คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องและฉากจบของเกม Mad Max
แม็กซ์ขับรถพุ่งทะลุประตูเข้าไป ทรายคลุ้งกระจายพร้อมเสียงเบรคดังลั่น
สมุนหัวล้านแสยะยิ้ม “แกมาช้าไปแล้ว ท่านสโครตัสมาก่อน”
แม็กซ์กระโดดลงจากรถ เหลือบไปเห็นกลอรีนอนแผ่อยู่กับพื้น แขนสองข้างถูกผูกติดกับเหล็ก ละม้ายคล้ายกางเขน เขาถลาเข้าไปหา
“เธอไม่เป็นไรนะ เด็กน้อย มานี่ มา” พูดพลางบรรจงอุ้มเธอขึ้นพาดไหล่ สายตาเหลือบมองขึ้นข้างบน
ตรงหน้าเขา โฮปถูกแขวนคอห้อยต่องแต่งลงมาจากเพดาน
กลอรีพึมพำ “ไม่มีใครจำชื่อหนูได้แล้ว”
แม็กซ์หรี่ตา “พวกเขาต้องจำได้สิ จำได้แน่ ลุงจะจำ ลุงสัญญา”
ลมหายใจของกลอรีแผ่วลงทุกที ทุกที
แม็กซ์พึมพำ “ไม่นะ ไม่ ไม่ ไม่” เขาค่อยๆ วางร่างของเธอลงกับพื้น
สมุนหัวร่อร่า “เหอะๆ ครอบครัวน่ารัก ท่านสโครตัสชอบใช้เวลา”
แม็กซ์แผดเสียง “มันอยู่ไหน!”
ตัดภาพมาที่แม็กซ์หลังพวงมาลัยรถ V8 คู่ใจ ตะบึงฝ่าทะเลทราย สายตากร้าว หูแว่วเสียงกลอรี จริงหรือหลอนก็ไม่รู้…
“ฆ่าพวกมันให้หมด ฉันอยากให้ลุงเขียนชื่อฉันด้วยเลือด แดงฉานทั้งแผ่นดิน…”
ต้นศตวรรษที่ 21 ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกำลังรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง หลายสิ่งหลายอย่างที่เราเคยคิดว่ามีแต่ในนิยายวิทยาศาสตร์หรือไซไฟ (sci-fi) กำลังจะกลายเป็นความจริง (และดังนั้นในสายตาแฟนไซไฟอย่างผู้เขียน มันจึงเป็นยุคที่ทุกคนทุกเพศทุกวัยควรจะหันมาอ่านไซไฟอย่างจริงจัง!)
ทว่าในขณะเดียวกัน โลกทุกวันนี้ก็ดูเหมือนจะ ‘อยู่ยาก’ ขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระดับโลกอย่างภาวะโลกร้อน ธรรมชาติพิโรธ ภัยธรรมชาติกระหน่ำซ้ำเติมอย่างหนักหน่วงและถี่ขึ้นทุกปี จนถึงปัญหาสังคมและการเมืองระดับชาติ ประชาชนหลายประเทศได้แต่ท่องคาถา ‘เช่าประเทศเขาอยู่’ ปลอบใจตัวเอง ระหว่างนั่งมองผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ที่เคยคิดว่าพึ่งพาได้หลายคนทยอยแสดงความสับปลับปลิ้นปล้อน บิดเบือนหลักการเป็น ‘หลักกู’ อย่างน่าอดสูจนกู่ไม่กลับ
ในภาวะตลกร้ายชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คนในสังคมรู้สึกสิ้นหวังและอ่อนแรงลงทุกวัน ไม่น่าแปลกใจที่แนวคิดแบบ ‘สุญนิยม’ (nihilism) จะได้รับความนิยม หรืออย่างน้อยก็เป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าคนที่สมาทานความคิดนี้จะเรียกมันว่าสุญนิยมหรือไม่ก็ตาม
‘สุญนิยม’ ในทางปรัชญา หมายรวมถึงความคิดสำนักไหนก็ตามที่มองว่า คุณธรรม ศีลธรรม ความดี ความงาม ความจริง รวมถึง ‘คุณค่า’ (value) ทั้งหมดล้วนแต่ไม่มีอยู่จริง ไม่มีความหมายใดๆ ในตัวมันเอง เป็นเพียงสิ่งที่ถูกผลิตสร้างขึ้นเพื่อรักษาประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เช่น กษัตริย์ หรือชนชั้นนำเท่านั้น
ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) นักปรัชญาชาวเยอรมันและนักปรัชญาคนโปรดของผู้เขียน เจ้าของวาทะอมตะ “พระเจ้าตายแล้ว” ได้รับการขนานนามว่าบิดาของสำนักสุญนิยม โดยเขาประกาศว่า “ความจริงเป็นเพียงคำโกหกที่ถูกเชื่อตามกันมาเท่านั้น” และนำเสนออย่างน่าคิดว่า สังคมสมัยใหม่ของมนุษย์ (modernity) ยกย่องเชิดชูวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเหตุผลนิยม (rationalism) แต่ในความเป็นจริง หลายสิ่งดูจะไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ ความเหลื่อมล้ำที่ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างคนรวยกับคนจน และความตกต่ำของอารยธรรมแทบทุกมิติ ทำให้มนุษย์สมัยใหม่เผชิญหน้ากับสภาวะแห่งความว่างเปล่า (‘nihil’ ในภาษาละติน) รู้สึกว่าชีวิตของตัวเองไร้ค่า สิ้นหวัง เหนื่อยล้า และไม่ยินดียินร้ายอีกต่อไปกับความเชื่อ อุดมการณ์ หรือชุดคุณค่าใดๆ ที่ตัวเองเคยยึดถือ
นิทเช่เตือนว่า สภาวะสุญนิยมนี้สุดท้ายจะก่อให้เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะนักสุญนิยมสมบูรณ์แบบจะไม่เชื่อในอะไรก็ตาม และไม่มีเป้าหมายอะไรเลย อาจจะยกเว้นเพียงแรงขับที่จะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างลงอย่างราบคาบ
ภาพยนตร์ที่สำรวจตรวจตราชีวิตในโลกแบบสุญนิยม รวมทั้งผลพวงของมันได้อย่างน่าคิดที่สุดคือ Mad Max: Fury Road และเกมที่ทำแบบเดียวกันได้อย่างทรงพลัง (ถึงแม้ว่าพล็อตเรื่องจะสู้ไม่ได้เลย) ก็คือเกมแอคชั่นท่องโลกเปิด (open world) ชื่อ Mad Max ออกปี 2015 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากซีรีส์ภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน (ไม่ใช่ Fury Road แต่หมายถึงซีรีส์ภาพยนตร์สามภาคแรก ปี 1979, 1981 และ 1985 ตามลำดับ เกมนี้พัฒนาเสร็จก่อนที่ภาพยนตร์ Fury Road จะฉาย)
Mad Max ฉบับเกมให้เราเล่นเป็น ‘พระเอก’ จากซีรีส์ภาพยนตร์ Mad Max ผู้โดดเดี่ยว อดีตตำรวจจราจรที่สูญเสียลูกและเมียสุดที่รักไปเนิ่นนานแล้ว เกมนี้เนรมิตโลกแร้นแค้นหลังสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาอย่างตรงตามสปิริตของภาพยนตร์ แต่ทีมพัฒนาเกมคิดเนื้อเรื่องเองใหม่หมด เรารู้ดีว่า Max ต้องการอะไรตั้งแต่เกมเปิดฉาก – สร้างรถในตำนานชื่อ Magnum Opus (งานศิลปะชิ้นเอก) แล้วขับมันบึ่งเข้าไปใน ‘ที่ราบสูงแห่งความเงียบ’ (Plains of Silence)
แต่เขาจะขับรถเข้าไปในนั้นทำไม ไม่มีใครรู้
ศัตรูคู่อาฆาตของแม็กซ์ในเกมนี้มีมากมายหลายแก๊ง แต่ก๊วนหลักคือ War Boys นำโดยนักเลงร่างบึ้กหัวโล้นชื่ออ่านยาก สแคบรัส สโครตัส (Scabrous Scrotus ลูกชายของ Immortan Joe ในภาพยนตร์) ซึ่งขโมยเสื้อผ้า เสบียงกรัง อาวุธ และรถคู่ใจของแม็กซ์ไปตั้งแต่ตอนเริ่มเกม แม็กซ์ตามจนเจอและท้าดวล แต่ถึงแม้เขาจะทิ่มกะโหลกคู่ปรับด้วยเลื่อยไฟฟ้า (ดันไม่ตาย โม้จริงๆ) สุดท้ายก็ต้องแพ้พ่ายให้กับสโครตัส ถูกเตะพร้อมหมากระเด็นลงมาจากรถ
ไม่นานเราจะได้พบ ชุมบักเก็ต (Chumbucket) วิศวกรยานยนต์และช่างซ่อมรถจอมเพี้ยน ชุมบักเก็ตยินดีติดสอยห้อยตามเรา (ซึ่งเขาเรียกว่า ‘Saint’ หรือ ‘นักบุญ’) ไปค้นหาชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะเอามาสร้างรถ Magnum Opus เพราะรถยนต์คือศาสนาสำหรับเขา
กลไกเกมนี้ไม่ต่างจากเกมแอคชั่นแนว open world เกมอื่นๆ คือเราจะได้ทำเควสท์ (quests) ทั้งที่ต้องทำเพื่อเดินพล็อตเรื่องไปข้างหน้า และเควสท์ย่อยจิปาถะอีกนับร้อยที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ทำแล้วจะได้อาวุธ ประสบการณ์ (เอามาเติมพลังให้แม็กซ์) หรือได้ชิ้นส่วนรถยนต์ใหม่ๆ เควสท์รองเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีเนื้อเรื่องอะไรมากมาย แต่ก็มีความหลากหลายน่าสนใจและหลายอันก็สนุกดี ตั้งแต่การไปเก็บกู้กับระเบิด (ด้วยความช่วยเหลือของหมาคู่ใจชุมบักเก็ต) ทำลายขบวนรถของแก๊งศัตรู ทลายแคมป์ ควานหาภาพถ่ายทางประวัติศาสตร์จากยุคก่อนระเบิดลง ขับรถแข่ง หาพิมพ์เขียวเพื่ออัพเกรดฐานที่มั่นของแก๊งที่เป็นมิตรกับเรา นั่งบอลลูนขึ้นฟ้าเพื่อดูลาดเลา เก็บเสบียงกลางพายุทะเลทราย (อันนี้เป็นเหตุบังเอิญ) ฯลฯ
แอคชั่นในเกมนี้แบ่งเป็นสองส่วนซึ่งผู้เขียนพบว่าสนุกพอๆ กัน ระหว่างการบังคับตัวแม็กซ์เอง กับการขับรถท่องทะเลทราย ส่วนใหญ่บังคับจากมุมมองบุคคลที่สามทั้งคู่ บางคนอาจรู้สึกว่าฉากต่างๆ ดูน่าเบื่อเพราะมองไปทางไหนก็เห็นแต่ทะเลทรายและซากปรักหักพังของอาคารต่างๆ แต่ผู้เขียนคิดว่าฉากทัศน์เหล่านี้คือ ‘ของตาย’ และขาดไม่ได้ในโลกยุคล่มสลายหรือ post-apocalypse และในแง่นี้ กราฟิกและการออกแบบฉากต่างๆ ใน Mad Max ก็สื่อความพังพินาศและให้อารมณ์โศกนาฏกรรมที่สวยงามได้ดียิ่ง
แม็กซ์ในเกมนี้เรียกได้ว่าเป็นนักสุญนิยมสมบูรณ์แบบ ไม่ต่างจากแม็กซ์ในฉบับภาพยนตร์
เขาไม่มีอุดมการณ์ใดๆ และไม่เชื่อมั่นในสิ่งใดเลย ทำทุกอย่างเพียงเพื่อเอาชีวิตรอด ถูกหลอกหลอนด้วยความรู้สึกผิดต่อคนที่เขารักในอดีต คนที่เขาไม่อาจปกป้อง – วิธีอัพเกรดสกิลหรือทักษะของแม็กซ์ในเกมนี้คือต้องเสาะหา ‘กริฟฟา’ (Griffa) ฤาษีทะเลทรายผู้ลึกลับ กริฟฟาดูจะเป็นคนเดียวในเกมนี้ที่รู้อดีตของแม็กซ์อย่างละเอียด และการดึงอดีตเหล่านั้นมาเยาะเย้ยหรือยั่วยุถากถางแม็กซ์ ก็เป็นวิธีดึงเอาพลังของ ‘นักรบภายใน’ ตัวเขาออกมา ทำให้พลังแก่กล้าขึ้น
แม็กซ์ในฉบับภาพยนตร์ Fury Road บอกกับ ฟิวริโอซา (Furiosa) นักรบหญิงผู้นำกบฏ ท่ามกลางสายฝนและโคลนตมว่า “ความหวังน่ะคือความผิดพลาด ถ้าคุณซ่อมสิ่งที่พังไปแล้วไม่ได้ล่ะก็ คุณก็จะ… เป็นบ้า” ส่วนแม็กซ์ในเกมนี้พบสิ่งที่ดูจะมอบ ‘คุณค่า’ ให้กับชีวิตอันโดดเดี่ยวของเขา นอกเหนือจากการล้างแค้นสโครตัสและขับรถหายตัวไป ในร่างของ ‘โฮป’ (Hope แปลว่า ความหวัง) โสเภณีที่เขาพาหนีสโครตัสออกมา และ ‘กลอรี’ (Glory แปลว่า เกียรติ) ลูกสาววัยเยาว์ของเธอ
แต่สุดท้าย โฮปกับกลอรีก็ตายด้วยน้ำมือของสโครตัส ราวกับจะตอกย้ำว่า ‘ความหวัง’ กับ ‘เกียรติ’ ยังมีความหมายอันใดอีกหรือ ในโลกอันสิ้นหวังใบนี้
ไม่เพียงเท่านั้น รถยนต์ Magnum Opus ในตำนานที่เราใช้เวลาเกือบทั้งเกม (ในกรณีของผู้เขียนใช้เวลากว่า 70 ชั่วโมง) หาชิ้นส่วน เครื่องยนต์ ฯลฯ มาให้ชุมบักเก็ตค่อยๆ สร้าง หมดเงินไปมากมายจนสำเร็จ เราก็ได้ขับมันอย่างเพลิดเพลินเพียงไม่นาน ก่อนที่จะสละรถเพื่อพุ่งชนรถบรรทุกของสโครตัส
เฝ้ามองรถในตำนานตกเหวไปพร้อมกับชุมบักเก็ต คนที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘เพื่อน’ ที่สุดในเกม
เจ็บสิบชั่วโมงในเวลาจริงผ่านไป สุดท้ายแม็กซ์ก็กลับมายืนจุดเดียวกับที่เขาเริ่มต้น
โลกและเรื่องราวของ Mad Max ในเกม กับโลกของ Mad Max ในภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่สะท้อนสุญนิยม แต่ยังปฏิเสธทางเลือกอื่นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เหล่าสมาชิกแก็งคู่ปรับของแม็กซ์คือ War Boys ล้วนแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงบ้าคลั่ง ยินดีสละชีวิตเพื่อทำร้ายศัตรู แตกต่างจากสุญนิยมแบบเคร่งขรึมพูดน้อยของแม็กซ์ เพราะเชื่อว่าจะได้ขับรถอย่างอิสระเสรีในโลกหลังความตาย แน่นอนว่าความคิดแบบหนีความจริง (escapism) ของ War Boys นั้นเมื่อเทียบกับสุญนิยมของแม็กซ์แล้วย่อมดูเหลวไหลไร้สาระมากกว่ากันหลายเท่า
ความหวังกับเกียรติตายไปแล้ว สิ่งเดียวที่เหลืออยู่คือกากเดนเศษมนุษย์ และการดิ้นรนเอาชีวิตรอดไปวันต่อวันเท่านั้น
เมื่อมาถึงจุดนี้ เราก็พอเดาได้ไม่ยากว่า แม็กซ์ในฉากจบของเกม Mad Max จะขับรถบุโรทั่งคันเก่าของเขาเข้าไปใน ‘ที่ราบสูงแห่งความเงียบ’ เพื่ออะไร – เพราะถึงแม้เขาจะยังหายใจ ตัวตนด้านในของเขาก็ได้ตายไปนานแล้ว
ในความคิดของนิทเช่ สุญนิยมไม่ใช่ภาวะที่มนุษย์ต้องจำทนตลอดไป ตอนหนึ่งเขาเขียนว่า “มนุษย์ค้นพบว่าตัวเองได้หลุดออกจากสิ่งเดิมที่เคยเข้าใจ ที่เคยเชื่อ และตระหนักว่าตนถูกหลอกมาโดยตลอด จึงเกิดความรู้สึกว่างเปล่า ไร้แก่นสาร และต้องแสวงหาขอบฟ้าใหม่ให้กับชีวิต” – ‘ขอบฟ้าใหม่’ ของเขาหมายถึงการหาทางออกจากสุญนิยม เริ่มจากการปฏิเสธคุณค่าเดิม ประเมินและตีความคุณค่าเหล่านั้นใหม่หมด เพื่อประกอบสร้างตัวตน ค้นหาความรักในชีวิตขึ้นมาใหม่
ก่อนที่โลกจะล่มสลายกลายเป็นโลกแบบ Mad Max ที่สุญนิยมกลายเป็นความจริง และความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น.
หลังฉากกับ จอห์น ฟุลเลอร์ (John Fuller) ผู้อำนวยการสร้างอาวุโส ทีมพัฒนาเกม Mad Max จาก Avalanche Studios
ถาม : Mad Max ฉบับเกมให้อารมณ์ที่น่าทึ่ง และไปไกลกว่าภาพยนตร์ Fury Road ในการสร้างโลกแร้นแค้นหลังสงครามโลกขึ้นมา นอกจากซีรีส์ภาพยนตร์นี้แล้ว ทีมพัฒนาได้แรงบันดาลใจมาจากไหนอีก?
ตอบ : เรามักจะคุยกันในทีมว่า โลกในเกมคือ ‘ตัวละครหลัก’ ของเกมที่พวกเราทำ ไม่ใช่พระเอกหรอกครับ สำหรับโลกใน Mad Max เราได้แรงบันดาลใจจากเกมก่อนๆ ของเรา [เช่น ซีรีส์ Just Cause] และเกม open world เกมอื่นๆ เรามองการออกแบบโลกจากมุมมองต่างๆ เช่น อะไรที่จะดึงดูดสายตาของผู้เล่นให้สำรวจ? โอกาสในการเล่นกับระบบเกมควรจะเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน? เราอยากให้ผู้เล่นเดินทางง่ายๆ ทุกโซนในเกมหรือเปล่า? จังหวะ ‘สงบ’ ในเกม อย่างเช่นให้ผู้เล่นชื่นชมกับฉากสวยๆ โดยไม่ถูกใครลอบทำร้าย ควรจะเกิดขึ้นตรงไหนอย่างไร? เราจะปรับเปลี่ยนฉากทัศน์ เช่น สลับระหว่างฉากใต้ดินกับบนดิน บ่อยแค่ไหน? แล้วจากนั้นเราก็วาดภาพแนวคิดหลักๆ เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจว่าโลกที่เราสร้างจะมี ‘นิสัย’ มีสีสันและภาพจำที่ชัดเจน สำหรับ Mad Max เราก็ใช้กระบวนการนี้เลย แต่เป็นเพราะเราถูกจำกัดค่อนข้างมากด้วยเฉดสีและโลกจากภาพยนตร์ เราเลยต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่อนข้างมากในการออกแบบความแตกต่างภายในโซนที่ดูคล้ายกัน ยกตัวอย่างเช่น ในโซน Great White มีภูมิภาคอย่างน้อยเจ็ดแบบที่ต่างกันชัด ตั้งแต่ภูเขาไฟใต้น้ำที่ผุดขึ้นมา บ่อซัลเฟอร์ แถบทรายน้ำมัน ฯลฯ เราภูมิใจว่าโลกในเกมมี ‘นิสัยที่ซ่อนอยู่’ มากขนาดไหนครับ
ถาม : โลกแร้นแค้นในเกมนี้เต็มไปด้วยซากปรักหักพังจากอารยธรรมมนุษย์ คุณเลือกอย่างไรว่าจะวางซากอะไรในเกมบ้าง มีสังคมไหนหรือประเทศใดประเทศหนึ่งหรือเปล่าที่คุณอยากให้คนเล่นดูออกว่าเป็นอะไร (ไม่ใช่แค่ ‘สนามบินทั่วๆ ไป’ อะไรแบบนี้)?
ตอบ : อืม เราเริ่มจากการคุยกันเองว่า ใครเคยอยู่ที่นี่มาก่อน พวกเขาทำอะไรมา และอยู่ยังไง เราจินตนาการโซนทั้งโซนในเกมว่าเคยมีฟังก์ชั่นในโลก (เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมัน, ท่อส่งก๊าซ, เขื่อน, ประภาคาร, สถานีบริการน้ำมัน, แถบชานเมือง, ย่านภาคการเงินกลางเมืองใหญ่, ระบบของเสีย, รางรถไฟใต้ดิน, โบสถ์, สนามบิน และแน่นอน โรงกลั่นน้ำมันด้วย) แล้วก็คิดต่อไปว่าประชากรแบบไหนเคยอาศัยอยู่ที่นี่ โดยที่มองภาพค่อนข้างพหุนิยม คือมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย
จากนั้นเราก็ ‘กร่อน’ ให้มันเป็นภาพหลังหายนะ ตั้งแต่ฝังมันบางส่วน ทำลายบางส่วน ทำให้มันดูเก่าลงมาก และปรับใช้บางส่วนเป็นอย่างอื่น ตอนแรกคุณอาจมองว่าโลกเต็มไปด้วยของระเกะระกะที่วางอย่างบังเอิญ แต่ถ้าคุณใส่ใจและสังเกต คุณก็จะพบเรื่องราวเบื้องหลัง และอาจจะใช้มันเป็นข้อได้เปรียบในเกมก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณไปเจอท่อส่งน้ำมันสนิมเขรอะที่ลากมาจากเมือง Gastown ก็แปลว่ามันต้องนำทางไปสู่ที่ไหนสักแห่ง น่าจะยังมีทรัพยากรมีค่าให้เก็บ โลกทะเลทรายมีเรื่องราวของปัจเจกชิ้นเล็กๆ ฝังอยู่เต็มไปหมด เราพยายามไม่เล่าทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น เผื่อพื้นที่ให้จินตนาการของคุณ
ถาม : เราใช้เวลาในเกมนี้ทั้งเกมควานหารถ และความแค้นของแม็กซ์ก็น่าอัศจรรย์ ระดับการทำลายล้างแบบไร้สาระ ไร้ความหมายในเกมนี้เข้ากันได้ดีกับธีมสุญนิยมในภาพยนตร์ แต่มองอีกมุมมันก็อาจเป็นข้อวิจารณ์ ‘เกม’ โดยทั่วไปเหมือนกัน (เราเล่นเกมเพื่อควานหาเหรียญตราหรือทำเควสท์ให้สำเร็จ แต่ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตจริงของเราเลย) คุณคิดยังไงกับมุมมองนี้?
ตอบ : ฮ่า อภิปรัชญมากเลยครับ! อืม ชีวิตจริงจริงๆ นั้นแตกต่างจากนี้มากหรือ… คือ เราก็สะสมสมบัติพัสถาน ทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ หาเรื่องสนุกๆ ที่เบี่ยงเบนความสนใจ ใช่มั๊ย?
ถ้ามันจะมีสารอะไร ผมคิดว่าสารนั้นก็อยู่ใจกลางภาพยนตร์ Mad Max ทุกเรื่อง รวมถึงเกมนี้ด้วย มนุษยชาตินั้นจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ถ้าหากว่าเราโยนกฎหมาย ธรรมเนียม สถาบัน โครงสร้าง และ ‘สังคมอารยะ’ ทั้งหมดทิ้งไป? มันจะเป็นเรื่องของการเอาตัวรอดและความป่าเถื่อน หรือว่ามันจะมีความเมตตากรุณาและ ‘ดี’ ในแง่ศีลธรรมได้? ในภาพยนตร์ แม็กซ์เริ่มต้นเป็นคนดี แต่เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเป็นคนดี เขาก็เลยเป็นบ้า