1
เชื่อว่าคุณคงเคยเล่น ‘เกมเศรษฐี’
นี่ไม่ได้ประชดอะไรนะครับ แต่ผมหมายถึง ‘เกมเศรษฐี’ ที่เป็นเกมกระดานจริงๆ นี่แหละ สมัยเด็กๆ ที่บ้านของผมชอบเล่นกันตอนบ่ายวันหยุดในสวนเล็กๆ หลังบ้าน เล่นแล้วต้องแข่งขันจิกกัดทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นที่สนุกสนาน
เกมเศรษฐีนั้น มีชื่อภาษาอังกฤษดั้งเดิมว่า ‘โมโนโพลี่’ (Monopoly) ซึ่งหมายถึงการผูกขาด เล่นเสร็จแล้ว คนที่ชนะในท้ายที่สุดก็คือคนที่ ‘กินรวบ’ ทุกอย่างบนกระดาน กลายเป็นนายทุนเจ้าเดียวที่ยังเหลืออยู่ คนอื่นๆ ต้องพ่ายแพ้หลุดหล่นออกจากเกมธุรกิจบนกระดานไปจนหมดสิ้น
ฟังดูโหดร้ายไม่น้อยใช่ไหมครับ
ว่าแต่ – แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าใครเป็นคนคิดเกมโมโนโพลี่ขึ้นมา?
แล้วรู้ไหมครับ ว่าคนที่เป็นต้นรากคิดประดิษฐ์เกมโมโนโพลี่ขึ้นมาเป็นคนแรกน่ะ จริงๆ แล้วคิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านการผูกขาด
อ้าว! แล้วทำไมผลถึงออกมาเป็นแบบนี้,
ถ้าอยากรู้ต้องตามผมมาครับ รับรองว่าคุณจะต้องอึ้งไปกับ ‘ประวัติศาสตร์เกมเศรษฐี’ ที่มีเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซุกซ่อนอยู่อย่างมิดเม้ม!
2
คืนหนึ่งในปี 1932 สามีภรรยาคู่หนึ่งในฟิลาเดลเฟีย เชิญ ชาลส์ แดร์โรว์ (Charles Darrow) มาร่วมเล่นเกมกระดานเกมหนึ่ง
ใครคือชาลส์ แดร์โรว์?
บทความนี้ (abcnews.go.com) ของสำนักข่าว abc บอกไว้ในปี 2015 ว่า ชาลส์ แดร์โรว์ คือผู้คิดประดิษฐ์เกมโมโนโพลี่ขึ้นมาในปี 1933
แต่เรื่องราวในคืนนั้นของปี 1932 เป็นอีกแบบหนึ่ง
สามีภรรยาคู่นั้นเชิญแดร์โรว์มาเล่นเกมชื่อ Landlord’s Game ซึ่งเป็นเกมที่มีอยู่แล้ว และแดร์โรว์เพิ่งจะรู้จักเกมนั้นในคืนวันนั้นเอง
แดร์โรว์ชอบเกมนี้มาก เขากลับมาเล่นอีกหลายต่อหลายครั้ง แต่บังเอิญว่า เกมที่เล่นกันนั้นเป็นเกมกล่องเก่าที่ส่งต่อๆ กันมาเรื่อยๆ ทำให้คู่มืออธิบายกฎการเล่นหายไป ดังนั้นกฎที่พวกเขาเล่นกัน จึงเป็นกฎแบบ House Rules คือมีการตัดนั่นด้นนี่ใส่อะไรๆ เข้าไปใหม่หลายอย่าง
แดร์โรว์ขอให้เพื่อนเจ้าของเกมเขียนกฎออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วแดร์โรว์ผู้ที่ตอนนั้นตกงาน ขาดเงิน (เพราะได้รับผลกระทบจากยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของอเมริกา) ก็เอาเกมนี้ไปขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทพี่น้องตระกูลพาร์คเกอร์ (Parker Brothers) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและขายของเล่นและเกมต่างๆ ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Hasbro ที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง
ผลลัพธ์สุดท้ายก็คือ เกมโมโนโพลี่ที่แดร์โรว์ขายไปนั้น กลายเป็นที่นิยมมหาศาล ทำให้แดร์โรว์ได้เงินค่าลิขสิทธิ์และส่วนแบ่งจากการขายรวมแล้วหลายล้านเหรียญ
เรื่องน่าจะลงเอยด้วยดีกับการที่ ชาลส์ แดร์โรว์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างสรรค์เกมนี้ เกมแห่งเศรษฐีที่ทำให้คนคิดเป็นเศรษฐีสมแล้วที่เกมนี้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอันเป็นสังคมทุนนิยมบริโภคนิยมผูกขาดนิยม
แต่เรื่องกลับไม่เป็นอย่างนั้น!
3
ในปี 1974 เกิดคดีฟ้องร้องใหญ่คดีหนึ่ง
คดีนั้น Parker Brothers ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเกมโมโนโพลี่ ฟ้องอาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโกสเตทคนหนึ่ง อาจารย์คนที่ว่ามีชื่อว่า ราล์ฟ แอนสแพช (Ralph Anspach)
แอนสแพชคิดค้นและผลิตเกมขึ้นมาเกมหนึ่ง มันเป็นเกมที่ ‘ต่อต้าน’ เกมเศรษฐีโดยตรงตั้งแต่ชื่อเลย เพราะมีชื่อว่า Anti-Monopoly
ถ้าเกมโมโนโพลี่มีเป้าหมายคือการ ‘ผูกขาด’ ครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างบนกระดานเอาไว้ผู้เดียว เกม ‘แอนตี้โมโนโพลี่’ ก็เป็นเกมที่เกิดมาเพื่อแอนตี้แนวคิดนั้น ด้วยการเปิดเกมมาให้สถานการณ์ธุรกิจบนกระดานเป็นสถานการณ์ที่มีผู้ผูกขาดตลาดอยู่เจ้าเดียว แล้วจากนั้นผู้เล่นก็ต้องร่วมกันรับบทบาทต่างๆ เพื่อกล่าวหาและกระชากหน้ากากทำลายธุรกิจผูกขาดน้ันลงมาให้ได้ โดยที่ตอนจบของเกม ถ้าจะชนะก็ต้องทำให้สถานการณ์ธุรกิจบนกระดานกลับมาอยู่ในระบบที่เป็น ‘ตลาดเสรี’ ที่มีความเท่าเทียมอีกครั้งหนึ่งให้ได้
เกมนี้ได้รับความนิยมมากพอสมควร มีการพิมพ์ขายซ้ำหลายครั้ง ก็เลยทำให้ไปเข้าตา Parker Brothers จนต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้อง คดีนี้ยาวนานถึงสิบปี และลงเอยด้วยการยอมความกันทั้งสองฝ่าย แต่กระนั้น ผลของคดีก็ไม่ใช่เรื่องที่อยากเอามาเล่าให้คุณฟังหรอกนะครับ เพราะเรื่องสำคัญกว่านั้นเป็นอย่างนี้
ระหว่างหาหลักฐานมาสู้คดี แอนสแพชไปค้นคว้าเรื่องราวของเกมโมโนโพลี่ แล้วเขาก็พบว่า แท้จริงแล้วก่อนหน้าที่ชาลส์ แดร์โรว์ จะทำเกมโมโนโพลี่ออกมาขายนั้น มันมีเกมแบบนี้อยู่แล้ว ซึ่งก็คือเกมที่เพื่อนของแดร์โรว์เอามาให้เขาเล่นนั่นแหละครับ
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น เกมนี้มีชื่อว่า Landlord’s Game แล้วคนที่คิดค้นเกมนี้ขึ้นมาก็ไม่ใช่แดร์โรว์ แต่กลับเป็นผู้หญิงโสดวัยสามสิบกว่าปี (ในตอนที่คิดค้นเกมนี้ขึ้น) คนหนึ่ง เธอชื่อ ลิซซี่ แมกกี้ (Lizzie Magie)
แมกกี้ทำงานเป็นเลขาจดชวเลข (คือจดบันทึกการประชุมแบบสั้นๆ) และนั่งทำงานพิมพ์ดีดก๊อกๆ แก๊กๆ อยู่ที่วอชิงตัน ตอนนั้นเป็นช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ อันเป็นยุคที่ ‘นายทุน’ ประเภทผูกขาดกำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูอย่างยิ่ง นายทุนเป็นผู้ควบคุมธนาคาร จะคิดดอกเบี้ยอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ ไม่มีใครเข้าไปควบคุม นายทุนยึดครองการขนส่งอย่างรางรถไฟ จนก่อเกิดเป็นศัพท์เรียกนายทุนเหล่านี้ว่า Railway Baron นายทุนยังดูแลควบคุมบ่อน้ำมันในเท็กซัสด้วย ทำให้คนอย่าง เจ. พอล. เก็ตตี้ ร่ำรวยมหาศาลถึงขั้นสามารถซื้องานศิลปะเปิดพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตเทียบเท่าพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ในโลกได้
ในโลกแบบนี้ แมกกี้ทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว เธอคิดว่า – เธอจะลุกขึ้นสู้!
ทำไมแมกกี้ถึงคิดอะไรแบบนั้น?
ต้องบอกกันก่อนนะครับว่าแมกกี้นั้นเป็น ‘ซ้าย’ ใช่ครับ – ซ้ายในความหมายของ ‘ฝ่ายซ้าย’ ทางการเมืองนี่แหละ เธอมี ‘ฮีโร่’ ในทางการเมืองของตัวเองอยู่คนหนึ่ง นั่นก็คือ เฮนรี่ จอร์จ (Henry George)
เฮนรี่ จอร์จ เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเมืองและเป็นนักหนังสือพิมพ์ด้วย เขาเป็นคนที่ ‘ป๊อบ’ มากในหมู่ฝ่ายซ้ายอเมริกันในศตวรรษที่ 19 ถึงขั้นมีปรัชญาเศรษฐกิจที่เรียกว่า Georgism ขึ้นมาเลยทีเดียว ปรัชญานี้วางอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า ประชาชนควรได้เป็น ‘เจ้าของ’ สิ่งที่ผลิตขึ้นมา ดังนั้นถ้ามีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมาจากที่ดิน มูลค่านั้นก็ควรจะเป็นของทุกๆ คนในสังคมอย่างเท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่ไปตกอยู่ในมือของนายทุนมากกว่าคนที่ทำงานใช้แรงงานจริงๆ ซึ่งฟังดูคล้ายๆ สังคมนิยมไม่น้อย ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่เขาถูกมองว่าเป็นซ้ายไงครับ
แนวคิดแบบ Georgism ที่เป็นรูปธรรมก็คือระบบภาษีที่เรียกว่า Single Tax ซึ่งก็คือการเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว ข้อเสนอของจอร์จก็คือการเก็บภาษีจากมูลค่าของที่ดิน (เรียกว่า LVT หรือ Land Value Tax) แล้วลดหรือเลิกการเก็บภาษีอื่นๆ (เช่นภาษีรายได้ ภาษีการค้า ฯลฯ) ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นภาษีที่ทั้งไม่เป็นธรรมและไม่มีประสิทธิภาพ ที่จริงแนวคิดเรื่อง Single Tax นี่มีมาตั้งแต่ยุคของจอห์น ล็อค และ สปิโนซ่า ในศตวรรษที่ 17 แล้วนะครับ แต่ในอเมริกายุคนั้นต้องถือว่าเป็นของใหม่
แมกกี้ถือว่าเป็นแฟนตัวยงของแนวคิดแบบ Georgism เลย แต่ในฐานะผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการ (ตอนนั้นสิทธิเลือกตั้งก็ยังไม่มีด้วยซ้ำ) สิ่งที่แมกกี้ทำได้ – ก็คือการต่อสู้ด้วยเกมกระดาน
คืนแล้วคืนเล่า แมกกี้วาดแล้วลบเกมที่เธอร่างขึ้นมาไม่รู้จักกี่ครั้งกี่หน เธอมุ่งหมายจะให้เกมนี้เป็นเกมที่ใช้เป็น ‘สื่อการสอน’ ถึงแนวคิดทางการเมืองแบบฝ่ายซ้าย แล้วจะได้ไปจุดประกายการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมเศรษฐกิจที่อยุติธรรม
ถ้าเราดูเกมโมโนโพลี่ในปัจจุบัน เราอาจนึกไม่ออกว่ามันสะท้อนถึงปรัชญาและอุดมการณ์แบบ Georgism ออกมาได้อย่างไร แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปดู Landord’s Game เราจะเห็นได้ชัดเลยว่าเกมนี้มีอะไรหลายอย่างซ่อนอยู่
ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือ แมกกี้สร้างให้เกมนี้มี ‘กฎ’ ที่ขัดแย้งกันเองสองชุด กฎที่ว่านี้วางอยู่บนปรัชญาที่ต่างกันสองแบบ แบบแรกก็คือแนวคิดแบบ ‘นักผูกขาด’ ที่มีเป้าหมายจะผูกขาดและบดขยี้คู่ต่อสู้ตามแนวทางของนายทุนยุคนั้น แต่แบบที่สองก็คือปรัชญาแบบต่อต้านการผูกขาด ที่ในที่สุดก็จะทำให้ทุกคนชนะร่วมกันเมื่อสังคมบนเกมกระดานสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับส่วนรวมขึ้นมาได้
แนวคิดของเธอไม่ใช่การเลือกข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่เธออยากให้สองปรัชญานี้ดำรงอยู่ร่วมกัน และยังรักษา (Maintain) ความขัดแย้งที่ว่านี้เอาไว้ในตัวเอง เกมจึงมีความเร้าใจ (Tension) ตรงที่จะเกิดการแข่งขันระหว่างปรัชญาสองฟากที่แตกต่างกันนี้อยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราย้อนกลับไปดู Landlord’s Game ของแมกกี้ เราจะเห็นได้ชัดเลยว่ามีหลายเรื่องที่เกมโมโนโพลี่ตัดทิ้งไป เช่นแมกกี้ใส่ Poor House หรือที่อยู่ของคนที่สิ้นเนื้อประดาตัวเอาไว้ด้วย ดังนั้นต่อให้ไม่เหลือเงินทองอะไรในเกมอีก ก็สามารถมาอยู่ที่นี่ได้เพื่อฟื้นตัว รอเวลาที่คนอื่นจะเกื้อหนุนผ่านระบบ แสดงให้เห็นแนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคมที่แมกกี้ใส่ลงไป นอกจากนี้ยังมีสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ (เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา) แต่เวลาที่ใครมาตกในช่องนี้ ก็จะต้องทำหน้าที่เก็บภาษีจากคนอื่นๆ เอามาให้รัฐ
นอกจากนี้ ยังมีช่อง ‘ภาษีทางอ้อม’ ที่อยู่ในรูปของขนมปัง ถ่านหิน หรือบ้านพักฉุกเฉิน ที่หากใครมาตก ก็ต้องจ่ายเงินเหล่านี้ให้กับกองกลางซึ่งก็คือตัวแทนของรัฐหรือ Public Treasury เพื่อนำเงินไปใช้ดูแลคนอื่นๆ ที่สิ้นเนื้อประดาตัวในเกมต่อไป
เกมของแมกกี้ได้รับความนิยมจริงๆ อย่างที่เธอคาด มีคนเล่นกันไปทั่วฝั่งตะวันออกของอเมริกา แล้วเมื่อผ่านเวลาเป็นสิบๆ ปี มันก็เดินทางไปที่โน่นที่นี่พร้อมกับการดัดแปลงเกมไปหลากหลายรูปแบบ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักศึกษาเอาไปเล่นกันเต็มไปหมด จนเกิดเกมนี้ในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง เรียกว่า The Fascinating Game of Finance แพร่หลายไปในกลุ่มชาวเควกเกอร์ในเพนซิลวาเนีย จนกระทั่งมาถึงมือของแดร์โรว์
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แมกกี้คาดไม่ถึงก็คือ ที่คนนิยมเกมนี้ ไมใช่เพราะพวกเขาสนใจ ‘ปรัชญา’ แห่งความเอื้ออาทร มีสังคมสวัสดิที่ดูแลคนยากจนด้วย Poor House หรือแบ่งปันกันในเรื่องสาธารณูปโภคทั้งหลายแหล่หรอกนะครับ เป็นอีกแก่นแกนหนึ่งของเกมต่างหากที่โด่งดังป๊อบปูลาร์จน ‘เบียดขับ’ แก่นแกนนี้จนหายไป
สิ่งนั้นก็คือปรัชญาแห่งการผูกขาด
ผู้คนนิยมเล่นเกมนี้เพราะอยากเอาชนะ อยากเป็นผู้ ‘ฆ่า’ คนอื่นๆ ให้ล้มหายไปจากเกมธุรกิจในเกมกระดานจนหมดสิ้น แล้วเหลือตัวเองเป็นผู้ชนะอยู่ลำพัง นั่นทำให้เกมโมโนโพลี่สอดคล้องกับรูปแบบความคิดของคนจำนวนมาก จนมันกลายเป็นเกมที่ได้รับความนิยมอย่างสูงขึ้นมา ซึ่งถ้าเราไปดูเกมโมโนโพลี่ยุคใหม่ จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่าไม่เหลือ Poor House อีก และที่สำคัญก็คือ เอกชนก็สามารถเป็นเจ้าของสาธารณูปโภคอย่างการไฟฟ้า การประปา ฯลฯ ได้ด้วยการเอาเงินซื้อ (แบบที่เรียกว่า Privatization) ซึ่งก็ไปเร่งการผูกขาดให้เกิดขึ้นในสังคมบนเกมกระดานเข้าไปอีก
เมื่อนับรวมกันแล้ว เกมโมโนโพลี่ขายไปได้หลายร้อยล้านชุดทั่วโลก ทำให้แดร์โรว์ได้รับเงินทองมหาศาลชั่วชีวิต
แล้วแมกกี้ล่ะครับ – เธอได้อะไรบ้าง?
ในราวกลางทศวรรษสามศูนย์ บริษัท Parker Brothers ติดต่อแมกกี้เพื่อขอซื้อขาดลิขสิทธิ์ในเกม Landlord’s Game (กับซื้อ ‘ไอเดีย’ เกมอื่นของเธอไปอีกสองเกมด้วย) มีรายงานว่า แมกกี้ได้รับเงินไป 500 เหรียญ เป็นการซื้อขาดไปเลย ซึ่งในตอนนั้นก็เป็นเงินไม่น้อย ทำให้เธอรู้สึกดีใจและพึงพอใจ แต่ในที่สุด เธอก็ค้นพบว่าเกมของเธอ (ที่ถูกซื้อไปแล้ว) เป็นการซื้อหลังจากเกมประสบความสำเร็จอย่างสูงในอีกชื่อหนึ่ง เธอจึงโกรธมาก เพราะมันเหมือนเธอถูกหลอก และให้สัมภาษณ์ตามที่ต่างๆ ว่าเธอถูก ‘ขโมย’ ความคิดไป แต่กระนั้นทุกอย่างก็อยู่ในความคลุมเครือมาหลายสิบปี
‘ฝ่ายซ้าย’ อย่างแมกกี้ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกด้วยเกม นอกจากในตอนนั้นจะไม่ได้รับเครดิตว่าเธอเป็นผู้คิดเกมแล้ว แมกกี้คงเซ็งไม่น้อยที่พบว่าหลาย elements ที่เธอคิดขึ้น ประสบความสำเร็จอย่างสูงก็เมื่อถูกดัดแปลงประยุกต์ไปเพื่อรับใช้ปรัชญาอีกด้านหนึ่ง
แมกกี้เสียชีวิตในปี 1948 ในฐานะแม่หม้ายที่ไม่มีลูก จารึกที่หลุมศพของเธอไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์เกมเลย เธอตายในฐานะผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่เคยทำงานอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนร่วมงานจดจำรำลึกถึงเธอในฐานะที่เป็นนักพิมพ์ดีดแก่ๆ คนหนึ่ง…คนที่เคยพูดเรื่องการคิดเกมให้ฟังบ้าง – ก็เท่านั้น
ชื่อของแมกกี้คงถูกลบเลือนไปตลอดกาล ถ้าหากเแอนสพาช – อาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีแนวคิดแบบ ‘ฝ่ายซ้าย’ อีกคนหนึ่งไม่ได้ลุกขึ้นมาสู้คดีกับ Parker Brothers และใช้ฐานในการต่อสู้ว่า Parker Brothers ไม่มีสิทธิในเกมมาตั้งแต่ต้น เพราะเกมนี้มีอยู่แล้วก่อนที่บริษัทจะซื้อมา ดังนั้นการอ้างสิทธิในเกมจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีผล ซึ่งแม้ฟังดูแปลกๆ อยู่สักหน่อย แต่ก็ทำให้ชื่อของ ลิซซี่ แมกกี้ ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในฐานะต้นคิดเกม Landord’s Game ที่กลายร่างมาเป็นโมโนโพลี่ในปัจจุบัน
โมโนโพลี่จึงเป็นเกมที่มีกำเนิดจากแนวคิดแบบซ้ายๆ แต่ถูกฉกชิงไปในระหว่างทางด้วยวิธีคิดแบบผูกขาดซึ่งพูดได้ว่าเป็นแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบขวาๆ และในที่สุด ผู้ชนะเลิศในเกมนี้ก็หนีไม่พ้นทุน
เกมเศรษฐีจึงเป็นเกมที่มีกำเนิดและการเติบโตที่ย้อนแย้งในเชิงอำนาจอย่างซับซ้อน
คราวหน้า เวลาหยิบเกมเศรษฐีขึ้นมาเล่น อย่าลืมนึกถึงชื่อของ ลิซซี่ แมกกี้, ชาลส์ แดร์โรว์ และ ราล์ฟ แอนสแพช รวมไปถึงการต่อสู้ของแนวคิดระหว่าง ‘ซ้าย’ กับ ‘ขวา’ ที่ไม่เคยจบสิ้นด้วยนะครับ