สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายข่าว แต่ข่าวหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ใหญ่โตมากมาย แต่ฉันคิดว่าสำหรับคนดูหนังทุกคนน่าจะให้ความสนใจ นั่นก็คือข่าวการประกาศเลิกแสดงหนังของเเดเนียล เดย์-ลูอิสในวัย 60 ปี
สำหรับนักแสดงฝรั่ง 60 ปีนี่ถือว่าธรรมดามาก เพราะอย่างมอร์แกน ฟรีแมนนั้น 80 แล้วและยังมีหนังให้เราได้ชมกันเรื่อยๆ คลินต์ อีสต์วูดที่ทั้งกำกับและแสดงนั้นตักไป 87 ปีเข้าให้ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ที่ยังเป็นพระเอกหนังซุปเปอร์ฮีโร่ได้อยู่นั้นก็ 52 ยังเป็นไอรอนแมนได้ไม่ขัดเขิน
ในข่าวนั้นไม่ได้แจ้งถึงเหตุผลหรือที่มาของการประกาศเลิกทำการแสดงของมิสเตอร์เดย์-ลูอิส บอกแต่เพียงสั้นๆ ว่าเป็นการตัดสินใจของเจ้าตัวและขอให้ทุกคนเคารพการตัดสินใจนั้น
อะ อะ เข้าใจค่ะ คนเราก็มีเหตุผลต่างๆ กันออกไป แต่คุณอาแดน (ขอเรียกสั้นๆ แบบนี้ละกัน เพราะชื่อจริงคุณอายาวมาก และฉันมีความไทยๆ แบบเรียกใครก็นับญาติเขาไปทั่ว ดูสนิทสนม กล้าที่จะเม้ามอยถึง) นั้นถือเป็นเจ้าตำนานอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้จะเริ่มเข้าสู่วงการตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์ แต่ผลงานก็ไม่ได้ออกมาชุกนัก (ถ้าวัดกันเฉพาะปริมาณ ฉันว่าฉันเล่นหนังเยอะกว่าคุณอาอีก) แต่สิ่งที่ทำให้คุณอาเป็นที่จดจำและครองรางวัลไปสามออสการ์ ก็คือวิธีการแสดงแบบเข้าถึงตัวละคร ที่เรียกว่า Method Acting
เทคนิควิธีนี้ถูกคิดค้นพัฒนาขึ้นในรัสเซียก่อนโดย คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี้จากนั้นก็ค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่โรงเรียนการแสดงของอเมริกา โดยเจ้าสำนักที่ทำให้กลวิธีนี้เป็นที่รู้จักคือลี สตราสเบิร์ก
เอาอย่างย่นย่อและหยาบที่สุด หัวใจของการแสดงในแบบเมธอดนั้นคือเราไม่ได้ ‘แสดง’ แต่เรา ‘เป็น’ ตัวละครนั้นไปเลย ประมาณว่าไม่ได้ ‘เล่น’ เป็นนักมวย แต่เป็นนักมวยไปเลยจริงๆ
ไม่ได้’เล่น’เป็นนักดนตรี แต่เล่นดนตรีได้จริงๆ ชนิดออกคอนเสิร์ตได้ไม่อายมืออาชีพ
นักแสดงสายนี้หลายๆ คนก็มีตั้งแต่มาร์ลอน แบรนโด โรเบิร์ต เดอนีโร ดัสติน ฮอฟแมน ไล่มาจนยุคปัจจุบันก็คริสเตียน เบล และบุคคลสำคัญก็คือแดเนียล เดย์-ลูอิสนี่เอง
ฟังๆ ดูก็น่าสนใจและสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมอย่างเราไม่ใช่น้อย ที่ได้เห็นนักแสดงมาทรมานตัวเองให้เราดูในบทบาทแบบที่ถ้าลงมาสายเมธอดเมื่อไหร่ แทบจะรับประกันได้ว่ามีสิทธิ์ชิงออสการ์แน่ๆ (หลังๆ ฉันดูบทบาทของผู้เข้าชิงออสการ์ทีไร ก็ยิ่งเหมือนดูรายการวงเวียนชีวิตขึ้นเรื่อยๆ มันทรหดอดทนข้นแค้นจุกอกเสียเหลือเกิน)
ซึ่งสไตล์เมธอดของแต่ละคนนั้นก็ชวนทึ่งแลเกากบาลไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่อ่อนๆ อย่างแกรี่ โอลด์แมนที่ปรับสำเนียงพูดให้เข้ากับทุกบท (ซึ่งแกก็เล่นได้สารพัดตั้งแต่แดรกคูล่าสำเนียงยุโรปโบราณ ไปถึงตำรวจคลั่งสำเนียงออสเตรเลีย) จนสุดท้ายลืมสำเนียงจริงๆ ของตัวเอง เลยต้องจ้างครูมาสอนการกลับสู่รากเหง้าบริทิชแอคเซนท์ หรือลีโอนาร์โด ดีแคปริโอซึ่งเป็นมังสวิรัต แต่ยอมกินตับวัวป่าสดๆ จริงๆ เพื่อการแสดง หรือไชอา ลาเบิฟที่ไม่อาบน้ำเลยจนปิดกล้องเพื่อเข้าถึงบททหารที่ประจำอยู่แนวหน้า ไปจนถึงหนักๆ อย่างคริสเตียน เบลผู้ลดๆ เพิ่มๆ น้ำหนักเหมือนตัวเองทำจากยาง ลดทีละ 60 ปอนด์แล้วเพิ่มทีละ 50 ในช่วงไม่กี่เดือน หรือเอเดรียน โบรดีที่ขายบ้าน ขายรถ เลิกกับแฟน (หรืออาจจะโดนแฟนบอกเลิกจากพฤติกรรมนี้ก็ได้) ตัดการสื่อสารทุกอย่าง แล้วหิ้วกระเป๋าสองใบไปท่องยุโรปเพื่อเข้าถึงบทบาทความเคว้งคว้างอ้างว้างของชาวยิวเหยื่อสงคราม, บิลลี่ บ๊อบ ธอร์นตันที่เอาเศษแก้วแตกใส่รองเท้าตัวเอง เพื่อให้เดินกะเผลกสมจริง
แค่ทำเรื่องเว้นเรื่องก็เหนื่อยแทนแล้ว แต่อาแดนแกทำแบบนี้ทุกเรื่องค่ะ
ตั้งแต่เรื่องแรกที่เล่นเป็นศิลปินขาพิการ คุณอาก็ใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็นตลอดเวลา จะนอกหรือในกองถ่ายก็เข็น หัดใช้เท้าซ้ายทำอะไรๆ จริงๆ เหมือนอย่างบุคคลต้นฉบับ
อ่อ ธรรมดาเหรอคะ อะ งั้นลองนี่
คุณอาเล่นเป็นอินเดียนแดงค่ะ เลยเพิ่มน้ำหนัก 20 ปอนด์ ไปอยู่ในป่าหกเดือน หัดสร้างเรือแคนู หัดใช้ปืนไฟแบบโบราณ แล้วก็แบกอีปืนเจ้ากรรมนี่ไปไหนมาไหนอยู่ตลอด แม้แต่ตอนวันพบญาติช่วงคริสมาสต์ (ข่าวไม่ได้แจ้งว่าคุณอานัดพบญาติอย่างไร ส่งพิราบสื่อสารหรือสัญญาณควัน) เพื่อให้คุ้นเคยกับมันในทุกๆการเคลื่อนไหว พอเล่นเรื่องนี้เสร็จ ก็มีอันป่วยแดกไปด้วยอาการกลัวที่แคบแถมยังหูแว่วหลอนประสาท
เรื่องอินเดียนแดงนี้ คุณอาเล่นในปี 92 พอมาปี ’93 คุณอาซึ่งเพิ่งเพิ่มน้ำหนักแบกปืนไฟไปหยกๆ ก็ลดน้ำหนักฮวบลงมารับบทชายผู้ถูกยัดข้อหากบฏ IRA และต้องติดคุก โดยลดน้ำหนักไป 50 ปอนด์และไปใช้ชีวิตอยู่ในคุกจริงๆ โดยให้ทีมงานทรมานคุณอาด้วยการไม่ให้หลับให้นอน เคาะกระป๋องปลุกทุกสิบนาที สาดน้ำเย็นใส่หน้า จัดคนมาทำการสอบปากคำแบบ 9 ชั่วโมงรวด
ค่ะ
ปัญหามันอยู่ตรงนี้ค่ะ
หลังๆ มานี้คนเริ่มมองว่าการแสดงแบบเมธอดนี่มัน ‘เก่า’ เกินไปเสียแล้ว โลกมาถึงยุคซีจี กรีนสกรีน เอฟเฟกต์สมจริงที่สุดแล้ว (ตัวอย่างคือคุณ ‘รู้’ ว่าโลกในลอร์ด ออฟ เดอะ ริงเป็นโลกแฟนตาซีใช่ไหมล่ะ แต่เวลาคิดถึงหนังเรื่องนั้น คุณก็ยังอธิบายมันว่าดู ‘สมจริง’ อยู่ดี คือจริงในไม่จริงน่ะ) แถมยังเลือกนักแสดงที่เหมาะกับคาแรคเตอร์นั้นๆ มารับบทเลยก็ได้ จะไปจ้างคนมาทรมานเปลี่ยนชีวิตเพื่อเล่นบทแบบ Oscar Bait ไปทำไมมี (คือบทแบบดราม่า เรียกร้องพลังการปรับเปลี่ยนรูปโฉม หรือหนังชีวประวัติบุคคลที่มีอยู่จริง ที่แค่พอใครเงื้อจะทำ กรรมการออสการ์ก็ขอสอดส่องแล้วว่าเหมือนมั้ย ลำบากแค่ไหน) หรือนักแสดงทางยุโรปเขาก็แสดงแบบแสดง ไม่ต้องแบกเอาความรวดร้าวพิกลพิการกลับบ้านไปด้วย มาถึงกองถ่ายก็ทำงานได้ทันใด
อีกอย่างคือไอ้การแสดงสายเมธอดนี่แม้จะเป็นที่นับถือและชื่นชมมาก แต่ก็สร้างปัญหาได้มากไม่แพ้กัน เพราะผู้เมธอดนั้นคือตัวนักแสดง ทีมงานเขาไม่ได้มาถอดแถดอะไรด้วย เวลาได้รางวัลพี่ก็ได้ไปเต็มๆ แต่สารพัดเหตุโกลาหลไปจนค่าใช้จ่ายที่สูงปรี๊ดนั่นทีมงานก็ต้องรับผิดชอบไป แถมจะมากองถ่ายในสภาพไหนก็ไม่มีวันรู้ อย่างพ่อพระเอกคนหนึ่งที่เคยต้องรับบทเป็นฆาตกรโรคจิต เลยเดินสะกดรอยตามผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอดทาง
นี่ถ้าสาวคนนั้นเขาแจ้งความหรือมีผัวปืนดุก็คงเป็นอันจบชีวิตการแสดงลงแค่นั้น
ตั้งแต่รุ่นโบราณกาลอย่างมาร์ลอน แบรนโด ที่แสดงเป็นดอนวีโต้อันลือลั่นโดยไม่ท่องบทมาก่อนเลย ต้องให้ทีมงานเขียนบทลงกระดาษชูให้แกอ่านอยู่หลังกล้อง เพราะคุณปู่บอกว่าถ้ารู้ก่อนมันจะไม่อิน มันจะเป็นการแสดง ไม่ได้เป็นดอนที่แท้ทรู หรืออย่างอาแดนที่เป็นปอดบวมตอนถ่ายหนังเรื่องหนึ่ง เพราะปฏิเสธจะใช้เครื่องกันหนาวที่เกินความจำเป็นจากในยุคสมัยของหนังที่แกเล่น แถมจ้างคนบินตรงมาสอนใช้มีดให้คล่องแคล่ว อินในอิน จริงในจริง ทำเอาโปรดิวเซอร์จ่ายเงินกันเพลินมือ เพราะครูที่มาสอนนั้นเขาเบิกค่าตัวจากกองถ่าย ไม่ได้เบิกจากคุณอา
นี่ถ้าคุณอาตายห่าไปจากอาการนิวมอเนียนี่กองถ่ายก็จ่ายค่าประกันภัยกันอ้วกแตกแล้ว (แต่ถ้าฉันเป็นตัวแทนบริษัทประกันภัย คงไม่รับทำประกันให้อาแดนน่ะค่ะ คุณอาโลดโผนเกินไป หรือถ้ารับคงเรียกเบี้ยประกันแบบสูงลิบโลกแน่ๆ)
เขียนมาคราวนี้ก็ต้องมาถึงทีดาราไทย ที่ต้องโดนค่อนแคะว่าเล่นกี่เรื่องกี่เรื่องก็เหมือนเดิม ห่วงสวยห่วงหล่อ ไม่ทุ่มเทให้การทำงานอย่างนักแสดงฮอลลีวูด
ใช่ค่ะ จริง
อ้าว ทำไมไม่เถียงล่ะ
ก็ไม่เถียงอะค่ะ คนมันก็มีทุกแบบ แบบห่วงสวยห่วงหล่อก็มี (และในฮอลลีวูดหรือบนดาวนพเคราะห์อันไพศาลนี้ก็มีไม่ต่างกัน) เจ้าปัญหามากๆ ก็มี ดีก็มี เบลอก็มาก ฉันก็ทำได้แค่อธิบายถึงคุณภาพความเป็นอยู่และรายรับรายจ่ายที่ต่างกันระดับปีแสงของนักแสดงไทยและฮอลลีวูดเท่านั้นเอง คืออยากจะทุ่มเทก็ทำรุนแรงเท่าเบอร์ฮอลลีวูดเขาไม่ได้ เพราะนอกจากต้องกินต้องใช้แล้ว รายรับหน่วยเป็นเงินบาทของเราก็ไม่แน่นหนาพอจะเรียกร้องได้ขนาดนั้น จะเพิ่มน้ำหนักลดน้ำหนักให้เข้ากับบทก็ต้องหายหน้ากันไปร่วมปี ระหว่างนั้นใครเขาจะมารอให้เราฟิตแอนด์เฟิร์มกลับไปเข้าฉากต่อ หรือระบบการทำงานที่ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นหนังบู๊ฝรั่งนี่มีทั้งตัวดับเบิล (คัดคนที่สูงเท่ากัน/สีผม-สีตา-สีผิวแบบเดียวกันกับนักแสดงหลัก) มายืนให้จัดไฟ วางเฟรม แถมสตันท์อีกหลายชีวิตมากระทำงานตามความถนัด ทั้งสตันท์ต่อย สตันท์ขี่มอเตอร์ไซค์ สตันท์ว่ายน้ำ สตันท์วิ่งหนีระเบิด ซ้อมถ่ายก่อนวันหนึ่งเต็มๆ แล้วค่อยเอาดาราตัวจริงมาถ่ายทำ
เรียกว่าถ้าในฉากนั้น เป็นฉากพระเอกต่อยกับคนร้ายแล้วขี่มอเตอร์ไซค์หนีมาตกน้ำแล้วโดนคนปาระเบิดใส่ ซีนนั้นพระเอกตัวจริงนี่แทบจะไม่ต้องเข้ากล้องเลยด้วยซ้ำ นอกจากจะไปยืนหน้ากรีนสกรีนรับหน้า รับแอคชั่นสะดุ้งเฮือก แล้วก็เข้าไปเก็บตัวในมอเตอร์โฮมโดยมีคนเฝ้า (‘ต้อง’ มีคนเฝ้าทุกครั้งค่ะ อันนี้เป็นกติกาทางสากล นัยว่าจะไปไหนทำอะไรต้องมีคนรับรู้ จะมาเดินลอยชายหายไปกินลิโพเฉยๆ ไม่ได้เป็นอันขาด) ก่อนจะเอาไปตัดแปะ ตัดต่อ เกลี่ยด้วยคอมพ์ ย้อมสี มิกซ์เสียงออกมาให้เราดูอีกที
หรือฉากตายก็เอาพิมพ์หล่อหน้ากันไว้ก่อน พอถึงเวลาตายก็แปะทับเข้าไป จะได้ไม่เห็นลูกกะตาสั่นวิบๆ หรือจั๊กกะเดียมที่นางเอกมาร่ำไห้ถูหน้ากับอกจนหลุดหัวเราะคิกๆ พุงกระเพื่อมให้คนเอาไปนินทา
เวลาดาราฝรั่งเข้าคิวบู๊จริงๆ ถึงได้มีข่าวฮือฮามากมาย แต่ดาราไทยเหรอคะ–ระหว่างยืนรอจัดไฟก็เม้ากับตากล้องไปด้วยแบบสบายๆ ถึงผลบอลเมื่อคืน ตอนบู๊ก็เล่นเอง มอเตอร์ไซค์ก็หัดขี่เอาค่ะ ถ้าขี่ไม่เป็นเดี๋ยวเข็นให้ วิ่งหลบระเบิดเหรอคะ
วิ่งเองค่ะ
ระเบิดอยู่ตรงไหนเหรอคะ
อ๋อ ตรงนู้น นั้น แล้วก็โน้น (ใช้มือชี้ไปในอากาศ) ประมาณๆ นั้นอะ ไม่ต้องซ้อมนะ เอฟเฟกต์ลูกละหลายตังค์ วันนี้มีหลายฉากด้วย เดี๋ยวงบไม่พอ
คือฉันก็อยากทุ่มเทนะ แต่แบบ–คือมีชีวิตเดียวอะค่ะ ตายแล้วตายเลย ประกันกองถ่ายก็มี แต่บางทีก็ไม่ได้ครอบคลุมขนาดนั้น
เข้าใจแล้วใช่ไหม ว่าทำไมฝรั่งเขาถึงทึ่งกับองค์บากของพี่โทนี่จากันมากมาย ก็ไอ้ด้วยความเล่นจริง เจ็บจังในระดับที่ฝรั่งไม่มีวันทำนี่ล่ะ
คือฉันก็ว่ามันมีทั้งดีและไม่ดีต่างกันออกไป นักแสดงไทยหลายๆ คนก็ทุ่มเทกับบทออกจะตาย อาจจะไม่เข้มข้นเข้าเส้นอย่างฝรั่ง แต่ความตั้งใจนั้นฉันเชื่อว่าไม่น้อยไปกว่ากันแน่ๆ เพราะงานแบบนี้ถ้าไม่รักไม่ชอบ หวังแค่จะทำเล่นๆ หาเงินขวัญถุงเห็นทีจะเอาดีไม่ได้ แต่บางทีชีวิตมันก็ไม่เป็นใจให้เรานะคุณ
เอ้า เพื่อความปลอดภัย ฉันยกตัวอย่างฉันเองแล้วกัน ได้ไม่ต้องไปแว้งคนอื่น
ฉันนี่โตมากับการดูวีดีโอ (ค่ะ มันคือวีเอชเอส ความบันเทิงรุ่นเก่านั่นล่ะ) หนังยุคเดอ นีโรที่แสนจะตัวพ่อเมธอด มาถึงตัวเองก็อยากอินในอิน อยากเมธอด อยากนัยน์ตากร้าวเพิ่มน้ำหนักลดน้ำหนักสมจริงบ้าง พอแสดงละครเรื่องแรก
-เป็นบ้า-
เอ้า ก็โอเคน่า ฉันก็เข้าไปดูงานในโรงพยาบาลจิตเวช ไปดูห้องช็อตไฟฟ้า ไปหานักโทษที่มีอาการทางจิตซึ่งถูกแยกอยู่ในโรงพยาบาลเฉพาะว่าแต่เป็นบ้าเพราะอะไรนะเราเนี่ย
อ๋อ โดนข่มขืนไง
………….
อันนี้ขอไม่ดูงานแล้วกันนะ
อะ ละครผ่านไป มาถึงหนังบ้าง เรื่องแรกในชีวิต
-เล่นเป็นหญิงไทยโบราณ-
อะได้ ฉันตัดผมทรงมหาดไทย หัดกินหมาก จีบพลู นุ่งผ้าแถบนุ่งโจงกระเบนได้เอง เดินเท้าเปล่าแบบเต็มๆ เท้าได้ไม่สะเทือน เกี่ยวข้าว ดำนา ร้องเพลงกล่อมลูกได้หลายเพลงแบบออกซิงเกิลรวมฮิตได้
ท้อง
………เอ่อ……….
ตายทั้งกลม
ดะ…เดี๋ยวนะ
เป็นผีกลับมาหาผัว
พอก่อนค่ะ!!
โหย ไรอะ แค่นี้ก็ถอดใจแล้วเหรอ ไหนดูบทเรื่องต่อไปซิ
-สาวค้ายา ท้องไม่มีพ่อ-
อืม…ต่อไปล่ะ
-กระสือ-
……..
-เจ้าหญิงนักรบ-
เอ่อ….
-กะหรี่ออกปล้นเงินในวัด-
พอ!
โอเค เมธอดคงไม่เหมาะกับกูจริงๆ แต่ฉันก็จินตนาการได้ถึงบทบาทแต่ละอัน พูดคุยกับผู้กำกับจนได้ความเห็นตรงกัน ลองเล่นหลายๆ อย่างให้เลือกถึงความเหมาะสม
เพราะถ้าจะเมธอดกันจริงจังอย่างที่ตั้งใจไว้เบอร์นั้น ป่านนี้ฉันคงถูกทิ้งแห้งกรังอยู่หลุมไหนก็ไม่รู้
คนอะไร ตายซ้ำตายซากกันได้ทุกเรื่อง โถ…….