สัปดาห์ที่ผ่านมา หน้าฟีดเฟซบุ๊กของผมเห็นข่าวข่าวหนึ่งวนไปวนมาหลายต่อหลายรอบ นั่นคือข่าวชายชาวญี่ปุ่นจัดงานแต่งงานกับ Hatsune Miku ตัวละครจากซอฟต์แวร์ Vocaloid ซึ่งเวอร์ชั่นที่เขาแต่งงานด้วยก็คือ เวอร์ชั่นที่เป็นโฮโลแกรมแบบมีไว้เป็นเพื่อนในบ้าน คอยทักทาย เหมือนเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ smart home ก็ว่าได้ แต่ในงานแต่งเขาก็แทนตัวเธอด้วยตุ๊กตาที่เขาสวมแหวนให้ที่ข้อมือ
เห็นข่าวนี้วนในฟีดบ่อยๆ ก็เกิดความรู้สึกว่า “ยังตกใจอีกเหรอ?”
ที่คิดแบบนี้เพราะว่าจะหมดปี 2018 แล้ว เราเจออะไรแบบนี้มานับไม่รู้กี่ครั้ง หลายครั้งมันไปไกลยิ่งกว่าความสัมพันธ์แบบ LGBTQ เพราะมีทั้งแต่งงานกับตัวเอง แต่งงานกับวัตถุต่างๆ ไปจนกระทั่งแต่งงานกับผี ส่วนนึงก็เลยรู้สึกงงๆ ว่า ทำไมข่าวนี้ต้องเป็นข่าวใหญ่ แต่เมื่อมามองดูอีกที สำหรับหลายต่อหลายคน มันอาจจะเป็นข่าวที่ดู ‘เรียล’ ที่สุด เพราะว่าสิ่งที่เขาเลือกแต่งงานด้วยคือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ผสมกับตัวละครที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ แถมยังเป็นตัวละครฮิต มันจึงมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่านี่อาจจะเป็นอนาคตของเราก็ได้
ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ไม่ได้ใหม่ซะทีเดียว เพราะในปี 2009 ก็มีชายชาวญี่ปุ่นแต่งงานกับตัวละครจากเกม LovePlus หนึ่งในเกมจีบสาวชื่อดังจากระบบ Nintendo DS ซึ่งตอนนั้นก็เป็นข่าวใหญ่เอาเรื่อง เพราะมีการจัดงานแต่งงานกันแบบจริงจังไม่ต่างจากครั้งนี้ ซึ่งก็ถือว่าแหวกแนวสำหรับช่วงเวลาเกือบ 10 ปีก่อนด้วย เพราะว่าเราถึงจุดที่จัดงานแต่งงานเพื่อประกาศว่าเอาซอฟต์แวร์และตัวละครสมมติมาเป็นคู่สมรสอย่างจริงจังแล้ว—กลายเป็นรูปแบบใหม่ๆ ของความรักไป
แต่ก็พอเข้าใจได้นะครับว่าทำไมเขาอยากแต่งงาน เพราะว่าเกม LovePlus เนี่ย ระบบมันโหดเอาเรื่อง จากที่ผมเป็นหนึ่งในคนที่เล่นเกมนี้ (และติดงอมแงมไปช่วงหนึ่ง เพราะตัวละครเนเนะจังน่ารักเหลือเกินครับ ฮือๆ) คือเกมจีบสาวอื่นๆ เนี่ย ปกติมันก็แค่ให้เราเล่นในส่วนของการจีบสาวนั่นล่ะครับ—สมกับชื่อเกม—คือสาวๆ มาหลายคนก็ต้องสานสัมพันธ์ไป จีบติดก็ชนะ แต่ว่า LovePlus ไปไกลกว่านั้นคือ จีบติดเป็นแฟนกันแล้วก็ยังมีให้เล่นต่อ คอยประคองความรักครั้งนี้ให้ดำเนินต่อไปให้ได้ ไม่ว่าจะพาไปเที่ยว นัดเดท พยายามคุยกัน ที่สำคัญคือ ระบบที่ตัวเกมเลือกใช้ก็เรียลเข้าไปอีกเพราะยึดเวลาโลกจริง นัดเจอกันบ่ายสองวันอาทิตย์ ก็ต้องเปิดเครื่องมาเล่นเกมตอนบ่ายสองวันอาทิตย์ ไม่อย่างนั้นก็จะถือว่าเราพลาดนัดได้ เรียกได้ว่ากลายเป็นความสัมพันธ์จริงจังเลย แถมหลังจากนั้นยังออกภาคต่อมาที่เราสามารถพาตัวละครไปเที่ยวที่ต่างๆ มาพร้อมระบบ AR ที่ถ้าเราปรินต์โค้ดไว้ก่อน แล้วพอเอากล้องของเครื่อง DS ไปส่องในสถานที่กำหนดไว้ก็จะทำให้ตัวละครโผล่ขึ้นมาในจอให้เราเห็น สามารถยืนถ่ายรูปคู่กับเราได้ แล้วนี่เห็นว่าจะออกเวอร์ชั่นสมาร์ทโฟนอีก ซึ่งแค่คิดว่าพัฒนาการของสมาร์ทโฟนมาไกลขนาดนี้ เกมจะยิ่งสามารถสร้างประสบการณ์ความรักได้สมจริงแค่ไหน เช่น ต้องไปที่สถานที่นัดพบจริงๆ รึเปล่า ฟังดูก็ยิ่งไม่แปลกใจที่จะมีคนหลงรักกับตัวละครสมมติจนไถลไปไกลขนาดนั้นได้
เอาเข้าจริงๆ การที่คนเราหลงใหลกับวัตถุ โดยเฉพาะวัตถุที่มีรูปร่างคล้ายคนนี่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่อะไรเลย เพราะงานเขียนชิ้นแรกที่เกี่ยวกับความรักของคนที่มีต่อวัตถุก็คือเรื่องเรื่อเล่ากรีกโบราณ Pygmalion ที่เวอร์ชั่นดังที่สุดคงเป็นฉบับที่ขับขานโดยกวี Ovid เป็นเรื่องราวของ Pygmalion ช่างปั้นหนุ่มผู้หลงรักผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้น ถ้าจะเทียบแล้วก็คงใกล้เคียงเหมือนกัน เพราะถึงตัวละครในเกมจีบสาวจะเป็นตัวละครที่บริษัทสร้างขึ้น ยิ่งเล่นเกมต่อก็มีโอกาสสูงมากที่ตัวละครจะเป็นไปตามความต้องการของเรา จะมองว่าเราเป็นผู้สร้างคาแรคเตอร์ให้กับตัวละครก็คงว่าได้
ไม่ใช่เพียงแค่ตัวละครในเกมเท่านั้นที่กลายมาเป็นคนรักคนใหม่ของผู้คนในญี่ปุ่น แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ love dolls หรือตุ๊กตาที่สมจริงราวกับเป็นคนจริงๆ และแน่นอนว่ามี ‘ส่วน’ ที่พร้อมไว้ให้เจ้าของได้ ‘ปลดปล่อย’ ที่เรียกแบบนี้เพราะว่ามันเป็นซับเซตของ sex dolls เป็นงานเกรดสูง วัสดุคุณภาพดีที่ทำจากซิลิโคนหรือยางลาเท็กซ์ แน่นอนว่าราคาเองก็แพงหลายแสนเยนตามคุณภาพของ แต่ถึงแม้ว่าจะราคาแพงขนาดนี้แล้ว ในญี่ปุ่นก็ยังขายได้ถึงปีละประมาณ 2,000 ตัวเลยทีเดียว
ถ้าลองไล่หาบล็อกของชาวญี่ปุ่นที่เล่าประสบการณ์การอยู่กับ love dolls เหล่านี้ก็หาได้ไม่ยากนัก แต่น้อยนักที่จะเปิดเผยหน้าตาตัวเอง มีบ้างที่เปิดเผยซะจนเป็นคนดังของวงการ เช่นคุณ Ozaki Masayuki ที่แม้จะแต่งงานและมีลูกแล้ว แต่พอความสัมพันธ์จืดจางกลายเป็นคู่สามีภรรยา sexless เขาก็ไม่รู้จะทำยังไง จนบังเอิญไปเจอโฆษณา love dolls แล้วติดใจซื้อเข้าบ้านหลังจากไปดูของจริง เล่นเอาคนในบ้านตกใจและทะเลาะกันยกใหญ่ แต่ไปๆ มาๆ ก็ยอมรับได้ จนเวลานอนก็นอนกันสามคนคือ คุณ Ozaki ภรรยา และ love dolls (ที่ชื่อ Mayu) ส่วนลูกสาวก็อาย แต่ก็แอบดีใจเพราะได้เสื้อผ้าฟรีที่พ่อซื้อมาให้ Mayu ใส่จนพอใจแล้วก็ยกให้ กลายเป็นมิติใหม่ของครอบครัว หรือในกรณีของคุณ Nakjima Senji ก็คล้ายกันคือ มีภรรยาและลูกแล้ว แต่ก็ไปซื้อ love dolls มา ลูกชายรับได้ ลูกสาวไม่ยอม ส่วนภรรยาก็รับไม่ไหว เลยต้องแยกกันอยู่ แต่ก็มีช่วยดูแลบ้าง เหมือนกับยังมีสายสัมพันธ์กันอยู่ แต่ก็นั่นละครับ คุณ Nakajima ก็เลือก love dolls มากกว่าเมีย
แค่ยอดขายของ love dolls ก็ถือว่าเยอะทีเดียว แต่จริงๆ แล้ว บริษัท Gatebox ผู้ผลิตระบบโฮโลแกรมที่ใช้กับ Hatsune Miku ตามครัวเรือนก็ได้ออกใบรับรองการแต่งงานให้กับลูกค้าถึง 3,700 ใบแล้ว แต่เพิ่งมีคุณ Kondo Akihiko ในข่าวนี่ละครับที่จัดงานแต่งงานเป็นทางการ โดยเป้าหมายคือเพื่อกระตุ้นให้คนที่ชอบอะไรแบบเดียวกันกล้าเปิดเผยตัวมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ชวนให้คิดว่าคนญี่ปุ่นที่หันหลังให้กับความสัมพันธ์กับคนจริงๆ จะมีเยอะแค่ไหน และทำไมถึงได้มีเยอะขนาดนี้
ถ้ามองแบบรวมๆ ส่วนหนี่งก็น่าจะมาจากความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ทำให้ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้ในการมีครอบครัว โดยเฉพาะหลายกรณีที่ยังติดอยู่กับค่านิยมเดิมคือ ฝ่ายชายเท่านั้นที่ออกบ้านไปทำงานหาเงิน ส่วนภรรยามีหน้าที่อยู่ทำงานบ้านและบริหารครอบครัว จนหลายคนก็เริ่มเบื่อที่จะต้องพยายามเพื่อสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อไปดูสัมภาษณ์ของหลายๆ คนที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มักจะพบว่า หลายคนมองว่า เพราะฝ่ายตรงข้าม—ไม่ว่าจะเป็น Love Dolls หรือโปรแกรมเลียนแบบคนเหล่านี้—ตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างครบครัน สามารถพูดคุยได้ และรับฟังพวกเขา แน่นอนครับว่ากับตุ๊กตาก็เป็นการพูดคุยทางเดียว แต่ที่สำคัญคือ พวกเธอฟังพวกเขาและไม่พูดขัด นอกจากนั้นพวกเธอไม่แก่ ไม่ตาย และไม่มีทางนอกใจด้วย เรียกได้ว่าเงื่อนไขครบสำหรับพวกเขาจริงๆ กลายเป็นความรักที่มาจากการได้ทำตามใจของตัวเองเต็มที่ ไม่ต้องมาคอยห่วงหรือกลัวว่าจะต้องปวดหัวกับการต้องทำให้คนอื่นมีความสุขและตัวเองมีความสุขไปพร้อมๆ กัน และดูเหมือนว่าหลายคนที่หันมาทางนี้ก็เพราะว่าเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับเพศตรงข้ามมาก่อน
มองในแง่ปัจเจกบุคคลก็คงไม่มีปัญหาอะไรหรอกครับ ใครอยากทำอะไรก็ทำไปถ้าไม่ได้ไปเบียดเบียนชาวบ้าน แต่สำหรับการบริหารรัฐแล้วก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถึงแม้คนเหล่านี้เขาจะจับจ่ายใช้สอยไม่น้อย สร้างเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจได้ แต่ก็ยังคงมีปัญหาตามมา เพราะนับวันยิ่งประชากรหมดแรงจูงใจที่จะแต่งงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาประชากรลดลงก็จะยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของรัฐบาลอยู่ดี และไอ้การจะดึงคนเหล่านี้ให้กลับมาสนใจคบกับคนจริงๆ ก็เป็นเรื่องยากเอาเรื่อง มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบกระตุ้นให้คนมีลูกด้วยการออกสิทธิพิเศษต่างๆ มาดึงดูดใจ
ตอนนี้อาจจะยังไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าในภายภาคหน้า เรามีแอนดรอยด์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเราได้โดยสมบูรณ์แบบในซีรีส์ Westworld แล้วละก็ เมื่อนั้นก็คงต้องมาขบคิดปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกแน่นอน …สิ่งที่เราเห็นจากข่าวญี่ปุ่นในตอนนี้ก็ยังเป็นแค่ภาพจำลองของสังคมในโลกอนาคตเท่านั้นเองครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก