บทความนี้มีการกล่าวถึงเนื้อหาภายในภาพยนตร์
1. เมื่อค่ำวันพุธที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา Olivier Assayas ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ซึ่งคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมประจำเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปีที่แล้ว ได้เดินทางมาร่วมงานฉายภาพยนตร์เรื่อง Personal Shopper รอบปฐมทัศน์ ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ (Alliance Francaise de Bangkok) ด้วยตัวเอง รวมถึงร่วมตอบคำถามก่อนการฉายภาพยนตร์ ถือได้ว่าเป็นเรื่องน่าดีใจสำหรับวงการภาพยนตร์บ้านเราจริงๆ ครับ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู้กำกับระดับโลกเช่นนี้จะเดินทางมายังประเทศเรา
ซึ่ง Personal Shopper ก็กำลังเข้าฉายอยู่ตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ ในตอนนี้ครับ หากว่าใครที่ดู Guardian of Galaxy Vol. 2 ไปแล้ว หรืออยากเปลี่ยนอารมณ์จากหนังซูเปอร์ฮีโร่มาร์เวล มาลองหนังฝรั่งเศสนิ่งๆ หลอนๆ Personal Shopper ตัวเลือกที่ผมขอเชียร์ให้ได้ลองไปสัมผัสกันดูครับ
2. หนังเล่าเรื่องของ Maureen (Kristen Stewart) หญิงสาวที่ทำงานเป็น personal shopper (หรือนักซื้อของประจำตัว ซึ่งจะคอยเป็นธุระในการจัดซื้อเสื้อผ้าหรือของใช้ให้กับเหล่าคนดังที่ไม่มีเวลาช็อปของเหล่านั้นด้วยตัวเอง) ในกรุงปารีส หลายเดือนก่อนหน้าในมหานครแห่งนี้ พี่ชายฝาแฝดของเธอเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และเพราะการจากไปอย่างกระทันหัน มอรีนคล้ายจะตกอยู่ในอารมณ์หม่นเศร้า หากด้วยทั้งสองเคยให้สัญญากันไว้ว่า ถ้าใครตายจากกันไปก่อน จะต้องส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่รู้ถึงการมีอยู่ของเขาในภาควิญญาณ ซึ่งเพราะเชื่อว่าพี่ชายของตนจะส่งสัญญาณบางอย่างมาถึงเธอ มอรีนจึงไม่ยอมไปจากกรุงปารีส ทั้งยังพาตัวเองไปอยู่ในบ้านซึ่งเชื่อว่าจะสามารถติดต่อกับคนตายได้ โดยที่เธอไม่ได้คาดคิดเลยว่าการกระทำเหล่านี้จะนำภัยคุกคามมาสู่ชีวิตเธอ
3. Personal Shopper คือหนังที่พูดถึงวิญญาณได้อย่างน่าสนใจ ด้วยเพราะตัวมันเองที่แม้จะเป็นหนังตะวันตก แต่กลับเล่าเรื่องราวเหนือธรรมชาติได้ชวนให้นึกถึงหนังฝั่งตะวันออก อย่างหนังญี่ปุ่น หรือกระทั่งหนังไทย จากประเด็นเรื่องการไม่อาจก้าวพ้นความตายของบุคคลอันเป็นที่รักได้สะท้อนภาวะจิตใจอันแหลกสลายอย่างที่เราอาจเคยได้เห็นในหนังผีเอเชีย ที่มักสร้างตัวละครอันเปราะบางขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่สำรวจว่ามนุษย์รับมือกับความสูญเสียอย่างไร
เช่นเดียวกับตัวมอรีนในหนังเรื่องนี้ ที่เธอเองก็ยังจมปลักอยู่กับความตายของพี่ชาย และพยายามแสวงหาทุกวิถีทางที่จะสื่อสารกับวิญญาณของเขา และด้วยความเชื่อที่ว่าวิญญาณจะส่งสัญลักษณ์บางอย่างมาถึงผู้ที่ยังมีชีวิต ทำให้มอรีนจึงได้เพ่งพินิจทุกสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นในบ้านร้างซึ่งเธอเชื่อว่าจะช่วยให้ติดต่อกับคนตายได้ ปรากฏการณ์อย่างเช่น น้ำไหลเอง เฟอร์นิเจอร์เคลื่อนที่ได้ หรือไฟติดๆ ดับๆ จึงถูกมอรีนเชื่อมโยงว่าเป็นสัญญาณจากพี่ชายของเธอหมด
การพยายามเชื่อมโยงปรากฏการณ์ต่างๆ กับบุคคลที่รักนี่เองที่เป็นธีมหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ นั่นคือ เมื่อเราสูญเสียคนที่รักไป และเชื่อว่าวิญญาณเขาจะยังอยู่กับเรา คอยวนเวียนมาหาเราเหมือนตอนที่เขายังมีชีวิต เราอาจได้กลิ่นแชมพูขึ้นมาในสักวันและเชื่อไปว่าเขามาหา เราอาจได้กลิ่นบุหรี่ที่เขาชอบสูบและคิดว่าเขาอาจอยู่ใกล้ๆ แต่ด้วยเรายังไม่อาจรู้ว่าโลกหลังความตายมีจริงไหม หรือถ้ามีจริงแล้วมันเป็นอย่างไร ความคิดต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเพียงสมมติฐานที่เกิดจากผู้ที่ยังมีชีวิตเท่านั้น กล่าวคือ เรายังมองโลกความตายด้วยความเชื่อที่ว่าคนเป็นยังถือสิทธิเหนือกว่าวิญญาณในการจะส่ง-รับสารจากโลกหนึ่งสู่อีกโลก รวมถึงสิทธิในการตีความสัญญะต่างๆ ที่วิญญาณเป็นผู้ส่งมาให้
4. Personal Shopper จึงตั้งคำถามต่อคนดูว่า แล้วถ้าโลกหลังความตายมันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดล่ะ ถ้าการสื่อสารระหว่างคนเป็นกับคนตายไม่ได้ถูกกำกับอยู่บนกฏที่ว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งถาม ฝ่ายหนึ่งก็ต้องตอบ หรืออย่างในเกมผีถ้วยแก้วที่ให้เลือกตอบแค่ว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ เพราะในเมื่อครั้งหนึ่งวิญญาณเองก็เคยเป็นมนุษย์ มันจึงเท่ากับว่า วิญญาณเองก็มีสิทธิที่จะพูดจริงหรือโกหกตามใจปรารถนา รวมถึงการปักใจเชื่อของคนเป็น ที่ว่าเราสามารถเรียกวิญญาณของคนรักมาได้ โดยละเลยความเป็นไปได้ที่ว่าอาจมีวิญญาณตนอื่นๆ เข้ามาขัดขวางในกระบวนการนี้ สวมรอย หรือเสแสร้งส่งสัญญาณผิดๆ ออกไป Personal Shopper ท้าทายความคิดเหล่านั้นด้วยการแสดงให้เห็นว่าการตีความทางสัญญะเองก็ผิดเพี้ยนกันได้ (misinterpretation) รวมถึงการที่มนุษย์เองก็ไม่มีสิทธิที่จะไปควบคุม หรือจำกัดการแสดงออกของคนตายให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบในการสื่อสาร เช่น การคุยผ่านเกมผีถ้วยแก้ว หรือกระดานวีจาร์ ที่สะท้อนถึงความต้องการจะควบคุมให้วิญญาณสามารถสื่อสารได้แค่บนกระดาน และผ่านกลุ่มตัวอักษรที่ถูกกำหนดไว้แล้วเท่านั้น
กล่าวได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเปิดเปลือยสภาวะอันสิ้นไร้ไม้ตอกของคนเป็น ที่ไม่อาจหลุดพ้นความโศกเศร้าจากความตายได้ และด้วยความพยายามที่จะเหนี่ยวรั้ง และดึงดันที่จะสื่อสารกับวิญญาณด้วยการสร้างอุปกรณ์บางอย่างที่จะควบคุมพวกเขาเอาไว้ ทว่าท้ายที่สุด Personal Shopper ก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวต่อความพยายามที่จะเชื่อมโยง ตีความ และควบคุมทุกอย่างนี้ของมนุษย์
5. อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือการที่มันเสนอว่าวิญญาณไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับสถานที่ หรือสิ่งของ เราอาจเคยได้ยินเรื่องวิญญาณติดที่ หรือผีที่สิงอยู่กับวัตถุ แต่ Personal Shopper เสนอว่า เป็นตัวบุคคลต่างหากที่วิญญาณจะเกาะเกี่ยวอยู่ด้วย โลกหลังความตายไม่มีขอบข่าย หรือ Boundary ที่จะคอยกีดกั้นไม่ให้วิญญาณไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ พวกเขาสามารถจะไปได้ในทุกที่ ไม้เว้นแม้แต่ในประเทศอื่น ซึ่งด้วยไอเดียนี้เองที่หนังแสดงให้เราเห็นถึงโครงสร้างของโลกวิญญาณที่ไม่ต่างอะไรกับโลกมนุษย์นัก
และการเปลี่ยนสถานะจากมนุษย์ไปสู่วิญญาณก็ไม่ได้ถือเป็นการลดทอนคุณค่าลงแต่อย่างใด พวกเขาเพียงแค่เปลี่ยนจากสสารหนึ่ง ไปสู่อีกสสาร เคลื่อนจากโลกหนึ่ง ไปสู่อีกโลกที่ซ้อนทับโลกใบเดิมเอาไว้ หรือพูดอย่างสรุปได้ว่า ความตาย และการสูญเสียร่างมนุษย์ไม่ใช่อะไรที่ผิดหรือน่าทนทุกข์ แต่ที่เราคิดว่ามันน่าทนทุกข์ก็แค่เพราะว่าเราในฐานะมนุษย์ที่ยังมีชีวิตไม่เคยได้รับรู้ความเป็นไปของโลกอีกฝั่งหนึ่งก็เท่านั้น