สวัสดีครับ บทความชิ้นนี้ เป็นชิ้นแรกของคอลัมน์ใหม่ที่ชื่อ Politics of things ที่ผมตั้งใจจะนำเรื่องราวของสิ่งต่างๆ มาอภิปรายถึงบริบทในทางการเมืองของมัน อาจจะในแง่เชิงปรัชญา ความเป็นมา หรือบทบาทของสิ่งนั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องซึ่งบ่อยครั้งอาจจะไม่ถูกตั้งคำถามหรือมองผ่านกรอบคิดทางด้านการเมืองมากนัก ว่าง่ายๆ ก็คือ เรื่องที่คนมักจะคิดกันว่า ‘ไม่เกี่ยวกับการเมือง’ นั่นแหละครับ จุดประสงค์หลักเลยเพื่ออยากจะให้เห็นว่า การเมืองนั้นมันเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่คิด แม้แต่กับเรื่องที่เราไม่ทันคิดถึง หรือไม่ทันรู้ตัว นั่นเองครับ
แล้วไหนๆ ชื่อคอลัมน์ก็ชื่อว่า Politics of things หรือการเมืองของสิ่งต่างๆ แล้ว ก็เลยอยากเริ่มต้นด้วยการลองมาชักชวนให้คิดถึงสิ่งที่ถูกเรียกว่า “สรรพสิ่ง หรือทุกสิ่ง” (everything) ว่ามันคืออะไรกันแน่หนอ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว คำนี้มีความซับซ้อนในตัวเองมากอยู่ มากกว่าที่ปกติจะไปนึกถึงมันแน่ๆ
เราพูดคำว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ อะไรแบบนี้กันอยู่บ่อยๆ เป็นคำหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราเลยก็คงพอจะว่าได้ คำถามก็คือ เวลาเราพูดว่า ‘ทุกอย่าง’ นั้น มันหมายถึงอะไรกันแน่? ผมคิดว่าการพูดถึงคำว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ นั้น ถูกใช้งานหลักๆ ในสามลักษณะคือ
- บนเงื่อนไขจำกัดที่ตัวผู้ใช้คำรับรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว กล่าวคือ เป็นการใช้คำว่า ‘ทุกอย่าง’ หรือ ‘ทุกสิ่ง’ แบบไม่ได้ตรงตามตัวอักษรจริงๆ แต่หมายถึง ทุกอย่างตามข้อจำกัดรับรู้ ณ ช่วงเวลานั้นๆ เช่น การสั่งว่า ก๋วยเตี๋ยวเนื้อทุกอย่าง ทุกอย่างในที่นี้จึงหมายถึงเฉพาะทุกสิ่งอย่างตามเงื่อนไขที่เรารับรู้หรือคาดเดาไว้ก่อนอยู่แล้วว่าคืออะไรบ้าง ‘ทุกอย่าง’ ในที่นี้จึงหมายถึง ‘ทั้งหมดที่มีอยู่/ใส่ได้’ เป็นต้น
- เป็นการใช้คำว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ แบบตามตัวอักษรมากขึ้น คือ หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างจริงๆ แต่มันตามมาด้วยสิ่งที่เราต้องคิดตามจริงๆ แล้วล่ะครับว่า ไอ้ทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาเราพูดถึงนั้น เรากำลังพูดถึงทุกสิ่งขนาดไหนกัน? โดยทั่วๆ ไปแล้วการใช้คำนี้ในแง่แบบตามตัวอักษรนั้นมักจะอยู่ในขอบเขตของสิ่งที่เรา คิดถึงได้ (thinkable) หรือทำความเข้าใจถึงได้ (comprehensible) หรือรับรู้ได้ (perceptible) นั่นเอง ในแง่นี้ความเป็นทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันสัมพันธ์โดยตรงกับความสามารถในการคิดและรู้ของเราด้วย และนั่นแปลว่าคำว่าทุกสิ่งทุกอย่าง แบบตามตัวอักษรที่มันควรจะเหมือนกัน (อย่างน้อยๆ ในทางตรรกะศาสตร์) นั้นมันไม่เคย ‘เหมือนกัน’ เลย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างของแต่ละคนไม่เคยเป็นสิ่งเดียวกัน ทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แม้แต่ในคนคนเดียวกัน เพราะพัฒนาการทางความคิดของมนุษย์แต่ละคนในแต่ละช่วงเวลานั้น ย่อมต่างกันไปด้วย อย่างการใช้คำว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่จีรัง หรือ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตฉันมันหมดสิ้นลงแล้ว (จริงๆ กรณีหลังนี้เป็นได้ทั้งแบบ 1 และ 2 แล้วแต่บริบทที่ใช้ด้วย) หรือเวลาที่เราพูดถึง Theory of Everything ในโลกฟิสิกส์ทฤษฎี (theoretical physics) ไปจนถึงหนังสือแนวๆ History of (Almost) Everything เป็นต้น
- แบบที่สามนี้ในแง่หนึ่งมีความคล้ายกับแบบที่ 2 อยู่ครับ คือ พูดถึง ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ในแบบตามตัวอักษรเลยนี่แหละครับ แต่เป็นการใช้ในความหมายที่ซ้อนรวมเอาถึงสิ่งซึ่งอยู่เหนือความสามารถในการรับรู้ของเราเข้าไปด้วย (beyond perceptibility) ซึ่งมักจะผูกอยู่กับตัวตนบางอย่างในความรับรู้ของเรา (ซึ่งจะมีจริงหรือไม่ก็ได้ แต่อยู่ในขอบเขตความรับรู้ของเรา) ซึ่งตัวตนดังกล่าวนั้นผูกติดกับเงื่อนไขหรือเรื่องเล่าในการรับรู้ของเราอีกทีว่าผูกโยงเข้ากับการมีอยู่ของบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะอยู่นอกเหนือขีดความสามารถในการรับรู้ของตัวเราเองในฐานะมนุษย์ได้ด้วย การใช้งานคำว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ในแง่นี้มันจึงหมายรวมถึง the unthinkable หรือสิ่งซึ่งไม่สามารถคิดถึงได้ สำหรับตัวเราเองด้วย อย่างกรณีที่พูดถึงเทพพระเจ้า หรือพระผู้เป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะแบบ omnipotent และ omnipresent (มีอำนาจในการทำทุกสิ่งอย่าง และอยู่ในทุกที่ทุกหนแห่ง) นั้น ความเป็น ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่อยู่ใต้อำนาจที่ว่านี้ จึงหมายรวมถึงทั้งที่เรารู้จัก สามารถคิดถึงได้ และสิ่งที่เหนือกว่าความสามารถรับรู้ใดๆ ของเราในฐานะมนุษย์ด้วย ในแง่นี้สำหรับคนที่แชร์เรื่องเล่าที่ของตัวตนซึ่งยึดโยงอยู่กับสิ่งซึ่งอยู่เหนือความสามารถในการคิดถึงได้ด้วยกันนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะใช้คำว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ในความหมายเดียวกัน และเป็นสิ่งๆ เดียวกันด้วยนั่นเอง
ในแง่นี้เอง เราจะเห็นได้ว่า หากลองมาคิดถึง ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ อย่างจริงจังขึ้นแล้ว เราจะพบความซับซ้อนในตัวมันไม่น้อยเลยครับ และมันสัมพันธ์กับการเมืองได้โดยตรง โดยเฉพาะในการใช้งานแบบที่ 2 และ 3 ในกรณีของแบบที่ 2 นั้น เราอาจจะพูดได้ว่าบริบทต่างๆ ของการเมืองนั้น มันส่งผลโดยตรงกับความสามารถในการคิดได้ การรับรู้ได้ เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างนโยบายการศึกษา สื่อ ไปจนถึงสาธารณูปโภค กฎหมาย และวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคม แต่หากเราจะลงไปลึกกว่านั้นอีกสักนิดผมคิดว่าเราสามารถรวบยอดมาได้ที่การมีอยู่ของ ‘ข้อห้าม/สิ่งต้องห้าม’ ในสังคมการเมืองต่างๆ นั่นเองครับ หรือหากจะพูดด้วยภาษาแบบตอนนี้อาจจะต้องใช้คำว่า ‘เพดานของการคิดได้/พูดได้/ศึกษาได้’ ในสังคมนั่นเอง
ยิ่งสังคมมีข้อห้ามที่มากเท่าไหร่ มีเพดานของการคิดได้ต่ำเท่าไหร่ ความสามารถในการจะคิดและทำความเข้าใจได้ย่อมต่ำลงไปด้วยนั่นเอง ว่าง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการรู้ได้ คือ เรื่องของการเมืองโดยตรง
และมันทำให้ความเป็นการเมืองกับ ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’
ผูกโยงกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ด้วย
กรณีแบบที่ 3 นั้นก็ยิ่งสัมพันธ์กับการเมือง เพราะมันผูกโยงเข้ากับ ‘เรื่องเล่าที่ผูกโยงเข้ากับตัวประชากรอีกทีหนึ่ง’ ซึ่งแทบจะเป็นความหมายหนึ่งกลายๆ ของคำว่าการเมืองเลยก็ว่าได้ อำนาจของเรื่องเล่านั้น มีพลังที่แสนวิเศษมากนะครับ และเป็นจุดตัดสินระดับประวัติศาสตร์ความอยู่รอดของมนุษย์ในฐานะเผ่าพันธุ์มาแล้วตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ในงาน Sapiens ของยูวัล แฮรารี ที่แสนจะโด่งดังนั้น ได้พูดถึงคุณสมบัติประการหนึ่งของโฮโมเซเปี้ยนส์ที่สำคัญไว้ ที่ทำให้เราซึ่งไม่ได้มีร่างกายที่แข็งแรงที่สุด หรือกระทั่งสมองที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับมนุษย์สายพันธุ์อื่นๆ กลายมาเป็นผู้ได้รับชัยชนะในท้ายที่สุดได้ นั่นเพราะเราเป็นมนุษย์และสิ่งมีชีวิตประเภทเดียวที่มีความสามารถในการ ‘สร้างเรื่องเล่าถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ หรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตในการรับรู้ของตัวเราเองในฐานะสิ่งมีชีวิตได้’
ความสามารถในการพูดถึงสิ่งในจินตนาการ หรือสร้างเรื่องเล่าของสิ่งเหนือจริงขึ้นได้นี้เองที่กลายเป็นความสามารถซึ่งสามารถรวบรวมเอาโฮโมเซเปี้ยนส์จำนวนมากให้มาอยู่ร่วมกัน และกลายเป็นเงื่อนไขหลักในการมีชัยไป ในแง่นี้เราจะเห็นได้ว่า การผูกติดกับบางสิ่งบางอย่างซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถในการรับรู้หรือกระทั่งมีอยู่จริง สำหรับมนุษย์อย่างเรานั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย เรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติสามัญแต่พิเศษยิ่งในตัวมันเอง เรื่องเล่าเหล่านี้ พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นสารพัดสิ่ง ทั้ง ศาสนา วัฒนธรรม ความรู้ กฎหมาย มูลค่าของเงินตรา เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้มันจึงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลยครับ ในการจะเข้าใจได้ว่า ‘แล้วอะไรเล่าคือ ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แต่ละคนกำลังพูดถึงอยู่’ เพราะมันล้วนมีเรื่องเล่า มีการเมืองซ่อนอยู่ในตัวมันเสมอ
ไม่เพียงเท่านั้นอีกรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและทุกสิ่งทุกอย่าง ที่มักถูกพูดถึงก็คือ ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า The Politicization of Everything หรือ การทำทุกสิ่งให้เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งแน่นอนความซับซ้อนของมันเริ่มตั้งแต่ ‘หัวเรื่อง’ เองแล้ว นี่ก็เป็นการเมืองแบบหนึ่ง เพราะไม่มีทางที่คนจะเข้าใจและรับอย่างต้องตรงกันหรอกครับว่าอะไรคือการนับว่าเป็นการทำให้เป็นการเมืองบ้าง และอะไรบ้างคือ ‘ทุกสิ่งทุกอย่าง’ ที่ว่า (รวมไปถึงการที่ผมเขียนอธิบายแบบนี้ก็ทำให้การเขียนอธิบายเรื่องนี้ กลายเป็นการเมืองซ้อนเข้าไปอีกทีหนึ่งด้วย)
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้ หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว ไม่ถึงกับเป็นการสร้างชุดคำอธิบายที่พยายามจะเคร่งครัดละเอียดละออในทางวิชาการอะไรนัก แต่เป็นสภาวะกึ่งแซะโลกทางสังคมการเมืองและวิชาการเองอีกทีหนึ่งมากกว่า จากการที่เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็ดูจะจับมาโยงและนับเป็นเรื่องทางการเมืองได้หมด (อย่างที่ผมทำให้ดูในย่อหน้าก่อนนั่นแหละครับ) ซึ่งท่าทีของการทำให้ทุกอย่างเป็นการเมืองนั้น จะบอกว่าเป็นการสะสมของพัฒนาการทางความคิดในโลกสังคมศาสตร์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ได้ กล่าวคือ การเกิดขึ้นของสำนักคิดใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่าง มาร์กซิสม์, หลังอาณานิคมศึกษา, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม, สัญศาสตร์, สตรีนิยม, หลังมนุษยนิยม, ฯลฯ นำมาซึ่งความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ ในการมองสิ่งต่างๆ ให้เป็นเรื่องทางการเมืองได้ ไล่ไปตั้งแต่ชนชั้น สีผิว เพศ เพศสภาพ ปากกา ตู้เย็น ผงซักฟอก โค้ก หรือการดูมวยปล้ำ เป็นต้น ในแง่นี้ เราอาจจะพูดได้ว่า ในช่วงอย่างน้อยที่สุด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การเมืองถูกทำให้อยู่ในทุกสิ่งไป และกลายเป็นมาตรฐานในการมองหลักของโลกสังคมศาสตร์ไปด้วย จนถึงปัจจุบันนี้
อย่างไรก็ตามการทำทุกสิ่งให้เป็นการเมืองนั้น ก็มีปัญหา
หรือความเป็นการเมืองในตัวของมันอีกด้วย
ประการแรกเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมันนับเป็นการเมืองไปหมด มันทำให้ ‘ความเป็นการเมือง’ ในตัวมันเองหมดความหมายหรือคุณค่าไปด้วยในตัว กล่าวอีกอย่างก็คือ หากทุกสิ่งทุกอย่างคือการเมือง การมีอยู่ของความเป็นการเมืองก็เท่ากับเป็น ‘ค่าโดยปริยาย’ ไปหรือเปล่า และเมื่อทำแบบนี้ ความเป็นการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่แล้วสิ เพราะเราไม่จำเป็นต้องแบ่งสิ่งที่มันเป็นการเมืองได้กับไม่ได้อีกต่อไป
ประการที่สอง พอทุกสิ่งทุกอย่างมันนับเป็นการเมืองได้ และต่างเรียกร้องหาความสำคัญหรือตำแหน่งแห่งที่ในการจัดการเหมือนกันหมด มันทำให้เกิดการขัดแย้ง ขวางทางกันอย่างมากมายหลากหลายไปหมด และบ่อยๆ ครั้งภายใต้ร่มของคำอธิบายเดียวกันด้วย อย่างการพูดถึงการเมืองของวัฒนธรรมผ่านกรอบคิดเรื่องพหุวัฒนธรรมนิยมที่อภิปรายภายใต้ร่มของสิทธิมนุษยชน ก็ขัดหรือกระทั่งแย้งกับหลักกฎหมายและการประกันความมั่นคงของมนุษย์ก็อยู่ภายใต้ร่มของคำอธิบายของแนวคิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน เช่นนี้เองมันนำมาซึ่งความอลหม่านมากมาย กระทั่งเมื่อจะมีการจัดลำดับความสำคัญว่าควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดก่อน ตัวการจัดลำดับเองก็นำมาซึ่งความขัดแย้งและการเมืองในตัวมันอีกมากมายด้วย และสุดท้ายก็กลายไปเป็นท่าทีแบบคลาสสิกที่ตีกันอย่างไม่จบไม่สิ้นเลยก็มี อย่างฝั่งเสรีนิยมที่อาจจะจัดลำดับความสำคัญให้กับเสรีภาพ สังคมนิยมที่จัดลำดับความสำคัญให้กับความเสมอภาค สัจนิยมที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับอำนาจ ไล่ยาวไปยันสิ่งแวดล้อมนิยมที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก่อน เป็นต้น
เช่นนี้แหละครับ มันเลยจึงเกิดปรากฏการณ์ Politicization of Everything ขึ้นมา เพื่อสะท้อน ‘ความอยู่ยาก’ ของการมีทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวที่กลายเป็นเรื่องทางการเมืองไปหมด และทุกเรื่องนั้นต้องคิดต้องระวัง (concern) ถึงตลอดเวลา จนมันก็นำมาซึ่งความสงสัยของเหล่าคนที่แซะสภาพดังกล่าวนี้ด้วยว่า หากสภาพมันเป็นอยู่แบบนี้ เรา (มนุษย์ทั้งมวลนี่แหละ) จะใช้ชีวิตในฐานะมนุษย์จริงๆ ได้อย่างไร ในเมื่อ Politicization of Everything มันมาตีกรอบเราจนเราแทบจะเป็นตัวของตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว และกระทั่งการพูดว่า “เป็นตัวของตัวเอง” ก็ไม่ใช่เป็นการเป็นตัวของตัวเองอีกต่อไป เพราะมันก็ยังต้องมาตีความทางการเมืองกันอีกว่าสุดท้ายแล้วมันคือห่าอะไรกันแน่!
โอ้ยยยยย อยู่ยากจังโว้ย