เชื่อว่าเด็กผู้หญิงทุกคนน่าจะหงุดหงิดเมื่อได้ยินสุภาษิตไทยอย่าง ‘ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร’ ซึ่งสื่อว่า ผู้ชายไปตกที่ใดก็งอกงาม ในขณะที่ผู้หญิงนั้นมีแต่ความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย
ไม่ปฏิเสธว่ามนุษย์ทุกเพศต่างมีความงดงามในแบบของตัวเองที่แตกต่างกัน เพศหญิงเพศชายนั้นเป็นข้อเท็จจริงทางสรีระที่กำหนดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ความ ‘เป็นหญิง’ หรือ ‘เป็นชาย’ นั้นถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมในภายหลังจากที่เราเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์ ซึ่งวัฒนธรรมนี่เองที่กำหนดว่าเราควรทำสิ่งไหน ควรคิดอย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่ควรคาดหวัง วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อเดิมๆ ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ ผ่านการใช้ชีวิตของเราทุกคนตั้งแต่เด็กจนโต
จากการเล่นในวัยเด็กสู่การเลือกอาชีพในวัยทำงาน ความคาดหวังที่สังคมมีต่อเพศหญิงนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยตั้งแต่การวางตัว การใช้ชีวิต ไปจนถึงหน้าที่การงานต่างๆ ตามนิยามของสังคมสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญ แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และแนวคิดเรื่องความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราได้รู้จักผู้หญิงในมุมที่แตกต่างมากยิ่งขึ้น และยิ่งเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่พวกเธอสรรค์สร้างขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ
ความหมายที่มากขึ้น
เพิ่งมีกรณีกันไปเมื่อต้นปี 2017 ที่ผ่านมา เรื่องของตัวอย่างประโยคในพจนานุกรมออนไลน์ Merriam-Webster ที่ว่า “She managed to become a CEO without sacrificing her femininity.” (เธอขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้โดยไม่ต้องสละความเป็นผู้หญิงทิ้งไป) ซึ่งสร้างความฮือฮาในโลกทวิตเตอร์ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจน Merriam-Webster ต้องรีบออกมาแถลงการณ์ขอโทษ และลบประโยคนั้นออกอย่างรวดเร็ว เพราะมันแสดงถึงการมองว่าผู้บริหารระดับสูงนั้นโดยปกติแล้วเป็นตำแหน่งของผู้ชาย ซึ่งผิดจากความจริง ยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง เพราะมีผู้หญิงมากมายที่คงความเป็นผู้หญิงไว้อย่างเต็มเปี่ยมควบคู่กับความสามารถในการทำงานหนักไม่ต่างจากผู้ชาย บทบาทนี้ปอ-พนาพร แพร่งสุวรรณ เป็นหนึ่งตัวอย่างผู้หญิงที่ทำงานในบทบาทวิศวกรฝ่ายปฏิบัติการด้านการผลิตและการประกอบรถยนต์ประจำโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (FTM) ที่จังหวัดระยอง เธอทำตามความฝันในวัยเด็กของตัวเองได้อย่างไม่ถูกจำกัดกรอบเดิมๆ ที่ว่าผู้หญิงไม่เหมาะกับงานหนัก ตราบใดที่เป็นงานที่รักแล้วละก็เธอก็พร้อมจะสู้ไม่ถอย
ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม
การมองว่าศักยภาพในการทำงานของชายหญิงไม่เท่ากันนั้น ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอว่าเพราะเหตุใดการทำงานในตำแหน่งเดียวกัน ผู้หญิงกลับได้ค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชาย เช่นการที่เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ออกมาเรียกร้อง ค่าตอบแทนจากหนังเรื่อง American Hustle เพียงแค่ 7% จากรายได้ของหนัง ขณะที่ผู้กำกับและนักแสดงนำชายทั้ง 3 คนได้รับถึง 9% แต่หลายวงการก็ให้ความยุติธรรมเรื่องค่าตอบแทนมากขึ้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ที่เปิดรับสมัคร ‘ผู้สำรวจความสุขคนไข้’ ที่คอยพูดคุย สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผู้ป่วย ซึ่งมีเงินเดือนสูงถึง 1,000,000 บาท เป็นเงินเดือนตั้งต้นที่ประกาศไว้ว่าจะมอบให้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกมารับตำแหน่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ผู้ที่คว้าตำแหน่งนี้ไปก็คือ ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถไฟฟ้าทับจนต้องสูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง ที่ประเทศสิงคโปร์ ด้วยพลังของการคิดบวกทำให้เธอกลายเป็นนักพูดและนักเขียนสร้างแรงบันดาลใจมาตลอด
โลกที่กว้างขึ้น
ยิ่งโลกพัฒนา ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย จึงมีตัวเลขออกมาว่าผู้หญิงนิยมเดินทางท่องเที่ยวคนเดียวได้มากขึ้น รวมถึงการตัดสินใจไปใช้ชีวิตในต่างแดนที่มีทางเลือกหลากหลายกว่าเดิม เพราะผู้หญิงกล้าที่จะเผชิญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมใหม่ๆ ในฐานะการผจญภัยมากกว่าจะมองเป็นอุปสรรค เช่นเดียวกับขิม-พัทธมญส์ กาญจนพันธุ์ เจ้าของเพจ ‘ตามติดชีวิตอินเดีย’ ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 240,000 คน ขิมคอยหยิบเรื่องราวในชีวิตประจำวันที่ต้องผจญกับ culture shock และความน่ารักของชาวอินเดียที่เธอได้พบเจอในระหว่างศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศอินเดีย มาเล่าผ่านภาพถ่ายและตัวหนังสือของขิมที่ติดตลก อ่านสนุก ทำให้คนไทยหลายคนรู้จักแง่มุมใหม่ๆ ของอินเดียซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความอันตรายต่อผู้หญิงมากยิ่งขึ้น
ก้าวข้ามขีดจำกัด
ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับองุ่น-สุดารัตน์ เทียรจักร ต้องนั่งวีลแชร์มาตั้งแต่เมื่ออายุ 13 ปี ด้วยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้เส้นประสาทในไขสันหลังขาด ส่งผลให้ขยับตัวได้เพียงช่วงคอจนถึงแขนเท่านั้น แต่องุ่นก็พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเรียนรู้โลกในแบบของเธอเอง เริ่มต้นจากการเป็นนักเขียนเล่าเรื่องราวของตัวเองจนมีพ็อกเก็ตบุ๊กเป็นของตัวเองชื่อว่า ‘พลังที่ซ่อนอยู่’ และไม่ใช่เพียงดำดิ่งลงในโลกน้ำหมึกเท่านั้น แต่องุ่นยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะได้ทดลองทำอะไรที่ฝันไว้ให้เป็นจริง อย่างการดำน้ำในทะเล ซึ่งทำลายภาพจำเดิมๆ ของผู้พิการลงอย่างสิ้นเชิง องุ่นจึงเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ไม่ยอมให้ข้อจำกัดทางร่างกายมาเป็นขีดจำกัดในการใช้ชีวิตแต่อย่างใด
ความเป็นแม่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของผู้หญิง
เมื่อผู้หญิงกลายเป็นแม่ จากที่แค่เคยทำงานประจำ 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็ต้องรับหน้าที่ดูแลชีวิตเล็กๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นงานหนักที่กินเวลายาวนานจนทำให้ผู้หญิงหลายคนคิดถึงแต่ลูกตลอดเวลา จนเผลอละทิ้งชีวิตส่วนตัวไปโดยไม่รู้ตัว แต่คุณแม่กวาง-ถนอมนวล พงษ์ศิริปรีดา ไม่คิดแบบนั้น แต่สร้างพื้นที่ที่ตัวเองและครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ถ่ายทอดผ่านวิดีโอกิจวัตรประจำวันและการออกไปท่องโลกกว้างร่วมกับน้องพริม ลูกสาวคนเดียวของเธอ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันน้องพริมอายุ 7 ขวบแล้ว คุณแม่กวางได้นำประสบการณ์มาแบ่งปันให้อีกกว่าสองแสนคนได้รับรู้ผ่านเพจ Dek Jew Chill Out ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนอยากเก็บกระเป๋าพาลูกออกไปเที่ยวนอกบ้านกันมากขึ้น
ในยุคสมัยที่โอกาสกระจายตัวไปทั่วทุกหนแห่ง ทำให้ผู้หญิงเป็นที่ยอมรับในวงการต่างๆ และสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ทำตามความฝันได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่เก่งขนาดไหนก็จำเป็นต้องดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหนก็มีประกันชีวิตที่คิดมาเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ ติดตามรายละเอียดการคุ้มครองได้ที่นี่