เอาเข้าจริงแล้ว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำว่า ‘แม่มด’ อย่างที่เกิดเป็นปรากฏการณ์ ‘ล่าแม่มด’ ในสังคมเส็งเคร็งบ้านเราอยู่บ่อยๆ เพราะคำว่า แม่มด (หรือจะ พ่อมด ก็ช่าง) ของไทยมักจะให้ภาพถึง คนมีของ ผู้มีเวทมนตร์ นักไสยศาสตร์ หรืออะไรในเทือกๆ นั้น ซึ่งให้ภาพที่ต่างไปจากแม่มด ที่ถูกล่ากันในโลกตะวันตกเขา
อย่าเพิ่งเถียงผมนะฮะ ผมเองก็มโนเห็นภาพน้อง เอ็มม่า วัตสัน ในฐานะแม่มดเฮอร์ไมโอนี่ แห่งฮอกวอตต์อยู่บ่อยๆ แน่นอนว่าแม่มดน้อยคนนี้ มีลักษณะของผู้มีเวทมนตร์สารพัดอยู่แหงแซะ แต่คุณๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดจนถูกล่านั่นเป็นอีกเรื่อง เอาเป็นว่าผมจะลองยกตัวอย่างการล่าแม่มดกรณีดังๆ มาให้ลองอ่านเปรียบเทียบดู เผื่อจะนึกภาพออกกันดีกว่าเนอะ
ที่เมือง Dillingen ในแคว้น Bavaria ทางตอนใต้ของเยอรมนี ในเรือน พ.ศ. 2130 หญิงหม้ายเลี้ยงชีวิตตนเองเพียงลำพังคนนึงที่ชื่อ วัลพูก้า เฮาสแมนนิน (Walpurga Hausmannin) ถูกสงสัยว่าเป็น ‘แม่มด’ ส่วนเหตุผลน่ะเหรอครับ? ก็เพราะความที่เธอไม่ชอบจะไปสุงสิงกับใคร (ประกอบกับผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไรของผู้มากบารมีในท้องถิ่น) ก็เท่านั้นแหละ!
สุดท้ายนางก็เลยถูกนำตัวขึ้นมาไต่สวนในปีพุทธศักราชดังกล่าว หลังจากที่มีการกล่าวหาว่า เธอเกี่ยวข้องกับการตายอย่างผิดปกติของทารกแรกเกิดในหญิงสาวหลายคนในหมู่บ้าน ในวัว ในม้า ในห่าน ในหมู และในสารพัดบลาๆๆๆ โดยมีเพื่อนบ้านที่เกลียดชังนางเป็นพยานในเรื่องที่ตรรกะวิบัติเหล่านี้
แน่นอนว่านางถูกตั้งข้อหาว่าเป็นแม่มด และสุดท้ายก็ถูกตัดสินโทษให้เผาทั้งเป็น แต่ที่คนพวกนั้นมีสิทธิที่จะเผานางกันอย่างนี้ได้ เป็นเพราะนางสารภาพว่าได้พบปะกับปีศาจ ฟีเจอริ่งกับพวกมัน และกระทั่งยอมยกตนเองเป็นทาสของพวกมันด้วย (อ่าว!)
คำถามก็คือ ทำไมนางจึงยอมรับสารภาพในสิ่งที่ไม่เป็นจริง และดูจะเป็นเรื่องเพ้อเจ้ออย่างนี้ โดยเฉพาะเมื่อมองจากสายตาของพวกเราในปัจจุบัน ที่รู้แน่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง? (อย่างน้อยเหตุผลทำนองนี้ก็คงนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมปัจจุบันไม่ได้ ส่วนใครจะเชื่อว่ามีอยู่จริงนั่นก็แล้วแต่ความเชื่อส่วนบุคคลนะครับ ข้อเขียนชิ้นนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง)
คำตอบก็คือเธอโดนทรมานอย่างแสนสาหัสเลยแหละครับ
อันที่จริงแล้วบทลงโทษที่นางเฮาสแมนนินได้รับโหดร้ายยิ่งกว่าที่จะถูกเผาทั้งเป็นไปเฉยๆ อยู่มากเลยเหอะ ก่อนที่นางจะถูกเผาทิ้ง นางต้องทนทุกข์เวทนากับถูกตัดร่างกายออกเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าอก แขน หรือมือ ก่อนจะเผาร่างกายส่วนที่เหลือ แล้วนำเถ้าถ่านของเธอไปโปรยลงในแม่น้ำ ดังนั้นถ้านางจะทนไม่ไหวแล้วรับสารภาพให้ตายๆ ไป ผมก็ไม่เห็นว่าน่าแปลกใจเท่าไหร่นักหรอก
พูดง่ายๆ ว่าในยุคนั้น การทรมานผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดขณะที่ถูกคุมขังเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องมโนฝันเฟื่องขนาดไหนก็ตาม แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาจะรับสารภาพว่า ตนเองเป็นแม่มดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติเป็นอย่างยิ่ง ในทุกๆ กรณี ไม่เพียงเฉพาะกรณีของนางเฮาสแมนนินเท่านั้น
โดยเฉพาะเมื่อคำสารภาพที่ว่า ก็คือสิ่งที่คณะลูกขุนอยากได้ยินเป็นที่สุดด้วยเช่นกัน
ข้อมูลเกี่ยวกับนางเฮาสแมนนินที่ผมเล่าให้ฟังนี้ ผมนำมาจากตอนหนึ่งในหนังสือเล่มน้อยที่ชื่อ ‘ล่าแม่มด’ ของ ‘อาจารย์ต้น’ อนุสรณ์ ติปยานนท์ ซึ่ง อ.ต้น ก็ได้แสดงความเห็นเอาไว้ในหนังสือเล่มนั้นด้วยว่า
“การพูดถึงปีศาจ (ของนางเฮาสมานิน) มีนัยความหมายที่ซับซ้อนกว่าปีศาจที่มีตัวตนจริง หากแต่เป็นปีศาจในจินตนาการ ปีศาจในความรู้สึกของการถูกผลักให้เป็นคนนอก”
ตรงนี้แหละครับที่น่าสนใจ เพราะในเมื่อนางเฮาสมานินเป็นคนนอกแล้ว ใครบ้างล่ะที่ถูกนับเป็นคนใน?
แน่นอนว่า ทั้งเพื่อนบ้านผู้เป็นพยาน ผู้พิพากษา และคณะลูกขุนนั่นก็เป็นคนใน บิชอปประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะลูกขุน ที่ยึดที่ดินของนางเฮาสมานินมาเป็นของตนเอง หลังจากที่ผลักให้เธอต้องถูกเผาทั้งเป็นนั่นก็ยิ่งเป็นคนใน
ในกรณีนี้ ‘คนใน’ นอกเหนือจากที่จะเป็นฝ่ายที่อ้างว่ายืนอยู่ใต้ร่มบารมีของพระเจ้าแล้ว ยังเป็นผู้ที่สมยอมต่ออำนาจรัฐ ที่ดูจะไม่เป็นธรรมเท่าไหร่นักอีกด้วย และแม้ว่าดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดทั้งหมดในชุมชนทางตอนใต้ของเยอรมนี ที่นางเฮาสแมนนินอาศัยอยู่ในยุคนั้น ก็คงต้องถูกนับเป็นคนใน คืออย่างน้อยก็ไม่ถูกนับเป็น ‘คนนอก’ อย่างนางเฮาสมานิน
แต่ ‘แม่มด’ ในสังคมไทยถูกนับว่าเป็นคนนอกอย่างนางเฮาสแมนนิน ผู้น่าสงสารด้วยหรือเปล่า? ผมตอบแบบไม่ต้องคิดมากได้เลยครับว่า ไม่ใช่
แม่มดหมอผี หรือจะพ่อมดหมอผี มีสถานภาพเป็นคนในเสมอ ยิ่งในสังคมก่อนที่จะรับเอาศาสนาพุทธจากอินเดียเข้ามานี่นะ บางทีก็เป็นผู้อาวุโสของชุมชน บ้างก็เป็นหัวหน้าเผ่า แต่ที่แน่ๆ คือพวกเค้าเป็นผู้วิเศษครับ แล้วอะไรที่สำคัญ เป็นคนตัวใหญ่เบิ้มขนาดนี้ ในสังคมไหนบ้างที่จะนับพวกเค้าเป็นคนนอก?
ผมถึงสงสัยว่า บางที ‘แม่มด’ ในสังคมของเรามันดูจะตรงกับคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า ‘sorcerer’ (ที่ผมอยากจะแปลว่า ‘ผู้วิเศษ’) มากกว่าที่จะเป็นคำว่า ‘witch’ ส่วนแม่มดที่ถูกล่ากันในโลกตะวันตกน่ะ อ่านๆ ดูจากเคสของนางเฮาสแมนนินแล้ว เดี๋ยวก็ถูกกล่าวหาว่าทำให้สัตว์เลี้ยงตายบ้าง เดี๋ยวก็บอกว่าทำให้เด็กในท้องแท้งตายมันซะอย่างนั้นบ้าง บอกได้คำเดียวว่าถ้าอยู่เมืองไทยข้อหานี้ถูกจับยัดเป็นได้เพียงกรณีเดียวคือ ‘ปอบ’ เท่านั้นแหละ
‘ผีปอบ’ นี่แหละครับคือ ‘คนนอก’ ในสังคมไทยของจริง หลุกหลิกๆ ไม่สบตา ไม่สุงสิงกะใคร ชอบหลบไปอยู่โดดเดี่ยว ปลูกเรือนซะห่างไกลผู้คนในชุมชน แต่รู้หมดว่าบ้านไหนมีตัวอะไรให้ควักตับไตไส้พุงมาพอประทังให้อิ่มท้องของปอบได้บ้าง? ใครท้องใครอะไรรู้หมดครับ ลักษณะทั้งหมดนี่มันข้อกล่าวหาที่นางเฮาสแมนนินโดนทั้งนั้นแหละ