[คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อเรื่องหลักบางตอนของ L.A. Noire]
คดีก็ปิดแล้ว อัยการพอใจ ผู้กองหัวร่อร่า เพื่อนๆ ตำรวจใน สน. ก็บอกว่าจะพาผมไปเลี้ยงเบียร์ แล้วทำไมผมถึงได้รู้สึกร้อนรนหัวเสียอยู่นะ เหมือนผมมองข้ามอะไรสักอย่างไป ให้ตายสิ
ผมสอบปากคำไม่ทันไร ไอ้เวร อีไล รูนีย์ ก็ยอมรับว่าเป็นคนเก็บเข็มกลัดผีเสื้อของผู้ตาย บอกว่าจะเอาไปจำนำแลกเงิน แถมยังยอมรับว่าเต๊าะเด็ก เห็นเด็กแล้วเกิดอารมณ์ แม่งโคตรน่าคลื่นไส้เลยคนแบบนี้ รัสตี้คู่หูผมเกือบชกมันหลายทีแล้ว ดีว่าสะกดอารมณ์ไว้ทัน
ชุดคนงานเปื้อนเลือดนั่นก็ไซส์มันพอดี จริงอยู่ที่เราไม่เจอมูลเหตุจูงใจที่ชัดเจนว่าทำไมมันต้องฆ่าเธอ แต่พยานแวดล้อมก็พอแล้ว มันจะยืนกรานเสียงแข็งกระต่ายขาเดียวยังไงก็ไม่น่ารอด แค่ศาลกับลูกขุนเห็นประวัติของไอ้หมอนี่ ผมว่าชั่วโมงเดียวก็เหลือแหล่
แล้วทำไมถึงยังรู้สึกตะหงิดๆ อย่างนี้นะ ไม่รู้ทำไม คำพูดของผู้กอง “ผมรู้จักไอ้เหี้ยตัวนี้ดี ไม่ว่าคดีนี้จะไปทางไหน เชื่อเหอะว่าผมจะจัดการมันด้วยตัวเอง” ดังก้องอยู่ในหัวของผมตลอดทางไปงานฉลองที่บาร์ประจำของพวกเรา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา การทุจริตคอร์รัปชั่นดูจะระบาดหนักขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ทั้งในแวดวงการเมือง ราชการ เอกชน แทบทุกวงการดูจะเต็มไปด้วยกรณีอื้อฉาว อยู่ที่ว่าเรื่องไหนจะตกเป็นข่าว เรื่องไหนถูก ‘คนใน’ กวาดเข้าใต้พรม ขณะที่ตัวเองก่นด่าความสามานย์ของวงการอื่น
ไม่เพียงแต่คอร์รัปชั่นเท่านั้นที่รุนแรงขึ้น แต่ ‘กระบวนการยุติธรรม’ ที่ถูกคาดหวังว่าจะจัดการกับการทุจริต ก็ถูกตั้งคำถามดังขึ้นเรื่อยๆ อีกเช่นกัน หลายกรณีส่อว่ามีความไม่โปร่งใส การเลือกปฏิบัติ และ/หรือความไม่ชอบธรรมในกระบวนการ ตั้งแต่กรณีที่ผู้ต้องหาตายเพราะ ‘ติดเชื้อในกระแสเลือด’ อย่างลึกลับในค่ายทหารหรือเรือนจำ เรื่อยไปจนถึงการจับ ‘แพะ’ หรือ ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ ที่ต้องโทษหนักหนาสาหัส ในขณะที่ ‘ปลาใหญ่’ ผู้บงการตัวจริงกลับลอยนวลเข้ากลีบเมฆ หรือไม่ก็ไม่ถูกเรียกมาสอบสวนเลยตั้งแต่ต้น
ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้วลี ‘คุกไทยมีไว้ขังเฉพาะคนจน’ ยังคงดังก้องกังวานไม่เสื่อมคลาย
เวลาถกกันเรื่องคอร์รัปชั่นในสังคมไทย เรามักจะได้ยินเสียงเรียกร้องให้ทางการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น เพิ่มทรัพยากรให้เจ้าหน้าที่ปราบปรามมากขึ้น แต่น้อยครั้งที่เราจะถกกันเรื่อง ‘วัฒนธรรม’ ที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่น สร้างแรงจูงใจให้คนทุจริตหรือมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริต ทั้งที่มันสำคัญไม่แพ้กัน
อาจารย์ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่อง‘พฤติกรรมโกง’ในสังคมไทย เคยอธิบายอย่างเห็นภาพว่า
“สิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความหมายของคนดีแบบที่สังคมไทยให้คุณค่าคือ แนวคิดที่เรียกว่า Familismหรือความรู้สึกของความเป็นครอบครัว ซึ่งอาจเกี่ยวพันหรือไม่เกี่ยวพันกันโดยสายเลือดก็ได้ เมื่อเรานับถือเอาคนที่มีบุญคุณ เป็นเพื่อนในกลุ่ม หรือรุ่นพี่ที่นับถือเข้ามาเสมือนเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกที่จะ ‘เลือกปฏิบัติ’ ให้ความสัมพันธ์กับคนที่รู้สึกเป็นครอบครัวมากกว่า
“ในขณะที่เราสร้างความสัมพันธ์แบบ Familism กับคนกลุ่มหนึ่ง นั่นหมายความว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้นจะไม่มีความสำคัญกับเรา ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่ากระบวนการ Alienation หรือการทำให้เป็นอื่น ทั้งสองกระบวนการนี้มีส่วนให้การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นในสังคม
“การที่สังคมไทยมีแนวคิดเรื่อง Familism เป็นหลัก ช่วยให้การโกงหรือคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น พ่ออาจยอมติดสินบนช่วยให้ลูกที่ขับรถชนคนตายพ้นจากคดีความ โดยไม่สนใจว่าจะทำลายกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และไม่สนใจว่าความอยุติธรรมจะสร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัวอื่นมากแค่ไหน เพียงแค่ขอให้ลูกตัวเองรอด ที่จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นลูก แต่เป็นเพื่อนสนิทหรือผู้มีพระคุณก็ได้เช่นกัน”
“คนแต่ละคนจะยอมรับการทำชั่วในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับบางคน หากทำดีมาเยอะๆ เขาอาจจะคิดว่าทำชั่วนิดหน่อยก็ไม่เป็นอะไร เพราะการทำดีสามารถไป ‘ชดเชย’ ความชั่วนั้นได้ ทั้งๆ ที่มันเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกสิ่งนี้ว่า Moral Licensing หรือใบอนุญาตทำชั่ว
“ในสังคมไทย การเข้าวัดไปทำบุญเป็นการทำบุญทำความดีในรูปแบบหนึ่ง วัดเลยกลายเป็นสถาบันที่ทำให้การโกงดำรงอยู่โดยไม่ตั้งใจ เราจะได้เห็นคนที่โกงเงินจากคนอื่นที่เจียดเงินนั้นไปทำบุญให้วัด หรือเห็นคนที่ขับรถชนคนตายเอาเงินไปทำบุญ แทนที่จะจ่ายค่าสินไหมให้อีกครอบครัว”
วัฒนธรรมหรือค่านิยมที่เอื้อต่อการโกงเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ในหลากหลายบริบทด้วยกัน และผู้เขียนก็ไม่รู้จักเกมไหนที่ทำให้เราฉุกคิดถึงเรื่องนี้ รวมถึงผลกระทบของวัฒนธรรมต่อชีวิตและวิธีคิดของปัจเจกที่ใช้ชีวิตในระบบ ได้ดีไปกว่า L.A. Noire เกมเก่า (2011) แต่คลาสสิกไม่เสื่อมคลาย จาก Team Bondi อดีตสตูดิโออินดี้จากออสเตรเลีย จัดจำหน่ายโดย Rockstar Games
เกมนี้ให้เราเล่นเป็น โคล เฟลบ์ส์ (Cole Phelps) ฮีโร่จากสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ผันตัวมาเป็นตำรวจใหม่หมาดในมหานครลอสแองเจลิสยุคทศวรรษ 1950 ใครที่คุ้นชินกับ Grand Theft Auto ซีรีส์เกมดังจาก Rockstarจะคุ้นกับรูปแบบเกมยิงบุคคลที่หนึ่ง หลายตอนในเกมนี้ต้องขับรถ (ซึ่งก็มีให้ขับหลากหลาย ไม่เฉพาะแต่รถตำรวจ) และชักปืนออกมายิงผู้ต้องสงสัย แต่ระบบเกมหลักๆ ใน L.A. Noire ชัดเจนว่านี่ไม่ใช่เกมแอคชั่น แต่เป็นเกมผจญภัย เพราะเฟลบ์ส์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในเกมควานหาเบาะแสในคดีด้วยการสำรวจสถานที่เกิดเหตุ และ ‘สอบปากคำ’ พยานและผู้ต้องสงสัย ฉากแอคชั่นส่วนใหญ่เป็นเพียงคดีเสริมที่เราได้ยินผ่านวิทยุตำรวจ เช่น จับขโมย เราจะทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องหลักแต่อย่างใด
ฉากสอบปากคำนับเป็นไฮไลท์ของ L.A. Noire เพราะโชว์เทคโนโลยีแสดงสีหน้าและอารมณ์ของตัวละครที่สมจริงกว่าเกมอื่นทั้งหมดในประวัติศาสตร์เกม แถมต่อมาอีกหลายปีก็ยังไม่มีเกมไหนทำได้ดีเท่า ‘ภาษากาย’ ของตัวละครในเกมสำคัญมากเพราะเป็นเบาะแสว่าเราควรจะมีปฏิกิริยาแบบไหนต่อคำให้การ จะเชื่อว่าเขาหรือเธอกำลัง ‘พูดความจริง’ (truth) ‘พูดโกหก’ (lie) หรือแสดงความ ‘ข้องใจ’ (doubt) ถ้าเราเลือก ‘พูดโกหก’ เราจะต้องระบุข้อมูลจากสมุดบันทึกที่ขัดแย้งกับคำให้การ เพื่อพิสูจน์ว่าโกหก
ความเจ๋งที่ลึกซึ้งของ L.A. Noire ไม่ได้อยู่ในเทคโนโลยีแสดงสีหน้า ทว่าอยู่ในวิธีที่เกมนี้สะท้อน ‘วัฒนธรรม’ ของการทุจริตคอร์รัปชั่น ผ่านการฉายประวัติและพฤติกรรมของเฟลบ์ส์ ในฐานะปัจเจกบุคคลหนึ่งคนในระบบ แถมยังเป็นคนที่มีหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชั่น
ช่วงแรกๆ ในเกมนี้เราจะรู้สึกดี เพราะเฟลบ์ส์ในฐานะตำรวจจราจรทำทุกอย่างถูกต้องตามระบบ เป็นตำรวจตงฉินที่เรียบร้อยไร้พิษภัย เราจะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติเมื่อเขาได้รับการเลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวน ดูแลคดีฆาตกรรม
ในคดีฆาตกรรมหญิงสาว ถึงแม้เราหรือเฟลบ์ส์จะรู้อยู่เต็มอกว่ามีแต่เพียงพยานหลักฐานแวดล้อม ก็ชัดเจนว่าผู้กองอยากให้เรากล่าวหาอีไล ผู้ต้องหาหลักในคดี สีหน้าและคำผรุสวาทจากเพื่อนตำรวจคนอื่นๆ ชี้ชัดว่าพวกเขารู้สึกเหมือนกัน อีไลเป็นคนน่ารังเกียจ นอกจากจะไม่ปิดบังว่าชอบมีเซ็กซ์กับเด็ก ยังโอ้อวดรสนิยมวิตถารของตัวเองออกนอกหน้า
อย่างไรก็ดี พยานหลักฐานดูจะชี้ตัวฮิวโก้ ผู้ต้องสงสัยอีกคนมากกว่า แต่ถ้าเราเลือกฟ้องฮิวโก้ในเกม ผู้กองก็จะผิดหวังกับเรามาก แถมระบบเกมก็จะ‘ลงโทษ’ ด้วยการให้คะแนนเราเพียง 3 ดาว จากคะแนนเต็ม 5 ดาว ต่อให้เราทำทุกอย่างถูกต้องมาตลอดทั้งคดี ไม่มีพลาดเบาะแสอะไรเลย
ที่แย่กว่านั้นคือ ผ่านมาอีกหลายคดีฆาตกรรมที่ดูผิวเผินไม่เชื่อมโยงกัน แต่เอาเข้าจริงเป็นฝีมือของฆาตกรต่อเนื่องคนเดียวกัน เราจึงจะถึงบางอ้อว่า ฮิวโก้ซึ่งดูน่าสงสัยกว่าอีไลหลายเท่ากลับกลายเป็นว่าไม่ใช่คนร้ายเช่นกัน ฆาตกรตัวจริงคือน้องชายต่างมารดาของนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ เราไม่รู้ว่าเป็นใครแต่ทรงอิทธิพลเหนือตำรวจทั้งกรม อีไลและผู้ต้องสงสัยคนอื่นๆ ถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ และความจริงก็ถูกกลบอย่างมิดชิด รับรู้กันอยู่ไม่กี่คน
คนร้ายตัวจริงเกือบจะลอยนวลไปตลอดกาลอยู่แล้วเพราะเส้นใหญ่ ถ้าไม่ใช่เพราะฉากสุดท้ายที่เฟลบ์ส์จำใจต้องดวลปืนกับเขาจนจับตายในที่สุด
ยิ่งเล่นเรายิ่งถึงบางอ้อว่า การเลื่อนตำแหน่งของเฟลบ์ส์ และการได้คะแนนของเราในฐานะคนเล่น ไม่ได้มาจากการทำหน้าที่ตำรวจอย่างถูกต้องตามหลักที่พึงทำ หากแต่มาจากการ ‘เอาใจเจ้านาย’ ทุกทางที่พวกเขาต้องการให้เราเอาใจ
ก้มหัวยอมรับอิทธิพลเหมือนเป็นฟันเฟืองเซื่องๆ ตัวหนึ่งในระบบ ในโลกของตำรวจเมืองลอสแองเจลิส ซึ่งเราจะพบในคดีหลังๆ ว่าเต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ต่างจากเหล่ามาเฟียที่พวกเขามีหน้าที่ปราบปราม
เนื่องจากเราเลือกสำรวจได้แต่ฉากที่เกมวางไว้ให้ L.A Noire จึงเท่ากับบังคับให้เราค้นเจอแต่เบาะแสดาดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคดี หรือชี้นำให้เราหลงทาง จับคนที่อาจมีนิสัยน่ารังเกียจเหมือนอีไล แต่ไม่ใช่คนร้ายตัวจริง
เกมนี้บังคับให้เราจับคนผิด และให้รางวัลงามๆ เมื่อเราทำผิด การทำหน้าที่ ‘เจ้าพนักงานสอบสวน’ ของเราไม่เกี่ยวอะไรกับการค้นหาความจริง เพียงแต่เป็นเรื่องของตัวเลข ตั้งแต่การทำคะแนน การติ๊กถูกให้ครบทุกช่องตามที่เจ้านายต้องการ และหาพยานหลักฐานแวดล้อมมามากพอที่จะให้อัยการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา (ซึ่งตำรวจทั้งกรมปักใจเชื่อว่าผิดชัวร์จากประวัติอันเลวร้ายในอดีต) ต่อไป ไม่ต้องสนใจว่าหลักฐานเหล่านั้นถูกต้องหรือแน่นหนาเพียงใด
และแน่นอน เราต้องทำทั้งหมดนี้ด้วยต้นทุนที่ถูกที่สุดสำหรับเทศบาลนครลอสแองเจลิส เพราะยิ่งเราขับรถโหลยโท่ย แฉลบชนหรือพุ่งใส่หน้าร้าน เสาไฟฟ้า ทรัพย์สิน หรือคนเดินถนน ตัวเลขความเสียหายจะยิ่งสูง และเราจะถูกหักแต้มในฉากสรุปคดี
ถ้าหากเราเล่น L.A. Noire โดยไม่คิดอะไรมาก คิดแต่เพียงว่ามันเป็นแค่เกมเกมหนึ่งที่เราอยากทำแต้มให้ได้มากที่สุด ระหว่างที่ทำเซ็ตคดีฆาตกรรมเราก็จะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงอะไร รู้สึก ‘ฟิน’ เสียด้วยซ้ำทุกครั้งที่เห็นเกมขึ้นสถิติ “4/4ถูกต้อง” หลังจากที่ตะคอกใส่ผู้ต้องหาที่ลนลานจนคายข้อมูลออกมา บอกว่าเราเจอเบาะแสครบถ้วนสมบูรณ์แบบ “14/14” และแน่นอนว่า ที่ฟินที่สุดก็คือเวลาเห็นสแตมป์ห้าดาวเต็มห้าบนสมุดรายงาน ปิดคดีอย่างสวยงามก่อนที่จะเริ่มสอบสวนคดีต่อไป
เราจะคิดมากทำไม ในเมื่อผู้กองแฮปปี้ เพื่อนตำรวจด้วยกันไชโยโห่ร้องว่าเราคือฮีโร่ และอัยการก็มั่นใจว่าสำนวนที่ทำมานั้นแน่นหนาพอแล้วที่จะเอาตัวผู้ต้องหาเข้าคุก
จะต้องไปสนใจทำไมว่า ‘มัน’ ทำผิดในคดีนี้จริงหรือเปล่า ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า ‘มัน’ คือ ‘คนเลว’ ?
แต่ความเจ๋งที่น่าชื่นชมของ L.A. Noire ก็คือ เกมไม่ปล่อยให้เราสบายใจได้นาน เพราะเส้นเรื่องจะเผยให้เห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า คะแนนเต็มของเรานั้นขัดแย้งสวนทางกับความจริง
กว่าจะถึงคดีสุดท้ายของเฟลบ์ส์ในฐานะนักสึบโต๊ะฆาตกรรม เราคนเล่นก็จะทวีความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจจนมีอารมณ์ร่วมกับเฟลบ์ส์เมื่อเขาค้นพบความจริงว่า ความเป็น ‘ตำรวจดี’ ที่ระบบตำรวจพยายามตกรางวัลให้เขาเชื่อนั้น แท้ที่จริงกลับไม่ใช่เลย ความจริงเขาคือ ‘ตำรวจเลว’ ที่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ทรงอิทธิพล ที่จงใจกวาดล้าง ‘เดนคน’ ที่พวกเขาตราหน้าว่าไร้ค่าไร้ประโยชน์ออกจากแสงสีมลังเมลืองของเมืองลอสแองเจลิส มหานครแห่งมายา ไม่ว่าจะด้วยเล่ห์กระเท่ห์หรือการหาข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ มาเล่นงาน
‘รางวัล’ ที่เฟลบ์ส์ได้รับ หลังฉากสุดท้ายของโต๊ะคดีฆาตกรรม หลังจากที่เขาจับตายผู้ร้ายตัวจริงที่จะไม่มีวันได้ขึ้นศาลหรือเข้าคุกชดใช้กรรม ถูกปล่อยให้ลอยนวลอยู่นานเพียงเพราะเป็นญาติของผู้ทรงอิทธิพล ก็คือการได้เลื่อนขั้นไปอยู่ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด
การย้ายจากคดีฆาตกรรมไปดูคดียาเสพติด นับเป็นจุดเปลี่ยนเข้าสู่เนื้อเรื่องช่วงสุดท้ายของ L.A. Noire และเป็นการเลื่อนขั้นที่ทำให้เฟลบ์ส์และเราคนเล่นรู้สึกว่างโหวงและไม่คู่ควร แถมฝ่ายใหม่นี้จะยิ่งเปิดโปงให้เราเห็นความเหลวแหลกและซึมลึกของคอร์รัปชั่นในระบบตำรวจ ระบบการเมือง และระบบราชการในมหานครลอสแองเจลิสยิ่งกว่าเดิม
ยิ่งเล่น เราไม่เพียงแต่พบความเลวร้ายของคอร์รัปชั่นของเหล่า ‘คนดี’ ผู้มีอิทธิพล แต่ยังจะยิ่งหงุดหงิดกับท่าทีของเฟลบ์ส์ ซึ่งบรรดาฉากย้อนอดีตหรือ flashbackจะเผยให้เห็นว่าไม่ได้เป็นคนใสซื่อบริสุทธิ์อย่างที่เราคิดตอนเริ่มเกม เราจะเริ่มสังเกตว่าเฟลบ์ส์บางครั้งก็ฉุนเฉียว อยากตั้งคำถามกับผู้บังคับบัญชา แต่สุดท้ายก็ยอมทำตามคำสั่งอย่างง่ายดาย
เราในฐานะคนเล่นทำอะไรไม่ได้ เพราะเลือกได้แต่จากรายการตัวเลือกที่จำกัดจำเขี่ยมากๆ และไม่นำทางไปสู่ความจริง ไร้ซึ่งอำนาจต่อรองใดๆ ในระบบที่ตอบสนองต่อเป้าหมายของบรรดาชนชั้นนำเป็นหลัก
ราวกับเกมจะบอกเราว่า ตราบใดที่เฟลบ์ส์ยังเป็นตำรวจ ตราบใดที่เขายังอยู่ในระบบ ตราบนั้นเขาก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
เราจะได้เข้าถึงส่วนเสี้ยวที่ลึกกว่าเดิมของความจริง เปิดโปงแผนอื้อฉาวที่ชนชั้นนำในเมืองสมคบคิดกันทุจริต ก็ต่อเมื่อเกมเปลี่ยนมุมมองใหม่ ให้เราควบคุม แจ็ค เคลโซ (Jack Kelso) อดีตเพื่อนร่วมรบของเฟลบ์ส์ที่แตกคอกัน วันนี้เขาผันตัวมาเป็นเจ้าหน้าที่ประกัน ทำงานในบริษัทประกันเอกชนในเมืองเดียวกัน
ต่อเมื่อเราเล่นเป็นเคลโซเท่านั้น ที่เราจะได้เห็น ‘ภาพใหญ่’ อย่างแจ่มชัดกว่าเดิมว่าเกิดอะไรขึ้น
ผ่านสายตาของเคลโซอีกเช่นกันที่เราจะได้ปะติดปะต่ออดีตอันดำมืดของเฟลบ์ส์สมัยสงคราม ความกระหายอยากได้ชื่อว่า ‘ฮีโร่’ อยากได้คำสรรเสริญจากผู้บังคับบัญชาเป็นแรงจูงใจให้เขากระทำบาปมหันต์ และแรงจูงใจเดียวกันนั้นเองก็ส่งผลลัพธ์ไม่ต่างกันนักเมื่อเขามาเป็นตำรวจ
ต่างกันตรงที่คราวนี้เฟลบ์ส์รู้ดีแล้วว่าการทำงานเป็นฟันเฟือง เชื่องและเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาไปวันๆ โดยไม่ตั้งคำถามนั้น ไม่มีวันทำให้เขารักษามโนธรรมภายในจิตใจได้ ไม่ว่าจะได้ดาวหรือบั้งติดบ่ามากี่อัน
ฉากจบอันแสนเศร้าแต่เข้าถึงความเป็นมนุษย์ของ L.A. Noire ราวกับจะตอกย้ำอีกครั้งว่า การพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจากภายในระบบ โดยเฉพาะการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น ไม่มีวันเป็นไปได้จริง ตราบใดที่ ‘คนใน’ ไม่ยอมโปร่งใส ไม่ยอมเปิดให้ ‘คนนอก’ ได้เข้าไปตรวจสอบ
L.A. Noire ยังบอกเราด้วยว่า การที่คนพร้อมใจกัน ‘อยู่เป็น’ โดยไม่เรียกร้องให้คนที่มีอำนาจสั่งการต้องรับผิดชอบใดๆ กับคำสั่งของตัวเองนั้น ไม่มีวันสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมได้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้อง ‘เข้าใจ’ สถานการณ์ ข้อจำกัด และแรงจูงใจของคนที่จำใจทำงานในระบบอันเหลวแหลกนี้เช่นกัน