ในช่วงเปิดเรียนภาคการศึกษาแรกของมหาวิทยาลัยทุกปี จะต้องมีประเด็นเรื่องการรับน้องและปัญหาของระบบโซตัสมาให้ได้เห็น ได้พูด ได้เขียน ได้บ่น ได้ด่า นี่ถ้าบ่นด่าแล้วปากฉีกได้จริงๆ อย่างคำเปรียบเปรย ผมคงปากฉีกเป็นโจ๊กเกอร์ในเรื่องแบทแมนไปแล้ว เมื่อต้องพูดเรื่องนี้มาแทบทุกปี ก็บอกตามตรงว่าชักจะต้องพูดอะไรซ้ำๆ เป็นแผ่นเสียงตกร่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงโทษ การแต่งกาย การรับน้อง การว้าก อันตรายถึงชีวิต เผด็จการ การยกเลิก ฯลฯ รอบนี้เลยอยากจะลองชวนมองแง่มุมเรื่อง ‘ความเป็นพี่น้อง’ ในภาษาของโซตัสดูบ้าง
ผมคิดว่าเวลาที่เราได้ยินคำว่า ‘พี่น้อง’ ในภาษาแบบโซตัสนั้น ความหมายแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัว โดยเฉพาะในหมู่คนที่ดีเฟนด์การมีอยู่ของวัฒนธรรมป่าเถื่อนนี้ คงจะไม่พ้นคำว่า ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ ที่มีลักษณะของความเป็น ‘พี่น้อง’ แบบ Brotherhood/Sisterhood ในตัวกันอยู่ ที่ผู้เป็นพี่คอยดูแลน้อง อุ้มชูให้แข็งแกร่ง ต่อสู้กับสังคมอันโหดร้ายได้ ในขณะที่น้องๆ ผู้ได้รับการช่วยเหลือจาก ‘พี่ๆ’ นั้น ตอนแรกอาจจะไม่เข้าใจความหวังดีเหลือแสนนี้ แต่สักวันพวกเขาก็จะเข้าใจ และดำเนินรอยตามเราเอง เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดว่าคำพูดบ่นด่าของพ่อแม่นั้นช่างน่าเบื่อน่ารำคาญเหลือแสน แต่เมื่อถึงเวลาก็จะเข้าใจเองว่านั่นคือความหวังดีล้วนๆ
เขียนมาถึงนี่ เพลงพี่ชายที่แสนดี ของโบ สุนิตา ลีติกุลแทบจะลอยมาเลย (โชว์แก่อีกแล้วสินะตรู)
…“เมฆดูสวยงาม เมื่อยามมองฟ้า ฟ้าดูกว้างใหญ่เหมือนเก่า เมื่อยังเล็กแหงนดูมือไขว่คว้าเอา สูงจังอยากตัวโตสูง จ้องมองแสนนาน พี่ชายคงเห็นยิ้มเดินมาใกล้แล้วอุ้ม ขี่คอจนเกือบสูงทัน จ้องมองบนฟ้านั่น เอื้อมมือถึงจันทร์ จะเอาเป็นของเรา” …
Bullshit…Pure Bullshit
ไม่มีครับ ความเป็นพี่น้องอันแสนงดงาม อุ้มยกขี่คอ ยื่นแขนยื่นขา แตะเดือนแตะดาวอะไรกันแบบนี้ ที่ว่ามานี่ไม่ได้เขียนบนพื้นฐานที่ว่า ‘ไม่มีรุ่นพี่คนใดเลยที่ไร้ซึ่งเจตนาดี’ แบบนั้นนะครับ แต่ที่ว่ามานี่ มันวางอยู่บนฐานของโครงสร้างเชิงอำนาจของตัวระบบโซตัสเองต่างหาก ที่ต่อให้คุณมีเจตนาดีอะไรแต่ต้นและจริงจัง ก็ไม่สามารถจะมา ‘เมฆดูสวยงามมมมม’ กับ ‘รุ่นน้อง’ คุณได้หรอก
ทั้งนี้เพราะคำว่า ‘รุ่นพี่รุ่นน้อง’ หรือ ‘ความเป็นพี่เป็นน้องง ในโครงสร้างของระบบโซตัส มันมีความหมายว่า ‘ลูกพี่ – ลูกน้อง’ (ที่ไม่ได้แปลว่า ‘ลูกพี่ลูกน้อง/Cousin’ ด้วย – สามบาทห้าบาทก็จะเล่น) เพราะฉะนั้นด้วยระบบโครงสร้างแบบนี้ ต่อให้คุณมีเจตนาที่ดีในการจะดูแล ‘น้อง’ จริงๆ แต่แรก มันก็เป็นได้มากที่สุดเพียง ‘เจ้านายที่แสนดี’ เท่านั้น
เพราะด้วยระบบความเป็น ‘พี่น้อง’ ที่คลานตามกันมาจากท้องแม่นั้น มันไม่ได้วางอยู่บนโครงสร้างที่คนเป็นพี่จะสามารถสั่งให้น้องหันซ้ายหันขวา เต้นแร้งเต้นกา หรือด่าทอเพราะไม่ยอมใส่ชุดที่อยากให้ใส่ได้อย่าง ‘พี่น้อง’ ในระบบคิดแบบโซตัสหรอกครับ ลองไปด่าน้องชายแท้ๆ ของคุณแบบที่ว้ากรุ่นน้องในห้องเชียร์เพราะมันไม่เต้นไก่ย่างถูกเผาดูสิ จะโดนมันกระโดดถีบขาคู่ใส่คืนเอา เพราะความสัมพันธ์ในระบบพี่น้องในทางครอบครัวจริงๆ นั้น มันไม่ได้มีโครงสร้างของลำดับชั้นที่ชัดเจนและแข็งแกร่ง เป็น Code of Conduct หรือระเบียบปฏิบัติอะไรแบบโซตัสครับ การมีอยู่ของโครงสร้างแบบลำดับชั้น (Hierarchical structure) ในหมู่พี่น้องจริงๆ ดูจะพร่าเลือนไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ คนเป็นพี่เป็นน้องที่สนิทๆ กัน ก็คุยกันบนระนาบภาษาที่เท่าเทียมกันหมดแล้ว (กู-มึง, แก-ชั้น, ฯลฯ) ในขณะที่ ‘พี่น้อง’ ในระบบโซตัส คนที่เป็นพี่ยังสั่งน้องให้ทำอะไรบ้าๆ บอๆ ได้อยู่ โดยฝ่ายน้องไม่สามารถตอบโต้ในระนาบเดียวกันได้เลย แต่มักจะคิดเอาเองว่า ความสัมพันธ์ในวิธีคิดแบบโซตัส เป็นอะไรที่คล้ายคลึงกัน
ว่ากันง่ายๆ ต่อให้ยอมรับว่า โอเค คนที่ทำมีเจตนาที่ดีเลยนะ แต่มันก็ไม่ได้ช่วยอะไรไง หากโครงสร้างลำดับชั้นแบบนี้ยังคงอยู่ คุณก็เป็นได้อย่างมากเพียงเจ้านายที่ดี หรือเป็นเจ้าผู้ทรงธรรม (Benevolent King) เท่านั้น แต่คุณจะไม่มีทางเป็นมนุษย์ในระนาบเดียวกันได้อย่างที่คุณพยายามจะเคลมกัน และประเด็นสำคัญคือ พวกคุณไม่ได้มีสิทธิใดๆ จะมาทำแบบนี้หรือมีตำแหน่งแห่งที่ทางอำนาจแบบนี้ได้
การอยู่ภายใต้อาณัติทางอำนาจของ ‘รุ่นพี่’ ไม่เคยเป็นเงื่อนไขหรือกติกาใดๆ ของมหาวิทยาลัยครับ และการที่คุณซึ่งมีอายุมากกว่าอยู่ 1 ขวบปี ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่า การที่คุณยังไม่ทันตายในปีที่ ‘น้อง’ อายุเท่ากับคุณก็เท่านั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นหรือน้อยไปกว่านั้น และหากจะมีอะไรที่มัน ‘พึง’ จะเป็นแล้ว โดยรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนั้นถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำลายองค์ความรู้ ระบบวิธีคิด และการผูกขาดการใช้อำนาจในเชิงลำดับชั้น ซึ่งในยุคก่อนนั้นเป็นผลิตผลสำคัญของศาสนา (แน่นอน ปัจจุบันวิธีคิดแบบนี้ของศาสนาก็ยังคงอยู่ และในทุกศาสนาด้วย) ว่ากันง่ายๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยนั้น โดยรากเหง้าแล้ว ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อทำลายวิธีคิดและโครงสร้างแบบที่ “พวกคุณพี่โซตัสในรั้วมหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังปฏิบัติอยู่” นั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แต่ยังบอกว่าสิ่งที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้นคือ “การทำบนจุดมุ่งหมายที่ดี ที่ถูกต้อง” จึงเป็นอะไรที่ Bullshit อย่างที่บอกไป
ข้ออ้างสำคัญที่เป็นรากฐานเสมอของระบบคิดแบบโซตัสนั้นก็คือ ‘การละลายพฤติกรรม’ ด้วยวิธีคิดแบบทหารนิยมที่เริ่มจากประเทศอังกฤษและสุดท้ายก็ผ่านเข้ามาในไทย (จนปัจจุบันอังกฤษเองก็เลิกไปจนแทบไม่เหลือแล้ว) เหตุผลที่ต้องมีการละลายพฤติกรรมกันก็เพราะคนที่มาเรียนในมหาวิทยาลัยมาจากร้อยพ่อพันแม่ รวยบ้าง จนบ้าง เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่าง แบ่งแยกกันจนเกินไป จึงต้องมาละลายพฤติกรรมกัน เพื่อให้รู้สึกร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ว่ากันในภาษาวิชาการหน่อย เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘การเมืองของอัตลักษณ์’ หรือ Politics of Identity ครับ
การเมืองของอัตลักษณ์ หากว่ากันแบบหยาบๆ ง่ายๆ แล้วก็คือ การเมืองว่าด้วยการ ‘สร้างความเหมือน’ เพราะอัตลักษณ์ คือ ความเหมือนแบบหนึ่ง[1] มันไม่ใช่ความเหมือนในลักษณะที่ต้องทำให้คนเหมือนกันเป็นแฝดแท้หรือโคลนนิ่งทางกายภาพ หากแต่เป็นความเหมือนในทางวิธีคิด มุมมอง หรืออุดมการณ์บางประการที่ต้องการขับเน้นอย่าง ถ้าอยากส่งคนให้ไปตายในสนามรบเพื่อชาติ ก็ต้องพยายามโหมกระหน่ำโปรโมตกระแสความรู้สึกร่วมของความเป็นชาติขึ้นมา ว่าชาติเรานั้นดีอย่างงั้นเลิศอย่างนี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นพระเอกมาโดยตลอด มีคุณค่ายิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน ใครได้อ่านประวัติศาสตร์ชนชาติเราต้องน้ำตาไหลในความเป็นวีรบุรุษ แต่วันนี้มีภัยร้ายคิดมารุกราน เราจึงต้องร่วมมือกันลุกขึ้นสู้ ปกป้องชาติอันยิ่งใหญ่นี้ไว้ให้ได้ ไม่ให้อายวิญญาณบรรพชน (หั่นโหลลล ก๋งตรูโล้สัมเภามาจากซัวเถาโน่น) แม้สละชีพเพื่อแผ่นดินนี้ก็ต้องยอม…อะไรก็ว่าไป หรือที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็การเมืองเรื่อง ‘เหลือง-แดง’ ในช่วงที่ผ่านมานั่นแหละครับ ที่มีการพยายามใช้ ‘สี’ ในฐานะสื่อกลางในการสะท้อน ‘ความเหมือน’ หรือความเป็นพวกเดียวกันนี้
เราสามารถพูดอีกอย่างได้ว่า อัตลักษณ์หรือความเหมือนนี้เอง ที่เป็นตัวสถาปนา ‘ตัวตน’ ของบุคคล หรือกลุ่มคนนั้นๆ ขึ้นมาได้ เพราะความเหมือนนี้มันไม่ใช่ความเหมือนที่มีขึ้นเพื่อบ่งบอกถึงพวกพ้องของตนเท่านั้น แต่มันมีลักษณะที่สำคัญมากไม่แพ้กัน (หากไม่ใช่ว่าสำคัญเสียยิ่งกว่า) นั่นก็คือ การ ‘แยก’ เราหรือพวกเรา ออกจากกลุ่มก๊กอื่นๆ ในสังคมนั่นเอง ความเหมือนที่สร้าง ‘พวกเรา’ ขึ้นมา จึงเป็นกลไกที่ผลักเราให้ ‘ไม่เหมือนหรือต่างจากพวกอื่น’ ไปพร้อมๆ กัน และเมื่อเรา ‘ต่าง’ ออกมาจากมวลรวมทั้งหมด (อย่างน้อยๆ ในทางใดทางหนึ่ง) เราจึงมีตัวตนในทางสังคมขึ้นมาได้
แต่คำถามที่ผมคิดว่าเราต้องถามตัวเองคือ ในระบบโซตัสที่พยายามสร้าง ‘ความเหมือน’ หรือเล่นกับ Politics of Identity นี้ ทำมาเพื่ออะไรกันแน่? ทำไมนักศึกษาที่เข้าใหม่จะต้องการความ ‘เหมือนอันเป็นกลุ่มก้อน’ ที่ว่าเล่า โดยเฉพาะเมื่อไปประกอบเข้ากับข้ออ้างที่เหล่าบรรดา ‘พี่ๆ’ ทั้งหลายชอบอ้าง ที่ว่าเวลาออกไปโลกภายนอก ไปเผชิญกับการทำงานจริง ก็โดนกดขี่ ชี้หน้าด่าแบบนี้แหละ (ว่าไปโน่น ทั้งที่ก็ยังไม่เคยทำงานครือๆ กัน และงานสมัยนี้มันมีสารพัดแบบแล้ว) แต่เอากันจริงๆ ในสังคมที่เป็นโลกจริง (หากคิดให้เผชิญกับโลกจริงอย่างปากอ้างจริงๆ) มันก็เป็นโลกที่อยู่กันแบบแตกต่างบนความเป็นร้อยพ่อพันแม่นั่นไม่ใช่หรือ? ในสังคมโลกจริงมันก็อยู่กันได้โดยไม่ต้องมาละลายพฤติกรรม สร้างความเหมือน และอยู่กันในระบบ ‘พี่น้อง’ (ที่แปลว่า ‘ลูกพี่ – ลูกน้อง’) นี่ไม่ใช่หรือ?
ถ้าเช่นนั้น โครงสร้างของการเมืองอัตลักษณ์ในระบบโซตัสก็ดูไม่เห็นจะตอบโจทย์อะไรเลยนี่? จะมีการสร้าง ‘ความเหมือน’ ผ่านลำดับชั้นความเป็น ‘พี่น้อง’ ที่ว่านี้ไปทำไม? มีไปเพื่อใคร?
ผมอยากจะเสนอชัดๆ ลงไปในที่นี้เลยครับว่า แท้จริงแล้วระบบโซตัสที่ขับเน้นอัตลักษณ์ของ ‘พี่น้อง’ นั้น ไม่ใช่การหลอมละลายพฤติกรรมเพื่อ ‘น้องๆ’ อะไรหรอก เพราะมันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลยแต่ต้นอยู่แล้ว แต่การสร้างความเหมือนนี้ เป็นการสร้างความเหมือนเพื่อสร้างตัวตนให้กับ ‘รุ่นพี่’ ต่างหาก เพื่อที่พวกปี 2 จะได้กลายเป็น somebody ได้สักที แต่การจะเป็น somebody ขึ้นมาได้นั้น ก็ต้องสร้างกลุ่มคนที่จะมาเป็นเบี้ยล่างทางอำนาจเพื่อรองมือรองตีน หรือสร้าง nobody ทั้งหลายแหล่ขึ้นมาให้ได้ก่อน ซึ่งก็คือเหล่าเฟรชชี่ปีหนึ่งทั้งหลายนั่นเอง
วิธีคิดแบบนี้นี่แหละครับที่ทำให้บรรดาเหล่า ‘รุ่นพี่’ หวงแหนในระบบอันฟอนเฟะที่เรียกว่าโซตัสนี้เสียเหลือเกิน เพราะหากไม่มี ‘น้องๆ’ ที่ไม่ได้แปลว่า ‘น้อง’ มาทำหน้าที่เป็น เหล่า Mr./Miss Nobody แล้ว พวกเขาก็จะหมดความสำคัญหรือหมดซึ่งตัวตนลง ซึ่งก็น่าแปลกประหลาดที่ในพื้นที่ทางการศึกษาอย่างในรั้วมหาวิทยาลัย กลับมาแสวงหาหรือสร้างตัวตนของตนผ่าน ‘ภาพลักษณ์ทางอำนาจ’ แบบนี้ แทนที่จะสร้างตัวตนของตนออกมาผ่านความรู้ความสามารถที่ควรจะเป็นแกนหลักของสถาบันการศึกษา
เมื่อมองจากจุดยืนนี้แล้ว ก็คงบอกได้คำเดียวว่าพวกที่ยังสนับสนุนในระบบโซตัสนี้อยู่ ทั้งที่เป็นนิสิตสักศึกษาหรือครูบาอาจารย์ ก็คงจะเป็นคนที่โดยส่วนตัวแล้วไร้ซึ่งความสามารถในเรื่องอื่นใดทั้งสิ้นทั้งปวงแล้วกระมัง จึงทำได้แค่อาศัยวิธีการอวดเบ่งทางอำนาจ ใช้พวกมากเข้าสู้เอา ว่าง่ายๆ ก็คือ คนเหล่านี้เป็นพวกที่ไม่คิดว่าตัวเองมีดีหรือมีความสามารถอะไรแล้วนั่นเอง…ในทางหนึ่งก็ดูน่าสงสารเค้านะครับ
ด้วยความหวงแหนนี้เอง ทำให้ดีเบตเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องโซตัส มักจะมาจบอยู่ดีสุดก็แค่ “งั้นก็หาอะไรมาแทนโซตัสสิ”? โดยที่น่าจะต้องถามกลับดังๆ ว่า “ทำไมต้องหาอะไรมาแทนสิ่งที่ไม่ควรจะมีแต่แรกวะ?” เข้าให้สักหลายๆ ที ความหวงแหนต่อตัวตนทางอำนาจในระบบโซตัสนี้เอง ที่ทำให้การยกเลิกโซตัสแบบ ไม่ต้องมีอะไรมาแทนที่ มันไม่ถูกมองในฐานะตัวเลือกหนึ่งจริงๆ จังๆ สักที และก็คาราคาซังกับการพยายามประนีประณอมกับวัฒนธรรมฟอนเฟะที่ไม่ควรจะมีที่ยืนแบบนี้ต่อไป
หลายท่านอ่านมาอาจจะคิดว่าผมเขียนอะไรรุนแรง ไม่พหุวัฒนธรรมนิยมเลยอะไรแบบนั้นนะครับ แต่ผมอยากจะอภิปรายให้ชัดเจนตรงนี้ว่า หากเราคิดจะเป็นประเทศประชาธิปไตย แล้วมันมีวัฒนธรรมที่มันขัดกับคุณค่าสากลในทางประชาธิปไตย เราต้องเลือกที่จะให้วัฒนธรรมนั้นมันปรับตัวเข้ากับคุณค่าสากล หรือหากปรับไม่ได้ก็ต้องตัดมันทิ้ง ไม่ใช่มาประนีประณอมรอมชอมไปเรื่อย แถมเป็นภาระต้องหาอะไรมาทดแทน แล้ววันดีคืนดีก็อ้างเรื่องพหุวัฒนธรรมนิยมมาอุดปากอีกฝ่ายไปเรื่อย
ลองนึกดูสิครับว่า การบังคับขริบคริสตอริสในประเทศมุสลิมบางประเทศ เราควร ‘หาอะไรมาทดแทนมัน’ หรือควรรอมชอมเพราะ ‘พหุวัฒนธรรมนิยม’ หรือ? การตัดหัวคนกลางที่สาธารณะในซาอุดิอาระเบีย เราควร ‘หาอะไรมาทดแทนมัน’ เพราะพหุวัฒนธรรมกระนั้นหรือ?
ไม่ครับ!
อะไรที่มันฟอนเฟะ และไม่ไปกับคุณค่าสากล ผมคิดว่าอย่างน้อยที่จะต้องกล้าต่อต้านมันอย่างตรงไปตรงมา ไม่มาบินเบือน อิดออด รอมชอม อ่อนไหวกันอย่างที่เป็นอยู่ เราต้องไม่ปล่อยให้วัฒธรรมและประเพณีใดๆ หรือข้ออ้างทางความเชื่อใดๆ มามีคุณค่าเหนือกว่าคุณค่าสากลของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู ธเนศ วงศ์ยานนาวา, ท่องไปในแดนโพสต์โมเดิร์น: ความเหมือน/อัตลักษณ์และความแตกต่างในทางการเมือง ใน รัฐศาสตร์สาร. ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 (2542), หน้า 334 – 382.