คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Metal Gear Solid V: Phantom Pain
ในบรรดาเกมแอ็กชั่นทั้งมวลในประวัติศาสตร์เกม ซีรีส์ Metal Gear Solid โดย ฮิเดโอะ โคจิมะ นักออกแบบเกมชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของสมญา ‘เทพ’ ในสายตาของคอเกมแอ็กชั่นทั่วโลก ต้องติดทำเนียบ ‘เกมยิงที่ดีที่สุดในโลก’ อย่างไม่ต้องสงสัยไม่ว่าจะสำรวจความเห็นปีนี้ ปีหน้า หรือปีไหนๆ ก็ตาม ความที่มันเป็นมากกว่าสุดยอดเกมแอ็กชั่น หากแต่ยังทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นพระเอกภาพยนตร์บู๊ระห่ำ และเหนือสิ่งอื่นใด เกมยิงทั้งซีรีส์สอดแทรกปรัชญาและยิงคำถามหนักๆ เกี่ยวกับสงคราม สันติภาพ เจตจำนงของปัจเจก โชคชะตา อำนาจควบคุม ตลอดจนอิทธิพลและหลุมพรางของลัทธิชาตินิยมได้อย่างสนุกสนานและหลายฉากก็ถึงขั้นลืมไม่ลง (ถึงแม้ว่าเส้นเรื่องบางภาคจะวกวนผกผันและยากแก่การติดตามอยู่บ้าง)
น่าเสียดายที่ Phantom Pain ภาคทางการภาคสุดท้ายของซีรีส์นี้จบแบบไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร เนื่องจากเกิดรอยร้าวระหว่างโคจิมะกับโคนามิ (Konami) ค่ายสตูดิโอที่เขาสังกัดมาเนิ่นนาน ร้าวแรงถึงขั้นโคจิมะประกาศแยกทางก่อนที่เกมจะวางจำหน่าย แต่อย่างไรก็ตาม ภาคสุดท้ายที่เขาออกแบบก็นับว่าเป็น Metal Gear ที่คู่ควรกับคำว่า ‘คลาสสิก’ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน
เนื้อเรื่องของ Metal Gear ทุกเกมในซีรีส์นี้นอกจากจะสะท้อนความเป็น ‘แฟนพันธุ์แท้ภาพยนตร์’ ของโคจิมะแล้ว ยังวิพากษ์สังคมและสื่อประเด็นเฉียบๆ ที่มาก่อนกาลราวกับหยั่งรู้อนาคตอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่างเช่น นานหลายปีก่อนที่เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียชื่อดังจะตกเป็นเป้าครหาจากการแอบขายข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้ให้กับ Cambridge Analytica บริษัทที่นำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์และยิงแคมเปญโฆษณาส่วนตัวเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง เกมที่สองในซีรีส์นี้คือ Metal Gear Solid 2 ก็พยากรณ์สังคมดิจิทัลในอนาคตที่ข้อมูลส่วนบุคคลคือหัวใจของการดัดแปลงพฤติกรรมมนุษย์ให้เป็นไปทางที่ต้องการ แถมเกมนี้ยังวิพากษ์อย่างแสบๆ คันๆ ด้วยว่า ข้อมูลไร้สาระที่ท่วมโลกทำให้เราแยกแยะข้อมูลที่สำคัญยากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการชักใยสังคมด้วยเล่ห์กลดิจิทัลใน Metal Gear Solid 2 คือองค์กรลึกลับชื่อ “The Patriots” แปลตรงตัวว่า ‘เหล่าผู้รักชาติ’ และพวกเขาก็มีอำนาจเงินและอำนาจทางการเมืองมากกว่าเฟซบุ๊กหลายเท่าตัว จุดที่น่าสังเกตก็คือ องค์กร ‘วายร้าย’ ทั้งหลายใน Metal Gear Solid รวมถึง The Patriots ไม่ใช่อสูรหรือเอเลี่ยนหรือเผด็จการบ้าอำนาจที่อยากครองโลกแต่เพียงผู้เดียว หากเป็นกลุ่มคนที่อยากเห็นมวลมนุษยชาติมีอนาคตที่สดใส เพียงแต่เชื่อว่าการควบคุมพฤติกรรมของปัจเจก การก่อสงคราม หรือทำอะไรอื่นที่คนจำนวนมากมองว่าผิดศีลธรรม จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมาย
พูดง่ายๆ คือ ทุกเกมในซีรีส์นี้เตือนให้เราตระหนักถึงความเสี่ยงและผลลัพธ์ร้ายๆ ที่เกิดจากเจตนาดีของคนที่เชื่อว่าตนเป็น ‘คนดี’
ในแง่ระบบเกม ระบบส่วนใหญ่ใน Metal Gear Solid V: Phantom Pain ไม่ต่างจากเกมอื่นในซีรีส์นี้เท่าไรนัก ยังคงเป็นเกมยิงมองโลกจากสายตาบุคคลที่สาม คือข้ามไหล่ของ เวนอม สเนก (Venom Snake) พระเอกในเรื่อง หลักๆ เราจะได้รับมอบหมายภารกิจในแต่ละฉาก เช่น ช่วยเหลือนักโทษออกจากคุก วางระเบิดจุดสำคัญทางยุทธศาสตร์ ลักพาตัวนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ฯลฯ โดยจะใช้วิธีควงปืนลุยเดี่ยวเหมือนแรมโบ้ก็ได้ แต่เกมจะมอบแรงจูงใจ (ในรูปของเงินที่มากขึ้น เกรดที่ดีขึ้น แพตช์ติดเสื้อ ฯลฯ) ที่ชัดเจนว่าอยากให้เราหาวิธีบรรลุภารกิจแบบเร้นกาย ไม่ฆ่าใครแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ ในโลกของเกมยังมีอะไรสนุกๆ อีกมากมายให้ทำ ตั้งแต่การฟุลตัน (Fulton—ชื่ออุปกรณ์ติดจีพีเอสหน้าตาคล้ายบอลลูนจิ๋ว ใช้เกี่ยวติดสิ่งที่อยากส่งกลับฐานทัพแล้วกดปุ่ม) สารพัดสัตว์ที่พบในแผนที่กลับฐาน (เป็นงานที่ NGO ด้านการอนุรักษ์สัตว์แห่งหนึ่งมาจ้างกองกำลังของเราให้ทำ), การขับรถ รถถัง และหุ่นยนต์รบ (battle gear) สารพัดชนิด, การฟังเพลงป๊อปและดนตรีท้องถิ่น (อัฟกัน แอฟริกัน ฯลฯ) ระหว่างทำภารกิจ ฯลฯ
Phantom Pain เป็นเกมแรกในซีรีส์ที่ให้เราเล่นในระบบ ‘โลกเปิด’ (open world) ซึ่งถึงแม้จะไม่กว้างใหญ่ไพศาลเท่ากับเกมอย่าง Assassin’s Creed: Odyssey ก็ให้อิสระเราไม่น้อยในการเลือกทำภารกิจเสริม (side ops) ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำ แต่ถ้าทำแล้วก็จะได้เงิน ยุทโธปกรณ์ วัตถุดิบ และทหารมามากขึ้น วัตถุดิบหลากชนิดและทหารที่เชี่ยวชาญหลายสาขาในเกมนั้นจำเป็นสำหรับการสร้างฐานทัพกลางน้ำของเราให้เข้มแข็งและใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรู และส่งทหารไปทำภารกิจต่างๆ แทนตัวเรา (ยิ่งถ้าต่อเน็ตตลอด ภารกิจที่ทำได้จะหลากหลายกว่าออฟไลน์) เพื่อเสาะหาอาวุธ ทหาร และทรัพยากรมาให้ได้มากขึ้น ฟังก์ชั่นการสร้างและจัดการฐานทัพในเกมนี้สนุกและซับซ้อน นับเป็นของใหม่อีกชิ้นที่ช่วยเปลี่ยนจังหวะการเล่นออกจากแอ็กชั่นในสมรภูมิ มาเป็นเกมวางแผนแบบเบาๆ และที่เจ๋งก็คือเราสามารถสลับเข้าและออกจากโหมดนี้ได้ทุกเมื่อด้วยคอมพิวเตอร์ติดแขน
Phantom Pain สื่อสารประเด็นหนักๆ ที่หลากหลายและน่าสนใจไม่แพ้เกมก่อนหน้านี้ในซีรีส์ แต่ประเด็นที่น่าสนใจและผู้เขียนคิดว่าเข้ากับสภาพสังคมไทยหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้ดีเป็นพิเศษก็คือ การถ่ายทอดอันตรายของลัทธิทหารและชาตินิยม โดยเฉพาะชาตินิยมสุดโต่ง (ultra-nationalism)
เกมนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1984 สมัยที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตยังร้อนระอุ เราเล่นเป็น เวนอม สเนก (Venom Snake) ผู้นำกองกำลังอิสระชื่อ ไดมอนด์ ด็อกส์ (Diamond Dogs หรือ ‘สุนัขเพชร’) เปิดฉากเกมอย่างทรมานด้วยการฟื้นจากโคมานาน 9 ปี เสียแขนซ้าย ทั้งตัวเต็มไปด้วยแผลเป็น และมีเศษโลหะฝังติดกะโหลกยื่นออกมาทางขวา แลดูเหมือนเขาของซาตาน (ซึ่งกลายมาเป็นข่าวลือที่น่าพรั่นพรึงในหมู่ทหารโซเวียตรับจ้าง ศัตรูของเราในภารกิจแรกๆ ว่า ทหารซาตานกำลังลอบฆ่าพวกเขาไปทีละคน)
หลังจากที่เรียนรู้ระบบเกมผ่านการทำภารกิจแรกๆ เราก็จะหมดเวลาครึ่งแรกของเกม (ซึ่งผู้เขียนใช้เวลากว่า 50 ชั่วโมงในเวลาจริง) ไปกับการทำภารกิจหลักและภารกิจเสริมอย่างเพลิดเพลิน บุกปล้นค่ายทหารของศัตรูเพื่อแย่งวัตถุดิบมาต่อเติมฐานทัพของเรากลางทะเลและวิจัยคิดค้นอาวุธใหม่ๆ ที่ทรงพลังกว่าเดิม ฟุลตันสัตว์ พาหนะ ปืนต่อสู้อากาศยาน และทหารศัตรูที่ดูมีทักษะเจ๋งๆ กลับฐานทัพเราไปเป็นทหาร (ซึ่งพวกเขาทุกคนก็เปลี่ยนสังกัดมาสวมเครื่องแบบของ ไดมอนด์ ด็อกส์ อย่างว่านอนสอนง่าย แม้บางครั้งจะตีกันบนฐาน ถูกขังคุกชั่วคราวเป็นการลงโทษ) แผนที่อัฟกานิสถานในช่วงแรกและทวีปแอฟริกาในช่วงหลังของเกมต่างกว้างใหญ่ไพศาลและมีจุดสนใจมากมาย การยึดค่ายศัตรูและบรรลุภารกิจต่างๆ ทำให้เรามีเงินมากขึ้น ขยายฐานทัพ (ทำได้กระทั่งซื้อสัมปทานในทะเลเพิ่มเติมเพื่อสร้างฐานทัพสาขา!) และคิดค้นอาวุธที่เจ๋งกว่าเดิมได้อีก ทั้งกับดักรถถัง ระเบิดชนิดต่างๆ รวมถึงอัพเกรดอุปกรณ์สำหรับเฮลิคอปเตอร์ (ฐานของเราในอากาศ) และ ‘บัดดี้’ (buddy) หรือสหายคู่ใจในสนามรบ ซึ่งเริ่มต้นเรามีเพียงม้าคู่ชีพ แต่ไม่นานจะสามารถเลือกสุนัข, หุ่นยนต์ (battle gear) หรือสาวนักแม่นปืนผู้แปรพักตร์จากศัตรูมาทำงานให้เรา ไม่นานการออกเดินทางไปทำภารกิจก็จะเริ่มมีราคาแพง แต่มันก็คุ้มค่าเมื่อคิดว่าเรามีโอกาสหาเงินงามๆ ขนาดไหนในสนามรบ
ความสนุกของ Phantom Pain ประการหนึ่งก็คือศัตรูในเกมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามวิธีเล่นของเรา ถ้าเราเล็งยิงหัวโป้งเดียวจอดด้วยปืนสไนเปอร์บ่อยๆ ไม่นานศัตรูก็จะสวมหมวกเหล็กมากขึ้น ถ้าเราโยนระเบิดก๊าซใส่ สักพักศัตรูก็จะสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ ถ้าเราบุกไปตีค่ายตอนกลางคืนมากๆ ศัตรูก็จะสวมกล้องตรวจการณ์เวลากลางคืน (night vision goggles) กันมากขึ้น ฉะนั้นการปรับเปลี่ยนยุทธวิธี เช่น ใช้ปืนกลบ้าง ขับหุ่นยนต์วิ่งเข้าใส่บ้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ศัตรูไหวตัว แต่การทำอย่างนั้นก็แปลว่าต้องเร่งหาเงินมาคิดค้นวิจัยอาวุธที่หลากหลายกว่าเดิม
แต่เราจะลิงโลดกับการดูเม็ดเงินในบัญชีเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ไปไม่ได้ตลอด ถึงจุดหนึ่งฐานทัพหลักของเราจะเจอหายนะที่หลบเลี่ยงไม่ได้ และกองทัพศัตรูก็จะบุก เพิ่มความเสี่ยงที่อาคารของเราจะถูกทำลาย เงินในบัญชีหดหายเป็นตัวแดง ทหารเริ่มเสียขวัญกำลังใจ บางคนเริ่มหนีออกจากฐานทัพ ทหารที่ป่วยก็เริ่มหายช้าลงเพราะโรงพยาบาลบนฐานขาดแคลนยาและบุคลากร สถานการณ์นี้กดดันให้เรายิ่งต้องเร่งหาเงิน ส่งกองกำลังทหารไปทำภารกิจต่างๆ ในต่างแดนเพื่อโอกาสทำกำไร หมกมุ่นอยู่กับการหาเงินมายกระดับมาตรการป้องกันความปลอดภัยบนฐานทัพให้เข้มขึ้น (คราวนี้แหละ! พวกแกลองบุกมาอีกสิ!) และส่งทหารไปรุกรานเป็นการแก้แค้น และปล้นวัตถุดิบต่างๆ มาสร้างและต่อเติมฐาน รวมถึงคิดค้นอาวุธใหม่ๆ (ซึ่งก็มีหลายร้อยรายการให้เลือกทำ) วนไปไม่สิ้นสุด
และเมื่อหัวหน้ากองกำลังทหารคู่อาฆาตของเรา (สมญา Skull Face หรือ ‘หน้ากะโหลก’) เผยแผนการที่ล้ำลึกและน่ากลัวว่า จะเดินหน้าขายอาวุธนิวเคลียร์ให้กับกองกำลังต่างๆ ทั่วโลกทุกขั้วทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด ด้วยความเชื่อว่า ‘กลยุทธ์ป้องปรามด้วยนิวเคลียร์’ (nuclear deterrence) เช่นนี้จะระงับไม่ให้ใครกล้ายิงอาวุธนิวเคลียร์ใส่กัน (เพราะทันทีที่ยิง อีกฝ่ายก็สามารถยิงตอบโต้ได้ทันที)—ถึงจุดนี้เราก็ต้องคิดหนักแล้วว่า จะตัดใจไม่ซื้ออาวุธนิวเคลียร์มาไว้ในครอบครอง หรือจะปล่อยให้ไดมอนด์ ด็อกส์ ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบได้อย่างไร
การตัดสินใจของเราก็อาจน่าเศร้าไม่แพ้การได้รู้ว่า วายร้ายปริศนาที่เราไล่ล่ามาตลอดนั้น แท้จริงมีเจตนาดีต่อโลก และรัฐบาลหลายประเทศเริ่มมองว่าเราเป็นภัยคุกคาม!
เริ่มแรกเราเชื่อว่าเราเป็นพระเอก แต่ยิ่งเล่นไป ยิ่งสร้างและขยายฐานทัพ ยิ่งถูกสถานการณ์บังคับให้ใช้แทกติกที่โหดเหี้ยม ความเชื่อนั้นก็จะค่อยๆ ถูกสั่นคลอน จนแม้แต่ ‘ตัวตน’ ที่แท้จริงของเราก็ไม่ใช่สิ่งที่เราแน่ใจได้อีกต่อไป
กว่าจะถึงฉากจบของเกม Metal Gear Solid V: Phantom Pain ก็บังคับให้เราตัดสินใจในทางที่ใกล้เคียงอย่างน่าตกใจกับประวัติศาสตร์จริงของสงครามสมัยใหม่ ลัทธิทหาร ลัทธิล่าอาณานิคม และปรากฎการณ์ ‘ธุรกิจกองทัพคอมเพล็กซ์’ ซึ่งเบ่งบานไปทั่วโลกอยู่ในปัจจุบัน
เราไม่มีทางหลบเลี่ยงจากสถานการณ์นี้ได้เลยยกเว้นว่าจะเลิกล้มทุกสิ่งอย่าง ยอมสละอำนาจหรือไม่ก็โค่นล้มระบบทั้งหมดลง เพราะเราอยู่ภายใต้ระบบสังคมและสถานการณ์ทางการเมืองที่ใหญ่กว่า สถานการณ์ที่ผู้มีอำนาจเรียกร้องความภักดี ความรักชาติ และหวาดกลัวอำนาจทุกอย่างที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน คนที่คิดว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’
‘ความรักชาติ’ ในสังคมแบบนี้แสดงออกได้อย่างชัดเจนที่สุดด้วยการกระทำทางทหาร โดยเฉพาะการโรมรันกับ ‘ศัตรูของชาติ’ อย่างห้าวหาญ และเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างไม่ตั้งคำถามใดๆ ถึงแม้ว่าคำสั่งนั้นอาจขัดกับมโนธรรมสำนึกของเราอย่างรุนแรงก็ตามที ด้วยเหตุนี้ ผู้มีอำนาจจึงต้องสร้าง ‘ศัตรู’ ขึ้นมาตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าศัตรูนั้นอาจไม่มีอยู่จริง
ช่วงท้ายๆ ของ Metal Gear Solid V: Phantom Pain แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึง ‘ต้นทุน’ ของลัทธิชาตินิยมสุดโต่งที่กระทำลงไปในนามของความดี
ตราบใดที่ยังหายใจอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็ยากยิ่งที่ใครจะไม่ต้องจ่ายต้นทุนนี้ แม้เป็นผู้นำกองกำลัง ‘เถื่อน’ ที่ไม่ชักธงของชาติใดเลยก็ตาม