ในโลกวรรณกรรมและภาพยนตร์มีการโปรยชื่อทำนองหนึ่งซึ่งดูเหมือนใครหลายคนคุ้นเคยกันดี นั่นคือ ‘รักระหว่างรบ’ แต่สิ่งที่ผมใคร่สาธยายต่อไปคงไม่แคล้วเข้าข่าย ‘ร่วมรักระหว่างร่วมรบ’
ความรักช่างเป็นอะไรมหัศจรรย์ยิ่ง ต่อให้ชีวิตโลดแล่นท่ามกลางบรรยากาศสมรภูมิสงคราม รสชาติเสน่หาของคนหนุ่มสาวก็มิถูกอาจจำกัดได้หรอก จึงไม่แปลกเลยที่โครงเรื่องประเภทความรักห้วงยามกำลังรบศึกค่อนข้างนิยมแพร่หลาย ส่วนความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับ ‘รักระหว่างรบ’ นั้น น่าจะเริ่มมาแต่ครั้งต้นทศวรรษ 2470 สืบเนื่องจากกระแสของงานเขียน A Farewell to Arms ประพันธ์โดยนักเขียนอเมริกันนามเออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ (Ernest Hemingway) อันพัดพาเข้าสู่ประเทศสยาม
แท้แล้ว เฮมมิงเวย์เขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี ค.ศ. 1928 (ตรงกับ พ.ศ. 2471) เผยสภาพสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสมรภูมิรบที่อิตาลีช่วง ปี ค.ศ. 1917 ร้อยโทเฟรเดอริค เฮนรี (Frederic Henry) ชาวอเมริกันปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยเสนารักษ์รู้สึกทุกข์ทรมานจากสภาวะการรบศึก กระนั้น เขาตกหลุมรักแคทเธอรีน บาร์กลีย์ (Catherine Barkley) แม่สาวอังกฤษที่ทำงานโรงพยาบาลประจำแนวรบ นายทหารหนุ่มเปี่ยมล้นความใฝ่ฝันมากขึ้น กระทั่งหลบหนีจากกองทัพไปเสพสุขกับเธอ แม้ท้ายสุดความสัมพันธ์ของทั้งสองจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ทว่ากลิ่นอาย ‘รักระหว่างรบ’ กลับร่ายมนตร์ตราตรึงผู้อ่านอย่างชวนประทับใจ A Farewell to Arms กลายเป็นบทละครอีกสองปีถัดมา กระทั่งถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ออกฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1932 (ตรงกับ พ.ศ. 2475) แกรี่ คูเปอร์ (Gary Cooper) สวมบทบาทตัวละครเอก
วกมายังเมืองไทย ผมเชื่อเหลือเกินว่าขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ต้องเคยแว่วยินข่าวคราวผลงานของเฮมมิงเวย์จากช่องทางใดช่องทางหนึ่ง เพราะในปี พ.ศ. 2474 ท่านขุนได้เขียนบทพร้อมกำกับภาพยนตร์เงียบตั้งชื่อ ‘รบระหว่างรัก’ ให้บริษัทหัสดินทร์ภาพยนตร์ของหม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์ ซึ่งจัดเป็นผลงานชิ้นแรกเลยสำหรับท่านขุน มิหนำซ้ำยังบันดาลกิตติศัพท์เลื่องลืออย่างมาก ในด้านเนื้อหานั้น พระเอกของเรื่องเป็นหนุ่มชาวนาที่ได้ร่ำลาแม่และหญิงสาวคนรักอาสาไปรบสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรป ดังขุนวิจิตรมาตราอธิบาย “…แสดงเป็นการรบตอนหนึ่ง ที่พระเอกขับยานยนต์เข้ายึดสนามเพลาะของข้าศึกท่ามกลางลูกระเบิดและกระสุนปืนกล จนถึงตะลุมบอนสู้กันอย่างทรหดตัวต่อตัว ฉากนี้ให้เป็นเวลากลางคืนทำให้หวาดเสียวตื่นเต้น…” แน่ล่ะ ‘รบระหว่างรัก’ ย่อมสะท้อนถึงการจงใจล้อๆ ชื่อ ‘รักระหว่างรบ’ แม้หนังไทยจะออกฉายก่อนหนังฝรั่งก็ตามเถอะ
พอเอ่ยขานถึง ‘รัก’ อีกอย่างที่มักเคียงข้างกันมาในความรู้สึกย่อมมิพ้น ‘เซ็กส์’ (sex) เรียกแบบฟังดูโรแมนติกสักหน่อยก็ ‘ร่วมรัก’ งั้นในบทความนี้ผมขออนุญาตผสมผสานทั้ง ‘รัก’ และ ‘ร่วมรัก’ ด้วยกันเสียเลย เพื่อให้ไม่ธรรมดา อื๊อหือ ไม่ธรรมดา จึงจะพาคุณผู้อ่านไปสัมผัสพฤติกรรมวาบหวามระหว่างหนุ่มทหารอาสาชาวสยามกับแม่สาวเยอรมันห้วงยามมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรปเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน
อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าอีกหลายบรรทัดถัดไปจะติดเรตเชียว!
ภายหลังประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางในปี พ.ศ. 2460 ทางประเทศสยามจึงส่งกองทหารอาสาไปปฏิบัติหน้าที่ยังสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงพ.ศ. 2461-2462 สังกัดกองทัพประเทศฝรั่งเศส
อันที่จริง พฤติกรรมทางเพศของเหล่าทหารอาสาสงครามโลกครั้งนี้มีข้อน่าสนใจพึงศึกษาค้นคว้าหลายประเด็น เนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่แสดงออก ‘ความเป็นชาย’ ผูกพันกับแรงปรารถนากามารมณ์อยู่มิใช่น้อย
หากชายหนุ่มชาวอเมริกันจากครอบครัวพื้นเพดีเข้าร่วมรบมหาสงครามโลกหนแรกในทวีปยุโรปแล้วสัมผัสประสบการณ์ ‘เซ็กส์’ จากต่างแดน โดยเฉพาะในฝรั่งเศสซึ่งโสเภณีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทหารอาสาชาวสยามเองก็อาจเผชิญสิ่งที่ไม่ค่อยผิดแผกจากชาวอเมริกันเท่าไหร่กระมัง
สิบโทเหรียญ มีเดช ผู้สมัครเป็นทหารอาสาเขียนบันทึกถึงตอนเขาถูกตรวจอวัยวะเพศ ก่อนจะออกเดินทางไปเมืองฝรั่ง ความว่า
ข้าพเจ้าไปรับตรวจด่านที่ ๒ ต่อไป เขานำข้าพเจ้าเข้าไปในม่านให้ข้าพเจ้าเปลื้องเสื้อผ้าม่วงออกเพื่อจะตรวจของสำคัญ ข้าพเจ้านึกในใจว่าเขาคงจะดูว่าข้าพเจ้าเป็นเพศชายหรือเพศหญิงแน่ เมื่อเขารู้แล้วว่าข้าพเจ้าเป็นเพศชายแน่ และก็เป็นชายฉกรรจ์ที่จะไปรบกับข้าศึกศัตรูได้ด้วย ก็ยังมิยอมปล่อยให้ข้าพเจ้าไปได้ง่ายๆ กลับตรงเข้าจับต้องเพศของข้าพเจ้าลูบคลำเล่น ข้าพเจ้าคิดต่อไปอีกว่าท่านนายแพทย์ผู้นี้คงจะมิยอมให้ข้าพเจ้าได้ไปรบกับข้าศึกศัตรูแต่กับเพศชายอย่างเดียว คงจะหวังให้ข้าพเจ้าไปรบกับข้าศึกศัตรูที่เป็นหญิงด้วย ถึงแม้ศัตรูจะเป็นเพศหญิงก็รบได้ จึงได้ตั้งอกตั้งใจตรวจตราเสียอย่างละเอียดลออว่า อ้ายหนูของข้าพเจ้ามิได้ป่วยไข้ได้เจ็บแต่ประการใด เขาก็หยิบบัตรชื่อ แซ่ จดลงในด้านหลังว่า “กามโรคไม่ปรากฏแต่อย่างใด” แล้วก็ส่งบัตรคืนให้ข้าพเจ้าได้ไปตรวจด่านที่ ๓ อีกต่อไป
น้ำเสียงข้างต้นบ่งชี้ความตื่นตัวของชายชาวสยามในการที่จะไปต่อสู้ข้าศึกและการไปร่วมเพศระหว่างสงคราม สะท้อนจากความคิดขณะตรวจตราตระเตรียม ‘อ้ายหนู’ เพื่อไป ‘รบ’ กับผู้หญิงด้วย และถ้าอ่านย่อหน้าสุดท้ายของบันทึกเดียวกัน ก็เป็นที่แน่นอนว่าสิบโทเหรียญได้ใช้อาวุธ ‘อ้ายหนู’ กรำศึกกับหญิงสาวในต่างแดน
ยังมีทหารอาสาร่วมรบสงครามโลกหนแรกอีกผู้หนึ่ง นั่นคือสิบโทโทน บินดี นักบินหนุ่มคนนี้ได้ประกอบกามกิจกับแม่สาวเยอรมันชื่อแมรี่ เธอเป็นบุตรสาวของบ้านที่เขาไปพักพิงอยู่ในทวีปยุโรป ต่อมาช่วงทศวรรษ 2490 โทนบอกเล่าย้อนรำลึกถึงกิจกรรมอย่างว่าด้วยความภาคภูมิ “นี่คือลีลาสวาทสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งอืดอาดเหมือนเครื่องบินสมัยนั้น แต่รสและความตื่นใจก็ผิดแผกไปจากสมัยนี้ ซึ่งควรแก่การนำมาเล่าสู่กันฟังอย่างยิ่ง”
ก่อนอื่น ลองฟังโทนบรรยายถึงบ้านหลังนั้นดูสิ
บ้านที่ข้าพเจ้าได้ไปอาศัยเขาอยู่นั้น เป็นชาวบ้านเยอรมัน พ่อบ้านตายไปแล้วเหลือแต่แม่บ้านใจอารี แกเป็นคนมีฐานะดีคนหนึ่ง แต่โชคร้าย เพราะนอกจากสามีจะหาชีวิตไม่แล้ว ลูกชาย ๒ คนของแกเป็นนายทหารเยอรมันก็ยังไปตายในที่รบอีก คงเหลือแต่ลูกสาววัยรุ่นคนเดียว ชื่อเแมรี่รูปร่างอวบใหญ่ตามแบบหญิงเยอรมัน แต่หน้าตาสะสวย อกอัดสล้าง (เต็มไม้เต็มมือพิลึกละ) ว่าด้วยส่วนสะโพกเล่าก็มโหฬารชนิดที่สุดเสียงสังข์ทีเดียวหละ (สุดเสียงสังข์อย่างฟิตเปรียะนะท่านที่รัก ไม่ใช่อย่างเผละผละ)
อ้อ เกือบลืม นายทหารที่พานักบินหนุ่มไปฝากฝังต่อเจ้าของบ้าน ได้แก่ ร้อยโทวัน ชูถิ่น ซึ่งภายหลังคือพระประศาสน์พิทยายุทธ เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งค้นพบกันว่าเขาเป็นคนไทยที่ลงรายชื่อในสมุดบันทึกการเข้าเยี่ยมพบอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เพียงห้าหกวันก่อนผู้นำนาซีเยอรมันจะสูญสิ้นชีวิต
สองแม่ลูกให้การต้อนรับทหารอาสาชาวสยามอย่างอบอุ่นและเต็มเปี่ยมอัธยาศัยไมตรี แม้โทนจะพูดภาษาเยอรมันมิได้ จึงไม่ค่อยสนทนาต่อกันนัก อย่างไรก็ดี นักบินหนุ่มแอบมองความงามของแม่สาวแมรี่เนืองๆ ยิ่งเห็นพลันยิ่งนึกลุ่มหลงเชิงเสน่หา และเมื่อบังเกิดความรัก ความคิดเรื่องเซ็กส์ก็สุมหัวขึ้นมา จวบจนคืนหนึ่งสบโอกาสโดยลำพังสองต่อสองระหว่างเขากับแมรี่ คืนนั้นแหละโทนพบตัวเองกำลังเข้าฉาก ‘ร่วมรักระหว่างร่วมรบ’
ในหนังสือชีวิตพิสดารของโทน บินดี จ้าวอากาศคนแรกของเมืองไทยพรรณนาภาพพจน์ตอนนี้ยืดยาวหลายหน้ากระดาษเลยครับ ถ้าใครสนใจต้องลองไปหาอ่านเองแล้วล่ะ เพราะผมจะเปิดเผยคร่าวๆ เพียงแค่เย้ายวนชวนเคลิ้ม
เริ่มจากโทนออกอุบายถลกขากางเกงนอนให้หญิงสาวดูรอยสัก พอได้ทีจึงถลกกางเกงของฝ่ายหญิงด้วย พร้อมๆ กับลูบคลำขาอ่อนของเธอ แมรี่เผลอไผลอย่างลืมหวงแหนของสงวนบนเรือนร่าง ทหารอาสาหนุ่มฝังจมูกบนก้อนเนื้อนูนหนั่น จูบดูดดื่ม จนกระทั่ง “แทบทุกสัดส่วนของร่างเราสัมผัสกันอย่างแนบแน่น ตั้งแต่ปากแนบปาก จมูกแนบแก้ม อกบดอก – – – ช่วงท้อง สะโพก และท่อนขา ฯลฯ – – -”และแล้วหนุ่มชาวสยามก็เสพสมกับแม่สาวเยอรมันโดยไม่ปิดไฟ
ยังครับ ชีวิตกระจุ๋มกระจิ๋มระหว่างโทนกับคู่สวาทสาวชาวเยอรมันหาได้จบสิ้นเพียงเท่านี้หรอก คราวหนึ่ง แมรี่ยังชวนหนุ่มสยามไปเที่ยวต่างเมืองและได้ซื้อกล้องถ่ายรูปจากห้างที่พ่อของเธอเคยเป็นหุ้นส่วนกลับมาด้วย ทุกวันอาทิตย์เธอจะหัดให้เขารีดนมวัวในตอนเช้าและหัดให้ทำเนยในตอนเย็น ยิ่งกว่านั้น หลังจากทำกับข้าวเสร็จในแต่ละวัน เธอยังพยายามสอนเปียโนเขาด้วย อย่างไรก็ดี โทนเล่าว่า “แต่เรื่องเปียโนนี้ข้าพเจ้าไม่มีวันจะเล่นเป็นกับเขาหรอก เพราะหัดทีไร ‘ได้การ’ แทบทุกครั้ง คุณครูสาวแมรี่แกทำให้ข้าพเจ้าวอกแวก และใจสั่นไม่เป็นอันเรียนได้สักที ส่วนมากข้าพเจ้าผู้เป็นศิษย์มักจะตะบะแตก ชวนคุณครูไปหัดอย่างอื่นเสียหมด” นั่นเพราะตอนที่หนุ่มสยามนั่งเล่นเปียโนโดยมีเธอยืนอยู่ด้านหลัง พร้อมเอื้อมมือทั้งสองมาจับมือเขากดคีย์คู่นั้นคู่นี้ หน้าอกของเธอได้สัมผัสแผ่นหลังของเขา นักบินหนุ่มจึงมักจะแสร้งชวนแม่สาวน้อยไปล้างรูปอัดรูปในห้องมืด ทั้งๆ ที่เธอถามย้ำว่ามีฟิล์มภาพอะไรต้องรีบใช้เร่งด่วนหรือ
อย่างไรล่ะที่จะเคลื่อนไหวในห้องมืด? ก็อย่างนี้สิ
ข้าพเจ้าปิดประตูห้องมืดแต่ไม่ดับไฟแล้วกระชากหล่อนมาจูบอย่างหิวกระหายแทนคำตอบ แมรี่พึมพำอู้อี้ๆ เป็นเชิงต่อว่าข้าพเจ้าเล่นโกง แต่แล้วก็พับอยู่กับอกข้าพเจ้า ปล่อยให้ข้าพเจ้าลูบคลำขยำขยี้ตามใจ และเมื่อกอดจูบคลึงเคล้ากันจนถึงขีดแล้ว เราก็ ‘อัดรูป’ และ ‘ล้างรูป’ กันอย่างสำเริงสำราญในห้องมืดนั้นเอง
ครั้นเสร็จสมอารมณ์หมาย ทั้งสองจึงพากันออกมาสู่พื้นที่สว่าง จัดแจงเอาเหล้าองุ่นซึ่งบรรจุถังไม้กลมตรงใต้ถุนข้างห้องมืดมาดื่มกินอย่างเอร็ดอร่อย
ภายหลังสงครามโลกครั้งแรกปิดฉากลงเนื่องจากทางฝ่ายเยอรมันยอมแพ้ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ทหารอาสาสยามต้องหวนกลับคืนสู่ประเทศของตน โทนตระเตรียมซื้อของไปฝากญาติและเพื่อนฝูงที่บ้านเกิดเมืองนอน เขาตัดสินใจซื้อแจกันทองเหลืองชุบเงินอาบน้ำยาอย่างดี บอกให้ช่างสลักถ้อยคำเป็นภาษาเยอรมันว่า “จ่านายสิบ ท. บินดี นักบินไทย ให้ไว้เป็นที่ระลึกเมื่อสงคราม พ.ศ.๒๔๖๒” มอบให้แมรี่จัดวางไว้บนโต๊ะเปียโนที่เคยหัดเล่นประจำ หนุ่มสยามรู้สึกอาลัยอาวรณ์รักต่อหญิงสาว ช่างเป็นความรักไม่มีพรมแดนอันสวยสดงดงาม กระนั้น ในห้วงลึกความนึกคิด เขาเองตระหนักว่า “ที่ข้าพเจ้าใจไม่ดีอย่างมากได้แก่เรื่อง ‘ท้อง’ – – แมรี่อาจจะท้องโตมาก็ได้ ในเมื่อเราหลับนอนด้วยกันมากว่าเดือน ถ้าท้องละ แมรี่ลำบากแย่ และข้พเจ้าก็บาปอย่างบรรลัยเลยแต่เฮอ!จะทำยังไงได้ ข้าพเจ้าเป็นคนไทยมาในราชการของไทย และจะต้องกลับไปเมืองไทย”
แทบไม่น่าเชื่อเลย มหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ในทวีปยุโรปจะกลายเป็นฉากสะท้อนสัมพันธภาพทางความรักของหนุ่มสาวทำนอง ‘รักระหว่างรบ’ และ ‘รบระหว่างรัก’ อันโยงใยกับชาวไทยอยู่ด้วยมิใช่น้อย มิเว้นกระทั่งเรื่องราวทำนอง ‘ร่วมรักระหว่างร่วมรบ’ ซึ่งหาใช่เรื่องแต่งที่ถ่ายทอดผ่านรูปแบบนวนิยายหรือภาพยนตร์ หากคือชีวิตจริงอันเจิดจรัสในความรู้สึกของหนุ่มนักบินทหารอาสาชาวสยามนามโทน บินดี ไม่เสื่อมคลาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กรมเสนาธิการทหารบก. ประวัติกองทหารอาสา ซึ่งไปในงานพระราชสงครามข้ามทะเล พระพุทธศักราช 2460-61-62 (ทหารไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ : กรมยุทธการทหารบก โดยกองประวัติศาสตร์ทหาร, 2553
- บุตร ประดิษฐวณิช. กามารมณ์ และ สงคราม. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์, 2503
- วิจิตรมาตรา, ขุน. หลักหนังไทย.นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2555
- สมบูรณ์ วิริยศิริ (เรียบเรียง). ชีวิตพิสดารของโทน บินดี จ้าวอากาศคนแรกของเมืองไทย. พระนคร: อุดม, 2495
- เหรียญ มีเดช, สิบโท. “ทหารปอดพรุน,” ใน ทหารอาสาสงครามโลกอนุสรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๖. พระนคร: ไทยวัฒนาพานิช, 2496
- เฮมิงเวย์, เออร์เนสต์. รักระหว่างรบ (A farewell to arms). แปลโดย อาษา ขอจิตต์เมตต์. พระนคร:ขอจิตต์เมตต์, 2519
- Burnham, John C. Bad habits: drinking, smoking, taking drugs, gambling, sexual misbehavior, and swearing in American history. New York: New York University Press, 1993