1
คุณรู้จักพีซี (PC) ไหมครับ
ถ้าไม่รู้จัก หรือรู้จักแล้วและอยากรู้จักให้มากขึ้น มาลองฟังเรื่องต่อไปนี้ดูครับ
ราวๆ ปี 2013 ในซีแอตเทิล เมืองที่ร่ำลือกันว่า ‘ก้าวหน้า’ (progressive) ที่สุดแห่งหนึ่งในอเมริกา จู่ๆ ก็มี ‘บันทึกช่วยจำ’ ชิ้นหนึ่ง เวียนไปในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งต่อมาก็ ‘รั่ว’ ออกมาสู่สถานีโทรทัศน์ จนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วอเมริกา
บันทึกช่วยจำนั้นบอกว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ควรใช้คำอยู่สองคำ
คำแรกคือคำว่า Citizen ซึ่งแปลว่าประชาชนพลเมืองธรรมด๊าธรรมดานี่แหละครับ
อีกคำหนึ่งคือคำว่า Brown Bag ซึ่งก็หมายถึงถุงกระดาษสีน้ำตาลที่เวลาเราไปซื้อของจากร้านชำ เขาก็จะเอาของใส่ในถุงแบบนี้มาให้ ซึ่งก็ธรรมด๊าธรรมดาอีกนั่นแหละ
แต่ในสายตาของผู้เขียนบันทึกช่วยจำนี้ มันไม่ ‘ธรรมดา’ น่ะสิครับ
คนเขียนบันทึกช่วยจำนี้คือ เอลเลียต บรอนสไตน์ (Elliott Bronstein) (ต้องขอบคุณระบบเปิดเผยข้อมูลอันโปร่งใสของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้เรารู้ว่าใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรในหน่วยงานรัฐ) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนของเมือง เขาให้เหตุผลที่ไม่อยากให้หน่วยงานของรัฐใช้คำว่า Citizen กับ Brown Bag ว่าทั้งสองคำเป็นคำที่ offensive คืออาจไป ‘ทำร้าย’ คนอื่นได้
ทำร้ายใคร (วะ) หลายคนอาจสงสัยแบบเดียวกับผมเปี๊ยบเลย
คุณเอลเลียตให้เหตุผลอย่างนี้ครับว่า ในซีแอตเทิลนั้น มันมีคนที่เป็น Seattlelites หรือคนที่มาอาศัยอยู่ในซีแอตเทิลเยอะแยะมากมายเลยทีเดียวที่ไม่ได้เป็น Citizen ของสหรัฐอเมริกา (เช่นคนที่ได้กรีนการ์ด แต่ยังไม่ได้เป็น Citizen หรือคนแคนาดา) ดังนั้นเวลาจะออกประกาศอะไรทีนึงแล้วใช้คำว่า Citizen ก็อาจทำให้คนรู้สึกได้ว่าถูกกีดกันออกไป เขาจึงบอกว่าควรใช้คำว่า Resident แทน
อ้าว! แล้ว Brown Bag ล่ะครับคุณพี่เอลเลียต?
คำว่า Brown Bag นี่ ถ้าจะให้เข้าใจจริงๆ ถึงกับต้องย้อนเกร็ดประวัติศาสตร์กันเลยทีเดียวครับ เพราะในยุคโน้นๆๆ เมื่ออเมริกายังมีนโยบายแบ่งแยกสีผิวกันอยู่ (เรียกว่า Racial Segregation) คนดำจะเข้าไปในบางสถานที่ไม่ได้ (เช่น สระว่ายน้ำสำหรับคนขาว ฯลฯ) แต่ทีนี้ดันมีคนบางคนที่อยู่ ‘กลางๆ’ คือจะดำก็ไม่ดำ จะขาวก็ไม่ขาว (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพ่อที่เป็นคนขาวกับแม่ที่เป็นคนดำ
ส่วนแม่ที่เป็นคนขาวกับพ่อคนดำนี่หายาก) คือผิวเป็นสีน้ำตาลๆ เวลาจะเข้าไปในบางสถานที่ ก็จะต้องมา ‘วัดสีผิว’ กันเสียก่อน แบบเดียวกับที่เรามักจะเห็นโฆษณาเครื่องสำอางผิวขาวปัจจุบันทำกันนั่นแหละครับ คือเอา ‘แถบสี’ มาวัดผิวเพื่อดูว่าขาวขึ้นได้ในเจ็ดวันจริงหรือเปล่า แต่สมัยก่อนไม่มีแถบสีพวกนี้ เขาก็เลยใช้ ‘ถุงกระดาษ’ ที่เรียกว่า Brown Bag นี่แหละ มาวัดสีผิวของคนดู คือถ้าดำกว่าสีถุง ก็แปลว่าดำ-เข้าไม่ได้
คุณเอลเลียตบอกว่า ในซีแอตเทิล คำว่า Brown Bag เป็นสแลง หมายถึงอาหารกลางวัน เพราะคนจะห่อกล่องอาหารใส่ถุงแบบนี้ไปกินกัน เขาเลยเสนอว่าให้เปลี่ยนไปใช้คำว่า Lunch-and-Learn หรือไม่ก็คำว่า Sack Lunch แทนคำว่า Brown Bag ซึ่งเป็นคำที่ ‘โลกสวย’ กว่ากันเยอะเลย
ฟังแล้วคุณอาจบอกว่า โอ๊ย! บ้าบอสิ้นดี ซึ่งก็ไม่น่าแปลกหรอกนะครับ ที่คนอเมริกันจำนวนมากจะรู้สึกแบบเดียวกันนี้ด้วย
แต่ที่สำคัญ เรื่อง ‘ทำนองนี้’ ไม่ได้มีอยู่เรื่องเดียว ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอเมริกาจนท่วมประเทศ
มันคือเรื่องที่เรียกกันว่า Political Correctness (หรือเรียกย่อๆ ว่า PC) ซึ่งเป็นศัพท์ที่ใช้อธิบายภาษา นโยบาย หรือมาตรการที่พยายาม ‘หลีกเลี่ยง’ การไป offend หรือไปทำร้ายคนที่ถือว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งพอพูดแบบนี้ PC ก็ฟังดูดีใช่ไหมครับ แต่ประเด็นก็คือ พอคนบ้าคลั่ง PC กันเกินไป นโยบายหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับ PC ก็เลยมีความประหลาดๆ อยู่หลายอย่าง เรื่องการใช้คำว่า Citizen กับ Brown Bag เป็นแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ เท่านั้นเองที่ทำให้คนเกิดความไม่พอใจใน PC ขึ้นมา
และความไม่พอใจในขบวนการ PC นี่แหละครับ คือส่วนสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้สาทุบุนคุณพ่อโดนัลด์ ทรัมป์ เกิดเรืองอำนาจขึ้นมาได้!
2
คุณรำคาญ PC ไหมครับ?
มอยรา วิเกล (Moira Weigel) จาก The Guardian บอกว่าบทความที่ทำให้ PC เป็นที่รู้จักแพร่หลาย คืองานเขียนของริชาร์ด เบิร์นสไตน์ (Richard Bernstein) ชื่อ The Rising Hegemony of the Politically Correct ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดยเขาเริ่มเห็นว่า PC จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
แม้คนอเมริกันจะเริ่มรู้จัก PC ในยุคเก้าศูนย์ ทว่าคำนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดนะครับ หลายคนสืบสาวราวเรื่องย้อนกลับไปถึงยุคสตาลินและเหมาเจ๋อตุงด้วยซ้ำ เพราะในยุคนั้น สตาลินและเหมาได้กำหนดสิ่งที่ ‘ถูกต้อง’ (Correct) ในทางการเมือง (แบบคอมมิวนิสต์) เอาไว้หลายอย่าง-เพื่อเป็นข้อปฏิบัติในพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็น Political Correctness ดีๆ นี่เอง
อย่างไรก็ตาม PC แบบยุคใหม่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสตาลินมากนัก (ถ้าจะเกี่ยวก็เกี่ยวกับเหมามากกว่า แต่ขอไม่พูดถึงในที่นี้ให้ยืดยาวเกินเหตุก็แล้วกันนะครับ) แต่ PC ยุคใหม่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อต่อกรกับสิ่งที่เรียกว่า Microaggression หรือการเบียดขับข่มเหงคนที่ถือว่าเป็น ‘กลุ่มน้อย’ ทั้งหลายในสังคม โดยในระยะแรกเป็นการต่อกรกับการเหยียดสีผิวก่อน ตามมาด้วยการเหยียดเพศ เหยียดศาสนา หรือเหยียดคนกลุ่มน้อยอื่นๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ Microaggression มีรากคือ discriminationism หรือการ ‘เลือกปฏิบัติ’ กับคนอื่นด้วยเรื่องเพศและผิว เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดการต่อสู้ต่อรองขึ้นมา โดยขบวนการ PC จะคอยมากำหนดว่าเรื่องนี้พูดได้ทำได้ เรื่องนี้พูดไม่ได้ทำไม่ได้ ซึ่งแม้ในช่วงแรกจะเป็นเรื่องจริงจัง แต่นับตั้งแต่ยุคแปดศูนย์เก้าศูนย์เป็นต้นมา แม้ในหมู่คนที่เป็น ‘ซ้าย’ เอง ก็เริ่มเห็นว่า PC นั้นเป็นสิ่งที่มีปัญหาหลายอย่างอยู่ในตัวของมันเองกันแล้ว
เป็นปัญหายังไงน่ะหรือครับ
นิวส์วีคเคย ‘ตอบ’ เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี 1990 แล้ว ว่าไอ้เจ้า PC นี่ มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Thought Police หรือ ‘ตำรวจทางความคิด’ ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือต้องใช้ politically correct way หรือวิธีที่ ‘ถูกต้องทางการเมือง’ ในการเอ่ยถึงเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติ เพศ และความคิดต่างๆ คำถามที่นิวส์วีคตั้งเอาไว้ก็คือ PC เป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเกิดการบรรลุรู้แจ้งครั้งใหม่ (New Enlightenment) คือเกิดความเข้าอกเข้าใจในคนด้อยโอกาสในสังคมที่ถูกเบียดขับทั้งหลาย หรือว่าเอาเข้าจริงแล้วมันจะเป็นได้แค่ ‘ลัทธิแมคคาร์ธีใหม่’ (New McCarthyism) (McCarthyism คือลัทธิตรวจจับและกล่าวหาคนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงปี 1950) กันแน่
อย่างที่บอกนะครับ ว่า PC ถือกำเนิดมาเพื่อเป็น ‘เสียง’ ให้คนที่ถูกเบียดขับ PC จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายอเมริกัน (American Leftists) ใช้กันเยอะ ในตอนแรกก็ใช้แบบจริงจัง แต่ในราวยุคแปดศูนย์เก้าศูนย์เป็นต้นมา เมื่อเห็นปัญหา วลี PC นี้เลยถูกใช้ในฐานะการล้อเลียนเสียดสีความเคร่งครัดใน PC ของฝ่ายซ้ายด้วยกันเองมากกว่า โดยเฉพาะใช้ในการเสียดสีอุดมการณ์เฟมินิสต์แบบสุดขั้ว (Radical Feminism) ในยุคที่อุดมการณ์นี้กำลังเฟื่องฟู แล้วมีการออกมาบอกว่า เรื่องน้ันเรื่องนี้ที่เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ถูกต้องทางการเมือง’ พูดไม่ได้
ทุกวันนี้ หลายคนอาจจะรำคาญคำว่า PC (ซึ่งตลกดี ที่มีทั้งคนที่เป็นซ้ายหรือเป็นขวา) และหลายคนอาจคิดว่าความรำคาญ PC เป็นเรื่องสมัยใหม่ แต่รู้ไหมครับว่าความ ‘รำคาญ’ PC นั้นมีมาตั้งแต่ยุคแปดศูนย์แล้ว โดยคนกลุ่มแรกที่ออกมาต่อต้าน PC แบบเฟมินิสต์สุดขั้วไม่ใช่ใครอื่นไกลนะครับ แต่คือเฟมินิสต์ด้วยกันเองนี่แหละ แต่เป็นกลุ่มเฟมินิสต์ที่เรียกตัวเองว่า Lesbian Sex Mafia (ดูชื่อสิ-มันโคตรจะไม่ PC เลย!) โดยกลุ่มนี้ตั้งขึ้นพร้อมปรัชญาง่ายๆ ประมาณว่า โอ๊ย! พวกมึงจะ PC อะไรกันนักกันหนา กูจะมีเซ็กซ์ กูจะเอากัน!
เลสเบี้ยนเซ็กซ์มาเฟีย จึงถือเป็น ‘ขบวนการ’ anti-PC กลุ่มแรกในประวัติศาสตร์!
อย่างไรก็ตาม ขบวนการ PC ก็ยังเติบโตเฟื่องฟู โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่ ‘ฝ่ายขวา’ คนแรกที่ออกมาต่อต้าน PC อย่างจริงจัง เพราะในปี 1991 จอร์จ บุช (ผู้พ่อ) เคยออกปากต่อต้าน PC มาก่อนแล้ว โดยเอาเข้าจริง เขาคิดคล้ายๆ กลุ่มเลสเบี้ยนเซ็กซ์มาเฟียที่เห็นปัญหาและเสียดสี PC นั่นแหละ โดยบุชเคยบอกว่า แนวคิดเรื่อง PC นั้น จริงๆ แล้วมันขัดแย้งกับหลักการ Free Speech ซึ่งเป็นหลักใหญ่หลักสำคัญของประชาธิปไตยอเมริกัน แต่บุชก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น
พอถึงช่วงต้นยุค 2000s การถกเถียงเรื่อง PC เริ่มจางหายไป ยิ่งพอเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นมา คนก็ไปโฟกัสเรื่องการก่อการร้ายและความมั่นคงของชาติมากกว่า มีคนพูดขำๆ ว่า พอมี Macroaggression ที่ต้องเผชิญหน้า เลยพลอยทำให้ Microaggression จางหายไป
แต่แล้วพอถึงปลายสมัยของโอบามา การถกเถียงเรื่อง PC ก็กลับมาใหม่!
ที่จริง PC ในยุคใหม่หลังมิลเลนเนียมนี่ค่อยๆ ก่อตัวมาเรื่อยๆ นะครับ แต่ว่ามากันแบบเล็กๆ น้อยๆ เช่นว่ามีบางรัฐออกกฎหมายห้ามใส่หน้ากากโอบามา หรือบางสถานศึกษาก็ห้ามคนขาวใส่หน้ากากคนดำ (รวมไปถึงเรื่อง Citizen กับ Brown Bag ที่เล่าให้ฟังตอนต้นด้วย) โดย ‘ธงรบ’ กับพวก PC ที่เห็นเด่นชัดที่สุด น่าจะเป็นบทความของโจนาธาน เชต (Jonathan Chait) ในนิวยอร์คแมกกาซีน ชื่อ Not a Very PC Thing to Say ซึ่งออกมา ‘เตือน’ ถึงอันตรายของ PC ที่กำลังลุกลามใหญ่โต ต่อมา โจนาธาน เฮทต์ (Jonathan Haidt) นักเขียนคนโปรดคนหนึ่งของผมก็ออกมาเขียนงานต่อต้าน PC ด้วย
แต่การต่อต้าน PC มาพีคสุดๆ ก็ที่สาทุบุนคุณพ่อทรัมป์ของเรานี่แหละครับ เพราะทรัมป์ไม่ได้แค่ออกมาบอกว่าตัวเองต่อต้าน PC เท่านั้น แต่ยัง ‘ทำลาย’ PC ด้วยการกระทำตรงไปตรงมากันเลยทีเดียว อันนี้เป็นเรื่องที่นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าทำให้ทรัมป์ต่างจากบุช (ผู้พ่อ) เพราะบุชแค่ ‘บอกให้รู้’ ถึงหลักการ แต่ทรัมป์ ‘แสดงให้เห็น’ กันอย่างกระจะตาเลยทีเดียว
ทรัมป์บอกว่า ฮิลลารี คลินตัน นั้น ใช้ PC ในแบบที่เหนือสามัญสำนึก เพราะทั้งเธอและโอบามาเอา PC มาวางไว้เหนือความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนอเมริกัน (โดยเฉพาะในเรื่องผู้อพยพ) ทรัมป์เชื่อแบบเดียวกับโรเจอร์ คิมบอล (Roger Kimball) ที่เป็นบรรณาธิการของวารสาร The New Criterion อันเป็นวารสารฝ่ายขวา ว่า PC คือเครื่องมือของคนที่ควรถูกเรียกว่า Liberal Fascist คือลุ่มหลงในเสรีนิยมจนเรียกได้ว่าเป็นฟาสซิสต์
(โอ๊ย! ซับซ้อน!)
โดยวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ไม่เอาและต้องการ ‘ทำลาย’ พีซี ก็คือการพูดจาในสิ่งที่ไม่ PC (แบบสุดขั้ว) ทั้งหลาย ซึ่งหลายเรื่องก็ทำให้คนไม่พอใจ นักข่าวจากฟอกซ์เคยถามเขาว่า เขาเคย ‘ด่า’ ผู้หญิงไว้ต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเปรียบเปรยผู้หญิง fat pigs, dogs, slobs หรือ disgusting animals ซึ่งทรัมป์ก็ตอบโต้ทันทีว่า เขาคิดว่าปัญหาใหญ่ในประเทศนี้คือ PC และเขาต้องการท้าทายคนในเรื่องนี้ด้วยคำพูดทำนองนี้
วิธีคิดแบบน้ีของทรัมป์เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่จุดประกายให้กับกลุ่ม anti-PC แบบสุดขั้วเอ็กซ์ตรีม อย่างกลุ่ม Ku Klux Klan หรือ KKK ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอุดมการณ์แบบคนขาวเป็นใหญ่ คือเชื่อว่าอเมริกาเป็นรัฐที่เกิดขึ้นมาเป็น White Christian Republic ดังนั้นการจะทำให้อเมริกายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งอย่างที่ทรัมป์สัญญา ก็คือการ ‘ชำระล้าง’ อเมริกาให้สะอาด คือเป็น ‘ขาว’ และเป็น ‘คริสต์’
3
คุณเซ็งกับ PC ไหมครับ?
สำหรับขวาอนุรักษ์นิยม PC อาจคือสิ่งที่น่ารังเกียจต้องกำจัด / สำหรับซ้ายหัวก้าวหน้า PC อาจคือสิ่งน่ารำคาญที่ไม่ควรให้คุณค่า
ทว่าแม้บางคนอาจคิดแบบเดียวกับกลุ่มเลสเบี้ยนเซ็กซ์มาเฟีย คือรู้สึกว่า PC ที่มากเกินไปนั้นเป็นปัญหา น่ารำคาญ และ ‘บ้าบอคอแตก’ อย่างที่สุด แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจรู้สึกด้วยว่า การพยายาม ‘ทำลาย’ PC อย่างที่ทรัมป์ทำก็ไม่ใช่ทางออก เพราะมันไปจุดประกายความรุนแรงให้กับกลุ่ม extremists (อย่างเช่น KKK) ซึ่งจะก่อปัญหาเกิดต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด
ถ้ามองเผินๆ แค่ว่า PC เป็นปัญหาทั้งกับกลุ่มซ้ายหัวก้าวหน้าและกลุ่มขวาอนุรักษ์นิยม เราก็ควรกำจัดหรือยกเลิก PC ไปเสียให้หมด แต่หลายคนก็ตั้งคำถามย้อนกลับกับขบวนการ anti-PC ด้วยว่า การพยายามจะต่อต้าน PC อย่างเคร่งครัด แท้จริงก็คือความพยายามที่จะ Correct ในเชิงการเมืองด้านกลับด้วยไม่ใช่หรือ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น anti-PC ก็จะไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจาก PC ในอีกด้านหนึ่ง
และนั่นย่อมแปลว่า มนุษย์เราย่อมไม่มีวันกำจัด PC ออกไปได้อย่างหมดจดสิ้นเชิง เพราะมันคือส่วนหนึ่งของการสะท้อนโต้ตอบไปมาระหว่างอุดมการณ์และความเป็นมนุษย์!
คำถามที่สำคัญกว่าก็คือ ในสังคมที่ซับซ้อน หลากหลาย เปลี่ยนแปลงลื่นไหล และต้องการความอดทนอดกลั้นระหว่างกันอย่างโลกปัจจุบันนี้ เราจะสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้เกิดขึ้นเต็มที่ได้อย่างไร และเราจะมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไรเพื่อให้พออยู่ร่วมกันได้
เป้าหมายของ PC ในเบื้องแรก คือการเป็น ‘เครื่องมือ’ สำหรับสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า Civility ซึ่งหมายถึงความราบรื่นในความเป็น ‘พลเมือง’ (Civil) ที่อยู่ร่วมกัน แต่เมื่อ PC ซับซ้อนขึ้น ขบวนการ PC ที่ ‘ล้นเกิน’ ก็ได้สร้าง ‘พิษ’ บางอย่างขึ้นปนเปื้อน จน PC ไม่อาจทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมและลงตัวกับหลักการ Free Speech ได้ PC กลายเป็น ‘ผีพีซี’ ที่ทำให้สังคมอเมริกันต้อง ‘ตกหล่ม’ และเสียเวลาของประเทศไปกับการถกเถียงกันเรื่องนี้ (ไม่ว่าจะจากมุมของฝ่ายไหน) และเป็น ‘ผีพีซี’ นี้เอง ที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลายร่างมาเป็นสาทุบุนคุณพ่อของชาวอเมริกันทั้งปวง-ในนามของประธานาธิบดี