ผมตั้งชื่อโดยเอาเพลงชาติไทยมาใช้ เพราะอยากจะสื่อถึงความคลั่งชาติเสียสติ ที่นำไปสู่การพยายามประชาทัณฑ์ชายใส่แว่นซึ่งถูกโจมตีว่าไม่รักชาติ จากข้อพิพาทของเขากับคนขับรถกระบะในอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่เรียกได้ว่าเห็นกันอยู่แทบทุกวัน และผมไม่ได้สนใจหากจะโดนหาว่าไม่รักชาติ จากการนำเพลงชาติไทยมาล้อนี้ เพราะภายใต้กระแสความคิดแบบเสรีนิยมนั้น เราพูดได้ครับว่า ‘ความรักชาติ’ หรือ ‘ชาตินิยม’ นั้นเป็นหนึ่งในวิธีคิดที่สร้างความชอกช้ำให้กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาไม่รู้เท่าไหร่
แม้ผมจะเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปหลายครั้งแล้ว แต่วันนี้อยากจะมาเล่าอะไรให้ฟังสักนิดหน่อย ก่อนจะกลับไปพูดถึงกรณีหนุ่มแว่นที่โดนรุมบาทาทางสังคม
ผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้อ่านรู้จัก ‘การสังหารหมู่ที่หมีลาย’ (My Lai Massacre) กันไหม? หากพอจะรู้จักกันแล้วก็อ่านข้ามๆ ไปก็ได้นะครับ แต่สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก ผมขอเล่าให้ฟังสักหน่อย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เวียดนาม ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1968 ซึ่งก็คือช่วงเกิดสงครามเวียดนามนั่นแหละครับ โดยหมีลายนั้นเป็นพื้นที่ของหมู่บ้านเซินหมีที่อยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม (แต่ถือว่าเป็นเวียดนามใต้ที่อยู่ตอนกลางประเทศพอสมควร) เพราะงั้นเหตุการณ์นี้บางครั้งเลยถูกเรียกว่าเหตุสังหารหมู่เซินหมีครับ
ก่อนที่จะเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1968 ผมขอย้อนไปสักเล็กน้อยเพื่อเล่าถึงกองทัพทหารอเมริกัน กองร้อยหนึ่ง (ถ้าเอาแบบละเอียดก็คือ กองร้อยชาร์ลี แห่งกองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 20 กองพลน้อยที่ 11 แห่งกองพลทหารราบที่ 26 อ่ะนะครับ) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องราวนี้ เพราะหากคนที่พอจะรู้จักสงครามเวียดนามแต่พอคร่าวๆ ก็น่าจะรู้ว่าสหรัฐอเมริกานั้นช่วยฝั่งเวียดนามใต้ แต่ก็อาจจะงงๆ ได้ว่าทำไมมีเหตุสังหารที่เวียดนามใต้โดยทหารอเมริกาซะงั้น
คือในวันที่ 30 มกราคม ปี ค.ศ.1968 (ราวๆ เดือนกว่าก่อนเหตุการณ์หมีลาย) เป็นช่วงเทศกาล ‘ตรุษเวียดนาม’ ที่เรียกว่า ‘เต๊ด’ ในช่วงเวลานี้เอง กองทัพเวียดนามเหนือและเวียดกงได้เคลื่อนกำลังพลครั้งใหญ่ที่สุดในสงครามเวียดนาม การรุกครั้งนี้เลยถูกเรียกว่า ‘การรุกตรุษญวน’ หรือ Tet Offensiveโดยในช่วงต้นของการรุกครั้งนี้ฝ่ายเวียดนามเหนือประสานงานกันดีมาก ทำให้ฝั่งเวียดนามใต้และสหรัฐอเมริกาเสียศูนย์ไปช่วงหนึ่ง ก่อนจะตั้งหลักกลับมาสู้กลับได้ และหนึ่งในกองกำลังเวียดนามเหนือและเวียดกง (กองรบที่ 48) ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรุกนี้ด้วย อย่างไรก็ตามกองรบที่ 48 นี้ล่าถอยและกระจายตัวกบดานกันอยู่ โดยทางฝ่ายสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาเชื่อว่ากองรบที่ 48 นี้หนีไปกบดานแถวๆ หมู่บ้านเซินหมี หรือหมีลายที่เรากำลังเล่าถึงนี้เอง
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม คือช่วงที่ฝั่งสหรัฐอเมริกาเริ่มตั้งตัวติด และคิดจะยึดคืนพื้นที่ที่โดนรุกล้ำเข้ามา โดยสู้กลับอย่างหนักหน่วงภายใต้ชื่อปฏิบัติการ MACV หรือ Military Assistance Command, Vietnam ซึ่งการตามล่าและทำลายกองรบ 48 ของฝั่งเวียดนามเหนือก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการนี้ด้วย และนั่นก็ทำให้หมู่บ้านเซินหมีกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ไปโดยปริยาย เพราะฝั่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่ากองรบ 48 กบดานอยู่แถวนั้น
ในช่วงก่อนการรุกตรุษญวนสักเล็กน้อย กองร้อยชาร์ลีเจ้ากรรมของสหรัฐฯ ที่ว่าก็เดินทางมาถึงเวียดนาม ซึ่งก็คือช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.1967 (หรือก็คือราว 3 เดือนก่อนเกิดเหตุการณ์) และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1968 กองร้อยนี้ก็เป็นหนึ่งในหน่วยรบตามยุทธศาสตร์ MACV ด้วยครับ ภายใต้กองกำลังรบ Task Force Barker (TF Barker) ซึ่งได้รับหน้าที่ในการจัดการกับกองรบ 48 ที่เชื่อว่ากบดานอยู่แถวหมีลายในเซินหมีนี่แหละ
อย่างไรก็ดีตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มปฏิบัติการ จนมาถึงกลางๆ เดือนมีนาคม กองกำลังรบ TF Barker ก็แทบจะยึดเอาเซินหมีมาไม่ได้ อีกทั้งกองร้อยชาร์ลีที่แทบจะไร้รอยขีดข่วนมาตลอดช่วงสามเดือนนับแต่ย่ำเท้าลงแผ่นดินเวียดนามนั้น ก็โดนกับระเบิดของฝั่งเวียดนามเหนือเข้าให้ราวๆ วันที่ 14 มีนาคม ค.ศ.1968 หรือประมาณสองวันก่อนเหตุการณ์หมีลาย
หลังจากที่ไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ สักที ทางหน่วยรบก็ได้เตรียมแผนการสำหรับช่วงวันที่ 16 – 18 มีนาคมเอาไว้ว่าจะล้อมพื้นที่ให้หมด และทำลายเสบียงอาหารของหมู่บ้านให้หมดสิ้นไป แต่พอเอาเข้าจริงแล้วก็มีรายงานด้วยว่ามีทั้งการเผาบ้าน ทำลายบ่อน้ำ และอื่นๆ อีก แต่พร้อมๆ กันไป ในคืนก่อนการปฏิบัติการ ในการอธิบายแผนการของกองร้อยชาร์ลี กัปตันเออร์เนส เมดิน่า (Captain Ernest Medina) ก็ได้บอกกับทหารในหน่วยของเขาว่า ชาวบ้านของหมู่บ้านเซินหมีนั้นออกไปตลาดกันเกือบหมดตั้งแต่ 7 โมงเช้าแล้ว พวกที่ยังเหลืออยู่ก็จะมีแต่พวกเวียดกงหรือสนับสนุนเวียดกงทั้งนั้น ฉะนั้น “จงฆ่าพวกมันให้เหี้ยน ไม่ว่าจะเป็นใคร”
ในวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ.1968 จึงกลายมาเป็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่หมีลายครับ
มีการฆ่าคนที่ไร้ทางสู้ ไร้อาวุธไปประมาณ 347 – 504 คน โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา ศพที่พบเจอนั้นมีทั้งชาย หญิง คนชรา เด็ก และกระทั่งทารก รวมทั้งผู้หญิงบางคนโดนข่มขืนหมู่ ซึ่งจากร่องรอยของศพเหยื่อที่โดนกระทำแล้วพบว่าบางคนที่โดนกระทำนั้นอายุเพียง 12 ปี และนี่ได้กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ฉาวโฉ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามไปหลังจากที่เรื่องราวถูกเปิดโปง
มาถึงตรงนี้แม้หลายท่านอาจจะพบความน่าสะอิดสะเอียด ความเฮงซวยของเรื่องราวที่กองทัพสหรัฐอเมริกาได้เคยทำไว้ แต่ก็อาจจะงงว่าผมจะมาเล่าให้ฟังทำไม และมันเกี่ยวกับเรื่องหนุ่มแว่นโดนประชาทัณฑ์ตรงไหน? ไม่แปลกครับที่ท่านจะมีคำถามนี้ แต่นั่นเป็นเพราะผมยังเล่าเรื่องไม่ทันจบดี คือ เหตุการณ์สังหารหมู่ที่หมีลายนี้มีความไคล์แม็กซ์ที่ตอนจบของมันด้วยครับ
เหตุการณ์ที่หมีลายนั้นไม่ได้จบลงเพราะสังหารคนไร้ทางสู้อย่างอิ่มเอมใจพอแล้ว หรือฆ่าคนเหี้ยนหมดจนไม่เหลือใครให้ฆ่าแล้วอย่างที่หลายๆ คนอาจจะจินตนาการไว้นะครับ ไม่ใช่เลย เหตุการณ์นี้มีฮีโร่อยู่จริงๆ ครับ เขาคนนั้นก็คือ พันจ่าฮิวจ์ ธอมสัน จูเนียร์ (Warrant Officer Hugh Thomson, Jr.) ซึ่งเป็นพลขับเฮลิคอปเตอร์ทหาร เขาเห็นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น และพยายามวิทยุขอความช่วยเหลือและขอหน่วยแพทย์มาช่วยรักษาผู้บาดเจ็บ
หลังจากนั้นเขาจอดเฮลิคอปเตอร์ของเขาท่ามกลางศพรอบตัว กระทั่งเข้าไปคุยกับทหารอเมริกันที่กำลังปฏิบัติการอยู่ (เดวิด มิตเชล – David Mitchell) ว่าให้ช่วยคนที่บาดเจ็บด้วย แต่เขากลับได้รับคำตอบจากนายทหารคนดังกล่าวว่า “เขาจะช่วยคนเหล่านี้จากความทรมานเอง” (ซึ่งก็คือ ฆ่าทิ้งนั่นเอง) นอกจากนี้พันจ่าฮิวจ์ยังได้เห็นการยิงสตรีไร้อาวุธจากระยะเผาขนโดยกัปตันเมดิน่าชนิดคาตาอีกต่างหาก (จริงๆ เจออีกหลายอย่างด้วย ขอไม่ลงในรายละเอียดนะครับ) แต่สิ่งเหล่านี้เองทำให้พันจ่าฮิวจ์และทีมของเขาทำในสิ่งที่ชีวิตนี้เขาไม่เคยคิดว่าจะทำมาก่อน นั่นคือ “หันปืนและเฮลิคอปเตอร์ใส่เพื่อนร่วมชาติของตนเอง” และช่วยชาวบ้านที่ยังรอดชีวิตอยู่และหลบอยู่ในบังเกอร์ออกมาได้ รวมไปถึงเด็กสาววัยสี่ขวบที่ร่างท่วมเลือด
เหตุสังหารหมู่ที่หมีลายยุติลงเพราะทหารอเมริกันคนหนึ่ง
ตัดสินใจหันปืนเข้าหาเพื่อนร่วมชาติตัวเอง
เพื่อช่วยเหลือ ‘คนชาติอื่น’
อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป ในตอนต้นพันจ่าฮิวจ์และลูกทีมของเขาที่เข้าแทรกแซงการฆ่าล้างและช่วยเหลือคนที่รอดนั้น กลับโดนประณามหยามเหยียดจากคนอเมริกันเองจำนวนมากครับว่าเป็นพวก ‘ทรยศชาติ’ กระทั่งสมาชิกสภาคอนเกรสจำนวนมาก รวมถึงเมนเดล ริเวอร์ส (Mendel Rivers) ซึ่งดำรงตำแหน่ง Chair of the House Armed Services Committee ในขณะนั้นก็ร่วมประณามพวกเขาด้วย
กระทั่งเรื่องนี้ถูกเผยให้โลกรู้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.1969 นั่นแหละครับ ที่นำมาซึ่งความเกรี้ยวโกรธและประณามจากทั่วโลก แต่ภายในสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้ดีขึ้นนัก ดังจะเห็นได้จากการแก้ตัวให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างถึงพริกถึงขิง และจากการตัดสินโดย ‘ศาลทหาร’ สหรัฐอเมริกา โดยผู้ต้องหา 26 คนที่เป็นอาชญากรสงคราม ก็ถูกระบุว่ามีความผิดแค่หนึ่งคน คือ วิลเลี่ยม แคลลีย์ จูเนียร์ (William Calley, Jr.) ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตจากการสังหารคนไปทั้งสิ้น 22 คน แต่สุดท้ายก็แค่ถูก ‘กักบริเวณที่บ้านเป็นเวลาสามปีครึ่ง’ เท่านั้น
พวกของพันจ่าฮิวจ์ ซึ่งเป็นฮีโร่ของเหตุการณ์นี้ ถูกปักป้ายว่าเป็นผู้ทรยศชาติเกือบสามสิบปี จึงได้รับการยอมรับและมอบเหรียญกล้าหาญระดับสูงสุดของกองทัพสหรัฐ (และมีหนี่งคนที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย) ในปี ค.ศ.1998 อย่างไรก็ดี แม้มันจะช้า มันจะนานมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะตระหนักขึ้นมาได้สักวันว่า ‘สิ่งที่เราทำนั้น มันคือความเฮงซวยหยาบช้า ที่จะแก้ไขก็ไม่ทันเสียแล้ว’
ผมเล่ามานี่ ไม่ได้จะบอกว่าชายใส่แว่นคนนั้นเป็นฮีโร่ยิ่งใหญ่อะไรแบบพันจ่าฮิวจ์นะครับ ตรงกันข้าม สิ่งที่เขาทำหลายเรื่อง อย่างการใช้ถ้อยคำดูถูกอีกฝ่ายนั้นเป็นเรื่องที่ควรจะประณาม แต่พร้อมๆ กันไป เราได้เห็นในเหตุการณ์ชัดๆ อยู่ว่าอาการทางจิตประสาทเขาน่าจะมีปัญหา ทางครอบครัวเขาก็ยืนยันเช่นนั้น และส่วนตัวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นก็ว่ากันตามขั้นตอนทางกฎหมายได้ ‘อย่างเป็นปกติมากๆ’ ไม่มีอะไรที่นอกเหนือวิสัยทั่วไปเลย ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ารถกระบะชนรถของหนุ่มแว่นด้วยหรือเปล่า
และอย่างหนึ่งที่อาจจะต้องทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นด้วยคือ ‘สัญลักษณ์ในการจราจร’ ที่หนุ่มแว่นผู้ซึ่งเพิ่งกลับมาจากเมืองนอกได้ไม่นานนั้น อาจจะนำมาซึ่งความผิดพลาดในการสื่อสารได้ก็คือ ประเทศส่วนใหญ่ในโลกแล้ว การ ‘กระพริบไฟ’ ให้นั้น เป็นสัญญาณว่า “ให้ทาง เชิญไปได้เลยนะ” ซึ่งตรงข้ามกับบ้านเราที่แปลว่า “ขอทาง อย่าเพิ่งมานะ” ผมไม่แน่ใจว่าจุดนี้มีส่วนด้วยไหมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา ไม่ว่าฝั่งไหนจะถูกจะผิดกับเรื่องนี้ มันเป็นเหตุการณ์ปกติ ที่จัดการได้ด้วยขั้นตอนตามกฎหมายอันปกติมากๆ
สิ่งเดียวที่เป็นปัญหาและนำมาซึ่งการรวมตัวประชาทัณฑ์หนุ่มแว่นคนนี้ก็คือ
การที่เขาวิพากษ์วิจารณ์ความเฮงซวยต่างๆ ของประเทศนี้
นำมาซึ่งข้อหา ‘ไม่รักชาติ’ ของเขาขึ้นมา… ทำไมล่ะครับ ชาติไทยของทุกคน ของผม และของหนุ่มแว่นอย่างเท่าๆ กันนี้ จะทำอะไรผิดๆ เฮงซวยๆ ที่ควรจะโดนด่า โดนประณามไม่ได้เลยหรือ? การหันปืน/คำวิจารณ์/คำด่าใส่ประเทศตัวเองหรือเพื่อนร่วมชาติ เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจขนาดนั้นเลยหรือ? ผมคิดว่านี่ต่างหากที่น่ากังขา
เราแทบทุกคน คงเคยบ่นด่าวิจารณ์ประสบพบเจอกับความย่ำแย่สารพัดด้านของประเทศไทยมาแทบทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้ว เราเห็นคนที่น่ากังวลยิ่งกว่าหนุ่มแว่นในข่าวตั้งไม่รู้เท่าไหร่ ออกนโยบายที่ชวนให้ใครหลายคนตั้งคำถามบ้าง เข็นรถถังมาปล้นอำนาจอันชอบธรรมจากเราบ้าง กับคนที่มีอำนาจในการบริหารและปกครองแทบจะเสมือนเป็นรัฏฐาธิปัตย์เช่นนี้ เรากลับ ‘รักสงบ’ ยินยอมกับอำนาจ ทั้งที่คนในอำนาจคนนี้อาจสร้างความเสียหายในนามชาติ ให้กับชาติที่หลายคนหวงแหน มากกว่าหนุ่มแว่นคนนี้ไม่รู้กี่ร้อยเท่า
อาจจะเป็นความจริงที่เจ็บปวด และแม้จะวิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ทำได้ แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็ทำได้แค่นิ่ง อมยิ้ม กลั้นน้ำตา ฝืนทน และรักสงบกันต่อไป อยู่กันแบบรักเพราะคุก กราบเพราะปืนแบบนี้ แปลกตรงที่ในทางกลับกัน พอมีคนไร้ทางสู้คนหนึ่งซึ่งสติอาจจะไม่ค่อยจะสมบูรณ์นักด้วย ออกมาด่าเรื่องเฮงซวยของประเทศนี้ ที่แม้จะมีถ้อยคำดูถูกผู้อื่นปนมาอยู่มาก แต่หลายเรื่องก็เป็นความจริงและควรหาทางจัดการแก้ไข กลับมีคนฮึกเหิมพร้อมสู้ พร้อมจะรบไม่ขลาดเพื่อชาติขึ้นมาในทันที
ผมเล่าเรื่องเหตุการณ์สังหารหมู่หมีลายขึ้นมาให้ฟัง โดยผมทราบดีอยู่แล้วว่าระดับความเข้มข้นของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นต่างกันมาก แต่ก็อยากจะเตือนเป็นอุทธาหรณ์ว่า ไม่เป็นการดีที่จะนำความบ้าคลั่งชั่วขณะ ความสะใจเพียงชั่วครู่จากการได้เสพติดในรสของชาตินิยม มาเป็นตราบาปให้กับตัวเราเองไปตลอดทั้งชีวิต
ในวันนี้ผู้คนอาจจะยังไม่รู้สึกตัว และสังคมก็อาจจะไม่รู้สึกตัวมากนัก ยังคงเฮโลไปกับประณามหยามเหยียด แต่ในสักวันที่สังคมตระหนักได้เองว่าการประชาทัณฑ์นั้นผิด คือความล้าหลัง เราที่เคยมีส่วนร่วมกับก็อาจไม่สามารถกลับไปแก้ไขอะไรได้อีกแล้ว มันจะเป็นตราบาปของเรา ที่อาจยาวไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะจงอย่าลืมว่ายิ่งโลกสมัยนี้แล้ว ‘อินเทอร์เน็ตไม่เคยลืม โซเชียลฯ ไม่เคยหยุดขุด’
จงระวังการกระทำดังเช่นคนที่เคยประณามพันจ่าฮิวจ์ในอดีต