1
สมมุติว่า มีใครคนหนึ่งบอกคุณว่า
“ผมไม่อยากร้องเพลงชาติเพราะผมไม่คลิกกับมันอ่ะ เนื้อเพลงน่าเบื่อ”
คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร
จะไล่เขาออกจาก ‘ชาติ’ นั้นไปเลยไหม?
2
เนื่องจากฟุตบอลยูโร เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งจึงเล่าให้ผมฟังว่า-คนที่พูดแบบข้างต้นนี้มีตัวตนอยู่จริงๆ นะครับ แถมยังเป็นนักฟุตบอลดังอีกต่างหาก
เขาคือ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช นักเตะชาวสวีเดน
ที่จริง ถ้ามองจากมาตรฐาน ‘ความเป็นคนชาติอะไร’ จากสายตาของคนบางคนแล้ว อิบราฮิโมวิชอาจจะดูไม่ค่อยเป็น ‘สวีดิชแท้’ สักเท่าไหร่นะครับ เพราะว่าพ่อของเขาเป็นคนบอสเนีย เป็นมุสลิมอีกต่างหาก ส่วนแม่ของเขาเป็นชาวโครเอเชียที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิก
พ่อของเขา ‘อพยพ’ มาอยู่สวีเดนตั้งแต่ปี 1977 แม่ก็เช่นเดียวกัน ทั้งคู่พบรักกันที่สวีเดน ดังนั้น อิบราฮิโมวิชจึงเกิดที่สวีเดน และถือว่าเป็น ‘ชาวสวีดิช’ เต็มตัว เขาเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็กจนติดทีมชาติ ตอนหลังไปเล่นให้สโมสรดังอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดหรือปารีสแซงแยร์แมง เป็นกัปตันทีมชาติสวีเดน และถือว่าเป็น ‘ฮีโร่’ ของชาวสวีเดนเต็มตัว
อิบราฮิโมวิชยอมรับว่า ด้วยความที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่ไม่ได้เป็นคนสวีเดน เขาจึงพูดภาษาสวีเดนไม่ได้แบบ ‘สมบูรณ์แบบ’ แถมหน้าตาก็ยังเป็นส่วนผสมของตะวันออกตะวันตก แต่กระนั้น เขาก็ยืนยันว่าเขาคือคนสวีเดนเต็มตัว
“ถึงยังไงผมก็เป็นคนสวีเดน” เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน “เราทุกคนแตกต่างกัน แต่เราเท่าเทียมกัน พ่อของผมมาจากบอสเนีย เป็นมุสลิม แม่ของผมมาจากโครเอเชีย เป็นคาธอลิก แต่ผมเกิดในสวีเดนและเป็นพลเมืองสวีเดน คุณเปลี่ยนสิ่งนี้ไม่ได้”
ที่สำคัญ ใครก็เปลี่ยนความรู้สึก ‘เบื่อ’ เพลงชาติของเขาไม่ได้ด้วย!
3
ผมเป็นคนชอบวิ่งในสวนสาธารณะนะครับ แต่บอกตรงๆ ว่า ถ้าวิ่งตอนเช้าก็จะวิ่งให้เสร็จก่อนแปดโมงเช้า ถ้าไปวิ่งตอนเย็นก็มักจะไปวิ่งหลังหกโมงเย็น เพราะไม่อยากหยุดวิ่งเวลาเพลงชาติดังขึ้น
พูดแบบนี้ สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่บางคนจะบอกว่า ไม่รักชาติใช่ไหม? เป็นคนไทยหรือเปล่า? หูดับหรือยังไง? ไม่ได้ยินเพลงชาติหรือ? ได้ยินแล้วทำไมไม่หยุด?
ต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับ ว่าถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า ‘สวนสาธารณะ’ ในเวลาที่เพลงชาติดังขึ้น ผมจะหยุดเสมอ ซึ่งก็ไม่ต้องรีบมาบอกนะครับว่าทำแบบนี้แปลว่ารักชาติจังเลย หรือว่าเป็นคนไท้ยคนไทยอะไรทำนองนั้น เพราะจริงๆ ผมไม่ได้อยากจะหยุดหรอก แต่ที่หยุดก็เพราะมีเหตุผลบางอย่าง
แต่ก่อนจะบอกว่าทำไมถึงหยุด ขออนุญาตทำความเข้าใจกับคำว่า ‘สวนสาธารณะ’ ของไทยเสียก่อนนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่า พื้นที่ที่เราสักแต่จะเรียกกันไปพล่อยๆว่า ‘สวนสาธารณะ’ นั้น มันไม่มี ‘ความสาธารณะ’ (Public) สักเท่าไหร่หรอกนะครับ
นิยามของพื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่ต้อง ‘ปลอด’ จาก ‘อำนาจ’ ของสถาบันใหญ่ในสังคมนะครับ ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สาธารณะอย่างแท้จริง อำนาจใหญ่ๆ ที่ว่ามีอาทิอำนาจรัฐกับอำนาจทุน แต่ถ้าเราทอดตาดูสวนสาธารณะในไทย เราจะพบว่าแทบทั้งหมดถูกกำกับสั่งการโดยอำนาจรัฐแทบทั้งสิ้น หรือในบางพื้นที่ก็อยู่ในอำนาจทุน แต่เราไม่เคยมี ‘จัตุรัสกลางเมือง’ หรือ ‘สวนสาธารณะ’ (หรือสาธารณูปโภคทางปัญญาอื่นๆ) ที่เป็นของคนทั่วไป ที่สร้าง ‘กลไก’ ให้คนทั่วไปสามารถมีสิทธิกำหนดได้ว่าอยากให้พื้นที่นั้นๆ เป็นอย่างไร-เลย ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า รัฐไทยไม่เคยมี ‘สำนึกสาธารณะ’ ในอันที่จะให้ประชาชนคนทั่วไปที่เป็นคนธรรมดาสามัญสามารถสร้างพื้นที่อะไรขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้น ‘สวนสาธารณะ’ ส่วนใหญ่ในไทยจึงไม่ใช่สวนสาธารณะที่มีความสาธารณะตามความหมายแท้จริงของมัน
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่า ถ้ารัฐไทยเลือกจะเปิดเพลงชาติในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘สวนสาธารณะ’ (ที่ไม่ได้สาธารณะจริง) จึงไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไร ในสายตาของรัฐไทย การทำอะไรแบบนี้น่าจะถูกต้องชอบธรรมที่สุดแล้วด้วย
ก็แหม! ต้องเจียมตัวไว้หน่อยนะครับ ว่าเพราะสวนสาธารณะไม่ใช่ของอ้ายอีพวกที่มาวิ่งมาเดินมาปูเสื่อมานั่งเล่นกันสำราญบานใจนี่นา แต่เป็น ‘ของรัฐ’ (ซึ่งสกัดเอาประชาชนออกไปจากรัฐตั้งนมนานแล้ว) ต่างหากเล่า เมื่อเป็นของรัฐ รัฐจึงมีสิทธิจะทำอะไรกับพื้นที่เหล่านี้ก็ได้ จะออกกฎอะไรเมื่อไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องคิดสร้างกลไกให้คนอื่นๆ มามีส่วนร่วมด้วย จะปลูกอะไรก็ปลูก จะซื้อต้นไม้อะไรจากที่ไหนไกลโพ้นมาปลูกก็เป็นเรื่องของรัฐ ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมามีส่วนร่วมด้วยได้
ดังนั้น ถ้ารัฐจะ ‘ป่าวประกาศ’ อุดมการณ์ต่างๆ ของรัฐใน ‘สวนสาธารณะ’ (ที่ย้ำว่า-ไม่ได้สาธารณะจริง) คนอื่นในฐานะ ‘ผู้มาแบมือขอใช้บริการ’ ก็ต้องจำยอมไป เพราะพวกคุณไม่ใช่ ‘เจ้าของ’ พื้นที่สาธารณะนี้ มันคือพื้นที่ของรัฐที่รัฐเอื้อเฟื้อเมตตามอบให้มาใช้ประโยชน์ต่างหาก สุขภาพของประชาชนจะได้ดีๆ เป็นทรัพยากรบุคคลทำงานให้ประเทศชาติตอบแทนกลับไปได้ แถมยังมาใช้ได้ฟรีๆ ด้วย ดังนั้นจะ ‘จ่าย’ ด้วยการหยุดยืนตอนเพลงชาติดังเสียหน่อยนี่ไม่ได้หรืออย่างไร
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงหยุดยืนเวลาเพลงชาติดังขึ้นในสวนสาธารณะ เพราะคิดว่ามันคือ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายในการใช้พื้นที่ (ที่ถูกเรียกว่า) สาธารณะ-ของรัฐไทย, ก็เท่านั้น
ยังไม่ถึงขั้น ‘เบื่อ’ เพลงชาติไทยเหมือนอิบราฮิโมวิชหรอกนะครับ!
4
เอาเข้าจริง ผมคิดว่า กำเนิดเพลงชาติของแต่ละชาติ น่าจะ ‘สะท้อน’ ให้เห็นถึงวิธีคิดและจิตสำนึกของคนในชาตินั้นๆ ออกมาได้ไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงลองไปค้นประวัติของเพลงชาติใหญ่ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมนีดู ที่ไม่มีอังกฤษก็เพราะเพลงชาติของอังกฤษคือ God Save the Queen อันดูเหมือนจะเทียบเท่ากับเพลงสรรเสริญพระบารมีของไทยมากกว่าเพลงชาติ เลยไม่ขอพูดถึง
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เพลงชาติของชาติใหญ่ๆที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานเหล่านี้ เพลงชาติของพวกเขาล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป ที่เกิดจาก ‘ประชาชน’ หรือไม่อย่างน้อยที่สุด ก็ถูก ‘วิพากษ์’ โดยประชาชนได้ทั้งนั้น
ตัวอย่างแบบเบาะๆ ก็คือเพลงชาติของเยอรมนี (คือ Das Deutschlandlied หรือ The Song of Germany) เดิมทีเป็นเพลงที่ไฮเดิ้นแต่งถวายจักรพรรดิฟรานซิสที่สองในปี 1797 แต่เพิ่งถูกนำมาใช้เป็นเพลงชาติในปี 1922 ก็เป็นเพลงที่ผ่านความเข้มข้นของการรวมชาติมามากต่อมาก กว่าจะได้กลายมาเป็นเพลงชาติ และในขณะเดียวกัน ก็ถูกวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักด้วย บางวลีในเพลงชาติเยอรมันนั้น ถูกฟรีดริช นีทเช่ วิพากษ์ว่าเป็น ‘วลีที่โง่เง่าที่สุดในโลก’ (คือ Deutschland über alles หรือ Germany above all ซึ่งปรากฏในท่อนแรกของสามท่อน จนในปัจจุบัน เพลงชาติเยอรมันอย่างเป็นทางการใช้เฉพาะท่อนที่สาม ไม่ใช้ท่อนแรก ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะอิทธิพลของคำวิจารณ์ของนีทเช่หรือเปล่านะครับ เพราะถ้าคิดให้ลึกซึ้ง มันก็มีนัยบ่งบอกถึงความ ‘ชาตินิยม’ ที่ประหวัดไปถึงแนวคิดแบบนาซีได้เหมือนกัน)
ฝรั่งเศสเป็นอีกชาติหนึ่งที่เพลงชาติไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เพลงชาติอย่าง La Marseillaise เดิมเป็นเพลงสงคราม ชื่อ Chant de guerre pour l’Armée du Rhin (หรือ เพลงสงครามแด่กองทหารแห่งแม่น้ำไรน์) เพลงนี้ไม่ได้อยู่ๆ ก็กลายมาเป็นเพลงชาติ แต่ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส เพลงนี้ถูกนำมาใช้ในการเดินขบวนประท้วงอย่างแพร่หลาย เพราะคนหนุ่มสาวร้องเพลงนี้เดินจากมาร์เซยส์จนถึงปารีส ทำให้ได้ชื่อใหม่ว่า La Marseillaise และเราก็รู้กันอยู่ ว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสมีความหมายต่อประเทศแห่งนั้นมากแค่ไหน
ส่วนในอเมริกา เพลง The Star-Spangled Banner ก็ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ทว่าดั้งเดิมทีเดียว เป็นบทกวีที่ ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ เขียนขึ้นเนื่องจากความประทับใจที่ได้เห็นฉากการสู้รบที่ป้อมแม็คเฮนรี่ ที่เมืองบัลติมอร์ ในปี 1812 แรกทีเดียวมันเป็นแค่บทกวี แต่ถูกนำมาใส่กับทำนองเพลงที่ร้องในวงเหล้า เรียกว่า Drinking Song ซึ่งเป็นทำนองเก่าแก่ของอังกฤษ และได้รับความนิยมในอเมริกายุคอาณานิคม ต่อมาเพลงนี้แพร่หลาย เรียกได้ว่าเป็น ‘เพลงป๊อบ’ เพลงหนึ่งของยุคสมัย จนอีกร้อยกว่าปีต่อมา จึงได้รับการประกาศให้เป็นเพลงชาติของอเมริกาในปี 1931 โดยผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส (ที่ประชาชนเลือกตั้งมา) ในยุคของประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (ที่ประชาชนก็เลือกตั้งมาอีกนั่นแหละ!)
กรณีของอเมริกาน่าสนใจตรงที่เพลงชาติอย่าง The Star-Spangled Banner แม้เมื่อได้รับเลือกแล้ว แต่ก็ไม่ได้ ‘หยุด’ พัฒนาการของเพลงไป หรือพูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่ได้ ‘ตายซาก’ กลายเป็นเพลงขึ้นหิ้งอยู่เฉยๆ แต่ถูก ‘ปลุกปั้น’ หรือ shape โดย ‘ประชาชน’ อยู่เกือบตลอดเวลา
ครั้งที่ฮือฮาที่สุด (เพราะเป็นครั้งแรก) ก็คือในปี 1968 เมื่อโฮเซ่ เฟลิเซียโน นำเพลงนี้ไปร้องโดยทำให้กลายเป็นเพลงเศร้า ผิดแผกไปจาก ‘เพลงชาติ’ ตามธรรมเนียม ตอนนั้นเป็นช่วงสงครามเวียตนาม จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทำนองว่านำเพลงชาติมาต่อต้านสงคราม ทั้งที่เพลงชาติควรสร้างความฮึกเหิม แต่ต่อมา ผู้คนก็เริ่มนำเพลงชาติมาร้องเล่นบรรเลง และ ‘ตีความ’ ในสไตล์ของตัวเองเหมือนที่เฟลิเซียโนทำ จนมีเพลงนี้มากมายหลายเวอร์ชันจนนับไม่ถ้วน และ ‘อำนาจรัฐ’ ของอเมริกา ก็ดูจะภูมิใจกับเรื่องนี้มาก แม้ในพิพิธภัณฑ์เพลงชาติที่สมิธโซเนียน ก็ยังมีการนำเพลงชาติในเวอร์ชันต่างๆ มาเปิดให้ฟังด้วย
‘เพลงชาติ’ ของอเมริกาจึงถูกนำลงมาจาก ‘หิ้ง’ ลงมาจากความ ‘ตายซาก’ ไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์แบบงมงายไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แต่เป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ปรับเปลี่ยนได้ เพราะรัฐธรรมนูญของอเมริกาให้ความสำคัญกับ ‘เสรีภาพ’ ในการแสดงออกเหนือสิ่งอื่นใด
ที่สำคัญก็คือ เสรีภาพเหล่านั้นอาจสำคัญเหนือกว่าตัว ‘ธงชาติ’ และตัว ‘รัฐธรรมนูญ’ เองด้วยซ้ำ!
ในอเมริกา จะมีการกล่าว Pledge หรือ Pledge of Allegiance คือการสาบานต่อหน้าธงชาติว่าจะจงรักภักดีต่อประเทศ ซึ่งฟังดูน่าจะยิ่งใหญ่และ ‘ทุกคน’ ต้องปฏิบัติตาม แต่คุณเชื่อไหมว่า การบังคับให้ใครกล่าว Pledge นั้น เป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ และสามารถฟ้องร้องกันได้เลยทีเดียว กลุ่มแรกที่ออกมา ‘ขัดขืน’ การ Pledge ก็คือกลุ่มศาสนาที่เรียกว่า ยะโฮวาห์วิตเนส ซึ่งจะไม่ยอมสาบานต่อหน้าอำนาจอื่นใดนอกจากพระเจ้า การบังคับให้คนอื่น Pledge จึงเป็นการขัดเสรีภาพในการนับถือศาสนา การ Pledge จึงไม่ใช่ ‘ภาคบังคับ’ ที่จะต้องให้ทุกๆคนทำ (เว้นแต่คุณจะไปสมัครเป็นพลเมืองอเมริกัน ก็ต้องสอบ Pledge) แต่คือความสมัครใจ
ฟังดูแล้วน่าอิจฉานะครับ ที่ใครๆ ก็สามารถลุกขึ้นมาโต้แย้งอำนาจรัฐได้เสมอ
แต่ก็นั่นแหละ-นั่นคือประเทศของใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่ ‘สวนสาธารณะ’ ในรัฐไทยเสียหน่อย จะไปสนใจทำไม!
5
ถ้าอย่างนั้น มาดูเพลงชาติไทยของเรากันดีกว่าครับ ว่ามีที่มาอย่างไร
บอกกันตรงๆ เพลงชาติอันเป็นที่รักของเรามีที่มาจากการถูก ‘สั่ง’ ให้แต่ง โดยคณะราษฎร์ ที่ส่วนหนึ่งก็สืบทอดวิธีคิดแบบ ‘อำนาจนิยม’ มาจากกลุ่มอำนาจเก่าอย่างเต็มตัว (อันเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งมาก!) พระเจนดุริยางค์นั้นได้ปฏิเสธการแต่งเพลงชาติไปหลายครั้ง จนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงหมดหนทางที่จะบ่ายเบี่ยง และให้สัญญาว่าจะแต่งภายใน 7 วัน (ว่ากันว่าไปคิดทำนองได้บนรถเมล์ เมื่อได้ยินคนพูดคุยกัน ซึ่งเราจะเห็นว่าทำนองเพลงชาติไทยนั้นดูกระหนุงกระหนิงน่ารักเหมือนคนโต้ตอบกันมากกว่าจะฮึกเหิม-ซึ่งต้องบอกว่าผมชอบนะครับ) ทีนี้เมื่อมีข่าวแพร่ออกไปว่าพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติให้กลุ่มอำนาจใหม่ กลุ่มอำนาจเก่าก็ตำหนิ และมีการลงโทษท่านด้วย แม้จะให้รับราชการต่อไปได้ก็ตาม เพราะฉะนั้น กำเนิดเพลงชาติของไทยจึงมีเรื่องของอำนาจ การเมือง และการบังคับ, เข้ามาเกี่ยวข้องไม่น้อยทีเดียว
จะเห็นว่า เพลงชาติของหลายประเทศใช้เวลาสั่งสม ใช้เวลาในการเติบโตเรียนรู้ ‘ประสบการณ์ทางสังคมและการเมือง’ ไปพร้อมๆ กับ ‘ประชาชน’ ของตนเอง แต่เพลงชาติของเราเป็นเพลงชาติที่เกิดขึ้นด้วยการ ‘สั่ง’ แบบสำเร็จรูป โดยใช้เวลาถือกำเนิดแค่ 7 วัน น้อยกว่าเวลาอยู่ในครรภ์ของ ‘ราษฎร’ เสียอีก อาจเพราะอย่างนี้ เพลงชาติของเราจึงไม่มีใครกล้าไปแตะต้องดัดแปลงเปลี่ยนแปร (นอกจากผู้มีอำนาจรัฐ ที่เปลี่ยนชื่อประเทศแล้วเปลี่ยนเนื้อร้อง) ไม่มีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าเพลงนี้เพราะหรือไม่เพราะอย่างไรบ้าง ไม่มีใครคิดจะร้องเพลงชาติให้เศร้าสร้อยแบบที่โฮซ่ เฟลิเซียโน ร้องเพลงชาติของตัวเองเพื่อต่อต้านสงคราม ไม่มีใครคิดจะร้องให้ยิ่งใหญ่อลังการแบบที่วิทนีย์ ฮุสตัน ร้องในงานซูเปอร์โบลว์ และไม่มีใครคิดร้องเพลงชาติให้ติดสำเนียง ‘บ้านนอก’ เป็นเพลงชาติแบบลูกทุ่ง เหมือนที่ลีแอน ไรม์ส ทำกับเพลงชาติอเมริกัน
อย่าว่าแต่จะออกมาบอกว่าเพลงชาตินั้น ‘น่าเบื่อ’ เลยครับ!
ผมคิดว่าที่เป็นอย่างนี้ สะท้อนโต้ตอบกันดีงามเหลือเกินกับการที่เพลงชาติของเราถือกำเนิดมาจากการ ‘ถูกสั่ง’ ซึ่งดูไปดูมา ก็คล้ายจะสอดรับกับจริตของ ‘ราษฎรไทย’ ที่ ‘ถูกสั่ง’ มาชั่วกาลไม่เคยเปลี่ยนอย่างเหมาะเหม็ง
พูดอีกแบบก็คือ-นี่คือความเป็นไทยที่แท้!
6
หลายคนอาจจะบอกว่า ที่อิบราฮิโมวิชกล้าพูดว่าเพลงชาติของตัวเองน่าเบื่อ ก็เพราะว่าเขาเป็นคนดัง เป็นวีรบุรุษของประเทศน่ะสิ
แต่อยากจะบอกคุณว่ามันไม่ใช่แค่นั้นหรอกนะครับ เพราะพออิบราฮิโมวิชบอกว่าเพลงชาติน่าเบื่อ (ทำให้เขาไม่ค่อยร้องเวลาลงสนามแล้วมีการเปิดเพลงชาติ) ก็มี ‘อำนาจทุน’ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งในด้านหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นกลุ่มทุนที่เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของสวีเดน คือบริษัทรถยนต์แบรนด์หนึ่ง (คุณคงเดาได้แหละนะครับ) ที่ลงทุนทำเพลงชาติสวีเดนขึ้นมาใหม่ โดยมีการเรียบเรียงใหม่ ตีความใหม่ แล้วให้อิบราฮิโมวิชมาร้อง (จริงๆคือพูด) ประกอบ เพลงออกมามีลักษณะคล้ายๆ เลาจน์มิวสิค ดูไม่เหมือน ‘เพลงชาติ’ ตามขนบ (คือต้องฮึกเหิม ฟังแล้วอยากออกไปรบกับอะไรสักอย่าง) แถมยังได้รางวัลอีกต่างหาก เพราะมีคนสตรีมมิ่งกันหลายล้าน
ที่น่าสนใจก็คือ ไม่ได้มีคนสวีเดนออกมาต่อต้าน ขับไสไล่ส่งอิบราฮิโมวิชออกไปจากประเทศ หรือลุกขึ้นมาถามว่า เอ๊ะ! เป็นคนสวีเดนหรือเปล่า พ่อกับแม่ก็ไม่ใช่สวีเดนนี่ รับเงินต่างชาติมาทำลายอัตลักษณ์ของประเทศหรือเปล่า แต่กลับได้รับการตอบรับที่ดี หลายคนบอกว่านี่คือการ ‘บอกเล่า’ ถึง ‘สวีเดนใหม่’ ในศตวรรษที่ 21 ผ่านการตีความเพลงชาติเสียใหม่ ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่า ทุกคนเลิกร้องเพลงชาติแบบเก่านะครับ นั่นก็ยังอยู่ โดยเพลงชาติแบบใหม่ถือว่าเป็น Rendition หรือการตีความหนึ่งเท่านั้น เหมือนกับที่คนอเมริกันสามารถตีความเพลงชาติของตัวเองอย่างไรก็ได้นั่นแหละครับ