การเมืองของอารมณ์ความรู้สึก (politics of emotions) เป็นแขนงหนึ่งของการพยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมร่วมของมนุษย์มานานนับพันปีแล้ว ความรัก ความเศร้า ความโกรธ ความกลัว ความขี้เกียจ ความสุข (pleasure) ความหวัง รวมถึงความสิ้นหวัง (hopelessness) เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำอีก
มีข้อเสนอสารพัดสารพันมากมายว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในฐานะมนุษย์ ทั้งยังส่งผลอย่างมหาศาลต่อการตัดสินหรือการเลือกทำหรือไม่ทำพฤติกรรมหนึ่งๆ ของเรา และอารมณ์ความรู้สึกเองยังทั้งท้าทายและเติมเต็มการทำความเข้าใจมนุษย์ที่มีฐานคิดว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล (rational being) ด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกนั้นปฏิเสธความเป็นเหตุเป็นผลแบบอรรถประโยชน์นิยม แต่พร้อมๆ กันไปมันก็เป็นเหตุผลอันสัมบูรณ์ในตัวมันเองที่ไม่ต้องการมูลเหตุหรือผลลัพธ์อื่นใดมารับรองเพิ่มเติมด้วย
สมมุติว่า นาย A ทุ่มเทเอาเงินทองที่เขาเก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต ประเคนให้นางสาว B แล้วก็ถูกนางสาว B ทิ้งไป แล้วนาย A บอกว่าเขาทำเช่นนั้นเพราะความรัก มันจึงทั้งไม่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นเหตุเป็นผลอย่างยิ่งไปพร้อมๆ กัน หากนาย A เป็นเพื่อนเรา เราอาจจะด่ามันว่า “ไอ้โง่” ได้ เพราะเราอาจจะรู้สึกว่าที่เขาทำไปนั้นช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย แต่เราในฐานะเพื่อนนาย A อาจจะ ‘เข้าอกเข้าใจ’ ในทันทีจากคำตอบเดียวกันนี้ก็ได้ หากเรามองอารมณ์ความรู้สึกในฐานะเหตุผลที่สัมบูรณ์โดยตัวมันเอง (ผมขอยังไม่ไล่ไปถึงคำอธิบายแบบหลังโครงสร้างนิยมที่อธิบายว่าความรู้สึกอะไรใดๆ ก็เป็นเพียงแค่ผลพวงของ ‘โครงสร้าง’ ที่ทำให้เราเข้าใจไปเองว่าพึงรู้สึกแบบนั้นไว้ก่อนนะครับ)
ความสิ้นหวังก็เช่นเดียวกันครับ งานศึกษาเกี่ยวกับความสิ้นหวังนั้นแม้จะมีหลากหลาย แต่ผมคิดว่าแบ่งได้หลักๆ เป็นสองกลุ่มคือ งานศึกษาจากแง่มุมแบบปัจเจก กับการศึกษาจากแง่มุมแบบสังคมภาพรวมที่มองประชากรแบบเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้แยกขาดจากกันแต่อย่างใด ผมเพียงแต่แยกโดยหยาบๆ เพื่อให้พอเห็นภาพ
งานที่ศึกษาจากมุมแบบปัจเจกนั้น โดยมากแล้วจะพอเห็นได้จากการศึกษางานทางสายจิตวิทยาหรือกลุ่มจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) มีทั้งที่ศึกษาในแง่ของอาการที่เชื่อมโยงกับความซึมเศร้า (depression) หรือที่ศึกษาอารมณ์สิ้นหวังของปัจเจกเพื่อไปทำความเข้าใจภาพของสังคมใหญ่อีกทีหนึ่ง อย่างงานของ Samuel Long (1978) ที่ชื่อ Political Hopelessness: A New Dimension of Systematic Disaffection ศึกษาอาการสิ้นหวังของกลุ่มตัวอย่างเป็นรายบุคคล (ปัจเจก) ไป โดยมีกลุ่มประชากรจากที่มาต่างกัน แต่มีปัจจัยพื้นฐานร่วมกันคือ เคยศึกษาวิชาวิชาการเมืองพื้นฐานมาก่อน โดยการศึกษาความสิ้นหวังแบบรายปัจเจกของเธอพบว่า การไม่เห็นความหวังทางการเมืองมีผลอย่างเป็นระบบต่อปัจเจกของแต่ละคนในการอยู่ในห้วงอารมณ์นี้จริงๆ เป็นต้น
ส่วนการศึกษาอีกแบบนั้นก็คือการพยายามอธิบายประชากรแบบเป็นกลุ่มก้อนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการศึกษาในกลุ่มสังคมศาสตร์ ปรัชญา หรือทฤษฎีทางรัฐศาสตร์มากกว่าสักหน่อย อย่างไรก็ดีอารมณ์กับเวลานั้นมีความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันมาก (time-correlated) อย่างอารมณ์โกรธมักสัมพันธ์กับเรื่องราวในปัจจุบันหรืออดีตเสียเป็นส่วนใหญ่ทำนองเดียวกับความรัก
ในขณะที่ความหวังและความสิ้นหวังนั้นมักจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับอนาคต เพราะความหวังโดยตัวมันเองถือเป็น ‘การคาดคะเนต่ออนาคต’ (projection of the future) แบบหนึ่ง แต่เป็นอนาคตที่ไม่ได้ตัดขาดจากความเป็นไปในปัจจุบัน อย่างแฟนตาซีหรือการมโนใดๆ ตรงกันข้าม มันคือการคะเนอนาคตที่สัมพันธ์โดยตรงกับปัจจุบัน และเมื่อมันเป็นการคะเน (projection/speculation) แบบสัมพันธ์กับเวลาในปัจจุบัน เราจึงกล่าวได้อีกอย่างว่า ‘ความหวัง/ความสิ้นหวัง’ นั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่วางฐานอยู่บนตรรกะวิธีคิดแบบที่เป็นเหตุเป็นผลในนิยามแบบ causal-effect หรือเหตุนำไปสู่ผล ตามกระแสคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่สุดด้วย
พูดอีกแบบก็คือ ความหวังและความสิ้นหวังไม่ใช่อารมณ์สุดโต่ง
ในตัวเองอย่างความรัก ความเกลียด
ที่อาจจะมองว่าเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องการเหตุผลรองรับได้
“ฉันรักเขาเหลือเกิน ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม สเป็กรึก็ไม่ใช่ ทำดีกับเราสักนิดก็ไม่มี แต่ก็ยังคิดถึงเค้าทุกวันเวลา บลาๆๆ” หรือ “นายจรูญเกลียดถั่วงอก” เป็นต้น อารมณ์ความรู้สึกลักษณ์นี้ ในทางหนึ่งเราอาจจะพูดได้ว่ามันสมบูรณ์ในตัวมันเอง มันไม่ต้องการที่มาที่ไปใดๆ อีก ซึ่งอาจจะพอเรียกหรูๆ แบบภาษาวิชาการได้ว่า categorical imperative ครับ คือเป็นการเริ่มต้นและเป็นจุดจบในตัวมันเองเลย
ไม่ต้องนับว่าพออารมณ์ความรู้สึกพวกนี้สามารถเป็นเหตุผลที่จบในตัวเองได้ มันจึงสามารถเป็น ‘เหตุผลของอารมณ์ความรู้สึกชุดอื่นๆ’ ต่อไปได้ด้วย เช่น คำพูดชวนจั๊กกะจี๊หูจำพวก “เพราะว่ารัก เลยยังมีความหวัง” หรือ “เพราะหมดสิ้นแล้วซึ่งความรัก จึงหลงเหลือแต่ความสิ้นหวัง” อะไรพวกนี้ ซึ่งก็อาจจะจริงได้ เพราะเมื่ออารมณ์ความรู้สึกประเภทที่เป็นเหตุผลโดยสมบูรณ์ในตัวเองนี้ยังอยู่ ก็ดูจะทำหน้าที่เป็นเหตุผลที่หยุดหรือฆ่าเหตุผลแบบอื่นๆ ด้วย (reason that kills other reasons) ซึ่งเป็นเรื่องปกติทางสังคมพอสมควรนะครับ เรามีภาษาที่เมื่อใช้แล้วจะไป ‘ยุติ’ ชุดภาษาอื่นๆ กันแทบทั้งสิ้น ในสังคมไทย ที่เราอาจจะได้ยินบ่อยๆ ก็เช่นพวก “นี่ฉันเป็นแม่แกนะ” หรือ “ก็เพราะฉันเป็นห่วง” อะไรพวกนี้ เป็นภาษาที่เมื่อเอ่ยออกมาแล้ว มันตัดทางไป ตัดความเป็นได้ชุดอื่นๆ ที่จะมา ‘แย้งกับตัวเอง’ เช่นกัน อารมณ์ที่เป็นเหตุผลแบบสัมบูรณ์ในตัวก็ดูจะทำหน้าที่นี้บ่อยๆ ด้วย
แต่อารมณ์ความรู้สึกที่เป็น projection of the future อย่างความหวัง/ความสิ้นหวังนั้น โดยหลักๆ แล้วเกิดขึ้นจากการมองว่า “หากมันเป็นแบบนี้ สุดท้ายแล้วก็จะต้องกลายเป็นแบบนั้นแน่ๆ เลย” (If X, then Y) ที่ภาษาวิชาการเราเรียกหรูๆ ว่า hypothetical imperative ว่ากันอีกแบบก็คือ “ความเป็นไปในปัจจุบัน มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการคะเนอนาคตของเรา” ฉะนั้นการเมืองที่ดูว่ามีทางที่อยู่ในสภาพที่ดี หรืออย่างน้อยยังพอมีโอกาสเป็นไปได้ที่จะดีขึ้น ขยับไปสู่จุดที่สูงขึ้นนั้น ก็มักจะนำไปสู่การสร้าง ‘ความหวัง’ ต่อประชากรมวลรวมได้
วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่หรือกระทั่งสังคมนิยมเองก็วางรากฐานอยู่บนความคิดแบบนี้ คือ เสรีนิยมใหม่ไม่ได้พยายามสร้างสังคมที่ดีสำหรับทุกคน สภาพสังคมที่ดำเนินนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่อาจจะเละเทะและสร้างความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ทางรายได้ต่างๆ มากมายก็ได้ และก็มักเป็นเช่นนั้นเสมอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปเลยนั้นก็คือ จะต้องมี
‘ช่องทางที่ทำให้คนเห็นได้ว่ายังมีโอกาสจะดีขึ้น’ (potential of getting better)
หากนึกไม่ออก อาจจะต้องลองนึกถึงภาพยนตร์อย่าง Hunger Game ที่ใช้เกมตัวแทนจากเขตต่างๆ มาเพื่อ ‘ให้โอกาส’ ผู้ถูกกดขี่ได้มองเห็นความหวังอะไรบางอย่าง หรือแม้แต่การเล่นหวยซ้ำหวยเอง ก็อยู่บนฐานตรรกะแบบเดียวกันนี้ คือ แม้ภาพโดยรวมแล้วส่วนหลักๆ ของผู้เล่นจะซวย เช่น โดนหวยแดก แต่มันก็จะเปิดช่องว่างของความหวังเอาไว้อยู่เพื่อสร้างและประคองความรู้สึก ‘มีหวัง’ ของประชากรให้อู้ฟู่ต่อไป
จะสรุปแบบหยาบกร้านที่สุดว่า วิธีคิดแบบเสรีนิยมใหม่เป็นการสร้างความหวังด้วยนโยบาย High Risk, High Return (ความเสี่ยงสูง, ผลตอบแทนสูง) ก็พอได้ แน่นอนว่าคนฉิบหายระหว่างทางบนเส้นทางนี้ก็จะเยอะหน่อย พูดอีกแบบก็คือ การเมืองของความหวังเองก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของการเมืองที่ไร้ซึ่งการกดขี่ แต่หลายๆ ครั้งมันทำหน้าที่ในการฉาบ กด บดบังการกดขี่ไว้ภายใต้ช่องทางของความหวังด้วย
การเมืองแบบสังคมนิยมที่เน้นการประกันความเท่าเทียมนั้น อาจจะไม่ได้ทำให้เห็นช่องทางที่จะพุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างอู้ฟู่เหนือคนอื่นได้มากอะไรนัก และยังน้อยกว่าความหวังในแง่มุมเดียวกันนี้ หากเทียบกับเสรีนิยมใหม่แน่นอน แต่พร้อมๆ กันไปก็เป็นนโยบายที่มุ่งจะประกันสภาพอันเป็นปัจจุบันว่า “เออ อย่างน้อยก็จะไม่มีใครฉิบหายขนาดจะพังทลายไปบนเส้นทางนี้นะ”
การประกันนี้เองที่แม้จะแลกมาด้วยการเก็บภาษีที่สูงลิบลิ่ว แต่มันก็ถูกนำไปใช้สร้าง ‘ฟูกทางนโยบาย’ ขึ้นมาว่า ระหว่างทางที่คุณพยายามวิ่งไปหาโอกาสแล้วเกิดพ่ายแพ้ ผิดพลาด หรือล้มระหว่างทางขึ้นมา อย่างน้อยๆ ก็ล้มลงบนฟูก ที่เรียกว่าสวัสดิการ ซึ่งจะประคองให้คุณพอมีชีวิตรอดไปต่อได้อยู่ การจะวิ่งไปข้างหน้าในระบบสังคมนิยมจึงทำได้ช้าและยากกว่าเสรีนิยมใหม่ แต่พร้อมๆ กันไป หากล้มก็ไม่เจ็บตัวมากด้วย จะเรียกแบบหยาบๆ ว่าเป็นการสร้างความหวังในลักษณะ Low Risk, Low Return (ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ) ก็อาจจะพอได้ แต่อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเกลียดแนวนโยบายแบบเสรีนิยมใหม่หรือสังคมนิยมก็ตาม ทั้งสองก็สร้างการเมืองของความหวังในแบบของมันขึ้นมา
แล้วการเมืองของความสิ้นหวังเล่า มันเกิดจากสภาพแบบไหน?
เอาเข้าจริงแล้วมันเกิดขึ้นได้กับสังคมการเมืองในทุกระบอบ ทุกนโยบายนะครับ อย่างงานของ Long ที่เอ่ยถึงตอนต้นบทความเองก็เป็นการศึกษาความสิ้นหวังทางการเมืองในบริบทของสหรัฐอเมริกา และมีงานศึกษาอีกหลายหลากระบอบการเมือง หรือช่วงเวลา หรือลักษณะนโยบายกันไป แต่ลักษณะร่วมสำคัญก็คือ สภาวะปัจจุบันที่คนทั่วไปมองไม่เห็นความเป็นไปได้ใดๆ เลยในทางปฏิบัติว่า “จะสามารถไปต่อได้”
หากการเมืองของความหวังทำงานบนฐานของการมีผลตอบแทนบางอย่าง ตั้งแต่ Low Risk, Low Return ไปยัน High Risk, High Return แล้ว เราก็อาจจะพูดถึงเงื่อนไขสำคัญของการเมืองของความสิ้นหวังได้ว่าคือสภาวะแบบ “No Chance, No Return” (ไร้ซึ่งโอกาส ไร้ซึ่งผลตอบแทน) นั่นเอง ผลลัพธ์สำคัญที่ความสิ้นหวังมักนำพามาให้นั้น ค่อนข้างจะเป็นที่เห็นต้องตรงกันในเกือบทุกงานศึกษา นั่นก็คือ ‘ความรู้สึกซึมเศร้า’ (depression) และ ‘ความแปลกแยกเป็นอื่น’ (alienation) ครับ
นอกจากนี้งานศึกษาของ Chau-Kiu Cheung และ Siu-Tong Kwak (1995) ที่ชื่อ Conservative Orientation as the Determinant of Hopelessness นั้นก็ได้บอกกับเราเพิ่มเติมอีกว่า ภายใต้เงื่อนไขสารพัดแบบที่นำไปสู่การสร้างความสิ้นหวังแบบรวมหมู่ได้นั้น มันมีลักษณะเด่นๆ ที่เป็นตัวนำเราเข้าไปสู่ความสิ้นหวังได้มากกว่าแบบอื่นด้วย ซึ่ง Cheung และ Kwak อธิบายว่า ทิศทางหรือแนวโน้มแบบอนุรักษ์นิยม (conservative orientation) นั้นมีผลอย่างชัดเจนในการนำไปสู่ความสิ้นหวัง แล้วแนวโน้มแบบอนุรักษ์นิยมของทั้งสองหมายถึงอะไรบ้าง? หลักๆ แล้ว 4 อย่างนี้ครับ 1. เผด็จการนิยม 2. ความเชื่อเรื่องจรรยาบรรณต่อตำแหน่งหน้าที่ 3. ความเชื่อในเรื่องโลกที่เป็นธรรม และ 4. การสนใจปัญหาต่างๆ ของสังคมในฐานะปัจเจก
ผมคิดว่าเร็วๆ นี้เอง กรณีที่เกิดขึ้นในไทย อย่างผลคำตัดสินคดีของคุณธนาธรนั้น นำมาซึ่งความรู้สึกสิ้นหวังทางการเมืองอย่างแทบจะเรียกได้ว่าตรงครบทุกองค์ประกอบที่จะ ‘ขับเน้นให้เกิดความรู้สึกนี้ได้’
เรามีการเมืองที่อ้างชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยแต่เนื้อแท้แล้วก็คือเผด็จการนิยมดีๆ นี่เอง (ใครจะเถียงผม กลับไปแก้กฎหมาย ส.ว. กับกลับไปดูที่มาของศาลรัฐธรรมนูญก่อนนะครับ) เรามีความคาดหวังให้ตุลาการมีจรรณยาบรรณต่อตำแหน่งหน้าที่ของพวกเขา แต่สุดท้ายแล้วก็โดนทรยศต่อด้วยการเชื่อในพยานแวดล้อมมากกว่าหลักฐานทางกฎหมาย เราคาดฝันที่จะได้เห็นโลกที่ยังหลงเหลือความเป็นธรรมใดๆ สักอย่างบ้าง แต่ความไม่เป็นธรรมก็ถาโถมมาครั้งแล้วครั้งเล่า ไล่ตั้งแต่การยุบพรรคจนขี้เกียจนับครั้ง คดีรถไฟความเร็วสูง ฯลฯ จนมาถึงคดีธนาธรนี้มันทำให้ความหวังที่มีต่อความเชื่อเรื่องความเป็นธรรมของโลกนั้นหมดสิ้นลงไม่มีชิ้นดี และสุดท้ายแน่นอนว่าคนที่สนใจกับเรื่องเหล่านี้โดยมากแล้วก็มีความสนใจเรื่องปัญหาสังคมการเมืองระดับหนึ่ง
สิ่งเหล่านี้เองนำมาซึ่งบทสรุปของคนในสังคมจำนวนมากว่า
เรามาสู่จุดที่ ‘ไร้ซึ่งโอกาส ไร้ซึ่งผลตอบแทนใดๆ’ กันแล้ว
ซึ่งคำว่าผลตอบแทนในที่นี้ไม่ใช่เม็ดเงินหรืออะไรนะครับ แต่เป็นการคิด การมองว่า ‘สู้อย่างไรก็ไม่มีทางจะชนะหรือดีขึ้นได้แล้ว’ การมองไม่เห็นโอกาสหรือหนทางความเป็นไปได้ใดๆ และนับวันก็ยิ่งเห็นช่องว่างของอำนาจและความเป็นไปได้ที่ขยับห่างออกไปเรื่อยๆ ระหว่างเรากับผู้มีอำนาจนี้เองที่นำมาสู่ผลลัพธ์หลักสองประการของความสิ้นหวังที่ว่าไว้ คือ ความซึมเศร้า และแปลกแยก โดยความแปลกแยกนี้เป็นความแปลกแยกชนิดที่เราต่ำกว่าทางอำนาจด้วย ไม่ใช่ความแปลกแยกที่มีกำลังก้ำกึ่งกันแบบการแบ่งสองขั้ว (binary / dichotomy) ซึ่งผลลัพธ์แบบนี้มีแนวโน้มสูงที่จะนำมาสู่สภาวะการยอมจำนนโดยศิโรราบ (total submission) หรือไม่ก็สภาวะหมดไฟจะสู้ต่อ (burnt out)
ด้วยเหตุนี้เองความสิ้นหวังจึงเป็นอาหารอันโอชะของเผด็จการเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ขัดสนหนทางในการจะสร้างความหวังมาบดบังการกดขี่ได้แล้ว (ดังอธิบายไปผ่านนโยบายเสรีนิยมใหม่ ซึ่งสามารถไปกันได้โดยดีกับเผด็จการนิยมด้วยนะครับ) เผด็จการก็จำเป็นจะต้องงัดเอาไม้สุดท้ายมาใช้ นั่นคือการเมืองของอำนาจ ที่แสดงให้เห็นอำนาจที่เหนือกว่าในทุกรูปแบบเพื่อให้สังคมยอมจำนนกับพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้เพื่อจะทำลายกำลังใจอะไรนะครับ แค่จะบอกในตอนท้ายที่สุดนี่แหละว่า เอาเข้าจริงๆ แล้วภายใต้การเมืองของความสิ้นหวังนี้ หากมองดีๆ มันจะยังเห็นเงื่อนไขอันนำไปสู่ ‘ความหวัง’ ได้อยู่ นั่นก็คือ การที่เผด็จการถึงขนาดต้องควักเอา ‘การเมืองของความสิ้นหวัง’ มาใช้แทนที่ ‘การเมืองของความหวัง’ (ที่บดบังการกดขี่เอาไว้) ก็หมายความเองว่าทางฝั่งเผด็จการถูกผลักจนจนมุม ไพ่บนมือมีเหลือน้อยกว่าที่เคยแล้วเช่นกัน กำลังของเผด็จการยังมีมากกว่าเราแน่ๆ
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าที่ต่อสู้กันมาโดยตลอดนั้นจะไร้ซึ่งผลตอบแทนใดๆ เลย อย่างน้อยๆ ผลตอบแทนที่เราเห็นได้แล้วก็คือ เราทำให้ไพ่ในมือของเผด็จการมันลดลงบ้าง ส่วนของชัยชนะนั้นจะไปถึงไหม ผมเองไม่ทราบ และผมเองก็ไม่รู้ว่าต้องใช้วิธีการใดจึงจะคว้ามาได้ ทั้งดูจะไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ด้วย แต่ผมพูดได้มากที่สุดเพียงว่านี่คือการต่อสู้ในระยะทางที่ยาวมากๆ โดยที่เราแทบจะไม่มีช่วงใดเลยที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ เราจะเป็นฝั่งที่เสียเปรียบเสมอ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการสู้ของเราไร้ซึ่งความหมาย ผมไม่กล้าพูดหรอกครับว่า “เวลาจะอยู่ข้างเรา” ผมก็ได้แต่ขอให้เราไม่ตายไปก่อน มีแค่สิ่งเดียวที่ผมพอจะรับประกันกับท่านได้ก็คือ “มันจะไม่เคยง่ายเลย”
ผมเขียนเรื่องการเมืองของความสิ้นหวังมานี้ เพียงเพื่อจะยอมรับว่าเราอยู่ในสภาพดังกล่าวจริง แต่ก็อยากให้เห็นความหวังแม้เพียงริบหรี่ที่โชยมากจากความสิ้นหวังก้อนใหญ่ก้อนนี้ด้วย (แม้อาจจะหลอกตัวเองบ้างก็เอาวะ!)