“เงิน คือทางหนีจากความบัดซบหางานที่ได้เงินดีกว่านี้ให้พบ ชีวิตเอ็งก็จะโอเคเงิน ก็เหมือนเชื้อเพลิง สองมือโกยเงินซุกกระเป๋าให้มั่นรถคันใหม่ ไข่ปลาคาเวียร์ ใช้ชีวิตหรูหรายังกับฝันกลางวันหรืออาจจะซื้อทีมฟุตบอลสักทีมเงิน คือที่สุดของทุกสิ่งอย่าเสนอหน้ามาพร่ำบอกว่าต้องทำดีอย่างโง้นอย่างงี้เพราะพี่นั่งเครื่องบินเฟิร์สคลาสและยังอยากได้เครื่องบินส่วนตัวอีกสักลำเงินคืออาชญากรรมแบ่งสรรกันให้ลงตัวแต่อย่ามายุ่งกับส่วนของอั๊วเงิน เขาว่าเป็นบ่อเกิดของความชั่วร้ายทุกอย่างแต่ถ้าเอ็งจะขอขึ้นค่าจ้างก็อย่าแปลกใจว่าเขาจะไม่ให้สักแดง”(ถอดความจากบทเพลง Money โดยวงดนตรี Pink Floyd)
บางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า เงินคือพระเจ้า เพราะเงินสามารถดลบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างที่เราปรารถนา ไม่ว่าต้องการอะไรก็ซื้อหาได้ด้วยเงิน แต่บ้างก็กล่าวว่า เงินซื้อความรักไม่ได้ (แต่ที่แน่ๆ น่าจะซื้อปัจจัยที่ทำให้เกิดความรักได้อะนะ)
อำนาจอิทธิพลของเงินตราในโลกตะวันตก เริ่มต้นขึ้นเมื่อครั้งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในยุคกลาง มีการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตัวเองไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา ทำให้เกิดระบบการค้าที่ทันสมัย การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าใหม่ๆ ไปจนถึงระบบการเงินการธนาคาร การพัฒนาของเมือง การปฏิวัติทางเทคโนโลยี และการคิดค้นใหม่ๆ ระบบเศรษฐกิจแบบเงินตราส่งผลให้มีการถือกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลางที่ถอยห่างจากอำนาจการควบคุมเบ็ดเสร็จของกษัตริย์ ขุนนาง และศาสนจักรด้วยความที่เงินตราเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนปัจจัยในการดำรงชีวิต สิ่งของจำเป็นกลายเป็นสินค้าที่ซื้อหาได้ด้วยเงิน เงินตรากลายเป็นอำนาจใหม่ที่ทรงพลานุภาพ ถึงขนาดที่ถูกใช้เป็นใบเบิกทางไปหาพระเจ้าได้ เพราะแม้แต่บาป ก็ยังสามารถไถ่ถอนได้ด้วยการซื้อ ‘ใบบุญไถ่บาป’ จากศาสนจักร ในยุคก่อนการปฏิรูปคริสต์ศาสนาในศตวรรษที่สิบหกถึงแม้เงินตราจะมีอำนาจอิทธิพลมหาศาลปานนั้น แต่วัตถุที่เป็นตัวแทนของมันก็ช่างเปราะบางและมีอายุสั้นยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เงินตรากระดาษ หรือธนบัตร ที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘แบงค์’ ที่มีจุดเริ่มต้นเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรจีน เมื่อ ค.ศ.927-976 เรื่อยมาจนปัจจุบัน มนุษย์ใช้แค่กระดาษธรรมดาๆ ผลิตธนบัตรที่มีอำนาจการจับจ่ายใช้สอยราวกับเล่นแร่แปรธาตุแต่ธนบัตรเหล่านั้นก็อาจจะสูญสิ้นค่ากลายเป็นกระดาษเปล่าได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยความที่ค่าของเงินตรานั้นขึ้นอยู่กับอำนาจรัฐ เมื่อประเทศประสบภาวะรัฐล้มเหลว เศรษฐกิจล่มสลาย หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองธนบัตรเงินตราที่เคยมีค่าก็กลับกลายเป็นสิ่งด้อยค่ายิ่งกว่ากระดาษชำระไปได้ในทันใดตะวัน วัตุยา ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล จากผลงานภาพวาดสีน้ำมันและสีน้ำ สีสันจัดจ้าน ฝีแปรงเลื่อนไหล ฉับไว ไร้กรอบและกฎเกณฑ์ ที่ตีแผ่ยั่วเย้าความเป็นไปในสังคมไทยและโลกได้อย่างแสบสัน ในครั้งนี้ ตะวันถ่ายทอดประเด็นของอำนาจและความเปราะบางผันผวนของเงินตราผ่านผลงานชุดล่าสุดของเขาอย่าง ‘Money’ที่หยิบเอาธนบัตรหลากสกุลเงินจากทั่วโลก มาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในรูปแบบของผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ ทั้งธนบัตรจากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ธนบัตรที่มีมูลค่าตัวเลขต่ำไปจนถึงสูงที่สุด (ตั้งแต่ 0 ยูโร จนถึง 100,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว) ธนบัตรที่มีค่าเงินสูงที่สุด ไปจนถึงต่ำจนแทบจะไร้ค่า หรือธนบัตรที่มีรูปแบบ ดีไซน์ และสีสันแตกต่างกัน อีกทั้งธนบัตรในบางประเทศอาจแสดงภาพของกษัตริย์หรือผู้นำประเทศในปัจจุบันหรือในอดีต แต่ธนบัตรในบางประเทศกลับแสดงภาพของสามัญชนอย่างศิลปิน นักเขียน คีตกวี นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก ช่างทอ ฯลฯ รวมถึงบางธนบัตรก็แสดงภาพสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง หรือฉากภูมิทัศน์ในประวัติศาสตร์ ไปจนถึงภาพสัตว์บนธนบัตรก็ยังมี
ตะวันนำเสนอภาพของธนบัตรเหล่านี้ด้วยเทคนิคจิตรกรรมสีน้ำบนกระดาษทำมือขนาด 100 x 200 ซม.ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการถ่ายทอดข้อมูล รายละเอียด ตัวเลข และลวดลายต่างๆ บนธนบัตรอย่างค่อนข้างสมจริง เข้ากับการนำเสนอภาพของบุคคลหรือตัวละครเอกบนธนบัตรด้วยท่วงทีฝีแปรงอันอิสรเสรีโดยไม่ยืดติดกับความเหมือนจริงอย่างเคร่งครัด หากปล่อยให้คุณสมบัติอันเลื่อนไหลของสีน้ำจับเอาบุคลิกลักษณะเฉพาะของตัวละครเอกบนธนบัตรเหล่านี้แสดงออกมาอย่างพร่าเลือน ทว่าแม่นยำตะวันกล่าวถึงแรงบันดาลใจเริ่มต้นของผลงานชุดนี้ของเขาว่า “ผมสนใจในอัตลักษณ์ของแต่ละชนชาติ โดยเริ่มพัฒนาจากผลงานภาพวาดชุด ‘นางงาม’ ที่วาดผู้ชนะเลิศตำแหน่งนางสาวไทยทุกคนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หลังจากนั้นผมก็เริ่มหันมาวาดภาพชุด ‘QUEEN’ ที่เป็นภาพนางงามจากทั่วโลกประเทศละหนึ่งคน แล้วด้วยความที่ผมต้องเดินทางไปแสดงงานและเป็นศิลปินพำนักในหลายประเทศ จึงต้องถือเงินหลายสกุลในเวลาเดียวกัน บางครั้งผมเคยมีเงินสี่ห้าสกุลอยู่กับตัวพร้อมๆ กัน ทำให้ผมรู้สึกว่า ‘เงิน’ นั้นมีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจแรงบันดาลใจอีกอย่างมาจากข่าวที่ประเทศเวเนซุเอลาเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จนทำให้เงินมีค่าน้อยกว่ากระดาษชำระ ในข่าว คนไปซื้อกระดาษชำระม้วนหนึ่งต้องพกเงินไปเป็นปึก ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจว่าเงินสามารถไร้ค่าได้ขนาดนั้นหรือครั้งหนึ่งผมเคยมีเงินฮังการีอยู่กับตัว พอผ่านไปสองปีแล้วได้กลับไปที่นั่นอีกครั้ง เงินตัวนี้ถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว แล้วพอเงินถูกยกเลิก ก็กลายเป็นของไร้ค่ายิ่งกว่ากระดาษเปล่า เอาไปซื้อหาหรือแลกอะไรไม่ได้ ต้องทำลายทิ้งอย่างเดียว นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้ผมลองวาดภาพเงินขึ้นมา”สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในผลงานชุดนี้ของตะวันก็คือ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน จากการเป็นศิลปินฉายเดี่ยวทำงานคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ หันมาทำงานเป็นทีม โดยมีผู้ช่วยหลายชีวิตช่วยสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาร่วมกันกับเขา”ตอนแรกผมลองวาดภาพคนเดียวทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นผลงานที่เป็นสไตล์ของตัวเองดี แต่ในทางกลับกัน ในธนบัตรนอกจากจะบรรจุด้วยภาพพอร์ทเทรตของตัวละครเอกแล้ว ยังมีโลโก้ ชนิดเงิน ตัวเลขจำนวนเงิน และลายเซ็นต่างๆ ที่เป็นรูปแบบบังคับอยู่ ทำให้ผมไม่สนุกกับการวาดสักเท่าไหร่ผลงานในชุดนี้จึงเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มใช้ทีมงานมาช่วยวาดภาพ ถ้าจะให้เปรียบก็น่าจะคล้ายกับการวาดโปสเตอร์หนังที่มีผู้ช่วยวาดฉากหลัง ทิวทัศน์ ต้นไม้ ภูเขา หรือชื่อหนังและนักแสดง แล้วนายช่างก็ค่อยมาวาดภาพพระเอกนางเอกลงไปทีหลัง แต่ผมก็เปิดโอกาสให้เขาทำงานในสไตล์ของตัวเอง แล้วค่อยๆ ปรับเข้าหากัน ผลงานชุดนี้จึงมีอัตลักษณ์และลายมือของทีมงานและตัวผมรวมอยู่ด้วยกัน”ตะวันยังสอดแทรกมุมมองของเขาเกี่ยวกับยุคสมัยของระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล กับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกของ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากระบบเงินสดมาเป็นสกุลเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็วว่า”จริงๆ ผมรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่ก่อนการระบาดของ COVID-19 เสียอีก ครั้งหนึ่งผมไปเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน แล้วพบว่าคนจีนที่นั่นไม่ใช้เงินสดกันแล้ว แต่ทุกคนใช้เงินดิจิทัลในแอป Alipay หรือ WeChat Pay กันหมด พอผมถือเงินสดไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต กลับกลายเป็นเราไปสร้างปัญหาให้เขา เพราะว่าเขาต้องหาเงินทอนไงแล้วคนจีนเนี่ย เวลาเป็นเงินเป็นทอง เขาต้องรีบ เขาก็หยิบของมาสแกนจ่ายเงินออนไลน์เองแล้วก็ไป กว่าพนักงานจะทอนเงินให้ผมเสร็จ มีคนซื้อของจ่ายเงินเสร็จไปแล้วไม่รู้กี่คน เลยทำให้ผมรู้สึกว่า ต่อไปเงินสดที่เราถืออยู่ในมือก็คงถูกยกเลิก ไม่มีใช้กันอีกต่อไป ทำให้รู้สึกสะท้อนใจอยู่เหมือนกัน”ในอดีต ศิลปินป๊อปอาร์ตอย่าง แอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) หยิบเอาเครื่องหมายและแบงค์ดอลลาร์มาทำเป็นงานศิลปะ เพื่อแสดงออกถึงความหลงใหลในเงินทองและสดุดีวิถีชีวิตแบบทุนนิยมของอเมริกันชนที่เคยถูกรังเกียจและหยามหมิ่นในโลกศิลปะอย่างเฉิดฉายเรืองรอง ในขณะที่ ตะวัน วัตุยาสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดธนบัตรหลายสัญชาติหลากสกุล เพื่อสะท้อนถึงความย้อนแย้งในพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของเงินตรา และความผันผวนไม่จีรังยั่งยืนของมันได้อย่างลุ่มลึกเปี่ยมพลังเป็นอย่างยิ่ง.Money โดย ตะวัน วัตุยา เป็นหนึ่งในผลงานที่ร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020’ จัดแสดง ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2563 – 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
- หมายเหตุ ในวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 จะมีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “มันนี่” โดย ตะวัน วัตุยา ที่รวบรวมผลงานในชุดนี้ทั้งหมดกว่า 70 ชิ้น พร้อมข้อเขียนจาก ผาสุก พงศ์ไพจิตร, คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง นักประวัติศาสตร์ นักเขียน นักแปล, และ ผศ.วุฒิกร คงคา คิวเรเตอร์งานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 โดยจัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมพูดคุยโดย ผศ.วุฒิกร คงคา, ประกิต กอบกิจวัฒนา และ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ เวลา 16.00-17.00 ในบริเวณจัดแสดงนิทรรศการชั้น 7 และเวลา 17.00-18.00 ณ ร้านหนังสือบุ๊คโมบี้ ชั้น 4, สามารถลงทะเบียนสำรองที่นั่งเพื่อรับของที่ระลึกพิเศษที่ 091 891 3906, หรือส่งข้อความที่ Bookmoby
อ้างอิงข้อมูลจากบทความประกอบหนังสือ “มันนี่” โดย ผาสุก พงศ์ไพจิตร, คริส เบเคอร์ และ ผศ.วุฒิกร คงคาบทสัมภาษณ์ศิลปิน ตะวัน วัตุยาหนังสือ โลกของโซฟี เขียนโดย โยสไตน์ กอร์เดอร์ แปลโดย สายพิณ ศุพุทธมงคล.