คำถามก็คือ – เรากำลังทำให้เวที APEC เป็นเรื่องสำคัญเกินจริงไปหรือเปล่า?
หลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า สังคมไทยเป็นสังคมนิยมดราม่า เราทะเลาะกันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่อง ‘กลิ่นปลาเค็ม’ (เป็นวิวาทะกันเมื่อสัปดาห์ก่อน – ว่าด้วยเรื่องกลิ่นในที่อับชื้นของผู้หญิง) จนกระทั่งถึงเรื่อง ‘ปลาเค็ม’ จริงๆ จากตากใบ
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องประหลาดนัก ที่พอเกิดอีเวนต์ใหญ่อย่างงาน APEC ขึ้น เราจึงได้เห็นการตั้งกองกันทั้งเชียร์และด่า APEC ในหลายมิติ
คำถามก็คือ – เรากำลังทำให้เวที APEC กลายเป็น ‘ภาพตัวแทน’ ของ ‘ความเป็นชาติ’ กันอยู่หรือเปล่า?
ถ้าเรากำลังทำอย่างนั้น ก็เท่ากับเรากำลัง ‘ใช้’ เวที APEC แบบผิดฝาผิดตัว และอาจให้ความสำคัญกับ APEC มากเกินจริง จนเราอาจละเลย ‘เนื้อหา’ ของการประชุม APEC ไป แล้วเหลืออยู่แค่การต้อง ‘ด่า’ หรือ ‘ปกป้อง’ APEC โดยไม่ได้คำนึงถึงตัว ‘เนื้อหา’ หรือ ‘ปรัชญา’ ในการประชุม
ที่จริงแล้ว ถ้ามองในระดับโลก APEC อาจจะสำคัญ
แต่ก็ไม่ได้สลักสำคัญในระดับคอขาดบาดตาย
หรือเปลี่ยนอนาคตของโลกได้ขนาดนั้น
เพราะมันเป็นแค่การประชุมของหลายชาติใน ‘มิติเดียว’ คือมิติเศรษฐกิจ แถมยังเป็นระดับภูมิภาค คือไม่ใช่การประชุมระดับโลกด้วยซ้ำ ชื่อของ APEC ก็คือ The Asia-Pacific Economic Cooperation คือมีแค่เอเชียกับรอบๆ แปซิฟิค จึงเป็นภูมิภาคที่มีประเทศใหญ่ๆ อยู่หลายประเทศ เช่น จีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แต่กระนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแอฟริกาหรือยุโรป คือไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘ทั้งโลก’
ดังนั้น จะบอกว่า APEC เป็นอีเวนต์ระดับโลกแบบเดียวกับเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส – ยังพูดไม่ได้เลย!
ที่สำคัญ APEC ไม่ใช่งานที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง แต่เป็นงานที่เกิดขึ้น ‘ทุกปี’ (ยกเว้นปีที่มีโควิด) โดยประเทศต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ สามครั้งในสามปีที่ผ่านมาจัดที่ชิลี, มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ดังนั้น มันจึงเกิดขึ้นบ่อยกว่าสุริยุปราคาเต็มดวง และบ่อยกว่าฟุตบอลโลก พูดง่ายๆ ก็คือ มีการประชุมเพื่อหารือกันเรื่องนี้ตลอดเวลาอยู่แล้ว
แต่ให้บังเอิญว่า – ผู้มีอำนาจ (ที่อาจถูกวิพากษ์ว่ามีลักษณะ Provincialism) เห็นว่าเป็น ‘เจ้าภาพ’ ในการประชุม APEC ครั้งนี้ คือ ‘โอกาส’ อันยิ่งใหญ่ ที่จะได้จารึกชื่อในฐานะผู้นำที่ได้จัดงานนี้ พร้อมกับสำแดงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของ ‘ชาติ’ ออกมาในฐานะเจ้าภาพ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะส่งผลดีทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหลังวิกฤตโควิด ก็เลย ‘จัดเต็ม’ กับการประชุมนี้เพื่อสร้างความประทับใจให้นานาชาติ เห็นได้จากความตั้งใจของนายกรัฐมนตรี ที่เคยพูดถึงงานนี้เอาไว้ตั้งแต่ต้นปีแล้ว เพื่อขยายผลให้มากกว่าแค่เศรษฐกิจ แต่กินความไปถึงความพยายามสำแดง Soft Power ด้านต่างๆ ของชาติด้วย
การสนับสนุน APEC จึงมีความหมายโดยนัย
ว่าเท่ากับความ ‘รักชาติ’ นั่นเอง!
ดังนั้น จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม รัฐไทยก็ได้ ‘ทาบ-ทับ’ การเป็นเจ้าภาพ APEC (ที่ตัวเองเห็นว่ายิ่งใหญ่เหลือเกิน) นี้ ลงไปบน ‘ความเป็นชาติ’ อย่างเต็มตัว ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกประหนึ่งว่าหากมีขัดขวางจะกลายเป็นศัตรูของชาติไปเลย
เมื่อ APEC ถูกทาบทับลงไปบนความเป็นชาติ (ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเลย) ก็ย่อมก่อให้เกิดกระแสทั้งชื่นชมและต่อต้านขึ้นมาเป็นธรรมดา โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่มีลักษณะนิยมดราม่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อสมการคือ APEC = รักชาติ การวิพากษ์วิจารณ์ APEC จึงมักถูกผลักไปเป็นฝ่าย ‘ชังชาติ’ โดยปริยาย ไม่ว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะเกิดจากเนื้อหาจริงๆ หรือเกิดขึ้นเพราะความหมั่นไส้ในการจัดการของภาครัฐก็ตามที
ที่จริงแล้ว ถ้าข้าม APEC ไปจนถึงตัว ‘ชาติ’ เองเลย เราต้องยอมรับว่า คนเรามีสิทธิที่จะภูมิใจหรือไม่ภูมิใจในชาติของตัวเองก็ได้ ไม่ได้แปลว่าถ้าเกิดมาเป็นคนชาติหนึ่งแล้ว จะต้องรักชอบหรือภูมิใจไปกับทุกมิติทุกส่วนเสี้ยวเรี้ยวรูของชาตินั้นๆ ไปเสียหมด
ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนแต่ละคนย่อมมีประสบการณ์กับ ‘ความเป็นชาติ’ ของตัวเองที่แตกต่างกัน คนบางคนก็ ‘โดนกระทำ’ ในนามของความเป็นชาติมามากกว่าที่คนที่ ‘ได้ประโยชน์’ จากความเป็นชาติจะคาดคิดถึงหรือเข้าใจได้ คนเราจึงมีสิทธิที่จะไม่ภูมิใจในชาติที่ตัวเองอยู่ได้เสมอ เพราะอาจขลุก คลุกคลี และเติบโตอยู่กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความเป็นชาติ โดยอาจได้รับประโยชน์จากความเป็นชาติอย่างลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอดก็ได้
คนในชาติต่างๆ แบ่งแยกกันแบบนี้เป็นปกติ คนอเมริกันที่รักชาติ (Patriotic) มากๆ ก็มี ไม่ชอบความเป็นอเมริกันถึงขั้นไม่ยอมร้องเพลงชาติเอาเลยก็มี ผมเคยเจอคนฝรั่งเศสที่ถึงขั้น ‘อายชาติ’ ตัวเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า Polarization หรือการแบ่งขั้วขึ้นมาเป็นพวก ‘รักชาติ’ และ ‘ชังชาติ’
ที่จริงเรื่องนี้มีลักษณะที่เป็น ‘อัตวิสัย’ และ ‘เหมารวม’ อยู่มาก เพราะแต่ละคนย่อม ‘พึงพอใจ’ ต่อประโยชน์ที่ตัวเองได้รับจากชาติแตกต่างกัน ซึ่งถึงที่สุดก็ขึ้นอยู่กับเนื้อนาดินของวัฒนธรรมที่ตัวเองเติบโตมาด้วย และในเวลาเดียวกัน เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ชาติ’ หรือ ‘อัตลักษณ์ชาติ’ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะต้อง ‘เหมารวม’ ว่าคนในชาติหนึ่งๆ มีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ และเป็นเจ้าลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้นี่แหละ ที่เรา ‘รัก’ หรือ ‘ชัง’ มัน เพียงแต่บังเอิญมันถูกไปทาบเทียบกับความหมายของชาติ การรักหรือชังลักษณะดังกล่าว จึงถูกมองว่าเป็นสภาวะรักชาติหรือชังชาติ – ก็เท่านั้น
ที่จริงแล้ว การ ‘แบ่งข้าง’ (อย่างเหมารวม) ว่าคนนั้นเป็นพวกรักชาติ คนนี้เป็นพวกชังชาติ อย่างที่เรียกว่า Polarization หรือการแบ่งขั้วนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ีมีปัญหาในตัวของมันเอง เพราะโดยธรรมชาติ คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะ ‘เลือกข้าง’ กันอยู่แล้ว จึงก่อให้เกิดสังคมที่มีลักษณะ Polarized หรือแบ่งขั้วขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ถ้าย้อนกลับไปในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 เราจะเห็นว่าแม้คนเราจะเลือกข้าง
แต่โลกยุคนั้นก็มีลักษณะน่าสนใจ
ที่ทำให้การเลือกข้างไม่ ‘รุนแรง’ เหมือนในปัจจุบัน
โรเบิร์ต พัตนัม (Robert Putnam) นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองเปรียบเทียบ เคยอธิบายถึงเรื่องของ ‘ความไว้วางใจทางสังคม’ (Social Trust) ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งเอาไว้ว่า ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ถือเป็นช่วงเวลาที่ ‘ไม่ปกติ’ ของประวัติศาสตร์ เพราะสภาพแวดล้อมทางสังคมมันเอื้อให้คน ‘ไม่ทะเลาะกัน’ มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในสังคมอเมริกัน และสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมอเมริกัน
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 อเมริกามีลักษณะ ‘กลาง’ (Centricism) ทางการเมืองมาก แม้จะแบ่งออกเป็นสองพรรคใหญ่ คือรีพับลิกันและเดโมแครต โดยมีลักษณะ Polarized ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ชิงชังรังเกียจห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายกันอย่างยอมไม่ได้ มีนิยายหลายเรื่องที่เขียนถึงพ่อตารีพับลิกันและลูกเขยเดโมแครต แต่สามารถร่วมโต๊ะกันได้ พูดคุยกันได้ และถึงขั้นชอบพอในนิสัยใจคอกันได้ มีคำอธิบายว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะในตอนนั้น ทั้งอเมริกาและโลก เพิ่งผ่านวิกฤตที่เป็นความเป็นความตายมาร่วมกัน ทั้งสองครามโลกสองครั้ง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แล้วยังต้องเผชิญหน้ากับสงครามเย็น ซึ่งเมื่อสงครามเย็นยุติลงพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ก็ทำให้ปลายศตวรรษที่ 20 หรือ ‘ยุคเก้าศูนย์’ ถูกหลายคนมองว่าเป็นยุคที่ดีงามที่สุดยุคหนึ่งของมนุษยชาติ
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้ามผ่านมาสู่ศตวรรษใหม่ ก็เกิดสิ่งที่ โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) และ เกร็ก ลูเกียนอฟ (Greg Lukianoff) เรียกไว้ในหนังสือ The Coddling of the American Mind ว่า Negative Polarization หรือ ‘การแบ่งขั้วเชิงลบ’ ขึ้นมา
ในหนังสืออีกเล่มหนึ่ง คือ The Big Sort: Why the Clustering of Like-Minded America Is Tearing Us Apart ของ บิล บิชอป (Bill Bishop) ที่ตีพิมพ์ในปี 2008 ได้เสนอข้อสังเกตที่ว่า คนอเมริกันเริ่มมีลักษณะ ‘แบ่งแยกตัวเอง’ (Self Segregation) ทางการเมืองออกมาเป็นกลุ่มๆ เพื่อสร้างชุมชนทางการเมืองของตัวเองที่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันหรือ ‘คิดเหมือนๆ กัน’ มากขึ้น แล้วแต่ละกลุ่มเหล่านี้ก็พร้อมจะเข้ามาห้ำหั่นกันอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
นักเขียนอีกคนหนึ่ง คือ อลัน กรีนบลาตต์ (Alan Greenblatt) ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ เขาเขียนบทความชื่อ Political Segregation Is Growing and ‘We’re Living With the Consequences’ หรือการแบ่งแยกทางการเมืองกำลังเติบกล้า และ ‘เรากำลังเผชิญหน้ากับผลลัพธ์ของมัน’ กันอยู่
ในอเมริกา การแบ่งแยกทางการเมืองนี้เห็นได้ชัดในกรณีของรีพับลิกันกับเดโมแครต เพราะรีพับลิกันกลายเป็นพรรคที่พัวพันกับสัญญะทางสังคมหลายอย่าง เช่น เป็นคนแก่ คนผิวขาว คนชนบท ชายเป็นใหญ่ และเป็นคริสเตียนแบบเคร่งศาสนา ในขณะที่เดโมแครตเป็นพวกคนหนุ่มสาว ไม่ใช่ผิวขาว เป็นคนเมือง เป็นเฟมินิสต์ ไม่เคร่งศาสนา ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า คนสองกลุ่มนี้ ‘ตรงข้าม’ กันในแทบทุกมิติ
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ทำให้คนรับความคิดเห็นที่หลากหลายมากขึ้น เราไม่ได้นั่งดูโทรทัศน์ไม่กี่ช่องหรืออ่านหนังสือพิมพ์ไม่กี่หัวอีกต่อไปแล้ว แต่ ‘สื่อสังคม’ หรือโซเชียลมีเดียทำให้เรา ‘คิด’ ว่าตัวเรารับ ‘ข้อมูล’ ได้หลากหลายกว่าคนอื่น สุดท้ายก็ก่อให้เกิดฟองสบู่ข้อมูลของคนที่คิดคล้ายๆ กัน ทำให้เราคิดว่าคนทั้งโลกคิดเหมือนเรา แล้วยิ่งเร่งกระบวนการที่เรียกว่า Negative Polarization นี้ให้ ‘แรง’ ขึ้นไปอีก ซึ่งหากเรานำลักษณะการแบ่งแยกของคนอเมริกันที่ว่ามาทั้งหมดนี้มาเทียบกับสังคมไทย – จะเห็นได้ว่าคลับคล้ายกันอย่างมาก
ยิ่งถ้าลองมาดู ‘การทะเลาะกัน’ ในเรื่อง APEC เราจะเห็นได้เลยว่า ‘เนื้อหา’ ส่วนใหญ่ของการเถียงกัน เป็นเนื้อหาที่เกิดจาก Negative Polarization หรือการแบ่งขั้วด้านลบที่ว่านี้ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่การเอา APEC ไป ‘ทาบ-เทียบ’ กับความรัก/ชังชาติ โดยแทบไม่มีการถกเถียงกันถึงเรื่อง ‘เนื้อหา’ หรือ ‘ปรัชญา’ ของการประชุมเท่าไหร่เลย
โดยเนื้อแท้ของมัน APEC ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการประชุมเพื่อโปรโมท ‘การค้าเสรี’ หรือ Free Trade อันเป็นแนวคิดที่เป็นฐานหลักของเสรีนิยมใหม่ (Neo-Liberalism) ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วเป็นวิธีคิดที่มีปัญหาหลายอย่างซ่อนอยู่ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม อันเป็นเรื่องที่เราควรต้องพิจารณากันอย่างถ่องแท้และ ‘ปลอด’ จาก Negative Polarization ในเชิงรัก/ชังชาติ – ให้ได้, เพราะมันคือเรื่องที่จะคุกคามโลกและมนุษยชาติจริงๆ ในอนาคตอันใกล้นี้
คำถามก็คือ – การ ‘ซุก’ APEC ไว้ใต้พรมชาติ ไม่ว่าจะรักหรือชัง ได้ทำให้คนในวงกว้างสนใจ ‘เนื้อหา’ และ ‘ปรัชญา’ ของการประชุมน้อยกว่าสนใจเรื่องของ ‘ผักชี’ ที่เอาไว้โรยประดับหน้าการประชุมหรือเปล่า?
ถึงที่สุดแล้ว การถกเถียงเรื่อง APEC จะเป็นเพียงเรื่องปลาเค็ม ปิดถนน รักชาติ ชังชาติ หรือแม้กระทั่ง ‘ผลประโยชน์’ ที่ชาติหนึ่งๆ ควรได้รับจากการไป ‘ต่อรอง’ กันทางเศรษฐกิจเท่านั้นกระนั้นหรือ เราไม่ควรต้องถกเถียงกันไปจนถึง ‘ราก’ ทาง ‘ปรัชญา’ ของการประชุมนี้ ว่าผู้นำเหล่านี้จะนำพาภูมิภาคนี้ไปในทิศทางไหนกันแน่ และมันมีปัญหาในตัวอย่างไรบ้าง – หรอกหรือ?
การทำให้ APEC สำคัญเกินจริงมีปัญหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่การเพิกเฉยละเลย ‘ปรัชญา’ ของการประชุม โดยหันไปสนุกอยู่กับ Negative Polarization อาจยิ่งทำให้ปัญหาเรื้อรังที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคมยิ่งหนักหนามากขึ้นไปอีกก็เป็นได้