รักร้อนแรงมอดลงรวดเร็วราวไม้ขีดไฟ VS รักอันอบอุ่นยั่งยืน
ต้นปีที่แล้วได้ชมหนังเรื่อง ‘The Happy Film’ โดยกราฟิกดีไซเนอร์คนดังแห่งยุค Stefan Sagmeister สารคดีนี้ได้เล่าชีวิตเกี่ยวกับการตามหา ‘ความสุข’ ของ Sagmeister ในหนังเรื่องนี้ เขาทดลองหลายๆอย่างกับชีวิตตัวเอง ถึงแม้ว่าชื่อเรื่องจะเป็นหนังที่เกี่ยวกับความสุข แต่จริงๆ แล้วเรื่องราวกลับมีความทุกข์เป็นส่วนมาก และเกี่ยวข้องกับชีวิตรักซะเยอะ โดยตลอดทั้งเรื่องเขาตกหลุมรักหลายครั้ง ความสัมพันธ์ถึงจุดจบหลายครั้ง และเขายังคงเสาะแสวงหาความรักครั้งต่อๆ ไป จนนักบำบัดพูดกับเขาว่า “คุณไม่สามารถหวังที่จะตกหลุมรักได้ ความรักเป็นความบังเอิญ มันเหมือนคุณเดินๆ อยู่แล้วก็สะดุดตกลงไป คุณวางแผนไม่ได้”
ในตอนหนึ่งของหนัง Sagmesister ตกหลุมรักครั้งใหญ่กับสาวที่เพิ่งพบ เป็นความรักอันรวดเร็ว ร้อนแรงและรุนแรงเหลือเกิน ซึ่งเขาและเธอก็หวั่นใจว่ารักครั้งนี้จะยืนยาวไหม ในหนังเล่าถึงชนิดของความรักแบบแบ่ง 2 ประเภทคือ
1. Passionate Love ขอเรียกมันว่า ‘รักร้อน’ เป็นความรักที่รุนแรงอย่างยิ่ง ทำให้จิตใจตูมตาม หวั่นไหว แม้จะรุนแรง ปั่นป่วน แต่รักแบบนี้มักมีระยะเวลาไม่นาน คือประมาณ 6 เดือน ก่อนจะค่อยๆ หรี่ลดลงไป และมอดดับ รักแบบนี้คือรักที่รวดเร็ววูบวาบราวไม้ขีดไฟ หรือที่เราเรียกว่า ‘ช่วงโปรโมชั่น’
2. Compassionate Love ขอเรียกมันว่า ‘รักอบอุ่น’ เป็นความรักอันยั่งยืนอันอบอุ่น ซึ่งรักประเภทนี้จะไม่ซาบซ่านหัวใจเท่าแบบแรก โดยความท้าทายของความรักคือการค่อยๆ แปลงความรักอันรวดเร็วให้กลายเป็นรักน้อยๆ แต่รักนานๆ และเมื่อรักร้อนค่อยๆ ตกผลึกกลายเป็นความผูกพันอันแข็งแรง ความรักอันอบอุ่นนี้ก็จะคล้ายเคียงกับความรักเพื่อน รักพวกพ้อง และรักครอบครัว
ความท้าทายของผู้ที่แสวงหาความรักและความสัมพันธ์อันยืนยาว คือ เขาต้องค่อยๆ ทำให้ความรักครั้งใหม่กลายเป็นความผูกพันให้ได้ก่อนจะหมดระยะโปรโมชั่นอันไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจกินเวลาไม่เกิน 6 เดือน และเมื่อความรักร้อนแรงวูบวาบถูกแปลงเปลี่ยนเป็นรักที่เย็นลงแล้ว ความรักจะมั่นคงสดใส คนรักจะค่อยๆ กลายเป็นมิตรหรือ ‘คู่ชีวิต’ ที่จะอยู่ด้วยกันไปนานๆ
เมื่อเราได้ปฏิสัมพันธ์กับคนที่เรารักและไว้ใจ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า Oxytocin หรือที่ถูกเรียกแพร่หลายว่าเป็น ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ ออกมา
Oxytocin ฮอร์โมนแห่งความเชื่อใจ
Oxytocin ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1909 แต่ฮอร์โมนนี้เพิ่งเป็นที่สนใจในวงการวิทยาศาสตร์เข้มข้นตอนยุค 70s โดยมีชื่อเล่นว่าเป็น ‘ฮอร์โมนแห่งความเชื่อใจ (trustworthiness)’ หรือ ‘ฮอร์โมนแห่งการกอด’ (hug hormone หรือ cuddling hormone) เมื่อได้รับสัมผัสอันอบอุ่นจากคนที่เรารัก สารนี้จะหลั่งออกมาทำให้รู้สึกปลอดภัย ซึ่งพบได้ในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ โดยแรกเริ่มฮอร์โมนนี้เป็นรู้จักกันว่าช่วยเตรียมพร้อมความเป็นแม่ให้กับสัตว์ ช่วยให้เกิดนํ้านม ช่วยเชื่อมสัมพันธ์และทำให้จดจำลูกของตัวเองได้ผ่านประสาทกลิ่น เมื่อบล็อกการทำงานของ Oxytocin ในหนูที่เป็นแม่ พวกมันจะหยุดทำหน้าที่แม่ เลิกดูแลลูก จดจำกลิ่นลูกตัวเองไม่ได้ เมื่อสเปรย์ Oxytocinให้กับหญิงสาว พวกเธอจะรู้สึกว่าทารกน่ารักขึ้น เมื่อจ้องมองทารกนานขึ้น
ในปี 2011 Robert Froemke นักวิทยาศาสตร์ระบบประสาทจาก New York ได้ทดลองฉีดฮอร์โมน Oxytocin ให้กับหนูทดลองที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งการฉีดเพียงครั้งเดียวสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกมันได้ จากเดิมที่เฉยๆ กับเสียงร้องของลูกหนู ก็ทำตัวเป็นแม่ขึ้นมา คือเกิดความกระวนกระวายกับเสียงร้องของทารก ดูแล หาอาหารมาป้อน แม้ไม่ใช่ลูกของตัวเอง
นอกจากนี้ Oxytocin ยังถูกเชื่อมโยงกับความรักเดียวใจเดียว (monogamy) ผลการวิจัยในปี 2013 ของ Bonn University จากประเทศเยอรมนีพบว่า เมื่อพ่น Oxytocin ทางจมูกให้กับกลุ่มตัวอย่างเพศชาย ผลคือพวกเขามองภาพคู่รักแล้วรู้สึกดึงดูดมากขึ้น แต่กลับรู้สึกเฉยๆ เมื่อมองภาพคนรู้จักเพศหญิงอื่นๆ หรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งอาจต่อยอดเป็นประโยชน์กับการพัฒนาเพื่อบำบัดความสัมพันธ์ชีวิตคู่ที่อยู่ในขั้นวิกฤติก็เป็นได้
อีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Zurich สรุปว่า Oxytocin ทำให้เกิดความเชื่อใจ (trust) ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เอื้อสังคม (prosocial) โดยทดลองให้กลุ่มตัวอย่างเล่น Economic Game พบว่า ผู้เล่นที่ได้รับสาร Oxytocin จะใจดีมากขึ้น กลัวลดลง กล้าเสี่ยง กล้าลงทุน และเชื่อใจผู้เล่นคนอื่นมากขึ้น (แต่ไม่มีผลหากผู้เล่นคนอื่นคือคอมพิวเตอร์ แสดงให้เห็นว่าฮอร์โมนนี้เกี่ยวกับกับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม) ซึ่งการมีประโยชน์ในเชิงเอื้อสังคม จึงทำให้มีการพัฒนา Oxytocin ไปบำบัดโรคออทิสติกเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคมที่ดีขึ้น ได้แก่ มีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น สบตามากขึ้น อ่านอารมณ์ของคนอื่นออก มีความเห็นอกเห็นใจ และมองโลกในแง่ดี แต่ก็ยังเป็นขั้นต้นของการทดลองศึกษา
ในหนังสือ Behave: The Biology of Humans at Our Best and Worst นักประสาทวิทยา Robert Sapolsky เรียกฮอร์โมนนี้ว่าเป็นช่างเป็น ‘ความฝันของนักการตลาด’ เพราะทำให้มองโลกในแง่ดีและเชื่อใจ
ใน BBC ได้สัมภาษณ์นักวิจัยที่ศึกษา Oxytocin โดยสงสัยว่า ในเมื่อมีคุณประโยชน์ขนาดนี้ หากนำไปใช้ทางที่ผิดจะเป็นอย่างไร? เช่น ไปโปรยที่ร้านค้าจะล่อลวงให้คนซื้อของมากขึ้นไหม? หรือถูกใช้ชวนเชื่อในวาระทางการเมืองได้ไหม? อย่าได้วิตกกังวลไป เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถโปรยฮอร์โมนนี้ผ่านโปรยทางอากาศให้การหายใจอ้อมๆ หรือสัมผัสทางผิวหนังแล้วได้ผล ควรพ่นเข้าจมูกโดยตรง
มาถึงตรงนี้เราอาจเคลิบเคลิ้มกับสารพัดข้อดีของฮอร์โมน เพราะทำให้เชื่อใจ มองโลกในแง่ดี ใจดี อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย รักเดียวใจเดียว ลองคิดเล่นๆ ว่าหากเราใส่ฮอร์โมนนี้ให้กับมนุษย์ทุกคน โลกคงกลายเป็นสถานยูโทเปีย สงบสุข เต็มไปด้วยความรัก ความเชื่อใจ โลกอันไร้สงความและความเกลียดชัง สันติภาพของการ Make Love, Not War แบบที่จอห์น เลนนอนจินตนาการคงจะเป็นจริง แต่ร่างกายของเราซับซ้อนกว่านั้น มันมีด้านมืดที่ทำให้ Oxytocin เป็นฮอร์โมนแห่งความรักที่ก่อให้เกิดความเกลียดได้เหมือนกัน
เมื่อฮอร์โมนความรักทำให้เกิดความชัง : ด้านมืดของ Oxytocin
มนุษย์เป็นสัตว์ที่เกิดมาเพื่อสร้างสัมพันธ์ ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งการรวมกลุ่มทำให้เรามีโอกาสรอดเพิ่มขึ้น สาร Oxytocin แห่งความเชื่อใจ หลั่งออกมาเมื่อทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เมื่อเราพบคนที่ไว้ใจได้ รู้สึกว่าเป็น ‘พวกเรา’
งานวิจัยโดย Carsten de Dreu จาก University of Amsterdam ในปี 2011 พบว่าแม้ Oxytocin จะทำให้เกิดความใจดี แต่ในการทดลอง Prisoner’s Dilemma หากผู้เล่นถูกแบ่งเป็น 2 ทีมแล้ว Oxytocin จะทำให้ผู้เล่นแทงข้างหลังผู้เล่นจากทีมอื่นรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจาก Oxytocin ทำให้เรามีความรักและเชื่อใจ เกิดความเมตตาเอื้ออาทรกับคนที่ ‘เป็นพวกเดียวกับเรา’ เท่านั้น และปฏิบัติรุนแรงกับคนที่รู้สึกว่าเป็นภัย หรือไม่ใช่ ‘พวกของเรา’
ในอีกงานศึกษาโดย Carsten ยังพบอีกว่า Oxytocin ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีอคติที่รุนแรงขึ้นกับคนนอกกลุ่ม (ในการทดลองคือ คนเยอรมันและคนจากตะวันออกกลาง) Oxytocin อาจเป็นฮอร์โมนแห่งการโอบกอด ทำให้อุ่นใจ ปลอดภัยกับเพื่อนและพวกพ้องของเรา แต่การตัดสินคนที่ไม่ใช่พวกตัวเองอย่างรุนแรงไม่ใช่ ‘ความเอื้ออาทร’ แต่คือการเหยียดเชื้อชาติ และเป็น ethnocentrism (ทัศนคติที่เชื่อว่าวัฒนธรรมของตัวเองเป็นใหญ่)
ฮอร์โมนที่ทำให้เรามีความรักและมองโลกในแง่ดี กลับทำให้เรามีอคติรุนแรงและเกลียดคนที่ต่างจากเรา หรืออยู่นอกกลุ่มของเรา (out-group) เพราะเมื่อตัดสินว่าไม่อยู่ในพวกพ้องเผ่าเรา เราจะไม่ไว้ใจ ความรู้สึก ‘เหม็นหน้า’ คนที่เราไม่ไว้ใจจึงเป็นคำเรียกที่เหมาะสมมาก ความรู้สึกนี้มาจากการทำงานของสมองส่วน Insula อันเป็นสมองส่วนเดียวกันที่ Active ยามกินอาหารที่หมดอายุ
การทดลองโดย Natalia Duque-Wilckens พบว่าหนูที่วิตกกังวลในการเข้าสังคม (Social Anxity) การบล็อก Oxytocin กลับช่วยคลายความกังวล การเรียกชื่อ Oxytocin ฮอร์โมนแห่งความรักก็อาจจะเป็นชื่อที่ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งนี่อาจเป็นกลไกที่ทำให้คนบางคนที่ดูเป็นมิตร จิตใจดี รักพวกพ้อง มีอคติที่รุนแรง และทำสิ่งที่เลวร้ายกับคนนอกกลุ่มได้อย่างไม่ปราณี เพียงเพราะคนนั้นคือ ‘คนอื่น’ หรือเป็น ‘คู่แข่ง’
Oxytocin อาจจะช่วยเพิ่มระดับขยายกิจกรรมทางสังคมของเราที่มีอยู่แล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนใจให้ใครมารักกันได้ (เสียใจด้วยสำหรับคนที่คิดว่ายาเสน่ห์อาจจะทำมาจาก Oxytocin) กล่าวคือ หากเรารักอยู่แล้วเราก็จะรักยิ่งขึ้นไป รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย รู้สึกดีที่อยู่ใกล้และสัมผัส มีปฏิสัมพันธ์ แต่หากไม่ไว้ใจ กังวล หรือเกลียด Oxytocin ก็จะเพิ่มทวีความแรงของความรู้สึกลบเช่นกัน ฮอร์โมนที่ฟีลกู้ดสร้างความอบอุ่นปลอดภัยไว้เนื้อเชื่อใจ มองโลกในแง่ดี กลับส่งผลให้เกิดการรังแกและเกลียดชังกัน
ฮอร์โมนแห่ง ‘ความรักและความผูกพัน’ อาจส่งผลให้คนเกลียดกันเพียงเพราะไม่ใช่’พวกเดียวกัน ‘ และมีอิทธิพลให้คนมีอคติที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้ Oxytocin จึงไม่ใช่ ‘สารเคมีแห่งความรัก’ เสมอไป การเรียกใช้ชื่อนี้ก็อาจทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิด คิดว่ามีแต่แง่งาม
ความรักอาจเยียวยาได้ทุกสิ่ง แต่ Oxytocin ไม่สามารถแก้ไขได้ทุกอย่าง
คุณอาจเข้ามาอ่านบทความนี้เพราะสนใจกลไกของความรัก (เพราะใครๆ ก็หมกมุ่นสนใจเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ใช่ไหม?) หลายๆ คนอาจหยิบวิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ในชีวิตประจำวันที่เราสนใจให้ฟัง ชวนให้คิดว่ามันง่าย แต่กลไกทางชีววิทยาซับซ้อนกว่านั้นเสมอ ปัญหาก็คือ บ่อยครั้งวิทยาศาสตร์ก็ถูกทำให้เข้าใจง่ายจนตัดทอนและละเว้นรายละเอียดที่สำคัญจนความหมายเปลี่ยนแปลงไป สารภาพว่าผู้เขียนเองเคยมโนว่า Oxytocin จะเป็นฮอร์โมนแห่งความรักอันแสนโรแมนติก จนไม่สนใจว่าในกลไกของ ‘ความเชื่อใจ’ ก็มีด้านลบอันตรายที่ก่อให้เกิด ‘ความเกลียดชัง’
หนังเรื่อง ‘The Happy Film’ ชวนให้เราสนใจความซับซ้อนของชีวภาพที่ประกอบขึ้นมาเป็นเรา ‘นี่คือเรา จิตใต้สำนึก สมอง ร่างกาย ที่ทำให้เราสุข มีความรัก มันแยกจากกันได้ไหม?’ ฮอร์โมนมีอิทธิพลสำคัญกับพฤติกรรมของเราโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว ส่งผลกับความคิด ความรู้สึก และตัวตนของเราอย่างไม่สามารถแยกส่วนออกได้โดยง่าย
บางคนอาจมีคติที่ว่า ‘ความรักคือสิ่งสวยงามและเยียวยาได้ทุกอย่าง’ แต่ Oxytocin ไม่สามารถจะซ่อมทุกอย่างได้ในความเป็นมนุษย์ เพราะมันขึ้นกับบริบทและปัจจัยสภาพแวดล้อม
Oxytocin อาจไม่ใช่ฮอร์โมนโลกสวยแห่ง ‘ความรัก’ สารพัดประโยชน์อย่างที่เราคาดหวัง แต่ก็ทำให้รู้ว่า ‘กลไกของความรักและความเกลียดชังอาจใกล้กันมากกว่าที่เราคิด’
อ้างอิงข้อมูลจาก
- The Happy Film
thehappyfilm.org - BBC World Service : Discover, Oxytocin
bbc.co.uk - Behave: The Biology of Humans at Our Best and Worst – Robert M. Sapolsky
amazon.com - Neuroscience: The hard science of oxytocin
nature.com - Oxytocin leads to monogamy
uni-bonn.de - Oxytocin enhances brain reward system responses in men viewing the face of their female partner
ncbi.nlm.nih.gov - To Trust or Not to Trust: Ask Oxytocin
scientificamerican.com - Oxytocin Shapes the Neural Circuitry of Trust and Trust Adaptation in Humans
cell.com - Oxytocin promotes human ethnocentrism
pnas.org - Oxytocin Turns Up the Volume of Your Social Environment
ucdavis.edu
Illustration by Yanin Jomwong