หมายเหตุ : บทความมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง ‘ครอบครัวที่ลัก Shoplifters’
สามสัปดาห์ก่อนผมได้ไปชมภาพยนตร์รอบสื่อเรื่อง ‘ครอบครัวที่ลัก’ หรือ Shoplifters ผลงานใหม่ของโคเรเอดะ ผู้กำกับที่ทำผลงานออกมาให้เราได้ทึ่งเสมอ เนื้อเรื่องเล่าเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการรวมตัวกันของผู้แพ้จากสังคม แต่แล้วตัวเรื่องก็ค่อยๆ เผยรายละเอียดและที่มาที่ไปของตัวละครแต่ละตัวให้เราได้รู้เรื่อยๆ ซึ่งระหว่างทางเราต้องค่อยๆ เก็บมาทีละชิ้นแล้วนำมาประกบประกอบกันเอง
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องคือ การที่ตัวละครหลักตัวหนึ่งเป็นเหมือนเสากลางของครอบครัวด้วยการมีรายรับจากทางการอยู่เสมอ และเมื่อตัวละครดังกล่าวเสียชีวิตลง สิ่งที่ครอบครัวดังกล่าวกระทำไม่ใช่การแจ้งมรณะหรือการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่กลับเป็นการฝังศพไว้ในบ้าน และคอยรับเงินดังกล่าวต่อเพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัวเช่นเคย
สำหรับชาวไทยเรา ถ้าหากไม่ใช่ข้าราชการที่มีเงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณอายุแล้ว ก็คงไม่ค่อยคุ้นกับการมีเงินบำนาญให้ผู้สูงวัยที่เป็นประชาชนคนทั่วไป ซึ่งบ้านเรามีที่คล้ายๆ กันคือเบี้ยผู้สูงอายุ ที่มีสิทธิ์ได้สูงสุดเดือนละ 1,000 บาท แต่ต้องรอมีอายุยืนเกิน 90 ปีก่อน แต่ของญี่ปุ่นมี ระบบบำนาญสำหรับประชากรทั่วประเทศ ซึ่งก็จัดให้เป็นสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของชีวิตหลังพ้นวัยทำงานแล้วนั่นเอง ญี่ปุ่นเรียกเงินบำนาญแบบนี้ว่า ‘เน็งคิน’ โดยเริ่มต้นระบบในปี 1961 และหลักๆ จะแบ่งออกเป็นสามรูปแบบคือ
- ระบบเงินบำนาญแห่งชาติ
คือเงินบำนาญรูปแบบพื้นฐานที่สุด เก็บจากคนที่มีอายุ 20-60 ปี โดยไม่เกี่ยวกับว่าประกอบอาชีพอะไร แม้จะไม่มีงานประจำ ทำงานเป็นแม่บ้าน หรือยังเป็นนักศึกษา รวมถึงทำงานอิสระ ธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กก็ต้องจ่ายเงินส่วนนี้เข้าระบบ แต่อาจจะจ่ายเป็นงวดตามแต่เงื่อนไขแต่ละคน และเมื่อถึงเวลารับเงินบำนาญก็จะได้เงินบำนาญพื้นฐานในอัตราคงที่
- ระบบบำนาญลูกจ้างเอกชน
ระบบนี้จะคล้ายๆ กับประกันสังคมของบ้านเราคือ บริษัทจ่ายเงินสะสมส่วนนึง พนักงานจ่ายส่วนนึง ซึ่งก็เป็นเฉพาะกับบริษัทที่เข้าในระบบนี้หรือรัฐวิสาหกิจ และเมื่อเกษียณอายุจะได้เงินสองส่วนคือ เงินบำนาญพื้นฐานอัตราคงที่ และเงินบำนาญที่คำนวณตามระดับรายได้
- ระบบเงินบำนาญของข้าราชการและสมาคมอาชีพต่างๆ
ตัวนี้จะคล้ายๆ กับแบบที่สอง แต่ว่าเป็นกลุ่มของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงครูโรงเรียนเอกชน นอกจากเงินบำนาญในลักษณะเดียวกับกลุ่มที่สองแล้วจะมีเงินช่วยเหลือจากต้นสังกัดอีก ทำให้เป็นกลุ่มที่ได้เงินบำนาญในสัดส่วนที่สูงที่สุด
แหล่งที่มาของเงินที่จะเอามาจ่ายบำนาญก็มีสองส่วนหลักคือ เบี้ยประกันที่ทุกคนจ่ายเข้าระบบไป โดยกลุ่มที่หนึ่งอาจจะเป็นการฝากเงินเข้าเป็นงวด แต่กลุ่มสองกับสามคือหักตรงจากเงินเดือนเลย กับอีกส่วนคือเงินงบประมาณของรัฐบาลที่ต้องกันงบส่วนหนึ่งมาไว้เป็นสวัสดิการเพื่อความมั่นคงของประชาชนเมื่อถึงตอนที่ไม่มีงานทำนั่นล่ะครับ
ส่วนจะได้เงินเท่าไหร่ จริงๆ ก็แล้วแต่ว่าแต่ละคนจ่ายเงินเข้าระบบกันเท่าไหร่ด้วย พื้นฐานสุดคือเมื่อถึงวัยรับเงินบำนาญ ถ้าหากจ่ายเงินเข้าระบบอย่างต่ำ 40 ปี ก็จะได้เงินจำนวน 779,300 เยนต่อปี ซึ่งก็มีโอกาสได้เพิ่มจากจำนวนปีที่จ่ายเงินเข้าระบบ หรือสิทธิ์อื่นๆ ที่แบ่งย่อยไปอีก เช่น ผู้พิการ หรือคนที่เป็นม่ายก็จะมีเงินสมทบเพิ่มเข้าไปอีก ฟังดูแล้วอาจจะไม่ใช่เงินจำนวนมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นเงินที่พอช่วยให้ประทังชีวิตต่อไปได้ ถ้าหากมีที่อยู่อาศัยที่เป็นของตัวเองแล้ว ก็ยังพอใช้เงินส่วนนี้ซื้อปัจจัยจำเป็นในการใช้ชีวิตได้ ถ้าบวกกับเงินสะสมที่มีมาก็คงจะพออยู่ไปได้แต่อาจจะต้องรัดเข็มขัดหน่อยสำหรับประชาชนคนทั่วไป
สำหรับผู้รับเงินบำนาญที่อยู่กับครอบครัวของลูกหลานตัวเองก็อาจจะไม่ได้ลำบากอะไรมากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีรายรับทางอื่นเข้ามาช่วยด้วย แต่ผู้รับเงินบำนาญที่ไม่ได้มีครอบครัว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็อาจจะลำบากกว่า อย่างที่เคยเขียนไปในบทความดันจิ ว่าบางคนก็เลือกอยู่ตัวคนเดียวใช้ชีวิตไปวันๆ จนกระทั่งเสียชีวิตไปโดยไม่มีใครรู้ นอกจากนี้ก็มีบ้านพักคนชราที่บริหารงานโดยรับเงินบำนาญแทนผู้สูงอายุ แต่ช่วยดูแลเรื่องอาหารการกินกับความเป็นอยู่ ถึงอย่างนั้นของแบบนี้ก็มีความเสี่ยงครับ ที่ดีๆ ที่สามารถบริหารเงินเก่งและรับเงินอุดหนุนจากรัฐด้วยก็สามารถช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้รับเงินบำนาญมีมาตรฐาน แต่ก็มีกรณีที่บ้านพักผู้สูงอายุบางแห่งถูกเปิดโปง เนื่องจากสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุเลวร้ายไม่ต่างกับติดคุกเลยทีเดียว เพราะวันๆ ได้แต่อยู่ในห้องพักเล็กๆ ไม่มีอะไรให้ทำนอกจากเปิดทีวีทิ้งไว้ มีอาหารคุณภาพเลวให้กินเท่านั้นจริงๆ
ในขณะที่บางคนก็เลือกใช้เงินบำนาญตรงนี้เป็นทุนในการไปใช้ชีวิตในประเทศอื่นด้วย ตัวอย่างไม่ไกลก็บ้านเรานี่ล่ะครับ ที่มีการให้วีซ่า Long Stay แก่ผู้สูงอายุที่หากมีเงินในบัญชีถึงเกณฑ์ก็สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ ที่เห็นเยอะก็ในเชียงใหม่ที่มีชาวญี่ปุ่นวัยเกษียณมาอยู่กันเยอะจนเป็นเหมือนชุมชน จัดกิจกรรมของตัวเองได้ แม้จะไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนตัวเอง แต่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าจากเงินจำนวนเท่ากัน อย่างน้อยการเลือกมาอยู่กันที่นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้สูงอายุที่ทำให้พวกเขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องคอยแต่จะรอความช่วยเหลือจากคนอื่น
แต่ในขณะเดียวกัน เงินบำนาญตรงนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาหลักของสังคมญี่ปุ่นมานานเช่นกัน
เพราะที่ผ่านมา ระบบเงินบำนาญตรงนี้เริ่มต้นในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นรุ่งเรือง ประชากรเพิ่มกันมาก แต่เมื่อมาดูสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันที่อัตราการเกิดต่ำแต่ผู้คนอายุยืนขึ้นจนค่าเฉลี่ยอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ก็ได้แต่ทำงานส่งเงินเข้าระบบ เลี้ยงดูผู้รับเงินบำนาญที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีประเด็นว่าระบบนี้มันจะยังดำเนินต่อไปได้หรือไม่ในสภาพสังคมสูงอายุอย่างหนักแบบนี้ ผู้รับเงินบำนาญก็กลัวว่าสักวันหนึ่งเงินจะโดนตัดหายไป ส่วนวัยทำงานที่ส่งเงินเข้าระบบตอนนี้ก็กลัวว่าเมื่อถึงเวลาของตัวเองแล้วจะไม่ได้เงิน เพราะบางทีทางรัฐก็ออกมาโยนหินถามทางชวนให้เป็นห่วงเช่นเปรยว่าอาจจะต้องเลื่อนอายุเริ่มรับเงินบำนาญให้สูงขึ้นด้วยการทยอยปรับขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มรับที่อายุ 70 ปี (จากที่ปัจจุบันเริ่มที่ 65 ปี) หรืออาจจะต้องลดยอดเงินลง แบบนี้ใครปวดหัวก็ไม่แปลกครับ
การมีระบบเงินบำนาญแบบนี้ พอมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง มีหรือที่ความโลภของคนเราจะไม่ตามมา ผลก็คือการโกงนั่นล่ะครับ มีทั้งโกงผู้รับบำนาญด้วยการพยายามหลอกเอาเงินคนกลุ่มนี้ ยิ่งเป็นผู้สูงอายุที่บางทีอาจจะตามเทคนิคการโกงที่แพรวพราวไม่ทันก็เสียเงินให้คนพวกนี้ไป บางทีก็มีโทรมาหลอกว่าฐานข้อมูลผู้รับเงินบำนาญรั่ว ขอให้ช่วยแจ้งรายละเอียดส่วนตัวทั้งหลาย สุดท้ายก็เอาข้อมูลตรงนี้ไปหาช่องทางโกงเงินอีกที
แต่ที่น่ากลัวอีกอย่างคือ การที่ครอบครัวของผู้รับเงินบำนาญเป็นคนโกง ด้วยการรับเงินที่ไม่ควรได้รับนั่นล่ะครับ
ตัวอย่างก็ตามในภาพยนตร์ Shoplifters เลยคือ ผู้รับเงินบำนาญเสียไปเรียบร้อย แต่ไม่มีการแจ้งมรณะ ไม่ได้จัดการศพ คนที่ยังอยู่ก็รับเงินต่อเรื่อยๆ เป็น passive income (เหรอ?) ของครอบครัวไป ภาพยนตร์ก็เอามาจากเรื่องจริงของสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันนั่นล่ะครับ เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปทีนึงในหนังสือ เอ๊ะ!! เจป๊อป เกี่ยวกับครอบครัวขาวญี่ปุ่นที่ในปี 2010 ทางการเห็นว่าคุณปู่ของครอบครัวนี้มีอายุเกิน 100 ปี เลยจะเข้าไปมอบของรางวัลให้ แต่กลายเป็นว่าไปพบว่าคุณปู่กลายเป็นกระดูกแห้งอยู่ในห้องของตัวเองไปแล้ว ไม่แปลกอะไรที่ที่ผ่านมาครอบครัวนี้ไม่เคยยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปพบคุณปู่ อ้างว่าไม่สะดวกบ้าง นอนเป็นผักบ้าง แล้วดูจากหลักฐานหนังสือพิมพ์ในห้องของคุณปู่ ทำให้ตำรวจคาดการณ์ว่าคุณปู่น่าจะเสียไปตั้งแต่ 30 ปีก่อนพบศพแล้ว ครอบครัวก็ยังแถได้อย่างน่ารักน่าถีบว่า ไม่เห็นคุณปู่ออกมา แล้วก็ไม่ได้ต้องการอาหารอะไร และอ้างว่าคุณปู่บอกว่า “จะบำเพ็ญเพียรจนร่างกายไม่เน่าสลาย ห้ามเข้ามากวน” เลยปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ได้รบกวน ผมอ่านข่าวแล้วก็ได้แต่อึ้งไป (การบำเพ็ญเพียรแบบนี้มีในญี่ปุ่นในอดีตจริงๆ ครับ แต่มีขั้นตอนและการเตรียมตัวเยอะกว่านี้ พูดง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับการภาวนาไปเรื่อยๆ พร้อมอดอาหารจนเสียชีวิตแต่ร่างกายจะไม่เน่าเปื่อย) สุดท้ายครอบครัวนี้ก็โดนปรับข้อหาโกงเงินบำนาญของรัฐ ค่าปรับ 9.5 ล้านเยน
แต่เพราะมีคดีนั้นเกิดขึ้นมาเลยทำให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นตื่นตัว นึกได้ว่าน่าจะมีครอบครัวที่ทำแบบนี้อีกไม่น้อย จึงค่อยเริ่มต้นการตรวจสอบตามฐานข้อมูล ครอบครัวไหนมีผู้สูงอายุก็เข้าไปเยี่ยมดู แต่มันก็ไม่ใช่งานง่ายหรอกครับ เพราะผู้สูงอายุก็เยอะ ไม่รู้ว่าต้องวนไปดูกันบ่อยแค่ไหน จะคุ้มแรงงานหรือไม่ก็ชวนให้ปวดหัวอีกแน่นอน แต่ที่แน่ยิ่งกว่าคือ ยิ่งเช็กยิ่งเจอครับ และเป็นกันทั่วประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นปัญหาใหม่อีกเรื่อง ไม่ใช่แค่เพียงผู้สูงอายุเสียชีวิตไปโดยไม่มีการแจ้งทางการเท่านั้น แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ ตัวผู้สูงอายุหายตัวออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัย หรือทิ้งบ้านตัวเองไป แล้วครอบครัวก็ไม่ได้ตามหาตัว ไม่ได้แจ้งคนหาย แต่เงินก็เข้าบัญชีมาเรื่อยๆ ยังไม่นับผู้สูงอายุที่อยู่ตัวคนเดียวแล้วเสียไปโดยไม่มีใครรับรู้ แต่เงินก็เข้าบัญชีตามระบบไปอีก กลายเป็นเงินที่รัฐจ่ายให้ไปเปล่าๆ ต้องมาไล่เช็กอีกว่าเสียไปตอนไหน
แม้จะเป็นระบบที่มาด้วยเจตนาดีแต่สุดท้ายก็เกิดปัญหา ทั้งปัญหาของระบบเอง และปัญหาจากคนที่หาประโยชน์จากช่องโหว่ของระบบ แต่การมีระบบที่ช่วยให้คนพึ่งตัวเองได้แม้จะมีอายุเกินวัยทำงานแล้ว มันก็ถือเป็นแนวคิดที่มองประชาชนเป็นทรัพยากรที่ควรตอบแทนหลังจากที่ได้ทำประโยชน์ให้รัฐแล้ว ยังดีกว่ามองไปข้างหน้าแล้วมืดแปดด้านนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก