“I have observed that not the man who hopes when others despair, but the man who despairs when others hope, is admired by a large class of persons as a sage.” – John Stuart Mill
“ผมสังเกตว่า ไม่ใช่คนที่มีความหวังในขณะที่คนอื่นสิ้นหวังหรอก แต่เป็นคนที่สิ้นหวังในขณะที่คนอื่นเขามีความหวังต่างหาก ที่มักได้รับการชื่นชมจากคนรอบข้าง ว่าเป็นปราชญ์” – จอห์น สจ๊วต มิลล์
เออ นั่นสิ ทำไม!?
ถึงโลกจะบอกให้เราคิดบวก บอกให้พยายามเห็นแสงอันสดใสในวันที่มืดมิด แต่ยิ่งโตขึ้นมา ผมก็ยิ่งรู้สึกว่าการคิดบวกไม่ได้เป็นคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับทุกคน และเริ่มยอมรับว่ากับบางคน (อย่างเช่นผม) การที่จะให้คิดบวกตลอดเวลานั้น ช่างยากเย็น เป็นเรื่องที่แทบทำไม่ได้
เมื่อเจอสถานการณ์ใดๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่ผมจะต้องจำลองเหตุการณ์ร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นไว้ในหัวก่อนเสมอๆ พอจะเริ่มงานใหม่ ผมก็อาจต้องจินตนาการไว้ก่อนว่า ถ้างานนั้นจะล้มเหลว จะล้มเหลวได้ด้วยอะไร อย่างไรบ้าง หรือถ้าได้โอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต ผมก็จะไม่ยอมเชื่อจนกว่าโอกาสนั้นจะเกิดขึ้นจริง (เช่น ถ้ามีคนบอกว่าเดี๋ยวจะให้ไปเที่ยวต่างประเทศฟรี ก็จะไม่เชื่อ จนกว่าเท้าจะก้าวขึ้นเครื่องบินนั่นแหละถึงจะคิดว่า อ๋อ ได้ไปจริงๆ แล้ว)
ผมรู้ว่าการคิดลบก็อาจเป็นการทำร้ายหัวใจ แต่ก็รู้ด้วยว่าถ้าเราไม่ ‘คาดสิ่งที่เลวร้ายที่สุด’ ไว้ล่วงหน้า เราก็อาจจะเจ็บกว่าเมื่อเหตุการณ์นั้นพลิกผันออกมาเป็นร้ายจริงๆ
การคิดลบยังเป็นเรื่องชวนฉงนอีกหลายประการ เช่น ทำไมบางคนอาจคิดว่าคนคิดลบดูฉลาดกว่าคนคิดบวก (อย่างโควตของจอห์น สจ๊วต มิลล์ ข้างต้นนั่นแหละครับ, แต่ ’ดูฉลาด’ ไม่ได้หมายความว่าฉลาดจริงนะ) การคิดบวกหรือการคิดลบส่งผลให้อายุยืนกว่ากัน และที่สำคัญที่สุด คือ (ถ้าคิดบวกไม่ได้แล้ว…) เราจะคิดลบแบบไหน ให้ไม่เป็นการทำร้ายตัวเอง?
เราลองมาสำรวจเรื่องลบๆ กัน
คิดลบหรือคิดบวกอายุยืนกว่า
เราอาจคิดโดยปริยายว่าคนคิดลบนั้นน่าจะมีอายุสั้น เพราะดูเหมือนการคิดลบนั้นจะไม่ดีต่อสมองและหัวใจเอาเสียเลย ความคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่าคนคิดบวกนั้นดีต่อใจ ดีต่อสมอง มากกว่าคนคิดลบ เช่น งานวิจัยปี 2004 และ 2008 ที่สำรวจผู้หญิง 70,021 คน ก็พบว่าการคิดบวกนั้นลดความเสี่ยงในการตายจากมะเร็ง โรคหัวใจ หลอดเลือดในสมองและโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจนั้นจะพบความเชื่อมโยงมากเป็นพิเศษ (ดูอ้างอิง Stay Optimistic, Live Longer?)
ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอีกชิ้นในฟินแลนด์ที่ตามศึกษาชายหญิงอายุ 52-76 ปีจำนวน 2,267 คน ให้กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินว่าเป็นคนคิดบวกหรือคิดลบมากเท่าไร แล้ววัดระดับคอเรสตอรอล, ความดันเลือด, ระดับน้ำตาลในเลือดรวมถึงตัวบ่งชี้ทางสุขภาพอื่นๆ มาเทียบกัน เขาศึกษาใช้เวลานานถึง 11 ปี เพื่อพบว่า คนที่คิดลบมากที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง (มีคะแนนคิดลบสูงสุด 25% แรก) นั้นมีความเสี่ยงในการตายจากโรคหัวใจมากกว่าคนคิดลบน้อยที่สุด แต่ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า การคิดบวกไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการตายแต่อย่างใด (ในงานวิจัยนี้)
แต่สองงานวิจัยก็ไม่ได้ให้ข้อสรุปที่แน่นอนเสียทีเดียว เมื่อมีงานวิจัยด้านกลับออกมาว่า เป็นไปได้ไหมว่า จริงๆ แล้วคนคิดลบจะมีอายุยืนยาวกว่า โดยงานวิจัยชิ้นหลังสุดนี้ทำขึ้นในเยอรมนี
นักวิจัยตามศึกษาคนเยอรมันมากกว่า 10,000 คน ให้พวกเขาให้คะแนนความพึงพอใจกับชีวิตจาก 0 ถึง 10 ทั้งความพึงพอใจในปัจจุบัน และความพึงพอใจที่คาดว่าจะมีในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า แล้วก็ตามเช็คหลังจากเวลาผ่านไป 5 ปีจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วระดับความพึงพอใจที่คาดไว้นั้นถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
ที่น่าสนใจคืองานชิ้นนี้แยกข้อมูลระหว่างกลุ่มตัวอย่างอายุน้อยกับอายุมากด้วย พวกเขาพบว่าวัยรุ่นนั้นมีแนวโน้มที่จะประเมินความพึงพอใจในอนาคตของตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง ในทางกลับกัน คนที่อายุมากนั้นก็มักจะประเมินความพึงพอใจในอนาคตต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นกัน
ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้สรุปออกมาว่า สำหรับกลุ่มตัวอย่างอายุ 65 ปีขึ้นไปนั้น สำหรับทุกๆ แต้มที่พวกเขาประเมินความสุขในอนาคตสูงเกินไป จะหมายถึงโอกาสที่จะทุพพลภาพ (disable) มากขึ้น 9.5 เปอร์เซนต์ และมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น 10 เปอร์เซนต์ นั่นคือ ผู้ที่ประเมินอนาคตของตัวเองแย่กว่า (คนคิดลบ มองโลกในแง่ร้าย) โดยเฉลี่ยแล้วจะมีสุขภาพและรายได้ดีกว่าคนที่มองโลกในแง่ดี
นี่ไม่ได้แปลว่าคิดลบแล้วจะทำให้ได้ดีโดยอัตโนมัตินะครับ แต่อาจเป็นไปได้ว่าคิดลบแล้วทำให้มีโอกาสเตรียมตัวมากกว่าด้วย จึงทำให้อนาคตออกมาไม่ได้เลวร้ายมากเท่า
ข้อควรระวัง : งานวิจัยทั้งหมดนี้, เช่นเดียวกับงานวิจัยจำนวนมาก, ไม่ได้พิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผล (casuality) ซึ่งกันและกัน แต่เพียงแสดงความเกี่ยวเนื่อง (correlation) กันเท่านั้น
คิดลบ = ดูฉลาด?
Morgan Housel คอลัมนิสต์จาก Wall Street Journal (ตอนนี้เป็นอดีตคอลัมนิสต์แล้ว) เคยเขียนบทความที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้ โดยเขาสันนิษฐานเหตุผลไว้ 5 ข้อว่า ทำไมคนที่คิดลบ พูดเรื่องลบๆ จะ ‘ดูฉลาด’ กว่าคนที่คิดบวก ถึงแม้บทความของเขาพูดถึงการลงทุนเป็นหลัก โดยเปรียบเทียบนักลงทุนสาย Bull กับสาย Bear แต่ก็สามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจกรณีอื่นๆ ได้เหมือนกัน Morgan Housel ร่ายเหตุผลที่เขาสังเกตไว้ได้ดังนี้
- เป็นไปได้ไหมว่า: การคิดบวกนั้นดูไม่ประสีประสาต่อความเสี่ยง ดังนั้นการคิดลบจึงดูฉลาดกว่าไปโดยปริยาย
- เป็นไปได้ไหมว่า: การคิดลบแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ทุกสิ่งหรอกที่จะดำเนินไปอย่างดีงาม ซึ่งอาจเข้ากับความคิดของคุณพอดี
- เป็นไปได้ไหมว่า: การคิดลบนั้นต้องการ ‘การกระทำบางอย่าง’ ตามมา (เพื่อแก้ไขปัญหา) แต่การคิดบวกนั้นแปลว่าคุณอาจจะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้มันดำเนินไปตามที่เคยเป็นก็ได้
- เป็นไปได้ไหมว่า: คนคิดบวกเวลาพูดแล้วฟังดูเหมือนจะขายอะไรสักอย่าง แต่คนคิดลบฟังดูเหมือนคนที่พยายามจะช่วยคุณ
- และสุดท้าย เป็นไปได้ไหมว่า: คนคิดลบนั้นมักเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไปตัดสินอนาคต โดยที่ไม่ค่อยคิดถึงปัจจัยว่าจริงๆ แล้วโลกนั้นจะปรับตัวได้ดีพอสมควร
จุดยืนของ Morgan Housel คือ เขาคิดว่า เราไม่ควรฟังคนคิดลบเพียงเพราะว่าเขาเป็นคนคิดลบเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วการคิดลบก็มีความเสี่ยงอยู่ (เช่น คนคิดลบจะคิดว่าผลร้ายๆ นั้นคือ ‘จุดสิ้นสุด’ แต่คนคิดบวกกว่าจะรู้ว่าที่สุดแล้วเหตุการณ์ร้ายๆ อาจจะพลิกขึ้นมาเป็นดีก็ได้ หรือคนคิดลบมักจะไปตอกย้ำความเชื่อที่ ‘พยายามเลี่ยงความเสี่ยง’ ของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเขาพูดจริงมากกว่าคนคิดบวก เพราะ Confirmation Bias หรือสุดท้ายคือคนคิดลบสามารถมาพูดทีหลัง (เมื่อเกิดเหตุร้ายๆ ขึ้น) ได้ว่า “เห็นมั้ยล่ะ ชั้นบอกแล้ว!”)
ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า “การคิดบวกและพูดเรื่องบวกๆ นั้นต้องอาศัยความกล้า แต่การคิดลบและพูดเรื่องลบนั้นไม่ต้องอาศัยอะไรเท่าไหร่” – พอมาคิดตอนนี้ก็คิดว่าเขาคงหมายความว่า แน่นอนแหละ ที่เมื่อคุณพูดเรื่องลบๆ แล้วคุณอาจดูฉลาด, ดู ‘Critical’ แต่มันก็เป็นการกระทำที่ง่ายเหลือเกิน เมื่อเทียบกันการพูดเรื่องบวกๆ ต่างหากที่อาจยากเย็นกว่าเพราะคุณต้องไม่กลัวที่จะดู ‘ไม่ประสีประสา’ (naive) ต่อหน้าคนอื่น
จากเหตุผลเหล่านี้เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้คนคิดลบจะ ‘ดู’ ฉลาดกว่า แต่จริงๆ แล้วก็อาจจะไร้เหตุผลได้เท่าๆ กับคนคิดบวก (เกินไป) ได้เหมือนกัน ฉะนั้น หากคุณเป็นคนคิดลบสม่ำเสมอก็ควรจะระวังนิสัยแบบนี้ของตัวเอง และพยายามจำกัดการคิดลบให้มีเหตุมีผล เพื่อให้ได้ผลดี
คิดลบอย่างไรให้เป็นบวก
จากข้อมูลทั้งหมด เราได้เห็นแล้วว่าการคิดลบนั้นอาจส่งผลร้ายทางสุขภาพ และอาจไม่ได้ทำด้วยความมีเหตุผลสมบูรณ์เสียทีเดียว แต่เราจะมีวิธีอย่างไรล่ะ ที่จะพลิกการคิดลบของตัวเองให้กลายมาเป็น ‘การคิดลบเพื่อป้องกัน’ (Defensive Pessimism)
Julie Norem ผู้ทำวิจัยเรื่องกลยุทธการคิดลบเพื่อป้องกันเหตุร้ายให้สัมภาษณ์กับ The Atlantic ในปี 2014 ว่า เราสามารถใช้การคิดลบเพื่อเป็นกลยุทธจัดการความกังวล (anxiety) ได้โดยที่ไม่ทำให้ความกังวลนั้นส่งผลลบต่อชีวิต หากเราคิดลบเพื่อวางแผนไว้ก่อนว่าหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร
เธอยกตัวอย่างการใช้ในชีวิตจริงเช่นการเตรียมตัวเพื่อพูดในที่สาธารณะ คนคิดลบอาจกังวลไปก่อนล่วงหน้าว่าโอ๊ย ถ้าสมมติขึ้นไปพูดแล้วสะดุดล้มจะทำอย่างไรดี หรือถ้าปัดแก้วน้ำหกจะทำยังไง จะตอบคำถามผู้ชมได้ไหมฯลฯ แต่จะให้ดีคือกังวลแล้วต้องวางแผนแก้ปัญหาด้วย เช่น หากกลัวว่าจะสะดุดสายไมโครโฟนล้ม ก็อาจเอาเทปมาแปะกันไว้ก่อน หรือหากกลัวจะตอบคำถามผู้ชมไม่ได้ ก็อาจต้องศึกษาทางหนีทีไล่ไว้ก่อน เมื่อเป็นแบบนี้แล้วเราก็จะเปลี่ยนการคิดลบไปเป็นการเตรียมตัวที่ดีขึ้นได้
Norem ยังบอกด้วยว่าถึงจะคิดลบเพื่อป้องกันก็ตาม ทางที่ดีคืออย่าพูดออกมาดังๆ ให้คนอื่นได้ยิน เพราะนั่นอาจทำให้คนอื่นมองว่าเราไม่เก๋า (competence) พอสำหรับโอกาสที่ได้รับ สิ่งที่ควรทำคือให้คิดเตรียมตัวภายใน และพยายามจัดการการคิดลบไม่ให้สาหัสเกินไปจนแบกรับไม่ไหว แต่ให้แบ่งย่อยมันออกมาเป็นข้อๆ เป็นขั้นตอนที่สามารถจัดการได้จริงๆ
แถม: ลองไปทำแบบทดสอบเพื่อวัดว่าคุณเป็นคนคิดลบเพื่อป้องกันเหตุร้ายแค่ไหน ได้ที่ http://academics.wellesley.edu/Psychology/Norem/Quiz/quiz.html
อ้างอิง / อ่านเพิ่มเติม
Stay Optimistic, Live Longer?
https://www.nytimes.com/2016/12/07/well/mind/stay-optimistic-live-longer.html
Forecasting Life Satisfaction Across Adulthood: Benefits of Seeing a Dark Future?
http://www.apa.org/pubs/journals/releases/pag-28-1-249.pdf
The Intelligence of Pessimism vs. Optimism
http://www.kwbwealth.com/pdfs/2016_3rdQNews_intelligence.pdf
The Upside of Pessimism
https://www.theatlantic.com/health/archive/2014/09/dont-think-positively/379993/