หลังจากที่คนใช้เน็ตลงชื่อคัดค้าน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขใหม่ หรือชื่อเล่น ‘พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์’ บน Change.org ถล่มทลายเป็นประวัติศาสตร์ถึง 370,000 รายชื่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งชุด ก็ลงมติผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ด้วยคะแนนเสียง 168 เห็นชอบ 0 ไม่เห็นชอบ และ 5 งดออกเสียง
หลังจากที่ สนช. เห็นชอบกฎหมายอย่างโนสน-โนแคร์-ไม่แยแสเสียงค้าน ทั้งรัฐบาลและผู้ที่มีส่วนร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ออกมาพยายามอธิบายว่า ประชาชนอย่ากังวล รัฐจะไม่ละเมิดสิทธิ กฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการปรับปรุงกฎหมายเดิมให้ทันสมัยมากขึ้นเท่านั้น
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ให้สัมภาษณ์สื่อ ความตอนหนึ่งว่า
“วันนี้แก้ไขชัดเจนแล้วว่ามาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีหมิ่นประมาทต่างๆ จะหายไป ที่มีคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาลต่างๆ จะหายไปเลยประมาณ 50 เปอร์เซนต์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะว่าด้วยการปลอมแปลงตัวตน หรือปลอมแปลงเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินอย่างเดียว ฉะนั้นไม่มีปัญหาแล้ว”
ผู้เขียนฟังกูรูกฎหมายแล้วก็ยังไม่สบายใจ เพราะมาตรา 14(1) ในกฎหมายฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดฐานความผิดไว้ว่า
“โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
ถึงแม้จะมีวลี “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ห้อยท้ายไว้แล้วก็ตาม ผู้เขียนไม่คิดว่าใครจะรับประกันได้ว่าจะไม่มีการใช้มาตรานี้ในการกลั่นแกล้งปิดปากคนอื่นอีก ดังที่เกิดขึ้นตลอด 9 ปีที่ผ่านมา อย่างเช่นคดีฟ้องนักข่าว, ฟ้องนักวิจัยและนักสิทธิมนุษยชน, ฟ้องสมาชิกสหภาพแรงงาน, และแม้แต่ฟ้องคนธรรมดาที่เพียงแต่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับน้าชาย หรือปกป้องชุมชนของตัวเอง
ถ้าผู้ร่างกฎหมายอยากแก้ไขให้ชัดเจนว่าข้อนี้ “ว่าด้วยการปลอมแปลงตัวตน หรือปลอมแปลงเพื่อหลอกเอาทรัพย์สินอย่างเดียว” ในคำพูดของ อ.ไพบูลย์ เหตุใดจึงไม่เขียนให้ชัดไปเลยในฐานความผิดว่า “โดยประการที่ได้ไปซึ่งทรัพย์สินหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น” ซึ่งก็เป็นข้อความที่เคยปรากฎในร่างก่อนๆ ของกฎหมายนี้แล้ว ? จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐ หรือใครก็ตาม ตีความข้อนี้ได้อย่างตีขลุมและคลุมเครือไปเพื่ออะไร ?
แถมเพิ่มคำว่า “ข้อมูลบิดเบือน” ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีเขียนไว้ ทำให้ยิ่งสับสนกันไปใหญ่ว่า ข้อมูล ‘เท็จ’ หรือ ‘บิดเบือน’ นั้นคืออะไร (วลีสวยๆ ‘โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน’ และ ‘โดยหลอกลวง’ ที่ฟังเหมือนจะตีกรอบความผิดให้แคบลงนั้น จริงๆ แล้วไร้ความหมาย เพราะใครจะตีความอย่างไรก็ได้)
ใครจะตัดสินได้ว่าอะไร ‘เท็จ’ อะไร ‘บิดเบือน’ เรายอมยกให้ศาลมีหน้าที่ตัดสินเรื่องนี้ ศาลเป็นผู้ตัดสินความจริง/เท็จ/บิดเบือน ในสังคมตั้งแต่เมื่อไรกัน ?
ผู้เขียนเห็นว่า การเพิ่มคำว่า ‘ข้อมูลบิดเบือน’ เข้ามาในกฎหมายฉบับนี้มีปัญหาตั้งแต่ระดับ ‘ฐานคิด’ เลยทีเดียว และผู้ที่อธิบายเรื่องนี้ได้ดียิ่ง คือ ‘พี่หนุ่ม’ โตมร ศุขปรีชา นักคิด-นักเขียนในดวงใจของใครต่อใครหลายคน
หนึ่งวันหลังกฎหมายผ่าน พี่หนุ่มโพสสเตตัสลงเฟซบุ๊ก ซึ่งผู้เขียนได้รับอนุญาตนำมาเผยแพร่ ความว่า
“คิดว่าคำสำคัญในการถกเถียงเรื่อง พรบ.คอมพ์ คือคำว่า ‘บิดเบือน’ นะครับ
“ในโลกที่ทุกคนเคยชินกับการถูกบังคับให้ต้องคิดเห็นเหมือนๆ กันไปหมด คนจำนวนมากจะยอม comply และ conform ให้อำนาจที่มักจะชี้นิ้วพิพากษาคนอื่นว่าบิดเบือนเสมอ
“ในโลกที่คนคุ้นชินกับเสรีภาพทางความคิด จะเกิดสำนึก (ที่จะเรียกว่าประหลาดก็ได้-ถ้าคุณอยู่ในโลกแบบด้านบนมาชั่วชีวิต) อย่างหนึ่งขึ้นมา นั่นคือสำนึกที่ยอมรับได้ว่า-ความจริงของทุกคน (รวมทั้งของตัวเองด้วย) ล้วนแต่บิดเบือนอยู่แล้ว ในทัศนะของไอน์สไตน์ กระทั่งการดำรงอยู่ของโลก ก็ยังบิดเบือนกาล-อวกาศ, เลย เพราะฉะนั้นเมื่อเห็นการบิดเบือน จึงมองมันอย่างเข้าใจว่าเป็นธรรมดาโลก ไม่กรี๊ดกร๊าดบอกว่าต้องคิดอย่างฉันเท่านั้นถึงจะถูกต้องที่สุด เพราะก็เข้าใจว่าภาพที่ตัวเองเห็นก็บิดเบือนเหมือนกัน
“การบิดเบือนอาจเกิดอย่างจงใจที่จะทุจริตหรือมีเจตนาชั่วร้ายก็ได้ แต่ที่เกิดขึ้นเสมอราวกับอากาศหายใจ ก็คือการบิดเบือน (distort และมีลักษณะ perspective) ที่เกิดขึ้นเนื่องจากตำแหน่งที่ยืนและแว่นหรือกรอบคิดที่ใช้มอง ทำให้คนแต่ละคนมองเห็นโลกต่างกัน
“ในโลกแบบที่สอง มักเกิดกลไกการถกเถียงและตรวจสอบที่เข้มข้น เถียงกันให้ถึงที่สุด ไม่ใช่เพื่อทำให้คนอื่นเห็นความบิดเบือนในตัวเขาเท่านั้น แต่เพื่อให้เราเห็นความบิดเบือนในตัวเองด้วย ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนั้น ความ ‘ยึดมั่นถือมั่น’ ใน ‘ความบิดเบือน’ ของตัวเอง (ซึ่งมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว) ก็จะคลายจางลงไป ทำให้เกิด toleration ขึ้นมาโดยไม่ต้องไปบังคับ ซึ่งจะเป็น toleration ที่ยั่งยืนกว่า
“ในโลกแบบที่หนึ่ง มักไม่เปิดโอกาสให้คนได้นำเสนอภาพที่ตัวเองเห็นออกมาอย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส คนแต่ละคนที่กำลังบิดเบือนความจริงของตัวเองและของโลกกันอยู่ จึงต้องประชันความบิดเบือนกันโดยใช้อำนาจล้วนๆ ลุ่นๆ คือใครมีอำนาจเหนือกว่า ก็สามารถยกความบิดเบือนของตัวเองขึ้นเป็นการบิดเบือนใหญ่ที่สูงส่งกว่า และเรียกการบิดเบือนใหญ่นั้นว่า-ความจริง
“การบิดเบือนใหญ่ (ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เรียกว่า grand narrative of distorted preconceptions ได้ไหม) มักจะไม่รู้ตัวและมองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังบิดเบือนอยู่ เลยเป็นการบิดเบือนล่องหนเหมือนเสื้อคลุมของพระราชาในนิทาน เป็นการบิดเบือนที่มีอำนาจของนิ้วเพชรของนนทกเอาไว้ชี้ว่า-ถ้าใครบิดเบือนต้องถูกลงโทษ ซึ่งก็แน่นอน-นิ้วนั้นไม่เคยชี้กลับไปที่ตัวเอง โลกแบบนี้จึงมักไม่สนใจกลไกการตรวจสอบ โดยเฉพาะการตรวจสอบจากคนที่ถูกมองว่าต่ำต้อยทางอำนาจมากกว่า ผลลัพธ์ก็คือการวนเป็นงูกินหาง สร้าง spiral of fear และ spiral of silence เพื่อบีบให้คนต้องตกอยู่ใต้อำนาจของโครงสร้างเดิมต่อไปเรื่อยๆ
“การมองไม้บรรทัดที่บิดเบี้ยวจากมุมที่ทำให้เห็นว่าตรง แล้วบังคับให้คนอื่นต้องมองแบบเดียวกันคือการบิดเบือนขั้นสูง และเมื่อหลงใหลในการบิดเบือนขั้นสูงแล้ว ก็ยากจะถอนตัวออกมาได้ น่าสงสาร”
สเตตัสข้างต้นของพี่หนุ่มทำให้ผู้เขียนนึกถึง Opera Omnia เกมเล็กแต่ฉลาดลึกโดย สตีเฟน ลาเวลล์ (Stephen Lavelle) (ดาวน์โหลดมาเล่นฟรีได้จากเว็บของเขา) ดูเผินๆ เป็นเกมแก้ปริศนาหรือพัสเซิล เข้าใจยากกว่าเกมทั่วไป แต่ถ้าใครอดทนเล่นจนเข้าใจวิธีเล่น (ประมาณเลเวล 6 สำหรับผู้เขียน) ก็จะสนุกสนานแกมปวดหัวกับการหาทางแก้เลเวลที่เหลือจนจบ และจะมองเห็นว่า เกมนี้ ‘สอน’ ธรรมชาติของ ‘ความจริง’ และ ‘การบิดเบือน’ ในเรื่องที่คนจำนวนมากเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งตายตัว นั่นคือ ‘ประวัติศาสตร์’ ได้อย่างแยบยลอย่างยิ่ง
เกมนี้เราเล่นเป็นนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องแบบแผนการอพยพ ทำงานให้กับรัฐบาลของประเทศในจินตนาการประเทศหนึ่ง เรามีหน้าที่คิดทฤษฎีที่อธิบายแบบแผนการโยกย้ายประชากรระหว่างเมืองต่างๆ ในอดีต ด้วยการลากเส้นระหว่างเมืองเพื่อแสดงการอพยพของคน ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งหรือหลายช่วงเวลาในอดีต เท่ากับว่าเราต้องคิด ‘ย้อนหลัง’ ด้วยการอนุมาน (deduction)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนอาศัยอยู่ในเมือง ก. ระหว่างที่เกิดกาฬโรค (ป้ายด้วยแถบสีเขียวในเกม) และถ้ากาฬโรคฆ่าคนนับแสน ก็หมายความว่าเมือง ก. จะต้องมีประชากรค่อนข้างมากก่อนเกิดโรคระบาด เกมนี้มีเลเวลทั้งหมด 20 เลเวล ทุกเลเวลเปิดฉากด้วยบทสนทนาระหว่างเรากับเจ้าหน้าที่รัฐที่ขับเคลื่อนพล็อตใหญ่ของเกม คล้ายกับการเปิดหนังสือนักสืบไปอ่านบทใหม่
หัวหน้าของเราจะมอบโจทย์ประจำเลเวลนั้นๆ เช่น “จงพิสูจน์ว่าเมือง ก. เคยมีประชากร 300,000 คนในอดีตกาลนานมาแล้ว” ซึ่งเราต้องทำให้สำเร็จก่อนไปเลเวลใหม่ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ
‘เส้นเรื่อง’ ใหญ่ที่พัฒนาผ่านบทสนทนาระหว่างเรากับหัวหน้า ประกอบกับกติกาของเกม ซ่อนข้อคิดหลายเรื่องเอาไว้อย่างแยบคาย เช่น การที่เราเปลี่ยนโจทย์ตั้งต้นในแต่ละเลเวลไม่ได้ แปลว่าเราต้อง “ยอมรับ” ประวัติศาสตร์ฉบับทางการโดยปริยาย การที่เราช่วยอนุมานแบบแผนการอพยพในอดีตที่ตอบโจทย์นั้นๆ ได้ในแง่ของความเป็นเหตุเป็นผล จึงเท่ากับว่าเรากำลังช่วยกวาดเอาข้อเท็จจริงไว้ใต้พรม สร้างความชอบธรรมให้กับ ‘ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ’ ซึ่งเกมจะค่อยๆ คลี่คลายให้เห็นว่า เป็นประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยข้อกังขาและความอิหลักอิเหลื่อทางศีลธรรมมากมาย รวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนชาติอื่น (เรียกว่า ‘Others’ ในเกม)
ด้วยเหตุนี้ ‘ชัยชนะ’ ของเราในแต่ละเลเวลจึงจะทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจขึ้นเรื่อยๆ จนจบเกม
สิ่งที่ผู้เขียนไม่ชอบมีเพียงสองเรื่องเล็กๆ เท่านั้น คือ เลเวลกลางๆ ในเกมต้องอาศัยความรู้เรื่องการปัดเศษซึ่งคนทั่วไปอาจไม่เข้าใจ และการที่บางเลเวลจะพร่ำสอนบทเรียนที่คนเล่นหัวดีจะคิดออกได้เองนานแล้วก่อนหน้านั้น
ใครที่ไม่ถนัดภาษาอังกฤษอาจต้องใช้ความพยายามมากหน่อยในการทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่อง แต่เว็บไซต์เกมนี้มีซอร์สโค้ดให้ดาวน์โหลด น่าจะมีโปรแกรมเมอร์ลองแปลเป็นภาษาไทยดู
Opera Omnia เป็นเกมซีเรียสส่วนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ทั้งสนุก ท้าทายสติปัญญา และช่วยสร้างความเข้าใจว่า “ความจริงของทุกคน (รวมทั้งของตัวเองด้วย) ล้วนแต่บิดเบือนอยู่แล้ว”
ไม่เว้นแม้แต่ประวัติศาสตร์ – ซึ่งย่อมต้องมีคนเขียนขึ้นมา
และกฎหมายใดๆ ที่กำหนดฐานความผิดอย่างกว้างขวางคลุมเครือเสียจนคนไม่อาจรู้ได้ว่า แสดงออกอย่างไรผิด อย่างไรไม่ผิด และยกให้ศาลมีอำนาจตัดสินความจริง/เท็จ/บิดเบือนในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้าง ‘ประวัติศาสตร์’ ความทรงจำร่วมของสังคม ย่อมไม่อาจเป็น ‘กฎหมายที่ดี’ ได้เลย.
Illustration by Namsai Supavong
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากคอลัมน์ Serious Game นิตยสาร ฟิ้ว เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552