จากแต่ก่อนที่มีระบบเกณฑ์ไพร่ไปรบอย่างหละหลวมและไร้ประสิทธิภาพ มาสู่การตั้งหน่วยงานทหารแบบตะวันตก เกิดกรมยุทธนาธิการตั้งแต่ปี 2430 ในช่วงที่สยามค่อยๆ กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ ที่มีการปักปันเขตแดนวาดเส้นประเทศชัดเจน พัฒนาเรื่อยมาพร้อมกับการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน จนเป็นกระทรวงกลาโหม กองทัพจึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นองค์กรสมัยใหม่ในสมัยนั้น ในช่วงที่ประเทศถูกหมุดหมายให้เป็น ‘สยามใหม่’ [1] ขณะเดียวกันกองทัพก็ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ของผู้ชายและ ‘ความเป็นชาย’ ด้วยความเชื่อว่าผู้ชายไทยทุกคนต้องเป็นทหาร มีหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ[2]
“ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร และทหารคือประชาชน ในยามสงบคนเหล่านั้นต่างทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเอง…ต่อเมื่อเกิดสงคราม ชายฉกรรจ์จะถูกเรียกเกณฑ์เข้าประจำหมวดหมู่กรมกอง…”[3]
ในฐานะพื้นที่ของผู้ชายและ ‘ความเป็นชาย’ บรรยากาศสิ่งแวดล้อมจึงต่างขับเน้นถึงอุดมการณ์ ‘ลูกผู้ชาย’ และความมาดแมน’ เข้มข้นกว่าพื้นที่อื่นๆ เริ่มตั้งแต่สถาบันการศึกษาแรกเริ่มหรือศูนย์รวมเบื้องต้นอย่าง ‘โรงเรียนเตรียมทหาร’ ที่สถาปนาตั้งแต่ปี 2501 ทำหน้าที่เตรียมทรัพยากร ผลิตนักเรียนที่จบเพื่อป้อนเข้าสู่สถาบันการศึกษาตำรวจทหารให้ไปฝึกหัดต่ออีกทอดหนึ่ง ก็ถูกเรียกว่า ‘โรงเรียนลูกผู้ชาย’[4] มีบทเพลงเห่กล่อมที่ยกย่องให้โรงเรียนนี้เป็น “…แดนของชายชาตรี สมที่กำเนิดเกิดกาล” นักเรียนโรงเรียนนี้เล่าเรียน “วิชาชาตรี” มี “ใจและกายชายชาญ” มี “ชีวิตวิญญาณชายชาญหาญกล้า”
คำว่า ‘ลูกผู้ชาย’ มีคุณลักษณะเข้มข้นกว่า ‘ความเป็นชาย’ ในพจนานุกรมฉบับมติชน อธิบายว่า “น. ลักษณะของผู้ชายที่ตรงไปตรงมา กล้าหาญ มีความรับผิดชอบ จิตใจเข้มแข็ง”[5]
เพราะใน ‘ความเป็นชาย’ เอง มันก็มีการจัดลำดับช่วงชั้นตามแนวคิดทฤษฎีของนักวิชาการด้านสังคมวิทยาชาวออสเตรเลีย Robert William Connell ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Raewyn Connell ที่พวกทหารตำรวจโดยเฉพาะที่มีชั้นยศสูงๆ อยู่ในกลุ่ม ‘ความเป็นชาย’ แบบ ‘เจ้าโลก’ หรือ hegemonic masculinity เพราะเป็นพวกที่ทรงอิทธิพลต่อพื้นที่ในบริบทนั้นๆ หรืออย่างน้อยที่สุด มีอำนาจอออกคำสั่งหรือลงโทษใครก็ได้ในพื้นที่ ขณะที่ ‘ความเป็นชาย’ รองลงมา คือ subordinate masculinity ก็เป็นพวกผู้ชายที่ ขี้โรค อ่อนแอ ปวกเปียก บอบบาง ถูกมองว่ามี ‘ความเป็นลูกผู้ชาย’ น้อยกว่า มี ‘ความเป็นหญิง’ มากกว่า ในสำนึกที่ว่า ‘ความเป็นหญิง’ มีคุณค่าต่อกว่า ‘ความเป็นชาย’ [6]
มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจหากจะมีผู้ชายสักคนจากสถาบันบ่มเพาะ hegemonic masculinity นี้ เที่ยวไปชี้หน้าคนนั้นคนนี้ที่ไม่ได้หรือไม่สามารถร่วมสถาบันตนเองได้อีกต่อไปว่าเป็น ‘ชนชั้นล่าง’ ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ ‘ก๋องแก๋ง’ หรือประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าตนเองแข็งแกร่งกว่า เคยโดนซ่อมจนสลบ แต่ไม่ตาย[7] เพื่อจะยกตนเองให้สูงกว่า อึดกว่า อดทนทายาดกว่า
ขณะเดียวกันก็เป็นการปัดสวะ ในกรณีที่สมาชิกร่วมสถาบันตายลงระหว่างการฝึกซ้อมหรือโดนทารุณกรรม โทษให้เป็นความอ่อนแอทางร่างกายในระดับปัจเจกเอง
เพราะสำนึก ‘ลูกผู้ชาย’ ที่อิงกับการปกป้องประเทศชาติ ความแข็งแรงถูกยกให้มีความสำคัญ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ผู้ที่อ่อนแอเปราะบางถูกตีตราว่าไม่มีประโยชน์ในการสงคราม ทว่าการที่รุ่นพี่หรือครูฝึกออกคำสั่งใช้แรงงานตามอำเภอใจหรือ ‘ธำรงวินัย’ จนข้อมือหัก เข่าแตก แขนหลุด อ้วก สลบ[8] ก็ไม่ได้นำไปสู่ความแข็งแรง หากแต่เป็นทารุณกรรม การทำให้บาดเจ็บและสำเร็จความใคร่ทางอำนาจอย่างกักขฬะป่าเถื่อนของผู้มีสถานะเหนือกว่า ในโครงสร้างองค์กรที่ไม่ให้คุณค่าคนเท่ากัน
และที่ร้ายไปกว่านั้น ผู้ที่คุ้นชินกับพฤติกรรมและโครงสร้างเช่นนี้ ก็มักจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า กรณีที่มีคนตายจากการซ่อมหรือ ‘ธำรงวินัย’ เป็นเรื่องปรกติ ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้น[9]
งาช้างไม่งอกออกจากปากหมาฉันใด ความแข็งแรงย่อมไม่เกิดจากการทำร้ายรังแกซึ่งกันและกันฉันนั้น การออกกำลังบริหารร่างกายและกีฬาต่างหากที่เป็นเครื่องมือในการฝึกหัดหนุ่มๆ ให้มีร่างกายแข็งแรงบึกบึนพอที่จะปกป้องชาติได้
ทั้งยังเป็นกระบวนการสร้างความมานะบากบั่น ปลุกใจให้ว่าที่นักรบมุ่งมั่นแน่วแน่ในความสำเร็จและกระหายชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่เล่นเป็นทีม ไม่เพียงกระตุ้นความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ต่อสู้เพื่อพวกพ้องเพื่อนฝูงอันเป็นกลไกลในการสร้างนักรบของชาติ เพราะการแข่งขันกีฬาในตัวของมันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสงคราม
ทั้งร่างกายแข็งแรง สามัคคี รักพวกพ้อง และกระหายชัยชนะล้วนเป็นคุณสมบัติลูกผู้ชายที่เชื่อมโยงกับความรักชาติที่สถาบันทหารตำรวจมักกล่าวอ้างกัน และหยิบมาเป็นปณิธาน เอกลักษณ์ขององค์กร
เนื่องจากหนุ่มๆ กลุ่มนี้ถูกผลิตเพื่อ ยอมสละชีวิต ยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง ออกไปเสี่ยงตายเพื่อพิทักษ์ชาติ ไม่ว่าจะด้วยอาสาต่อสู้กับข้าศึก ปราบปรามผู้ร้ายอย่างหาญกล้า ระงับทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน หรือกำจัดศัตรูของชาติ (ไม่ใช่กำจัดกันเอง) รักษาประเทศชาติให้มีอธิปไตย ตามที่ปฏิญาณตนไว้แล้ว
การให้สัตย์ปฏิญาณตนถือเป็นกิจวัตร ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญของทั้งพลทหาร ทหารอาชีพ นักเรียนเตรียมทหาร และตำรวจ ในสถาบันลูกผู้ชาย เพราะในฐานะทรัพยากรของรัฐและเครื่องมือกลไกที่รัฐผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพที่เป็นกองกำลังติดและใช้อาวุธได้รับสิทธิโดยตรงและชอบธรรม ในฐานะเครื่องมือของรัฐสำหรับใช้ความรุนแรงต่อสู้กับศัตรูของรัฐ[10] การให้สบถสาบานตนจะช่วยประกันความมั่นใจให้รัฐสบายใจได้ว่าจะไม่ถูกทรยศหักหลัง หรือพูดง่ายๆก็คือ ‘เลี้ยงไม่เสียข้าวสุก’
และการกล้าเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เผชิญภยันอันตรายในสมรภูมิก็เป็นบทพิสูจน์ว่าลูกผู้ชายผู้นั้นรักษาสัจจะตามที่ได้ลั่นไว้
ดังนั้น หัวใจของความเป็นลูกผู้ชายอีกประการนึงก็คือ รักษาสัตย์ ปฎิบัติตามคำมั่นสัญญา ขณะเดียวกัน การพูดความจริงก็แสดงถึงความกล้าอย่างหนึ่ง
อย่างน้อยที่สุดก็กล้าพอที่จะเผชิญหน้ายอมรับความเป็นจริง ถ้าหากไม่สามารถเผชิญหน้ากับความจริงได้ ก็อย่าไปหวังอะไรกับกล้าการออกไปรบพุ่ง ปราบปรามผู้ร้ายศัตรู หรือปกป้องอะไรใครได้
การไม่พูดความจริง ตอหลดตอแหล แถไปวันๆ จึงไม่ใช่คุณสมบัติของลูกผู้ชายที่ชาติต้องการ และเป็ผลผลิตที่ผิดพลาดของสถาบันนั้น
การโกหกพกลมของตัวแทนหรือผลผลิตสถาบันนี้จึงยิ่งชวนให้สงสัยถึงความหมาย ‘ลูกผู้ชาย’ ของสถาบันลูกผู้ชาย นี่ไม่ต้องไปไกลถึงตั้งคำถามว่า ในโลกที่ทุกเพศไม่ว่าเพศสรีระและเพศสถานะควรมีคุณค่าศักดิ์ศรีเสมอกัน ‘ความเป็นลูกผู้ชาย’ ควรได้รับการยกย่อง ให้ค่าสูงส่งกว่าเพศอื่นหรือไม่? ควรมีการให้เกียรติเพศใดหรืออาชีพใดมากกว่ากันหรือไม่?
ลำพังแค่ถามว่า การที่มีคนเสียชีวิตจากสำเร็จโทษที่เรียกว่า ‘ซ่อม’ ภายในสถาบันลูกผู้ชายอย่างสม่ำเสมอนี่ ถือว่าเป็นความผุพังของสถาบันที่ควรถูก ‘ซ่อม’ ด้วยหรือไม่? ก็พิพักพิพ่วนพูดกลับไปกลับมา ไม่กล้าหาญแอ่นอกออกมายอมรับความจริงหรือยอมรับผิด ซ้ำยังโบ้ยผู้ตายว่าเจ็บไข้ได้ป่วยเอง ยังไม่เป็นลูกผู้ชายพอ
แต่ที่ร้ายกว่า คือการธำรงวัฒนธรรมความรุนแรงทารุณกรรมในนาม ‘ธำรงวินัย’ ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของสถาบันลูกผู้ชาย และเมื่อมีคนนอกพยายามอธิบายชี้แจงว่านั่นไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง และพยายามเรียกร้องความยุติธรรม ก็ปรี่ออกมายืดอกปกป้อง กีดกัน แก้ตัวแทน[11] ยิ่งทำให้สถาบันลูกผู้ชายแห่งชาติดูมืดมนอนธการ จนราวกับว่าไม่มี ‘คบเพลิง’ ในพื้นที่นั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, พล. ต. หญิง สมเด็จพระ. (2535). โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่ในช่วง พ.ศ. 2430-2475, การจัดการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง หนึ่งศตวรรษ สยามใหม่กับเส้นทางสู่อนาคต จัดโดยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและสมาคมประวัติศาสตร์ ฯ วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2535, น. 1-11. ; อัญชลี สุสายัณห์. (2552). ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, น. 277 – 289, 305– 309.
[2]กองทัพบก. (2528). กองทัพบกช่วยเหลือประชาชน. กรุงเทพ: กองทัพบก.
[3] กองบัญชาการทหารสูงสุด. (2543). คู่มือนายทหารสัญญาบัตร. กรุงเทพ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, น. 13.
[4] ศศิพิมพ์ จิรศักดิ์. (2549). โรงเรียนลูกผู้ชาย. กรุงเทพฯ : เบรน อินฟินิตี้.
[5] มติชน. (2547). พจนานุกรมฉบับมติชน. กรุงเทพฯ : มติชน, น. 781.
[6] Connell, Robert William. (1995). Masculinities. Berkeley : University of California Press, pp. 76-81.
[7] มติชนออนไลน์. ‘ประวิตร’ ลั่นเรียน ตท.ต้องพร้อมโดน ซ่อม- ธำรงวินัย ยันเหตุ ‘น้องเมย’ เสียชีวิตไม่ได้ถูกซ่อม(คลิป). วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560. www.matichon.co.th
[8] ข่าวสด. ให้ลูกผมตายแทนมั้ย! พ่อหนึ่งในนักเรียนเตรียมทหารโพสต์ถาม #หยุดด่ากันได้แล้ว. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560. www.khaosod.co.th
[9] คม ลัด ลึก. “จักรทิพย์”เผย“น้องเมย”ตายในรั้วร.ร.เตรียมทหารเรื่องปกติ. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2560. www.komchadluek.net
[10]Huntington, Samuel P. (1957). The Soldier and the State, the theory and Politics of Civil-Military Relations. New york: Vintage Books, p. 11.
[11] จาม ดอท คอม .ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย นตท.พากันออกมาโพสต์นั้นมีเงื่อนงำ! เพราะจับสังเกตจุดนี้ได้!!. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560. social.jarm.com