตัวเป็นคนรักการอ่านอย่างขอไปที การสนับสนุนการอ่านไม่ใช่แค่ช่วยสร้างรากในการอ่านให้งอกงามในคนรุ่นถัดๆ ไป แต่ยังทำให้คนในอุตสาหกรรมหนังสือมีชีวิตอยู่ได้
เพราะการอ่านไม่ได้แค่เปลี่ยนโลกของผู้อ่าน แต่ยังเปลี่ยนโลกรอบๆ ตัวให้เขารักและเข้าใจชีวิตอื่นๆ (จากการอ่าน) มากยิ่งขึ้น