เชื่อว่า ณ ตอนนี้คงมีน้อยคนที่ไม่รู้จัก #MeToo โดยเฉพาะคนที่ติดตามวงการบันเทิง เพราะย้อนกลับไปราวๆ เดือนตุลาคมปีที่แล้ว คงไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความเผ็ดร้อนของประเด็นอื้อฉาวที่ Harvey Weinstein โปรดิวเซอร์หนังชื่อดัง ถูกเปิดโปงพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศต่อดาราสาว และพนักงานในบริษัทของเขาอีกหลายคน
หลังจากนั้นไม่นาน #MeToo ได้กลายเป็นกระแสโด่งดัง และกระจายไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต ผู้หญิงจำนวนมากเริ่มเปิดเผยและแบ่งปันเรื่องราวการถูกล่วงละเมิดทางเพศที่เคยพบเจอในชีวิต พร้อมทั้งติดแฮชแท็ก #MeToo เพื่อที่เรื่องราวเหล่านั้นจะได้ร้อยถักเป็นหลักฐานยืนยันความโหดร้ายของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่หากพิจารณาจากแค่พื้นผิว บางสายตาก็อาจเห็นเป็นความปกติ ไม่ผิดแปลกอะไร แต่ลึกลงไปภายใต้พื้นที่ปิดซ่อน เป็นส่วนตัว หรือกระทั่งพื้นที่สาธารณะ ผู้หญิงจำนวนมากกลับถูกกดขี่อย่างซ้ำๆ ราวกับเป็นเรื่องปกติของชีวิตประจำวัน (จริงอยู่ว่า #MeToo เป็นที่รู้จักจากกรณีของ Weinstein แต่ถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว #MeToo เกิดขึ้นสิบกว่าปีมาแล้วในฐานะแคมเปญของ Tarana Burke นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและสังคมชาวอเมริกัน เพื่อช่วยเหลือและเยียวยาผู้หญิงผิวสีจากการล่วงละเมิดทางเพศต่างหากครับ)
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน (8 มี.ค. ของทุกปี) ผมเลยถือโอกาสหยิบหนังสือที่ชื่อ Where Freedom Starts: Sex Power Violence #MeToo หนังสือรวมบทความเล่มบางๆ ว่าด้วยอำนาจและการกดขี่ทางเพศที่ผู้หญิงต้องเผชิญ บ้างเป็นบทความเก่าแต่ยังเชื่อมโยงกับ #MeToo และบรรยากาศของปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่บ้างก็ถูกเขียนขึ้นสดๆ ร้อนๆ เพื่อแสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ รวมทั้งยังมีบทสัมภาษณ์ต่างๆ ของเฟมินิสต์ และนักวิชาการ ที่สะท้อนความคิดความอ่านต่อกระแสคลื่นแห่ง #MeToo
Where Freedom Starts เริ่มจากการชี้ให้เราเห็นว่าบทสนทนาเรื่องการละล่วงเมิดทางเพศเป็นหัวข้อที่ปรากฏอยู่เสมอในบทสนทนาระหว่างผู้หญิง เพียงแต่อาจไม่ถูกเขียนให้อ่านหรือบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นในลักษณะของเสียงกระซิบกระซาบ และการต้องดิ้นรนต่อสู้กับความเป็นจริงที่ว่า ครั้งหนึ่ง หรืออาจนับไม่ถ้วนครั้งในชีวิต ผู้หญิงทุกคนต่างต้องเคยเผชิญหน้ากับการคุกคามทางเพศจากผู้ชายด้วยกันทั้งนั้น
แต่ไหนแต่ไรมา การกดขี่และล่วงละเมิดทางเพศคล้ายจะถูกเก็บงำเป็นความลับ เป็นบาดแผล หรือเป็นปมลึกภายในใจที่คล้ายจะโบยตีผู้หญิงอย่างเฉยชา และบางครั้งที่เรื่องราวเหล่านี้ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาด้วยหวังจะเปิดเผย สังคมกลับเลือกตอบสนองต่อผู้หญิงกลุ่มนั้นด้วยใจรำคาญ ถึงขนาดวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่ป่วยการ เป็นการผลาญเวลาไปอย่างไร้ค่าด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างคือปัญหาในสังคมเราที่ไม่เคยเสื่อมคลายตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้ คือทัศนคติที่ผู้ชายมองว่าร่างกายของผู้หญิงสามารถถือครอง เป็นเจ้าของ และล่วงละเมิดได้
แน่นอนครับ แม้หลายๆ การต่อสู้ในประวัติศาสตร์ของผู้หญิงจะเรียกร้องสิทธิบางประการกลับมาได้ก็จริง แต่ปัญหาของกฎหมายในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นอาวุธใช้คัดง้างกับอำนาจทางเพศของผู้ชาย) คือการที่ตัวกฎหมายเองยังไม่ระแวดระวังมากพอต่อความรุนแรง อันตราย และความน่ารังเกียจที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ เช่นกันที่บ่อยครั้งการคุกคามทางเพศมักถูกบอกเล่าผ่านภาษาแบบคู่ตรงข้าม เช่น ความยินยอม/การข่มขืน เหยื่อ/ผู้กระทำ ผู้ชาย/ผู้หญิง เซ็กซ์/อำนาจ หรือ ได้/ไม่ได้ แต่การย่อยทุกอย่างเป็นเหรียญสองด้านย่อมสร้างปัญหาต่อการถกเถียง ไปจนกระทั่งต่อการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ นั่นเพราะเพศ/การเมือง เสรีภาพ/ความรุนแรง ร่างกาย/แรงปรารถนา ต่างก็ซับซ้อนเกินกว่าจะรับรู้ผ่านการแบ่งคู่ตรงข้ามอย่างง่ายๆ ปราศจากความลึกซึ้งหรือถี่ถ้วนใดๆ ได้
ด้วยเหตุนี้ Where Freedom Starts จึงชี้ให้เห็นความจำเป็นในการผลักดันกฎหมายให้สอดรับกับบริบทที่ลื่นไหลของการกดขี่ทางเพศที่ฝังรากลึก ซึ่งข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต้องมีประสิทธิภาพมากพอที่จะสร้างความหวั่นเกรงจนส่งผลต่อการยับยั้งแรงกำหนัดในตัวผู้กระทำ
แต่แน่นอนครับ ว่ามันย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในการสร้างกฎหมายให้เพียงพอและครอบคลุมทุกพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ที่แบ่งย่อยออกเป็นหลายระดับ อีกทั้งยังมักเกิดขึ้นในพื้นที่ปิดซ่อน มันจึงไม่ใช่ทุกครั้งที่การพิสูจน์ต่อข้อกล่าวหาจะเป็นไปได้
Where Freedom Starts เสนอว่า ในการจะหยุดหรือลดการคุกคามทางเพศในสังคมลงได้นั้น การเปลี่ยนแปลงทางภาคกฎหมายอย่างเดียวไม่ถือว่าเพียงพอ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของสังคมและเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ การให้ผู้หญิงขึ้นสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจ รวมถึงการที่ประชาชนในสังคมร่วมกันสร้างวัฒนธรรมที่เคารพเพศสภาพ และตีตราพฤติกรรมที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศว่าเป็นสิ่งไม่อาจยอมรับได้ของสังคม
หากจะถอนรากถอนโคนการคุกคามทางเพศให้หมดไปจากสังคม ต้องทำให้เหยื่อสามารถกล่าวหาผู้กระทำได้โดยที่รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย ซึ่ง #MeToo ก็เป็นขบวนการหนึ่งที่อาจพาเราไปยังจุดนั้นได้ในสักวัน เพราะเมื่อใดที่เหยื่อรู้สึกได้โดยแท้จริงว่า สามารถลุกขึ้นเปิดโปงการกดขี่ทางเพศ โดยไม่ต้องคอยพะวงต่อสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมา เลือกศรัทธาในความถูกต้องอย่างไม่นึกเกรง ก็คงพอจะเรียกได้ว่าสังคมคืบหน้า แม้จะยังห่างไกลจากปลายทางของความเท่าเทียมอยู่ดี
ถอนสายตาจากบริบทโลก กลับมามองบ้านเรา ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า เรายังห่างไกลจากการเข้าใกล้สังคมแห่งความเท่าเทียมอยู่หลายขุมนัก การผลิตซ้ำมุกตลกที่รังแต่จะกดทับคุณค่าทางเพศ การตอกย้ำวาทกรรมที่คอยแต่จะโทษเหยื่อในคดีข่มขืนว่าไม่ระมัดระวังเองหรือเปล่า หรือแต่งตัวโป๊เปลือยไปหรือเปล่าจนไปยั่วยุผู้กระทำให้เกิดอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการผลิตซ้ำชุดความคิดที่คอยแต่จะสาดสีให้แนวคิดเฟมินิสต์เป็นสิ่งน่ากลัว น่ารังเกียจ เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ดีแต่เรียกร้องและด่าผู้ชายปาวๆ ทั้งที่เฟมินิสต์ไม่ใช่การชี้หน้าหาเรื่องผู้ชายอย่างไร้เหตุผล ไม่ใช่การลดทอนคุณค่าเพศอื่นเพื่อผลประโยชน์ของเพศตัวเองเท่านั้น แต่คือการทวงคืนความยุติธรรมและความเท่าเทียมที่ถูกอำนาจของเพศชายริบไปตั้งแต่อดีต คือการคัดง้างและท้าทายต่อชุดความคิดที่เชิดชูความเป็นชายมาตั้งแต่โบราณกาล คือการตั้งคำถามและสั่นสะเทือนสถานภาพเดิม (status quo) ในสังคมต่างหาก ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับขบวนการเฟมินิสต์
เป็นเรื่องแปลกนะครับ ที่ในวันสตรีสากลที่ผ่านมา ขณะที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกเฉลิมฉลองต่อการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในประวัติศาสตร์อย่างใหญ่โต แต่กับสังคมบ้านเราที่แม้จะมีการเอ่ยถึงจากสำนักข่าวต่างๆ อยู่บ้าง หากก็ดูไม่ได้เน้นย้ำว่าสำคัญนัก เมื่อเทียบกับกระแสโลก
ขนาดวันสตรีสากลยังเงียบเชียบถึงเพียงนี้ ก็คงไม่ต้องนึกเลยนะครับว่ากับการตระหนักถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยเราจะเงียบสงัดขนาดไหน