ในคลิปเปิดรับผู้สมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พูดถึง ‘ความใหม่’ เอาไว้น่าสนใจ – ว่า,
ถ้า ‘ใหม่’ หมายถึงเพิ่งมา หรือไม่มีประสบการณ์ผมไม่ ‘ใหม่’ แน่
แต่ถ้าใหม่หมายถึงสดใหม่ ผมมั่นใจว่าผมใหม่
…
คุณยอมรับคนรุ่นใหม่ พร้อมกับฟังคนรุ่นก่อนที่มีประสบการณ์จริงไหม
แต่ถ้าคุณแค่ ‘เพิ่งมา’ ขายความใหม่บนความเบื่อ ความสิ้นหวังของคน โดยไม่มีอะไรใหม่ คุณ ‘ไม่ใหม่’
ที่น่าสนใจก็เพราะคุณอภิสิทธิ์นำ ‘ความใหม่’ (Newness) มาใช้เป็นจุดขายโดยตรง ซึ่งในฐานะคนฟัง ปฏิเสธไม่ได้ว่าชวนให้คิดถึงอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มีคำว่าใหม่อยู่ในชื่อด้วย นั่นก็คือพรรค ‘อนาคตใหม่’
ดังนั้นจึงเกิดคำถามขึ้นหลายคำถาม เช่น การ ‘แข่งกันใหม่’ ถือเป็นจุดขายทางการเมืองได้ไหม และถ้าได้ เคยมีประวัติศาสตร์การขายความใหม่มาก่อนหรือเปล่า ที่สำคัญก็คือ ความใหม่ที่ว่านี้ มันมี ‘ความหมาย’ ว่าอย่างไร พรรคเก่าแก่ยาวนานอย่างประชาธิปัตย์ สามารถหยิบ ‘ความใหม่’ มาขายได้จริงหรือ ไม่กลัวคนหัวเราะหรอกหรือว่าไม่ได้ใหม่จริง และในด้านกลับกัน พรรคการเมืองที่ ‘มาใหม่’ (ซึ่งก็หมายรวมไปถึงบรรดาพรรคนอมินี – ซึ่งจริงๆ ต้องใช้ภาษาไทยว่า ‘ตัวแทนอำพราง’ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะฝั่งเชียร์เพื่อไทยหรือเชียร์คุณประยุทธ์เป็นนายกฯ) รวมไปถึงพรรคอนาคตใหม่ด้วยนั้น เป็นพรรคที่มี ‘ความใหม่’ จริงหรือเปล่า
แล้วเราจะตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างไรกัน?
กับเรื่องนี้ อัลลัน ซิคค์ (Allan Sikk) ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยุโรปตะวันออก (เขาอยู่ที่ School of Slavonic and East European Studies จาก University College London ในสหราชอาณาจักร) เคยตอบคำถามเอาไว้ (อย่างน้อยก็บางส่วน) ในบทความวิชาการชื่อ Newness as a winning formula for new political parties หรือ ‘ความใหม่’ ในฐานะสูตรสำเร็จของพรรคการเมืองใหม่ๆ
ที่จริงแล้ว บทความนี้พูดถึงการศึกษาพรรคการเมือง ‘ใหม่’ ในความหมายที่เพิ่งมาใหม่ (ณ ขณะนั้นๆ) สี่พรรค คือพรรค New Union ในลิธัวเนีย (ปี 1998), พรรค New Era ในลัตเวีย (ปี 2002), พรรค Res Publica ในเอสโตเนีย (2001) และพรรค Labour ในลิธัวเนีย (ปี 2004) แต่ฐานทฤษฎีที่เขานำมาใช้ศึกษาพรรคทั้งสี่นั้น มีหลายประเด็นที่น่าจะเข้ากัน และพอนำมาใช้อธิบาย ‘ความใหม่’ ที่มาจากถ้อยคำของคุณอภิสิทธิ์ได้ไม่น้อย
อัลลัน ซิคค์ บอกว่า ในยุโรปนั้น เวลาจะเกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา ส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดขึ้นเพราะมี ‘รอยร้าว’ (Cleavage) ในสังคมเกิดขึ้นก่อน
แต่แค่รอยร้าวเฉยๆ ยังไม่พอ จากการศึกษาของซีมัวร์ ลิปเซ็ต และสไตน์ ร็อคคาน ในงานเรื่อง Cleavage Structures, Party Systems and Voter Alignments: An Introduction เขาบอกว่ารอยร้าวที่จะไปไกลถึงถึงระดับก่อให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาได้ มักไม่ใช่รอยร้าวในระดับประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่รอยร้าวที่ว่าต้องส่งผลสะเทือนไปถึง ‘โมเดล’ ของพัฒนาการระบบพรรคการเมืองด้วย
มีข้อเสนอมากมายที่บอกว่า ความต้องการพรรคการเมืองใหม่นั้น มีรากแรกเริ่มมาจากความหลากหลายแตกต่างในสังคม (คือมี Social Heterogeneity มากขึ้น) เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณค่าต่างๆ หรือเกิดประเด็นถกเถียงใหม่ๆ ขึ้นในสังคม แต่พรรคการการเมืองเก่าที่มีอยู่แล้วไม่สามารถตอบสนองต่อการถกเถียงประเด็นใหม่ๆ เหล่านี้ได้ ซึ่งตรงนี้ก็คล้ายกับสังคมไทยนะครับ เพราะก่อนหน้าจะเกิดรัฐประหารโดยคุณประยุทธ์ กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ขึ้นมาในวิธีคิด วิธีสื่อสาร วิธีตั้งประเด็นและตั้งคำถามของสังคม แล้วก็มีกระบวนการรัฐประหารแทรกเข้ามาเสียก่อน
ที่จริง มีคนเรียกร้อง ‘พรรคการเมืองทางเลือกที่สาม’ มานานแล้ว แต่พรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งก็สอดคล้องกับทฤษฎีว่าด้วยรอยร้าวของคุณลิปเซ็ต ที่บอกว่ามันต้องร้าวไปจนถึงพัฒนาการของระบบพรรคการเมืองเสียก่อน จึงจะเกิดอะไรทำนองนี้ขึ้นมาได้
ถ้าเรามองประเด็นนี้ ก็จะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทหารทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างที่กระทบต่อ ‘ระบบพรรคการเมือง’ อย่างชัดเจน ก่อนหน้านี้ แม้จะมีแรงกดดันมากมายจากประชาชนสองฝั่งที่แตกร้าวลึกแค่ไหน เราก็ยังไม่เห็นความพยายามที่จะ ‘ใหม่’ ของพรรคการเมือง มีแต่การรวมเข้ากับฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อขันแข่งกันทั้งทางอุดมการณ์และการต่อสู้แบบอื่นๆ เท่านั้น แต่เมื่อเกิดการ ‘รบกวน’ ระบบพรรคการเมืองอย่างยิ่งยวดยาวนาน ในที่สุดก็บีบให้เกิด ‘ความใหม่’ หรืออย่างน้อยก็ ‘ความพยายามจะใหม่’ ขึ้นมา
ดูคล้ายกับว่า สถานการณ์ทางการเมืองในไทย จะเป็นไปตามทฤษฎีการเมืองของนักปรัชญาการเมืองตะวันตก (ที่ไม่ใช่ทฤษฎีใหม่ด้วยนะครับ เป็นทฤษฎีที่เก่าแก่ระดับยี่สิบสามสิบปี) ไม่น้อยเลยทีเดียว
ไซมอน ฮัก (Simon Hug) เขียนไว้ใน Altering Party Systems. Strategic Behavior and the Emergence of New Political Parties in Western Democracies ว่า ที่พรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้น หลักๆ แล้วเป็นเพราะพรรคการเมืองเก่าๆ ไม่อาจผนวก (absorb) เอาประเด็นถกเถียงใหม่ๆ เข้าไปไว้ในนโยบาย โปรแกรม หรือวาระทางการเมืองของพรรคได้ พอเป็นแบบนี้ ก็ทำให้พรรคการเมืองเก่าๆ ค่อยๆ กระเถิบห่างจากผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางกลุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงลดศักยภาพในการแข่งขันทางการเมืองลง
ฮักยังบอกด้วยว่า ตัวพรรคการเมืองเก่าเองนั้น นอกจากจะขาดความสามารถที่จะพูดถึงประเด็นใหม่ๆ แล้ว บ่อยครั้งยังกลายเป็น ‘ผู้เล่น’ ในรอยร้าวทางสังคมด้วย คือเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในอดีตอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาในปัจจุบัน
เขาถึงขั้นบอกว่า พรรคการเมืองใหม่ๆ จะไม่มีวันเกิดขึ้นมาได้ ถ้าหากว่าพรรคการเมืองเก่าๆ เหล่านั้น มี ‘ความสามารถที่จะรู้อย่างเต็มที่’ (Fully Knowledgeable) ว่าคนต้องการพรรคแบบพรรคการเมืองใหม่ที่จะเข้ามานั้นมากแค่ไหน หรือตระหนักถึงประเด็นใหม่ๆ ที่ควรหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ถ้าพรรคการเมืองเก่ามีความสามารถในทางความรู้เช่นนั้น ก็จะคิดออกมาเป็นนโยบายหรือผนวกประเด็นเหล่านั้นเข้าไว้ในการถกเถียงของพรรคแต่ต้น พรรคการเมืองใหม่จึงไม่มีโอกาสเกิด
อย่างไรก็ตาม ในอีกฝั่งหนึ่ง มีนักปรัชญาการเมืองที่ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้เหมือนกันที่พรรคการเมืองใหม่ (หรือที่อ้างตัวเองว่าใหม่) จะไม่ได้วางตัวอยู่บน ‘ประเด็นใหม่’ จริงๆ ทว่าเข้ามาสู่ภูมิทัศน์ทางการเมืองโดยใช้ประเด็นแบบเดิมแบบเดียวกับพรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งกลุ่มหนึ่งทำเพียงแค่บิดคำพูดหรือวิธีนำเสนอให้แตกต่างเพื่อเรียกคะแนนนิยม แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีประเด็นใหม่ ทว่าตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาพื่อ ‘ชำระล้าง’ ความสกปรกหรือรอยร้าวที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งทั้งสองแบบมักจะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้นำโดยคนหนุ่มสาว แต่นำโดยคนหน้าเก่าที่ยังเชื่อในโครงสร้างเก่า และเชื่อใน ‘สำนึกความดี’ (Righteous Mind) ของตัวเอง ในอันที่เข้ามาเป็นผู้ชำระล้างสังคมด้วย
ที่น่าสนใจมากๆ ก็คือแนวคิดของพอล ลูคาร์ดี (Paul Lucardie) ซึ่งเป็นนักทฤษฎีการเมืองจากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงน (University of Groningen) และเป็น Fellow ของสถาบันมองแตสกิเออร์ในฝรั่งเศส
ลูคาร์ดีวิเคราะห์ ‘ความใหม่’ ของ ‘พรรคใหม่’ โดยแบ่งออกมาเป็นสี่แบบใหญ่ๆ สี่แบบที่ว่าขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์สองอย่าง อย่างแรกก็คือตัวอุดมการณ์ (Ideology) ส่วนอย่างที่สองก็คือแรงขับเคลื่อน (Motivation)
แบบแรก ลูคาร์ดีบอกว่าเป็นพรรคการเมืองที่มาแบบ The Prophets หรือเป็นประกาศกที่มาพร้อมอุดมการณ์ใหม่เอี่ยมถอดด้ามทั้งหมด ซึ่งก็มักจะมาพร้อมกับแรงขับเคลื่อนที่รุนแรงด้วย จึงถึงพร้อมในความใหม่ในทุกๆ มิติ ถือว่าเป็น ‘ความใหม่’ ในความหมายดั้งเดิมจริงๆ คือใหม่หมดจด
แบบที่สอง เป็นพรรคการเมืองที่เข้ามาโดยไม่ได้มีอุดมการณ์ใหม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าไร้อุดมการณ์นะครับ เพียงแต่อยู่ในอุดมการณ์ที่มีอยู่แล้ว (established ideology) แต่ ณ ขณะเวลานั้น ผู้ที่ถือครองอำนาจอยู่ใช้อุดมการณ์นั้นๆ ได้ไม่ดี ไม่เต็มที่ หรือมีคอร์รัปชั่น ก็เลยต้องเกิดพรรคใหม่ขึ้นมาเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ Purifier หรือเป็นผู้ชำระล้างระบบการเมือง โดยไม่ได้อยากจะเปลี่ยนอุดมการณ์หรือโครงสร้างอะไร (ส่วนใหญ่มักจะอยากชำระล้างคอร์รัปชั่นในระบอบการเมืองเก่าเป็นหลัก)
แบบที่สาม เป็นพรรคการเมืองที่ไม่ได้ข้องแวะอะไรกับตัวอุดมการณ์ (Ideology) คือไม่ได้มีอุดมการณ์ใหม่มานำเสนอ แต่เข้ามาสู่การเมืองเพื่อเป็นตัวแทนจัดการกับประเด็นหรือผลประโยชน์เฉพาะบางอย่างในสังคมเท่านั้น แต่กระนั้น กลุ่มนี้ก็มีแรงขับเคลื่อนสูง (ไม่ว่าแรงขับเคลื่อนนั้นจะมาจากเหตุผลเบื้องหลังอย่างไรก็ตาม) ซึ่งลูคาร์ดีใช้คำที่แสนจะเฉพาะเจาะจง (เพื่อเทียบเคียงกับ Prophet) ว่า Prolocutor ซึ่งมีความหมายเฉพาะ (หมายถึงพระในนิกายแองกลิกันที่คอยดูแลเขตต่างๆ น่าจะเทียบได้กับเจ้าคณะของไทยในระดับเจ้าคณะจังหวัดหรือเจ้าคณะภาค) แต่ต่อมาภายหลังเขาน่าจะเห็นว่าคำว่า Prolocutor มันยากและเฉพาะเกินไป (แม้คำจะสวยสอดคล้องกันก็ตามที) เลยเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Advocate แทน พรรคแบบนี้ไม่มีอุดมการณ์ใหม่ๆ อยู่เบื้องหลัง แต่อยากเข้ามาจัดการนโยบายโดยรวมแบบนักบริหารมากกว่า
แบบที่สี่ คือพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่ได้สนใจทั้งอุดมการณ์ แล้วก็ไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนมหาศาลนัก อยากจะเข้ามาเพื่อดูแลบางประเด็นที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ลูคาร์ดีเรียกว่าเป็นกลุ่ม Project of Newness คือถ้าได้เข้ามาก็จะมาดูเป็นโครงการๆ ไป พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ เป็นคล้ายๆ กลุ่ม Purifier แต่เบาบางกว่า
ต่อมาภายหลัง ลูคาร์ดียังแบ่งพรรคการเมืองใหม่ๆ ออกอีกหลายแบบ เช่น แบบ Challengers ซึ่งเป็นคล้ายๆ กลุ่มที่สี่ แต่ว่ามีอุดมการณ์และมีแรงขับเคลื่อน คืออยากจะเข้าไปผลักดันบางประเด็นเท่านั้น ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้มักจะตั้งเป็นกลุ่มรณรงค์ แต่ต่อมาภายหลังก็ขยายกลายมาเป็นพรรคการเมือง (ตัวอย่างเช่นพรรค Res Publica ในเอสโตเนีย)
พรรคการเมือง ‘ใหม่’ อีกกลุ่มหนึ่งที่ลูคาร์ดีที่มีพื้นเพอยู่ในยุโรปอาจจะเห็นว่าใหม่ แต่คนไทยอาจไม่รู้สึกว่าใหม่อะไรนัก คือพรรคการเมืองแบบยึดถือตัวบุคคล ลูคาร์ดีเรียกว่าเป็นพรรคแบบ Idiosyncratic คือมีคนใหม่ๆ ที่น่าสนใจมาเป็นผู้นำพรรค ทำให้พรรคแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่มักจะเป็นพรรคชั่วคราว (ซึ่งคำว่าชั่วคราวอาจกินเวลานานพอสมควรนะครับ) ตัวอย่างของพรรคนี้ก็คือพรรค Forza Italia ซึ่งมีผู้นำอย่างซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี เป็นต้น
จะเห็นว่า เพียงพยายามดูความหมายของ ‘ความใหม่’ ของพรรคการเมืองจากสำนักเดียว เราจะพบว่ามีความหมายมากมายซ้อนทับกันอยู่ไม่รู้จักกี่ชั้น
ดังนั้น เวลาที่เราเห็นพรรคการเมืองอ้างว่าตัวเอง ‘ใหม่’ จึงอย่าเพิ่งด่วนเชื่อ แต่ต้องลองค่อยๆ พิจารณาดูอีกทีนะครับ ว่าที่เขาอ้างว่า ‘ใหม่’ นั้น มัน ‘ใหม่’ ใน ‘ความหมาย’ แบบไหนกันแน่
พรรคการเมืองไทยทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ที่กำลังประกาศตัวว่าใหม่อยู่ในขณะนี้ เป็นผู้เล่นที่สามารถถูกจักประเภทให้เป็นอะไร ระหว่าง Prophet, Prolocutor, Purifier, Project หรืออื่นๆ
และที่สำคัญที่สุด ความ ‘ใหม่’ ที่ว่า – มันสอดรับกับความต้องการและอุดมการณ์ทางการเมืองของเรามากน้อยแค่ไหน
และเอาเข้าจริง เรายังถวิลหา ‘ของเก่า’ อยู่หรือเปล่า?