ช่วงก่อนปีใหม่ 2018 ที่เพิ่งผ่านมานี้ จริงๆ แล้วในโลกรัฐศาสตร์โดยเฉพาะสายความมั่นคงศึกษาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นมีเรื่องได้ครึกครื้นปนคุกรุ่นกันอีกรอบหนึ่ง เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาเปิดตัวแผนความมั่นคงของรัฐบาลของพี่แกอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 18 ธันวาคม 2017 แผนที่ว่านี้เรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคง หรือ National Security Strategy 2017” โดยมักเรียกย่อๆ ว่า NSS2017 ครับ
คงต้องบอกก่อนว่า เอาจริงๆ การออกแผน NSS อะไรพวกนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกวิสัยอย่างสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ทำเป็นกิจวัตรนะครับ NSS เป็นสิ่งที่ต้องออกในทุกรัฐบาลอยู่แล้ว ออกเร็วช้าแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่รัฐบาลไป (โดยมาตรฐานที่ผ่านมา ของพี่ทรัมป์นี่ควรจะจัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ออกมาเร็วครับ) แต่สิ่งที่แปลกและน่ากลัวนั้นอยู่ที่ตัวเนื้อหาของ NSS ฉบับนี้เอง ที่เรียกได้จริงๆ ว่ากลั่นเอาความขวาพิลึกพิลั่นของพี่ทรัมป์แกมาเต็มที่
แต่ก่อนที่จะไปถึงตัวเนื้อหาในตัวเล่ม (ที่ยาวมากทีเดียว) ผมอยากจะขอพูดถึงโครงสร้างของตัวโครงสร้างเนื้อหาของ ‘การแถลงเปิดตัว NSS’ ของประธานาธิบดีทรัมป์ก่อนสักหน่อย เพราะผมคิดว่าคนส่วนใหญ่จะได้สัมผัสกับ NSS นี้ ก็ไม่ได้อ่านเล่มเต็มหรอก แต่มาจากการดูพี่แกแถลงนี่แหละ และมันเป็นเนื้อหา/วิธีการที่ผมคิดว่ามีพลังที่สำคัญอยู่ ที่หากอ่านอย่างเดียวไม่ได้สนใจที่แกพูด ก็จะขาดอรรถรสส่วนนี้ไปไม่น้อยทีเดียว
คำแถลงการณ์เต็มๆ ของ ปธน. ทรัมป์ยาวประมาณ 28 นาทีครับ ดูได้จากคลิปเต็มนี่เลย www.youtube.com โดยโครงสร้างหลักของการแถลงนั้นแบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ ครับ คือ (1) การอธิบายถึงความล้มเหลวที่รัฐบาลก่อนทำไว้รวมถึงปัญหาสามานย์สารพัดที่เกิดขึ้นชนิดที่ยากจะแก้ไขเหลือเกิน และบางเรื่องที่คนด่าทั้งโลกพี่แกก็พูดนำเสนออย่างแสนภูมิใจเลยทีเดียว เช่น เรื่องไม่ผูกมิตรไมตรีกับประเทศอื่นๆ ที่นโยบายไม่เป็นประโยชน์กับสหรัฐอเมริกา หรือ การเลิกเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น (2) พูดถึงความสามารถของรัฐบาลตนเองที่เข้ามาค่อยๆ แก้ปัญหาสารพัดนั่นทีละเปลาะๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่เน้นอย่างมากว่าโตขึ้นแล้วโตขึ้นอีก reach new highs แปดสิบกว่ารอบอะไรแบบนี้ (แน่นอนว่าต้องมีการเน้นย้ำถึงการเป็นตัวแทนเสียงของอเมริกันด้วย)
(3) ต่อเนื่องจากข้อ 1 และ 2 คือการบอกว่าด้วยปัญหาที่สั่งสมมานั้นมันฉิบหายหนักมากนะ และทำให้เราเหลือเพียงแค่ 2 ทางเลือกคือ จมไปกับความฉิบหายนั้น หรือพลิกสู่ทางเลือกใหม่ที่แก้ปัญหาอย่างตรงจุดจริงๆ แต่ไม่มีใครยอมทำมาก่อน ซึ่งก็คือวิธีการของรัฐบาลทรัมป์นั่นเอง และปิดท้ายด้วย (4) ก็คือการขอความร่วมมือร่วมใจกัน ในการจัดการ ‘ปัญหาของพวกเรา’ (เน้นคำว่า our แบบแรงมากบ่อยมาก) และอธิบาย NSS แบบผิวๆ มากในส่วนนี้
อย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าเราต้องให้เครดิตทรัมป์ในแง่ความชัดเจนก็คือ เขามีความชัดเจนมากว่า ‘ผู้ฟัง’ (audience) ของเขาคือใคร ใครคือคนที่เขาต้องแคร์ และใครที่ไม่ต้องแคร์ ฉะนั้นไอ้เรื่องที่คนด่ากันทั้งโลก ก็เชิดหน้าภูมิใจพูดในฐานะผลงานได้ เพราะเขาพูดให้ผู้ฟังที่แท้ทรูของเขาฟัง ไม่ได้พูดให้โลกฟัง นอกจากนี้ยังมีประโยคที่ต้องยอมรับว่ามีความคม มีความทรงพลังในฐานะสปีชทางการเมืองหลายคำไม่น้อย ที่หากไม่คิดตามจริงๆ ฟังๆ ไปก็จะคล้อยตามได้ง่ายๆ เช่น
“We are reasserting these fundamental truths. A nation without border is not a nation.”
[เราต้องย้ำความจริงเหล่านี้อีกครั้งว่า (ประเทศ) ชาติที่ไร้ซึ่งพรมแดนนั้นไม่นับว่าเป็นชาติได้อีกต่อไป]
เขาใช้คำพูดนี้ล้อคำพูดที่พูดกันโดยทั่วไปว่า Nation without border. หรือประเทศอันไร้พรมแดน ซึ่งถูกตีความหมายในหลายระดับ ทั้งในแง่ของการแผ่ขยายอิทธิพลและอำนาจของรัฐใดรัฐหนึ่ง ซึ่งดูจะอำนาจนิยมสุดกู่ ไปจนถึงการตีความในแง่ของแนวคิดในการทำลายความต่างความเป็นอื่น และอยู่ร่วมโลกกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกกันอย่างไร้ซึ่งพรมแดน แต่ไม่ต้องห่วงครับ แม้จะมีการตีความที่แตกต่างหลากหลายต่อคำคำนี้ แต่ด้วยเนื้อหาของพี่ทรัมป์เค้าแล้ว ก็คือแย้งคำว่า Nation without border. ในแทบทุกความเป็นไปได้ในการตีความเอาเสียเลย
อีกเทคนิคหนึ่งที่ทรัมป์ใช้เยอะมากในแถลงเปิดตัว NSS 2017 และเทคนิคเดียวกันนี้ก็ปรากฏในตัวเนื้อหา NSS 2017 ฉบับเต็มแทบจะตลอดเอกสารด้วย นั่นก็คือ การสร้างสภาวะของ ‘การไม่มีทางเลือก’ ว่าง่ายๆ ก็คือ การอธิบายว่าทางเลือกแบบเดิมที่ทำๆ มานั้นมันได้นำสหรัฐอเมริกาไปสู่ปัญหามากมายและหากไปต่อจะไปสู่หายนะแน่ๆ ฉะนั้น “เรา (สหรัฐ) จึงไม่เหลือทางเลือกอื่นแล้ว นอกเสียจากต้องทำตามแนวทางของ NSS นี้ เพื่อให้หลุดจากวิกฤติและกลับมาเป็นอเมริกาที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งได้”
วิธีการพูดแบบนี้เอง คือ การจงใจล่อลวงความคิดให้ไม่เหลือทางเลือกที่เป็นไปได้อื่นๆ อีก และมันทรงพลังมาก เทคนิคนี้ถูกใช้ขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลัก 2 ประการคือ (1) ทำให้ผู้ฟัง/อ่านหลงลืมหรือถูกเบี่ยงเบน (Misdirection)ไม่ให้สามารถนึกถึงความเป็นไปได้หรือตัวเลือกอื่นๆ ได้ ทั้งๆ ที่มันมีมากมาย และ (2) คือการยุติข้อถกเถียงทั้งปวง กล่าวคือ ด้วยวิธีการคิดที่ว่า “หากไม่เลือกจะล่มสลาย ก็ต้องทางนี้เท่านั้น” มันเท่ากับการจงใจไม่ให้เถียงอะไรอีก ยุติความเป็นไปได้ทุกทางและบอกว่า “เออ ต้องทำแบบนี้เท่านั้น” นะ
ที่น่ากลัวก็คือ การพูดแบบนี้มันมีพลัง และหากฟังโดยไม่คิดอะไร จะรู้สึกว่ามัน convincing หรือน่าเชื่อตามได้ง่ายมากๆ ครับ ผมเลยคิดว่าจำเป็นที่จะต้องถอดโครงสร้างการพูดของทรัมป์ไว้ในส่วนนี้ด้วย
มาสู่เนื้อหาหลักในส่วนฉบับเต็มกันบ้าง NSS 2017 ฉบับนี้[1] แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ (1) Protect the American People, the Homeland, and the American Way of Life หรือเอาง่ายๆ ก็คือ การปกป้องผืนแผ่นดินและวิถีชีวิตของอเมริกันชนน่ะครับ (2) Promote American Prosperity หรือการเสริมสร้างความมั่งคั่งของอเมริกา (3) Preserve Peace Through Strength ซึ่งก็คือ การรักษาสันติภาพไว้ด้วยกำลัง (เอาจริงๆ ต้องนับว่าโผงผางหรือห่ามมากจริงๆ ครับหัวข้อนี้) และ (4) Advance American Influence หรือการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา (ในเวทีโลก)
เนื่องจาก NSS ฉบับนี้มีขนาด 68 หน้า (เอาเนื้อหาเฉยๆ น่าจะ 50 กว่าหน้า) และว่ากันตรงๆ เลยคือ สามารถด่าได้แทบทุกหน้าจริงๆ ครับ แต่เนื้อที่คงจะไม่เพียงพอ ฉะนั้นผมจะพยายามสรุปเป็นหมวดๆ ออกมาให้ว่า แต่ละหมวดมีข้อเสนอหลักอย่างไร และมีประเด็นที่มีแววจะสร้างความฉิบหายเป็นพิเศษในจุดใดบ้างนะครับ ส่วนจุดที่ไม่มีอะไรแปลกหรือน่าตื่นเต้นนักก็อาจจะต้องเว้นไว้บ้าง
ขอสรุปในภาพรวมก่อนนะครับ NSS ฉบับนี้ ใช้เทคนิคสำคัญอย่างน้อย 3 ประการครับ คือ (1) การขีดเส้นความเป็นอื่นและความเป็นพวกเรา (Otherness of Self) อย่างไม่สนไม่แคร์เวิร์ลด์ใดๆ ส่วนนี้มีเยอะมากจนยกตัวอย่างในที่นี้ก็จะเวิ่นเกิน เดี๋ยวค่อยไปลงรายละเอียดนะครับ (2) การสร้างภาพของภัยหรือความน่ากลัวอย่างล้นเกิน โดยเฉพาะการอธิบายว่าสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาต้องเผชิญในตอนนี้นั้นอย่างน้อยๆ หนักหน่วงพอๆ กับในช่วงสงครามเย็น (เอาจริงๆ มันเขียนในเซนส์ที่ว่าหนักหน่วงกว่าเสียด้วยซ้ำ
เช่น การบรรยายว่า “Moreover, deterrence today is significantly more complex to achieve than during the Cold War. (p.27) หรือ “During the Cold War, a totalitarian threat from the Soviet Union motivated the free world to create coalitions in defense of liberty. Today’s challenges to free society are just as serious, but more diverse.” (p.37) เป็นต้น)
และเทคนิคที่ (3) คือ การเยินยอตัวสังคมอเมริกาในระดับหนึ่ง จากนั้นก็ตบด้วยประโยคที่ดูจะกลับสู่ความเป็นจริงเพื่อให้ข้อเสนอถัดไปของตนดูน่าเชื่อถือ และเป็นทางเลือกเดียวที่จะทำให้สหรัฐอเมริการอดต่อไปได้ ซึ่งเป็นเทคนิคลักษณะเดียวกับที่ทรัมป์ใช้ในการพูดแถลงครับ
ตัวอย่างเช่นประโยคนี้ (จริงๆ มีเยอะมากทั้งเอกสารเลย) “(America’s influence)…can help set the conditions for peace and prosperity and for developing successful societies. [But] There is no arc of history that ensures that America’s free political and economic system will automatically prevail. Success or failure depends upon our actions.” (p.37)
จะเห็นได้ว่าส่วนที่ผมยกมานั้น โดยเฉพาะส่วนที่ทำตัวเอนไว้ คือ เทคนิคที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ นั่นคือ การ ‘ดึงกลับเข้าสู่ข้อเท็จจริงบางประการ’ ว่า เออ แม้อเมริกาจะดีแล้ว แต่ใช่ว่ามันจะคงอยู่อย่างนั้นได้โดยตัวมันเองนะ มันขึ้นอยู่กับ ‘การลงมือทำของพวกเรา’ ซึ่งการลงมือทำของพวกเรา หรือ depends on our actions ที่ว่านี้เองก็คือข้อเสนอต่างๆ ใน NSS ฉบับนี้ที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปครับ
หลักที่ 1 หรือ Protect the American People, the Homeland, and the American Way of Life นั้น แบ่งเป็น 4 ส่วนหลักๆ อีกทีครับ นั่นคือ
- Secure U.S. Borders and Territory (การรักษาความมั่นคงของพรมแดนและอาณาเขตของสหรัฐฯ)
- Pursue Threats to Their Source (ตามไปจัดการต้นตอของภัยยันรังมัน)
- Keep America Safe in the Cyber Era (สร้างความปลอดภัยให้อเมริกาในยุคไซเบอร์)
- Promote American Resilience (พัฒนาความสามารถในการฟื้นฟูของสังคมอเมริกา)
ในส่วนของ Secure U.S. Border and Territory นั้น เน้นไปที่เรื่องของการป้องกันภัยจากอาวุธทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) ซึ่งก็แน่นอนว่าเริ่มต้นด้วยการวาดภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ นานาที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเสี่ยงจากการโดนอาวุธทำลายล้างสูงถล่ม ทั้งจากเกาหลีเหนือ ไปยันกลุ่มก่อการร้ายครับ ซึ่งก็จะนำมาสู่ Priority Actions หรือมาตราการที่ต้องเร่งดำเนินการ 4 อย่างคือ (1) การเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันขีปนาวุธ (2) ตราจจับและเข้าทำลายอาวุธทำลายล้างสูง (3) เพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้การขยายตัวของผู้ใช้ WMD (แน่นอนยกเว้นอเมริกาและเพื่อนๆ เอง) และ (4) กำหนดเป้าผู้ก่อการร้ายที่หวังจะใช้อาวุธทำลายล้างสูง แล้วหาทางจัดการกับมันให้ย่อยยับด้วยวิธีใดก็ตาม
อ่านดูแล้วอาจจะดูปกตินะครับ ซึ่งก็ปกติของสหรัฐอเมริกาแหละว่ากันตรงๆ ในจุดนี้ เพียงแค่นโยบายส่วนนี้ของรัฐบาลทรัมป์อาจเขียนออกมาในลักษณะที่ห่ามหรือโผงผางขึ้นจาก NSS ของรัฐบาลอื่นบ้าง แต่โดยแกนกลางแล้วครือๆ กัน นั่นคือ 1. การมองว่าทุกคนที่ไม่ใช่พวกเราคือศัตรูเราทั้งหมดและต้องหาทางเพิ่มกำลังของตัวเองเพื่อจัดการกับพวกมัน (โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตัวเองจากภัย) และ 2. เฉพาะเส้นพรมแดนของฉันที่สำคัญ ใครก็ห้ามเข้ามายุ่ง แต่ฉันสามารถจะไปยุ่งกับพรมแดนใครอื่นก็ได้ หากจำเป็น
ไอ้ข้อ 2 ตรงนี้ผมคิดว่าไม่ต้องอธิบายก็คงจะเห็นถึงปัญหามันอยู่นะครับ แต่เอาจริงๆ ข้อ 1 นั้นก็เป็นปัญหาไม่แพ้กันเลย คือ สหรัฐอเมริกามองแต่ว่าการที่คนอื่นเพิ่มขีดความสามารถทางกำลังนั้นเท่ากับเป็นภัยที่เพิ่มสูงขึ้นของสหรัฐฯ เอง ทำให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถขึ้นตลอดเวลา เพื่อรับมือกับภัยรอบตัวนี้ โดยที่ไม่เคยเก็ตเลยว่าเอาจริงๆ แล้วที่แทบทุกคนรอบข้างเค้าต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรบนั้น ก็เพราะอเมริกาเองนี่แหละที่เพิ่มกำลังรบตลอดเวลาและสำหรับรัฐอื่นๆ แล้ว การเพิ่มกำลังรบของสหรัฐฯ ก็คือภัยที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับรัฐอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ฉะนั้นสภาพของการ ‘แข่งกันเพิ่มกำลังรบ’ ภายใต้ตรรกะแบบนี้ มันจึงไม่มีทางหยุดได้ เพราะฝ่ายหนึ่งเพิ่มกำลัง อ้างว่าเพื่อป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของรัฐตน รัฐอื่นก็มองว่าภัยคุกคามมากขึ้นก็ขยับเพิ่มตามด้วยข้ออ้างเดียวกัน แล้วก็วนไปวนมาแบบนี้
NSS ของสหรัฐอเมริกา ไม่เคยคิดจริงๆ จังๆ ถึงแกนกลางของปัญหาในเชิงความมั่นคงน่ะครับว่า “สหรัฐอเมริกาวางตัวแบบไหนบนเวทีโลก จึงนำมาสู่สภาวะที่ตัวเองกลายเป็นเป้าหรือมีภัยคุกคามรอบตัวได้” หากสหรัฐอเมริกาคิดจะแก้ปัญหาเรื่องภัยคุกคามและความมั่นคงจริงๆ ผมคิดว่าอย่างไรเสียก็ต้องย้อนกลับมาสู่คำถามนี้ แคนาดา, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, ฯลฯ ไม่ได้ใช้งบประมาณทหารเท่าเศษขี้เล็บของสหรัฐอเมริกาเลย กำลังหรือขีดความสามารถในการรบก็น้อยกว่าสหรัฐอเมริกามาก
แต่ทำไมเล่าประเทศเหล่านี้จึงไม่เคยตกเป็นเป้ามากเหมือนอย่างสหรัฐฯ อเมริกา? นั่นก็เพราะพวกนี้เค้าไม่ได้ทำตัวอันธพาลไปทั่วแบบสหรัฐอเมริกานั่นเอง นี่ต่างหากที่สหรัฐอเมริกาควรจะต้องสำเหนียกตัวเองให้ได้สักที
ส่วนต่อมาคือ Pursue Threats to Their Source นั้น หลักๆ ก็เน้นไปที่กลุ่มก่อการร้ายนั่นแหละครับ ว่าจะตามไปถล่มมันยันรังยังไง มันเลวร้ายอย่างไร โดยฉบับนี้ขับเน้นความเป็นผู้ก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงอย่างเฉพาะเจาะจงมากครับ (ชนิดที่ทุกคำที่พูดถึงผู้ก่อการร้าย ต้องพ่วงคำที่บ่งชี้ความเป็นมุสลิมมาด้วย 95% เลยทีเดียว) และแน่นอนมีการใช้คำที่ลดทอนความเป็นคนต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างใบอนุญาตในการใช้ความรุนแรงได้ เช่นการเรียกกลุ่มก่อการร้ายว่า “these barbaric groups.” (p. 11) ในส่วนที่เรียกร้องให้ทุกคนเข้ามาร่วมกันรุมถล่มให้กลุ่มก่อการร้ายตายห่าไปข้าง ในแง่ Priority Actions ก็ค่อนข้างจะเดิมๆ ครับ คือ การหาทางระงับแผนก่อการร้ายก่อนจะเกิดเหตุ, มีมาตรการบุกฟัดกับกลุ่มก่อการร้ายโดยตรง, ถล่มรังของกลุ่มก่อการร้ายให้ราบเป็นหน้ากลอง, เพิ่มสรรพกำลังของตัวเองให้มากขึ้น, หาพวกมารุมตีกับกลุ่มก่อการร้ายเพิ่มขึ้น และหาทางดีลกับคนที่คิดจะไปเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในอนาคต ทุกอย่างเหล่านี้ไม่มีอะไรใหม่เลย วิธีการมองกลุ่มก่อการร้ายก็มิติเดียวแบบเดิมๆ ฆ่าได้โดยไม่ต้องสนใจทำความเข้าใจอะไรมากไปกว่านั้น มาตราการหลายส่วนของ NSS นี้อาจจะพอจะเข้าสู่ดีเบตว่ามันคือเป็น Presumption of Guilty หรืออยู่บนสมมติฐานว่าผิดเสมอได้ด้วยซ้ำครับ
ส่วนที่ออกจะห่ามพิเศษสักหน่อยของ NSS ฉบับทรัมป์นี่ก็คือเรื่องการหาแนวร่วมมาเป็นพวกด้วยนี่แหละครับ (ซึ่งเป็นเช่นนี้ตลอดในทุกประเด็น) คือ มีการใช้ลูกขู่ชนิดโผงผางมากๆ อยู่ด้วยตลอดว่า ถ้าไม่มาร่วมกับเรา มึงก็คือศัตรูนะ เดี๋ยวเจอกูนะ อะไรแบบนั้น ซึ่งในแง่การทูตแล้ว นับว่าชั้นทรามมากทีเดียว
ในส่วน Keep America Safe in the Cyber Era ส่วนนี้ผมคิดว่าไม่มีอะไรใหม่มากนัก (แต่อาจจะเป็นเพราะผมไม่มีความรู้ในสายคอมพิวเตอร์มากด้วย อาจจะต้องรอคุณทีปกรสุดหล่อเขียนถึงแทน) ก็เหมือนๆ เดิมแหละครับคือ บอกว่าภัยด้านไซเบอร์เดี๋ยวนี้มาแรงและสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้มากมายทั้งทางโครงสร้างพื้นฐานไปยันเศรษฐกิจ เราจึงต้องหาทางป้องกันกันนะ แต่มีท่อนนึงที่ผมสะกิดใจว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรที่น่ากลัวได้ คือ “Security was not a major consideration when the Internet was designed and launched. … As we build the next generation of digital infrastructure, we have an opportunity to put our experience into practice.” (p.13) ผมไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มากนัก แต่รู้สึกว่าประโยคนี้น่ากลัวทีเดียวว่า ไอ้ที่เรียกว่า next generation digital infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตัลในยุคถัดไปนั้น จะอยู่ในการควบคุมตรวจสอบโดยฝ่ายความมั่นคงรัฐอย่างมากปานใด
ส่วนสุดท้ายของหลักแรกคือ Promote American Resilience ครับ เอาจริงๆ เป็นส่วนที่ผมคิดว่าดีที่สุดใน NSS ฉบับนี้เลย ซึ่งโดยรวมๆ ผมค่อนข้างชอบและชื่นชมในส่วนนี้เลยนะครับ (เห็นมั้ย ไม่ได้มีแต่ด่านะ ส่วนไหนดีก็ชมอยู่ แค่มันมีให้ชมน้อยเรื่องจริงๆ) ส่วนนี้มันมาจากการยอมรับความจริงน่ะครับว่า ถึงจะหาทางป้องกันภัยต่างๆ อย่างมากมายชิบหายวายวอดปานใดก็ตามที มันไม่มีทางป้องกันได้หมดทุกเม็ดหรอก ไม่ว่าจะภัยจากคนสร้าง หรือภัยธรรมชาติก็ตาม ฉะนั้นเราจะต้องฝึกการรับมือของตัวเองภายใต้สภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เช่น การเพิ่มศักยภาพของฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยง, การฝึกประชาชนและองค์กรต่างๆ ให้พร้อมรับมือ ในกรณีที่เกิดวิกฤติขึ้น, ฯลฯ ส่วนนี้ควรเอาตามเป็นเยี่ยงอย่างมากๆ ครับ
ในหลักที่ 2 หรือ Promote American Prosperity นั้น เนื้อหาหลักแล้วคือก็คือการเพิ่มความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั่นแหละครับ โดยการพยายามอย่างยิ่งที่จะอธิบาย Economic security หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจในฐานะ ‘ความมั่นคงของชาติ’ แบบถึงแก่นถึงแกน เพราะถ้ามันเป็นเรื่องของความมั่นคงเมื่อไหร่ มันจะหุบปากหรือยุติข้อถกเถียงนานับประการที่จะเกิดขึ้นได้ (อย่างที่เราเจอกันบ่อยๆ ว่า “อย่ามาถาม นี่มันเรื่องความมั่นคงของชาติ” น่ะแหละครับ) ไม่เพียงเท่านี้ในส่วนนี้เองที่การทำงานของ ‘การสร้างความเป็นอื่น’ โหมกระหน่ำหนักหน่วงมาก ที่โดนหนักสุดก็คือ จีนกับรัสเซียครับ คือ จีนถูกอธิบายว่าเป็นโจรขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่เนรคุณ เนรคุณอเมริกาที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือด้วยหวังว่าจะให้เกิดการปลดปล่อยและมีเสรีภาพของปัจเจกได้ แต่กลับหักหลังนอกจากขโมยความรู้แล้วยังกลายมาเป็นตัวแทนรัฐอำนาจนิยมโดยรัฐ ที่หากินหรือสร้างอิทธิพลกับรัฐอื่นๆ ด้วยดีลห่วยๆ และยังหวังกลืนกินเค้าอีกต่างหาก กับรัสเซียที่ถูกวาดภาพในฐานะมหาอำนาจเก่าที่หวังจะทวงบัลลังค์อำนาจตัวเองคืน ด้วยการกุมข้อได้เปรียบเหนือเส้นทางพลังงานของยุโรปและเอเชียกลาง
ส่วนอเมริกานั้นแน่นอนว่านอกจากจะมีดีลที่ดีกว่าแล้ว ยังมีความหวังดีเสมอ คบหากับใครก็หวังให้คนนั้นได้ดีด้วย ไม่ได้หวังจะรวบกินอะไร นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่าตนสนับสนุนแต่รัฐที่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย ให้ความเคารพต่อคุณค่ามนุษย์ ไม่เหมือน ‘คู่แข่งทั้งสอง’ (ตอนอ่าน ผมต้องตะโกนด่าในใจบ่อยมากว่า “แล้วซาอุดิอาระเบียล่ะ?”)
หลักที่ 2 นี้มีแนวนโยบายหลักๆ 5 ส่วนครับคือ
- Rejuvenate the Domestic Economy (ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ)
- Promote Free, Fair, and Reciprocal Economic Relationships (ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เสรี, ยุติธรรม และเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน)
- Lead in Research, Technology, Invention and Innovation (เป็นผู้นำในด้านการวิจัย เทคโนโลยี, การคิดค้น และนวัตกรรม)
- Promote and Protect the U.S. National Security Innovation Base (ส่งเสริมและปกป้องฐานนวัตกรรมทางด้านความมั่นคงของสหรัฐ)
- Embrace Energy Dominance (น้อมรับความเป็นผู้นำทางด้านพลังงาน)
ผมคิดว่าข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ไม่มีอะไรที่จี๊ดจ๊าดมากเป็นพิเศษนะครับ นอกจากการก่นด่าจีนกับรัสเซียอย่างออกหน้าออกตาราวกับอยู่ในช่วงสงครามเย็นจริงๆ แต่ก็มีส่วนที่ชัดเจนได้จากแนวทางนี้คือ มนุษย์จากสายสังคมศาสตร์ก็น่าจะเตรียมตัวกระเป๋าแห้งกันยาวๆ ไป เพราะด้วยเทรนด์นี้คงเน้นที่สายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเต็มตัวครับ และเน้นการพยายามสร้างงานให้กลุ่มชนชั้นกลางและบริษัทขนาดใหญ่ (โดยเฉพาะบริษัททางด้านอาวุธและความมั่นคงอย่างออกนอกหน้า) นั่นเอง
ความน่าสนใจที่ผมรู้สึกว่าน่าหมั่นไส้มากคือ ท่าทีที่ Arrogant หรือ จองหองมากๆ แม้ว่าจะเป็นการเขียนที่โยงกับความสัมพันธ์ที่ต้องมีต่อรัฐอื่นๆ ด้วยก็ตามที อย่างประโยคนี้ครับ “The United States will counter all unfair trade practices that distort markets using all appropriate means, from dialogue to enforcement tools.” (p.20) เอาจริงๆ นี่ก็คือการขู่ดีๆ นี่แหละครับ ว่า หากเงื่อนไขการค้าขายไม่เป็นไปตามที่สหรัฐเห็นว่า ‘สมควร หรือเหมาะสม’ แล้ว อเมริกาพร้อมจะใช้ทุกทางในการจัดการ ถึงขั้นใช้กำลังก็ได้
นอกจากนี้ความห่ามในการสร้างความเป็นเราและเป็นอื่น โดยผลักรัสเซียและจีน (โดยเฉพาะจีนนี่ผมว่าโดนหนักกว่ารัสเซียอีก) นั้นก็ถูกแสดงออกอย่างโผงผางเพื่อจะนำไปสู่ข้อเสนอที่สุดขั้วของตนในหลายรูปแบบ อย่างกรณีนี้ครับ “Every year, competitors such as China steal U.S. intellectual property valued hundreds of billions of dollars.” (p.21) เขียนมาแบบนี้เนี่ย ผมนึกไม่ออกเลยนะว่าทูตสหรัฐอเมริกาในจีน จะตอบกับรัฐบาลจีนยังไง ซึ่งมันนำไปสู่ข้อเสนอที่ผมคิดว่าสุ่มเสี่ยงการโดนข้อหา Use of Illegitimate Extraterritorial Power หรือการใช้อำนาจนอกอาณาเขตอย่างไม่ถูกต้องมากๆ ทีเดียว อย่างการเสนอว่าจะต้องมีการพัฒนาระบบที่จะสามารถ ‘เฝ้าติดตาม หรือ monitor’ ประเทศต่างๆ ที่ทำการค้ากับตนได้ (p.21) ไปจนถึงนโยบายที่ล้นเกินการป้องกันการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาไปไกลมากๆ อย่างการตัดโอกาสการศึกษาของนักศึกษาบางชาติไปเลย
กรณีแบบนี้ผมคิดว่าเข้าขั้น ‘กีดกันเสรีภาพทางวิชาการและตัดอนาคตทางความรู้ที่ปัจเจกพึงมี’ เลยทีเดียวครับ และเขียนแบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมอะไรเลยด้วยว่า “We will consider restrictions on foreign STEM students from designated countries to ensure that intellectual property is not transferred to our competitors…” (p.22) ซึ่งไอ้ our competitors ที่เป็นตัวบอกว่าที่ใดจะเป็น designated countries บ้างนั้น จาก NSS นี้ผมว่าก็ดูจะหลุดพ้นจีนกับรัสเซีย และอีกหลายประเทศยากอยู่นะครับ ผมคิดว่านี่แหละคือปัญหาของการสร้างภาพของภัยที่ล้นเกินไปมากๆ จนนำมาสู่แนวนโยบายที่ไร้เหตุผลแบบนี้
อีกส่วนที่ผมว่าตลกและหน้าด้านมากก็คือ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ ในการพูดแถลงเปิดตัว NSS นี้นั้น ทรัมป์ถึงกับอวดอ้างเอาการออกจาก Paris Agreement ที่เป็นข้อตกลงในการลดการใช้ก๊าซเรือนกระจกอย่างภาคภูมิใจนั้น กลับบอกว่าตัวเองจะเป็นแบบอย่างให้กับโลกในด้าน “environmental protection” (p.22) ซึ่งในหน้าเดียวกันก็บอกด้วยว่าตัวเองจะเป็นผู้นำด้านพลังงานโลก รวมถึง “ผู้นำด้านการบริโภคพลังงานด้วย” …อ้าว จะเอาไงกันแน่ และหากเราอยากรู้ว่ามาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลทรัมป์น่าเชื่อถือแค่ไหน ลองดูได้จากหัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ในการตอบคำถามจากวุฒิสมาชิกได้ครับ (ที่นี่ www.facebook.com/NowThisNews )
หลักที่ 3 หรือ Preserve Peace Through Strength นั้น เอาจริงๆ คือห่ามที่สุด ตรงไปตรงมากที่สุด แต่พร้อมๆ กันไปก็ดูจะซิมเพิลที่สุดด้วย คือ “ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามา เราจะต้องเพิ่มและพัฒนาอาวุธ เพราะที่เราสามารถรักษาสันติภาพอย่างทุกวันนี้ได้ ก็ด้วยกำลังที่ล้นเหลือของเรา” (ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดมากๆ น่ะนะครับ อย่างที่ผมพูดเกริ่นๆ ไปแล้วในกรณีอีกหลายประเทศที่ไม่ต้องมีกำลังอย่างสหรัฐ ก็สงบกว่าได้ เพราะมันอยู่ที่ท่าทีและการวางตัวในเวทีโลกด้วย) หลักนี้ประกอบด้วยการเนื้อหา 3 ส่วนสำคัญครับ ซึ่งก็คือการเพิ่มงบประมาณและปริมาณอาวุธด้านต่างๆ นั่นแหละ ดังนี้
- Renew America’s Competitive Advantage (เพิ่มเติมข้อได้เปรียบในการแข่งขันของอเมริกา)
- Renew Capabilities (เพิ่มเติมขีดความสามารถในด้านการรบต่างๆ ทั้งกองทีพ, ฐานป้องกัน, กำลังรบทางนิวเคลียร์, การเป็นผู้นำทางด้านอวกาศ, โลกไซเบอร์ และการสืบราชการลับ)
- Diplomacy and Statecraft (การทูตและทักษะแห่งการบริหารรัฐ)
เอาจริงๆ ในหลักที่ 3 นี้ เป็นส่วนที่บรรยายภาพของโลกแบบสงครามเย็นแบบรุนแรงที่สุดครับ เพื่อจะได้นำไปสู่แนวนโยบายประหนึ่งยุคสงครามเย็นได้ ประโยคคลาสสิคที่ถูกนำมาใช้ในการเพิ่มงบทหารใน NSS นี้มีเยอะมาก
โดยหลักๆ คือ แนวนี้ครับ “Experience suggests that the willingness of rivals to abandon or forgo aggression depends on their perception on U.S. strength and the vitality of our alliances.” (p.26) ถ้าสิ่งที่ว่ามันยุติความรุนแรงต่อสหรัฐอเมริกาได้จริงๆ 9/11 มันก็คงไม่เกิดหรอกน่ะนะครับ
จากประโยคคลาสสิกที่ว่า นำมาสู่นโยบายเพิ่มกำลังทหารที่เขียนแบบไร้ซึ่งความอ้อมค้อมใดๆ ครับว่า “Ensuring that U.S. military can defeat our adversaries requires weapons systems that clearly overmatch theirs in lethality.” (p.29) ว่าง่ายๆ ก็คือ บอกแบบโต้งๆ เลยว่า กูจะสร้างอาวุธที่พลังทำลายล้างเหนือกว่าใคร (วะฮ่าๆ) หรือการบอกว่า “The size of our force matters.” ที่แบบ เออ มึงจะตรงไปไหน ฉะนั้นก็ชัดเจนนะครับว่างบด้านการทหาร และพัฒนาอาวุธจะพุ่งกระฉูดชัวร์ๆ
และในหลักนี้เองยังบอกโต้งๆ ด้วยถึงการร่วมมือกับฝั่ง (บริษัทผู้ผลิตอาวุธ) ในการพัฒนา ความไม่เนียนในการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน ดูจะชัดเจนพอๆ กับนโยบายประชารัฐของบ้านเราเลยครับ พี่แกว่างี้เลย “… Where possible, the U.S. government will work with industry partners to strengthen U.S. competitiveness in key technologies and manufacturing capabilities.” (p.30)
เอาเป็นว่าก็คือการบอกว่าจะเพิ่มงบทหาร และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผลิตอาวุธอย่างตรงไปตรงมาไม่แคร์ใครน่ะนะครับ นอกจากนี้ในส่วนการหาแนวร่วม ก็เรียกร้องให้คนอื่นลงทุนเพิ่มกำลังทหารให้มากขึ้น มาทุกรูปแบบรวมไปถึงลูกขู่ด้วยเลย
หลักที่ 4 หรือ Advance American Influence ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักครับคือ
- Encourage Aspiring Partners (ชักชวนแนวร่วมที่น่าสนใจ)
- Achieve Better Outcomes in Multilateral Forums (ยังผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้นในเวทีข้อตกลงร่วมหลายฝ่าย)
- Champion American Values (ชูคุณค่าแบบอเมริกัน)
เอาตรงๆ เลยคือเขียนเกินที่มาเยอะแล้ว ฉะนั้นจะสั้นๆ นะครับ เพราะส่วนนี้ไม่มีอะไรใหม่มาก คือเขียนด้วยภาษาที่ดูจะสุภาพขึ้นนิดหน่อยเมื่อเทียบกับ 3 หลักที่ผ่านมาครับ (คงเพราะเป็นส่วนที่เป็นเชิงการทูตโดยตรง) แต่ก็ยังคงแซะประเทศจีนกับรัสเซียแบบห่ามๆ อยู่ดี อย่างการเขียนว่า “American-led investments represent the most sustainable and responsible approach to development and offer a stark contrast to the corrupt, opaque, exploitive, and low-quality deals offered by authoritarian states.” (p.39) ซึ่งพวก Authoritarian states ที่ว่านี้หลักๆ ก็คือด่าจีนนั่นแหละครับ อันนี้ก็คือเขียนเพื่อจะบอกว่า เลิกดีลกับพวกเจ๊กเถอะ มาสร้างดีลกับฉันดีกว่า เพราะฉันหวังดี ไม่ได้มีแต่ดีลชั้นต่ำแบบพวกเจ๊กนั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการขยายอิทธิพลของสหรัฐอเมริกานั่นเอง
แต่ที่ตลกมากๆ ก็คือ เขียนด่าจีนกับรัสเซียมาทั้งยวง แต่มาตบท้ายว่า “เออ แต่เราก็มุ่งหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างเรากับจีนและรัสเซียด้วยนะ” … ก็ได้แต่คิดว่า โหยยย มึงด่าเค้าปานนั้น ยังมาพูดงี้อีก ทูตเมกาในจีนกับรัสเซียไม่ถูกเผาสถานทูตไล่ที่ก็น่าจะต้องขอบคุณพระเจ้าแล้ว
และนั่นก็เป็นสรุปคร่าวๆ ที่ยาวโคตรๆ ของโลกความมั่นคงในยุคทรัมป์ที่กำลังจะมาถึงครับ (ลองหาฉบับเต็มมาอ่านดูนะครับ แม้ผมจะเขียนเกินมาเยอะแล้ว แต่ยังเหลือที่ยังไม่ทันได้ด่าให้อ่านกันอีกเยอะเลย 555)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สามารถดูฉบับเต็มได้จาก www.whitehouse.gov