ณ เพลาสุดสัปดาห์ เพื่อนเก้งกวางกะเทยหลายนางก็แปลงกายเป็นพระมหาเทวีเจ้า เจ้านางอนัญทิพย์ อีตองนวล อีริมบึง ตั้งคุ้มต่างๆ ทั้งใน Facebook, Twitter, Line group จะเขี่ยนิ้วไปไหนก็เห็นแต่บรรดาเจ้านางถือฉัตรกันรังสี UV ประดับลูกไม้เสด็จกรุยกรายเต็มไปหมด
ดูเหมือนว่าต้นปี 2560 จะเป็นโอกาสทองของค่ายกันตนากับการผลิตบรรทัดฐานวัฒนธรรมย่อยเพื่อชะนีแรง กะเทย เก้งกวางอยากเป็นตัวแม่ ไหนจะ ‘The Face Thailand’ ไหนจะ ‘เพลิงพระนาง’ ที่ถ้าไม่ดูแล้วจะคุยกับเพื่อนสาวไม่รู้เรื่อง จนกลายเป็นชายขอบในชายขอบอีกที
ทั้งๆ ที่พี่ช่าเตือนแล้วว่า ‘อย่าอินเกิน’
‘เพลิงพระนาง’ (2539, 2560) เป็นอีกละครพีเรียดล้านนา เช่นเดียวกับ ‘เจ้านาง’ (2537, 2558) ‘ศิลามณี’ (2537, 2551) ‘รากนครา’ (2543, 2560) ‘บ่วงบรรจถรณ์’ (2545, 2560) ‘รอยไหม’ (2554) บางเรื่องรีเมคเก้งกวางกี่ยุคกี่สมัยก็อินตาม เพลิงพระนางนี่ก็อินตั้งแต่เวอร์ชั่นชไมพร จตุรภุช ปะทะ ปรียานุช ปานประดับแล้ว
ดูเหมือนว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบล้านนาโบราณจะได้รับความนิยมและแพร่หลายมากกว่าภาคอื่นๆ ตามสื่อละครที่ผลิตจากภาคกลางหรือในอีกความหมายหนึ่ง โดยกรุงเทพ ในประเทศที่รวมศูนย์อำนาจเศรษฐกิจการเมือง กระจุกทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง และสร้าง stereotype ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นแบบกว้างๆ ง่ายๆ ให้เป็นเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้
และคงเพราะถูกผลิตซ้ำบ่อยสุดกว่าภาคอื่น กลุ่มผู้ชมประเภทเก้งกวางกะเทยก็โปรดวัฒนธรรมภูมิภาคนี้มากกว่าภาคอื่นๆ ถ้าไม่เป็นเจ้านางคุ้มนั้นคุ้มนี้ ก็ใส่กล่องนม สถาปนาเป็นพระนางจิรประภาเทวีไปเลย แม้จะมีกลุ่มอินขอมขแมร์ เป็นพันทุมเทวี ยโสธระเทวีบ้างอะไรบ้าง แต่ยังแรงไม่พอ ยิ่งกลุ่มวัฒนธรรมปักษ์ใต้ โนราห์นี่ก็ยังไม่ปังเท่า เต้นรองเง็ง รำตารีกีปัสนี่แทบไม่เห็นเลย ราชินีอาณาจักรปาตานี รายากูนิง รายาฮีเจา อะไรก็ไม่รู้จัก
หรือจะให้ตุ๊ดเล่นวัวชนก็ไม่ไหวป่าวคะ
เพราะว่าทันทีที่พูดถึงอาณาจักรเชียงใหม่ล้านนาน่านเจ้าเชียงรุ้งเชียงตุงอะไรพวกนี้แล้ว ก็แทบจะเห็นนกกิงกะหร่าสยายปีกร่อนลงมาจากยอดดอย ไม่ก็ภาพเจ้าดารารัศมีลอยมาจากตำหนัก เต็มไปด้วยจริตราชสำนัก รำฟ้อน อ่อนช้อยนวยนวด ต๊ะต่อนยอน และผูกโยงกับ ‘ความเป็นหญิง’
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความเป็นล้านนา’ ในละครระเม็งของคนกรุงเทพฯ ที่คนกรุงเทพฯเข้าใจ อยากจะเห็นเพื่อความบันเทิง หรืออย่างน้อยที่สุดอยากให้เห็น และแม้ผู้ชมจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯทั้งหมด แต่ก็เสพสื่อที่ผลิตผ่านเลนส์หรือสำนึกที่มีมาตลอดว่ากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง
หากมองแบบหลังอาณานิคม (post-colonialism) สยามที่เป็นประเทศกึ่งอาณานิคมและพยายามพัฒนาให้ศิวิไลซ์เหมือนตะวันตก ก็ได้จำลองตนเองเสมือนจักรวรรดินิยมตะวันตก รวบรัฐจารีตล้านนาจากที่เป็นประเทศราชให้มาเป็นจังหวัดท้องถิ่นหนึ่งของตน อยู่ภายใต้อำนาจรัฐบาลกรุงเทพฯ เมื่อมีการปักปันเขตแดนเป็นรัฐชาติ ขณะเดียวกันสยามก็มองล้านนาไม่ต่างไปจากชนพื้นเมืองภายใต้อาณานิคม สายตาเดียวกับจักรวรรดิอังกฤษมองอินเดียและพม่า ในวรรณกรรมอังกฤษยุคล่าอาณานิคม ชายชาวอินเดียมีภาพของคนไม่ทะเยอทะยาน อ่อนแอ ไม่กล้าหาญ และเหมือนผู้หญิง ในสำนึกแบบขั้วตรงข้ามที่ว่าผู้ชายเข้มแข็งทรงพลัง ผู้หญิงอ่อนด้อยอ่อนแอ
คนเชียงใหม่ก็เช่นกัน ที่มีแต่ภาพของผู้หญิง สาวเครือฟ้า (ซึ่งก็เป็นบทละครร้อง แปลงมาจาก ‘Madama Butterfly’ โดยชนชั้นนำกรุงเทพฯในยุคล่าอาณานิคมตะวันตกและในช่วงที่สยามก็รวบเอาอาณาจักรล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสยาม), สาวบัวบาน, สาวเวียงพิงค์ในเพลง ‘ล่องแม่ปิง’ ที่ต้องฮักศักดิ์ศรีของกุลสตรีแม่ย่าแม่หญิง กับพล็อตเรื่องเจ้าหญิงเมืองเหนือแต่งงานกับพระเอกชนชั้นสูงกรุงเทพฯ หรือหญิงชาวบ้านชนพื้นเมืองหลงรักกับข้าราชการชายจากบางกอก
ละครพีเรียดล้านนา ตัวละครนักแสดงหญิงจึงมักเด่นกว่าเสมอ ถ้าไม่ใช่นางเอก นางร้าย ก็บทผีสาง
ด้วยสาเหตุใกล้เคียงกัน ละครเนื้อเรื่องแบบอีสานๆ ล้านช้างๆ อย่าง ‘นาคี’ เวอร์ชั่น 2016 ทางโปรดักชั่นจึงเลือกใช้ภาษาอีสานสำเนียงอุบล เพราะเชื่อว่าเป็นสำเนียงอ่อนช้อย ไพเราะ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เรตติ้งแรง เก้งกวางกะเทยก็อินตลอดปลายปี 2559 จำลองตัวเองเป็นหญิงพื้นเมือง
วัฒนธรรมท้องถิ่นในทีวี มันจึงเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม (Cultural artifact) ที่เต็มไปด้วยมายาคติ เช่นว่าล้านนามี ‘ความเป็นหญิง’ แสนจะชะมดชะม้อยอ่อนช้อย ตรงกันข้ามกับปักษ์ใต้ที่ถึก ดุดันขึงขัง วัวชน มี ‘ความเป็นชาย’ ขณะที่อีสาน ‘รื่นเริงครื้นเครงตลกโปกฮา’ ผ่านการนำเสนอภาพตัวแทน (representation) ซึ่งเป็นชุดความหมายอัตลักษณ์ที่มาจากกระบวนการเลือกเฟ้นคุณลักษณ์บางประการหยิบมาเรียบเรียง ขับเน้น เบลอคุณลักษณ์อื่นไม่ให้เห็นแล้วก็นำเสนอใหม่ จนราวกับว่าเป็นตัวแทนของทั้งหมด ความหมายในภาพตัวแทนจึงมีมายาคติ (myth) และเกี่ยวข้องกับอำนาจและอุดมการณ์ทางสังคมของผู้สร้างที่มีต่อสิ่งที่ถูกสร้างอย่างเลี่ยงไม่ได้
เมื่อมันผลิตซ้ำบ่อยๆ เข้า ทั้งคนในวัฒนธรรมและนอกวัฒนธรรมก็อาจหลงเชื่ออย่างไม่รู้ตัวว่า เป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่อดีตโดยกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง เพื่อสืบทอดจากพื้นฐานดั้งเดิมที่สั่งสมมายาวนาน เป็นธรรมชาติของชาติพันธุ์แบบอัตวิสัย
ขณะเดียวกันก็ทำให้คนในท้องถิ่นหันกลับไปมองอดีตตัวเอง ในแบบที่รัฐกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางกำหนดสร้างภาพตัวแทนมาให้แล้ว เพราะเอาเข้าจริงมันก็ยากที่จะถอนรากถอนโคนอาณานิคม (decolonization) เพราะวัฒนธรรมของอาณานิคมก็ได้กลายเป็นลูกประสม (hybridity) ไปแล้วระหว่างเจ้าอาณานิคมเข้ากับพื้นเมือง
เพราะวัฒนธรรมในตัวของมันเอง (จะท้องถิ่นหรือพื้นเมืองของใคร ขึ้นอยู่ที่ว่าเอาวัฒนธรรมใครเป็นศูนย์กลาง) ก็เป็นสิ่งปลูกฝังทางสังคมและประกอบสร้างขึ้นใหม่ได้ สามารถดัดแปลงให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยคนในเองหรือคนนอกสังคมนั้น หรือแม้แต่เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และผู้แสดงทางวัฒนธรรมแต่ละคนก็มีส่วนร่วมในการสร้างอัตลักษณ์ในแบบที่ตนเข้าใจและต้องการให้คนอื่นเข้าใจอย่างไร
‘ความเป็นล้านนา’ จึงไม่สามารถพ้องกันไปหมดไม่ใช่ระหว่างคนนอกกับคนใน แต่กับคนในพื้นที่ด้วยกันเอง มันก็หลากหลาย
แม้ผู้ผลิตละครเพลิงพระนางจะออกตัวแต่เนิ่นๆ ก่อนละครฉายว่า นครทิพย์เป็นเพียงอาณาจักรในจิตนาการ เพื่อปัดความรับผิดชอบ ‘ความสมจริง’ ให้เป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ แทนพีเรียด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจิตนาการที่ตั้งบนเขตวัฒนธรรมล้านนา และบทละครก็ดัดแปลงมาจากหนังสือสารคดี ‘เที่ยวเมืองพม่า’ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ‘พม่าเสียเมือง’ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช 2 นักวิชาการที่ผลิตผลงานแนว ‘บูรพาคดีศึกษา’ (Orientalism) ไม่เพียงนิยามอัตลักษณ์ประเทศในกระบวนการเดียวกับการสร้างภาพตัวแทนแบบตะวันตกมองตะวันออก แต่ยังสร้าง ‘ความเป็นอื่น’ (otherness) ของขนบธรรมเนียมที่ตนไม่คุ้นเคยภายในประเทศให้ต่ำต้อยกว่า เหมือนกับที่เจ้าอาณานิคมทำกับวิถีชีวิตธรรมเนียมปฏิบัติของชนพื้นถิ่น
การที่เหล่าเก้งกวางกะเทยอิน ‘เพลิงพระนาง’ จนสถาปนาตนเองเป็นเจ้านาง ก็เป็นความโหยหาอดีตแสวงหา ‘ความเป็นท้องถิ่น’ หลบหลีกวัฒนธรรมเมืองใหญ่อีกรูปแบบนึง เพราะสำนึกการมีอยู่ของเกย์กะเทยและคนรักเพศเดียวกันเกย์เองก็เป็นภาวะสมัยใหม่ ใกล้ชิดกับสำนึกโลกตะวันตกสากลมากกว่าท้องถิ่น อิงกับความเป็นเมืองใหญ่กระฎุมภี เพื่ออิสรภาพในการดำรงชีวิตทางเพศ เข้าถึงชุมชนเครือข่าย ไลฟ์สไตล์ของพวกเขา ซึ่งก็เป็นทั้งความโหยหาอดีต อนุรักษ์นิยมและท้องถิ่นนิยมในเชิงสุนทรียศาสตร์มากกว่าการเมือง ต่างจากการโหยหาอดีตสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เชื่อว่าสมัยนั้นมันดีกว่าปัจจุบัน จินตนาการว่ามันต้องรุ่งเรืองกว่าช่วงสมัยปัจจุบันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านการชมละครพีเรียด ‘สี่แผ่นดิน’ แล้วจำลองตนเองเป็นแม่พลอย
เพราะภาพตัวแทนของ ‘ความเป็นล้านนา’ นั้นมี ‘ความเป็นหญิง’ บรรจงวิจิตรประดิษฐ์ประดอย เข้ากันได้ดีเข้าถึงง่ายกับเพศสภาพ และปลอดภัยไม่โดนปาหิน จึงเป็นวัฒนธรรมที่เหมาะแก่ความหลากหลายทางเพศ
อย่างไรก็ตามการที่พวกนางจำลองตัวเองเป็นเจ้านางคุ้มต่างๆ แห่งนครทิพย์ ก็เป็นการจำลองตนเองเป็นเจ้าอาณานิคมไปด้วยโดยไม่รู้ตัว และเนื่องจากประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการทั้งสร้าง แลกเปลี่ยน ช่วงชิง ปะทะ ต่อรอง ต่อต้าน โดยกลุ่มผู้พยายามครอบงำกับกลุ่มผู้ต้องการจะหลุดจากการครอบงำ
ฉะนั้นก็เหมือนเจ้านางคุ้มต่างๆ จิกตีแก่งแย่งและเป็นพันธมิตรกันบางวโรกาส เจ้านางที่เป็นเจ้าหลังอาณานิคมไม่โด้โตมาในเขตวัฒนธรรมล้านนาแต่ดันสร้างหรืออินกับละครพีเรียดโลเคชั่นเป็นภูมิภาคนี้ ก็ต้องเผชิญหน้ากับเจ้านางพื้นเมืองที่เติบโตมากับวัฒนธรรมล้านนาประดิษฐ์ (ด้วยคนพื้นถิ่นเอง ไม่ใช่โดยคนกรุงเทพหรือเพื่อเอาใจคนกรุงเทพฯ) ผู้คอยสำรวจตรวจตราว่า โปรดักชั่นของคุ้มกรุงเทพฯ มีความสมจริงสมจังแค่ไหน ทั้งฉาก อาภรณ์เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ จริตจะก้านคำพูดคำจา สถาปัตยกรรม พิธีรีตอง
ซึ่งถ้าหากไม่สมจริงแล้ว แทบจะถูกสั่งจับจำตรุ ไม่ก็ถูกเจ้าสำเภางามตบคว่ำ!!!
อ้างอิงข้อมูลจาก
นัทธนัย ประสานนาม. (พฤษภาคม-สิงหาคม 2550). วรรณคดีมรดกของไทย: การอ่านใหม่ด้วยแนวคิดหลังอาณานิคม.วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง. 3(2),น. 91-108.
บัวริน วังคีรี. (มกราคม-มิถุนายน 2556). ภาพแทนล้านนาในสายตาคนนอก (สยาม/ไทย) และการโต้กลบัมายาภาพ ของนักเขียนพื้นถิ่น. วารสารมนุษยศาสตร์สาร 14(1), น. 1-37.
ยุกติ มุกดาวิจิตร. (2555). วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์: บทสังเคราะห์การศึกษาทัศนภาพตัวแทน “ล้านนา” และ “ชาวยอง”.วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์. กรุงเทพ: โครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. ด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์, น. 15-53.
Lynn, Steven. (2005). Texts and Contexts: Writing About Literature with Critical Theory. New York: Pearson Education.
Rachel V. Harrison and Peter A. Jackson (eds). (2010). The ambiguous allure of the West: Traces of the colonial in Thailand. Hong Kong: Hong Kong University Press.