มีการประเมินว่า ณ ต้นเดือนเมษายน ประชากรโลก มากกว่า 1 ใน 3 อยู่ภายใต้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการ ‘ล็อกดาวน์’ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยการลดความชันกราฟผู้ป่วยรายใหม่ หรือ Flattening the curve ที่กลายเป็นวาระระดับโลก นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จนถึงตอนนี้ อู่ฮั่น ต้นกำเนิดของไวรัส ยังเป็นพื้นที่ล็อกดาวน์ที่ยาวนานที่สุดในโลก นั่นคือ 72 วัน ก่อนจะพ้นกำหนดในวันที่ 8 เมษายน
อู่ฮั่นนั้นเริ่มปิดวันแรกในวันที่ 23 มกราคม ก่อนจะขยายไปสู่การปิดทั้งมณฑลหูเป่ย ตามมาด้วยมาตรการที่เข้มข้นที่สุด แทบจะในประวัติศาสตร์ ด้วยการปิดกั้นทุกเส้นทางที่เชื่อมต่อกับเมืองอื่น ปิดสนามบิน ปิดระบบขนส่งมวลชน ปิดธุรกิจ เพื่อจำกัดวงการระบาด แยกคนติดเชื้อ เข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ตรวจเชื้อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน ก่อนจะระดมรักษาผู้ป่วยจนหายดี
ในระยะแรก ฝั่งตะวันตกวิจารณ์การปิดเมืองแบบนี้ว่าเป็น ‘draconian measure’ หรือเป็นมาตรการที่เข้มงวด รุนแรง รวมถึงประเมินทุกอย่างต่ำ กว่าความเป็นจริง เพราะเห็นว่าสิ่งที่จีนทำกับมณฑลหูเป่ยนั้น เพียงพอแล้วกับการจำกัดวงการระบาด ไม่ให้ข้ามไปยังทวีปอื่นของโลก
แต่ถัดมาอีกเดือนเศษ หลายประเทศในภาคพื้นยุโรป ก็ทำแบบเดียวกันบ้าง ด้วยการล็อกดาวน์ประเทศของตัวเอง เริ่มจากอิตาลี ที่ล็อกดาวน์ภาคเหนือ ที่แคว้นลอมบาร์เดีย ก่อนจะลามไปปิดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม วันที่จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศขึ้นไปถึง 9,100 คน ด้วยกำหนดการรอบแรก ให้สิ้นสุดในวันที่ 3 เมษายน โดยธุรกิจทั้งหมดที่ไม่จำเป็น ต้องปิดทั้งหมด เช่นเดียวกับขนส่งมวลชน
หลังจากนั้น สเปน ก็ทำบ้าง เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ตามมาด้วยฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร และหลายประเทศในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินเดีย หรืออีกหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ก็เริ่มมาตรการล็อกดาวน์บ้าง แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังไม่สูงเท่ายุโรป แต่ก็อยู่ภายใต้ร่มของแนวคิดเดียวกัน คือลดความเสี่ยงของการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ไม่ให้ป่วยพร้อมกันทีละมากๆ จนระบบสาธารณสุขรับไม่ไหว
ด้วยความคาดหวังให้กราฟมีความชันน้อยที่สุด
เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
รองรับกับจำนวนผู้ป่วยหนักได้เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศไม่ได้ ‘ซื้อ’ ทฤษฎีการปิดประเทศ เกาหลีใต้ระดมตรวจเฉพาะพื้นที่ที่เป็น Red Zone คือที่เมืองแดกูและคยองซัน ก่อนจะไล่ตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อให้ได้มากที่สุด แล้วระดมจัดทีมตรวจโรค นำชุดตรวจลงไป ทำเทสต์ไปกว่า 4.61 แสนเทสต์ ในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ จนสามารถจำกัดวงการระบาดได้ เป็นประเทศตัวอย่างของการ Flattening the curve
ส่วนสวีเดน ญี่ปุ่น และหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธมาตรการการปิดออฟฟิศ ปิดร้านอาหาร โดยเห็นว่าการปฏิเสธการจัดงานที่รวมฝูงชน และการรณรงค์นั้น น่าจะมากเกินพอ ที่จะจำกัดวงการระบาดได้แล้ว
คำถามก็คือ การล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อลดการติดเชื้อรายใหม่ แล้วระดมตรวจผู้ติดเชื้อเดิมนั้น แท้จริงแล้วได้ผลหรือไม่?
แล้วต้องปิดกันไปนานเท่าไหร่จึงจะได้ผล?
หากย้อนกลับไปเดือนที่แล้ว ช่วงสองสัปดาห์แรกในยุโรปนั้น ไม่มีใครมั่นใจว่ามาตรการนี้จะเป็นทางออกได้จริง เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ 2-3 สัปดาห์ หลังจากเริ่มปิดกั้นการเดินทาง ลดการเชื่อมต่อระหว่างคน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าการล็อกดาวน์ น่าจะ ‘มาช้า’ เกินไป เพราะถึงเวลานั้นคนที่มีเชื้อ ได้พาโรคนี้ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว
แต่คำตอบนั้นเปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 หรืออีกเกือบเดือนถัดมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อ รวมถึงผู้เสียชีวิตในยุโรปหลายประเทศ มี ‘อัตราเร่ง’ ที่ต่ำลง สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนหลายคนมองว่า ประเทศที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงๆ อย่างอิตาลี หรือสเปน นั้นได้ผ่านจุด ‘พีค’ ไปเรียบร้อยแล้ว โดยอิตาลี ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ลดลงจากวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 5,000-6,000 คน เหลือราว 4,000 คน สเปน จากที่เคยพีคสุด วันที่ 26 มีนาคม เหลือตัวเลขที่ 5,478 คน
ตัวเลขจากทั้ง 2 ประเทศ ยังพบว่า หลังผ่านช่วง 14 วันอันตรายไป จำนวนผู้ที่นอนในโรงพยาบาล นั้นเพิ่มขึ้นช้าลง และน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด รัฐมนตรีสาธารณสุขของสเปนนั้น บอกว่าเป็นระยะ ‘สโลว์ดาวน์’ แล้ว ส่วนมหาวิทยาลัยวาเลนเซีย ในสเปนเช่นกัน ประเมินว่าจุดพีคสุดของจำนวนผู้ป่วยวิกฤตจะอยู่ในวันที่ 9 เมษายน และหลังจากนั้น กราฟจะดิ่งลงไป เพราะถือว่าพ้น ‘ยอดดอย’ แล้ว
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับตัวเลขจาก Imperial College London ที่พบว่า การจัดการล็อกดาวน์ใน 11 ประเทศทั่วยุโรปนั้น ช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้กว่า 59,000 คน จากการตัดยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้
ส่วนเยอรมัน เป็นประเทศที่ระดมเทสต์ผู้ติดเชื้อมากอันดับต้นๆ ของโลกถึง 918,000 เทสต์นั้น และมีอัตราการเสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อน้อยที่สุดในยุโรปตะวันตกนั้น เริ่มพูดคุยกันถึงการปลดล็อกจากล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ ให้เหลือเพียงล็อกดาวน์บางส่วน โดยอาจเริ่มจากการให้คนออกมาเดินในที่สาธารณะได้ ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด หรือการเริ่มเปิดโรงเรียน เพื่อให้ชีวิตเดินต่อไป ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายนนี้
เอกสารของกระทรวงความมั่นคงภายในให้ข้อกำหนดไว้ว่า หากผู้ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อต่อได้ 1 คน ไม่ออกไปวงกว้างกว่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่ ‘รับได้’ เพราะการแพร่เชื้อคงที่แล้ว และเยอรมัน ก็มั่นใจว่าตัวเลขดังกล่าว ด้วยศักยภาพของทีมติดตาม-สืบสวนการแพร่ระบาด จะสามารถจัดการตามตัวได้หมด
หากข้อมูลทั้งหมด ไม่มีอะไรผิดพลาด ก็แปลว่า หลังจากยุโรป สังเวยประชากรให้กับ COVID-19 ไปหลายหมื่นคน ‘ฝันร้าย’ นั้น ใกล้เดินทางมาถึงจุดจบ และมาตรการ ‘ปิดเมือง’ ในที่สุดก็ออกดอกออกผล ไม่ต้องรอให้ประชากร 60-70% ของประเทศ ติดเชื้อกันจนเกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ จึงจะสามารถลดพีคได้ อย่างที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก
คำถามต่อมาก็คือ ‘ล็อกดาวน์’ นั้น
ควรจะกินระยะเวลาเท่าไหร่?
ตัวเลขในยุโรป เห็นชัดว่าแม้จะมีการระดมตรวจ และจำกัดวงการติดเชื้อ แต่ก็ไม่ได้สั้นแค่ 14 วัน
ล็อคดาวน์ในสเปน อิตาลี และเยอรมันนั้น กินเวลาราว 1 เดือน จึงจะเห็นผล ซ้ำยังต้องควบคู่ไปกับมาตรการ ‘เทสต์’ อย่างบ้าคลั่ง ซึ่งหมายความว่าทั้งชุดตรวจ ทั้งบุคลากร และห้องแล็บ ต้องเพียงพอ จึงจะทำให้เส้นกราฟดิ่งลงได้ มิเช่นนั้นเราจะทำทางลงจาก ‘ยอดดอย’ ไม่ได้
ไม่กี่วันที่ผ่านมา นักวิจัยจากสหรัฐฯ ตีพิมพ์บทความลงในวารสาร SSRN ระบุว่า ช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการปิดเมือง ปิดประเทศ น่าจะอยู่ที่ 6 สัปดาห์ ส่วนสหราชอาณาจักร ประเทศที่ยังมีอัตราติดเชื้อ-เสียชีวิต ต่อวัน ค่อนข้างสูง รวมถึงมีผู้ติดเชื้อระดับ VVIP แบบนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส (Prince Charles) นั้น ระบุว่าอาจต้องล็อกดาวน์นานถึง 2-3 เดือน วิกฤตจึงจะคลี่คลาย
แต่ทั้งหมดนี้ ล็อกดาวน์ก็ต้องผูกกับ
ปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ประเทศในยุโรปที่มีระบบสวัสดิการเข้มแข็งกว่าชาติอื่นนั้น การล็อกดาวน์ในระยะ 1 เดือน อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ตัวอย่างในอินเดียนั้นเห็นได้ชัดว่า การปิดประเทศ นำไปสู่การเคลื่อนย้ายประชากรจำนวนมาก ด้วยการ ‘เดินเท้า’ กลับบ้าน
ในไทยนั้น ได้ยินว่ามีการนำเสนอต่อนายกฯ เหมือนกันว่า หากตัดสินใจเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมงเต็มรูปแบบ โดยไม่มีมาตรการทางเศรษฐกิจรองรับ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากที่เล่ามาข้างบน ไม่มีประเทศไหนที่ล็อกดาวน์จะจบภายใน 2 อาทิตย์ แต่ต้องใช้เวลา ควบคู่ไปกับการระดมเทสต์ การจัดมาตรการช่วยเหลือปากท้องรองรับ และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า ในห้วงเวลาแห่งการปิดประเทศนั้น จะไม่มีการฝ่าฝืน ซึ่งทำให้การติดเชื้อ ยังคงเกิดขึ้นใหม่ได้
แล้วสิ่งที่ต้องคิดมากกว่านั้นก็ยังมีอีก เพราะเมื่อถึงเวลากลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง จะไม่ได้ง่าย เหมือนตอนปิด เพราะถึงอย่างไร ก็ยังมีคนที่ตกหล่นจากการตรวจหาเชื้อ ทุกวันนี้เกาหลี ยังมีผู้ติดเชื้อในหลัก 50-100 คนต่อวัน และยังพบคลัสเตอร์ใหม่บ้างประปราย
ซึ่งหากปล่อยให้ทุกอย่างเหมือนปกติ
ก็มีความเสี่ยงที่การระบาดระลอกที่ 2 จะตามมา
นักวิชาการในสเปนเสนอว่า เมื่อกราฟเริ่มนิ่งถึงจุดหนึ่ง จะเสนอให้ประชากร ออกมาใช้ชีวิตปกติ สัปดาห์ละ 25% เพื่อทดลองว่าจะคุมการระบาดอยู่หรือไม่ หากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่
แน่นอน สิ่งที่จะยังชะงักงัน ต่อไปอีกนานหลายเดือนก็คือการเดินทางข้ามชายแดน การเดินทางข้ามประเทศ และการเดินทางทางอากาศ เพราะในเมื่อมีประเทศที่ (เริ่มจะ) คุมอยู่ เหมือนยุโรปตอนนี้ และมีประเทศที่คุมไม่อยู่ อย่างสหรัฐอเมริกา ย่อมมีความเสี่ยงที่หากเปิดเต็มที่แล้ว จะมีการนำเชื้อเข้ามาด้วย
เพราะฉะนั้น การลดกราฟ จึงไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนต้อง ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ เพียงอย่างเดียว แต่ในเชิงนโยบาย ยังมีอีกหลายปัจจัยแวดล้อม ที่ต้องสร้างความมั่นใจให้ได้จริงว่า ฝ่ายรัฐสามารถจำกัดวงได้อยู่มือ จนไม่อาจกลับไประบาดวงกว้างอีกต่อไปได้แล้ว
หลังจากกราฟเริ่มดิ่งลง โลกนี้ จะยังไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมง่ายๆ แต่อย่างน้อย เรื่องที่เกิดขึ้นในระยะหลัง ก็ทำให้พอได้เห็นชัดบ้างว่า จุดจบจะมีหน้าตาอย่างไร แล้วหลังจากนี้ จะเตรียมใช้ชีวิตกันอย่างไร ในอีกหลายเดือนข้างหน้า
ขอเพียงให้มีชีวิตรอดผ่านช่วง ‘พีค’ ไปให้ได้ ทั้งในเชิงระบาดวิทยา และในเชิงเศรษฐกิจ หลังจากนี้คงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าเดิมอีกแล้ว…
ข้อมูลอ้างอิงจาก