เมื่อเดือนพฤษภามาบรรจบ ทั่วโลกก็เริ่มพูดถึงกิจกรรมไอดาฮอทกันถี่ขึ้นอย่างตื่นเต้น หรือวันสากลยุติความรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ หรือ The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia เรียกแบบสายย่อว่า I.DA.HOT ณ วันที่ 17 พฤษภาคม
วันนี้เริ่มกำหนดขึ้นในปี 2004 และมีพัฒนาการเรื่อยมา จากแรกเริ่มเคยชื่อ I.DA.HO เนื่องจากเป็น ‘International Day against Homophobia’ เน้นเฉพาะคนรักเพศเดียวกันเท่านั้น (ไม่ใช่เกี่ยวอะไรกับรัฐไอดาโฮ สหรัฐอเมริกาหรอกนะ) เพิ่งจะเพิ่ม transgender เข้าไปก็เมื่อ 2009 แล้วพอต่อมาใน 2015 จึงเพิ่ม bisexual ไปด้วย แต่ชื่อ IDAHOBiT ก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ
แต่เพื่อประกันความมั่นใจว่า ไม่ได้ละเลย เลือกปฏิบัติ จึงนิยามให้เป็นการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศสากล ไม่เพียงรวมการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์สำนักต่างๆ ยังจะไม่ละเลยเพศสภาพเพศวิถีต่างๆ queer, pansexual, asexual ไปจนถึงอัตลักษณ์ทางเพศท้องถิ่นเช่น ฮิจรา ซึ่งนิยามว่าไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายในวัฒนธรรมเอเชียใต้
และที่ตั้งใจเลือกวันที่ 17 พฤษภาก็เพื่อเป็นอนุสรณ์ ว่าในวันนี้ ปีที่ 1990 ทาง WHO ได้ถอดคนรักเพศเดียวกันออกจากกลุ่มผิดปรกติทางจิต
ทุกปี IDAHOT ได้รับการเฉลิมฉลองและจัดกิจกรรมรณรงค์เคลื่อนไหวในหลายประเทศทั่วโลก โดยกลุ่มต่างๆ มากมาย เช่น องค์กรอิสระ ผู้นำชุมชน หน่วยงานภาครัฐ บริษัท ร้านรวง แม้แต่ในประเทศที่การรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไม่ว่าใครเพศสภาพเพศวิถีไหนก็เข้าร่วมกิจกรรมได้อย่างเสรี เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐ สื่อมวลชน และองค์กรสถาบันต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติการใช้ความรุนแรงกับเพศสภาพเพศวิถีต่างๆ ที่ไม่ใช่เพศชายหญิงรักต่างเพศ อันเป็นอีกปัญหาหนึ่งของโลก
เช่นเดียวกับการมีอยู่ของวันนี้ มันก็สะท้อนให้เห็นว่ายังมีความเกลียดกลัว ความรุนแรงต่อความรักความสัมพันธ์เพศสภาพเพศวิถีที่ไม่ใช่รักต่างเพศ ชายกับหญิง ว่าแต่ทำไมต้องเกลียดกลัว LGBT ด้วย เราจะชังขี้หน้ากันเพราะรสนิยมส่วนบุคคลหรือเพศสภาพเค้าแค่นั้นเองเหรอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทอมกลายเป็นเป้าความรุนแรง ชังน้ำหน้า ทำร้ายร่างกาย ข่มขืนอยู่เสมอ ด้วยไม่มีเหตุจูงใจใดๆ มาก่อน เหมือนแค่หายใจก็ผิดได้ หนุ่มๆ หลายคนบ่นว่ารำคาญทอม เห็นทอมแล้วขัดหูขัดตา เป็นไปได้มั้ยว่านั่นหมายความว่า ผู้ชายพวกนั้นกำลังหวงของ หวง ‘ความเป็นชาย’ ว่าต้องสงวนไว้เฉพาะคนมีกระจู๋เท่านั้น? หรือว่าลึกๆ แล้วตนเองก็ไม่ได้ชอบ ‘ความเป็นชาย’ ที่ปรากฏอยู่ในสังคมเอง จนทันทีที่เห็น ‘ความเป็นชาย’ ของคนอื่น ก็เกิดรำคาญตาขึ้นมา แล้วใครที่ชอบบอกว่า เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ เนื้อตัวร่างกายเราเพศวิถีเราเลือกได้เอง นายเองยังไม่ชอบให้ใครมาเผือกเรื่องส่วนตัวเลย ถ้าคิดอยากจะเปลี่ยนใคร ไปเปลี่ยนทัศนคตินายเองดีกว่านะซิส
หลายครั้งที่เก้งกวางกะเทยจะถูกแสดงท่าทีหวาดกลัว ว่าจะมาจีบ มามีเพศสัมพันธ์ด้วย เอิ่ม…คือ ผู้ชายคะ คือคุณแค่เป็นผู้ชายคนนึงใน 3,776,259,639 คนบนของโลก (สำรวจเมื่อ 31 ธันวาคม 2016) คนที่ชอบผู้ชายไม่ได้หมายความว่าผู้ชายทุกคนบนโลก ผู้หญิงก็ชอบผู้ชายยังไม่เอาเลยคร่าาาาาาา /เบ้ปากมองชำเลืองกายหยาบ
ผู้หญิงก็เช่นกัน ไม่ต้องบ่นกระปอดกระแปดเสียดาย ตัดพ้อราววันสิ้นโลกว่าชีวิตอยู่ยาก ผู้ชายหันมาเอากันเอง เสียดายงานดีไม่น่าเป็นเก้งเลย…คือ’โทษนะซิส ต่อให้ไม่เอากันเองก็ไม่ได้หมายความว่าจะเอาซิสไง…นกนะคะ นกคือนก /ยิ้มอ่อน
เอิ่ม…สรุปนี้ฉันจะวอร์ สร้างความเกลียดชัง หรือยุติความเกลียดกลัวกันแน่
อันที่จริง ไม่ได้บอกให้เลิกเกลียด พอๆ กับที่ไม่ได้ขอให้มารัก (นี่ยืมชื่อหนัง ของ พี่กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน ปี 2012 มาเลยละกัน) เพราะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่มนุษยชาติจะมารักกันหมด เรามีสิทธิเกลียด หมั่นไส้ รำคาญตา รำคาญใจ ขึ้นอยู่กับเพดานความคิด ความเปิดกว้างของใจ อคติ ทัศนคติของแต่ละคน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่แต่ละปัจเจกบุคคลต้องไปจัดการกันเอง
เพียงแต่เล่นมาชังขี้หน้ากันตั้งแต่ยังไม่รู้จักมักจี่กันนี่ ก็น่าเป็นห่วงสภาพจิตใจ
IDAHOT จึงมีข้อเสนอแรกเริ่มเล็กๆ (แต่อาจจะใหญ่โตสำหรับใครๆ หลายคน) ว่า อย่าตั้งป้อมรังเกียจกัน เพียงเพราะเค้ามีเพศอะไรที่ต่างจากเรา เพราะมันคืออคติ การตัดสินล่วงหน้าจนกระทั่งมาด่าทอ ล้อเลียน ดูแคลน ทำร้าย เลือกปฏิบัติ เพราะนั่นคือความรุนแรง หรือชวนให้ยอมรับว่าในโลกใบนี้มันมีอัตลักษณ์ความหลากหลายมากมาย เกินกว่าจะจับใส่กล่องได้เพียง 2 ใบเท่านั้น เหมือนเพศสรีระที่แค่คนมีจู๋ คนมีจิ๋ม
สำหรับความรังเกียจเดียดฉันท์และความเข้าใจความหลากหลายทางเพศถูกสร้างขึ้น ผลิตซ้ำ ถ่ายทอดปลูกฝังผ่านสถาบันหลักของสังคม ศาสนา สื่อมวลชน รัฐ โรงเรียน มหา’ลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านและครอบครัวซึ่งถูกสถาปนาให้เป็นเบ้าหลอมความเป็นปัจเจกบุคคลแรก สถาบันแรกเริ่มพื้นฐานในการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ทัศนคติ และลักษณะนิสัย IDAHOT ปีนี้ จึงโฟกัสไปยังครอบครัว การสร้างความยอมรับเคารพเพศสภาพเพศวิถีของคนรักคนที่ใกล้ชิดภายใต้สถาบันครอบครัว ไม่ใช่แค่เรื่องการยอมรับเพศสภาพเพศวิถีลูกหัวแก้วหัวแหวนตัวเอง ให้ความสำคัญกับเสียงของเด็กเยาวชนที่เป็น LGBTQ แต่รวมไปถึงการยอมรับขยายพื้นที่แสดงตัวตนของพ่อแม่เพศเดียวกัน ครอบครัวคนรักเพศเดียวกันหรือกะเทยที่มีลูก เพราะความหมายของครอบครัวเสียควรถูกนิยามเสียใหม่ ไม่ให้สงวนไว้เฉพาะคนรักต่างเพศ
การเปิดเผยหรือสร้างการยอมรับจากพ่อแม่ของลูก LGBT เป็นปัญหาคลาสสิคและใหญ่มากสำหรับครอบครัวไทย ที่บ้านและครอบครัวเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระดับสถาบันและมนุษย์ลูกมีภาวะพึ่งพิ่งพ่อแม่ยาวนานหลายทศวรรษ แม้ลูกจะโตแล้วก็ยังต้องอยู่บ้านพ่อแม่อยู่ ไม่ได้ย้ายออกไปให้ชีวิตที่ independent กว่า
ตั้งแต่ฉันยังเป็นเด็ก จนมาถึงวัยที่เพื่อนๆ เป็นพ่อเป็นแม่คนแล้ว ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่ยั้งยืนยง
ยังคงได้ยินคนพูดว่า ลูกติดยายังดีซะกว่าเป็นกะเทย ติดยาพาไปบำบัด ไปอ้วกๆๆ หาจิตแพทย์เดี๋ยวก็หาย เป็นตุ๊ดเป็นกะเทยนี่รักษาไม่หาย ได้ยินตั้งแต่สมัยแอบฟังคนรุ่นพ่อรุ่นแม่คุยกัน มาจนกระทั่งเพื่อนๆ รอบกายบ่นถึงลูกตัวเอง หรือไม่ก็พวกที่เชื่อว่าเป็นหญิงรักหญิงลื่นไหลกว่าผู้ชายรักชาย หาผัวให้เดี๋ยวมันเดี๋ยวก็หาย ที่ทั้งจะคลุมถุงชน และ phallocentric พ่อบางคนคิดว่าเตะลูกแล้วจะหายเป็นกะเทย คือคุณพ่อคะ อย่าหาว่าสอนกันเลยนะคะ ตราบใดที่พ่อเตะตัวเองให้เป็นกะเทยไม่ได้ฉันใด พ่อก็เตะใครให้หายเป็นกะเทยไม่ได้ฉันนั้นค่ะ
พ่อแม่ผู้ปกครองบางนางยอมรับได้ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เคารพเข้าใจการตัดสินใจ รสนิยมเพศสภาพเพศวิถีก็มี บางคนเพราะความรักที่มีต่อลูกหลานแล้วก็เรียนรู้กันไป
เพื่อนฉันที่เป็นพ่อคนแม่คนแล้ว ปากบอกว่ารับได้หากลูกโตมาจะเป็น LGBT หรืออะไรสักอย่าง ด้วยเหตุผลที่ว่า “จะเป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดีก็พอแล้ว” ฟังแล้วนี่คืองงเลย งงในงง เพราะมันคือยอมรับในไม่ยอมรับ เหมือนเป็นเพียงคำปลอบใจตัวเองว่าลึกๆ แล้วไม่ได้ยอมรับหรอก แต่ไปห้ามปรามอะไรไม่ได้เท่านั้น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความหมาย ‘ความดี’ ‘ความงาม’ ‘ความจริง’ คืออะไรอีกนะ
หรือบางทีมันอาจจะเป็นความกังวลและหวังดีของเพื่อนฉันที่มีต่อลูกนางเอง เพราะลำพังเราจะไม่ค่อยเคารพเพื่อนมนุษย์กันในฐานะมนุษย์ด้วยกัน จนกว่าเขาจะทำอะไร ‘ดีๆ’ ให้เห็นก่อน แล้ว LGBT ง่ายต่อการถูกมอง ‘ไม่ดี’ อยู่แล้ว เกิดไปทำ ‘ไม่ดี’ ทำผิดทำพลาดขึ้นมายิ่งถูกด่าง่าย ทั้งๆ ที่อันที่จริงไม่ว่าเพศไหนก็ทำดีทำชั่วกันได้ทั้งนั้น แล้วก็จะพาลไปโทษเหตุแห่งเพศของพวกเธอ เมายาคุมบ้าง ติดผู้บ้าง เพราะมีเพศสภาพเช่นนี้บ้าง เธอจึงมักพูดถึงลูก LGBT ให้สร้างคุณงามความดีเป็นที่ปรากฏ
นี่คือเสวยชาติเป็นตุ๊ดแล้วต้องสั่งสมบารมี บำเพ็ญกุศลสูงกว่าคนอื่น ถึงจะได้รับการยอมรับ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีที่ยืนในสังคมงั้น?
ในตรรกะเดียวกัน กว่ากะเทยจะได้รับการยอมรับจากสังคม ไม่เพียงต้องหมั่นรักษาเบญศีล เบญจธรรม สังคหวัตถุ 4 อะไรแล้ว พวกเธอยังต้องสวย ยิ่งสวยกว่าผู้หญิงยิ่งประเสริฐ ไม่เช่นนั้นจะถูกเร่ไปเปรียบเทียบคนนั้นคนนี้ว่าทำไมไม่สวยเหมือนน้องนั่นน้องนี่ ผู้หญิงไม่สวยก็เยอะ ทำไมกะเทยต้องสวยด้วยคะ ความหลากหลายไม่ได้มีแค่เพศค่ะ เบ้าและหนังหน้าก็หลากหลายด้วยค่ะซิส
เหมือนกับ cliché ที่ว่าเกย์กะเทยหลายคนเก่ง มีความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ขัน สนุก แล้วก็ยกตัวอย่างตัวแม่ๆ วงการบันเทิงแฟชั่นต่างๆ นานา เดี๋ยวๆ LGBT คือเพศสภาพเพศวิถีว่ะ ไม่ใช่ skill ที่ต้องการฝึกฝนและประสบการณ์ มันไม่ใช่ความสามารถพิเศษพรสวรรค์ติดตัวแต่เกิด พอเป็นตุ๊ดแล้วจะมีความสามารถพิเศษปั๊บ หรือมีอารมณ์ขันทันทีที่รู้เพศสภาพเพศวิถีตัวเอง
ขณะเดียวกันก็เป็นการผลักเก้งกวางหญิงข้ามเพศไปพิสูจน์ตัวเอง ผลักไปอยู่ในเกมเงื่อนไขคนอื่นเพื่อให้ได้รับการยอมรับ โดยเอาตัวแม่สักคนเป็นมาตรฐาน ขณะที่ผู้ชายผู้หญิงไม่เห็นต้องทุ่มอุทิศตัวเองขนาดนั้น ไม่เคยมีใครพูดว่า เกิดเป็นผู้ชายแล้ว ก็ต้องทำให้ได้อย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นะ หรือชื่นชมว่า ผู้ชายมีความสามารถเก่งๆ เยอะแยะจะตาย ดูอย่างเซอร์ไอแซก นิวตันสิ
แล้วที่บอกว่ามีอารมณ์ขันมากมาย ทุกคนทุกเพศก็มีทุกอารมณ์แหละ เพียงแต่กะเทยเกย์ถูกจับเป็นตัวตลกเรียกเสียงหัวเราะในจอหนังทีวีเท่านั้น เหมือนที่เชื่อว่า เก้งกวางกะเทยมีไว้สร้างสีสัน สีสันอะไรยะ ก็เป็นคน มีความสามารถเหมือนคนทั่วไป ไม่ใช่ไม้ประดับ หรือมีไว้ให้พ่นเสียงหัวเราะใส่
แน่ะ พอพูดแบบนี้ ก็หาว่าคนที่มีเพศแบบนี้เกรี้ยวกราด อารมณ์รุนแรง โมโหร้ายอีก
…เอาเป็นว่า สุขสันต์วัน IDAHOT ละกัน