หลายท่านคงได้ทราบและได้รับชมการถ่ายทอดสดการดีเบตกัน 4 ฝ่าย ระหว่าง คุณจาตุรนต์ ฉายแสงจากพรรคเพื่อไทย, คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากพรรคอนาคตใหม่, คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์ , และคุณไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคประชาชนปฏิรูป ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานะครับ
หลังจากการดีเบตครั้งนี้จบลง หลายคนคงเห็นกระแสชื่นชมคำพูดที่สวยงาม วาทศิลป์อันทรงไปด้วยหลักการของคุณอภิสิทธิ์ กระทั่งไม่น้อยที่น่าจะได้เห็นบทความหรือโพสต์ต่างๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์คว่า ‘อภิสิทธิ์สอนมวยธนาธร’
ผมต้องสารภาพตามตรงครับว่าผมเห็นโพสต์ลักษณะดังกล่าวแล้วก็ได้แต่ตลกปนละเหี่ยใจ แน่นอนผมไม่ปฏิเสธหรอกครับว่าคุณอภิสิทธิ์พูดจาได้น่าฟัง อธิบายชัดเจน จังหวะการเปล่งคำดี เน้นคำแน่น อีกทั้งยังมีความสามารถในการอธิบายความอย่างเหนือชั้นมาก เรียกได้ว่าเหนือกว่าอีก 3 ท่านบนเวทีอย่างค่อนข้างทิ้งห่าง แต่หากจะนับว่ามีเรื่องใดที่คุณอภิสิทธิ์จะสอนมวย ‘ใครก็ตาม’ บนเวทีนั้นได้ ไม่ใช่แค่คุณธนาธร คงจะเป็นเรื่องวิธีการพูดให้ฟังดูดี คนฟังรู้เรื่อง และชัดเจนนี่แหละครับ พร้อมๆ กันไป ผมไม่คิดจะปฏิเสธด้วยว่าหลายเรื่องที่คุณอภิสิทธิ์พูดนั้นถูกต้อง เป๊ะในหลักการเลยทีเดียว แต่นั่นคือความเก่งกาจจริงหรือ? ผมเห็นตรงกันข้าม
หากให้ผมเรียงลำดับความชอบส่วนตัวของผมเองในการดีเบตครั้งนี้ ลำดับของผมคงจะต่างจากหลายๆ ท่านครับ ไม่มากก็น้อย เพราะลำดับของผมเองเป็นแบบนี้
อันดับ 1 – ธนาธร
ผมคิดว่ารอบนี้คุณธนาธรพูดได้ดีที่สุด ที่บอกแบบนี้ไม่ใช่ว่าเข้าข้างพรรคอนาคตใหม่อะไรเป็นพิเศษเลย (จริงๆ แล้วในช่วง 1 – 2 วันก่อนการอภิปราย ผมยังเขียนด่าพรรคอนาคตใหม่อย่างหนักหน่วงด้วยซ้ำ) ที่ผมชอบที่สุดไม่ใช่เพราะว่าคำพูดของคุณธนาธร ‘ไร้จุดบอด/จุดอ่อน’ มันมีครับ และหลายๆ เรื่องก็กลายเป็นประเด็นให้คนเอาไปพูดว่าคุณอภิสิทธิ์ ‘สอนมวย’ คุณธนาธรไป อย่างเรื่องการยกประเทศสิงคโปร์ขึ้นมาในฐานะตัวอย่างประเทศประชาธิปไตย การนับจำนวนครั้งในการโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ธนาธรบอกว่า 3 ครั้ง อภิสิทธิ์แก้ให้ว่าต้องใช้ 4 ครั้ง) หรือการพูดถึงการอิงประชาธิปไตยกับ ‘ตัวผลลัพธ์’ จนเกินไป เป็นต้น
หากเราคุ้นชินกับการเมืองระหว่างประเทศบ้าง เราย่อมไม่ยกตัวอย่างประเทศอย่างสิงคโปร์ในฐานะตัวเลือกแรกๆ ที่จะมาเป็นตัวอย่างแน่นอนครับ และนั่นก็พอจะนับได้ว่าเป็นจุดอ่อนในส่วนเนื้อหาของคุณธนาธร กระนั้นด้วยบริบทของประเทศไทยในตอนนี้ ที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ในระดับที่คุณอภิสิทธิ์ก็พูดเองว่า ต่อให้ยอมรับการอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแค่ 4 วินาที (ดังที่คุณไพบูลย์กล่าว) ก็ยังเท่ากับว่าเป็นประชาธิปไตยนานกว่าที่ตอนนี้เป็นกันอยู่ถึง 4 วินาทีเลย ความไร้ประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงนี้เองในแง่หนึ่งมันทำให้การที่เราจะบอกว่า ‘สิงคโปร์ก็เป็นประชาธิปไตย’ มันก็พอพูดได้อยู่โดยไม่ผิดนัก เพราะความไร้ประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิงของไทยทำให้โดยเปรียบเทียบ ประเทศที่พอจะเป็นประชาธิปไตย (บ้าง) ใดๆ ก็ตาม ‘ก็เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเราแล้ว’ นั่นเอง
จุดที่ผมคิดว่าผมชื่นชอบในส่วนข้อเสนอของคุณธนาธรที่สุดในรอบนี้ แม้อาจจะฟังดูอุดมการณ์จ๋าเหลือเกินอีกแล้ว ก็คือข้อเสนอที่ “ก้าวเกินไปกว่าการต่อสู้ภายในกรอบที่เป็นอยู่ตามระเบียบในปัจจุบัน”
คือ ตามกรอบ ตามระเบียบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น การเอาผิดผู้ก่อการรัฐประหารอย่างจริงจังนั้นไม่มีเลย และนั่นทำให้ผู้ครองอำนาจของกำลังทางกายภาพอย่างทหาร ‘ไม่กลัวการจะทำรัฐประหาร’ ขอเพียงพวกเขาเห็นว่าจำเป็นและขอเพียงหน้าด้านพอบ้าง ก็ไม่ต้องกลัวอะไรแล้ว การก่อรัฐประหารแทบจะกลายเป็น “การก่อเหตุรุนแรงทางการเมืองที่ไม่มีต้นทุนต้องจ่ายอย่างชัดเจนเลย” (หากจะมีบ้างก็พวกต้นทุนของความชอบธรรมที่สั่งสมคะแนนมา รวมถึงต้นทุนของความไว้ใจต่างๆ แต่หากมองว่าจำเป็นเสียอย่าง สิ่งเหล่านี้ไม่นับเป็นต้นทุนก็ยังได้) ฉะนั้นข้อเสนอของอนาคตใหม่ในส่วนนี้ก็คือ “การใส่ราคา การสร้างต้นทุนจริงๆ ให้กับการรัฐประหาร” หากลงโทษผู้ก่อการรัฐประหารได้จริง นั่นจะเป็นประโยชน์มหาศาล แต่น่าเสียดายคุณธนาธรไม่ได้เสนออย่างเป็นรูปธรรมว่า ‘จะร่างกฎหมายใหม่อย่างไร ที่จะทำให้การลงโทษผู้ก่อการรัฐประหารทำได้จริงตามที่เสนอ โดยไม่ถูกรัฐประหารซ้ำก่อนที่จะไปจับตัวผู้ก่อการได้ โดยเฉพาะในสภาวะที่กำลังอำนาจของกำลังทางกายภาพยังอยู่ในมือของฝั่งนั้นอยู่’
ข้อเสียประการสำคัญอีกอย่างก็คือ คุณธนาธรพูดถึงการรอและความอดทนอดกลั้นในระบอบประชาธิปไตย หรือเรื่อง Toleration นั่นเองครับ ซึ่งผมเห็นด้วยมากๆ ว่าหากไม่สำเร็จในครั้งนี้ ด้วยกติกาของระบอบประชาธิปไตยแล้ว มันยังจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป และต่อๆ ไปอยู่ หากพูดกันในทางภาพรวมระยะยาวผมเห็นด้วยแน่นอน แต่คำถามคือ ในช่วงระหว่างของการ ‘รอคอยให้แนวคิดที่นิยมประชาธิปไตยได้ชัยชนะ’ นั้น ย่อมเกิดเหยื่อและการโดนกดทับในด้านต่างๆ ทั้งสังคม การเมือง และโดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ดูจะแย่วันแย่คืน อุดมการณ์ที่ฝันจะไปให้ถึง จะรับมือกับความย่ำแย่ที่กำลังเกิดขึ้นจริงในระหว่างการรอความฝันอย่างไร? สังคมนี้จะทนกับความมืดที่กัดกินอยู่ทั้งแบบเงียบๆ และตะกละตะกลามได้นานเพียงใด ผมคิดว่านี่คือเงื่อนไขในความเป็นจริงที่เราต้องประเมินเสมอ เมื่อเรายกชูเรื่องความอดทนอดกลั้นขึ้นมาพูดอยู่เรื่อยๆ
อันดับ 2 – คุณจาตุรนต์
ในแง่ของความ “ทำได้จริง ทำได้โดยเร็ววัน” นั้น ข้อเสนอของคุณจาตุรนต์ดูจะมีภาษีที่ดีกว่าคุณธนาธรครับในสายตาของผม แต่ผมให้อยู่อันดับสองเพราะว่า ต่อให้มันทำได้จริงมากกว่า เร็วกว่า แต่ตัวข้อเสนอนั้น หากจะว่าไปแล้วอย่างตรงไปตรงมา ก็คือ ไม่ได้มีอะไรที่ใหม่นัก และมันเป็นการเสนอนโยบายที่อยู่ในกรอบของ ‘ระเบียบแบบเดิมที่สถานการณ์ในตอนนี้เอื้อให้ทำได้’ พูดอีกอย่างก็คือ ข้อเสนอของคุณจาตุรนต์นั้นอารมณ์คล้ายๆ กับเพลงของป้ากมลา สุโกศลครับที่ว่า “อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำวันนี้ให้ดีที่สุด” คือ พยายามทำให้ผลลัพธ์ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในเงื่อนไขข้อบังคับที่แสนจะเลวร้ายในปัจจุบัน แต่พร้อมๆ กันไปมันก็ไม่ได้แก้ปัญหาระยะยาว หรือตอบโจทย์จริงๆ ว่า จะทำยังไงเพื่อไม่ให้เราวนมาเจอความเฮงซวยแบบนี้ซ้ำๆ อีกที แต่ผมจะไม่ขอแตะประเด็นของคุณจาตุรนต์เยอะนักนะครับ เพราะชิ้นนี้ตั้งใจพูดระหว่างคู่ของคุณธนาธรและอภิสิทธิ์เป็นหลัก
อันดับ 3 – คุณไพบูลย์
เช่นกันกับกรณีของคุณจาตุรนต์ ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดในส่วนของคุณไพบูลย์เยอะ เพราะไม่ใช่ประเด็นสนทนาหลักในครั้งนี้ และหลายคนอาจจะแปลกใจที่ผมให้อันดับของคุณไพบูลย์สูงกว่าคุณอภิสิทธิ์เสียอีก คือ ผมคิดว่าคุณไพบูลย์ตอบได้ดีนะครับ บนฐานคนที่มีความเชื่อทางการเมืองแบบของแก คนที่เชื่อในธรรมะนิยม, ลดรูปประชาธิปไตยให้เป็นเพียงการเลือกตั้ง, มองความเห็นต่างและขัดแย้งทางการเมืองในฐานะความผิดปกติ, ฯลฯ หากนี่คือฐานความเชื่อหลักของแก และเราลองสวมแว่นตาความคิดแบบเดียวกับของแกดู เราจะพบได้ว่าข้อเสนอของแกนั้นมันเมกเซนส์กับตัวแกเองที่มีวิธีคิดแบบนั้น รวมไปถึงคนที่มีวิธีคิดแบบเดียวกับแกเลยทีเดียว ในแง่นี้ผมคิดว่าอย่างน้อยข้อเสนอของแกก็ซื่อสัตย์ต่อความคิดและตัวตนที่ผ่านมาของแกเอง และก็ตอบเอาใจแฟนๆ ที่เป็นฐานเสียงแกไม่น้อยทีเดียว (และพูดอย่างถึงที่สุด ตัวผมเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากคุณไพบูลย์อยู่แล้ว ฉะนั้นพูดได้ขนาดนั้น ก็ถือว่าสมน้ำสมเนื้อกับที่คิดไว้นั่นเอง)
อันดับที่ 4 – คุณอภิสิทธิ์
ผมให้คุณอภิสิทธิ์อยู่ในอันดับสุดท้ายเลย แม้ผมจะยอมรับว่า ‘ทักษะวิธีการพูด’ ของเขานั้นดีที่สุดบนเวทีเลยดังได้บอกแต่แรก และเนื้อหาหลายอย่างก็ฟังดูดี ถูกต้องในหลักการอย่างเกือบจะไร้ข้อกังขา แต่นั่นแปลว่าคุณอภิสิทธิ์ ‘เก่ง’ หรือครับ? ผมไม่คิดแบบนั้นเลย ผมกลับมองว่าถ้าผมเป็นแฟนคลับคุณอภิสิทธิ์ เป็นคนที่เชื่อและติดตามคุณอภิสิทธิ์มาตลอด ฟังแล้วก็คงได้แต่คิดตาม (หากคนเหล่านั้น ‘คิดตาม’ กันจริงๆ) ว่า “อ้าว! จะเอายังไงกันแน่ เชียร์ไม่ถูก?” เลยทีเดียว
การแค่จะพูดให้ดูดี ถูกต้องในหลักการ แม่นยำในเนื้อหานั้น เป็นทักษะการพูดที่เก่งครับ แต่ไม่ได้แปลว่าตัวคนพูดนั้น ‘เก่ง’ ไปด้วย แค่จะพูดให้เนื้อหาฟังดูดีต่างๆ นั้น เซลส์แมนเก่งๆ ที่ไหนก็ทำได้ ให้เนื้อหาแม่นยำถูกต้องในทางหลักวิชา คนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ช่ำชองหน่อย หรือคนที่คุ้นชินกับแนวคิดทางการเมืองต่างๆ หน่อยก็พอจะทำไหวกัน (ไม่ต้องนับว่าคุณอภิสิทธิ์เองก็เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาก่อนด้วยจริงๆ อีกต่างหาก)
หากการพูดของคุณอภิสิทธิ์จะเป็นการพูดที่เก่งและดีจริงนั้น คุณอภิสิทธิ์ต้องพูดให้การกระทำและจุดยืนที่ตัวคุณอภิสิทธิ์เองเลือกยืนตลอดมานั้น ‘กลายเป็นสิ่งที่ดี และถูกต้องในหลักการได้ต่างหาก’ ครับ ว่าง่ายๆ ก็คือ ต้องพูดเรื่องที่ดูผิดหลักการที่คุณอภิสิทธิ์อ้างถึงแทบทุกประการในงานดีเบตนี้ ให้กลายเป็นเรื่องที่ดีงามได้ มีหลักการได้ เช่นนั้นผมถึงจะว่าคุณอภิสิทธิ์เก่งอย่างร้ายกาจครับ แต่เมื่อคุณอภิสิทธิ์เลือกใช้เพียงทักษะการพูดที่เหนือกว่าคนอื่น มาขับเน้นหลักการที่คุณอภิสิทธิ์เองเคยยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามตลอดมา และบอกว่าวันนี้ฉันอยู่ข้างประชาธิปไตย การเลือกตั้ง และระบอบรัฐสภานะ ฉันไม่เน้นที่ผลลัพธ์ของประชาธิปไตยนะ ฉันเน้นที่ขบวนการ มันจึงเป็นเพียงแค่การพลิกลิ้น หรือเรียกบ้านๆ ว่า ‘ปลิ้นปล้อน ตอแหล’ นั่นเอง
ถ้าหากผมเป็นแฟนคลับที่ตามคุณอภิสิทธิ์ และเชียร์คุณอภิสิทธิ์มาโดยตลอด ในดีเบตครั้งนี้ผมคงจะงง
ในระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าตัวเองสนับสนุนการเลือกตั้งและประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภา – ตัวคุณอภิสิทธิ์ในวันนั้นที่บอยคอตการเลือกตั้ง หรือพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่เดินออกจากสภาหายไปไหน?
ในระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์บอกว่าควรจะต้องยกระดับคุณค่าของความเป็นคนและสิทธิมนุษยชน – ตัวคุณอภิสิทธิ์ที่จัดการเสื้อแดงกลางเมือง เผาบ้านเผาเมืองนั้นหายไปไหน
ในระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์ตอบโต้ แซะจิกกัดคุณไพบูลย์อย่างออกรสและมีชั้นเชิง กระทั่งแทบจะเสนอว่าคุณไพบูลย์คือส่วนหนึ่งของกับดักการรัฐประหารในไทยนั้น – ตัวคุณอภิสิทธิ์ที่เป่านกหวีดและโอบกอดอย่างแน่นหนึบกับคุณสุเทพในม็อบ กปปส. หายไปไหน?
ในระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่ได้แคร์ในผลลัพธ์ของประชาธิปไตย แต่สนใจที่กระบวนการมากกว่า – ตัวคุณอภิสิทธิ์ที่แพ้การเลือกตั้งให้กับฝั่งค่าย ‘คุณทักษิณ’ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนอ้างวาทกรรม ‘เผด็จการรัฐสภา’ ต่างๆ นับครั้งไม่ถ้วนนั้นหายไปไหน หรือนั่นไม่ใช่การ ‘แคร์’ เรื่องผลลัพธ์หรือ?
ในระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์โต้คุณไพบูลย์กลับเรื่องประชาธิปไตย 4 วินาที – ตัวคุณอภิสิทธิ์และพรรคของคุณที่เคยด่าประชาธิปไตยในลักษณะเดียวกันครั้งแล้วครั้งเล่าหายไปไหน?
สภาวะความเดี๋ยวรักเดี๋ยวไม่รัก ‘หลักการและประชาธิปไตย’ ของคุณอภิสิทธิ์นี้เอง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าจะลองหาคำอธิบายกันดูด้วย และผมคงจะไม่อยากเขียนอะไรเดิมๆ แล้วแหละครับว่า ‘มันคือเรื่องของผลประโยชน์ หรือพูดเอาใจคนฟัง’ ซึ่งพูดร้อยทีก็ถูกร้อยที และนั่นก็ทำให้มันไม่มีประโยชน์ในการพูดด้วย ผมอยากจะเสนอมุมมองใหม่ในการมองคุณอภิสิทธิ์สักหน่อยครับ คือ ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์มีอาการ Pathological Narcissism อย่างหนักครับ และเป็นอาการที่มีต่อต่อ หลักการ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน รวมถึงประชาชน ไม่ใช่ต่อปัจเจกบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
หลายท่านอาจสงสัยว่า ไอ้ Pathological Narcissism คืออะไร? คำนี้เป็นคำในทางจิตวิทยาและถูกใช้ในงานสายจิตวิเคราะห์ไม่น้อยครับ Narcissism คือ อาการลุ่มหลงในตัวเอง ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกโดยซิกมันด์ ฟรอยด์ และหลายคนคงจะคุ้นชินดีอยู่แล้ว และ Pathological Narcissism นี้เป็นหมวดหนึ่งของอาการลุ่มหลงตัวเองที่ว่านั้นครับ Narcissism สามารถแบ่งใหญ่ๆ ได้ เป็น 2 ส่วน คือ Primary Narcissism ที่มักจะเกิดกับเด็กเล็กจนถึงอายุราวๆ 6 ปี โดยมักจะเกิดขึ้นในฐานะกลไกป้องกันทางจิตใจของตัวเอง จากสภาวะที่เกิดการพลัดพรากแยกจากในช่วงระยะที่กำลังเจริญเติบโตอยู่น่ะครับ ก็จะทำให้เด็กกลุ่มนี้สนใจแต่เรื่องตัวเอง อยู่กับตัวเองไป (ผมไม่เชี่ยวชาญเรื่องนี้พอที่จะสรุปได้ว่ามันคืออาการแบบ ‘โลกส่วนตัวสูง’ ที่เราคุ้นปากกันในปัจจุบันไหม)
ส่วน Pathological Narcissism นั้นเป็นอาการลุ่มหลงตัวเองที่เกิดกับวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ละ โดยต้นตอสำคัญที่นักจิตวิทยาโดยมากเชื่อว่าเป็นเชื้อให้เกิดอาการนี้ก็คือ การถวิลหาความสำเร็จหรือรางวัลของชีวิต (Gratification) อย่างต่อเนื่องยาวนานแต่ยังไม่ถึงสักที หรือต้องการจะได้รับความสนใจจากสังคมรอบข้างบ้าง (ชนะเลือกตั้งไม่ได้สักที? พูดเท่าไหร่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่สนใจไม่เชื่ออยู่ดี?)[1]
แล้วลักษณะดังกล่าวมันมาเกี่ยวอะไรกับความรักที่คุณอภิสิทธิ์มีต่อหลักการ ประชาธิปไตย ฯลฯ ได้กันเล่า?
ในปี 1986 Slavoj Zizek ได้อธิบายอย่างน่าสนใจมากในงานของเขาที่ชื่อ ‘Pathological Narcissus’ as a Socially Mandatory Form of Subjectivity ครับ โดยอธิบายความลุ่มหลงต่อตัวเองนี้ในบริบทที่สัมพันธ์กับ ‘ความรัก’ ว่า Pathological Narcissus นั้นพอจะสามารถอธิบายได้โดยอิงอยู่กับทฤษฎีว่าด้วยการพรรณา (Theory of Description) อย่างเช่น เวลาที่เราบอกว่าเราชอบผู้หญิงสักคนเพราะเธอคนนั้นช่างสวยเหลือเกิน เธอมีผิวที่ขาวนวล มีหน้าอกที่เอิบอิ่ม มีริมฝีปากที่แดงงามเปล่งปลัง มีตาที่แบ๊วสกาว มีขาที่เรียวตรง ก้นที่เด้งงอนได้รูป หรือชื่นชอบชายหนุ่มสักคนที่ ความหล่อสะท้าน หน้าใส ซิกซ์แพค กล้ามโต รูฟิตอะไรก็ตามแต่ ว่าง่ายๆ ก็คือ นี่คือความชื่นชอบที่วางฐานอยู่บนเงื่อนไขของข้อพรรณา หรือลักษณะตามที่บรรยายออกมา เพราะฉะนั้นแล้วคนที่มีอาการ Pathological Narcissus ก็คือ พวกที่จะตอบคำถามเวลามีคนมาถามว่า “ทำไมถึงรักชั้นล่ะ” ก็จะตอบว่าเพราะเธอสวย เพราะผมตื่นตะลึงในริมฝีปากที่เจิดจรัสของคุณเมื่อแรกเห็น เพราะไหวพริบที่เฉียบคมของคุณเมื่อแรกเจอ ฯลฯ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความรักแบบ Pathological Narcissus นั้นมันคือการลดทอนให้สิ่งที่เราหลงรักนั้นเหลือเป็นเพียง ‘ก้อนของลักษณะตามคำบรรยาย’ ที่เราเลือกจะหลงไหล หรือที่มันสวยงามกับเรา ที่มันดีต่อเรา ฉะนั้นพร้อมๆ กันไป ความรักในลักษณะนี้ มันจึงแปลความด้วยว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณค่าหรือลักษณะตามที่ต้องตาเราอย่างที่บรรยายไปนั้น มันหมดลง มันเปลี่ยนไป มันไม่ได้เป็นประโยชน์กับเราอีกแล้ว เราย่อมหมดความรักที่มีต่อมัน
ผมคิดว่าความรักที่คุณอภิสิทธิ์มีต่อประชาธิปไตยและหลักการบนฐานของมนุษยธรรมต่างๆ นั้น ก็ดูจะเป็นเช่น Pathological Narcissus Love
คือ คุณอภิสิทธิ์ทำให้ประชาธิปไตยและหลักการร้อยแปดที่คุณอ้างว่ารักนั้น ให้กลายเป็นเพียง ‘คำบรรยายของความดูดี คำบรรยายอันทรงสเน่ห์ คำบรรยายที่มีคุณค่าสำหรับคุณ’ การลดรูปประชาธิปไตยและมนุษยธรรมให้กลายเป็นเพียงพรรณาของคำหวานที่จรรโลงใจตัวคุณอภิสิทธิ์เองอย่างที่เป็นอยู่นี้เอง เมื่อไหร่ก็ตามที่ตัวตนของมันหมดซึ่งคุณสมบัติที่พรรณาไว้ ที่เคยมองเห็นและบรรยายเอาไว้ เมื่อคุณค่าที่เคยรักมันไม่ได้สนใจคุณอภิสิทธิ์อย่างที่คุณอภิสิทธิ์หวังให้มันมาสนใจตน คุณก็พร้อมจะเลิกรักมันได้ในทันที คุณพร้อมจะไปรักกับสิ่งอื่นแทน รักในนกหวีดและ กปปส. รักในการที่ทหารออกมาจัดการความขัดแย้ง (ที่ควรจะเป็นเรื่องปกติ) เช่นกัน คุณอภิสิทธิ์ก็รักสิ่งเหล่านั้นในฐานะเพียงพรรณาที่มาสนองความต้องการของตนเอง เมื่อนกหวีดและรองเท้าบูทหมดพลังแห่งพรรณาการไป คุณอภิสิทธิ์ก็กลับมาวางตัวรักหัวปักหัวปำกับหลักการและประชาธิปไตยอีกครั้ง
แต่แท้จริงแล้วสิ่งเดียวที่คุณอภิสิทธิ์รักดูจะเป็นเพียงแค่ตัวคุณอภิสิทธิ์เอง เป็นเพียงสิ่งเดียวที่คุณลุ่มหลงและไม่เคยทอดทิ้ง เพราะหากมันจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘รักแท้’ ในเซนส์ที่อิงกับประเด็นนี้ มันก็คงจะเป็นความรักที่ต่อให้คุณค่าตามพรรณาการสูญสิ้นไปหมด ความรู้สึกต่อคนคนนั้น สิ่งนั้นๆ ก็จะยังคงเดิมอยู่ต่อไปนั่นเอง ซึ่งชัดเจนว่านั่นไม่ใช่ความรู้สึกที่คุณอภิสิทธิ์มีให้กับประชาธิปไตยและประชาชนไทยเลย
…หากคุณอภิสิทธิ์เชื่อว่าคุณมีความรักต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจริงๆ รักในมนุษยนิยมจริงๆ ไม่ต้องหันมาบอกผมนะครับ หันไปบอกกับชีวิตของเสื้อแดงที่ตายไปเกือบร้อย และครอบครัวพวกเขาก่อนเถิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.healthyplace.com