1.
ฆอร์เก้ มาริโอ แบร์โกโญ่ (Jorge Mario Bergoglio) ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1936 จากครอบครัวผู้อพยพทางตอนเหนือของอิตาลีที่มาอยู่ในประเทศอาร์เจนติน่า พ่อของแบร์โกโญ่ทำงานเป็นคนงานรถไฟ ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน และเขาเป็นพี่คนโตและมีน้องอีก 4 คน
พ่อของแบร์โกโญ่หนีภัยลัทธิฟาสซิสม์ซึ่งในเวลานั้นกำลังครอบงำอิตาลีภายใต้รัฐบาลของมุสโสลินี (Benito Mussolini) มาอยู่ที่อาร์เจนติน่า แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่ได้ดีมากนัก ต้องอดอยากตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นที่ตกต่ำและกำลังจะก่อตัวเป็นความขัดแย้งบานปลายจนเป็นสงครามโลกครั้งที่ 2 โชคดีที่อเมริกาใต้ไม่ใช่สมรภูมิแห่งสงครามที่โหดร้าย จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
แบร์โกโญ่มีคุณย่าเป็นแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะการปลูกฝังให้รักการอ่าน ซึ่งเล่มโปรดของเขาคืองานวรรณกรรมคลาสสิคของอิตาลีเรื่อง I Promessi Sposi ที่เขาอ่านมาแล้ว 3 รอบด้วยกัน นอกจากนี้เขายังเติบโตมาเหมือนคนอาร์เจนติน่าทั่วๆ ไปที่มีฟุตบอลเป็นกีฬาโปรด ในเวลาต่อมาเขายอมรับว่าเป็นแฟนบอลของสโมสรฟุตบอลทีมซานลอเรนโซ่[1]
ชายหนุ่มเรียนจบทางด้านเคมี โดยระหว่างเรียนหนังสือนั้น เขาเคยทำงานคุมบาร์เหล้าเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเล่าเรียน และชอบการเต้นแทงโก้มาก นอกจากนี้ชายหนุ่มยังพูดได้ 3 ภาษาคือ สเปน อิตาลีและเยอรมัน เมื่อแบร์โกโญ่ อายุ 33 ปี ด้วยความศรัทธาต่อโบสถ์ทำให้เขาตัดสินใจละทิ้งทางโลกเดินเข้าสู่เส้นทางแห่งศาสนา เป็นนักบวชรับใช้พระเจ้าในคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
จวบจนผ่านมาเกือบหลายสิบปี แบร์โกโญ่เป็นนักบวช เป็นพระคาร์ดินัล และเมื่อปี ค.ศ.2013 ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมเด็จพระสันตะปะปาฟรานซิส โดยชื่อฟรานซิสมาจากชื่อของนักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซี (Saint Francis of Assisi) นับเป็นพระสันตะประปาพระองค์แรกที่ไม่ได้เป็นคนยุโรป
การดำรงตำแหน่งพระประมุขแห่งรัฐวาติกันและพระประมุขศาสนจักรโรมันคาทอลิกองค์ที่ 266 ไม่ได้ทำให้พระองค์เปลี่ยนไป พระจริยวัตรยังคงเดิมเหมือนเมื่อครั้งเป็นบาทหลวงในอาร์เจนติน่า
พระองค์ยังคงหายใจด้วยปอดข้างเดียว หลังจากต้องผ่าตัดเอาปอดข้างหนึ่งออกจากการติดเชื้อในวัยหนุ่ม
พระองค์ยังคำนึงถึงคนยากจนและผู้ลี้ภัย ก่อนจะเป็นสมเด็จพระสันตะปะปา พระองค์ไม่มีแม้กระทั่งคนขับรถส่วนตัวและชอบเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถเมล์ และชอบอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนท์เล็กๆ และทำอาหารกินเอง
เมื่อพระองค์ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตประปา พระองค์ได้ตรัสกับชาวอาร์เจนติน่าไม่ให้เดินทางมาที่กรุงโรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง แต่ควรเอาเงินค่าตั๋วเดินทางไปบริจาคให้คนยากไร้แทน
เพราะคนยากจนคือคนที่พระองค์ใส่ใจเป็นที่สุด
ในปี ค.ศ.2001 สมเด็จพระสันตะปะปาฟรังซิสในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล ทรงล้างเท้าให้กับคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเอดส์ 12 คน สร้างความประหลาดใจให้กับคนในโรงพยาบาลบัวโนสไอเรส ในเมืองหลวงของอาร์เจนติน่าเป็นอย่างมาก ทั้งนี้พระองค์ยังจูบเท้าของผู้ป่วย แล้วบอกกับสื่อมวลชนเพื่อย้ำเตือนว่า “สังคมหลงลืมคนป่วยและคนยากไร้”
เมื่อเป็นสมเด็จพระสันตะปะปาฟรานซิส พระองค์ทรงเดินทางไปทั่วโลก และในวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้ พระองค์จะเสด็จเยือนประเทศไทย ถือว่าเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ นับเป็นพระสันตะประปาพระองค์ที่ 2 ที่เสด็จเยือนประเทศไทย หลังจากสมเด็จพระสันตะปะปาจอห์น ปอลที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2527 หรือเมื่อ 35 ปีก่อน
สำหรับคนไทยแล้ว การได้ต้อนรับพระองค์นับเป็นเกียรติอันสูงสุด
เกียรติอันนี้หาใช่จากตำแหน่งของพระองค์เพียงเท่านั้น แต่ยังมาจากพระกรณียกิจมากมายที่พระองค์ทรงทำเพื่อโลกใบนี้
2.
พระองค์ได้รับการขนานนามจากสื่อมวลชนว่าเป็นแชมป์เปี้ยนของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพทั่วโลก ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยนักการเมืองที่ต่อต้านผู้อพยพ ปลุกเร้ากระแสรักชาติ พระองค์กลับดำเนินพระกรณียกิจตรงกันข้าม โดยพระองค์ยังไม่เลือกว่าผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะนับถือศาสนาใดอีกด้วย
พระองค์เรียกร้องให้มีการบริจาคทานแก่ผู้อพยพทุกคน และตลอดการเป็นสมเด็จพระสันตะปะปานั้น พระองค์เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยทั่วทั้งโลก
โดยพระองค์เคยตรัสถึงคนที่ยากจนสุดและคนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความอยุติธรรม เศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ทั้งในท้องถิ่นและในระดับโลก โดยพระองค์ได้เรียกร้องให้โบสถ์โรมันคาทอลิกตอบรับความท้าทายต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยด้วยคำเพียง 4 คำ นั่นก็คือ “ต้อนรับ ปกป้อง สนับสนุน และบูรณาการ” โดยพระองค์ให้ถือว่าเป็นหน้าที่ของโบสถ์ที่จะต้องขยายขอบเขตไปยังทุกคนด้วย พระองค์เน้นว่าด้วยการปฏิบัติตาม 4 คำนี้ จะเป็นสนับสนุนการวัฒนาความเป็นมนุษย์แก่ทุกๆ คน
สมเด็จพระสันตะปะปาฟรานซิสได้เตือนถึงผู้คนที่อาจหวาดกลัวและไม่รู้จักผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่มายังบ้านของพวกเรา และต้องการปกป้องความปลอดภัยและอนาคตที่ดีกว่า โดยชี้ให้เห็นว่าความกลัวนี้จะนำไปสู่ความไม่อดกลั้นและการเหยียดผิว
เมื่อครั้นเสด็จเยือนประเทศบัลแกเรียที่เปิดรับผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคน พระองค์กล่าวชื่นชมบัลแกเรียว่า “ยินดียิ่งที่ท่านไม่ปิดตา ปิดหัวใจหรือปิดอ้อมแขนต่อธรรมเนียมอันดีงามเมื่อมีคนเคาะประตูบ้านพวกท่าน”
แน่นอนว่าด้วยมุมมองต่อผู้ลี้ภัย ทำให้พระองค์ถูกโจมตีจากนักการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลก
รวมถึงบาทหลวงในคริสตศาสนาด้วยกันเองที่พยายามชี้ให้เห็นภัยของผู้ลี้ภัยว่าเป็นการบุกรุกของพวกมุสลิม
ไม่เพียงเท่านั้น ในอาร์เจนติน่า ยังมีคนโจมตีบทบาทของพระองค์ต่อสงครามสกปรกที่รัฐบาลทหารอาร์เจนติน่าในยุค 1970 กวาดล้างอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าขณะพระองค์อยู่ในนิกายเยซูอิตไม่ได้พยายามเพียงพอที่จะปกป้องการอุ้มฆ่าประชาชนในประเทศ
อย่างไรก็ดีมีข้อมูลว่าพระองค์เคยเข้าพบ ผบ.ทร.ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทหารในยุคนั้นและได้อ้อนวอนขอร้องให้มีการปล่อยตัวบาทหลวงที่ถูกเจ้าหน้าที่อุ้มไป 2 รูป พระองค์เคยแสดงความกังวลต่อบุคคลใกล้ชิดถึงความเป็นห่วงเรื่องบาทหลวงที่ถูกอุ้มเพียงเพราะทำงานด้านสังคมให้กับชุมชนยากจน แต่กลับถูกมองว่าต่อต้านรัฐบาล สุดท้ายบาทหลวงทั้ง 2 รูปก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังจากถูกทรมานอยู่หลายเดือน
นอกจากนี้ยังมีคนพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างพระองค์กับรัฐบาลลทหารอาร์เจนติน่า แต่นักสิทธิมนุษยชนต่างยืนยันว่าไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าพระองค์มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร อีกทั้งคนใกล้ชิดยังเปิดเผยว่าพระองค์เคยวิจารณ์รัฐบาลทหารด้วยซ้ำไป
การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติของบุคคลระดับโลก พระองค์ทรงเข้าใจเรื่องเหล่านี้ดี และยังคงมีจิตใจที่แน่วแน่และมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงในการเรียกร้องสังคมให้เห็นใจและเข้าใจผู้ตกทุกข์ได้ยากทั้งหลาย
3.
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนและสังคมต่างมองพระองค์เป็นบุคคลผู้มีมุมมองหัวก้าวหน้า แน่นอนว่าด้วยตำแหน่งนี้ ทำให้พระองค์เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลของโลก เคยขึ้นหน้าปกนิตยสารไทมส์ในปี ค.ศ.2013 มาแล้ว รวมถึงพระองค์ยังเป็นสมเด็จพระสันตะปะปาพระองค์แรกที่มีบัญชีอินสตาแกรมซึ่งใช้เวลา 12 ชั่วโมงก็มีผู้ติดตามถึง 1 ล้านคน (ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 6.3 ล้านคน)
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสมัยของพระองค์คือการแต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่จำนวน 13 รูปที่มีความหลากหลายเพื่อสะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ของโลกใบนี้ นอกจากนี้พระองค์ยังเรียกร้องให้โบสถ์หลายแห่งตระหนักถึงวิกฤตสภาพอากาศ โดยพระองค์ส่งสารขอให้โบสถ์หลายแห่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการรีไซเคิล ปลูกต้นไม้ และอนุรักษ์น้ำ
พระองค์ประณามการแสวงหาผลประโยชน์จากโลก และเรียกร้องให้ตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และชี้ว่าความล้มเหลวในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคนยากจนและคนรุ่นต่อมา
นอกจากนี้พระองค์ยังได้เริ่มต้นกระจายอำนาจจากวาติกันไปยังบิชอปที่ดำรงตำแหน่งในที่ต่างๆ ทั่วโลก ท่ามกลางความท้าทายในความเชื่อศรัทธา แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ถูกวิจารณ์จากฝ่ายหัวก้าวหน้าว่ายังไม่ไวมากพอในเรื่องปฏิรูปโบสถ์
อีกทั้งกลุ่มคนที่ต่อต้านพระองค์ก็มีมาก ทั้งจากนักการเมืองและพระในนิกายโรมันคาทอลิกและในนิกายอื่นๆ ด้วย แต่ความพยายามนี้ก็ยังได้รับการสนุบสนันจากบาทหลวงจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าทุกวันนี้นิกายโรมันคาทอลิกพยายามจะตัดขาดตัวเองออกจากสังคม แต่สมเด็จพระสันตะปะปาไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น พระองค์พยายามขยายบทบาทของโบสถ์โรมันคาทอลิกไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นในทวีปเอเชีย ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ รวมถึงในสหรัฐอเมริกาด้วย
ครั้งหนึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์สอบถามพระองค์ถึงโบสถ์ในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร พระองค์ตรัสตอบคำถามนี้ว่า
โบสถ์ในอนาคตจะอยู่บนท้องถนน แม้จะมีการสวดมนต์ มีวิหาร แต่พวกเราจะต้องก้าวออกไปข้างนอก
ตามพระคัมภีร์กล่าวว่า พระเจ้าอยู่ที่ประตูและร้องเรียกพวกเรา จากนั้นพวกเราจะเปิดประตูออกมาต้อนรับพระองค์ แต่ทุกวันนี้ หลายครั้งที่พระเจ้าเคาะประตู แต่พวกเรากลับเปิดประตูออกเพื่อขับไล่พระองค์ไปแทน เพราะหลายครั้งพวกเราปิดขังตัวเองไว้ข้างใน
โบสถ์ที่เปิดตัวเองออกไปอาจจะเจออะไรต่างๆ มากมาย แต่โบสถ์ที่ปิดตัวเองจะมีแต่ความป่วยไข้ ดังนั้นพวกเราจึงควรก้าวออกไป และนำข้อความไปบอกว่า “นี่คืออนาคต”
4.
พระองค์บอกว่านับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสันตะประปานั้น พระองค์มีความสงบในจิตใจ ซึ่งนั่นนำไปสู่ความสุข แตกต่างจากตอนที่อยู่อาร์เจนติน่า พระองค์บอกว่าความสงบในจิตใจนี้ต้องขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า
ทุกวันนี้พระพลานามัยของพระองค์เป็นไปตามสังขาร ด้วยอายุ 83 ปี มีอาการบาดเจ็บที่ขาทำให้เกิดปัญหาที่กระดูกสันหลัง แต่โดยรวมสุขภาพพระองค์ยังคงดีเยี่ยม ต้องระมัดระวังเรื่องการรับประทานอาหาร จะกินอาหารทุกอย่างคงไม่ได้แล้ว และสุขภาพที่ดี พระองค์ถือว่าเป็นพรจากพระเจ้า
มีนักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า บทบาทของพระองค์ทั้งการเรียกร้องให้สังคมเห็นอกเห็นใจผู้ลี้ภัย หรือแม้กระทั่งการตระหนักเรื่องสภาพภูมิอากาศนั้น อาจจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่มุมมองเรียกร้องต่อเพื่อนมนุษย์ให้เห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น เป็นสิ่งที่พระองค์ดำเนินพระกรณียกิจมาตั้งแต่ก่อนเป็นสมเด็จพระสันตะปะปาแล้ว
ภายใต้โลกที่ปั่นป่วนวุ่นวาย พระองค์ได้ย้ำเตือนถึงความรัก คุณค่าที่มนุษย์ควรมีให้กัน รวมถึงความรักต่อโลกใบนี้ แม้จะถูกต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์ต่างนานา