กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ทั้งหลาย ไม่ใช่ธรรมเนียมดั้งเดิมของไทยที่ไหน เพราะเพิ่งจะมีประกาศใช้เมื่อ พ.ศ. 2552 ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นี้เอง
แต่กฎหมายคนดี๊ คนดีย์ ฉบับนี้ก็ยังห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงแค่เฉพาะเพียงแค่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา เท่านั้น จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2558 รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงค่อยมีกฎหมายเพิ่มเติมออกมาว่า ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ในวันออกพรรษาด้วย (เอ้า เพลงขึ้น! เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมาา…แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชนน)
ที่น่าประหลาดก็คือ กฎหมายทั้งฉบับที่ออกในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ และในรัฐบาลท่านผู้นำของลุงตู่ ต่างก็ไม่ได้บอกอะไรเอาไว้เลยเหมือนกันเป๊ะว่า เหตุผลในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่นั้นคืออะไรแน่?
แต่นึกๆ ไปแล้วก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่หรอกนะครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว สิ่งที่พี่ไทยเราเรียกว่า ‘วันพระใหญ่’ นี่ก็เป็นนวัตกรรมวันฮอลิเดย์ในยุคกรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งนั้น
อย่างวันวิสาขบูชา ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็เพิ่งมีฉลองในไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 2, มาฆบูชา เพิ่งจะประดิษฐ์ขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 ในกรุงเทพฯ โดยรัชกาลที่ 4 เองนี่แหละ ส่วนอาสาฬหบูชา นี่ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเพิ่งเริ่มมีการประกอบพิธีบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 ในประเทศไทยเรานี่เอง ดังนั้นถ้ารัฐไทยจะประดิษฐ์ธรรมเนียมอะไรเพิ่มเติม ก็คงต้องตามแต่ใจคุณพี่เค้าแล้วนั่นแหละ เอาที่พี่สบายใจเลยครับ!
ในบรรดาวันพระใหญ่ทั้งหมดของไทยนั้น ‘วันเข้าพรรษา’ (แน่นอนว่าต้องหมายรวมถึงกระบวนการทั้งหมดในช่วงเข้าพรรษา และวันออกพรรษาด้วย) จึงดูจะเป็นวันพระใหญ่ที่สืบประวัติได้ยาวนานที่สุดในวัฒนธรรมไทย แถมยังมีร่องรอยความเป็นพื้นเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการเข้ามาของพุทธศาสนา จากอินเดีย ในภูมิภาคอุษาคเนย์อีกด้วย ดังปรากฏอยู่นิทานเรื่อง ‘นาค’ ปลอมเป็น ‘มนุษย์’ มาบวช แล้วถูกจับได้จนพระพุทธเจ้าทรงต้องตาเป็นกฎให้มีการ ‘บวชนาค’ ขึ้นมา อย่างที่รู้จักกันดีในสังคมไทยนั่นเอง
แน่นอนว่านิทานเรื่องดังกล่าวมีในพระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎก แต่ข้อความในพระไตรปิฎกจบลงที่พระพุทธเจ้าทรงตัดสินให้สึกเพียงเท่านั้น พระวินัยของพระพุทธเจ้าในอินเดียครั้งกระโน้นจึงมีเฉพาะการ ‘สึกนาค’ เพราะไม่ได้มีการให้ ‘บวชนาค’ เพื่อเป็นการระลึกถึงอย่างที่เราเข้าใจกันไปเอง พิธีบวชนาคจึงเป็นเรื่องพื้นเมืองในภูมิภาคอุษาคเนย์ของเรา และไม่มีในอินเดียเสียหน่อย (ที่ศรีลังกามีการบวชนาค เพราะรับเอาไปจากสยาม พร้อมพุทธศาสนาแบบสยามวงศ์ ไม่ใช่อินเดีย)
หนึ่งในปราชญ์นักวิชาการตัวท็อป ควบตำแหน่งนักเคลื่อนไหวที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่ง เท่าที่สังคมไทยเคยมีมาอย่าง จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอธิบายว่า ‘นาค’ เป็นคำในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป มีรากเดิมมาจากคำว่า ‘นอค’ (Nog) แปลว่า ‘เปลือย’ หรือ ‘แก้ผ้า’ ภาษาอังกฤษรับมาใช้กลายเป็นคำว่า Naked ที่แปลว่าเปลือยเหมือนกัน ดังนั้น นาค จึงไม่ใช่ทั้งคำไทย-ลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร แต่ทั้งตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า ‘งู’ เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด แล้วมโนเพิ่มเติมกันต่อไปว่าหัวหน้างูทั้งหลายคือ พญานาค มีถิ่นที่อยู่ใต้ดินเรียกว่า บาดาล
และเมื่อ ‘นาค’ มาจาก ‘นอค’ หมายถึงเปลือย หรือแก้ผ้าแล้ว นาค จึงเป็นคำที่พวกมีวัฒนธรรมสูงกว่า (คือรู้จักทอผ้านุ่งห่มแล้ว) ใช้เรียกผู้มีวัฒนธรรมต่ำกว่า (คือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม) ยังเป็น ‘คนเปลือย’ หรือคนแก้ผ้า ที่อย่างดีก็เอาใบไม้มามัดผูกไว้แทนเสื้อผ้า
การ ‘บวชนาค’ ที่ไม่มีในพระวินัยของพระพุทธเจ้า และไม่มีในที่อื่นๆ บนผืนแผ่นดินแดนภารตะนั้น จึงเป็นสภาวะที่เปลี่ยนผ่านจาก ‘คนพื้นเมือง’ ที่นับถือ ‘ศาสนาผีพื้นเมือง’ ที่กำลังจะเข้าไปสู่ร่วมกาสวพักตร์ในพระศาสนาที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามาจากชมพูทวีป
และจึงไม่แปลกที่ขบวนแห่นาค ในช่วงเข้าพรรษาจะเต็มไปด้วยเครื่องดองของเมา และคนเมาดิ้นในทุกเพลงโดยไม่จำเป็นต้องมีงูออกมา เพราะ ‘นาค’ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘คนพื้นเมือง’ อุษาคเนย์ ที่สำคัญคือช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วง ‘ฤดูฝน’ ฤดูแห่งการเพาะปลูก ซึ่งในแต่ละภูมิภาคทั่วทุกมุมโลก มักจะมีพิธีกรรมดั้งเดิมเพื่อร้องขอความอุดมสมบูรณ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่แล้ว
แน่นอนว่า เรื่องของการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบในพิธีกรรมทางศาสนานั้น ก็หมายรวมถึง ศาสนา ‘ผี’ พื้นเมืองของอุษาคเนย์เราด้วย การปรากฏมีเครื่องดื่มเหล่านี้ในการแห่นาคนั้น จึงเป็นทั้งหลักฐาน และสัญลักษณ์ถึงการแข็งขืนต่อพระศาสนาใหม่จากถิ่นที่อื่น ชิ้นสำคัญที่ยังตกทอดมาจนถึงทุกวันนี้
และเมื่อคิดในมุมอย่างนี้แล้ว กฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ซึ่งไม่ว่าจะออกในรัฐบาลของใครก็ช่างหัวมันเถอะนะครับ เพราะสุดท้ายกฎหมายเหล่านี้ก็คือเครื่องมือสำคัญในการทำลายร่องรอยทางประวัติศาสตร์ส่วนนี้อยู่ดี
ศาสนาผีอุษาคเนย์ ยังไม่ใช่ศาสนาเดียวที่มี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรม ศาสนาที่เป็นต้นแบบให้กับศาสนาฮินดูในอินเดีย อย่าง ‘ศาสนาพระเวท’ ก็เป็นศาสนาหนึ่งที่เป็นเช่นนั้น
ในคัมภีร์สามเวท ซึ่งเก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับสอง ในบรรดาคัมภีร์ทั้งสี่เล่มที่ประกอบเข้าเป็นคัมภีร์พระเวท ถึงกับมีบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าที่ใช้สำหรับให้พราหมณ์อุทคาตา (Utgata) สวดในขณะที่คั้น กรอง และถวายน้ำ ‘โสม’ แก่เทพเจ้าทั้งหลาย (ย้ำว่า ‘ทั้งหลาย’ ซึ่งหมายความว่าแต่ละพระองค์ต่างก็นิยมที่จะดริ๊งค์ แดรงค์ ดรั้งค์ ด้วยกันทั้งนั้น) เป็นการเฉพาะ แถมยังมีเทพปกรณ์ในพระเวทหลายเรื่องเลยเสียด้วยซ้ำ ที่กล่าวถึงประโยชน์ของการดื่มน้ำโสม
พูดง่ายๆ ว่าการดื่มน้ำโสม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชมพูทวีปยุคโน้น (ซึ่งหมายรวมถึงสมัยของพระพุทธเจ้า) เป็นเรื่องของพิธีกรรมในศาสนาพระเวท ที่จะพัฒนาต่อมาเป็นศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งทำหน้าที่ให้ผู้ที่ดื่มเข้าไปแล้วอยู่ในสภาวะของ ‘การเข้าทรง’ (เอ่อ ถ้าใครมีประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นกับเพื่อน หรือตนเองว่า เมารั่ว หรือเรื้อน จนเหมือนมีองค์มาประทับก็นั่นแหละครับ คล้ายๆ กัน)
แล้วในเมื่อค่านิยมการดื่ม ที่ยังไม่ได้มีแนวคิดแบบการกินคลีนให้ชิคๆ แถมแลดูเฮลท์ตี้ หรือแนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพตามการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว พระพุทธเจ้าจะทรงปฏิเสธเรื่องการดื่มเครื่องดองของเมาเหล่านี้ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ หรือสติสัมปชัญญะอะไรก็ตามแต่ไปได้ยังกัน พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธอาการเมาแล้วเข้าทรงต่างหากเล่า ปั๊ดโธ่!
มีคำเรียกนักบวชในพระพุทธศาสนาคำหนึ่ง ที่คุ้นหูคนไทยเป็นอย่างดี คือคำบาลีว่า ‘สมณะ’ พระพุทธเจ้าเองก็ถูกเรียกว่า ‘พระสมณโคดม’ อยู่บ่อยๆ แต่ที่จริงคำนี้ไม่ได้หมายถึงพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเท่านั้นนะครับ เพราะนักบวชในศาสนาอื่น เช่น ศาสนาเชน ของพระมหาวีระ ที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ก็ถูกเรียก ‘ศรมณะ’ ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤตด้วย
คำว่า ‘สมณะ’ ในภาษาบาลีก็ตรงกับคำว่า ‘ศรมณะ’ ในภาษาสันสกฤตนั่นแหละ โดยหลักฐานเอกสารร่วมสมัยใช้คำๆ เดียวกันนี้หมายรวมทั้งหมดว่า ‘ผู้ปฏิเสธในพระเวท’
ดังนั้นถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้า กับพระมหาวีระ จะทรงมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เป็นผู้ปฏิเสธในพระเวทเหมือนกัน และส่วนหนึ่งที่พระศาสดาทั้งสองพระองค์ปฏิเสธก็คือพิธีกรรม แน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึงพิธีกรรมที่มีเครื่องดื่มมึนเมาเป็นส่วนประกอบสำคัญด้วย
และถ้าพระพุทธองค์จะทรงตรัสให้ละเว้นจากเครื่องดื่มอันเป็นที่ตั้งของความประมาทอย่างที่มักจะอ้างกันนั้น ความประมาทที่ว่า ก็คือความหลงใหลในพิธีกรรมของศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ไม่ใช่ความประมาทในฐานะสิ่งให้โทษต่อร่างกาย หรือในฐานะของยาเสพติด เพราะทัศนะของผู้คนในยุคสมัยของพระองค์นั้น เครื่องดื่มเหล่านี้เป็นของวิเศษ และมีสรรพคุณในฐานะ ‘ยาบำรุง’ หรือ ‘ยารักษาโรค’ ด้วยซ้ำไปเหอะ
‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า เบียร์ อุ กระแช่ สาโท ไวน์ วอดก้า หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ จึงถูกจำกัดความแตกต่างกันไปในแต่ละสมัย และแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่โลกของพระศาสนา
ศาสนาพุทธเคยบัญญัติให้ละเว้นเครื่องดื่มเหล่านี้ เพื่อต่อสู้กับศาสนาพระเวทเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่ศาสนาผีพื้นเมืองของเรา ก็ต่อรองกับศาสนาพุทธที่เข้ามาใหม่ ด้วยการยกเอาการดื่มไปไว้ในพิธีกรรมของศาสนาพุทธ และในประเทศของเราทุกวันนี้ ท่านผู้มีอำนาจก็ได้ใช้พวกมันเป็นเหยื่อบูชายัญในนามของความดี อย่างไม่แคร์ ไม่สนเลยสักนิดว่าคนในประเทศนี้น่ะ ไม่ได้เป็นชาวพุทธ และไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลยกับวันพระใหญ่ อย่างที่พวกท่านคาดหวังไปเสียทุกคน
แต่บางทีพวกท่านผู้มีอำนาจก็อาจจะรู้อยู่แล้วนะครับว่าประเทศไม่ได้มีแต่ชาวพุทธ แต่แล้วไง? ใครสน? จะมาหาเหตุผลที่ไม่ให้ขายให้เสียรายได้ทำไม ไม่เข้าใจเหรอว่านี่มันเรื่องของคนดี? ที่บรรดาพวกท่านผู้มีอำนาจต้องทำจึงลำบากเพียงแค่ต้องมองบน ยักไหล่ แล้วก็ฮัมเพลงชิคๆ ต่อไปว่า “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา… แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอ ประชาชนนน” 😛