1
วิคเตอร์ เคล็มเพอเรอร์ (Victor Klemperer) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา งานเขียนที่โด่งดังที่สุดของเขาคือการเขียนบันทึกไดอารี่ เราจึงเรียกเขาว่าเป็น Diarist
เคล็มเพอเรอร์เป็นยิว ให้บังเอิญว่า ช่วงชีวิตของเขากินระยะเวลายาวนานตั้งแต่ก่อนนาซีจะเรืองอำนาจ คือในยุคที่เป็นจักรวรรดิเยอรมัน กระทั่งถึงสาธารณรัฐไวมาร์ ไล่มาจนถึงยุคก่อตั้งอาณาจักรไรช์ที่สามของฮิตเลอร์ ซึ่งทำให้เยอรมนีกลายเป็นนาซี และกระทั่งถึงเมื่อเยอรมนีเป็นประชาธิปไตย การบันทึกไดอะรี่ของเขา จึงเป็นเรื่องสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก
เคล็มเพอเรอร์บอกว่า ถ้าเราดู ‘ภาษา’ ที่ฮิตเลอร์ใช้ เราจะเห็นเลยว่า ฮิตเลอร์ ‘ตีความ’ ภาษาที่ตัวเองใช้คนละแบบกับ Norm ทั่วไป เขาบอกว่า ฮิตเลอร์นั้นไปถึงขั้นปฏิเสธ ‘ความหมาย’ ที่ถูกต้องแท้จริงของคำหลายคำ และเลือกใช้คำที่มีความหมายตรงข้ามด้วยซ้ำ
ตัวอย่างเช่น คำว่า The People ของฮิตเลอร์ ไม่ได้หมายความถึง ‘ประชาชน’ ทั่วไปทั้งปวงหรอกนะครับ แต่หมายถึง Some People คือมีเฉพาะคนบางกลุ่มในประเทศเท่านั้น ที่ถือว่าเป็น The People ในความเห็นของฮิตเลอร์ เคล็มเพอเรอร์ทำให้ผมนึกถึงวลีฮิตเมื่อหลายปีก่อน คือวลี ‘มวลมหาประชาชน’ ซึ่งฟังๆ ดูน่าจะมีความหมายที่ ‘ใหญ่’ กว่าคำว่า ‘ประชาชน’ เพราะมันตั้ง ‘มวลมหาฯ’ แน่ะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘มวลมหาประชาชน’ กลับถือได้ว่าเป็น subset ของคำว่า ‘ประชาชน’ เพราะคนกลุ่มที่เป็นมวลมหาฯ นั้น เป็นคนแค่กลุ่มเดียวของประชาชนท้ังหมดเท่านั้น คนอีกจำนวนมากไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นมวลมหาฯ ไปด้วย
ดังนั้น ‘มวลมหาประชาชน’ จึง ‘เล็ก’ กว่าประชาชน แต่กลับเลือกใช้คำที่แลดู ‘ใหญ่โต’ กว่ามาก
อีกคำหนึ่งที่เคล็มเพอเรอร์บอกว่าฮิตเลอร์ใช้ในความหมายที่แตกต่างไปจากคำเดิม ก็คือคำว่า Defamation (of the Leader) หรือการ ‘ดูหมิ่น’ ท่านผู้นำ โดยเคล็มเพอเรอร์บอกว่า ฮิตเลอร์จะใช้คำนี้เมื่อมี ‘ความพยายามใดๆ ก็ตามของเสรีชน (Free Poeple) ในอันที่จะทำความเข้าใจโลกในแบบที่ต่างออกไป’
ในสังคมไทย เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นบ๊อยบ่อยจนแทบไม่ต้องพูดถึงนะครับ เพราะตอนนี้เราจะเห็นการ ‘ช่วงชิง’ ความหมายของคำเต็มไปหมด คำที่เคย ‘ซ้ายโคตรๆ’ คือใครใช้ต้องถูกมองว่าซ้ายมากๆ ก็ถูกพวกขวาและคนอื่นๆ หยิบเอาไปใช้ให้มั่วไปหมด คำที่ ‘มั่ว’ ได้ที่จริงๆ ก็คือคำว่า ‘วาทกรรม’ ที่แต่เดิมเป็นคำแปลมาจาก Discourse อันมีนัยลึกซึ้งตามความหมายของมิเชล ฟูโกต์ แต่ทุกวันนี้ถูกใช้ในความหมายของ ‘กิริยา’ (หรือกรรม-คือการกระทำ) แห่ง ‘วาทะ’ คือการพูดจาไปเสียแล้ว โดยทิ้งความหมายเดิมที่ลึกซึ้งเข้าใจยากไปจนหมด
อีกคำหนึ่งที่เผด็จการทั่วโลกเป็นเหมือนกันหมดก็คือ ห้ามใครเรียกตัวเองว่า ‘เผด็จการ’ ซึ่งแม้จะก่อให้เกิดอาการย้อนแย้งในตัวอยู่ไม่น้อย แต่ก็มีลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็น ‘แบบฉบับ’ (Typical) อย่างหนึ่งของเผด็จการเลยทีเดียว คล้ายๆ คนเมาที่ไม่ยอมบอกว่าตัวเองเมานั่นแหละครับ
หลายคนคงเกิดคำถามข้ึนว่า อ้าว! ก็ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจ ว่าเผด็จการใช้คำที่มีความหมายกลับข้างไปหมดแบบนี้ ก็แล้วทำไมคนที่ยอมค้อมหัวให้เผด็จการจำนวนมากถึงหูดับ ไม่ได้ยิน มองไม่เห็น ตีความไม่ได้ และเชื่อฟังเผด็จการกันถึงขนาดนี้เล่า
เคล็มเพอเรอร์อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า เผด็จการนั้น จะใช้วิธีที่เรียกว่า Endless Repetition หรือการผลิตซ้ำแบบไร้ที่สิ้นสุด เพื่อกล่อมหัว ‘มวลมหาประชาชน’ (ในความหมายเดียวกับ The People ของฮิตเลอร์นะครับ ไม่ได้หมายถึงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย) ซึ่งวิธีแบบนี้อาจดูทื่อๆ แต่ก็ใช้ได้ผลบ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ ฮิตเลอร์ทำแบบนี้ ผู้นำเกาหลีเหนือก็ทำแบบนี้ผ่านการเรียนการสอน แม้กระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีผู้วิเคราะห์ว่าเขาใช้กลวิธีแบบนี้ด้วย เช่นการ ‘เลือกใช้คำอย่างเป็นระบบ’ (Systematic Use) กับบางคำ โดยเฉพาะการตั้งฉายาให้คู่แข่งฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้ง โดยเลือกบางคุณลักษณะที่เป็นข้อด้อยมาทำให้โดดเด่น หรือเลือกประโยคสั้นๆ บางประโยค (เช่น Make America Great Again หรือ Build the Wall) มาเป็นหัวสว่านเจาะทะลุเข้าไปในความรับรู้ของผู้คน แล้วปั่นๆๆ เพื่อให้คำเหล่านี้เข้าไปฝังอยู่ภายใน
เมื่อคลุกอยู่กับ Endless Repetition มากๆ ในที่สุดผู้คนที่โน้มเอียงไปในอันที่จะเชื่อฟังเผด็จการ (คือ The People) อยู่แล้ว ก็จะเกิดอาการอีกแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือไม่สนใจ ‘ความจริง’ สักเท่าไหร่
มีคนวิเคราะห์ว่า นี่เป็นอีกลักษณะหนึ่งของเผด็จการ คือไม่สนนกสนไม้กันอีกต่อไปว่าอะไร ‘จริง’ แค่ไหน แต่จะ ‘นำเสนอ’ สิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ ในแบบของตัวเอง ให้กับ The People ของตัวเองได้รับรู้ โดยที่ The People เอง เมื่อค้อมหัวให้เผด็จการถึงระดับหนึ่ง – ก็จะเลิกแยกแยะ (ฝรั่งเขาใช้คำแรงถึงระดับ Renunciation กันเลยทีเดียว) ระหว่าง ‘สิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน’ กับ ‘สิ่งที่เป็นจริงๆ’
ตัวอย่างของ Renunciation ก็คือแคมเปญหาเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีการวิเคราะห์ว่า ราว 78% ของสิ่งที่เขาอ้างว่า ‘จริง’ ในแคมเปญหาเสียงนั้น แท้จริงแล้วเป็นเท็จ
จริงอยู่ – แม้อาจจะต้องถกเถียงกันอยู่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็น ‘เผด็จการ’ หรือเปล่า (หรือถ้าเป็น เป็นแบบไหน เพราะในภาษาอังกฤษ มีคำที่ถูกคนไทยนำมาแปลว่าเผด็จการหลายคำ เช่น Dictatorship, Totalitarianism หรือ Authoritarianism) แต่อัตราส่วนความเท็จที่ว่านี้ก็สูงมากจนคนทั่วไปไม่น่าจะยอมรับได้ มีคนวิเคราะห์ว่า การยอมรับความเท็จเหล่านี้ได้โดยไม่ตรวจสอบ เป็นเพราะกลุ่มคนที่เลิกแยกแยะระหว่างระหว่างสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินกับความจริง (หรือเกิดอาการ Renunciation) แล้วนั้น จะลดระดับตัวตนในฐานะปัจเจกลง แล้ว ‘สลายร่าง’ กลายไปเป็นฟันเฟืองหนึ่งของระบอบเผด็จการ ซึ่งในที่นี้ก็คือระบอบทรัมป์
นอกจากเรื่อง Endless Repetition แล้ว เคล็มเพอเรอร์ยังบอกด้วยว่า การสูญสลายไปของ ‘ความจริง’ อื่นๆ จนเหลือแต่ความจริงของเผด็จการนั้น ถ้าเกิดขึ้นมากๆ ในที่สุดคนจะวาง ‘ศรัทธา’ ของตัวเองแบบผิดที่ผิดทาง (เขาใช้คำว่าเกิด Misplaced Faith) คือสามารถเชื่อมั่น ไว้ใจ และศรัทธา (ไม่ต้องทำเสียงสูงก็ได้นะครับ!) ได้แม้กระทั่งคำพูดประเภทอวดอ้างคุณวิเศษของตัวเองต่างๆ นานา โดยเฉพาะคำพูดประเภทที่เขาเรียกว่า Self-Deify คือการ ‘ยก’ ตัวเองขึ้นเหนือคนอื่น คิดว่าตัวเองเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด เก่งที่สุด มองเห็นปัญหาได้ทะลุที่สุด เช่นที่ฮิตเลอร์บอกว่า I alone can solve it หรือ I am your voice ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าเป็นวิธีพูดแบบเดียวกับเผด็จการอื่นๆ ทั่วโลก
เมื่อเกิดศรัทธาผิดๆ (Misplaced Faith) ในตัวผู้นำเผด็จการขึ้นมาได้แล้ว ความเชื่อแบบนี้จะผลักดันให้ผู้ศรัทธา (หรือ The People) เกิดสิ่งที่ผมแอบแปลว่า ‘ความคิดพันลึก’ (แปลมาจาก Magical Thinking ของเคล็มเพอเรอร์) ขึ้น คือเป็นความเชื่อที่ไม่ได้วางอยู่บนความเป็นจริง แต่วางตัวอยู่บนคำพูดของผู้นำเผด็จการนั้นๆ ข้อที่ชวนสังเกตก็คือ เผด็จการจะชอบ ‘สัญญา’ ในสิ่งที่เห็นได้ชัดว่าเป็นไปได้ยาก เช่น สัญญาว่าจะสร้างกำแพงกั้นประเทศ สัญญาว่าจะลดภาษีให้ทุกคน สัญญาจะทำให้ทุกคนกินดีอยู่ดี สัญญาจะกำจัดความยากจนให้หมดไป สัญญาจะทำให้คนเลิกทะเลาะเบาะแว้งกัน สัญญาว่าจะบ้านเมืองจะต้องสงบเรียบร้อยมีความสุขตลอดกาล ฯลฯ โดยการยอมรับความคิดประเภทที่หาความจริงได้ยากนี้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทำให้ The People ละทิ้งความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล หรือความคิดเชิงวิเคราะห์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทิโมธี สไนเดอร์ (Timothy Snyder) บอกไว้ในหนังสือ On Tyranny ว่า – อาการละทิ้งความจริงแบบที่ปรากฏในยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์ นี่แหละ ที่เรียกว่า Post-Truth,
และ Post-Truth นั้นไม่ใช่อะไรอื่น นอกเสียจาก Pre-Fascism!
2
นั่นเป็นมุมมองของเคล็มเพอเรอร์ ที่วิเคราะห์เผด็จการในด้านของ ‘ภาษา’ แต่ในโลกปัจจุบัน มีเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งที่เร่งปฏิกิริยาเผด็จการให้แรงร้อนยิ่งขึ้น – สิ่งนั้นคือการก่อการร้าย
ผลลัพธ์ร้ายกาจที่สุดของการก่อการร้ายนั้น นอกจากความสูญเสียในด้านชีวิตและทรัพย์สินแล้ว สิ่งที่การก่อการร้ายทิ้งไว้ให้มวลมนุษยชาติโดยหลายคนไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยรู้สึก ก็คือการ ‘เบลอ’ เส้นแบ่งระหว่าง ‘ความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ความเป็นสาธารณะ’
เรื่องนี้เห็นชัดมากในอังกฤษยุค เธเรซ่า เมย์ (ที่จริงก็รวมไปถึงฟิลิปปินส์และที่อื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายด้วย) เพราะการก่อการร้ายอนุญาตให้รัฐสามารถ ‘ละเมิด’ พรมแดนความเป็นส่วนตัวของผู้คนได้มากขึ้น (เช่นเข้าไปสอดส่องในพื้นที่ส่วนตัวออนไลน์ ต้องลงทะเบียนโน่นนั่นนี่ ฯลฯ) ด้วยข้ออ้างว่า นั่นจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น (ซึ่งนั่นก็คือวัตถุประสงค์หนึ่งของการก่อการร้ายนั่นแหละ)
ในเรื่องนี้ ฮันนาห์ อาเรนดท์ (Hannah Arendt) ซึ่งเป็นนักปรัชญาการเมืองชาวยิวที่หนีภัยฮิตเลอร์มาอยู่ในอเมริกา เคยเขียนเอาไว้เนิ่นนานมาแล้วว่า สิ่งที่เผด็จการทำ ไม่ใช่แค่การสร้าง ‘รัฐ’ ที่มีอำนาจเต็ม มีอำนาจเหนือทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น แต่จะเป็นเผด็จการได้ ยังต้องรู้จัก ‘ลบ’ ความแตกต่างระหว่างชีวิตส่วนตัว (Private Life) กับชีวิตสาธารณ์ (Public Life) ออกไปด้วย
คนจำนวนมาก (เช่นในอังกฤษและในอเมริกา) ยอมให้รัฐ ‘เบียด’ พรมแดนดิจิทัลเข้ามาสู่โลกส่วนตัวของตัวเองกันมากขึ้นเพราะหวาดกลัวการก่อการร้าย จริงอยู่ ในระยะแรกคนเหล่านี้ไม่ค่อยอยากจะยินยอมเท่าไหร่ แต่เมื่อการก่อการร้ายเข้มข้นรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รัฐย่อมต้องการควบคุมมากขึ้น ในอีกด้าน ความกลัวก็ทำให้คนค่อยๆ ‘ยอม’ ถูกบีบพรมแดนความเป็นส่วนตัว จนความเป็นส่วนตัวเหลือน้อยลงเรื่อยๆ
เรื่องแบบนี้ไม่ได้เป็นสมการหนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง แต่คือสมการยกกำลัง เพราะยิ่งรัฐเข้ามาควบคุมสอดส่องหรือล่วงรู้ถึงชีวิตส่วนตัวของคนมากเท่าไหร่ คนคนหนึ่งก็จะยิ่งอ่อนแอในฐานะปัจเจกมากขึ้นเท่านั้น และเมื่ออ่อนแอลงในฐานะปัจเจก ก็จะหันหน้าไปค้อมหัวให้รัฐ เป็นผู้จำยอม เป็นผู้สมาทานให้กับอำนาจรัฐ และเกิดกระบวนการทำลายความจริงต่างๆ อย่างที่เคล็มเพอเรอร์ว่าเอาไว้ จนในที่สุด คนเหล่านี้ก็กลายเป็น The People เต็มตัว ซึ่งในเวลาเดียวกันก็เท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐได้กลายร่างเป็นเผด็จการเต็มตัวด้วย ‘มาตรการรักษาความปลอดภัย’ ในแบบต่างๆ – ไปด้วย
ฮันนาห์ อาเรนดท์ ยังบอกด้วยว่า ที่เผด็จการนิยมทำลายเส้นแบ่งระหว่างชีวิตส่วนตัวกับชีวิตสาธารณ์นั้น ไม่ใช่แค่เพราะจะทำให้ปัจเจกไร้เสรีเท่านั้น แต่ยังเป็นการลากดึงสังคมทั้งสังคมออกจากการเมืองปกติ (Normal Politics) เข้าสู่การเมืองที่มีฐานอยู่บนการสร้างทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) โดยจะเป็นทฤษฎีสมคบคิดแบบไหนก็ได้ที่รัฐเผด็จการกำหนด เพื่อสร้างตัวตนในจินตกรรมของสังคมด้วยวิธีสร้างศัตรูร่วม ทฤษฎีสมคบคิดทำให้เกิดจินตนาการเพื่อแยกมิตรแยกศัตรูได้ง่าย สร้างฝ่ายดีฝ่ายเลว สร้างผีและพระ สร้างดำและขาวได้ง่าย จึงสร้างอัตลักษณ์ของ The People ได้ง่ายขึ้นด้วย
ยิ่งเมื่อทฤษฎีสมคบคิดมีเชื้อปะทุเป็นการก่อการร้าย ก็ยิ่งง่ายที่จะทำให้ The People ยอมรับแนวคิดที่เผด็จการบ่มเพาะให้ และที่สุด The People ก็จะ ‘พร้อมรบ’ กับฝ่ายก่อการร้าย พร้อมกับยอมแลก ‘เสรีภาพที่แท้จริง’ (Real Freedom) กับ ‘ความมั่นคงปลอดภัยปลอม’ (Fake Security)
พูดได้ว่า – นี่คือสภาวะของเผด็จการขั้นอัลติเมทโดยแท้!
3
ที่น่าสนใจก็คือ แม้จะวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการนาซีเอาไว้มากมาย แต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วิคเตอร์ เคล็มเพอเรอร์ ก็ ‘เลือกข้าง’ ไปอยู่กับคอมมิวนิสม์ในเยอรมนีตะวันออก (ซึ่งก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเผด็จการแบบหนึ่งเหมือนกัน) การตัดสินใจของเคล็มเพอเรอร์นั้นซับซ้อน มีชุดเหตุผลมากมายมารองรับ (รวมทั้งเหตุผลที่ว่า การมาอยู่กับฝั่งนี้จะทำให้เขาเป็นบุคคลสำคัญกว่าด้วย) แต่พอจะสรุปรวมแบบหยาบๆ ได้ว่า เขาเห็นว่าคอมมิวนิสม์นั้นเป็น Lesser Evil คือ ‘เลวน้อยกว่า’ เขาได้กลายเป็น The People อีกแบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงยุคที่สตาลินเรืองอำนาจ (เหนือเยอรมนีตะวันออกด้วย) เคล็มเพอเรอร์ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนทางการเมือง เขาถูกมองว่าเป็นพวกปัญญาชน เป็นกระฎุมพี (Bourgeois) หรือกระทั่งเป็นพวกคลั่งชาติยิว (Zionist) ความเป็นอยู่ของเขาจึงยากลำบากมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เขา ‘ตาสว่าง’ ขึ้นด้วย ในระยะหลังๆ เขาจึงเริ่มเขียนไดอารี่แบบลับๆ เปรียบเทียบการใช้ภาษาของนาซีกับคอมมิวนิสม์ โดยเรียกเยอรมนีในยุคคอมมิวนิสม์นี้ว่า ‘อาณาจักรไรช์ที่สี่’ เพื่อสะท้อนถึงอาณาจักรไรช์ที่สามของฮิตเลอร์
ในปีสุดท้ายของชีวิต เคล็มเพอเรอร์เขียนบันทึกเอาไว้ว่า
ฉันสูญเสียความเชื่อทั้งปวงที่อาจมี ไม่ว่าจะเชื่อในซ้ายหรือขวา ฉันเพียงแต่มีชีวิตและตายลงในฐานะนักเขียนผู้เดียวดายเท่านั้น
ความสัมพันธ์ของเผด็จการและ The People จึงเป็นเรื่องซับซ้อนและน่าเศร้า – แบบนี้…นี่เอง!