ข่าวการควบรวมกิจการของ Uber และ Grab ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อไม่นานมานี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะอย่างแรกเลยคือไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง Uber ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกเส้นทางที่ขยายตลาดออกไปจะโรยด้วยกลีบกุหลาบพร้อมความสำเร็จ อย่างที่สองคือมันแสดงให้เห็นว่าธุรกิจแบบ On-Demand นั้นยังเป็นที่ต้องการของลูกค้า และต่อจากนี้ไปการแข่งขันในโมเดลธุรกิจนี้จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างต้อง ‘เดี๋ยวนี้’ และมีทั้งเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนทุกคนไม่มีเลยคือ ‘เวลา’
ไม่น่าเชื่อว่าไม่กี่ปีก่อนแทบไม่มีใครรู้จัก Uber, Grab, Didi, Line Man, Food Panda, Lalamove หรือธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มนี้เลย แต่ตอนนี้มุมไหนๆ ของถนนก็พบเจอได้ คล้ายกับร้านสะดวกซื้อที่หันไปทางไหนก็มองเห็น อันที่จริงมันก็มีอยู่มานานแล้วเพียงแต่ในรูปแบบอื่น เช่นการจ้างรถตุ๊กๆ ไปส่งของ โทรเรียกพี่วินหน้าปากซอยที่สนิทไปส่งที่ทำงาน ฝากเพื่อนซื้อของที่ซุปเปอร์ ฯลฯ แล้วตอบแทนด้วยเงินนิดๆ หน่อยเป็นค่าบริการ
การใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่การเดินทางไม่สะดวก การเลิกงานแล้วไปเดินเลือกซื้ออาหารสดเพื่อกลับมาทำทานเองที่บ้านถือเป็นภารกิจอันใหญ่หลวง จึงไม่แปลกใจที่ธุรกิจขนส่งแบบ On-Demand จะเติบโตเป็นดอกเห็ด มีผู้เล่นรายใหญ่ลงมาแข่งขันมากมาย โดยเฉพาะการรับส่งอาหารพร้อมทานจากร้านสู่ประตูบ้านที่ตอนนี้มีให้เลือกใช้ตามสะดวก แต่อย่างที่เกริ่นไปด้านบนว่าเราอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู ไม่ใช่แค่ในส่วนของซอฟแวร์ที่ช่วยเชื่อมลูกค้ากับบริการออนไลน์ แต่รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่มาต่อยอดเพื่อช่วยลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์อีกด้วย
Marble กำลังพยายามตอบโจทย์ของลูกค้าที่ใช้ชีวิต On-Demand โดยใช้หุ่นยนต์ในการส่งอาหารถึงประตูหน้าบ้าน โดยเริ่มต้นที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย
“ทุกธุรกิจ On-Demand สตาร์ทอัพจะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งเมื่อใช้หุ่นยนต์ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า”
นั้นคือทวีตของ Jeremy Conrad หนึ่งในผู้ร่วมทุน Lemnos Labs (บริษัทลงทุนในเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ในเมืองซานฟรานซิสโก) ที่ไม่นานมานี้เพิ่งลงทุนใน Marble เพื่อเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างธุรกิจต่างๆ ภายในเมือง ไปยังลูกค้าตามบ้าน เขาเชื่อว่าอีกไม่นานเราต้องเห็นหุ่นยนต์ตามท้องถนนขนส่งของต่างๆ ตั้งแต่อาหารแห้งตามซุปเปอร์มาเก็ต อาหารสดจากตลาด อาหารพร้อมทานจากร้านอาหาร รวมไปถึงอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านอย่างไขควง ไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ฯลฯ
เขาไม่ได้เป็นนักลงทุนคนเดียวที่เชื่อแบบนั้น เพราะก่อนหน้านี้ Andreessen Horowitz (บริษัทลงทุนเอกชนในรัฐแคลิฟอเนียร์) ก็เพิ่งวางเงิน 2 ล้านเหรียญใน Dispatch ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่ยนต์เดลิเวอรี่ที่หน้าตาเหมือนกับตู้เย็นเล็กๆ แล้วก็มีล้อติดด้านล่าง (หน้าตาคล้ายหุ่นยต์ Starship บริษัทจาก Estonia เลยทีเดียว) โดยหุ่นยนต์เหล่านี้ถูกดีไซน์ให้รับส่งของภายในเวลา 30 นาทีจากที่ร้านถึงบันไดบ้าน
ไอเดียพื้นฐานคือการลดต้นทุนของการจ้างแรงงานมนุษย์และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า สามารถติดตามการส่งของได้ตาม GPS ที่ติดตัวหุ่นยนต์แบบ Real-Time แถมไม่พอยังสามารถจองการขนส่งล่วงหน้าตามที่เราต้องการ เช่นพรุ่งนี้ตอนเย็นมี The Face Thailand ลูกค้ารู้แล้วว่าอยากทานบะหมี่เกี๊ยวหน้าปากซอยแต่ไม่สามารถพลาดการทำแคมเปญได้ ก็กดสั่งงานผ่านแอพให้หุ่นยนต์มาส่งหน้าบ้านตอนหกโมงได้ เท่านั้นก็สามารถนั่งซู๊ดบะหมี่อยู่หน้าจอได้อย่างไม่ต้องมีอะไรมาขัดจังหวะ และข่าวดีสำหรับสายกรีนที่รักโลกคือเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ไม่สร้างมลภาวะในอากาศเพิ่มเหมือนมอเตอไซค์หรือรถยนต์อีกต่างหาก
Marble ร่วมมือกับ Yelp Eat24 บริษัทขนส่งอาหารแบบ On-Demand (ที่ตอนนี้ถูกซื้อไปแล้วโดย GrubHub ในช่วงปลายปี 2017 ด้วยเงินจำนวนมหาศาล 288 ล้านเหรียญ มากกว่าตอนที่ Yelp ซื้อ Eat24 ถึงสองเท่าในปี 2015) ได้ทดลองใช้งานหุ่นยนต์ส่งของตามท้องถนนมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ซึ่งรูปร่างหน้าตาของเจ้านี่ เหมือนตูเย็นผสมกับรถสำรวจบนดาวอังคาร จะบอกว่ามันทำงานแบบอัตโนมัติด้วยตัวเองเลยก็คงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะระหว่างทางส่งของต้องมีมนุษย์ที่เป็นพี่เลี้ยงคอยถือรีโมทคอนโทรล (เหมือนเล่นเกมส์บนเครื่องเพลสเตชั่นยังไงยังงั้น) เพื่อควบคุมการทำงานอยู่ใกล้ๆเสมอ ร้านอาหารหลายร้านเริ่มทดลองใช้บริการและลูกค้าก็แสดงความสนใจต่อบริการขนส่งแบบใหม่เช่นเดียวกัน
โดยลูกค้าสามารถสั่งงานผ่านแอพของ Yelp Eat24 เหมือนปกติทั่วไป หลังจากนั้นจะมีออพชั่นขึ้นมาถามว่า “โอเคไหมถ้าใช้หุ่นยนต์จัดส่ง?” ถ้าลูกค้าโอเคก็จะได้ pin code ส่งมาที่โทรศัพท์เพื่อใช้มันปลดล็อคช่องเก็บของหุ่นยนต์ Marble และเมื่อมาถึงหน้าบ้าน หลังจากที่รับของเรียบร้อยแล้วหุ่นยนต์ก็กลับไปที่หน่วยกลางหรือไปรับของต่อได้ทันที โดย Matt Delaney (CEO และ ผู้ก่อตั้ง) บอกว่าตอนนี้บริษัทเริ่มต้นจากการขนส่งอาหาร แต่คิดว่าหุ่นยนต์ของเราจะมีประโยชน์ในทุกอย่าง ตั้งแต่อาหารสดจากตลาด ยาจากร้านขายยา และพัสดุเอกสารในระยะยาว เพราะมันถูกดีไซน์ให้เหมาะกับชุมชนเมืองตั้งแต่แรก
Marble ใช้เทคโนโลยี Lidar (การใช้งานร่วมกันระหว่างกล้องและเซนเซอร์คลื่นความถี่เสียง) และ Nvidia’s Jetson TX1 AI supercomputers เพื่อให้ Marble นั้นรู้ว่ามีอะไรบ้างอยู่รอบๆ ตัว ทำงานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยใช้กล้องแบบสามมิติสำหรับเดินบนทางเท้า ส่วนด้านหลังของ Marble นั้นต่อไปจะใช้สำหรับเครื่องทำความเย็น/ความร้อนสำหรับรักษาคุณภาพและอุณหภูมิของอาหาร ในตอนนี้ยังเป็นการขนส่งแบบระยะสั้นๆ ประมาณ 1 ไมล์ (1.6 กิโลเมตร) จากร้านอาหารเท่านั้น
การขนส่งของหุ่นยนต์บนพื้นดินแบบนี้อาจดูธรรมดาถ้าเปรียบเทียบกับโดรนขนส่งที่กำลังฮือฮาและได้รับเงินลงทุนจำนวนมาก โดยมีตัวเลขคร่าวๆ ประมาณ $450 ล้านดอลล่า โดยในปีที่แล้วนั้นวางเดิมพันไว้กับเทคโนโลยีโดรน มากขึ้นถึง 4 เท่าจากปี 2014 ตามรายงานของ CB Insights แต่เจ้าใหญ่ของโดรนขนส่งก็คือ Amazon เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่ท้าทาย (เข้าขั้นยากและเป็นไปได้น้อย) ที่บริษัทสตาร์ทอัพทั้งหลายจะลงสนามแข่งและเอาชนะได้
แต่การขนส่งด้วยโดรนก็ยังคงมีปัญหาเรื่องทางกฎหมายที่แก้ไม่ตก เพราะอย่างแรกเลยคือมันต้องอยู่ในระยะสายตาของผู้บังคับเสมอ และแน่นอนว่านั้นเป็นเรื่องที่ยากสำหรับการขนส่งไปตามมจุดต่างๆ ในเมือง แถมยังมีเสียงต่อต้านจากประชาชนเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว (โดรนบินผ่านสวนหลังบ้าน) และท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยโดรนส่งของก็ไม่ใช่ภาพที่สวยงามชวนมองอะไรนัก จึงไม่แปลกใจที่ Conrad บอกว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการขนส่งด้วยโดรนสักเท่าไหร่ (ถึงแม้ว่าทาง Lemnos Labs จะเป็นเบื้องหลังการก่อตั้งบริษัท Airware ที่ผลิตโดรนและซอฟแวร์เพื่อตอบสนองความต้องการทางกลุ่มลูกค้าธุรกิจ) เขาถึงขั้นบอกว่า
“การขนส่งด้วยโดรนในเมืองนั้นเป็นเรื่องงี่เง่าที่สุดที่เคยได้ยินมาเลย ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถผ่านขั้นตอนของกฎหมายความปลอดภัย ซึ่งมันไม่น่าผ่าน ไอเดียของการมีโดรนเป็นหมื่นๆ ตัวลอยอยู่บนฟ้าเป็นเรื่องที่บ้าบอ”
แต่นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าการขนส่งบนพื้นดินจะเป็นเรื่องง่ายซะทั้งหมด แน่นอนว่ามันยังต้องมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาพัวพันเกี่ยวข้อง แม้ว่ามันจะดูปลอดภัยกว่า (เมื่อเทียบกับโดรนที่สามารถหล่นมาบนหัว) แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นดีเห็นงามด้วยแน่นอน ถึงแม้ว่าซานฟรานซิสโกจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่พร้อมโอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สำหรับ Marble (และบริษัทขนส่งด้วยหุ่นยนต์) ดูเหมือนว่าหนทางข้างหน้าจะขรุขระกว่าเดิมอย่างแน่นอน เพราะตามกฎหมายใหม่ที่เข้มงวดเพิ่งออกมาบังคับให้ลดจำนวนหุ่นยนต์เดลิเวอรี่เหลือสามตัวต่อหนึ่งบริษัท และเก้าตัวทั่วทั้งเมือง จำกัดพื้นที่ขนส่งที่มีทางเดินเท้ากว้างกว่า 6 ฟุต และสุดท้ายต้องมีมนุษย์คอยเป็นพี่เลี้ยงบังคับด้วยเท่านั้น
Norman Yee ผู้ปรึกษาของเมืองซานฟรานซิสโกบอกว่า “ไม่ใช่นวัตกรรมจะดีต่อสังคมเสมอไป ถ้าเราไม่ให้คุณค่ากับสังคม ไม่เห็นความสำคัญของการเดินบนทางเท้าแล้วมีโอกาสโดนหุ่นยนต์ชน มันจึงเป็นคำถามว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น”
มันเป็นสิ่งที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นอย่าง Washington DC, Virginia, Idaho และ Redwood City ที่กำลังพยายามทำให้การขนส่งด้วยหุ่นยนต์นั้นถูกกฎหมาย ในปีที่ผ่านมาหุ่นยนต์ได้ค่อยๆ แฝงตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บนทางเท้าของเมืองซานฟรานซิสโก ทั้งของ Marble และ Starship ที่ทำงานกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อนำอาหารอุ่นๆ มาส่งที่หน้าบ้าน จริงอยู่ว่ามันสามารถลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนนและค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาว
แต่ขณะเดียวกันก็ไปกินพื้นที่ทางเท้าสำหรับที่ถูกสร้างไว้เพื่ออำนวยความสะดวกกับคนที่จำเป็นต้องใช้มากกว่า อย่างแม่ลูกอ่อนที่มาพร้อมรถเข็นเด็ก ผู้พิการที่ใช้รถเข็น ผู้พิการทางสายตา คนสูงอายุ และแน่นอนว่ารวมไปถึงคนธรรมดาทั่วไป การอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มคนเพียงหยิบมือกลายเป็นสร้างปัญหาให้สังคมในวงกว้างแบบไม่รู้ตัว บางความเห็นของกลุ่มผู้ต่อต้านบอกว่า “คุณไม่ต้องใช้หุ่นยนต์เพื่อไปซื้อแซนวิชหรอก ถ้าอยากกินมากขนาดนั้นก็ลงไปซื้อเองก็ได้” “ทางเท้าถูกสร้างเพื่อเดิน ไม่ใช่สนามเด็กเล่นสำหรับหุ่นยนต์บังคับที่ใช้สำหรับหาเงินและแย่งงานของเราไป”
แน่นอนว่ามีอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นดีเห็นงามกับการขนส่งด้วยหุ่นยนต์ อย่างเจ้าของร้านอาหาร บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดแวร์ต่างๆ โดยดึงประเด็นเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างงานใหม่ๆ (อย่าลืมว่าหุ่นยนต์ต้องมีคนคอยบังคับด้วยเสมอ) โอกาสในการช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นเช่นการขนส่งยาสู่บ้านของคนป่วยที่ไม่สะดวกเดินทาง มาช่วยสนับสนุนในการโต้แย้งครั้งนี้ด้วย
หุ่นยนต์เดลิเวอรี่บนพื้นดินนั้นกำลังเปิดประตูสู่โลกธุรกิจใหม่ แน่นอนว่าการขนส่งแบบดั้งเดิมยังคงจำเป็นและหุ่นยนต์ไม่มีทางทดแทนได้ (อย่างน้อยๆ ก็ใน 5-10 ปีข้างหน้า) แม้ว่าอาจจะเป็นเพียงส่วนน้อยของธุรกิจขนส่งแบบ On-Demand แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของเทคโนโลยีที่ถูกดีไซน์มาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคนี้อย่างแท้จริง อาจจะยังไม่ใช่ปีสองปีนี้ที่เราจะเห็นหุ่นยนต์ขนส่งของชนกันบนท้องถนน (ซึ่งก็เหมือนกับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับนั้นแหละ) แต่อีกสิบปีต่อจากนี้มันคงเป็นเรื่องธรรมดาที่นั่งอยู่บ้านแล้วสั่ง Alexa ให้เตรียมสั่งออเดอร์อาหารไว้ล่วงหน้าเป็นอาทิตย์เพื่อจะได้มีเวลาตามซีรีส์บน Netflix ให้ทัน