ไม่ทันที่กระแสคุณครูคนดีสั่งให้นักเรียน ‘หมอบกราบ’ ลงแทบเท้า ที่หน้าเสาธง (และสายตาพี่น้องพ้องเพื่อนอีกทั้งโรงเรียน) จะซาลง กระแสดราม่ากรณีคุณแอร์โฮสเตส ในเครื่องแบบชุดสีแดงที่ต้องก้มกราบขอขมามนุษย์ป้าโปรไฟล์ดี ทั้งน้ำตาถึงสามครั้งสามครา (จำนวนเท่ากับกราบพระพุทธรูปเลยนะครับ แหม่) นางนั้นก็เข้ามาจับจองพื้นที่ความสนใจของใครต่อใครแบบความวัวไม่ทันจะหาย ความควายก็ทะลึ่งพรวดเสียบเข้ามาจนมิดด้ามแล้ว เรียกได้ว่า สังคมไทยเป็น ‘สังคมแห่งการกราบไหว้’ แบบไม่มีอะไรจะต้องเถียง
และในสังคมแห่งการ ‘กราบไหว้’ ก็ย่อมเต็มไปด้วย ‘ช่วงชั้น’ ทางสังคมอยู่เสมอนะครับ ยิ่งการกราบไหว้มีพิธีการ หรือลำดับการซับซ้อนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความอลหม่านของช่วงชั้นในสังคมนั้นๆ อย่างไม่ต้องสืบ ตัวอย่างเห็นๆ เลยก็คือในวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งก็คือต้นตำรับของการกราบไหว้ ในแบบที่ไทยเราไปอิมพอร์ตของเค้ามาใช้นี่แหละ
แน่นอนว่า การกราบไหว้ในวัฒนธรรมอินเดีย มีมากมายหลายรูปแบบนะครับ (ไม่อย่างนั้น ผมจะยกมาเป็นกรณีศึกษาถึงความอลหม่าน และซับซ้อนของพิธีการการไหว้ทำไมกัน?) แต่ละรูปแบบก็ใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปตามแต่เงื่อนไขเฉพาะหน้า
ผู้รู้ ควบตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านภารตวิทยา (คือการศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องอินเดี๊ยอินเดียนั่นแหละ!) ระดับดาวรุ่งพุ่งกระฉูด อย่างอาจารย์ ‘เชฟหมี’ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง แห่งรายการครัวกากๆ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เคยหล่นข้อเขียนที่ชื่อ ‘หมอบกราบในวัฒนธรรมอินเดีย ที่ไทยรับต่อมา’ ลงคอลัมน์ ผี พราหมณ์ พุทธ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎาคม- 4 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เอาไว้ว่า การกราบไหว้ ซึ่งก็คือการแสดงความเคารพต่อบุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง ของอินเดียมีหลายแบบ ซึ่งก็จะมีลักษณะท่าทางที่แตกต่างกันออกไป เช่น
‘อภิวันทนะ’ คือการแสดงความเคารพต่อบุคคลโดยทั่วไป โดยมักประนมมือ และแนะนำตนเองต่อฝ่ายตรงข้าม ในบางกรณีคือการลุกขึ้นยืน ‘อุปสังครหะ’ คือการใช้มือสัมผัสที่เท้าของครูหรือบุคคลที่เคารพ ‘นมัสการ’ คือประนมมือแล้วกล่าวคำว่า นมัสการ หรือนมะ ในขณะที่การก้มกราบลงเฉยๆ ด้วยฝ่ามือ 2 เข่า 2 และหน้าผาก 1 เรียกว่า ‘ปัญจางคประณาม’ (คำว่า ‘ประณาม’ ตามความหมายเก่าไม่ได้แปลว่า ‘ด่า’ นะครับ แต่หมายถึงความเคารพอย่างสูง) หรือที่ไทยเราเรียกว่า ‘เบญจางคประดิษฐ์’ ใช้กับทั้งเทพเจ้า และบุคคลที่ได้รับการเคารพอย่างสูงอย่างพ่อแม่ หรือครูอาจารย์
ตัวอย่างวิธีการกราบไหว้ในอินเดียที่ อ. เชฟหมี ยกตัวอย่างไว้ยังมีมากกว่านี้ แต่ผมคงไม่ต้องสาธยายทั้งหมด ใครอยากรู้ลองไปหาตามอ่านกันเองได้ตามลายแทงที่ให้ไว้แล้ว เพราะเรื่องสำคัญที่ผมอยากจะเน้นย้ำมากกว่าในข้อเขียนชิ้นนี้ก็คือ วิธีการกราบไหว้ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ระบุไว้ในตำราทางศาสนาต่างหาก
ตำราที่ชื่อ ‘มนูธรรมศาสตร์’ ระบุไว้ละเอียดลออว่า เมื่อวรรณะทั้งสี่แสดงความเคารพคือทำอภิวันทนะ (เคารพและแนะนำตัวต่อบุคคลทั่วไป) ให้มีระดับต่างกันคือ พราหมณ์ยกมือไหว้ผู้อื่นในระดับหูของตน กษัตริย์ยกไหว้ระดับแก้ม ไวศยะระดับเอว และศูทรระดับเท้าของตน พูดง่ายๆ ว่า ยิ่งวรรณะต่ำเท่าไหร่ ก็ยิ่งไหว้ต่ำลงเท่านั้น ซึ่ง อ. เชฟหมี ตั้งข้อสังเกตอย่างคมคายเอาไว้ว่า ตำราไม่ได้บอกว่า เราต้องไหว้ใครด้วยท่าทางอย่างไร แต่กลับบอกว่าเราต้องไหว้แบบไหนตามวรรณะที่ตนเองสังกัดอยู่
ดังนั้นวิธีการกราบไหว้ต่างๆ ของอินเดีย จึงไม่ได้สัมพันธ์อยู่เฉพาะกับจารีตประเพณี เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในไทยไปซะทุกกระเบียดนิ้ว แต่ยังเกี่ยวโยงถึงศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอีกด้วยนะครับ
แต่เราก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ไทยเราไม่ได้มีระบบ ‘วรรณะ’ ที่เข้มข้นจนสุดแสนจะเข้มแข็ง อย่างในอินตะระเดียบ้านเขา เมื่อเรารับเอาพิธีการกราบไหว้ของอินเดียเข้ามา มันก็เลยลดทอนรายละเอียดลงเหลือแค่เป็นการแสดงความเคารพระหว่าง ‘ผู้ใหญ่’ กับ ‘ผู้น้อย’ เท่านั้นเอง
และก็แน่นอนด้วยว่า ในบ้านนี้เมืองนี้ คงจะไม่มีใครเห็น ‘ผู้ใหญ่’ ที่ไหนมาแสดงความเคารพต่อ ‘ผู้น้อย’ หรอก ใช่ไหมเอ่ย?
สมมติว่าใช่ (เอาน่าา อย่าพยายามหากรณียกเว้นให้เปลืองสมองกันนักเลย ช่วยๆ กันหน่อยเส่ะ ปั๊ดโธ่!) การแสดงความเคารพในแบบของอินเดีย ที่ให้ความสำคัญกับวรรณะของผู้ที่กระทำการกราบไหว้ มากกว่าผู้ที่ถูกกราบไหว้ จึงต้องทำหน้าที่กลับหัวกลับหางแบบ 180 องศา เพราะเมื่อไม่มีระบบวรรณะแล้ว จะมีประโยชน์อะไรที่ผู้ใหญ่ต้องแสดงความเคารพต่อผู้น้อยกลับ?
พิธีการ ‘กราบไหว้’ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทรงอำนาจของ ‘ช่วงชั้น’ ในสังคมไทยไปซะอย่างนั้น และก็ไม่ต้องแปลกใจอะไรหรอกนะครับ ที่ในดินแดนแห่งนี้จะมีการแจกรางวัล หรือจัดประกวดการไหว้งามกราบสวยอยู่บ่อยๆ เพราะผู้ที่มีอำนาจจะบอกว่า ใครคือผู้ที่กราบจนงามหยดได้นั้น ก็คือผู้ที่ถูกกราบไหว้ทั้งนั้นแหละ ไม่เคยเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ไหว้หรือกราบคนอื่นเสียหน่อย
การละเมิด (แม้ว่าที่จริงจะไม่ละเมิดก็ตาม แต่อำนาจที่ไหนจะสน และใครที่ไหนจะแคร์?) ใดๆ ที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ในสารพัดความหมาย จึงสามารถจบความได้ด้วยการ ‘กราบ’ ซึ่งคือสัญลักษณ์ที่ยืนยันสถานะอำนาจของผู้ใหญ่ ในสังคมไทย และก็ไม่แปลกอะไรอีกเช่นกันที่คุณแอร์โฮสเตสนางนั้นเธอต้องก้มกราบอยู่ถึงสามครา จนน้ำตาทะลักเล็ด เพราะก็บอกแล้วนะครับว่า ผู้ที่จะตัดสินว่าใครกราบได้งามนั้น ก็คือคนที่นั่งกระดิกตีน ชิคๆ ชิลๆ อยู่บนช่วงชั้นของอำนาจทางสังคมทั้งนั้นแหละ
น่าสนใจว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ให้ผู้น้อยเลิก หมอบคลาน กราบไหว้ ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์’ โดยภายในประกาศฉบับนี้มีข้อความระบุเอาไว้อย่างชัดยิ่งกว่าระบบ Full HD เสียอีกว่า
“ตั้งแต่ได้เสดจเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ก็ตั้งพระราชหฤไทย ที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร ให้มีความศุกความเจริญแก่พระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณ์ ประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ทรงพระดำริห์จะไม่ให้มีแก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป
ด้วยได้ทรงพระราชดำริห์เหนว่า ในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ ในทิศตวันออก ตวันตก ในประเทศอาเซียนี้ ฝ่ายตวันออก คือประเทศจีน ประเทศญวน ประเทศยี่ปุ่น แลฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยามนั้น บัดนี้ประเทศเหล่านั้นก็ได้เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมนั้นหมดทุกประเทศด้วยกันแล้ว”
แปลง่ายๆ ว่า ในส่วนของประกาศ ร.5 ทรงมีพระราชดำริชัดเจนนะครับว่า ‘การหมอบกราบ’ ต่อเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ นั้นมัน ‘กดขี่กันให้ได้ความยากลำบาก’ แถมยังทรงระบุไว้ชัดๆ อีกด้วยว่า ‘ฝ่ายตวันตก คืออินเดีย แลประเทศที่ใช้การกดขี่ให้ผู้น้อยหมอบคลานกราบไหว้ต่อเจ้านายแลผู้มีบันดาศักดิ ที่เหมือนกับธรรมเนียมในประเทศสยาม’
พระปิยมหาราชทรงบอกต่อไปในประกาศฯ ฉบับนี้ด้วยว่า “การที่เขาได้พร้อมกัน เลิกเปลี่ยนธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้นั้นก็เพราะเพื่อจะได้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป ประเทศใด เมืองใด ที่ได้ยกธรรมเนียม ที่เปนการกดขี่ซึ่งกันและกัน ประเทศนั้นเมืองนั้น ก็เหนว่ามีแต่ความเจริญมาทุกๆ เมืองโดยมาก”
แถมพระองค์ยังทรงมีพระราชดำริต่อเนื่องอีกด้วยนะครับว่า “ก็ในประเทศสยามนี้ ธรรมเนียมบ้านเมือง ที่เปนการกดขี่แก่กัน อันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้น ก็ยังมีอยู่อีกหลายอย่าง”
แปลง่ายๆ ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่าการหมอบกราบ ‘ไม่ต้องด้วยยุติธรรม’ เช่นเดียวกับธรรมเนียมอีกหลายอย่าง และยิ่งควรสังเกตด้วยว่า ประกาศฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 1 วันจันทร เดือน 8 แรม ค่ำ 1 ปีจอฉศก 1236 แผนที่ 7 (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) ตรงกับปี พ.ศ. 2416 แปลว่าเท่ากับ 1 ปีก่อนจะทรงประกาศพระราชดำริที่เลิกทาส ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่จะเริ่มเมกะโปรเจ็คการเลิกไพร่เลิกทาสของพระองค์ด้วย ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2417 อันเป็นการเปิดศักราชของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการคนของสังคมสยาม ที่จะสำเร็จในอีก 31 ปีถัดมา
พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งว่า ‘ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ให้ผู้น้อยเลิก หมอบคลาน กราบไหว้ ต่อเจ้านาย และผู้มีบรรดาศักดิ์’ เป็นโครงการพระราชดำรินำร่อง สำหรับเมกะโปรเจกต์การเลิกทาสที่คนไทยซาบซึ้งกันนักหนา