(1)
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่นิวซีแลนด์ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง คือมีเด็กอายุ 16 และ 17 รวมตัวกันไปยื่นต่อ ‘ศาลสูง’ ขอให้ศาลพิจารณาแก้กฎหมายให้พวกเขามีโอกาสในการ ‘เลือกตั้ง’ ได้
แคมเปญนี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มเยาวชน ซึ่งตั้งคำถามกับระบบว่าการกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นการ ‘เลือกปฏิบัติ’ หรือไม่ แล้วในเมื่อพวกเขามีสิทธิ์ในนโยบายต่างๆ ของรัฐ เช่น การศึกษา หรือสาธารณสุข แล้วทำไมพวกเขาถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกรัฐบาล หรือลงประชามติในเรื่องสำคัญ ของประเทศตัวเอง
ขณะเดียวกัน อีกซีกโลกหนึ่ง ที่ซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เทศบาลเมืองได้ผ่านกฎหมาย ‘ลดอายุ’ ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยกำหนดให้ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน สามารถลงคะแนนเสียงได้ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป เป็นเมืองที่ 4 ของสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจในลักษณะนี้ แต่ถือเป็น ‘เมืองหลัก’ เมืองแรก ที่อาจเป็น ‘โดมิโน’ ส่งให้เมืองใหญ่เมืองอื่น ตัดสินใจแบบเดียวกัน ซึ่งอาจผลักไปสู่การเปลี่ยนอายุในการเลือกตั้งระดับชาติได้
ทั้งหมดนี้ ถือว่า ‘ฟังขึ้น’ สำหรับอเมริกันชน เพราะเด็กอายุ 16 ได้รับอนุญาตให้สอบใบขับขี่ ขับรถยนต์ได้ และสามารถทำงานแบบ ‘ฟูลไทม์’ ได้แล้ว ซึ่งก็มีความหมายอีกนัยหนึ่งว่าพวกเขาต้อง ‘จ่ายภาษี’ เข้ารัฐ เพราะฉะนั้นฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมากในพรรคเดโมแครต จึงเสนอให้แก้กฎหมาย ปรับลดอายุลง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้กฎหมายนี้ ‘สมเหตุสมผล’ ขึ้นแล้ว ผลที่ตามมาก็คือ เขาจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากคนรุ่นใหม่อย่างล้นหลาม
แน่นอน สส.จากฝ่ายตรงข้ามปฏิเสธทันที..
(2)
ที่น่าสนใจก็คือ เรื่องนี้กำลังเป็นกระแสไปทั่วโลก เยาวชนจำนวนมากรู้สึกว่าบรรดา ‘ผู้สูงอายุ’ หรือเจนเนอเรชั่น Baby Boomer กำลังตัดสินใจอย่าง ‘ไม่เข้าท่า’ ไม่ว่าจะเป็นการโหวตจนได้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เมื่อ 4 ปีก่อน หรือการตัดสินใจลงประชามติเอาอังกฤษ ออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สุดท้าย ประเทศ ‘ติดหล่ม’ หนักกว่าเดิม
แต่พวกเขา ซึ่งเป็นคนที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเหล่านั้นต่อไปอีกหลายสิบปี กลับต้องทนยอมรับกับการตัดสินใจของคนรุ่นก่อนหน้า โดยที่ได้แต่นั่งดู ไม่มีสิทธิ์โหวต เพียงเพราะกฎหมายไม่ได้อนุญาต และเพราะเกิด ‘ช้าไป’ เพียง 1-2 ปีเท่านั้น
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่จำนวนมากทั่วโลก ที่อายุไม่ถึง 18 กำลังเติบโต และมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเรื่อยๆ มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เริ่มเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิการศึกษาในปากีสถานตั้งแต่อายุ 11 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ตั้งแต่อายุ 17, เกรต้า ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน ที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็สร้างความเปลี่ยนแปลง ได้รับเชิญไปพูดในเวทีระดับโลกเรื่อง ‘โลกร้อน’ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ตั้งแต่อายุ 15
ขณะที่ผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่อีกไม่น้อย ก็มีบทบาทมากขึ้นในขบวนการเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องสีผิว เรื่องอาวุธปืน ไปจนถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการศึกษา และเรื่องประชาธิปไตย
ซึ่งประเด็นที่คนกลุ่มนี้ตั้ง มีไม่น้อยที่ ‘แหลมคม’
กว่าคนเจเนอเรชั่นก่อนหน้าไปไกล
(3)
ปัจจุบัน อายุขั้นต่ำในการลงคะแนนของ 110 ประเทศทั่วโลก อยู่ที่ 18 แต่ก็มีบางประเทศ กำหนดไว้ที่ 17 เช่น อินโดนีเซีย กรีซ ติมอร์ตะวันออก และบางประเทศ ลงไปอยู่ที่ 16 ล่วงหน้าแล้ว เช่น อาเจนตินา ออสเตรีย และบราซิล ทว่า บางประเทศ อายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็ยังคงอยู่ที่ 20
แล้วทำไม เราถึงสามารถ ‘โหวต’ ได้ เมื่ออายุ 18 เท่านั้น? อันที่จริง เรื่องนี้เป็น ‘การเมือง’ ไม่แพ้กัน ในสหรัฐฯ ประเทศที่ว่ากันว่าก้าวหน้าที่สุดในโลกเสรีนั้น กว่าจะเปลี่ยนจาก 21 ลงมาที่ 18 ได้ ก็ต้องรอจนถึงปี ค.ศ.1971 และที่เปลี่ยนได้ ก็เป็นเพราะอเมริกันชนจำนวนมากตั้งคำถามว่าในเมื่อส่งเด็กอายุ 18 ไปรบในสงครามเวียดนามจนบาดเจ็บ-ล้มตายจำนวนมาก แล้วทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่มีสิทธิ์โหวต จนกลายเป็นแคมเปญ ‘Old Enough to Die, old Enough to Vote’ จนทำให้ในที่สุด สภาคองเกรส ต้องกำหนด ‘ขั้นต่ำ’ ไว้ที่อายุ 18 ที่สามารถเลือกตั้งได้
ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้น กว่าจะลดอายุขั้นต่ำมาให้โหวตได้ ก็ปาเข้าไปที่ปี ค.ศ.2018 หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้วนี่เอง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ (Abe Shinzō) ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไป ต้องการ ‘ดึง’ คนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นพวก และการที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ มี ‘อายุขัย’ เฉลี่ย ปาเข้าไปถึง 84 ปี ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนมากเป็น ‘ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง’ นั้น อาจทำให้สาระสำคัญของนโยบายบางอย่างผิดเพี้ยนไป และทำให้ญี่ปุ่น ‘ไม่น่าอยู่’ สำหรับคนรุ่นใหม่ จึงต้องตัดสินใจลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในที่สุด
แล้วไทยอยู่ตรงไหน? อันที่จริงไทย เพิ่งจะลดอายุขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จาก 20 มาอยู่ที่ 18 เมื่อ 25 ปีที่แล้ว โดยบรรจุเรื่องอายุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2534 ฉบับแก้ไข ปี พ.ศ.2538 ช้ากว่าอีกหลายประเทศ (แต่ก็ยังเร็วกว่าญี่ปุ่น) และเร็วกว่าไต้หวัน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน อายุผู้ลงคะแนน ยังคงอยู่ที่ 20
(4)
คำถามสำคัญอีกอย่างก็คือ ปัจจัยอะไร ที่ขัดขวางไม่ให้มีการ ‘แก้กฎหมาย’ เปลี่ยนอายุขั้นต่ำ ลงไปที่ 16… คำตอบของฝ่ายที่เห็นแย้งยังวนอยู่ในสูตรเดิม ก็คือ เด็กอายุ 16 นั้น ‘อ่อนต่อโลก’ มากเกินไป ขณะเดียวกัน ผู้ที่ ‘บรรลุนิติภาวะ’ ตามกฎหมาย และตามหลักสากล ก็กำหนดให้อยู่ที่ 18 เพราะฉะนั้นจึงสมเหตุสมผลแล้ว ที่ควรให้โหวตที่อายุเท่ากัน
นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้ง เช่น บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บอสตัน เฮอรัลด์ ที่มองว่าสมองของวัยรุ่นในซีกที่ ‘เป็นเหตุเป็นผล’ นั้น ยังไม่พัฒนามากพอ จึงทำให้คนกลุ่มนี้อาจตัดสินใจลงคะแนนตาม ‘อารมณ์’ มากกว่าจะใช้การคิดวิเคราะห์ และที่สำคัญก็คือยังเชื่อว่าคนกลุ่มนี้ ถูก ‘ล้างสมอง’ และกดดันจากเพื่อน จากผู้ปกครองได้ง่าย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายขวาจำนวนมาก ยังเชื่อว่าวัยนี้ ตกเป็นทาสความคิดของพวก ‘เสรีนิยม’ มากเกินไป และยังไม่เห็นผลเสียของความเป็นเสรีนิยม หรือของพวก ‘ซ้าย’ มากพอ
อย่างไรก็ตาม หากดูผลลัพธ์ของพื้นที่ หรืองานวิจัยจากประเทศที่กดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงไปถึง 16 ก็จะพบว่าน่าสนใจไม่น้อย เมืองทาโคมาพาร์ค รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ นั้น พบว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ออกไปใช้เสียงมากกว่าผู้ที่อายุเกิน 18 กว่า 4 เท่า นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 16-17 ยังเป็นกลุ่มที่ออกไปใช้สิทธิ์ มากกว่าคนที่อายุมากกว่านั้น ทั้งในการเลือกตั้งใหญ่ของออสเตรีย ปี ค.ศ.2011 และ ค.ศ.2014 การลงประชามติที่สกอตแลนด์ เมื่อปี ค.ศ.2014 และการเลือกตั้งใหญ่ของนอร์เวย์
นักรัฐศาสตร์ ยังไม่เห็น ‘ผลเสีย’ ใด จากข้อกังวลข้างต้น การศึกษาล่าสุดในออสเตรีย พบว่า ‘คุณภาพ’ ของการใช้สิทธิ์เลือกตั้งนั้น ไม่มีอะไรอ่อนด้อยกว่าคนรุ่นอื่น
และเด็กอายุ 16-17
ก็ไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางการเมืองน้อยกว่า
คนที่แก่กว่าพวกเขาเลย…
ขณะเดียวกัน กฎหมายหลายอย่างก็กระทบกับพวกเขาโดยตรง เช่น สวัสดิการรัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน กระทั่งกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งที่ต้องยอมรับก็คือคนกลุ่มนี้ จะมีชีวิตต่อไปในประเทศนั้นอีกยาวนานที่สุด แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่มีปากมีเสียงใดๆ
และหากรู้สึก ‘จำเจ’ กับนักการเมือง เบื่อหน่ายกับประเด็นที่เถียงกันในสภา การเปิดกว้างให้คนกลุ่มนี้เลือก ‘ตัวแทน’ ไปทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ก็ยิ่งเปิดโลกใหม่ ให้การเมืองมีความหลากหลายมากขึ้น
(5)
แล้วไทย จะสามารถกดอายุผู้ใช้สิทธิ์ให้ต่ำลงได้หรือไม่? ในแง่หนึ่ง วันที่บรรดาเยาวชนทั้งหลายตื่นตัวเรื่องการเมือง ตื่นตัวเรื่องสิทธิ์มากขนาดนี้ และกำลังกลายไปสู่การปะทะกันระหว่างวัย การมอบอาญาสิทธิ์ผ่านกฎหมาย เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถเลือก ‘ผู้แทน’ ของตัวเอง ไปสู้ในระบบรัฐสภา ไปเป็นปากเป็นเสียงในการเมืองท้องถิ่น ดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล มากกว่าปล่อยให้คนกลุ่มนี้ไปสู้บนถนน
แต่มายาคติที่ยังฝังอยู่เกี่ยวกับเด็กไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่น เด็กอายุ 16–17 ยังถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ก้าวร้าว และไม่ได้ ‘อาบน้ำร้อน’ มามากพอเหมือนผู้ใหญ่
ขณะเดียวกัน ผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ที่ประชาชนหลายคนใช้สิทธิ์ครั้งแรกตอนอายุ 23–24 ปี เพราะไทย ‘ว่างเว้น’ จากการเลือกตั้งยาวนานกว่า 5 ปี และเหตุการณ์ที่ตามมาหลังจากนั้น ก็เป็นประจักษ์พยานได้ดีว่าบรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยม เห็นคนอายุน้อย เห็นคนรุ่นใหม่ เป็นภัยคุกคามมากขนาดไหน
เพราะฉะนั้น ‘ความไทย’ จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะกดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ต่ำลงขนาดนั้น แบบที่ทั่วโลกกำลังถกเถียงกัน โดยเฉพาะวันที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่แม้จะมีเสียงทั้งในโลกจริง และในโลกเสมือนเบากว่า แต่ทุกวันนี้ ก็ยังคงกุมอำนาจรัฐอยู่
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นเป็นไปไม่ได้ ก็มีความ ‘เป็นไปได้’ อยู่บ้าง หากย้อนเวลากลับไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีใครคิดเหมือนกันว่ากลุ่มคนที่เรียกร้องการปฏิรูป เรียกร้องความเท่าเทียม จะอายุน้อยลงเรื่อยๆ และกลายเป็นนักเรียน นักศึกษา เยาวชนเป็นตัวนำ ไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กมัธยม จะไปนั่งประท้วงที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ พร้อมกับดีเบตในหลายประเด็นจนรมว.ศึกษาธิการ ‘ไปไม่ถูก’ และไม่มีใครคิดว่าพลังของคนรุ่นใหม่จะเติบโตขนาดนี้ จนบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องหาทางถอย หาทางหนีทีไล่กันเกรียวกราว
ประตูแห่งความเป็นไปได้ อยู่ที่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ปลดล็อกมาตรา 95 วรรค 2 ปลดล็อกเรื่องอายุ 18 พ่วงไปกับการเสนอให้ผู้ที่อายุ 18 (หรือต่ำกว่านั้น) มีสิทธิ์ลงสมัครสส. แทนที่จะเป็น 25 อย่างในปัจจุบัน แบบที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกเสนอ เพราะหากขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญ ‘ทั้งฉบับ’ เกิดขึ้นจริง ก็มีสิทธิ์ที่เรื่องพวกนี้ จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียง เพื่อถอดรื้อความเชื่อเดิมว่าต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองได้ ต้องอายุ 25 เท่านั้นถึงจะเป็นผู้แทนได้
หากเรายืนยันว่าในโลกยุคใหม่ การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ก็ไม่ควรมีใครต้องถูกกันออกจากวงจรนี้ และหากหลักการใหญ่คือการยืนยันว่าประเทศนี้ และเวลาหลังจากนี้ เป็นของ ‘คนอีกรุ่น’ จริง ก็ควรเอาเรื่องนี้ออกมาสู้กันสักตั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก