หลังจากงมอยู่กับเรื่อง COVID-19 ซึ่งที่ญี่ปุ่นเองก็นับวันปัญหาก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ จนผมเองก็เริ่มหวั่นๆ เพราะสภาพเมืองที่แน่นมากอย่างญี่ปุ่นนี่จัดว่าเป็นแหล่งเพาะเชื้ออย่างดีเลยจริงๆ แต่รอบนี้ ขอเปลี่ยนเรื่องบ้าง เพราะเสพเรื่องไวรัสมากๆ ก็กลัวประสาทเสียเอา (ก็เสพเท่าที่จำเป็นนะครับ เสพเกินจำเป็นนี่ประสาทกินก่อนครับ) ไหนๆ ก็ไหนๆ ช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีโอกาสชม ‘Parasite’ ภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์เสียที ซึ่งก็จัดว่าประทับใจถึงจะไม่รู้สึกว่ามันสุดอะไรขนาดนั้น
แต่พอดูแล้วก็สนใจไปตามอ่านนั่นนี่เกี่ยวกับหนังตามประสา ซึ่งคนที่ไม่ใช่แฟนหนังเกาหลีอย่างผมก็เพิ่งได้รู้ว่าผู้กับกับ บงจุนโฮ ก็เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลเกาหลีเองอยู่เหมือนกัน เพราะทำหนังเสียดสีรัฐบาลอยู่บ่อยๆ แต่พอได้รางวัล ทางรัฐบาลก็คงมีท่าทีเปลี่ยนไปไม่น้อย และคงอาศัยรางวัลในการโหนกระแสสร้างเทรนด์เกาหลีบุกตะวันตกต่อ ก็ยังดีที่ตัวหนังได้ไปกระตุ้นความสนใจกับปัญหาสังคมและทำให้มีการพยายามยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคมยิ่งขึ้น แต่ก็นั่นล่ะครับ เล่นเอาผมสงสัยว่า ถ้าหนังเรื่องนี้ไม่ได้ไปไกลขนาดนี้แล้ว ยังจะได้รับการยอมรับจากทางรัฐขนาดนี้หรือไม่ คิดๆ แล้วก็ทำให้หันกลับมามอง ‘อดีต’ คนญี่ปุ่นคนหนึ่งบนเวทีออสการ์รอบที่ผ่านมา
บนเวทีออสการ์ครั้งนี้ เมื่อมีการประกาศรางวัลเมคอัพและทรงผม ซึ่งผู้ชนะก็คือทีมเมคอัพและทรงผมจากภาพยนตร์เรื่อง Bombshell (ฉายในญี่ปุ่นชื่อว่า Scandal) ซึ่งทีมที่ขึ้นรับรางวัลมีสามคนคือ วิเวียน เบเกอร์ (Vivian Baker), แอนน์ มอร์แกน (Anne Morgan) และ คาซุ ฮิโระ Kazu Hiro
พอผลการประกาศออกมาก็เป็นข่าวใหญ่ที่ญี่ปุ่น เพราะชาวญี่ปุ่นได้รับรางวัลใหญ่ขนาดนี้ และที่สำคัญคือเป็นการชนะรางวัลนี้อีกครั้ง หลังจากที่ คาซุเคยได้รางวัลนี้มาก่อนแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง The Darkest Hour จากผลงานการแต่งหน้า แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) ให้ออกมาเป็น วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill) ได้อย่างน่าทึ่ง และครั้งนี้เขาและทีมงานอีกสองคนที่ได้บอกชื่อไป ก็ได้รับรางวัลจากความโดดเด่นในการเสริมแต่งหน้าของเหล่าดาราระดับ A-List ทั้ง ชาลิซ เทรอน (Chalize Theron), นิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) และ มาร์โกต์ ร็อบบี้ (Margot Robbie) ให้ออกมาสมกับบทของตัวเองที่เก็บรายละเอียดระดับปลายจมูกจนได้รับรางวัลนี้ไป
แน่นอนว่าพอมีชาวญี่ปุ่นรับรางวัลที่เป็นรางวัลระดับโลก และมักจะตกเป็นของชาวตะวันตก ชาวญี่ปุ่นเองก็ภาคภูมิใจ พร้อมที่จะแห่ว่าเป็นผลงานของชาวญี่ปุ่น แต่เมื่อถึงตอนตอบคำถามสื่อ ซึ่งมีคนถามว่า “ได้นำประสบการณ์จากการทำงานในญี่ปุ่นมาใช้กับงานชิ้นนี้หรือไม่” เจ้าตัวก็ตอบเป็นภาษาอังกฤษว่า
“ต้องขอโทษที่พูดแบบนี้ แต่ว่าผมทิ้งประเทศญี่ปุ่น และกลายเป็นคนอเมริกัน” “ผมรู้สึกเกลียดวัฒนธรรมญี่ปุ่น และ(ถ้าอยู่ญี่ปุ่น) ก็คงจะทำให้ฝันของตัวเองเป็นจริงได้ยาก เพราะอย่างนั้น (ตอนนี้) ผมก็เลยอาศัยอยู่ที่นี่ ขอโทษครับ”
จากที่จะได้ข่าวชาวญี่ปุ่นรับรางวัลระดับโลก กลายเป็นข่าวคนญี่ปุ่นเลือกทิ้งสัญชาติตัวเองเพื่อที่จะทำให้ฝันเป็นจริงจนได้รางวัลระดับโลกอีกครั้ง ซึ่งพลิกไปอีกขั้วเลย
สำหรับบางคนแล้ว อาจจะเรียกได้ว่านี่เป็นการตอบคำถาม
ที่มีความ ‘ชังชาติ เอามากๆ
แต่ก่อนจะมองอย่างนั้น เรามาดูเส้นทางชีวิตของเขาก่อนก็ได้ครับ
คาซุเกิดที่เกียวโตในปี ค.ศ.1969 และชื่อเดิมของเขาคือ คาซุฮิโระ ซึจิ (Kazuhiro Tsuji) ซึ่งเขาก็เติบโตมาในเกียวโตและมีความสนใจในศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร ตอนเรียนมัธยมปลาย อาจารย์สอนศิลปะก็ให้นักเรียนทำงานด้วยการแจกแผ่นไม้ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 30 เซนติเมตร หนา 3 เซนติเมตร ให้นักเรียนสร้างสรรค์ตามที่ตัวเองชอบ นักเรียนคนอื่นก็เลือกทำอะไรง่ายๆ เช่น เกลาออกมาเป็นจาน แต่คาซุฮิโระเขาเลือกที่จะค่อยๆ เซาะไม้ออกและใช้กระดาษทรายขัด จนกลายมาเป็นรูปทรงตัวด้วงเกาะอยู่บนแผ่นกระดาษลังที่โดดเด่นเหนือคนอื่น ฉายแววมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
และเป็นตอนมัธยมนี่เองที่เห็นได้จากนิตยสาร Fangoria นิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์สยองขวัญที่ร้านหนังสือต่างประเทศในเกียวโต และเขาก็ติดใจกับผลงานของเมคอัพอาร์ทิสต์ ดิ๊ก สมิธ (Dick Smith) ในการเปลี่ยนนักแสดงในยุคปัจจุบันให้กลายเป็น อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ได้อย่างสมจริง จนเขาหลงใหลการใช้เทคนิคพิเศษในการแต่งหน้า และเริ่มทดลองทำผลงานด้วยตัวเอง แล้วพอเจอเลขที่ตู้ไปรษณีย์ของดิ๊กในนิตยสาร เขาก็ส่งภาพผลงานของตัวเองไปให้ชม จนเมื่อดิ๊กได้มาทำงานที่ญี่ปุ่นกับภาพยนตร์เรื่อง ‘Sweet Home’ ของผู้กำกับ คิโยชิ คุโรซาวะ (Kiyoshi Kurosawa) ในช่วงปี ค.ศ.1988 ซึ่งดิ๊กก็ได้ชวนให้เขามาร่วมงานด้วย กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานวงการภาพยนตร์ของเขา ก่อนที่ต่อมาเขาจะได้ร่วมงานกับ ริก เบเกอร์ (Rick Baker) ลูกศิษย์ของดิ๊กจนได้ไปทำงานที่อเมริกา โดยงานใหญ่ชิ้นแรกของเขาคือเรื่อง ‘Men in Black’ ในปี ค.ศ.1997 และหลังจากนั้นเขาก็มีผลงานอีกหลายเรื่องจากฝีมือในการสร้างชิ้นส่วนเสริมต่างๆ เพื่อนำไปประกอบบนตัวนักแสดง จนกลายเป็นหนี่งในเมคอัพอาร์ติสต์หัวแถวของวงการ
หลังจากงานเรื่อง ‘Looper’ เขาก็ถอนตัวจากวงการภาพยนตร์และหันไปทำงานปั้นอย่างเต็มตัว แต่ แกรี่ โอลด์แมน (Gary Oldman) ที่ชื่นชอบฝีมือของเขา ก็ได้ตามง้อให้เขากลับมาทำงาน และมารับหน้าที่ดูแลการแต่งเขาให้เป็นวินสตันจนกลายเป็นว่า การกลับมาครั้งนี้ก็ได้ทำให้เขาได้โอกาสชนะรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก และเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกในรอบ 25 ปีที่ได้รางวัลนี้เลย
ในตอนนั้นเรายังสามารถเรียกเขาว่าเป็น ‘คนญี่ปุ่น’ ได้เต็มปาก แต่ว่าในปี ค.ศ.2019 เขาได้ตัดสินใจสละสัญชาติญี่ปุ่น และโอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกัน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเป็น คาซุ ฮิโระ และกลายเป็นคนๆ ใหม่ไปเลย
โดยเหตุผลที่เขาตัดสินใจโอนสัญชาติก็คือ
เขารังเกียจวัฒนธรรมญี่ปุ่น
โดยเหตุผลของเขาคือ ชาวญี่ปุ่นหมกมุ่นกับความเป็นชาวญี่ปุ่นมากเกินไป จนเสียอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเอง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ปัจเจกชนแต่ละคน เป็นคนเช่นไร กำลังทำอะไรอยู่ ถ้าอยากจะทำอะไร ก็ไม่ควรจะห่วงว่าจะถูกอะไรผูกมัดอยู่ นี่ก็คือเหตุผลที่เขาเลือกโอนสัญชาติ
และเขาก็ยังเสริมต่อว่า การศึกษาและระบบสังคมของญี่ปุ่น พยายามรั้งความคิดเก่าๆ ไว้อยู่เสมอ และคนญี่ปุ่นก็ติดนิสัยการอยู่กันเป็นกลุ่ม พยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มให้ได้ ทำให้ถูกความคิดเก่าๆ ควบคุมไว้จนหลุดไม่พ้น รับช่วงความหัวแข็งต่อกันมาเป็นทอดๆ ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่ไหวแน่ๆ หลายต่อหลายคนใช้ชีวิตโดยห่วงว่าคนอื่นจะมองอย่างไร การจะให้ความสำคัญกับตัวเอง การที่จะก้าวไปข้างหน้าให้ได้ ก็ต้องเปลี่ยนตรงจุดนั้นให้ได้ ซึ่งเขาคิดว่า จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงก็คงยาก
พูดอีกอย่างคือ เขารู้สึกแปลกๆ กับการที่ถูกมองว่าเป็นชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า คาซุฮิโระ ซึจิ และเขาต้องการได้รับการยอมรับในฐานะ คาซุ ฮิโระ คนคน หนึ่งเท่านั้น ซึ่งเขาก็มองว่าถ้าไม่เปลี่ยนตรงนั้น เขาก็คงก้าวไปข้างหน้าไม่ได้
ซึ่งมันก็น่าสนใจตรงที่ เวลามีคนชาติเดียวกัน ไปประสบความสำเร็จอะไรซักอย่าง หลายครั้งสื่อก็จะรีบนำเสนอว่าเป็นความสำเร็จของ ชาวXXX ซึ่งตรงนี้ก็ไม่แปลกอะไรหรอกครับ ยิ่งกับชาติเอเชียที่มีลักษณะสังคมแบบกลุ่ม ก็มักจะเจอแบบนี้เสมอ ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นหรือไทย แต่อย่างเกาหลีที่เขียนถึงข้างต้นนั่นก็เหมือนกันครับ แต่พอมามองอีกครั้ง การรีบเคลมว่าเป็นความสำเร็จของชาติ XXX นั่นมันถูกรึเปล่า ก็น่าคิดเหมือนกันนะครับ
เพราะดูจากเส้นทางของคาซุแล้ว การประสบความสำเร็จในสายงานนี้ของเขาก็มาจากการพยายามด้วยตนเองจนได้โอกาสทำงานในฮอลลีวูดแล้วประสบความสำเร็จขนาดนี้ มันมีอะไรเกี่ยวข้องกับความเป็นชาวญี่ปุ่นไหม หรือเขาเอาความเป็นญี่ปุ่นไปทำงานหรือไม่ ซึ่งก็เปล่า ดูจากความพยายามดั้นด้นจนได้ไปร่วมงานกับมือโปรระดับโลก พอประสบความสำเร็จแล้ว จู่ๆ จะรีบไปแปะป้าย ‘ชาวญี่ปุ่น’ กับเขา เจ้าตัวก็คงงงว่า เขาไม่ได้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองเหรอ
พอเจ้าตัวพูดแบบนี้ หลายคนอาจจะมองว่า ชังชาติ แต่เขาเองก็ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นแล้ว ไอ้การชังชาติ นี่จะใช้กับเขาได้รึเปล่าก็ไม่รู้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดได้หลังจากอ่านข่าวนี้ก็คือ เวลาเจอคนชาติเดียวกันประสบความสำเร็จ แทนที่จะรีบไปแปะป้ายเขาว่า “ความภูมิใจของ XXX” หรือ “ชาว XXX ที่ประสบความสำเร็จ” ก็ควรไปดูว่า เขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร พยายามมาแค่ไหน เพราะคงไม่ใช่แค่การเป็นชนชาติไหนๆ ที่ทำให้คนคนนั้นประสบความสำเร็จได้โดยอัตโนมัติ แต่เป็นความหมั่นเพียรและพยายามของปัจเจกชนคนหนึ่งที่สู้จนประสบความสำเร็จนั่นล่ะครับ คือสิ่งที่เราควรเอาไปโฟกัสและยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อเอาอย่างในความพยายามของพวกเขา
อ้างอิงข้อมูลจาก