เดินลงจากรถอย่างมั่นใจ แต่ขากลับจำไม่ได้จอดชั้นไหนกันแน่ ออกจากบ้านจนจะถึงที่ทำงาน แต่ก็ลืมว่าล็อกประตูบ้านหรือยัง เจอคนหน้าคุ้นในลิฟต์ แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าเขาคือใคร สารพัดความจำไม่ได้ที่โผล่มาเป็นควิซประจำวันในชีวิต หลายคนจึงเชื่อว่าตัวเองนั้นมีปัญหาเรื่องความจำ ถึงจำรายละเอียดเล็กน้อยหรือแม้แต่เรื่องสำคัญที่ควรจำได้ไม่ค่อยได้ พลันไปหาซุปไก่สกัด เม็ดแปะก๊วย มาบำรุงสมอง หวังให้ช่วยความจำดีขึ้นกว่านี้สักหน่อย แต่เรากำลังแก้ปัญหาผิดจุดกันอยู่หรือเปล่านะ?
ถ้ารู้สึกว่าตัวเองจำอะไรไม่ค่อยได้ รายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องง่ายๆ ก็นึกไม่ค่อยออก คงไม่แปลกที่ใครๆ มักจะคิดว่าตัวเองมีปัญหาด้านความจำ ก็จำไม่ได้นี่นา ก็ต้องเป็นปัญหาด้านความจำสิ แต่ ลิซ่า เกโนวา (Lisa Genova) นักประสาทวิทยา บอกว่าเรื่องนี้อาจเป็นปัญหาของการให้ความสนใจในสิ่งนั้น มากกว่าจะเป็นปัญหาของความจำนะ
เพราะสมองของเราไม่อาจจำทุกเรื่องราวในชีวิตได้ เอาแค่ในหนึ่งวันตั้งแต่เราลืมตาตื่นมา ช่วงเวลาสิบกว่าชั่วโมงของเรานั้น เราก็จำได้แค่บางอย่าง บางช่วงเวลา ที่เราให้ความสนใจกับมัน หากเราต้องการที่จะจำอะไรสักอย่างได้แม่นๆ เราต้องการสองสิ่งคอยเกื้อหนุนกัน นั่นคือ การรับรู้ (perception) ไม่ว่าจะด้วยการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส และความสนใจในสิ่งนั้น (attention)
นี่เราลืมเรื่องง่ายๆ ง่ายขนาดนั้นเลยหรอ?
มาแกะรอยดูการทำงานของสมองเรากันก่อน สมมติว่าเรากำลังยืนอยู่หน้าวัตถุบางอย่างที่แสนจะสะดุดตาและเป็นที่จดจำได้ง่าย เรามองมัน และรับรู้ถึงสี รูปร่าง ขนาด รายละเอียดต่างๆ ของมันด้วยดวงตาของเรา ด้วยแสงที่สะท้อนกับวัตถุ ทำให้เราเห็นภาพนั้นสะท้อนมาที่ตัวรับที่ชื่อว่า rods และ cones ที่อยู่ในเรติน่าในดวงตาของเรานั่นเอง ขั้นตอนนี้เราจะยังไม่ได้รับรู้ได้ในทันที เป็นแค่ขั้นตอนการรับข้อมูลเข้ามาเท่านั้น ทีนี้ข้อมูล (ก็ภาพที่เห็นนั่นแหละ) ก็จะถูกแปลงเป็นสัญญาณส่งผ่านไปยัง เปลือกสมองส่วนการเห็น (visual cortex) และรับรู้ว่าเรามองเห็นแล้วนะ หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปยังส่วนอื่นเพื่อรับรู้ความหมาย จดจำ เปรียบเทียบ และอื่นๆ
แม้จะเป็นข้อมูลที่เราเพิ่งรับรู้มาเมื่อกี๊ สิ่งที่เพิ่งเห็นมาเมื่อไม่กี่นาทีที่แล้ว อย่างชั้นของลานจอดรถ เลขคิวในร้านกาแฟ ชื่อของปลายสายที่เพิ่งวางโทรศัพท์ไป เราก็ยังสามารถลืมมันได้เช่นกัน และปัญหาอันดับหนึ่งของการจำสิ่งที่ควรจำได้ไม่ได้นั้นคือ การไม่ให้ความสนใจที่มากพอต่อสิ่งนั้น ฟังดูง่ายเหลือเชื่อ แค่สนใจก็พอแล้วสินะ แต่ว่าการให้ความสนใจกับอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เรื่องง่ายของสมองเราเท่าไหร่นัก เพราะสมองของเราค่อนข้างจะชอบจดจำอะไรที่น่าประทับใจ สะดุดตา สิ่งใหม่ๆ อะไรที่แฟนซีเสียหน่อย แต่กลับไม่ค่อยจำอะไรที่เบสิกเท่าไหร่นัก
สมมติว่าเราจอดรถ มองปราดไปที่เสา หวังจะจำตัวเลขและตัวอักษรระบุหมุดหมายตรงนั้น ว่าเรากำลังอยู่ที่จุดไหนของตึกนี้ สายตาเรามองไป เรารับรู้ถึงข้อมูลตรงนั้น และมันจะอยู่กับเราเป็นเวลา 15-30 วินาที ถ้าในช่วงเวลานี้ เราไม่ได้ให้ความสนใจกับมันมากพอ ไม่ได้ตั้งใจจะจดจำมัน มันก็จะหายไปหลังจากนั้น โดยที่เราไม่อาจนึกออกได้ง่ายๆ
อยากจำได้ ต้องให้ความสนใจ
ฟังดูง่ายๆ แค่ให้ความสนใจ แต่สมองของเราไม่ได้เก่งเรื่องนี้สักเท่าไหร่น่ะสิ เพราะโดยปกติแล้ว สมองของเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุกย่างก้าว คอยรับรู้อยู่ตลอดว่าก้าวเท้าซ้ายที่หนึ่ง ก้าวเท้าขวาที่สอง หายใจเข้าครั้งที่แปดสิบสี่ กระพริบตาครั้งที่ยี่สิบหก สมองของเรามักจะเปิดระบบออโต้ไพลอตให้เราได้บินเอื่อยๆ ไปเรื่อยๆ อยู่กับความคิดของตัวเอง การฝันกลางวัน การคิดอะไรซ้ำๆ ละลายไปกับพื้นหลัง ต้องรอให้มีอะไรให้จดจ่อสักอย่างโผล่ขึ้นมา เราถึงจะเพ่งความสนใจไปที่มันได้
แล้วระหว่างที่เราเปิดออโต้ไพลอต ทำนู่นนี่ด้วยความเคยชิน ขึ้นรถ ลงบันได หยิบแก้วน้ำ ทำนู่นนี่โดยไม่ต้องมองหรือเพ่งความสนใจ เราจะไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ๆ ในช่วงนี้ได้เลย (แบบนี้สินะถึงจำอะไรไม่ค่อยได้) หากเราอยากที่จะจำอะไรขึ้นมาระหว่างนั้น เราก็ต้องปิดโหมดออโต้ไพลอตแล้วปลุกสมองลุกขึ้นมาทำงาน ด้วยการมีสติ มีสมาธิ จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นนั่นเอง
คุณลิซ่า นักประสาทวิทนาที่พูดถึงเรื่องนี้ ยังแนะนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ สำหรับใครที่อยากฝึกการเพ่งความสนใจ ให้เราไม่ต้องหลงลืมอะไรอยู่บ่อยๆ ด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ และอาศัยคาเฟอีนเล็กน้อย สามารถช่วยเรื่องความจำในวันนี้และความทรงจำในระยะยาวได้
พรุ่งนี้ หากไม่อยากลืมว่าจอดรถไว้ที่ไหน ชื่อของคนที่คุยกันผ่านๆ ในที่ทำงาน ลองตั้งใจให้ความสนใจสิ่งนั้นขณะที่มอง ฟัง หรือรับรู้สิ่งนั้นไปด้วย มีสมาธิ ให้ความสนใจ ปลุกตัวเองขึ้นมาจากระบบออโต้ไพลอตที่พาให้เรามัวแต่นึกถึงสิ่งอื่นๆ ขณะที่ทำอย่างอื่นไปด้วย อาจช่วยทั้งเรื่องความจำและช่วยให้เรามีสมาธิกับสิ่งตรงหน้าได้มากขึ้นอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก